การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564

การประท้วงต่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และพระมหากษัตริย์

การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 เป็นการประท้วงต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แรกเริ่มเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 การประท้วงเกิดขึ้นในพื้นที่สถานศึกษาทั้งหมด และหยุดไปช่วงหนึ่งจากการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย และการออกคำสั่งปิดสถานศึกษาเพื่อควบคุมโรค

การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564
ตามเข็มนาฬิกาจากด้านบน:
วันที่
  • ระยะที่ 1: 23 กุมภาพันธ์ 2563
  • ระยะที่ 2: 18 กรกฎาคม – ธันวาคม 2563
  • ระยะที่ 3: 10 กุมภาพันธ์ – เมษายน 2564
  • ระยะที่ 4: เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2564
สถานที่ประเทศไทย และมีการประท้วงในต่างประเทศส่วนหนึ่ง
สาเหตุ
เป้าหมาย
  • ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก
  • ยุบสภาผู้แทนราษฎรและยกเลิกวุฒิสภา
  • หยุดคุกคามประชาชน
  • ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย
  • ยกเลิกพระราชอำนาจและกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย
  • เพิ่มสิทธิพลเมือง เศรษฐกิจและการเมือง
  • การปฏิรูประบบการศึกษาไทย
  • การเรียกร้องสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง
  • การแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
วิธีการเดินขบวน,[a] แฟลชม็อบ, รณรงค์ออนไลน์, เข้าชื่อ ศิลปะการประท้วง, การดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภค, การปาอาวุธชนิดระเบิดใส่เจ้าหน้าที่
ผลการประท้วงยุติลง
  • ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 15–22 ตุลาคม 2563
  • ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมล้มเหลว
  • ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง[3]
  • ผู้ประท้วงคนสำคัญเผชิญกับการปราบปรามและสอดแนมอย่างหนัก
คู่ขัดแย้ง

ผู้ประท้วง:
(ไม่มีสายบังคับบัญชา)

  • กลุ่มราษฎร[4]
  • คณะประชาชนปลดแอก (เดิมชื่อ เยาวชนปลดแอก)
  • แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
  • กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
  • สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย
  • ดาวดินสามัญชน
  • รีเด็ม-ประชาชนสร้างตัว
  • ทะลุฟ้า
  • ทะลุแก๊ส
  • ทะลุวัง
  • ไฟเย็น (วงดนตรี)
  • สังคมนิยมแรงงาน

กลุ่มกดดันเฉพาะเรื่อง:

  • เสรีเทย
  • สมัชชาแรงงานแห่งชาติ
  • สมัชชาคนจน
  • เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
  • นักเรียนเลว

ราชการ:

ประชาชน:


สนับสนุนโดย:

ผู้นำ

จำนวน
  • 18 กรกฎาคม 2563:
  • 2,500
  • 16 สิงหาคม 2563:
  • 20,000–25,000
  • 19 กันยายน 2563:
  • 20,000–100,000
  • ตุลาคม 2564:
  • 3,000
ความเสียหาย
เสียชีวิต4 คน[25][26][27][28] (ตำรวจ 1 นาย)[29][d]
บาดเจ็บ154+ คน[c]
ถูกจับกุม581+ คน[e]
ถูกตั้งข้อหา1,634+ คน[40]

การประท้วงกลับมาอุบัติขึ้นอีกครั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม ในรูปแบบการเดินขบวนซึ่งจัดระเบียบภายใต้กลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับเป็นการชุมนุมใหญ่สุดในรอบ 6 ปี มีการยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการต่อรัฐบาล ได้แก่ ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การประท้วงในเดือนกรกฎาคมนั้นเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 และการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) นับแต่นั้นทำให้ต่อมาการประท้วงได้ลามไปอย่างน้อย 44 จังหวัดทั่วประเทศ จนวันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มผู้ประท้วงจัดปราศรัยเกี่ยวกับประเด็นพระราชอำนาจและเพิ่มข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้น ประเด็นพระราชอำนาจดูเหมือนเข้ามารวมอยู่ในเป้าหมายการประท้วงด้วย กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลจัดการชุมนุมตอบโต้ โดยกล่าวหาผู้ประท้วงว่าถูกยุยงปลุกปั่นมีเจตนาแฝงล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ การประท้วงในวันที่ 19 กันยายนมีผู้เข้าร่วม 20,000–100,000 คน หลังรัฐสภาลงมติเลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปลายเดือนกันยายนทำให้เกิดการแสดงออกนิยมสาธารณรัฐอย่างเปิดเผยหมู่ครั้งแรกในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 15–22 ตุลาคม โดยอ้างเหตุขวางขบวนเสด็จฯ แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าทางการจงใจจัดขบวนเสด็จฯ ฝ่าผู้ชุมนุม สมัยประชุมวิสามัญได้ข้อสรุปว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง การประชุมในเดือนพฤศจิกายนมีการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่งยังคงมีวุฒิสภา และห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ทำให้การประท้วงในเดือนพฤศจิกายนมุ่งเป้าไปยังพระมหากษัตริย์มากขึ้น และมีการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประท้วงและกลุ่มคนเสื้อเหลือง

การประท้วงหยุดไปอีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 แต่การต่อสู้คดีของแกนนำผู้ประท้วงยังดำเนินต่อ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ศาลไม่ให้ประกันตัวจำเลยในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และการไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นชนวนให้เกิดการประท้วงบนท้องถนนอีกครั้ง ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงยังพยายามเรียกกระแสให้กลับคืนมาอีกครั้ง

การตอบสนองของภาครัฐมียุทธวิธีประวิงเวลา การแจ้งข้อหาอาญาโดยใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีการใช้หน่วยสงครามข่าวสาร การตรวจพิจารณาสื่อ และมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล และมีการป้ายสีมีรัฐบาลและมีองค์การนอกภาครัฐต่างประเทศให้การสนับสนุน บ้างกล่าวหาว่าผู้ประท้วงกำลังต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง

สื่อนิยมเจ้าและนิยมรัฐบาลพยายามลงข่าวให้เข้าใจว่าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายสร้างความรุนแรง และมีชาวสหรัฐ[41][42]ให้การสนับสนุน มีผู้สังเกตว่าการตอบสนองของทางการในปี 2564 หนักมือขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อถึงปี 2565 การประท้วงบนท้องถนนได้ยุติลงไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสื่อคาดว่าเป็นเพราะทางการใช้วิธีปราบปรามและสอดแนมผู้ชุมนุมคนสำคัญอย่างหนัก และความแตกแยกในหมู่สมาชิกขบวนการประท้วงเอง

เบื้องหลัง แก้

สาเหตุโดยตรง แก้

ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถาปนาอำนาจและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 คสช. ครองอำนาจบริหารประเทศเป็นเวลา 5 ปี 55 วัน โดยไม่มีการตรวจสอบ เป็นช่วงที่สิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองของประชาชนถูกจำกัด และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจกว้างขึ้น[43][44] หลังการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2559 ที่ผลเป็นข้อพิพาท ตลอดจนไม่เสรีและเป็นธรรม[45] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน มีผลใช้บังคับ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหลายอย่าง เช่น วุฒิสภา​ที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาห้าปี (สองคน) และผูกมัดให้รัฐบาลในอนาคตต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. นักวิชาการเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีการชี้นำ (guided democracy) โดยกองทัพ[46]

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ถูกมองว่า "เสรีบางส่วนและไม่เป็นธรรม" และเป็นอำนาจนิยมแบบมีการเลือกตั้ง (electoral authoritarianism)[47] ทำให้ คสช. สิ้นสุดลงแต่ในนาม อย่างไรก็ดี ระบบการเมืองเดิมยังดำเนินต่อในรูปพรรคทหารแบบประเทศเมียนมาร์[47] กองทัพยังคงดำเนินนโยบายและปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. พรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วยพรรคที่สนับสนุนประยุทธ์และพรรคเล็กที่ได้รับผลประโยชน์จากการตีความกฎหมายเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.[48] อีกทั้งยังมีพรรคพวกในวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ในราชการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ถูกแต่งตั้งตามกลไกของ คสช. ผู้มีอำนาจจำนวนมาก รวมทั้งผู้มีส่วนในอาชญากรรมที่มีการจัดตั้ง (organized crime) ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญ[47][49][50]

ระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้รับเสียงตอบรับดีจากผู้มีความคิดก้าวหน้าและเยาวชน ซึ่งมองว่าเป็นทางเลือกสำหรับพรรคการเมืองแบบเก่าและต่อต้าน คสช.[51] เผยให้เน้นการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจและสังคมตามรุ่นวัย[47] หลังรัฐบาลผสมอายุได้ 11 เดือน พรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นฝ่ายค้านถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคในห้วงที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังมีญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล[52] อดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เปิดโปงการมีส่วนร่วมของรัฐบาลใน 1MDB[53]

ในขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร. นิยม รัฐอมฤต อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าสาเหตุของการประท้วงมาจากการที่คณะรัฐประหารนั้นผิดสัญญาที่ให้ไว้ในเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย[54]เช่น เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558 เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการก่อการร้ายและ เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 ที่ทหารลงมือสังหารประชาชนด้วยอาวุธปืน รวมถึงระยะเวลาที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี นั้นนานมาก[55]

สาเหตุพื้นเดิม แก้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอำนาจเพิ่มขึ้นกว่าพระราชอำนาจตามประเพณีที่ทรงอำนาจอยู่แล้วนับแต่รัชกาลก่อน พระองค์ทรงมีความเห็นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และนำไปสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งที่ผู้ออกเสียงลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว[56]และมีพรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2561 ซึ่งส่งผลให้พระองค์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค

นับตั้งแต่ปี 2560[57][58]มีพระราชโองการปลดข้าราชการพลเรือนในพระองค์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์จำนวนมาก[59][60][61][62][63][64] อาทิปลด พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย[65]เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณีออกจากยศทหารและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์[66]บางกรณีได้มีการแต่งตั้งกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม[67][68]ข้อหาที่ปลดอาทิ คบชู้ โต้แย้งพระราชกระแส ประพฤติชั่วร้ายแรง ผิดราชสวัสดิ์ในลักษณะเชิงชู้สาว[69]

พระราชบัญญัติ​จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 เริ่มใช้วันที่ 18 กรกฎาคม​ พ.ศ. 2560 ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2557 ซึ่งมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท พลเรือเอก ณะ อารีนิจ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง และ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทหารอยู่ในสภาจำนวนมาก อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ซึ่งส่งผลให้พระองค์มีรายได้จากเงินปันผลเฉพาะ ปูนซีเมนต์ไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2565 มากกว่า 10000 ล้านบาทต่อปี ถึง 3 ปี แม้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แล้วก็ตาม[70]จากจำนวนปีช่วงดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 6 ปี ฟ้าเดียวกัน ระบุว่าตลอดหกปีที่กฎหมายบังคับใช้ทรงมีรายได้จากเงินปันผลจากสองบริษัทหลังหักภาษี รวมมากกว่า 54000 ล้านบาท

ต่อมามีพระบรมราชโองการปลด อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ​พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติ​จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้อย่างเร่งด่วน[71]ซึ่งส่งผลให้พระองค์เป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตาม พระราชบัญญัติ​จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491 ที่ใช้ตลอด 69 ปีถือว่าเป็นของสาธารณะ ปีเดียวกันมีพระบรมราชโองการปลดผู้บริหารกรมราชองครักษ์ทั้งหมด[72]

ต่อมา​วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดยสมาชิกคณะรัฐมนตรีนั้นกล่าวสวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการละเมิดการสาบานก่อนเข้ารับตำแหน่งโดยไม่ยอมกล่าวแก้ไข[48] ในปี 2563 รัฐบาลโอนหน่วยทหาร 2 หน่วยให้เป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งดูเหมือนว่ากระทำในพระปรมาภิไธย[73] ช่วงปลายปีได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[74]

การใช้บังคับกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเป็นหัวข้อถกเถียงมาตั้งแต่รัชกาลก่อน จำนวนคดีได้เพิ่มสูงสุดหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[75] นักวิจารณ์มองว่ากฎหมายนี้เป็นอาวุธทางการเมืองที่ใช้ปราบปรามผู้เห็นต่าง และจำกัดเสรีภาพในการพูด แม้ไม่มีคดีใหม่ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งประยุทธ์กล่าวว่าทรงเป็นพระราชประสงค์ แต่ก็มีการใช้กฎหมายความมั่นคงอื่นแทน เช่น กฎหมายการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116), พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือความผิดฐานอั้งยี่​ซึ่งทั้งหมดล้วนมีโทษร้ายแรงพอ ๆ กับกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ในเดือนมิถุนายน 2563 การบังคับสูญหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ใน ประเทศกัมพูชา​ ได้รับความสนใจและเห็นใจในโลกออนไลน์[76] และต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม ทิวากร วิถีตน ถูกบังคับเข้าโรงพยาบาลจิตเวชจากการโพสต์รูปใส่เสื้อยืด "เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว" ซึ่งเป็นการถูกคุกคามทางการเมืองโดยอ้างจิตเวช ทำให้เกิดกระแส #saveทิวากร เป็นอันดับหนึ่งในโลกออนไลน์ [77]

