การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย มีนาคม พ.ศ. 2554

การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2554 เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีก 9 คน รวม 10 คน

การยื่นญัตติขอเปิดการอภิปราย แก้

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน (จากพรรคประชาธิปัตย์ 6 คน และพรรคภูมิใจไทย 4 คน[1]) ประกอบด้วย

รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย
ลำดับที่ ชื่อ / ตำแหน่ง ประเด็นการอภิปราย[1]
1 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
  • การสลายการชุมนุม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553
  • การทุจริตและประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ การใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ
  • ล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ-เศรษฐกิจ)
2 สุเทพ เทือกสุบรรณ
รองนายกรัฐมนตรี
  • การสลายการชุมนุม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553
  • การทุจริตในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันปาล์ม
3 กรณ์ จาติกวณิช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • การซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน
  • การปั่นหุ้น ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง โดยเฉพาะการปล่อยข่าวซื้อหุ้นดาวเทียมไทยคม
4 พรทิวา นาคาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • การดูแลการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล
  • การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันปาล์ม
5 องอาจ คล้ามไพบูลย์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ไม่โปร่งใส
6 จุติ ไกรฤกษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
7 ชวรัตน์ ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ทุจริตการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ
  • ทุจริตการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการฝ่ายปกครอง
8 โสภณ ซารัมย์
รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม
  • ทุจริตโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และ หัวลำโพง-บางแค
  • ทุจริตโครงการประมูลซ่อมบำรุงทางของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
9 ศุภชัย โพธิ์สุ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การถือครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ 700 ไร่ ในจังหวัดนครพนม
10 กษิต ภิรมย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ความล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยฝ่ายค้านให้เหตุผลว่า รัฐมนตรีดังกล่าวบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา การปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายไม่มีความถูกต้อง เป็นธรรม ใช้กฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต จงใจบิดเบือนการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ปล่อยให้มีการกักตุนสินค้า การผูกขาดโดยเอกชน ไม่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม แทรกแซงการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยแนบคำขอยื่นถอดถอนรัฐมนตรีดังกล่าวทุกคน ยกเว้นกษิต ภิรมย์[2]

สำหรับเหตุผลที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นั้น ประกอบด้วยสี่ประการ ได้แก่ 1. กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นผลทำให้ช่างภาพชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตหนึ่งคน 2. การใช้อำนาจแทรกแซงกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่เสร็จตามระยะเวลาของกฎหมาย 3. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีเหตุวางเพลิงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องจากมีกำลังทหารอยู่ใกล้เคียง และมีทีมดับเพลิงอยู่ภายใต้ห้างนับสิบทีม แต่ไม่สามารถป้องกันเหตุได้[3] และ 4. กรณีใช้อำนาจแทรกแซงกรมสรรพากรและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งนำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ และเลี่ยงภาษีอากร ทำให้รัฐเสียประโยชน์กว่า 68,000 ล้านบาท[3]

ด้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้ว่า ฝ่ายค้านไม่ระบุเหตุผลการยื่นญัตติให้ชัดเจน อาจไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอภิสิทธิ์ชี้ว่า หากฝ่ายค้านไม่ยอมเปิดเผยเหตุผลที่ชัดเจน อาจทำให้ไม่สามารถอภิปรายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของประธานรัฐสภา[4]

การเตรียมการ แก้

วิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลและ วิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติเห็นพ้องกำหนดวันอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจเป็นเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคม และลงมติวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยกำหนดไว้ 66 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 40 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี 20 ชั่วโมง และประท้วงอีก 6 ชั่วโมง รอประธานรัฐสภาบรรจุญัตติวาระ โดยวิทยา บุรณะศิริ เปิดเผยจำนวนบุคคลในเรื่องอภิปรายดังนี้ เรื่องการสลายการชุมนุม 7 คน การทุจริต 18-22 คน และการบริหารงานล้มเหลว 10-15 คน[5]

วรงค์ เดชกิจวิกรม คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ทางคณะกรรมการได้หารือกันว่าควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารหรือคลิปวิดีโอที่พรรคเพื่อไทยจะนำมาเปิดร่วมกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการแสดงหลักฐานที่เป็นเท็จตามที่พรรคเพื่อไทยเคยนำคลิปวิดีโอตัดต่อมาฉาย โดยจะหารือปัญหาดังกล่าวกับชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบนี้จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั้งสองฝ่าย[6]

