การเสียดินแดนของไทย

แนวคิดทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย

การเสียดินแดนของไทย เป็นแนวคิดทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยที่อ้างถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อประเทศไทย (หรือสยาม) ถูกบีบบังคับให้สละดินแดนแก่ต่างชาติ โดยเฉพาะการสูญเสียให้แก่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกอันได้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

แนวคิดดังกล่าวแพร่หลายเป็นครั้งแรกในช่วงพุทธทศวรรษ 2480 โดยเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาตินิยมไทยที่ส่งเสริมโดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในสมัยนั้น ความคิดนี้ถูกเผยแพร่ผ่านชุดแผนที่ชื่อ แผนที่ประวัติศาสตร์ไทย และ แผนที่ประวัติอาณาเขตไทย ซึ่งระบุว่าแสดงอาณาเขตของอาณาจักรไทยต่างๆ ในอดีต และดินแดนที่สูญเสียไปในภายหลัง แผนที่เหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหนังสือ แผนที่ภูมิศาสตร์ของทองใบ แตงน้อย ซึ่งเป็นหนังสือเรียนที่ใช้เป็นมาตรฐานในโรงเรียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2506

แม้ว่านักประวัติศาสตร์ยุคหลังได้โต้แย้งว่าข้อมูลในแผนที่เหล่านี้ไม่สะท้อนความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ แต่แนวคิดเรื่องการเสียดินแดนก็ยังคงเป็นวาทกรรมสำคัญในขบวนการชาตินิยมของไทย และยังถูกนำมาทำซ้ำเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงคดีพิพาทปราสาทพระวิหารกับกัมพูชา

ต้นกำเนิด แก้

แนวคิดเรื่องการเสียดินแดนของไทยเริ่มแพร่หลายเป็นครั้งแรกในช่วงพุทธทศวรรษ 2480 โดยเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาตินิยมไทยต่อต้านตะวันตก ซึ่งส่งเสริมโดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสมัยนั้น การสูญเสียดินแดนในอดีตถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อสำคัญใน "วาทกรรมความอัปยศอดสูของชาติ" (ตามที่เรียกโดย เชน สเตรท (Shane Strate) นักประวัติศาสตร์ไทยชาวอเมริกัน) ซึ่งถูกนำมาอ้างเพื่อสนับสนุนรัฐบาลและอุดมการณ์การขยายดินแดนเพื่อก่อตั้งมหาอาณาจักรไทย[1][2]

แนวคิดดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านชุดแผนที่ชื่อ แผนที่ประวัติศาสตร์ไทย และแผนที่อีกแผ่นหนึ่งชื่อ แผนที่ประวัติอาณาเขตไทย โดยแผนที่ประวัติศาสตร์ไทยเป็นชุดแผนที่หกแผ่น แผ่นแรกแสดงการอพยพของคนไท/ไทยจากเทือกเขาอัลไต (ซึ่งเป็นทฤษฎีที่แพร่หลายในขณะนั้น) และแผ่นอื่นๆ แสดงอาณาเขตของอาณาจักรไทยต่างๆ ในอดีต ได้แก่ อาณาจักรน่านเจ้า (ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเชื่อว่าเป็นไทย) อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวร อาณาจักรธนบุรีสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน และอาณาจักรรัตนโกสินทร์สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก[3]

ส่วนแผนที่ประวัติอาณาเขตไทยเป็นแผนที่แผ่นเดียว ระบุดินแดนที่ประเทศไทยสูญเสียไปในคราวต่างๆ จนเหลือเป็นอาณาเขตของประเทศไทยในปัจจุบัน แผนที่นี้ถูกทำขึ้นหลายแบบหลายรุ่น โดยต่างก็นับการสูญเสียแตกต่างกันไป แต่ทุกแบบล้วนระบุถึงการสละดินแดนประเทศลาวและกัมพูชาในปัจจุบันแก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2436, 2447 และ 2450 และหัวเมืองมลายูทั้งสี่แก่อังกฤษในปี พ.ศ. 2452[3]

ประวัติการตีพิมพ์ แก้

 
แผนที่ประวัติอาณาเขตต์ไทย พิมพ์โดยกรมแผนที่ทหารเมื่อ พ.ศ. 2483

ชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทย จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยกรมแผนที่ทหารเมื่อประมาณ พ.ศ. 2478-2479[4] ส่วนแผนที่ประวัติอาณาเขตไทยก็พิมพ์ขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2478 เช่นกัน แต่ฉบับที่แพร่หลายเป็นอีกฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2483 ในช่วงที่อุดมการณ์มหาอาณาจักรไทยที่สนับสนุนโดยรัฐบาลจอมพล ป. กำลังแพร่หลาย และมีกระแสเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส แผนที่นี้ถูกแจกจ่ายไปยังโรงเรียนและหน่วยงานของรัฐเป็นวงกว้าง จนทูตของอังกฤษและฝรั่งเศสออกมาคัดค้าน รัฐบาลจึงได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการพิมพ์แผนที่ดังกล่าว แต่หลังจากนั้นลูกน้องคนสนิทของจอมพล ป. คนหนึ่งก็เข้ามาจัดการแจกจ่ายแผนที่แทน[3]