เหตุการณ์ประจวบ แก้

รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม และสั่งเคอร์ฟิวเพื่อจำกัดการระบาด รัฐบาลยังสั่งงดเดินทางเข้าประเทศจากต่างประเทศ[78] แม้ประเทศค่อนข้างประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคแล้ว เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขที่ทนทาน[79][80] แต่รัฐบาลยังไม่ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่รุนแรง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศได้รับผลกระทบหนัก กองทุนการเงินระหว่างประเทศทำนายว่าจีดีพีไทยจะหดตัวลงร้อยละ 6.7 ในปี 2563[81] รัฐบาลกู้ยืมเงินและประกาศเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท (60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่มีผู้ได้รับประโยชน์จริงจำนวนน้อย[82]

วันที่ 15 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 3 คน แต่ 2 ใน 3 คนนั้น เป็นทหารชาวอียิปต์และครอบครัวอุปทูตซูดาน ซึ่งทั้งสองเป็นแขกพิเศษของรัฐบาล และรัฐบาลผ่อนผันมาตรการปฏิบัติต่อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 บางอย่าง รัฐบาลปิดบังพื้นที่เสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยสองรายนี้จนกระทั่งวันที่ 16 กรกฎาคม ทำให้ชาวเน็ตหลายคนเกรงว่าอาจมีการระบาดระลอกที่ 2[83] ประชาชนจำนวนมากจึงวิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลในการควบคุมโรคกับแขกวีไอพีเหล่านี้[84] และความล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19[85][86] วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่จังหวัดระยอง ตำรวจจับผู้ประท้วงสองคนที่ถือป้ายข้อความประท้วงนายกรัฐมนตรีและเรียกร้องให้ลาออก มีรายงานว่าทั้งสองถูกตำรวจทำร้ายด้วย[87]

ลำดับเหตุการณ์ แก้

การประท้วงระยะแรก (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) แก้

 
การประท้วงที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยตัวเลขที่ถูกขีดฆ่าหมายถึง จำนวนคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศที่เลือกให้กับพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกขีดทิ้ง

การประท้วงระยะแรกเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองฝ่ายค้านซึ่งได้รับความนิยมในหมู่เยาวชน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563[88] จึงเกิดการเดินขบวนในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยและโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศตั้งแต่นั้นมา การประท้วงเหล่านี้มีแฮชแท็กที่จำเพาะกับสถาบันของพวกตน การประท้วงในช่วงแรก ๆ เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โรงเรียนที่ประท้วงด้วย เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา​และโรงเรียนศึกษานารีวิทยา อย่างไรก็ดี การประท้วงเหล่านี้จำกัดอยู่ในสถาบันของตนเท่านั้น[89][90] ด้านบุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง​ ระบุว่า การประท้วงบนถนนไม่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย หากกองทัพยังอยู่ข้างรัฐบาล[1]

แฮชแท็กที่เกิดขึ้นในการประท้วงเดือนกุมภาพันธ์ เช่น ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป, ใน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้ #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ , ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ใช้ #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใช้ #มศวขอมีจุดยืน, #รากฐานจะหารด้วย อีกจำนวนหนึ่งใช้แสดงออกถึงความเป็นปรปักษ์กับกลุ่มผู้สนับสนุนเผด็จการ เช่น #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ, #KKUขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์, #ศาลายางดกินของหวานหลายสี, #พระจอมเกล้าชอบกินเหล้าไม่ชอบกินสลิ่ม

ต่อมาการประท้วงหยุดไปจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย และคำสั่งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศเพื่อควบคุมโรคโดยให้จัดการเรียนการสอนทางออนไลน์แทน

การประท้วงทางออนไลน์ แก้

การรณรงค์ให้หยุดก่อม็อบลงถนนหลังกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เพราะกลัวให้เป็นข้ออ้างในการปราบปราม​สังหารประชาชนหรือการรัฐประหารซ้อน​[91] การติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์เริ่มเป็นที่นิยมในชื่อ save เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากรัฐ เช่น #saveวันเฉลิม (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยในประเทศกัมพูชา)[92], #saveทิวากร ผู้สวมเสื้อ เราหมดศรัทธา​สถาบันกษัตริย์​แล้ว[93]

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์และผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทวีตตั้งคำถามเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 พร้อมใส่แฮชแท็กดังกล่าว จนนำไปสู่การที่กลุ่มเยาวชนกล้าพูดในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่สุด คือ #กษัตริย์มีไว้ทำไม[94] เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ "นิรนาม_"ถูกจับกุมที่ทวิตภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และถูกฝากขังที่ศาลพัทยา และไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้การตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากบริษัททรู[95]

ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า สนท. ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมประท้วงออนไลน์ โดยการถ่ายรูปถือป้ายแสดงความรู้สึกต่อรัฐบาลพร้อมติด #MobFromHome "โควิดหายมาไล่รัฐบาลกันไหม?"[96] ส่งผลให้ในวันต่อมา (25 เมษายน) #MobFromHome พุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย โดยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์แต่ละบัญชีต่างออกมาระบายความอัดอั้นตันใจที่มีต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์[97]

และวันที่ 27 เมษายน นายแพทย์ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวร่วม #MobFromHome ด้วย และได้เปิดตัวแฮชแท็กใหม่อีกคือ #NoCPTPP เนื่องจากในวันถัดมา (28 เมษายน) คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นำโดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมีการเสนอให้ประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งจากข้อตกลงนี้มีกฎหมายข้างเคียงที่จะทำให้ไทยถูกเอาเปรียบทางด้านการเกษตรและด้านการแพทย์อย่างมาก เช่น ต่างชาติสามารถผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชได้ ยามีราคาแพงขึ้น สิทธิบัตรยาถูกผูกขาดมากขึ้น ทำให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารและยาลดลง[98]และ ตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องนำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า ก็ได้ออกมาร่วมรณรงค์ให้คัดค้าน CPTPP ด้วย จนทำให้แฮชแท็ก #NoCPTPP ก็ติดอันดับ 1 ในทวิตเตอร์[99] จนกระทั่งจุรินทร์ต้องสั่งถอนวาระเรื่อง CPTPP ออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีทันทีในวันนั้นเอง[100]และได้มีคำสั่งให้ย้าย นายแพทย์ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย[101] อำเภอสะบ้าย้อยพร้อมแจ้งความดำเนินคดี[102]

ในวันที่ 16 มิถุนายน ทิวากร วิถีตนได้โพสต์รูปบนเฟสบุคตัวเอง ซึ่งเป็นกระแสอย่างมากในโลกออนไลน์ ก่อนหน้านั้นทิวากรได้นำเสนอแนวคิดโดยการใช้สโลแกน 'เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว' ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งผู้ใช้งานหลายคนได้กังวลเรื่องความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย จนถูกคุกคามทางการเมืองโดยอ้างจิตเวชในวันที่ 9 กรกฎาคม มีรถตำรวจและโรงพยาบาล 10 คัน มาจอดที่บ้านเขาในเวลาย่ำค่ำ กลุ่มตำรวจและพยาบาลเข้ามาในบ้านและใช้การบังคับให้ออกไปโดยใช้คนถึง 6 คนเพื่อส่งไปโรงพยาบาลจิตเวช ในรถพยาบาลเจ้าหน้าที่ได้มัดแขนเขาด้วยผ้า และฉีดยาไม่ทราบชนิดให้ หลังจากนั้นตำรวจได้ค้นบ้าน นำคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือไป พร้อมทั้งให้มารดาลงชื่อยินยอมให้นำตัวเข้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ [77]

การประท้วงระยะที่สอง (กรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2563) แก้

การชุมนุมภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ประการ แก้

 
กลุ่มเสรีเทยโบกธงสีรุ้งในการประท้วงวันที่ 25 กรกฎาคม

วันที่ 18 กรกฎาคม ประเทศไทยมีการเดินขบวนตามถนนครั้งใหญ่สุดนับแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[103]อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรุงเทพมหานคร ผู้ประท้วงซึ่งรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" (อังกฤษ: Free Youth) ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ การยุบสภาผู้แทนราษฎร, การหยุดคุกคามประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาให้รัฐบาลตอบสนองภายใน 2 สัปดาห์ มิฉะนั้นผู้ประท้วงจะทำการยกระดับการชุมนุมต่อไป[104] สาเหตุการประท้วงเกิดจากเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน[105][106] โดยการชุมนุมเริ่มต้นในเวลา 17:00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,500 คน[107]

จากนั้นการประท้วงได้ลามไปทั่วประเทศ มีการจัดระเบียบการเดินขบวนในกว่า 20 จังหวัดในวันที่ 23 กรกฎาคม[108] บางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสั่งห้ามบุคลากรและนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมและห้ามจัดการชุมนุมในพื้นที่โดยอ้างเหตุความกังวลเรื่องโควิด-19 พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและกลุ่มนิยมรัฐบาลชี้ว่าการกระทำบางอย่างของนักศึกษาอาจเข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย วันที่ 24 กรกฎาคม ที่จัตุรัสท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีการจัดการนั่งยึดพื้นที่โดยกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัยในจังหวัด นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่ง[109] วันที่ 27 และ 29 กรกฎาคม คนไทยที่กรุงลอนดอน ในสหราชอาณาจักร และนครนิวยอร์กในสหรัฐ ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วย[110]

นอกจากการประท้วงโดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองแล้ว กลุ่มหลากหลายทางเพศ ชื่อ เสรีเทย ยังจัดการเดินขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องกฎหมายสมรสเพศเดียวกันนอกเหนือจากข้อเรียกร้องสามข้อของเยาวชนปลดแอก[111]

รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ระบุว่า จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรมแล้ว 75 ครั้งใน 44 จังหวัด ในจำนวนนี้ 5 กิจกรรมไม่สามารถจัดได้เพราะมีการคุกคามและปิดกั้นของทางการ[112]

ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แก้

วันที่ 1 สิงหาคม กลุ่มเยาวชนปลดแอกยกระดับการชุมนุม และตั้งกลุ่มการเมืองใหม่ในชื่อ "คณะประชาชนปลดแอก" (อังกฤษ: Free People) และได้เชิญชวนประชาชนทุกเพศ ทุกวัย มาร่วมมือกับเยาวชนเพื่อขับไล่รัฐบาลชุดนี้ด้วย โดยได้นัดหมายการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคม[113]

  วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  คำปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของอานนท์ นำภา, วิดีโอยูทูบ

วันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสดจัดการชุมนุม มีแฮชแท็กว่า #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร[114] เป็นการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน[115] โดยเวลาประมาณ 20.00 น. อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัย[116] อานนท์ถูกตั้งข้อหาหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาหนักสุดการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และถูกตำรวจจับกุมในวันที่ 7 สิงหาคม[117] ตามมาด้วยภาณุพงศ์ จาดนอก[118] ปฏิกิริยาจากการจับกุมดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คนในวันที่ 8 สิงหาคม[119] ประมาณต้นเดือนสิงหาคม เกิดการรณรงค์ #ไม่รับปริญญา หมายถึง ไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร[120]

วันที่ 7 สิงหาคม ไอลอว์เริ่มจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หวังรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน[121]

วันที่ 10 สิงหาคม ในช่วงเย็นถึงหัวค่ำ มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ชื่อ "#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มีผู้เข้าร่วมจากหลายกลุ่มและหลายมหาวิทยาลัย และมีกลุ่มอาชีวะมาช่วยรักษาความปลอดภัยให้[122] รวมประมาณ 3,000 คน[123] และใช้สโลแกนว่า "เราไม่ต้องการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ" มีการประกาศข้อเสนอ 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์[124] ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่ทลายเพดานการเคลื่อนไหวแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง[125]

ข้อเรียกร้อง 10 ประการของ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน
  1. ยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ห้ามผู้ใดกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์ ให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ ดังที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
  2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ให้แสดงความเห็นต่อสถาบันฯ ได้อย่างเสรี และให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีทุกคน
  3. ยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์อย่างชัดเจน
  4. ลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ
  5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ และยกเลิกหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี
  6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
  7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
  8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาชวนเชื่อสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด
  9. สอบสวนความจริงเกี่ยวกับการฆ่าราษฎรผู้ออกความเห็นหรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์
  10. ห้ามลงพระปรมาภิไธยรับรองรัฐประหารอีก

วันที่ 14 สิงหาคม บีบีซีรายงานว่ามีการจัดประท้วงแนวร่วมเยาวชนปลดแอกใน 49 จังหวัด และประชาชนปกป้องสถาบันฯ 11 จังหวัด[126]

 
การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม

วันที่ 16 สิงหาคม คณะประชาชนปลดแอกซึ่งยกระดับจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก[48] จัดการชุมนุม "ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียนรีวิวรายงานอ้างตำรวจภาคสนามว่ามีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 20,000 คน[127] โดยผู้ชุมนุมข้อเรียกร้องเดิม และยื่นคำขาดว่า ภายในเดือนกันยายน จะต้องยกเลิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน[48] นอกจากนี้ในวันเดียวกัน มีการชุมนุมสนับสนุนในต่างประเทศ คือ ในกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งมีชาวไต้หวัน ชาวฮ่องกงและชาวสิงคโปร์เข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง[128] มีนักเรียนหลายโรงเรียนร่วมประท้วงด้วย ใช้แฮชแท็ก #โรงเรียนหน้าเขาไม่เอาเผด็จการ มีการกล่าวถึง 4 แสนครั้ง[129]