ต่อมา มีเหตุทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเลื่อนออกไป โดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 15-17 มีนาคม โดยให้เหตุผลว่าเอกสารประกอบญัตติของฝ่ายค้านมีปัญหา[7] ด้านอนุดิษฐ์ นาครทรรพ จากพรรคเพื่อไทย ระบุว่าเอกสารส่วนที่พรรครับผิดชอบนั้นเสร็จไปตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคมแล้ว[8]

ผู้อภิปราย แก้

เบื้องต้น ทางพรรคเพื่อไทยจัดผู้อภิปรายไว้ 20 คน นำโดย มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ซึ่งสั่งห้ามมิให้ผู้ใดข้อมูลอภิปรายเล็ดลอดออกนอกห้องประชุม โดยผู้ที่อภิปรายจะต้องนำข้อมูลมาเสนอต่อมิ่งขวัญก่อน[9] ด้าน ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งตอนแรกไม่ขอเข้าร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ก่อนจะตัดสินใจเข้าร่วมการอภิปรายหลังจากที่ทักษิณ ชินวัตร วิดีโอลิงก์เข้ามาให้ ร.ต.อ. เฉลิม เข้าร่วมการอภิปรายด้วย[9]

วันที่ 4 มีนาคม มีรายงานว่าพรรคเพื่อไทยมีการตั้งวอร์รูมขึ้นเพื่อนำไปสนับสนุนและชี้แจงในสภาจำนวนสองชุด ชุดหนึ่ง ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง, วราเทพ รัตนากร, พงศ์เทพ เทพกาญจนา และนพดล ปัทมะ เป็นต้น ส่วนอีกชุดหนึ่ง นำโดย เฉลิม อยู่บำรุง เพื่อคอยช่วยชี้แจงสนับสนุนในการอภิปราย[10]

ผู้อภิปราย ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน และ พรรคประชาราช อาทิ วิทยา บุรณศิริ, จตุพร พรหมพันธุ์, ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง, ฐิติมา ฉายแสง, วิเชียร ขาวขำ, วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ประชา ประสพดี, ไพจิต ศรีวรขาน, อรุณี ชำนาญยา, เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ, ธเนศ เครือรัตน์, สงวน พงษ์มณี, ชวลิต วิชยสุทธิ์, วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์, สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล, สรวิช เทียนทอง, แวมาฮาดี แวดาโอะ ฯลฯ

การอภิปราย แก้

15 มีนาคม แก้

การพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 15 มีนาคม วิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นผู้เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และเสนอชื่อมิ่งขวัญ แสงสุวรรณเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป[11] วันแรกฝ่ายค้านใช้เวลาเกือบ 17 ชั่วโมง จนกระทั่งเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 2.10 น. ของวันที่ 16 มีนาคม ส่วนใหญ่เน้นเรื่องปัญหาน้ำมันปาล์ม และปัญหาสินค้าเกษตรของกระทรวงพาณิชย์ โดยเชื่อว่าเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม[12]

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณเป็นผู้อภิปรายนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรก โดยใช้สไลด์ 119 แผ่นประกอบ ระบุว่าปริมาณน้ำมันปาล์มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2553 และสรุปว่าการบริหารงานด้านพลังงานของรัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง นโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลทำให้เงินในกองทุนน้ำมันในปัจจุบันเหลือไม่ถึง 4,800 ล้านบาท และระบุว่าจะหมดเมื่อถึงสิ้นเดือนมีนาคม[11] มิ่งขวัญ แสงสุวรรณกล่าวสรุปว่า การบริหารงานของอภิสิทธิ์ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง อีกทั้งปัญหาราคาข้าวที่ชาวบ้านขายข้าวได้ต่ำกว่าราคาประกัน รัฐบาลอภิสิทธิ์ก่อหนี้สาธารณะสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งหมดซึ่งก่อหนี้ไว้ 8.6 แสนล้านบาท[11]

ด้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะตอบมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ โดยระบุว่ารัฐบาลชุดนี้มีตัวเลขการส่งออกและท่องเที่ยวสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และรัฐบาลต้องกู้เงินเพราะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล รัฐบาลบริหารหนี้สาธารณะได้ดีกว่าสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สำหรับประเด็นปัญหาราคาข้าว อภิสิทธิ์ย้อนถามมิ่งขวัญว่า บริหารข้าวอย่างไรจนถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนประเด็นกองทุนน้ำมันนั้น อภิสิทธิ์ระบุว่า กองทุนเคยเป็นหนี้ถึง 9 หมื่นล้านบาทสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเช่นกัน และด้านปัญหาน้ำมันปาล์ม ชี้ว่า สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยขายน้ำมันปาล์มขวดละ 47.50 บาท แพงกว่าปัจจุบัน จึงเห็นว่า ข้อมูลที่มิ่งขวัญนำมาเสนอนี้เป็นการตัดต่อ[11]

