การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2550 เป็นการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช และสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง เป็นผู้สนับสนุน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อตนเอง และเป็นชนวนให้เกิดความไม่สงบในปัจจุบัน

ประวัติ แก้

แนวคิดเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนำโดยพรรคร่วมรัฐบาลได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช และเป็นช่วงที่คดียุบพรรคการเมืองกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ได้เสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ขณะนั้นนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ต่างก็ออกมาสนับสนุนโดยมุ่งประเด็นหลักไปยังกรณีที่ทั้งสองพรรคอาจถูกยุบ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานยกร่างรัฐธรรมนูญออกมากล่าวว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ต้องตอบให้ชัดว่าแก้ไขตรงไหน เพื่อใคร แก้ไขแล้วนักการเมืองหรือประชาชนได้ประโยชน์[1]

มีนาคม 2551 แก้

วันที่ 20 มีนาคม เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งรับพิจารณาคดีใบแดงนายยงยุทธ พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กล่าวว่าจากการพูดคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ของภาคเหนือ เห็นว่าหากมีการยุบพรรคพลังประชาชน จะขอหารือและเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ความเห็นดังกล่าวทำให้ ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง ออกมาตำหนิว่าเป็นการพูดที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะพรรคเคารพการตัดสินของศาล และไม่เคยมีความคิดจะยุบสภา[2]

วันที่ 22 มีนาคม พรรคพลังประชาชนเริ่มหารือเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในที่ประชุมสามัญประจำปี โดยเฉพาะมาตรา 237 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณียุบพรรค[3] นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่าถึงเวลาต้องแก้ และควรแก้ในประเด็นเดียวก่อน เพื่อปลดล็อกทางการเมือง[4]

วันที่ 24 มีนาคม นายชัย ชิดชอบ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่าที่ประชุมได้หยิบยกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน และเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้ กกต.มีทางออก จักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามที่นายสมัครให้แนวทางไว้ คือ เว้นเฉพาะหมวดพระมหากษัตริย์ ที่เหลือคงแก้ไขทั้งหมดโดยใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก พร้อมกับกล่าวว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องยุบพรรค[5]

เมษายน 2551 แก้

วันที่ 1 เมษายน ที่ประชุมพรรคพลังประชาชนมีมติเห็นชอบในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยปรับแก้ 13 มาตรา ใน 7 ประเด็น ยกเลิกมาตรา 309 เปิดทางให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ที่ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 สู้คดีขอสิทธิเลือกตั้งคืน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550[6]

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมพรรคพลังประชาชนมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายของนายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมบางส่วน ส่วนอีกฝ่ายคือ ส.ส.และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บางส่วนที่ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ทั้งหมด แต่ที่ประชุมไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจาก ส.ส.ทยอยเดินออกจากห้องประชุม จึงมีผู้เสนอให้ยุติการประชุม มีการคาดหมายว่าการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะแล้วเสร็จทันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินคดียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน

หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน[7] มีทั้งนักวิชาการด้านกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายค้าน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยระบุว่าอาจนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองเพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง

ส.ส.ร. มีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งมองว่าทำประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะมาตรา 237 วรรคสอง และมาตรา 309 และขู่ว่าอาจมีการยื่นถอดถอนตามมาตรา 270-271 ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีต ส.ส.ร.และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หารือกับคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะออกแถลงการณ์โดยไม่พูดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม แต่จะให้หลักนิติศาสตร์ที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นทำได้ แต่ไม่ควรทำเมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้น เพราะจะเป็นการทำลายระบบกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ด้วยการอาศัยเสียงข้างมากของสภา

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า วิปฝ่ายค้านมีมติไม่เห็นด้วยที่วิปรัฐบาลเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ สังคม รัฐบาลควรไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุผลที่แท้จริงคือรัฐบาลต้องการแก้ไขมาตรา 309 เพื่อหวังให้คนที่ถูกดำเนินคดีในการพิจารณาของ คตส. มีช่องทางในการต่อสู้ และเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวสะท้อนชัดเจนว่า ระบอบทักษิณพยายามทำทุกวิถีทางที่จะไม่ขึ้นศาลหรือไม่เข้าพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม เป็นการหาวิธีแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

ผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้

มาตรา 237 แก้

มาตรา 237 ระบุว่า "ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา

ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึง การกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง"[8]