วันที่ 18 สิงหาคม กลุ่ม "นักเรียนเลว" จัดการประท้วงเป่านกหวีดที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อขับณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีต กปปส.[130]

วันที่ 30 สิงหาคม มีกลุ่ม "ไทยภักดี" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยประมาณ 1,000–1,200 คนชุมนุมในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จัดโดยนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ในพื้นที่ใกล้เคียงเกิดเหตุทำร้ายร่างกายภารโรงสูงอายุคนหนึ่งที่ใส่เสื้อแดง[131][132]

หลังสภาผู้แทนราษฎรรับข้อเสนออย่างเป็นทางการ แก้

วันที่ 26 สิงหาคม กลุ่มนักศึกษายื่นข้อเรียกร้อง รวมทั้งข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อสภาผู้แทนราษฎร[133] ต่อมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองฝ่ายยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมทั้งเพื่อแก้ไขในวรรคว่าด้วยวิธีดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ[134][135] วันที่ 28 สิงหาคม ผู้มีชื่อตามหมายจับจำนวน 15 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ ส.น. สำราญราษฎร์ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางประกัน วันเดียวกัน เกิดเหตุมีศิลปินสาดสีใส่ชุดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ[136]

วันที่ 9 กันยายน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้แถลงรายละเอียดหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เกี่ยวกับการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 14 ปี ของการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ซึ่งจะเป็นการชุมนุมปักหลักค้างคืน และจะมีการเดินขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องแก่พลเอกประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์หรือท้องสนามหลวงเป็นที่ชุมนุม[137]

 
การปักหลักชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 19 กันยายน 2563

ก่อนหน้าชุมนุมที่มีการนัดหมายในวันที่ 19 กันยายน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยปิดประตู[138] คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่ามีอาสาสมัครตั้งเต็นท์ศูนย์อำนวยการติดตามการชุมนุม[139]

วันที่ 19 กันยายน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมภายใต้ชื่อ "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" แต่เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่เชิญชวนประชาชนให้ปักหลักค้างคืน[140] มีการเจรจาระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยจนสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้สำเร็จ[141] ในเวลาบ่าย ผู้ชุมนุมย้ายไปปักหลักที่ท้องสนามหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่กั้นรั้วรอบพื้นที่พระบรมมหาราชวัง[140] ในช่วงเย็น มีประมาณการผู้ร่วมชุมนุมระหว่าง 20,000–100,000 คนแล้วแต่แหล่งข้อมูล[142][143] ฝ่ายตำรวจมีการระดมเจ้าพนักงานกว่า 10,000 นายเข้ามาในพื้นที่[144] เช้าวันที่ 20 กันยายน มีการทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 เพื่อรำลึกถึงหมุดคณะราษฎรเดิมที่หายไปในปี 2560[145][146] และผู้ประท้วงเปลี่ยนแผนจากการเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาล เป็นเคลื่อนไปทำเนียบองคมนตรีแทน และยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานองคมนตรีผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก่อนสลายตัว[147] ไม่มีรายงานเหตุการณ์ความรุนแรง โดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ ประกาศนัดชุมนุมอีกในวันที่ 14 ตุลาคม[147] หมุดดังกล่าวถูกนำออกจากบริเวณภายใน 24 ชั่วโมง[148] สื่อต่างประเทศบางสำนักระบุว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นการประท้วงต่อการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเปิดเผย[149]

วันที่ 24 กันยายน ซึ่งเป็นวันลงมติในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีการชุมนุมเพื่อกดดันสมาชิกวุฒิสภา สุดท้ายรัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ อันเป็นผลให้เลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไปอย่างน้อย 1 เดือน ทำให้เกิดทวีต #RepublicofThailand (สาธารณรัฐไทย) ติดอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ในคืนนั้น นับเป็นการแสดงออกนิยมสาธารณรัฐแบบหมู่สาธารณะครั้งแรกในประเทศไทย[150]

ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้รับสมญาว่า "นักร้องการเมือง" ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม จนศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในวันที่ 16 กันยายน โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หน่วยงานของราชการส่งหลักฐานให้แก่เขาในวันที่ 24 กันยายน ทั้งนี้เขาหวังว่าคำวินิจฉัยของศาลว่าจะสามารถตีความอย่างกว้างขวางเพื่อขัดขวางมิให้กล่าวถึงในประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป และยังสามารถดำเนินคดีกับผู้สนับสนุนต่าง ๆ ได้[151]

วันที่ 2 ตุลาคม กลุ่มนักเรียนมัธยม "นักเรียนเลว" จัดการประท้วงในโรงเรียนหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร​เพื่อประท้วงการละเมิดนักเรียน แล้วชุมนุมกันที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลาออกอีกครั้ง[152]

สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แก้

 
การปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 14 ตุลาคม 2563
  วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  ขบวนเสด็จฯ ฝ่าแนวผู้ชุมนุมประท้วง 14 ตุลาคม 2563, วิดีโอเฟซบุ๊ก
  เหตุทำร้ายร่างกายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง 21 ตุลาคม 2563, วิดีโอทวิตเตอร์

วันที่ 13 ตุลาคม ก่อนหน้าวันที่นัดหมายชุมนุมใหญ่ 1 วัน ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนินใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประท้วงขบวนเสด็จฯ[153] โดยระหว่างขบวนเสด็จฯ ผ่านผู้ประท้วงได้ชูสัญลักษณ์มือสามนิ้วซึ่งเป็นการแสดงออกไม่พอใจพระมหากษัตริย์ไทยอย่างเปิดเผย มีการสลายการชุมนุม และมีผู้ประท้วงถูกจับกุม 21 คน ต่อมาแฮชแท็กโจมตีพระมหากษัตริย์ติดอันดับทวิตเตอร์[154]

วันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ เริ่มมีการชุมนุมตั้งแต่เช้าภายใต้ชื่อ "คณะราษฎร" จำนวนหลายหมื่นคน[155] โดยประกาศจะเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก[156]และมีการจัดชุมนุมในประเทศเกาหลีใต้โดยชนกนันท์ รวมทรัพย์[157]ปรากฏว่าการประท้วงภายในประเทศไทยทางการสั่งขนผู้ประท้วงตอบโต้โดยใช้พาหนะของราชการ[158]ส่วนกลุ่มนิยมเจ้า เช่น กลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน จัดการประท้วงตอบโต้[159] วันเดียวกัน เกิดเหตุทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงโดยฝ่ายตรงข้าม มีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลแล้วตั้งเต้นท์และเวทีปราศรัยโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวตรงกับการเสด็จพระราชดำเนินตามหมายกำหนดการ ซึ่งผ่านบริเวณชุมนุมที่ถนนพิษณุโลกและไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการล่วงหน้า และทั้งที่กำหนดการเดิมว่าจะใช้ถนนราชดำเนิน[160] ไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จ แต่นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ว่าจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ขัดขวางขบวนเสด็จฯ ตามอ้าง[160] เช่นเดียวกับกลุ่มฝ่ายขวาและสื่อที่รีบออกมาโจมตีผู้ชุมนุม[161][162] ด้าน อานนท์ นำภา กล่าวว่า ราชการจงใจจัดขบวนเสด็จฯ ฝ่าบริเวณชุมนุม และอานนท์กะจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงประมาณ 200,000 คนก่อนเวลาเที่ยงคืน[163]

ตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม

วันที่ 15 ตุลาคม เวลา 04:00 น. นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งห้ามชุมนุม และจำกัดการนำเสนอข่าว[164] รวมถึงจัดตั้งกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์โดยเฉพาะ[165] ทำให้ตำรวจใช้อำนาจนี้เข้าสลายการชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 20 คน และผู้ชุมนุมนัดหมายอีกครั้งในเวลา 16:00 น. ที่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้แฮชแท็ก #15ตุลาไปราชประสงค์ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 แม้การเชิญชวนไปชุมนุมจะเป็นความผิด[166] วันเดียวกัน นายตำรวจระดับสูงสามนายถูกสั่งย้ายและสอบสวนจากกรณีขบวนเสด็จฯ[167] มีการส่งกำลังทหารมายังทำเนียบรัฐบาลและอาคารรัฐสภา[168] ส.ส. ฝ่ายค้านจึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นบรรยากาศเหมือนช่วงก่อนเกิดรัฐประหารปี 2557[169] พรรคร่วมฝ่ายค้านเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร และเปิดสมัยประชุมวิสามัญ[170] การประท้วงในเวลาเย็นที่แยกราชประสงค์ดำเนินต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 13,500 คน[171] มีผู้ถูกจับกุมเพิ่มอีกอย่างน้อย 20 คน[172] แต่ผู้ประท้วงยืนยันจะประท้วงต่อโดยใช้ยุทธวิธีแฟลชม็อบ[173] มีนักกิจกรรมถูกจับกุม 2 คนฐานประทุษร้ายพระราชินี[174] ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 51 คนระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 ตุลาคม[38]

วันที่ 16 ตุลาคม ประยุทธ์กล่าวถึงผู้ประท้วงตอนหนึ่งว่า "อย่าประมาทกับชีวิต เพราะคนเราสามารถตายได้ทุกเวลา อย่าไปท้าทายกับพญามัจจุราช"[175] โดยเป็นการยกคำสอนตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า แต่ถูกมองว่าเป็นการขู่ฆ่าอย่างทรราช[176] ในเวลาเย็น ผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธประมาณ 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น จัดแฟลชม็อบที่แยกปทุมวัน โดยเปลี่ยนจากแยกราชประสงค์ที่มีตำรวจประจำอยู่หนาแน่น แต่ไม่ถึงสองชั่วโมงถัดมาก็ถูกตำรวจสลายการชุมนุม มีรายงานใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง น้ำผสมสารเคมี[171] และแก๊สน้ำตา[177] ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลพยายามเจรจากับตำรวจขอให้เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากที่ชุมนุม แต่ไร้ผล ด้าน พลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 100 คน[39] หลังมีการสลายการชุมนุม นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยจัดแฟลชม็อบเพื่อประณามการกระทำดังกล่าว[178][179][180] ขณะที่วรงค์ เดชกิจวิกรมและ อัษฎางค์ ยมนาค หยิบยกคลิปโดยสำนักข่าวเอเอฟพีที่มีผู้ประท้วงใช้คีมตัดเหล็กฟาดใส่ตำรวจในชุดเกราะมาตั้งคำถามว่าผู้ชุมนุมมือเปล่าจริงหรือไม่[181][182] สีของน้ำนั้นคาดการณ์ว่าเป็นเมทิลีนบลู, แอเซอร์เอ, หรือไทโอนีน และใช้ติดตามตัวบุคคลเป็นเวลาหลายวัน[183] ด้านตำรวจไม่สามารถยืนยันประเภทของสารเคมีได้แน่ชัด ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าดูไม่ได้ศึกษาสารเคมีที่จัดซื้อมา[184]

วันที่ 17 ตุลาคม ผู้ชุมนุมในนาม "กลุ่มราษฎร" ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากคณะราษฎร และตำรวจประเมินว่ามีจำนวนประมาณ 23,000 คน ได้จัดการชุมนุมในรูปแบบไร้แกนนำในหลายจุดในกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชน และมีผลกระทบต่อผู้โดยสารหลายแสนคน[185] การชุมนุมในวันที่ 18 ตุลาคม จัดที่แยกอโศกมนตรี แยกบางนา และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นหลัก เป็นการชุมนุมโดยสงบและไม่ยืดเยื้อ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้อำนวยการ กอร.ฉ. ใช้อำนาจสั่งปิดสถานีรถไฟฟ้าและสกายวอล์คในบริเวณดังกล่าว[186] ตำรวจระบุว่ามีผู้ชุมนุมประมาณ 6,000 คน ตามแยกต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังไม่รวมการประท้วงในอีกหลายจังหวัด[187] วันที่ 21 ตุลาคม กลุ่มคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง แต่ถูกตั้งเครื่องกีดขวางอย่างแน่นหนาและมีฝ่ายตรงข้ามพยายามขวาง[188] เกิดเหตุการณ์กลุ่มชายชุดเหลืองที่ประกาศตนว่าสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อเหตุฝ่าแนวกั้นตำรวจเข้าทำร้ายกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้นักศึกษาต้องย้ายสถานที่ชุมนุม ซึ่งกลุ่มชายชุดเหลืองประกาศว่าเป็นชัยชนะ[189][190][191] มีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บ 1 คนและเข้าแจ้งความดำเนินคดี[19] วันเดียวกัน ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ขอให้ทั้งสองฝ่ายลดความรุนแรงและแก้ไขสถานการณ์ผ่านกระบวนการรัฐสภา ขอให้ผู้ประท้วงลดคำพูดที่ "ก่อให้เกิดความแตกแยก"[192][193] วันที่ 22 ตุลาคม ประยุทธ์ออกประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร[194][195]

ประยุทธ์จัดสมัยประชุมวิสามัญของรัฐสภาไทย 26–27 ตุลาคม 2563[196] แต่ผู้ประท้วงต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกก่อนเพื่อเป็นการแสดงความสุจริตใจก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ[197] ในสมัยประชุมนั้นไม่มีประเด็นใดตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง[198][199] หลังการประชุม ประยุทธ์กล่าวว่ารัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมการหาทางออก แต่ตนจะไม่ลาออก[200]

