การหายใจเฮือก (อังกฤษ: agonal respiration, agonal breathing, gasping respiration) เป็นรูปแบบการหายใจผิดปกติชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนอง (รีเฟลกซ์) จากก้านสมอง มีลักษณะหายใจเฮือก ดูใช้แรงมากในการหายใจ อาจมีเสียงออกมาพร้อมกับการหายใจ หรือมีกล้ามเนื้อกระตุกได้[1]: 164, 166  สาเหตุอาจเกิดจากภาวะสมองขาดเลือด ออกซิเจนในเลือดต่ำรุนแรง หรือไม่มีออกซิเจนในเลือด ถือเป็นอาการแสดงทางการแพทย์ที่บ่งบอกถึงภาวะเจ็บป่วยรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่วนใหญ่หากดำเนินต่อไปผู้ป่วยอาจหยุดหายใจและเสียชีวิตได้ ช่วงเวลาของการหายใจเฮือกจนถึงเสียชีวิตอาจแตกต่างกันได้มาก ตั้งแต่ 2-3 เฮือก ไปจนถึงหลายชั่วโมง[1]

ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจเฮือกควรได้รับการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ

คำนี้บางครั้งถูกใช้เรียกลักษณะการหายใจหอบเหนื่อยขาดเป็นห้วง ที่พบในผู้ป่วยอวัยวะล้มเหลว เช่น ตับวาย ไตวาย ผู้ป่วยที่มีภาวะการอักเสบทั่วร่าง (SIRS) ติดเชื้อในกระแสเลือด เลือดเป็นกรดจากเมตาบอลิก ซึ่งเกิดจากสาเหตุคนละอย่างกันกับการหายใจเฮือก

การหายใจเฮือกเช่นนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยผู้ป่วยอาจยังมีการหายใจเฮือกได้อีกหลายนาที[1] ถือเป็นอาการที่จะต้องได้รับการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ หากเปรียบเทียบในผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นด้วยกัน ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นที่มีการหายใจเฮือกอาจมีพยากรณ์โรคที่ดีกว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นที่ไม่มีการหายใจเฮือก[ต้องการอ้างอิง] สำหรับผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นที่หมดสติและคลำชีพจรไม่ได้ การหายใจเฮือกให้เห็นนี้ไม่ถือเป็นการหายใจที่ส่งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ จึงยังคงต้องช่วยหายใจอยู่หากไม่มีข้อห้ามอื่น

สำหรับผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล สามารถพบการหายใจเฮือกได้ราว 40%[2]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Perkin, RM; Resnik, DB (June 2002). "The agony of agonal respiration: is the last gasp necessary?". Journal of Medical Ethics. 28 (3): 164–9. doi:10.1136/jme.28.3.164. PMC 1733591. PMID 12042401.
  2. Clark, Jill J; Larsen, Mary Pat; Culley, Linda L; Graves, Judith Reid; Eisenberg, Mickey S (December 1992). "Incidence of agonal respirations in sudden cardiac arrest". Annals of Emergency Medicine. 21 (12): 1464–1467. doi:10.1016/S0196-0644(05)80062-9. สืบค้นเมื่อ 21 February 2015.