เนื้อหาคล้ายคลึงกับมาตรานี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 (มาตรา 63) แต่พรรคไทยรักไทยไม่เคยมีแนวคิดที่จะแก้ไข จนกระทั่งมีเหตุการณ์อันอาจนำไปสู่การยุบพรรค[9]

มาตรา 309 แก้

มาตรา 309 ระบุว่า "บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"[8]

ผลของการยกเลิกมาตรา 309 อาจทำให้บรรดาผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือถูกลงโทษทางการเมืองในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ร้องต่อศาลว่าคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป อันอาจส่งผลให้การตรวจสอบหรือการกระทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่ชอบด้วย คดีทั้งปวงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว อาจถูกระงับโดยไม่ต้องดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าตามประเพณีที่ผ่านมา ศาลยอมรับบรรดาคำสั่งของคณะปฏิวัติรัฐประหารให้เป็นกฎหมายใช้บังคับ มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าพระราชบัญญัติ จึงต้องยกเลิกโดยรัฐสภา[9]

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ แก้

ฝ่ายที่เห็นด้วย แก้

บทความของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่าระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคเป็นระบบล้าหลัง ไม่มีประโยชน์ต่อการป้องกันการซื้อเสียง มีไว้เพื่อทำลายพรรคการเมืองบางพรรค และทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นระบบที่ขัดต่อหลักนิติธรรม นำไปสู่วิกฤตและทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง กรณียุบพรรคเป็นปัญหามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 คณะรัฐประหารทำให้เลวร้ายลงไปอีกโดยออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ระบุว่า "...ในกรณีที่พรรคการเมืองถูกยุบ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคนั้นเป็นเวลา 5 ปี" จึงเป็นหลักกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม การกระทำความผิดของคนบางคนทำให้พรรคการเมืองต้องถูกยุบ นำมาซึ่งวิกฤติและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง นับเป็นการถอยหลังก้าวใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยของประเทศ[10]

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แก้

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ แก้

วันที่ 2 เมษายน 2551 คณาจารย์นิติศาสตร์ 41 คน จาก 9 สถาบัน ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 237 เพราะถือเป็นความประสงค์ของนักการเมืองที่จะแก้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นแล้วให้ถูกต้อง ซึ่งรับไม่ได้ในทางกฎหมาย หากยอมให้คนทำผิดแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด ระบบกฎหมายของประเทศจะถูกท้าทายและพังทลาย และถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 122 คือเป็นการดำเนินการในเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้เสีย ขัดหลักนิติธรรม ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะสร้างธรรมเนียมไม่ถูกต้องขึ้นมา สามารถโดนถอดถอนได้ตามมาตรา 270 ส่วนมาตรา 309 คณาจารย์เห็นว่าไม่กระทบ ถ้าประกาศ คปค. ยังคงอยู่ และมีรัฐธรรมนูญ 2549 รองรับ อย่างไรก็ตาม หากมีการออกพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศ คปค.ในภายหลัง แสดงว่าเป้าหมายยังคงอยู่ที่เรื่องการยกเลิก คตส. และกรณีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน[11]

ในแถลงการยังได้ยกตัวอย่างว่าหลักการให้หน่วยงานต้องรับผิดร่วมกับบุคคลในหน่วยงานนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 237 ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในระบบกฎหมายไทยก็มีบทบัญญัติในเรื่องนี้หลายประการ เช่น มาตรา 425 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง" เมื่อลูกจ้างไปทำละเมิดผู้อื่น นายจ้างจะปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้กระทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชอบก็ไม่ได้ หรือในกรณีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล ให้ถือว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น"[12]

อื่น ๆ แก้

นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ถ้าถกเถียงกันโดยใช้เหตุใช้ผล ใช้ประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งก็เป็นเรื่องดี มีความเป็นอารยะดีกว่าการใช้อำนาจ เอาสีข้างเข้าถู หรือการข่มขู่แบบอันธพาลซึ่งเป็นอนารยะ คนไทยจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนประเทศด้วยวิถีอารยะ การใช้เงินซื้อเสียงคือต้นเหตุของวิกฤติทางการเมือง จึงมีความพยายามในการสกัดกั้นโดยวางยาแรง คือ มาตรา 237 เจตนารมณ์คือให้พรรคการเมืองรับผิดชอบร่วมกัน ดูแลกันอย่าให้ใครทำผิด หวังว่าจะเกิดความกลัวเกรงไม่กล้าทำผิด แต่ก็เกิดการทำความผิดขึ้น การมีบทลงโทษหนัก หากเราไม่ทำผิดก็ไม่มีปัญหา ถ้าเราทำผิดกฎหมายแล้ว จะกลับไปแก้กฎหมาย ก็จะเกิดเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวที่พิลึกพิลั่นต่อไปได้มาก หวังว่าโจรคงจะไม่ขอแก้กฎหมายให้การเป็นโจรไม่มีความผิด