การประท้วงที่พุ่งเป้าไปยังพระมหากษัตริย์ และม็อบชนม็อบ แก้

วันที่ 24 ตุลาคม กลุ่มราษฎรพบว่าประยุทธ์ไม่ลาออกจากตำแหน่งตามกำหนด จึงยกระดับการชุมนุมอีกครั้ง โดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จัดการชุมนุมในวันที่ 25 ตุลาคม ที่แยกราชประสงค์ นับเป็นการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์ของกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก เป็นครั้งที่ 2[201] และวันถัดมาคือ 26 ตุลาคม ได้เดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี เพื่อยื่นหนังสือสอบถามเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจในประเทศเยอรมนีของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฮโค มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศเยอรมนี ระบุว่า ได้ติดตามสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำระหว่างประทับอยู่ในเยอรมนีมานานพอสมควรแล้ว และยังคงตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการทำผิดกฎหมายจะดำเนินการทันที[202] วันที่ 29 ตุลาคม มีการชุมนุมหน้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เพื่อประท้วงเสื้อผ้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมีรายงานว่าได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน 13 ล้านบาท[203][204][205] วันที่ 30 ตุลาคม เกิดการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น หลังพริษฐ์ ชิวารักษ์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ แต่ตำรวจอายัดตัวต่อ[206] ซึ่งพบร่องรอยการบาดเจ็บ การถูกทำร้าย ขาดน้ำและอดนอน[20]

วันที่ 3 พฤศจิกายน มีการประท้วงหน้าศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประท้วงการสั่งปิดเว็บไซต์สื่อลามก พอร์นฮับ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าพยายามปกปิดภาพของพระมหากษัตริย์ที่ละเอียดอ่อน[207]

วันที่ 8 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมส่งราษฎรสาส์นถึงพระมหากษัตริย์ที่สำนักพระราชวัง แต่ถูกตำรวจฉีดน้ำสกัดก่อนถึงที่หมายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและยังไม่ทันเจรจา[208] จนสุดท้ายได้หย่อนจดหมายที่ตู้ไปรษณีย์จำลองโดยไปไม่ถึงสำนักพระราชวัง กลุ่มผู้ชุมนุมยังมีแถลงการณ์ระบุว่า "กษัตริย์มิอาจเลือกที่รักมักที่ชัง"[208] มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน เป็นเจ้าหน้าที่ 1 คน[21] ด้านตำรวจออกมาขอโทษผู้ชุมนุมโดยอ้างว่าเป็นความผิดพลาด "มือลั่น"[209] แต่ต่อมาอ้างว่าเป็นการฉีดน้ำหลังจากพยายามเจรจาแล้วไม่เป็นผล[208] ทางการและหน่วยสารสนเทศของรัฐบาลส่งต่อภาพที่ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมขว้างวัตถุที่เหมือนติดไฟใส่ตำรวจและพยายามสร้างภาพว่าผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง แต่ผู้ชุมนุมระบุว่าเป็นเพียงระเบิดควันเท่านั้น ซึ่งปาไปเพราะต้องการบดบังทัศนวิสัยหลังฉีดน้ำรอบแรก[210]

วันที่ 10 พฤศจิกายน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติประเมินว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีผู้เข้าร่วมลดลงทั่วประเทศ โดยประเมินว่ามีจำนวนไม่เกิน 15,000 คนในกรุงเทพมหานคร และไม่เกิน 20,000 คนทั่วประเทศ พร้อมขู่ว่าเมื่อกระแสอ่อนแรงเมื่อไรจะดำเนินคดีตามกฎหมาย[211]

วันที่ 14 พฤศจิกายน กลุ่มประท้วงประมาณ 20 กลุ่ม ซึ่งมีตั้งแต่นักเรียนมัธยมปลาย นักกิจกรรมสิทธิสตรีและ LGBTQ ร่วมจัดการประท้วงในงาน "ม็อบเฟสต์" กลุ่มนักเรียนมีการใช้ผ้าคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเกิดการปะทะกับตำรวจเล็กน้อย ซึ่งสื่อรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บที่ขา 1 นาย[23]

วันที่ 17 พฤศจิกายน รัฐสภาเริ่มต้นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ การประท้วงนอกอาคารรัฐสภาในวันนั้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 55 คน หลังผู้ประท้วงพยายามเข้าใกล้อาคารและถูกตำรวจสกัดด้วยปืนใหญ่ฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาสีม่วง ต่อมาในช่วงค่ำ เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้ประท้วงนิยมเจ้าสวมเสื้อเหลือง ซึ่งมีผู้ถูกปืนยิง 6 คน[22][212] มีคนสวมเสื้อเหลืองคนหนึ่งถูกจับกุมในบริเวณนั้นฐานครอบครองปืนสั้นและเครื่องกระสุน แต่เขาอ้างว่าพกมาเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น[213] สำหรับสารที่ตำรวจใช้นั้น รองศาสตราจารย์ วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่ามีสารเคมีหลายชนิดในกลุ่มแก๊สน้ำตา แต่มีการผสมให้เข้มข้นมาก และทำให้ผู้ถูกสารมีตุ่มน้ำพุพอง[214]

วันที่ 18 พฤศจิกายน รัฐสภาลงมติรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งให้มีวุฒิสภาต่อไป และห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 แต่ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไอลอว์ยกร่าง[215] ผู้ชุมนุมที่รู้สึกโกรธเพราะถูกปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไอลอว์ยกร่างและการใช้กำลังของตำรวจเมื่อวันก่อนจึงยกระดับการชุมนุมและจัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์อีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 โดยมีการเปลี่ยนชื่อแยกเป็น "ราษฎรประสงค์" และมีการเดินขบวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสาดสีและเติมรอยขูดขีดเขียนในบริเวณดังกล่าว และได้นัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริเวณวังแดง เพื่อทวงคืนทรัพย์สินที่ควรเป็นของราษฎร วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลรีบทำความสะอาดป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บ้างใช้สีขาวหรือสีดำทาทับพื้นถนน และประยุทธ์ขอบใจการกระทำนี้[216]

วันที่ 21 พฤศจิกายน กลุ่มนักเรียนเลวจัดกิจกรรม "บ๊ายบายไดโนเสาร์" ซึ่งหมายถึงสมาชิกรัฐสภาที่มีความคิดล้าสมัย ในกิจกรรมมีหญิงในชุดนักเรียนถือกระดาษมีข้อความว่า "หนูถูกครูทำอนาจาร รร.ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย"[217] ทำให้มีสมาชิกวุฒิสภาฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลออกมากล่าวหาในเรื่องความจริงใจและเจตนาของเธอ[218][219]

วันที่ 23 พฤศจิกายน ตำรวจล้อมรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์รอบสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งติดตั้งป้าย "เขตพระราชฐาน" ในยามวิกาล[220] วันที่ 24 พฤศจิกายน ตำรวจออกหมายเรียกแกนนำผู้ชุมนุมจำนวน 12 คน ให้เข้าไปรับทราบข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในครั้งแรกตำรวจขอหมายจับ แต่ศาลไม่อนุมัติ[221] ตอนดึก ผู้ชุมนุมประกาศย้ายสถานที่จัดการชุมนุม โดยย้ายไปชุมนุมที่หน้าเอสซีบีพาร์กพลาซา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ บนถนนรัชดาภิเษกแทน โดยระบุว่าเพื่อเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง[222]

  วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  คลิปบุคคลปาวัตถุระเบิด ณ ที่ชุมนุม 25 พฤศจิกายน 2563, วิดีโอทวิตเตอร์

วันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 15:00 น. กลุ่มราษฎรได้จัดชุมนุมที่หน้าเอสซีบีพาร์กพลาซาตามกำหนด[223] พริษฐ์ ชิวารักษ์ เสนอรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกัน[224] สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปราศรัยเพิ่มว่า การที่รัฐบาลกลับมาดำเนินคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยถือเป็นการขัดพระบรมราชโองการ และประยุทธ์ควรลาออก[225] ทั้งนี้ผู้ชุมนุมได้ประกาศจัดการชุมนุมต่อเนื่องยาว 5 วัน[226] ก่อนหน้านี้ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีความคิดในการใช้กฎอัยการศึก[227] จากนั้นในช่วงดึกเกิดเสียงระเบิดและเสียงปืนดังขึ้นในบริเวณที่ชุมนุม มีการ์ดผู้ชุมนุมถูกยิงได้รับบาดเจ็บและนำตัวส่งโรงพยาบาล 2 คน คนหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่ท้องและต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน[24][228] ด้านผู้ชุมนุมจับตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้[229] ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าตำรวจเข้าระงับเหตุล่าช้า[230] วันรุ่งขึ้น ตำรวจสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเป็นเหตุวิวาท โดยอ้างคลิปวิดีโอที่เข้าใจว่าเป็นการ์ดผู้ชุมนุมสนทนากัน และยังไม่มีการควบคุมตัวผู้ใด ส่วนประยุทธ์รีบออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง[230] นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าเป็นการยิงกันเองเพื่อสร้างสถานการณ์[231]

วันที่ 27 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรม "ซ้อมต้านรัฐประหาร" ที่ห้าแยกลาดพร้าว โดย ภาณุพงศ์ จาดนอก ได้ขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยวิธีการต่อต้านรัฐประหาร โดยนำรถยนต์ไปจอดทิ้งไว้บนถนนสายต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อขัดขวางการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหาร รวมทั้งรวมตัวกันขัดขืนคำสั่งของคณะรัฐประหาร[232]

วันที่ 29 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรจัดชุมนุมเดินขบวนจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ไปยังกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแผนจากเดิมที่จะจัดชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งตำรวจได้ล้อมรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์ไว้โดยรอบ และเมื่อถึงกรมทหารราบที่ 11 แกนนำได้อ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับการถ่ายโอนอำนาจของกองกำลังทหารให้คืนสู่ต้นสังกัดเดิม[233]

วันที่ 1 ธันวาคม กลุ่มนักเรียนเลว จัดกิจกรรมนัดแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียนในวันเปิดภาคเรียน เพื่อต่อต้านกฎระเบียบเกี่ยวกับชุดนักเรียน โดยมีบางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนที่แต่งชุดไปรเวทสามารถเข้าเรียนได้ แต่บางโรงเรียนจะไม่อนุญาตให้เข้าเรียน บ้างก็ให้ไปคุยกับผู้บริหารในห้องปกครองนานหลายชั่วโมง[234]

วันที่ 2 ธันวาคม กลุ่มราษฎรนำโดย ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จัดชุมนุมอีกครั้งที่ห้าแยกลาดพร้าวเพื่อประท้วงและวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าประยุทธ์ไม่ได้กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเข้าพักอาศัยในบ้านพักราชการทหาร[235] และ นาย อรรถพล​ บัวพัฒน์​ ทำการทุบศาลพระภูมิด้วย[236]

วันที่ 31 ธันวาคม กลุ่ม We volunteer (วีโว่) จัดกิจกรรมจำหน่ายกุ้งสดบริเวณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ต่อมาตำรวจได้จับกุม ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำการชุมนุม โดยมีการปะทะมีผู้บาดเจ็บหนึ่งราย จากการทำร้ายร่างกายบริเวณใบหน้า[237] ต่อมาในเวลาดึก มีเหตุเสียงระเบิดคล้ายระเบิดปิงปองใต้ท้องรถกระบะริมถนนราชดำเนิน[238] มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งตำรวจไม่สามารถตามหาตัวคนร้ายได้[239]

การประท้วงระยะที่สาม (กุมภาพันธ์–มีนาคม พ.ศ. 2564) แก้

ในช่วงปลายปี 2563 มีการหยุดพักการชุมนุมบนท้องถนนเพื่อป้องกันการระบาดอีกครั้งของโรคโควิด-19 แต่การประท้วงทางออนไลน์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ชุมนุมที่มีชื่อเสียงยังต้องต่อสู้คดี โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มีผู้ถูกดำเนินคดี 38 คน[240] ถัดมาในวันที่ 14 มกราคม 2564 มีนักศึกษาคนหนึ่งถูกจับกุมที่หอพักในเวลาดึก ทำให้มีการจัดการประท้วงแฟลชม็อบที่สถานีตำรวจในเวลาไล่เลี่ยกัน[241] วันที่ 16 มกราคม นักกิจกรรม 5 คนถูกจับกุมหลังกลับมามีการชุมนุมบนถนนอีก เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เกิดเหตุระเบิดซึ่งคาดว่าเป็นระเบิดดินเทาโดยดูเหมือนว่าปาใส่ตำรวจปราบจลาจล ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความรุนแรง[242] วันเดียวกัน การ์ดราษฎรคนหนึ่งถูกลักพาตัว จนมาพบตัวอีกครั้งในวันที่ 17 มกราคม โดยคาดว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ความมั่นคง[243] วันที่ 19 มกราคม 2564 เบนจา อะปัญ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ไปประท้วงถือป้าย "ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้เจ้า" ที่ไอคอนสยามและถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้านี้ของไอคอนสยาม[244][245]