ขบวนการเรียกร้องดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง และประเทศไทยภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. ก็ได้ส่งทหารเข้าสู้รบในกรณีพิพาทอินโดจีนใน พ.ศ. 2483 เพื่อยึดดินแดนที่เสียไปคืน ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้ผนวกดินแดนดังกล่าวบางส่วน แต่ก็ต้องสละการอ้างสิทธิ์ไปหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม แม้บรรยากาศทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป แต่แผนที่เหล่านี้ก็ยังคงอยู่ได้จากการนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อการสอนในโรงเรียน

ใน พ.ศ. 2500 พ.อ.พูนพล อาสนจินดา อดีตเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำชุดแผนที่ที่คล้ายกัน (ซึ่งรวมทั้งชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทย และแผนที่ประวัติอาณาเขตไทย) ให้กับสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช โดยใช้ชื่อว่า บันไดประวัติศาสตร์ไทยแต่โบราณ แผนที่ชุดนี้ถูกพิมพ์ขายเป็นแผ่นขนาดประมาณหน้าหนังสือพิมพ์ และถูกนำไปใช้ตามโรงเรียนอย่างแพร่หลาย[5]

ใน พ.ศ. 2506 แผนที่ชุดนี้ถูกทำขึ้นอีกแบบหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรียนแผนที่ภูมิศาสตร์ที่วาดโดยนายทองใบ แตงน้อย ครูใหญ่โรงเรียนจากปราจีนบุรี แผนที่ของทองใบถูกจัดพิมพ์โดยไทยวัฒนาพานิชเช่นกัน และเป็นแบบเรียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากและถูกใช้อย่างแพร่หลายในโรงเรียนทั่วประเทศมาหลายสิบปี โดยพิมพ์ครั้งที่ 44 ไปใน พ.ศ. 2557[6] คนไทยส่วนใหญ่ทุกวันนี้ต่างคุ้นเคยกับแผนที่ชุดนี้จากหนังสือของนายทองใบ[3][7]

หลังจากนั้นแผนที่ชุดนี้ โดยเฉพาะแผนที่ประวัติอาณาเขตไทย ก็ยังถูกทำขึ้นใหม่อีกหลายแบบหลายครั้ง บางฉบับทำขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์เพื่อกล่าวถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์[3] บางฉบับก็ทำขึ้นโดยองค์กรหรือกลุ่มที่นำมาใช้ในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีข้อพิพาทด้านดินแดนกับกัมพูชา ใน พ.ศ. 2546 หลังเกิดเหตุโจมตีสถานทูตไทยในการจลาจลในพนมเปญ กรมแผนที่ทหารได้จัดทำแผนที่แสดงการเสียดินแดนของสยามขึ้นมาใหม่ ซึ่งอ้างเหตุการณ์สูญเสียดินแดนถึง 13 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากแผนที่ก่อนๆ หน้าที่มักระบุประมาณ 8 ครั้ง และเมื่อเหตุพิพาทปราสาทพระวิหารปะทุขึ้นอีกใน พ.ศ. 2551 ก็มีวิดีโอที่ไม่ระบุผู้จัดทำถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งนำเสนอแผนที่อีกแบบหนึ่งที่นับการสูญเสียดินแดนถึงสิบสี่ครั้ง[5]

ปัญหา แก้

แผนที่เหล่านี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทยต่างระบุขอบเขตดินแดนภายใต้การควบคุมของสยามมากเกินจริง และเลือกเฉพาะช่วงเวลาที่อาณาเขตขยายไปกว้างที่สุดมาแสดง โดยไม่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเพิ่มลดระหว่างนั้น นอกจากนี้การใช้แผนที่ระบุเขตแดนก็นับว่าผิดยุคสมัย เนื่องจากแนวคิดเรื่องเขตแดนทางภูมิศาสตร์ยังไม่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น และไม่สะท้อนถึงระบบประเทศราชแบบมณฑลของภูมิภาคนี้[4] การแสดงถิ่นกำเนิดของคนไทยตามทฤษฎีเทือกเขาอัลไตสะท้อนให้เห็นว่าชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทยใช้ข้อมูลอิงจากหนังสือหลักไทยของขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งเป็นงานเขียนสมัยนิยมที่กลายมาเป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับสมัยต่อมา แนวคิดในหลักไทยนั้นอิงมาจากทฤษฎีที่ว่าน่านเจ้าเป็นรัฐของชาวไท ซึ่งนักประวัติศาสตร์ต่างปฏิเสธไปแล้วตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2520 แต่ยังคงถูกทำซ้ำผ่านหนังสือแผนที่ของทองใบ[7]

