บาดแผลถลอกที่ฝ่ามือ
จำนวนวันโดยประมาณหลังเกิดบาดแผล
0 2 17 30

การสมานแผล (อังกฤษ: wound healing, wound repair) เป็นกระบวนการซับซ้อนซึ่งผิวหนังหรืออวัยวะอื่นทำการซ่อมแซมตัวเองหลังจากได้รับบาดเจ็บ[2] ในผิวหนังปกติ ชั้น epidermis และ dermis อยู่ในสมดุลสถิตตลอดเวลาเพื่อสร้างเกราะกำบังป้องกันร่างกายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เมื่อเกราะป้องกันนี้ถูกทำลายจะมีกระบวนการทางสรีรวิทยาปกติเพื่อทำการรักษาบาดแผลเกิดขึ้นทันที ตัวแบบคลาสสิกของการสมานแผลแบ่งออกเป็นสามหรือสี่ระยะซึ่งค่อนข้างซ้อนทับกัน ระยะที่ (1) คือระยะการหยุดของเลือด (hemostasis) ซึ่งนักวิชาการบางท่านไม่นับเป็นระยะ (2) การอักเสบ (inflammatory) (3) การเจริญ (proliferative) และ (4) การปรับรูปร่าง (remodeling) [3] เมื่อเกิดมีการบาดเจ็บของผิวหนังจะมีเหตุการณ์ทางชีวเคมีอันซับซ้อนเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนที่สอดรับกันอย่างดีเพื่อรักษาบาดแผล[4] ภายในไม่กี่นาทีหลังได้รับบาดเจ็บเกล็ดเลือดจะมารวมตัวกันที่บริเวณบาดแผลเพื่อสร้างเป็น fibrin clot โดย clot นี้จะทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้เลือดไหล

ภาพเนื้อเยื่อย้อมสารเรืองแสงของเซลล์ในตัวอ่อน Drosophilia กำลังมีการรักษาบาดแผลหลังเกิดบาดแผลถูกทิ่ม ลูกศรชี้ให้เห็นเซลล์ที่รวมตัวกันเพื่อสร้าง syncytia และหัวลูกศรชี้ให้เห็นเซลล์ที่จัดเรียงตัวใหม่เพื่อจับกับบาดแผล[1]

ในระยะการอักเสบ แบคทีเรียและเศษเซลล์จะถูกจับกินและกำจัดทิ้ง มี factor หลายอย่างถูกปล่อยออกมาทำให้มีการย้ายที่และการแบ่งตัวของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระยะการเจริญ

ในระยะเจริญมีลักษณะเฉพาะคือการสร้างหลอดเลือดใหม่ (angiogenesis) การวางตัวของคอลลาเจน (collagen deposition) การสร้างเนื้อเยื่อแกรนูเลชัน (granulation tissue formation) การสร้างเนื้อเยื่อบุผิว (epithelialization) และการหดรั้งตัวของบาดแผล (wound contraction) [5] ในการสร้างหลอดเลือดใหม่จะมีการสร้างหลอดเลือดขึ้นมาใหม่จากเซลล์เยื่อบุผิวหลอดเลือด[6] ใน fibroplasia และ granulation tissue formation นั้นเซลล์ไฟโบรบลาสต์จะเจริญและสร้าง extracellular matrix ขึ้นมาใหม่โดยการหลั่ง collagen และ fibronectin[5] ในขณะเดียวกันเยื่อบุผิวจะมีการสร้างเยื่อบุผิวขึ้นใหม่โดยเซลล์เยื่อบุผิวจะเจริญและ "คืบคลาน" มาอยู่เหนือก้นแผล เป็นการปกป้องเนื้อเยื่อที่กำลังสร้างขึ้นใหม่[7]

ในการหดรั้งของบาดแผล บาดแผลจะมีขนาดเล็กลงเป็นผลจาก myofibroblast ซึ่งทำให้เกิดการหดตัวที่ขอบแผลและหดตัวเองลงด้วยกระบวนการคล้ายคลึงกับการหดตัวของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ เมื่อบทบาทของเซลล์เหล่านี้ยุติลงจะเกิดกระบวนการ apoptosis เพื่อทำลายตัวเอง

ในขั้นตอนการเจริญเต็มที่และปรับรูปร่างของบาดแผล collagen จะมีการปรับรูปร่างและจัดเรียงตำแหน่งใหม่ตามแนวแรงตึง เซลล์ที่หมดหน้าที่จะทำลายตัวเองด้วยกระบวนการ apoptosis[5]

อย่างไรก็ดี กระบวนการเหล่านี้ซับซ้อนและเปราะบางอย่างมาก มีโอกาสถูกขัดจังหวะทำให้เกิดการล้มเหลวของการสมานแผลกลายเป็นบาดแผลที่ไม่หายเรื้อรังได้ ปัจจัยที่อาจมีส่วน เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง อายุมาก และการติดเชื้อ เป็นต้น[8]

อ้างอิง แก้

  1. Galko MJ, Krasnow MA (2004). "Cellular and genetic analysis of wound healing in Drosophila Larvae". PLoS Biology. 2 (8): e239. doi:10.1371/journal.pbio.0020239.
  2. Nguyen, D.T., Orgill D.P., Murphy G.F. (2009). Chapter 4: The pathophysiologic basis for wound healing and cutaneous regeneration. Biomaterials For Treating Skin Loss. CRC Press (US) & Woodhead Publishing (UK), Boca Raton/Cambridge, p. 25-57. (ISBN 978-1-4200-9989-9, ISBN 978-1-84569-363-3)
  3. Quinn, J.V. (1998). Tissue Adhesives in Wound Care. Hamilton, Ont. B.C. Decker, Inc. Electronic book.
  4. Stadelmann W.K., Digenis A.G. and Tobin G.R. (1998). Physiology and healing dynamics of chronic cutaneous wounds. The American Journal of Surgery 176 (2) : 26S-38S. PMID 9777970 Hamilton, Ont. B.C. Decker, Inc. Electronic book
  5. 5.0 5.1 5.2 Midwood K.S., Williams L.V., and Schwarzbauer J.E. 2004. Tissue repair and the dynamics of the extracellular matrix. The International Journal of Biochemistry & Cell Biology 36 (6) : 1031-1037. PMID 15094118.
  6. Chang H.Y., Sneddon J.B., Alizadeh A.A., Sood R., West R.B., Montgomery K., Chi J.T., van de Rijn M, Botstein D., Brown P.O. (2004). Gene Expression Signature of Fibroblast Serum Response Predicts Human Cancer Progression: Similarities between Tumors and Wounds. Public Library of Science 2 (2). PMID 14737219. Accessed January 20, 2008.
  7. Garg, H.G. (2000). Scarless Wound Healing. New York Marcel Dekker, Inc. Electronic book.
  8. Enoch, S. Price, P. (2004). Cellular, molecular and biochemical differences in the pathophysiology of healing between acute wounds, chronic wounds and wounds in the elderly. Worldwidewounds.com.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้