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 อัยการสั่งฟ้องแกนนำกลุ่มราษฎร 4 คนในหลายข้อหา รวมทั้งความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[246] และคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว[247] ทำให้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มราษฎรกลับมาจัดการชุมนุมบนท้องถนนอีกครั้งในรอบ 3 เดือน โดยจัดกิจกรรม "รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ" บนสกายวอล์กวันสยาม แยกปทุมวัน โดยผู้ชุมนุมได้นำหม้อ จาน ชาม มาตีและเคาะ[248] เลียนแบบการประท้วงรัฐประหารในประเทศพม่า[249] และกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนตกงาน, บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว และจัดหาวัคซีนล่าช้า[250] จากนั้น ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประกาศว่ามีผู้ชุมนุมจำนวน 10 คน ถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ผู้ชุมนุมจึงได้เคลื่อนขบวนลงและเดินขบวนไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน[251] เมื่อถึงสถานีตำรวจ ภาณุพงศ์ จาดนอก ได้เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัว และประกาศว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมปล่อยตัวผู้ชุมนุมภายในเวลา 20:30 น. ผู้ชุมนุมจะบุกเข้าไปในโรงพัก[252] จากนั้นเกิดเสียงดังคล้ายระเบิดต่อเนื่องประมาณ 3-4 ลูกบริเวณแนวกั้น[253] เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปสอบสวนแต่ผู้ชุมนุมเข้าใจว่าจะออกมาควบคุมตัวพวกเขา ทำให้แกนนำต้องออกมาชี้แจง และมีการ์ดราษฎรมากันผู้ชุมนุม[254] และมีรถพยาบาลเคลื่อนมารับผู้บาดเจ็บ จากนั้น ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ปราศรัยต่อว่า ที่ผ่านมาพวกเขาต่อสู้แบบประนีประนอม ไม่ใช้ความรุนแรง และได้เชิญชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมบนถนนกันให้มากขึ้น รวมถึงจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาควบคู่ไปกับในสภาด้วย ก่อนจะยุติการชุมนุม[255] ตำรวจวางกำลังประมาณ 100 นาย เผชิญหน้ากับผู้ประท้วงกว่า 1,000 คน มีการใช้แก๊สน้ำตา แต่ตำรวจรีบออกมาบอกว่าเป็นแก๊สน้ำตาที่ถูกขโมยไปจากการชุมนุมก่อนหน้านี้ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสอบสวน[256] มีนักกิจกรรมถูกจับกุมราว 10 คน[257]

  วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  ตำรวจกระทืบผู้แต่งเครื่องแบบแพทย์สนาม 13 กุมภาพันธ์ 2564, คลิปทวิตเตอร์
  ตำรวจกระทืบผู้ประท้วง 28 กุมภาพันธ์ 2564, คลิปทวิตเตอร์
  ตำรวจไล่ผู้ประท้วงที่กำลังหนี 20 มีนาคม 2564, คลิปทวิตเตอร์

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ประท้วงจัดการประท้วงอย่างสันติอีกครั้ง โดยจัดกิจกรรมปราศรัยและห่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยผ้าแดง ก่อนเคลื่อนไปยังศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร[258] แต่ในเวลาหัวค่ำหลังผู้ประท้วงส่วนใหญ่แยกย้ายตามประกาศของแกนนำแล้วได้เกิดการปะทะระหว่างผู้ประท้วงที่เหลือกับตำรวจ เกิดเสียงระเบิดดังหลายครั้ง และตำรวจอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 20 คน[258] และมีผู้ประท้วงถูกจับกุม 11 คน[259] นอกจากนี้ยังมีการ์ดอาชีวะคนหนึ่งถูกยิงที่ขาด้วยปืนที่คาดว่าเป็นลูกซองสั้น ผู้ประท้วงเข้าปิดล้อมร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ผู้ลงมือหลบหนีเข้าไปจนตำรวจตามมาจับกุมในภายหลัง[260] มีคลิปวิดีโอออกมาว่า ผู้สวมชุดแพทย์อาสาถูกตำรวจรุมทำร้าย[258] จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แฮชแท็ก #ตำรวจกระทืบหมอ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์[261]

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มราษฎรได้จัดกิจกรรม "ม็อบเฟสต์" ครั้งที่ 2 ที่หน้าสัปปายะสภาสถาน โดยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาจำนวน 8 ประเด็น[262] และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมจากหลากหลายกลุ่มทั่วประเทศมาเข้าร่วมด้วย[263] และวันที่ 23 กุมภาพันธ์ กลุ่มราษฎรได้จัดการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์เป็นครั้งที่ 4 และมีการเดินขบวนไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นครั้งที่ 2 เพื่อประท้วงการทุจริตและการแทรกแซงการเลื่อนตำแหน่งในวงการตำรวจ จากกรณี "ตั๋วช้าง"[264]

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ชุมนุมในกลุ่ม "รีเด็ม-ประชาชนสร้างตัว" ซึ่งแตกสาขาออกมาจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก[265] จำนวนประมาณ 2,000 คน[266] เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปชุมนุมประท้วงโดยไม่มีแกนนำที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อันเป็นที่ตั้งของบ้านพักของประยุทธ์[267] ตามการนัดหมายในเทเลแกรม[268] มีการตัดสินใจยุติการชุมนุมตั้งแต่เวลา 21.30 น. แต่ผู้ประท้วงสายแข็งบางส่วนยังชุมนุมต่อและถูกการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยาง ไปจนถึงเวลาดึก ศูนย์แพทย์ฉุกเฉินอ้างว่ามีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 10 คน และตำรวจได้รับบาดเจ็บ 22 นาย[269]

วันที่ 1 มีนาคม 2564 อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 รายในคดีที่ตำรวจอ้างว่าได้พยายามชิงตัวผู้ต้องหา พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ภาณุพงศ์ จาดนอก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 โดยผู้พิพากษาไม่ให้ประกันตัว[270]

วันที่ 2 มีนาคม 2564 พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ พลอากาศเอก เกษม อยู่สุข หัวหน้าสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ และ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เข้าร่วมพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ร.ต.อ.วิวัฒน์ สินเสริฐ [271]

วันที่ 3 มีนาคม 2564 ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ถูกจับกุมฐานวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเขายอมรับและบอกว่าตนมีเหตุผลในการลงมือ[272] โดยก่อนหน้านี้ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว 4 แกนนำคณะราษฎรในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ทำให้จำเลยถูกคุมขังทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด[273] ต่อมาในวันที่ 6 มีนาคม ผู้ชุมนุมกลุ่มรีเด็มเดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวไปยังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก และได้เผาขยะหน้าศาลเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และมีการเรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง[274] ก่อนจะประกาศยุติอย่างสงบ โดยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น[275]

นอกจากนี้ กลุ่มราษฎร ร่วมกับกลุ่ม พีเพิล โก เน็ตเวิร์ค ยังได้จัดกิจกรรมเดินขบวนประท้วงเพิ่มเติม คือ "กิจกรรมเดินทะลุฟ้า คืนอำนาจประชาชน" เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้ โดยเดินขบวนจากลานย่าโมไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นระยะทาง 247.5 กิโลเมตร[276] เริ่มออกขบวนเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์[277] ใช้เวลา 33 วัน จึงถึงจุดหมายเมื่อวันที่ 7 มีนาคม[278] ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม กลุ่มเดินทะลุฟ้าเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อสมทบกับกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, ชาวบางกลอย และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม[279] ตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าเพื่อกดดัน และปักหลักจนกว่าประยุทธ์จะลาออก[280] ทั้งนี้ ในช่วงประมาณกลางเดือนมีนาคม ยังมีข่าวกลุ่มบุคคลเข้าไปพบผู้ต้องขังในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยในเวลาดึก ทำให้อานนท์ นำภา ยื่นคำร้องต่อศาล ต่อมากรมราชทัณฑ์อ้างว่าเป็นการตรวจหาเชื้อโควิด-19[281]

วันที่ 17 มีนาคม 2564 รัฐสภามีมติไม่ผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในวาระสาม เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกวุฒิสภาไม่ถึงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด[282] โดยก่อนหน้านั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากผ่านรัฐสภาจะเกิดปัญหา[283] โดยในขั้นถัดไป นักการเมืองแต่ละฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกันว่าจะดำเนินการต่อโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือจัดการลงประชามติก่อน[284]

วันที่ 20 มีนาคม 2564 มีการจัดการชุมนุมของกลุ่มรีเด็มที่ท้องสนามหลวง หน้าพระบรมมหาราชวัง ซึ่งตำรวจตั้งเครื่องกีดขวางเป็นตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนาม โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 1,000 คน[285] เหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมบางส่วนกับตำรวจควบคุมฝูงชนเริ่มต้นประมาณ 18.30 น. เมื่อผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งพยายามรื้อเครื่องกีดขวาง[286] ตำรวจใช้ไม้ตะบอง เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตาและกระสุนยางต่อผู้ประท้วงและสื่อมวลชน[287] ส่วนผู้ประท้วงบางส่วนใช้โมโลตอฟค็อกเทล[288] และมีการเผายางที่แยกคอกวัว[289] ผู้ชุมนุมคนหนึ่งอ้างว่าตนและเพื่อนถูกคนร้ายยิงด้วยกระสุนจริง รวม 2 คน และอาจทุพพลภาพตลอดชีวิต ญาติเข้าแจ้งความดำเนินคดีแล้ว[290] ศูนย์เอราวัณรายงานจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บที่ 33 คน เป็นเจ้าหน้าที่ 13 นาย ประชาชน 20 คน[291] ถูกจับกุมรวม 32 คน ตำรวจอ้างว่าความรุนแรงเกิดจากผู้ประท้วงเป็นหลัก และเตรียมดำเนินคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยกับบางคนที่ "ได้กระทำโดยกระทบจิตใจของคนไทยโดยรวม มีการกระทำผิดตามประมวลอาญา มาตรา 112 อย่างจงใจ"[286] มีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 คน[292] ด้านหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ อ้างว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนพกปืน ยิงหนังสติ๊กลูกแก้วใส่ตำรวจ และทำลายพระบรมฉายาลักษณ์หน้าศาลฎีกา[293] จากเหตุการณ์ดังกล่าว วันที่ 21 มีนาคม จึงมีการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร เช่น ชูสามนิ้ว ร้องเพลงชาติ แต่มีเหตุการณ์ผู้ประท้วงถูกกลุ่มปกป้องสถาบันทำร้าย และคนหนึ่งถูกสาดน้ำใส่ทั้งที่อยู่ระหว่างตำรวจควบคุมตัว[294]

วันที่ 24 มีนาคม 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดการชุมนุมโดยมีการตั้งเวทีและมีแกนนำที่แยกราชประสงค์อีกครั้ง เวลา 17.00 น. นับเป็นการชุมนุมที่นี่เป็นครั้งที่ 5 ของกลุ่มราษฎร[295] โดยก่อนหน้านี้ได้นัดรวมตัวผู้ชุมนุมตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ตำรวจกล่าวว่าจะไม่มีการปิดรถไฟฟ้า[296] มีการติดภาพวาดใบหน้าของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ทับป้ายชื่อแยก มีแกนนำหลักในการปราศรัย 3 คน ซึ่งจะต้องไปฟังคำสั่งฟ้องข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยของอัยการในวันรุ่งขึ้น ส่วนเนื้อหาหลักคือการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย รองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ได้ส่งคลิปที่พูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มาให้ผู้ชุมนุมได้รับชมด้วย[297]

วันที่ 28 มีนาคม 2564 ตำรวจเข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าตั้งแต่ช่วงเช้า จับกุมผู้ชุมนุมได้ทั้งหมด 70 ราย นำส่งไปดำเนินคดีต่อที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน[298] แต่ในช่วงบ่ายได้มีการจัดกิจกรรมทวงคืนหมู่บ้านทะลุฟ้า พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมในหมู่บ้านทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข[299]

วันที่ 2 เมษายน 2564 กลุ่มคนเดือนตุลาประกาศเปิดตัว "กลุ่มคนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย" เพื่อเรียกร้องหลักนิติธรรมจากฝ่ายตุลาการในเรื่องการดำเนินคดีทางการเมือง[300] วันที่ 3 เมษายน บนแอปพลิเคชันคลับเฮาส์มีการจัดคอนเสิร์ต M.O.B Aid: Free Concert Live on Clubhouse เพื่อช่วยเหลือนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี[301] วันที่ 4 เมษายน จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกับพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นำผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่มจัดการชุมนุมในชื่อ "ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย" ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร เพื่อขับไล่ประยุทธ์[302] โดยมีข้อตกลงว่าห้ามเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์[303] ก่อนหน้านั้น จตุพรให้สัมภาษณ์ว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้ออกมาในนาม นปช. และมองว่าประยุทธ์เป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งหมด โดยไม่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์[304]

วันที่ 10 เมษายน 2564 ผู้ชุมนุมหลายกลุ่มจัดกิจกรรมรำลึกการสลายการชุมนุมที่แยกคอกวัวเมื่อปี 2553 แต่อดีตแกนนำ นปช. จัดกิจกรรมเพียงสั้น ๆ แล้วกลับ[305] โดยก่อนหน้านั้น ในวันที่ 9 เมษายน จตุพรประกาศพักเวทีของตนไว้ก่อนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 3 และหันไปจัดกิจกรรมออนไลน์แทน[306] เช่นเดียวกับกลุ่มรีเด็ม[307] ต่อมาประมาณกลางเดือนเมษายน ตำรวจจับกุมชายจากจังหวัดเชียงรายที่มาอดอาหารประท้วงหน้าศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหากลุ่มราษฎรหลังเริ่มได้ 3 วัน พร้อมแจ้งข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[308]