จริงอยู่พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่การใช้อำนาจของเสียงข้างมากแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องพิจารณาว่าเพื่อตัวเองหรือเพื่อความถูกต้องดีงามของบ้านเมือง หากมีข้อครหาก็ขาดความเชื่อถือไว้ใจจากสังคม การแก้ไขตัวเองเป็นการตัดกรรม แต่การแก้ไขหลักการจะก่อเวรต่อ ๆ ไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด จนอาจถึงเกิดจลาจลในบ้านเมือง คนไทยต้องใช้การต่อสู้ด้วยวิถีอารยะ ใครใช้หนทางอธรรมอันเป็นอนารยะจะพ่ายแพ้ในที่สุด เพราะธรรมย่อมชนะอธรรมเสมอ อารยวิถีย่อมชนะใจสาธารณะ[13]

บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตั้งคำถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลหรืออย่างไร คำแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 เกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกของรัฐบาลซึ่งมีทั้งหมด 19 ข้อ ไม่มีข้อใดระบุถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงว่ารัฐบาลได้ลืมไปแล้วว่าอะไรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รับปากว่าจะดำเนินการ อีกทั้งนโยบายข้อแรก คือ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะรัฐบาลได้สร้างความแตกแยกของคนในชาติ มีการขัดแย้งและปะทะกันระหว่างสองฝ่าย[14]

อ้างอิง แก้

  1. โพสต์ทูเดย์, บรรหารหนุนแก้ รธน. มุ่งปลดล็อกยุบพรรค, 19 มีนาคม 2551, หน้า A5
  2. ไทยโพสต์, ปูดแผนยุบสภา! 'กานต์' ชง 'สมัคร' หนีคดีใบแดง 'ยุทธ' พปช.ป่วนหนัก, 21 มีนาคม 2551, หน้า 1, 10
  3. สยามรัฐ, บิ๊กสงค์อัดสมัคร ด่า'ทุเรศ'ยุบพรรค-ฆ่าปท., 23 มีนาคม 2251, หน้า 2
  4. โพสต์ทูเดย์, พปช.ลุยแก้รธน.ปลดล็อกยุบพรรค, 22 มีนาคม 2251, หน้า A4
  5. เดลินิวส์, 2 ใบเหลืองแจก พปช.บุรีรัมย์ โวยมีใบสั่งเชือดยกทีม คมช.โต้ข่าวชักใย กกต. วิปฯเดินหน้าแก้ รธน., 25 มีนาคม 2251, หน้า 1, 14
  6. มติชน, พปช.ผ่านร่างแก้รธน.โละม.309 ปลุกชีพ '111ทรท.' เปิดทางนิรโทษกรรมคดียุบพรรค เก็บถาวร 2008-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1 เมษายน 2551
  7. มติชน, ส.ส.'พปช.'ปัดแก้รธน.ฟอก'แม้ว'นิรโทษฯ 111 ทรท. ยันไม่สนถูกถอดจากตำแหน่ง เก็บถาวร 2008-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1 เมษายน 2551
  8. 8.0 8.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
  9. 9.0 9.1 ไทยรัฐ, ผลการแก้รัฐธรรมนูญ, 2 เมษายน 2551, หน้า 3
  10. มติชน, ยุบพรรค กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย, 7 เมษายน 2551, หน้า 6,7
  11. มติชน, 41 อจ.นิติฯ 9 แห่ง ค้านแก้ รธน.ระบบ 'กม.' พัง 'พันธมิตร'เดินหน้าถอดถอน, 3 เมษายน 2551, หน้า 1, 14
  12. กรุงเทพธุรกิจ, 41 คณาจารย์นิติศาสตร์ค้าน แก้รธน.สวนทางหลักนิติธรรม, 3 เมษายน 2551, หน้า 2
  13. กรุงเทพธุรกิจ, แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 แก้ที่ตัวเองตัดกรรม แก้หลักการก่อเวร, 4 เมษายน 2551, หน้า 12
  14. กรุงเทพธุรกิจ, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระเร่งด่วนของรัฐบาลหรือ, 5 เมษายน 2551, หน้า 8