การเบนเนื่องจากความโน้มถ่วง

การเบนเนื่องจากความโน้มถ่วง (อังกฤษ: gravitropism) เป็นการตอบสนองของพืชต่อความโน้มถ่วง มีสาเหตุมาจากการเจริญเติบโต แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่

  1. การเคลื่อนไหวเข้าหาแรงโน้มถ่วงของโลก (positive gravitropism) รากของพืชจะเจริญไปในทิศเดียวกับแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อพืชมีลำต้นและรากทอดนอนไปตามพื้น ออกซินจะลำเลียงไปทางด้านล่างมากกว่าทางด้านบนในราก ออกซินในปริมาณสูง ๆ จะยับยั้งการแบ่งเซลล์ ทำให้ด้านล่างแบ่งเซลล์ได้น้อยกว่าด้านบน รากพืชจึงโค้งลงตามแรงโน้มถ่วงของโลกเสมอ
  2. การเคลื่อนไหวหนีแรงโน้มถ่วงของโลก (negative gravitropism) ลำต้นของพืชจะเจริญไปในทิศตรงข้ามกับแรงโน้มถ่วงของโลกเสมอ เมื่อให้ลำต้นพืชทอดนอนไปตามพื้นจะเห็นปลายยอดชูสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากทางด้านล่างของลำต้นมีออกซินสูงกว่าด้านบนที่ลำต้นและปลายยอดตอบสนองต่อออกซินในปริมาณสูง โดยเซลล์แบ่งตัวได้ดีกว่าด้านที่มีออกซินน้อยกว่า ทำให้เซลล์แบ่งตัวได้มากกว่าจึงโค้งขึ้นหรือหนีแรงโน้มถ่วงของโลก