วันที่ 29 เมษายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและกลุ่มนักเรียนนักศึกษาไปประท้วงที่หน้าศาลอาญาเพื่อส่งจดหมายเรียกร้องการประกันตัวนักเคลื่อนไหวที่กำลังอดอาหารในเรือนจำ โดยนำเอกสารที่ล่ารายชื่อผู้สนับสนุนกว่า 10,000 ชื่อ แนบมาด้วย[309]

การประท้วงระยะที่สี่ (พฤษภาคมถึงธันวาคม 2564) แก้

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 กลุ่มรีเด็มจัดการชุมนุมอีกครั้งในรูปแบบคาราวานรถยนต์และจักรยานยนต์ ได้เคลื่อนขบวนจากเกาะพญาไทไปเข้าตัวเมืองและเดินทางสิ้นสุดที่หน้าศาลอาญา รัชดา เพื่อประท้วงการคัดค้านการประกันตัวนักโทษคดีการเมือง[310] ผู้ประท้วงได้นำรูปภาพของชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มาปิดที่ป้ายสำนักงานศาลยุติธรรม และได้ขว้างปาไข่ไก่ มะเขือเทศ ใส่พระบรมฉายาลักษณ์ เข้าไปในพื้นที่สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา[311] เวลาประมาณ 20.30 น. ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายผู้ประท้วงกลุ่มรีเด็มที่ยังคงอยู่ในพื้นที่หลังมีประกาศยุติการชุมนุมแล้ว โดยตำรวจอ้างว่ามีการปาระเบิดปิงปองและพลุใส่ตำรวจ มีผู้ถูกจับกุม 4 ราย[312]

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ศาลให้ประกันตัวแกนนำราษฎรครบ 7 คนจากคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 แล้ว โดยพบว่าหลายคนติดโควิด-19 ระหว่างถูกคุมขัง[313] อย่างไรก็ดี พบว่ามีเยาวชนรวม 7 คนถูกแจ้งความดำเนินคดีในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงพฤษภาคม 2564 โดยมีอายุต่ำสุด 14 ปี[314]

วันที่ 3 มิถุนายน 2564 พบแผ่นกระดาษ เอ 4 สีขาว เขียนข้อความต่าง ๆ ในเชิงสื่อข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ถูกติดไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสถานที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมามีการเปิดเผยว่าเป็นกิจกรรมของกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อความหวัง (เด็มโฮป)[315]

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 มีการชุมนุมของมวลชนหลายกลุ่มในหลายจังหวัดทั่วประเทศ[316]

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร พร้อมด้วยมวลชนและผู้ค้า เดินทางมารวมตัวกันเพื่อร่วมกิจกรรม ภายหลังมีคำสั่ง ศบค. ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเดือดร้อนได้รับผลกระทบ พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ในการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี[317] วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 มวลชนร่วมกิจกรรมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) พร้อมกลุ่มแนวร่วม รวมถึงกลุ่มคาร์ม็อบภายใต้การนำของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์[318]

  ภาพจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  ตำรวจเล็งปืนใส่พลเรือนไม่มีอาวุธ 1 ส.ค. 2564, เฟซบุ๊ก
  วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  "ขอพวกพี่สนุกหน่อย มันเต็มที่แล้ว" 10 สิงหาคม 2564, วิดีโอเฟซบุ๊ก

วันที่ 1 สิงหาคม 2564 มีการชุมนุมคาร์ม็อบ (CarMob) ตามนัดหมาย นำโดย กลุ่มราษฎร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มทะลุฟ้า[319] โดยทำการขับรถยนต์และจักรยานยนต์บีบแตรและเปิดไฟกะพริบเพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาล เช่นเดียวกับการชุมนุมในอีก 30 จังหวัดทั่วประเทศ

วันที่ 7 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ "วันเสียงปืนแตก" หรือการเริ่มต้นการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย มีการนัดหมายชุมนุมที่พระบรมมหาราชวัง ทำให้มีกลุ่มต่าง ๆ ประกาศถอนตัว[320] คืนก่อนหน้านั้น พริษฐ์ ชิวารักษ์โพสต์ว่าตำรวจมารออยู่นอกบ้าน และคงไม่ได้ไปร่วมชุมนุม[321] มีการจัดวางตู้คอนเทนเนอร์และถังน้ำมันรอบสนามหลวง[322] ต่อมามีการเปลี่ยนสถานที่ไปชุมนุมยังทำเนียบรัฐบาล[323] ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยนัดหมายที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อมุ่งหน้าไปยัง กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งได้มีสื่อบางสำนักลงข่าวผู้ประท้วงเผารถผู้ต้องหา[324] เวลาประมาณ 18.15 น. เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าสลายผู้ชุมนุมจนสามารถยึดคืนพื้นที่ถนนราชวิถีฝั่งดินแดงได้สำเร็จ และเคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคืนจากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางอย่างต่อเนื่อง มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมอย่างน้อย 4 คน[325]

 
ตำรวจควบคุมฝูงชน ใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแฟลตดินแดงภายหลังการประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564

วันที่ 9 สิงหาคม 2564 พริษฐ์ไปมอบตัวกับตำรวจ และศาลมีคำสั่งถอนประกันตัว ขณะนำตัวไปฝากขังมีคลิปว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังกับเขา[326] วันที่ 10 สิงหาคม มีคลิปตำรวจคุมฝูงชนใช้คำพูดว่า "ขอพวกพี่สนุกหน่อย มันเต็มที่แล้ว" เพื่อกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ ทำให้ได้รับเสียงวิจารณ์[327]

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จัดคาร์ม็อบที่ราษฎร์ประสงค์ขึ้น เคลื่อนขบวนไปปราศรัยหน้าอาคารซิโนไทยของรองนายกรัฐมนตรีอนุทิน ชาญวีรกูล[328] ทำให้ภายหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เบนจา อะปัญ ถูกจับกุมใน ในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ในประเด็นการปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์วันที่ 10 สิงหาคม และไม่ได้รับการประกันตัว[329]

วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นาย มานะ หงษ์ทอง ถูกกระสุนยางยิงและต่อมาเสียชีวิตในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2565

วันที่ 19 กันยายน 2564 ที่แยกอโศกมนตรี กลุ่มผู้ชุมนุมคาร์ม็อบ 19 กันยา ขับรถยนต์ชนรถถัง มีการตั้งขบวนคาร์ม็อบ ที่แยกอโศกมนตรี ใน ม็อบ 19 กันยา วันนี้แล้ว ทั้งนี้ม็อบดังกล่าวมี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำนักเคลื่อนไหวการเมือง[330] มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมรำลึกถึงการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 กิจกรรมคาร์ม็อบครั้งนี้ จะมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถแท็กซี่ เข้าร่วมขบวน เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของ นายนวมทอง ไพรวัลย์ ผู้ที่ขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยจะเริ่มตั้งหัวขบวนที่แยกอโศก มุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[331]

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นาย วาฤทธิ์​ สมน้อย​ อายุ 15 ปี 6 เดือน ที่ถูกยิงที่ศีรษะตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เสียชีวิต นับเป็นผู้ประท้วงคนแรกที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้[332]

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผู้ถูกร้องทั้งสามคนคือ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลในคดีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งผู้ร้องคือ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยต้องหาว่า ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงหลักเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งผู้พิพากษาได้วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสามคนยุติการกระทำดังกล่าว[333] จนกระทั่งวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 มีการชุมนุมต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของทุกกลุ่ม ซึ่งเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปที่สนามหลวง แต่ถูกปิดเส้นทางโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงย้ายไปที่แยกปทุมวันแล้วเดินขบวนไปยื่นหนังสือที่สถานทูต​เยอรมนี ซึ่งระหว่างทางมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่เป็นระยะ[334]

วันที่ 28 ธันวาคม 2564 ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ร่วมพิธีถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ผู้ประท้วงได้ตะโกน "ยกเลิก 112" หลายครั้งพร้อมกับชูสามนิ้ว นักกิจกรรมที่ถูกจับกุมมีทั้งหมด 3 คน ถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม[335]

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลอาญาให้ประกันตัวอานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชิวารักษ์ แต่กองทุนราษฎรประสงค์ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือคดีทางการเมืองนั้นมีเงินไม่เพียงพอต่อการวางหลักประกัน จึงประกาศขอระดมทุนเข้ากองทุนเพิ่มเติม[336] และได้รับยอดเงินบริจาคกว่า 10 ล้านบาทภายใน 3 ชั่วโมง[337] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคนแต่อย่างใด[338][339] ก่อนที่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 พริษฐ์ ชิวารักษ์ จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลาสามเดือน[340]วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัย [341]ที่ 0821/2565 ปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อถึงปี 2565 การประท้วงบนท้องถนนได้ยุติลงไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสื่อคาดว่าเป็นเพราะทางการใช้วิธีปราบปรามและสอดแนมผู้ชุมนุมคนสำคัญอย่างหนัก[342][343]

วันที่ 13 มีนาคม 2565 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้ชุมนุมกลุ่ม ศปปส. ปะทะกับกลุ่มราษฎร[344]

วันที่ 11 มิถุนายน 2565 การชุมนุมกลับมาอีกครั้งโดย "กลุ่มคนแดงเราเพื่อนกัน" และ "กลุ่มแนวร่วม" รวมตัวกันชุมนุมในกิจกรรมชื่อว่า "เดินไล่ตู่" มีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเริ่มการชุมนุมตั้งแต่เวลา 14:00 น.[345] และยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 17:20 น. แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นมีผู้ชุมนุมบางส่วนปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงอีกครั้ง ก่อนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อเวลา 19:30 น.[346]

กิจกรรมที่ลานคนเมือง แก้

หลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขาประกาศให้พื้นที่ 7 แห่งสามารถจัดการชุมนุมสาธารณะได้ หนึ่งในนั้นคือบริเวณลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหรือ "ลานคนเมือง" กลุ่มราษฎรและเครือข่ายเข้าใช้พื้นที่เพื่อจัดงาน "เฉลิมฉลองวันชาติ" ครบรอบ 90 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565[347] มีการเดินขบวนแห่หมุดคณะราษฎรจำลองและชูป้าย "ยกเลิก 112 เราไม่เอาสมบูรณายาสิทธิราช ปล่อยเพื่อนเรา กฎหมายหมิ่นที่ฆ่าคนได้ ฯลฯ" กลุ่มที่เข้าร่วมเช่นแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม Wevo และนักเรียนเลว และมีบุคคลที่มีความโดดเด่นในการประท้วงระหว่าง พ.ศ. 2563-2564 เข้าร่วม อาทิปิยรัฐ จงเทพ, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล[348] ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565 มีการจัดการแสดงดนตรีทางการเมือง "DEMO EXPO" ที่ลานคนเมือง โดยมีศิลปินที่มีบทเพลงเป็นที่รู้จักและถูกใช้ในการชุมนุมอยู่บ่อยครั้งเช่นวงสามัญชน[349] Rap Against Dictatorship[350] และ Ammy The Bottom Blues[351][352] มีการตั้งโต๊ะกิจกรรมทางการเมืองของ "[คณะก้าวหน้า], ครย.112, ilaw, พิพิธภัณฑ์สามัญชน, WE FAIR, สหภาพคนทำงาน, ประชาไท, นักเรียนเลว, Amnesty Thailand, 2475 Graphic Novel" และ "FreeArts ศิลปะปลดแอก" และการจัดแสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงผู้ต้องหาคดีทางการเมืองทั้งจากกฎหมายมาตรา 112 การชุมนุมบริเวณแยกดินแดง การสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และกรณีอื่น ๆ รวมทั้งที่ถูกกักบริเวณ [353]

ยุทธวิธีและวาระของผู้ประท้วง แก้

 
การชุมนุมประท้วงที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 15 ตุลาคม จัดขึ้นในภายหลังแกนนำถูกจับกุมจำนวนมาก