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อภิปรายเรื่องปัญหาน้ำมันปาล์มต่อ โดยชี้ว่าน่าจะมีการสมคบกันเพื่อเอื้อประโยชน์ แม้ว่ารัฐบาลจะทราบว่าน้ำมันปาล์มกำลังขาดตลาด แต่คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ซึ่งมีสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นประธาน ได้อนุมัติน้ำเข้าล่าช้า เหมือนเป็นการดึงเวลาจนทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์ถึงกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งมีบุคคลใกล้ชิดสุเทพรวมอยู่ด้วย อีกทั้งการนำเข้าน้ำมันปาล์ม 30,000 ตันนั้น มีการกำหนดสเปกนำเข้าที่มีเงื่อนงำ[11] ซึ่งทางสุเทพ เทือกสุบรรณ ชี้แจงว่า ปัญหาน้ำมันปาล์มดังกล่าวเป็นเพราะคำนวณผลผลิตผิดพลาด เป็นความผิดพลาดไม่มีเจตนา ส่วนกรณีที่นำเข้าน้ำมันปาล์มผิดสเปกนั้น เป็นเพราะประเทศผู้ผลิตไม่ยินยอมให้นำเข้าน้ำมันปาล์มแบบธรรมดาเข้ามา ประเทศไทยจึงต้องน้ำมันปาล์มแบบแยกไขมาผลิตต่อในประเทศ[11]

ผลการลงมติ แก้

รายนามรัฐมนตรี ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง ไม่ลงคะแนน ผู้เข้าร่วมประชุม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 249 184 11 23 467
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 249 185 11 22 469
นายกรณ์ จาติกวณิช 245 185 12 22 464
นางพรทิวา นาคาศัย 251 186 9 23 469
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ 246 182 17 21 466
นายจุติ ไกรฤกษ์ 247 185 16 22 470
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล 250 188 8 23 469
นายโสภณ ซารัมย์ 248 188 11 22 469
นายศุภชัย โพธิ์สุ 243 188 16 21 468
นายกษิต ภิรมย์ 247 188 13 21 469

[13]

การตอบรับ แก้

สมชาย กรุสวนสมบัติ หรือ "ซูม" คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แสดงความเห็นในคอลัมน์ "เหหะพาที" ของตนเองว่า การถ่ายทอดการอภิปรายไม่ไว้วางใจทางโทรทัศน์ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก เนื่องจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน อาจทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้ไปในอนาคต และเสนอให้มีการจัดเรตติ้งประเภทห้ามเด็กดูคนเดียวหรือให้ถ่ายทอดหลัง 22.00 น. เป็นต้นไปแทน[14]