ในทำนองเดียวกัน แผนที่ประวัติอาณาเขตไทยก็ไม่มีหลักเกณฑ์รองรับว่าใช้อะไรตัดสินให้พื้นที่ใดนับเป็นเขตแดนของสยาม และชวนให้เข้าใจผิดว่าสยามเคยมีรูปร่างทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนก่อนที่จะสูญเสียดินแดนเหล่านั้นไป ขณะที่ในความเป็นจริงแล้วเขตแดนเหล่านั้นต่างไม่เคยมีการปักปันอย่างชัดเจน[3]

นักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง เริ่มจากธงชัย วินิจจะกูลใน พ.ศ. 2537 มองว่าแผนที่เหล่านี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้สนับสนุนมุมมองประวัติศาสตร์ตามคติชาตินิยมไทย โดยธงชัยระบุว่า "แผนที่เหล่านี้มิได้มีไว้สำหรับศึกษาภูมิศาสตร์ในอดีต แต่มีไว้สำหรับสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตของชาติ"[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึงแผนที่ของทองใบว่าเป็นตัวอย่างของแนวคิดที่ล้าสมัยไปแล้วแต่ยังคงถูกผลิตซ้ำในตำราเรียน เป็นการสร้างอคติให้กลุ่มการเมืองสามารถปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ[8]

แนวคิดเรื่องการเสียดินแดนยังคงเป็นหัวข้อสำคัญในวาทกรรมชาตินิยมไทย และยังคงปรากฏให้เห็นโดยเฉพาะในช่วงกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร ซึ่งกรณีนั้นเองก็ถูกระบุเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดในแผนที่แบบล่าสุดที่ปรากฏขึ้นหลัง พ.ศ. 2550[5]

เปรียบเทียบการเสียดินแดนที่ระบุในแผนที่ต่างๆ แก้

 
ภาพจำลองในการอธิบาย
พ.ศ. พื้นที่ เสียให้ เหตุการณ์
ผท.ทหาร 2483[a]
พูนพล 2500[b]
ทองใบ 2506[c]
วัยอาจ 2527[d]
ผท.ทหาร 2546[e]
ไม่ปรากฏชื่อ 2551[f]
รร.จปร. 2556[g]
2329–2343 เกาะปีนัง อังกฤษ พระยาไทรบุรีเสียให้บริษัทอินเดียตะวันออก 1 ไม่ 1 1 2[h] 1 1
2336 ชายฝั่งตะนาวศรี พม่า ยุทธการที่ทวาย 2 ใช่[i] 2 ไม่ 1[j] 2 2
2353 ราชรัฐห่าเตียน เวียดนาม ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ 3 3
2359 แสนหวี พม่า ไม่ ไม่ ไม่ ใช่[k] 3 4[l] 4[i][l]
2369 รัฐเประ (และ เซอลาโงร์) อังกฤษ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ 4 5 5
2393 สิบสองปันนา จีน ไม่ ไม่ ไม่ ใช่[k] 5 6 6[m]
2410 กัมพูชาตะวันออกเฉียงใต้ ฝรั่งเศส สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส พ.ศ. 2410 ซึ่งให้การรับรองกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส แลกกับให้สยามปกครองกัมพูชาตะวันตกเฉียงเหนือ 3 ใช่ 3 2 6 7 7
2431 สิบสองจุไทย ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเข้าปกครอง 4 ใช่ 4 3 ไม่ 8 8
2435 ฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน อังกฤษ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ 8[n][l] 9 9
2436 ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ฝรั่งเศส วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 วิกฤตการณ์ปากน้ำ และ สนธิสัญญา ร.ศ. 112 5 ใช่ 5 4 7 10 10
2438 รัฐปะหัง อังกฤษ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ 9 ไม่ ไม่
2447 ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ฝรั่งเศส สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 แลกกับเมืองจันทบุรีและตราด ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2436 6 ใช่ 6 5 10 11 11
2450 พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ฝรั่งเศส สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 125 แลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตสำหรับคนเอเชียในปกครองฝรั่งเศส 7 ใช่ 7 6 11 12 12
2452 รัฐเกอดะฮ์ (ไทรบุรี) ปะลิส กลันตัน และตรังกานู อังกฤษ สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 แลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตสำหรับคนเอเชียในปกครองอังกฤษ และเงินกู้สำหรับสร้างทางรถไฟสายใต้ 8 ใช่ 8 7 12 13 13
2505 ปราสาทพระวิหาร กัมพูชา การตัดสินคดีปราสาทพระวิหารโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่ 13 14 14
  1. กรมแผนที่ทหาร, แผนที่ประวัติอาณาเขตต์ไทย, ภาพ
  2. พูนพล อาสนจินดา, บันไดประวัติศาสตร์ไทยแต่โบราณ[5]
  3. แผนที่ภูมิศาสตร์ของทองใบ แตงน้อย[3]
  4. David K. Wyatt, Thailand: A Short History[9]
  5. กรมแผนที่ทหาร, แผนที่แสดงการเสียดินแดนของสยาม[5]
  6. วิดีโอออนไลน์ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง[5] รายการต่างๆ ไม่ระบุวันที่
  7. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, แผนที่แสดงการเสียดินแดนของไทย ๑๔ ครั้ง[10]
  8. ระบุปี พ.ศ. 2369
  9. 9.0 9.1 ระบุปี พ.ศ. 2368
  10. ระบุปี พ.ศ. 2334 เมื่อหัวเมืองแปรพักตร์
  11. 11.0 11.1 วาดเส้นเขตแดนแต่ไม่ระบุข้อความ
  12. 12.0 12.1 12.2 รวมเชียงตุงและหัวเมืองไทใหญ่
  13. ระบุปี พ.ศ. 2397
  14. ระบุปี พ.ศ. 2437