กลุ่มผู้ประท้วงไม่มีแกนนำชัดเจน แต่ผู้ประท้วงบางคนโดดเด่นขึ้นมาและมีชื่อปรากฏในสื่อ เช่น อานนท์ นำภา และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งเป็นผู้ปราศรัยบนเวทีและกล่าวข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ให้สัมภาษณ์ว่าเขายินดีที่ขบวนการประท้วงไม่ต้องการผู้นำ และสามารถระดมคนออนไลน์ได้ภายใน 30 นาที[354] การประท้วงในช่วงแรก ๆ นั้นมีสื่ออธิบายว่ามีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ มีการประท้วงโดยใช้สัญลักษณ์ปัญหาสังคมโดยเลี่ยงการกล่าวออกมาตรง ๆ[355] รวมทั้งการพาดพิงถึงวัฒนธรรมป็อป ติ๊กต็อก และทวิตเตอร์ เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ประท้วงนิยมใช้ และน่าจะเป็นครั้งแรกที่การประท้วงได้ลบขอบเขตระหว่างโลกจริงและโลกออนไลน์[356] ผู้ประท้วงมักใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้วจากภาพยนตร์ชุด เกมล่าเกม เพื่อต่อต้านรัฐบาล อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ประท้วงถูกประเมินว่าขาดยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกัน และไม่ได้มองการณ์ไกลไปมากกว่าชุมนุมแบบวันต่อวันเท่านั้น ส่วนหนึ่งคาดว่ามีสาเหตุจากการขาดโครงสร้างแบบรวมศูนย์เช่นเดียวกับขบวนการนักศึกษาในพุทธทศวรรษ 2510[357] สมาชิกขบวนการส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างจากการประท้วงบนถนนก่อนหน้านี้ที่ฝ่ายทางการเมืองแย่งชิงอำนาจกัน[354] ในการชุมนุมบางครั้ง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นหญิง ซึ่งต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศและปิตาธิปไตย[358] ผู้ประท้วงยังใช้ยุทธวิธีศิลปะประท้วง คือ การแบ่งปันไฟล์ภาพหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2[359] ในเดือนมีนาคม 2564 มีการตั้งค่ายพักเพื่อปักหลักชุมนุมไม่มีกำหนดข้างทำเนียบรัฐบาล ชื่อ "หมู่บ้านทะลุฟ้า" พร้อมให้ผู้ชุมนุมเข้าพักฟรี[360][361]

ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในเดือนสิงหาคม 2563 นับเป็นครั้งแรกที่มีการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นมองว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าจะลดจำนวนผู้สนับสนุนขบวนการลง แต่หากรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามก็อาจจะทำให้มีผู้กลับมาสนับสนุนขบวนการนี้มากขึ้น[362] ด้านหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงความเห็นว่า ขบวนการอาจต้องขยายวาระทางสังคมหากต้องการให้การประท้วงสัมฤทธิ์ผล[363] แต่หลังจากการเลื่อนการลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน 2563 คอลัมนิสต์บางกอกโพสต์คนหนึ่งเขียนว่า สำนึกเรื่องสาธารณรัฐนิยมเพิ่มสูงสุดในประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน[364] สำหรับข้อเรียกร้องต่าง ๆ นั้น ทัดเทพมองว่าต่างมีความชัดเจนอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องเจรจา[354] ผู้ประท้วงยืนยันว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกตนนั้น "ประนีประนอมที่สุดแล้ว"[365]

หลังการจับกุมผู้ประท้วงคนสำคัญในเดือนตุลาคม 2563 รองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์ มองว่า เมื่อขาดแกนนำไปอาจทำให้ขบวนการอยู่นอกเหนือการควบคุมได้ และไม่สามารถริเริ่มทางยุทธศาสตร์ได้[366] ผู้ประท้วงยึดถือคติ "ทุกคนคือแกนนำ" หันไปนิยมสวมเครื่องแต่งกายสีดำเพื่อให้ปลอดภัยและลดความสะดุดตา มีการพกเสื้อกันฝนและร่มโดยส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันสารเคมีที่ตำรวจอาจใช้ ผู้ประท้วงหันไปใช้การสื่อสารแบบเกมป้องปากและภาษามือเนื่องจากไม่สามารถใช้รถติดเครื่องขยายเสียง มีการใช้สื่อสังคมกระจายข่าวสาร กลุ่มแชตดังกล่าวยังเป็นที่สำหรับเลือกจัดการชุมนุมครั้งถัดไปด้วย ด้านขบวนการนักศึกษาย้ายไปใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรม หลังมีข่าวว่าทางการเตรียมใช้อำนาจปิดหน้าเดิมด้วย[367] ในระยะหลัง ผู้ร่วมชุมนุมใช้ร่มต่างโล่ บ้างสวมหมวกกันน็อก แว่นตาและหน้ากากกันแก๊ส และมีการปรับใช้ยุทธวิธีสายน้ำแบบการประท้วงในฮ่องกง[368] หลังการสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม แฮชแท็ก #WhatsHappeningInThailand (เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย) มีการใช้มากขึ้น โดยมีการเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลี ในแพลตฟอร์มสื่อสังคมหลายแห่ง เพื่อเรียกความสนใจของประชาคมโลกถึงสถานการณ์ในประเทศ[369]

การสาดสีเป็นวิธีการแสดงออกอย่างหนึ่งที่ผู้ประท้วงเลือกใช้ ซึ่งมีผู้ประท้วงแสดงความเห็นเป็นวิธีการแสดงออกแบบใหม่ ส่วนไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ แสดงความเห็นถึงผู้ที่มองว่าไม่เหมาะสมไว้ว่า "มันคือสังคมดัดจริตเกินไป ในขณะที่ขีดเขียนถนนแล้วโดนวิพากษ์วิจารณ์ หรือใด ๆ ก็ตามที่ทำถนนเลอะเทอะ มองภาพใหญ่เรากำลังโดนกดขี่ และทำให้สังคมสกปรกมากกว่านั้นอีก การขีดเขียนพวกนี้เป็นเรื่องเล็กครับ"[370]

ผลของการประท้วงของกลุ่มรีเด็มซึ่งใช้ยุทธวิธีไร้แกนนำในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ผู้ประท้วงหลายคนกลับมาทบทวนยุทธวิธีดังกล่าว แม้ว่ายุทธวิธีนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเสมอภาค แต่ผู้ประท้วงก็ไม่รู้จะฟังใคร ไม่มีวิธีลดระดับความรุนแรง อดีตนักเคลื่อนไหว นปช. คนหนึ่งให้ความเห็นว่า ยุทธวิธีแบบนี้ใช้ได้ผลดีหากเป็นการปักหลักชุมนุมอยู่กับที่ โดยมีกำหนดการต่าง ๆ ชัดเจน[269]

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า ผู้ชุมนุมเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงหลังผู้ชุมนุมคนสำคัญถูกจำคุก และเมื่อมีการแสดงสัญลักษณ์ค้อนเคียวในช่วงปลายปี 2563 และมองว่าเป้าหมายของกลุ่มเอื้อมไม่ถึงและใช้ยุทธวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดผล[371]

การเงิน แก้

การประท้วงในช่วงปี 2563 ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านการบริจาค[372][373] ซึ่งหลัก ๆ มาจากทราย เจริญปุระ นักแสดง[374][375] และจากแฟนคลับศิลปินเกาหลีในประเทศไทยที่ระดมทุนกัน[376][377] โดยเงินจากกลุ่มหลังนี้ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 มียอดรวมกว่า 3.6 ล้านบาท[378] นอกจากนี้ยังมีการเดินถือกล่องเพื่อเรี่ยไรเงินบริจาค[379] ส่วนปกรณ์ พรชีวางกูร​ เปิดตัวเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินของผู้ประท้วงอีกคนหนึ่ง แต่แถลงว่าจะไม่ชี้แจงที่มาของเงินบริจาค เพราะเป็นเอกชนมาบริจาคให้เอง และการเปิดเผยชื่อจะนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยรวมถึงการต่อต้านการล้างเผ่าชาวโรฮิงญาและ เสรีภาพทางศาสนาของชนกลุ่มน้อย[232] ยังมีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาจัดตั้ง "กองทุนราษฎรประสงค์" ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเงินค่าประกันตัวแก่นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี โดยมีการแสดงรายรับ-รายจ่ายอย่างโปร่งใส[380]

มีความพยายามดำเนินคดีต่อผู้บริจาคดังกล่าว[381] และมีข้อกล่าวหาจากกลุ่มนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า การประท้วงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งสถานทูตสหรัฐปฏิเสธ[382]

ปฏิกิริยา แก้

การตอบสนองภาครัฐ การคุกคามและจับกุม แก้

  วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  ตำรวจจับกุมพริษฐ์ ชีวารักษ์ แกนนำนักศึกษา 14 สิงหาคม 2563, วิดีโอยูทูบ
  ตำรวจจับไผ่ ดาวดิน 13 ตุลาคม 2563, วิดีโอยูทูบ

บทวิเคราะห์พบว่าการตอบสนองของภาครัฐได้แก่การใช้กำลังและการคุกคาม การกักขังตามอำเภอใจ การจับกุมและตั้งข้อหา การเผยแพร่ความเท็จ การใช้หน่วยสงครามข่าวสาร (IO) การตรวจพิจารณาสื่อ การประวิงเวลา การขัดขวาง การสนับสนุนกลุ่มนิยมรัฐบาล และการเจรจา[383] กรมประชาสัมพันธ์เปิดตัวคลิปโฆษณาชวนเชื่อโจมตีผู้ประท้วง[384] พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์เตือนว่าการกระทำของผู้ประท้วงบางคนอาจเข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และน้ำตาคลอเมื่อเล่าถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของตน[385] ด้านพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2563 รีบตำหนิข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทันที พร้อมกับบอกว่าให้ "ปฏิรูปตนเองก่อน"[386] ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงความกังวลถึงโอกาสแพร่กระจายของโรคโควิด-19 แต่วางท่าทีเป็นกลางต่อข้อเรียกร้อง 3 ประการ[387]

 
รถฉีดน้ำแรงดันสูงที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้กับผู้ชุมนุม

ยุทธวิธีของทางการไทยประกอบด้วยคำสั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อสั่งให้ขัดขวางการชุมนุมของนักศึกษา และรวบรวมชื่อแกนนำผู้ประท้วง การกล่าวหาว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษาจะนำไปสู่ความรุนแรง บ้างมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ[388] มหาวิทยาลัยที่สั่งห้ามชุมนุมในพื้นที่ของตน เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข่าวว่าตำรวจบางท้องที่ส่งจดหมายสั่งห้ามจัดการชุมนุมในสถานศึกษา[389] ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานออกประกาศอนุญาตให้นักเรียนจัดการชุมนุมในโรงเรียนรัฐได้ โดยห้ามคนนอกเข้าร่วม[390] แต่ในปลายเดือนสิงหาคม มีรายงานว่ามีการกีดกันหรือคุกคามการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 109 กรณี[391]

ทางการใช้ยุทธวิธีคุกคามฝ่ายผู้ประท้วงหลายวิธี เช่น การติดตามหาข้อมูลถึงบ้าน การถ่ายภาพผู้ประท้วงและป้ายข้อความรายบุคคล การปิดกั้นพื้นที่ ฯลฯ[392] จนถึงเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 167 คน โดยมีการตั้งข้อหาหนักสุดคือปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง รวมทั้งมีการจับกุมเยาวชน 5 คนโดยไม่มีการตั้งข้อหา[32][393] อ้างว่าทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนว่าถูกควบคุมตัวไปยังค่าย ตชด. แห่งหนึ่ง[394] ฝ่ายตำรวจอ้างว่าตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุดังกล่าว และได้ออกหมายจับนาย เวหา แสนชนชนะศึก แอดมินของเพจดังกล่าว ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ[393] ตำรวจยึดหนังสือคำปราศรัยของอานนท์ นำภา[395] ระหว่างเดือนมีนาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 มีผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินอย่างน้อย 444 คน ทั้งที่อ้างว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19[396] ผู้ที่ถูกตำรวจควบคุมตัวบางครั้งพบว่าได้รับบาดเจ็บ[20]

รัฐบาลถูกกล่าวหาว่าใช้กฎหมายบังคับแทนการเจรจาอย่างสันติวิธี มีการใช้นิติสงคราม หมายถึง การแจ้งความดำเนินคดีที่มีอัตราโทษหนักทั้งที่ไม่เข้าองค์ประกอบ[397] ตำรวจยังใช้วิธีอายัดตัวและฝากขังแกนนำผู้ประท้วงไปทีละหมายจับ พาตัวไปยังที่ทุรกันดาร และขัดขวางการทำหน้าที่ของทนายความ[398] ช่วงต้นปี 2564 อัยการสั่งฟ้องแกนนำกลุ่มราษฎรและฝากขังในเรือนจำโดยไม่ให้ประกันตัว[399] สาธารณะบางส่วนตั้งคำถามถึงการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐที่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยอ้างเหตุป้องกันการระบาดของโควิด-19 แต่กลับปล่อยปละละเลยให้การชุมนุมอื่นทั้งที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หละหลวมกว่า[400]

ตำรวจอ้างว่าได้ปฏิบัติตามหลักสากลในการควบคุมฝูงชน ทั้งการใช้ปีนใหญ่ฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา รวมทั้งกระสุนยาง แต่คำแนะนำของสหประชาชาติระบุว่าปืนใหญ่ฉีดน้ำให้ใช้เฉพาะกับการประท้วงรุนแรงเท่านั้น และต้องไม่ฉีดไปยังตัวบุคคลโดยตรง[401] และการใช้กระสุนยางก็มีอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่งและถูกวิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน[402] ด้านสื่อต่างประเทศคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ตำรวจใช้ยุทธวิธีหนักมือขึ้นในการรับมือการประท้วง โดยอ้างเหตุป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19[288] ในหลายโอกาสตำรวจปล่อยปละละเลยให้กลุ่มคนเสื้อเหลืองปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม กับมีข่าวลือว่าเครือข่ายนักการเมืองภาคตะวันออกเกณฑ์คนเข้ามาในกรุงเทพมหานคร[403] ก่อนหน้านี้ ศ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ไทย เคยแสดงความกังวลว่าหากปล่อยเวลาไปอีก 6 เดือน กอ.รมน. อาจจัดตั้งฝ่ายต่อต้านได้สำเร็จเหมือนกับครั้งในปี 2519[404]

วันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร และตั้งกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง[405] ซึ่งอาจารย์และนักรัฐศาสตร์กว่า 100 คนเขียนจดหมายเปิดผนึกตั้งคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศดังกล่าว[406] ต่อมามีการใช้อำนาจสั่งปิดสื่อ ประกอบด้วยประชาไท เดอะรีพอร์ตเตอส์ เดอะสแตนดาร์ด และวอยซ์ทีวี[407] รวมทั้งสั่งปิดแอปพลิเคชันเทเลแกรม[408] แต่ต่อมาศาลมีคำสั่งยกเลิกคำร้อง[409] ตำรวจยังยึดหนังสือที่มีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน[410]

กรุงเทพมหานครให้การสนับสนุนผู้ประท้วงโต้โดยมีการจัดรถส่งคนไปยังที่ชุมนุม[411] และจัดหารถสุขาและรถขยะให้[412]

ในเดือนพฤศจิกายน 2563 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมาคมสั่งห้ามภิกษุสามเณรร่วมการชุมนุมทางการเมือง[413]โดยให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ)เป็นผู้ลงโทษผู้ฝ่าฝืน ต่อมาประยุทธ์แถลงว่าจะยกระดับการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับและทุกมาตราต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการกลับมาดำเนินคดีฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์[414]

  วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  การปะทะที่ดิโอสยามเดือนเมษายน, วิดีโอยูทูบ

ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2566 ที่ดิโอลด์สยามพลาซ่า น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ นาย โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง เกิดปะทะกับกลุ่มศปปส.

