การแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ระหว่างประเทศ
การแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Design Robot Contest: IDC RoboCon)[1] เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่เน้นการออกแบบหุ่นยนต์ให้สามารถแก้ปัญหาเฉพาะอย่างได้โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์จำกัด เป็นการริเริ่มโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์[2] การแข่งขันนี้จัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1990 โดยโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี
การแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ระหว่างประเทศ | |
เว็บไซต์ | |
เว็ปไซด์ทางการการแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ระหว่างประเทศ |
ในปัจจุบันมีเยาวชนจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วมแข่งขัน โดยปรกติระยะเวลาเข้าแข่งประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างนี้ ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับจัดการอบรมเชิงปฏิบัติทางด้านเทคนิคและต้องการสร้างหุ่นยนต์ให้ได้ไม่เกิน 2 ตัว โดยใช้วัสดุที่ผู้จัดการแข่งขันจัดเตรียมไว้ให้อย่างจำกัด (ยกเว้นอุปกรณ์บางอย่าง เช่น น็อต กาว สี เป็นต้น) ผู้เข้าแข่งขันจากประเทศเดียวกันจะถูกแบ่งคละกันไปในเป็นทีมต่างๆ ซึ่งแต่ละทีมมีสีประจำทีม[3]
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
สำหรับไทยเริ่มเข้าร่วมและเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 2007 ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นโดยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค), สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว และมหาวิทยาลัยโตเกียวเด็งกิ (Tokyo Denki University) และผู้สนับสนุนหลัก คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย โดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจัดการแข่งขันที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 2007 ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยโจทย์ประจำปีนี้คือ มอบพวงมาลัยให้แม่ [4] หลังจากการจัดครั้งแรกเป็นต้นมาประเทศไทยโดยภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้มีการจัดการแข่งขันการออกแบบหุ่นยนต์ในระดับประเทศขึ้นต่อมาทุกปี โดยใช้ชื่อว่า Robot Design Contest: RDC ทีมที่ชนะเลิศจะได้ไปแข่งขันต่อในระดับนานาชาติต่อไป โดยการแบ่งทีมและความยากของโจทย์และวัสดุจะใช้หลักการเดียวกับระดับนานาชาติ กล่าวคือ ผู้เข้าแข่งขันจากสถาบันเดียวกันจะถูกแบ่งคละกันไปในเป็นทีมต่างๆ ซึ่งแต่ละทีมมีสีประจำทีม โดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และแข่งขันที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า