อ้างอิง แก้

  1. Warren, James A. (2016). "The Lost Territories: Thailand's History of National Humiliation by Shane Strate". Journal of the Siam Society. 104: 323–326.
  2. Ivarsson, Søren (3 February 2018). "The Lost Territories: Thailand's History of National Humiliation | By Shane Strate". Pacific Affairs (UBC Journal) (ภาษาอังกฤษแบบแคนาดา). 90 (1): 196–198.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Thongchai Winichakul (1994). Siam Mapped: A History of the Geo-body of a Nation. Chiang Mai: Silkworm Books. pp. 150–156. ISBN 9789747100563.
  4. 4.0 4.1 Sternstein, Larry (1964). "An 'Historical Atlas of Thailand'" (PDF). Journal of the Siam Society. 52 (1): 7–20.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 Charnvit Kasetsiri (2012). "จินตกรรมประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยกับแผนที่ "เสียดินแดน" จากทศวรรษ 2470 ถึง พ.ศ. 2554" [Imagined Thai Historiography and Historical Maps from 1930s to the Present]. ใน Charnvit Kasetsiri (บ.ก.). Pramūan phǣnthī : prawattisāt-phūmisāt-kānmư̄ang kap latthi ʻānānikhom nai ʻĀsīan-ʻUsākhanē ประมวลแผนที่ : ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์-การเมือง กับลัทธิอาณานิคมในอาเซียน-อุษาคเนย์ [Collected maps : history-geography-politics and colonialism in Southeast Asia]. Foundation for the Promotion of Social Sciences and Humanities Textbooks Project. pp. 333–373. ISBN 9786167202280.
  6. ภูวเดช ธนิชานนท์ (2018). แผนที่ประวัติศาสตร์: การสร้างมโนภาพใหม่ทางประวัติศาสตร์แก่ประชาคมอาเซียน [Historical Maps : Creation of New Historical Conception for ASEAN Community] (PDF). ASEAN on the Path of Community. Ramkhamhaeng University. pp. 333–348.
  7. 7.0 7.1 อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ (9 February 2018). "นักสร้างความเป็นไทยในแผนที่ "ทวี (ทองใบ) แตงน้อย"". Museum Siam. สืบค้นเมื่อ 2 April 2023.
  8. พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ (20 January 2011). "สัมภาษณ์ 'ชาญวิทย์ เกษตรศิริ'ปฐมบทความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ในแบบเรียนภูมิศาสตร์ชั้นมัธยม". Isranews Agency. สืบค้นเมื่อ 2 April 2023.
  9. Wyatt, David K. (1984). Thailand: A Short History. Yale University Press. ISBN 9740753892.
  10. อำนาจ ไกรสงคราม; บุญเอิบ เกิดพร; สัมพันธ์ แทนไธสง; ทศพร นุชอำพันธ์; จารีต สราญจิตต์ (26 June 2013). "เอกสารการจัดการความรู้ เรื่อง "การจัดทำแผนที่การเสียดินแดนของไทย ๑๔ ครั้ง"" (PDF). Chulachomklao Royal Military Academy.

อ่านเพิ่มเติม แก้

  • Strate, Shane (2015). The Lost Territories: Thailand's History of National Humiliation. University of Hawai'I Press.