การเมืองใหม่
การเมืองใหม่ เป็นแนวความคิดและเป็นคำนิยามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการใช้นิยามเปรียบเทียบระหว่างการเมืองไทยในยุคปัจจุบันว่าเป็น การเมืองเก่า เพราะประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงในการตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจรัฐ มีสิทธิก็เพียงแค่ 4 วินาทีตอนเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นระบบเลือกตั้งโดยการเลือก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนในสภา เป็นเพียงการเมืองผ่านตัวแทน[1]
ในช่วงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 เรื่องของการเมืองใหม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตรฯได้เคยเสนอว่า การเมืองใหม่จะมีสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง 70 % และเลือกตั้ง 30 %[2] ดังต่อไปนี้
- 1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คนถ้วน
- 2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัวแทนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งจังหวัดๆละ 2 คนเท่าๆกันรวมเป็น 152 คน
- 3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสาขาอาชีพ ที่ประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพเลือกมาโดยตรงจำนวน 348 คน
- 4. ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและสัดส่วนออกไปทั้งหมด เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มนี้เป็นที่มาของนักธุรกิจนายทุนที่มาลงทุนทางการเมืองโดยตรง มิได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ดูเหมือนว่าส.ส.เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ตำแหน่งเพราะจ่ายเงินให้พรรคมากกว่าที่ประชาชนจะเลือกโดยตรง
- 5. การเลือกตัวแทนของจังหวัดจะต้องทำสองรอบ คือ รอบแรกให้ประชาชนแต่ละอำเภอเลือกตัวแทนเข้าไปสมัครผู้แทนในระดับจังหวัด ด้วยคะแนนอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนในแต่ละอำเภอ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รู้จักประชาชนอย่างทั่วถึง และลดการซื้อเสียงได้ เพราะหากใครจะซื้อเสียงต้องซื้อเสียงจากคนทั้งจังหวัด ถึงสองครั้งสองคราเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับนักซื้อเสียงไม่น้อย
- 6. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับจังหวัดผู้รับเลือกต้องได้คะแนน 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธ์เลือกตั้ง หากจังหวัดใดผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมีคะแนนไม่ถึง 70เปอร์เซ็นต์ต้องเลือกตั้งจนกระทั่งได้คะแนน 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นการซักฟอกจนได้คนที่ประชาชนพอใจที่สุด จะได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนปวงชนที่แท้จริง
- 7. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากสาขาอาชีพ ต้องพยายามออกแบบการเลือกตั้งให้สาขาอาชีพต่างๆ ได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ วิธีการหนึ่งที่ทำได้ง่ายคือ การจดทะเบียนจัดตั้งสมาคม หรือสภาของแต่ละสาขาอาชีพขึ้นมา เช่น สภาทนายความ สมาคมแพทย์ สมาคมแพทย์แผนโบราณ สมาคมครู สหภาพแรงงาน สมาคมชาวสวน สมาคมชาวนา สมาคมนักศึกษา สมาคมผู้ค้าปลีก สมาคมหาบแร่แผงลอย หอการค้า สมาคมชาวไร่ สมาชิกที่ลงทะเบียนไว้ในสมาคมนั้นจะเลือกผู้ที่เสนอตัวสมัครเข้ามา
- 8. จำนวนส.ส.ของแต่ละอาชีพแบ่งตามสัดส่วนจำนวนประชากรของแต่ละสาขาอาชีพ โดยคิดจำนวนผู้แทนราษฎรจำนวน 348 คนเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วเฉลี่ยไปตามจำนวนประชากร โดยพยายามกระจายให้กว้างขวางที่สุด
- 9. คุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละสาขาอาชีพ ต้องประกอบอาชีพนั้นๆจริงๆ เช่น ทนายความก็ต้องประกอบอาชีพอยู่จริงๆ ชาวสวนก็ต้องทำสวนจริงๆ ชาวนาต้องทำนาจริงๆ ต้องตรวจสอบคุณสมบัติทั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ลงคะแนนให้ถูกต้อง[3]
ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกคัดค้านและวิจารณ์จากสังคมหลายภาคส่วนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย[4] โดยนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นเอาไว้ตอนหนึ่งว่า
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งยกระดับมาเป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความคิดและโครงสร้างอำนาจการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวมาก จึงควรปรับวิธีการต่อสู้ของตน คือมีทั้งการเคลื่อนไหวทางความคิด สลับกับการเคลื่อนไหวมวลชน ทั้งผ่อนสลับกับรุก และเนื่องจากพันธมิตรเริ่มต้นจากการเรียกร้องลงโทษนักการเมืองโกงกินบ้านเมือง เป็นพลังทางคุณธรรมและพลังต่อต้านการใช้อำนาจบาตรใหญ่ให้สังคม จึงยิ่งต้องจำแนกวิธีการต่อสู้ให้ชัดเจนว่าเป็นแนวสันติวิธี หลีกเลี่ยงการดึงดันที่อาจดูคล้ายแนวอำนาจนิยม ไม่ควรเป็นการรุกไปข้างหน้าตลอด จนดูคล้ายการตะลุมบอนกับฝ่ายโกงกินบ้านเมือง ซึ่งจะทำให้คนแยกแยะและเลือกฝ่ายสนับสนุนได้ลำบาก ที่สำคัญในการเสนอความคิดใหม่ทางการเมือง ไม่ควรสวนทางประชาธิปไตย ควรเคารพประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมานาน ควรหาวิธีเปิดกว้างขวางสร้างเวทีความคิดสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งต้องมีเวลา ขั้นตอน จังหวะก้าวที่เหมาะสม
— ธีรยุทธ บุญมี[5]
ต่อมา ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ได้เปลี่ยนแนวคิดใหม่เป็นสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 100 % [6]
ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงข่าวถึงแนวคิดเรื่องการเมืองใหม่ ที่ห้องผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล พล.ต.จำลอง ศรีเมืองกล่าวว่า การเลือกตั้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์จะให้มีการเลือกตั้งได้ 2 ทาง คือ ผู้แทนพื้นที่เขต และผู้สมัครนามกลุ่มอาชีพ หากคนหนึ่งมีหลายอาชีพ จะให้ลงสมัครได้เพียงอาชีพเดียว เรื่องดังกล่าวทำไม่ยาก เมื่อแบ่งคนทั้งประเทศออก 2 กลุ่มดังที่กล่าวไปแล้ว จึงไม่ยากอย่างที่คิดจะทำ แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนในทางปฏิบัตินั้นคงเป็นไปได้ยากจริงยอมรับ แต่หากทำเรื่องยากดีกว่าการเมืองเก่าก็ต้องทำ มันเป็นไปได้ แม้อาจจะไม่ได้เลิศเลอทุกอย่างก็ตาม
ส่วนนายสมศักดิ์ โกศัยสุข กล่าวเสริมอีกว่า[7]
เพราะทุกคนในประเทศไทยต่างมีอาชีพทั้งนั้น อาจต้องเพิ่มเติมหรือเอาตามนั้น คนที่มีอาชีพอะไรก็ไปลงทะเบียนในอาชีพนั้น แล้วเวลาเลือกก็เลือกคนกลุ่มนั้น จะได้มีผู้แทนที่หลากหลาย ทุกวันนี้ไม่ใช้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนกลุ่มทุนรวมตัวเป็นกระจุกๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนกลุ่มนี้จะไปทำงานเพื่อคนทุกกลุ่ม เมื่อพันธมิตรฯ ออกแบบมาเช่นนี้จะมีตัวแทนจากหลายหลาย อาชีพ ทั้งหมอ ทั้งสื่อมวลชน ทำให้เกิดความงดงามในสภาขึ้น
— สมศักดิ์ โกศัยสุข
อย่างไรก็ดี ต่อมาเมื่อการชุมนุมได้จบลง และทางกลุ่มพันธมิตรฯได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น ก็ได้ใช้ชื่อพรรคของกลุ่มตนว่า พรรคการเมืองใหม่
อ้างอิง
แก้- ↑ คำนูณ สิทธิสมาน. ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า. ISBN 9749460979
- ↑ พันธมิตรฯย้ำการเมืองใหม่ แก้รธน.เลือก 70:30
- ↑ การเมืองใหม่, กลุ่มคนจุดตะเกียง + PAD N.E.
- ↑ "นักรัฐศาสตร์ฟันธง การเมืองใหม่ระบบ70:30 ไม่เวิร์ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2009-08-03.
- ↑ เอเอสทีวีผู้จัดการ, “ธีรยุทธ” ชี้ พปช.รุกหนัก-ใช้อามิสสินจ้าง-ส่อเกิดสงครามกลางเมือง, 26 กรกฎาคม 2551
- ↑ พธม.กลับลำการเมืองใหม่ ที่มาจากเลือกตั้งทั้งหมด
- ↑ เอเอสทีวีผู้จัดการ, “พันธมิตร” ภูมิใจ ปชช.เป็นเจ้าภาพร่วม คลอดการเมืองใหม่[ลิงก์เสีย], 23 กันยายน 2551