จากการสำรวจความคิดเห็น สวนดุสิตโพล ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,594 คน จากประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าว สรุปว่า ร้อยละ 35.39 เห็นว่า ประชาชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นจริงและชัดเจนจากทั้งสองฝ่าย ร้อยละ 28.24 เห็นว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล[15] ในคำถามที่ว่าอยากให้ผู้ใดเป็นผู้นำการอภิปรายนั้น ร้อยละ 40.17 อยากให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นผู้นำการอภิปรายฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 51.44 อยากให้เฉลิม อยู่บำรุงเป็นผู้นำการอภิปรายฝ่ายค้าน[15] สำหรับประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ร้อยละ 23.04 อยากให้อภิปรายเรื่องการดูแลราคาสินค้าต่าง ๆ และร้อยละ 21.67 อยากให้อภิปรายเรื่องการทุจริต[15] อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 15.94 เท่านั้นที่เชื่อว่าการอภิปรายดังกล่าวจะมีผลต่อการยุบสภา[15] และได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 1,187 คน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกครั้งในวันอภิปรายวันสุดท้าย พบว่า ร้อยละ 61.29 เห็นว่า ไม่คุ้มค่าในการการติดตามการอภิปรายครั้งนี้ และร้อยละ 78.91 รู้สึกผิดหวังต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยส่วนใหญ่เนื่องมาจากบรรยากาศการอภิปราย และเนื้อหาที่เป็นเรื่องเก่านำมาพูดใหม่ ส่วนความประทับใจในการอภิปรายในครั้งนี้ ร้อยละ 38.9 ระบุว่าได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และชัดเจนมากขึ้น โดยร้อยละ 43.09 ประทับใจในการชี้แจงประเด็นที่ถูกอภิปรายของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมากที่สุด รองลงมา คือ ร้อยละ 29.67 ประทับใจข้อมูลของฝ่ายค้านโดยเฉพาะของจตุพร พรหมพันธุ์ ในส่วนผลกระทบต่อความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า เท่าเดิม ร้อยละ 54.14 ลดลง ร้อยละ 25.56 และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.30 ส่วนผลกระทบต่อความนิยมของพรรคเพื่อไทย พบว่า เท่าเดิม ร้อยละ 42.10 ลดลง ร้อยละ 46.62 และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.28[16]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ. ch7.com. (1 มีนาคม 2554). สืบค้น 13-1-2554.
  2. มิ่งขวัญยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ 9 รมต.-ยื่นถอดถอน 8 รมต.เว้น กษิต. (1 มีนาคม 2554). สืบค้น 2-3-2554.
  3. 3.0 3.1 เปิดญัตติยื่นถอดถอนนายกฯออกจากเก้าอี้[ลิงก์เสีย]. กรุงเทพธุรกิจ. (2 มีนาคม 2554). สืบค้น 2-3-2554.
  4. "มาร์ค"ขอดูเหตุผลฝ่ายค้านยื่นถอดถอน อ้างไม่แน่ใจถูกต้องตาม รธน.หรือไม่[ลิงก์เสีย]. มติชน. (2 มีนาคม 2554). สืบค้น 2-3-2554.
  5. วิป 2 ฝ่าย เห็นพ้องกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 วัน[ลิงก์เสีย]. (2 มีนาคม 2554). สืบค้น 2-3-2554.
  6. วิปรัฐบาลถก'ชัย' หวั่นเพื่อไทยสร้างหลักฐานเท็จ[ลิงก์เสีย]. กรุงเทพธุรกิจ. (2 มีนาคม 2554). สืบค้น 2-3-2554.
  7. นายกรัฐมนตรีเผยอภิปรายไม่ไว้วางใจ 15 มี.คนี้ เก็บถาวร 2011-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (5 มีนาคม 2554). สืบค้น 5-3-2554.
  8. เพื่อไทยปัดเป็นต้นเหตุต้องเลื่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ[ลิงก์เสีย]. สำนักข่าวไทย. (5 มีนาคม 2554). สืบค้น 5-3-2554.
  9. 9.0 9.1 "หมดทางเลือก"[ลิงก์เสีย]. คมชัดลึก. (25 กุมภาพันธ์ 2554). สืบค้น 2-3-2554.
  10. พท.ตั้ง 2 วอร์รูม "จาตุรนต์-เฉลิม" แยกกันช่วยทีมซักฟอกหากเพลี่ยงพล้ำ เริ่มทยอยเปิดข้อมูลก่อนวันจริง เก็บถาวร 2011-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. มติชน. (5 มีนาคม 2554). สืบค้น 5-3-2554.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 มิ่งเปิดหัวซักฟอก สอบไม่ผ่าน ทักษิณโกรธแพ้มาร์ค[ลิงก์เสีย]. บ้านเมือง. (16 มีนาคม 2554). สืบค้น 19-3-2554.
  12. อภิปรายไม่ไว้วางใจฯ วันแรกใช้เวลาเกือบ 17 ชม.[ลิงก์เสีย]. สำนักข่าวไทย. (16 มีนาคม 2554). สืบค้น 19-3-2554.
  13. "รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 4 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-05-08. สืบค้นเมื่อ 2020-04-19.
  14. ถ่ายทอดอภิปรายในสภา ไม่เหมาะสำหรับเด็กๆ. ไทยรัฐ. (2 มีนาคม 2554). สืบค้น 2-3-2554.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 โพลเชียร์เฉลิม นำซักฟอก ของแพง-ทุจริต. ไทยรัฐ. (6 มีนาคม 2554). สืบค้น 13-3-2554.
  16. สวนดุสิตโพล ชี้ ปชช.ผิดหวังอภิปราย ล้วนเรื่องเก่า ประทับใจ"อภิสิทธิ์"43.09% ทิ้งห่าง จตุพร 29.67%[ลิงก์เสีย]. มติชน. (18 มีนาคม 2554). สืบค้น 18-3-2554.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย มีนาคม พ.ศ. 2554 ถัดไป
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2553    
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย
  การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พฤศจิกายน พ.ศ. 2554