บทบาทของพระมหากษัตริย์ แก้

 
ป้ายแบนเนอร์ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่การขุมนุมในวันที่ 29 ตุลาคม

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสำนักพระราชวังไม่มีความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการประท้วงต่อสาธารณะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ในเดือนสิงหาคม หนังสือพิมพ์ เอเชียไทมส์ รายงานอ้างข้าราชการคนหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์ทรงไม่รู้สึกถูกรบกวนจากการประท้วง และผู้ประท้วงควรสามารถแสดงความคิดเห็นได้[415] อย่างไรก็ดี อัลจาซีรารายงานว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้สื่อไทยตรวจพิจารณาข้อเรียกร้อง 10 ข้อ[416]

วันที่ 24 ตุลาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสชมนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ อดีตพระพุทธะอิสระและนาย ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้ชูพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กลางกลุ่มผู้ชุมนุม[417] นับเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะครั้งแรกต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทำให้แฮชแท็ก #23ตุลาตาสว่าง ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของประเทศไทย โดยมีการรีทวีตกว่า 500,000 ครั้ง ผู้ประท้วงคนหนึ่งออกความเห็นว่า พระมหากษัตริย์อยู่ ณ ใจกลางของปัญหาการเมืองไทยมาโดยตลอด[11] แพทริก จอรี อาจารย์มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุว่า พระองค์ทรงมีอุปนิสัยทำนายไม่ได้ ทรง "เต็มพระทัยใช้ความรุนแรง" และอาจกดดันประยุทธ์ให้ปราบปรามผู้ประท้วง[418]

บทบาทของพระมหากษัตริย์มีมากขึ้นโดยในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 นาย ชินวัตร จันทร์กระจ่างได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ[419]ต่อมาในวันที่ 12 มิถุนายน 2566 นาย ประยูร จิตรเพ็ชร ประธานกรรมการคณะประชาชนคนไทยรักในหลวงได้จัดการชุมนุมให้กำลังใจวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 และขอเงินบริจาค 28 ล้าน 7 แสนบาท[420]ในวันที่มีการการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 1 ผลปรากฎว่าวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 ได้กล่าวในประเด็น ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ตลอดทั้งวัน อาทิ นาย คำนูณ สิทธิสมาน กล่าวตอนนึงว่า มาตรา 112 เป็น มรดกทางวัฒนธรรม นาย เสรี สุวรรณภานนท์ กล่าวตอนนึงว่าพรรคก้าวไกลต้องการแก้ มาตรา 112 เพื่อกลุ่มที่กระทำผิดอาทิกลุ่ม ทะลุวัง ในขณะที่นาย ชาดา ไทยเศรษฐ์ ระบุตอนหนึ่งในการอภิปรายว่าตนจะขอแก้ให้มีการใช้ปืนยิงผู้หมิ่นสถาบันดีไหม[421]ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าช่วงระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 22 กันยายน 2566 มีรายงานผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มากถึง 257 ราย[422]

สนับสนุน แก้

 
ผู้ประท้วงสตรีนิยมแสดงข้อความรณรงค์เกี่ยวกับอวัยวะเพศสตรีและแนวคิดสิทธิเสรีภาพของสตรีในการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร

มี ส.ส. สังกัดพรรคก้าวไกล ระบุว่าการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในการประท้วง (เช่น การล้อเลียน เสียดสี มีม ฯลฯ) เป็นความจริงที่น่ากระอักกระอ่วน และจำต้องให้ความสนใจ อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ สนธิ ลิ้มทองกุล และ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ตอบโต้อย่างรุนแรง โดยมองว่าในผู้ประท้วงมีกลุ่มผู้ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์แอบแฝง หรือไม่นักศึกษาก็ตกเป็นเหยื่อของผู้อยู่เบื้องหลังที่มีเจตนาดังกล่าว[423] นับแต่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับพรรคการเมืองมีเพียงพรรคก้าวไกลที่ออกมาสนับสนุนให้เปิดโอกาสแสดงออกแก่นักศึกษา[424] คณาจารย์อย่างน้อย 147 คนลงชื่อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาในวันที่ 10 สิงหาคม และระบุว่าเนื้อหาไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย[425][127] และนักวิชาการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองอย่างน้อย 358 สนับสนุนการประท้วง[127] บุคลากรโรงเรียนบางส่วนสนับสนุนการแสดงออกของนักเรียน[426]

มารีญา พูลเลิศลาภ นางงาม แสดงจุดยืนเข้ากับผู้ประท้วง[427] ต่อมาเธอเล่าว่าตนได้รับผลกระทบจากการสนับสนุนดังกล่าว นักแคสเกมที่มีชื่อเสียงที่ใช้ชื่อว่า ฮาร์ตร็อกเกอร์ ก็แสดงความสนับสนุนเช่นกัน[428] หลังมีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในต้นเดือนสิงหาคม ผู้กำกับ ทรงยศ สุขมากอนันต์, ดารา พีรวัส แสงโพธิรัตน์, ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์, โฟกัส จีระกุล, วิญญู วงศ์สุรวัฒน์, ยุทธเลิศ สิปปภาค, หนึ่งธิดา โสภณ, อวัช รัตนปิณฑะ, กรุณพล เทียนสุวรรณประกาศสนับสนุนการประท้วง[429] เช่นเดียวกับสมาชิกบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตห้าคน[430][431] แพทย์หญิง จรสดาว ริมพณิชยกิจ แพทย์โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีถูกไล่ออกจากโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะเนื่องจากลงนามให้ตำรวจงดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดย พลตรี นายแพทย์ เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะและประธานองค์กรเก็บขยะแผ่นดินซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้ชุมนุม[432]โพสต์เฟซบุ๊กไล่ออกในวันที่ 17 ตุลาคม เวลา 23.19 น.[433]

องค์การระหว่างประเทศบางองค์การแสดงออกเพื่อสนับสนุนและเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิในการประท้วง ยูนิเซฟออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายรับรองความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเด็กและเยาวชน โรงเรียนและสถานศึกษาเป็นที่แสดงออกและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างสร้างสรรค์[434] สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและองค์การนิรโทษกรรมสากลรับรองสภาพสงบของการชุมนุม และประณามการสลายการชุมนุม[435][436] ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอชเอเชียกล่าวว่า การทำให้การชุมนุมโดยสงบเป็นความผิดเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบเผด็จการ ทั้งเรียกร้องให้สหประชาชาติและรัฐบาลนานาประเทศประณามด้วย และให้ปล่อยตัวนักโทษ[171] นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง โจชัว หว่อง โพสต์ทวิตเตอร์แสดงความเป็นอันหนึ่งเดียวกับผู้ประท้วง และขอให้ทั่วโลกสนใจการประท้วงในประเทศไทย[437] ในเดือนธันวาคม 2563 สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐจำนวนเก้าคนออกข้อมติสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศไทย[438]

หนังสือพิมพ์ ข่าวสด และ บางกอกโพสต์ เขียนบทบรรณาธิการเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกเพื่อลดความขัดแย้ง แต่ทั้งสองไม่ได้กดดันข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์[439][440]

คัดค้าน แก้

นักเรียนเลว ทวิตเตอร์
@BadStudent_

Sep 16, 2020[441]

ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรถูกผู้ชุมนุมตอบโต้ในชุดเหลืองทำร้ายร่างกาย, 14 ตุลาคม 2563

การคัดค้านในเวลาต่อมาพยายามอ้างว่ามีรัฐบาลหรือองค์การนอกภาครัฐต่างชาติให้การสนับสนุนการประท้วง วันที่ 10 สิงหาคม สถาบันทิศทางไทย ซึ่งมีอดีตสมาชิกกลุ่ม กปปส. เข้าร่วม[442] เผยแพร่ "แผนผังเครือข่ายปฏิวัติประชาชน" ซึ่งโยงผู้ประท้วงนักศึกษากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และทักษิณ ชินวัตร ตลอดจนมีการเชื่อมโยงเป็นทฤษฎีสมคบคิดเพื่อทำลายประเทศไทย[443] บ้างอ้างว่า การที่องค์การการบริจาคทรัพย์เพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Endowment for Democracy) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐที่ได้รับจัดสรรเงินสนับสนุนผ่านรัฐสภาสหรัฐ สนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ ที่ถือฝ่ายผู้ประท้วงนั้น เป็นหลักฐานเชื่อมโยงดังกล่าว[444] ในหลายกรณีพบกลุ่มชายฉกรรจ์ทรงผมสั้นเกรียนและสวมเสื้อผ้าคล้ายกันในการชุมนุมหลายครั้ง ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นทหารหรือตำรวจนอกเครื่องแบบ[445]

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนใหญ่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ประยุทธ์แสดงความไม่สบายใจ[446] ด้านคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่กระทบกระเทือนพระราชอำนาจ[447] หนังสือพิมพ์แนวหน้า เขียนว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำชั่วร้าย สร้างความแตกแยก อ้างว่าเป็นการประท้วงรัฐบาลหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อบังหน้า แต่เป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ มีพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่เป็นเบื้องหลัง[448] ในช่องทางออนไลน์ กลุ่มองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ซึ่งถูกขนานนามในวารสารวิชาการระดับนานาชาติว่าเป็นองค์การคลั่งเจ้า ฟาสซิสต์และได้รับการสนับสนุนจากรัฐ[449][450][451] กล่าวหานักศึกษาว่าเป็นพวกล้มเจ้า กบฏ คนทรยศและขยะ[452][453] นอกจากนี้เกิดเหตุทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงโดยมวลชนฝ่ายตรงข้าม[454] วันที่ 16 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีปราศรัยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในวันที่ 10 สิงหาคมในข้อหาล้มล้างการปกครอง[455]

หลังจากการเข้าร่วมการชุมนุมของนักเรียนมัธยม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีกรณีการคุกคามนักเรียนอย่างน้อย 103 กรณี[456] การดูหมิ่นผู้ประท้วงนักเรียนหญิงบางคนไปไกลถึงขั้นว่าสมควรถูกข่มขืนกระทำชำเรา[457] ต่อมาในเดือนกันยายน ทวิตเตอร์กลุ่มนักเรียนเลวโพสต์ว่าสมาชิกกลุ่มบางส่วนได้รับผลกระทบทั้งในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและเศรษฐกิจจากการเข้าร่วมการชุมนุม[458]

บางคนและกลุ่มค้านยุทธวิธีของผู้ประท้วง เช่น รองศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือเพจโปลิศไทยแลนด์ ประณามการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจของผู้ประท้วง โดยกล่าวว่าเป็น "ความรุนแรง"[459][460]ต่อมา สุกิจ อัถโถปกรณ์ แถลงว่ารับไม่ได้กับภาษาหยาบคายที่แกนนำผู้ชุมนุมใช้[461]

ตำรวจและกลุ่มฝ่ายขวาส่วนหนึ่งรังควานธนาธรและอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เพราะถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการประท้วง[462][463] สื่อหลายสำนักพยายามลงข่าวให้เข้าใจว่าฝ่ายผู้ชุมนุมพยายามก่อให้เกิดความรุนแรงก่อน[464][465]

แม้นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกประกาศว่าจะไม่รัฐประหาร แต่สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องให้กองทัพเข้ารักษาความสงบอีกครั้ง[466] เช่นเดียวกับกลุ่ม คปส.[467]

สื่อฝ่ายขวาหลายสำนักตีข่าวการนัดหมายชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 โดยไปเชื่อมโยงกับวันเสียงปืนแตก การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และการปฏิวัติฝรั่งเศส[468]

การรายงานของสื่อ แก้

การรายงานของสื่อไทยพบว่ามีความเกรงใจรัฐบาลและตำรวจสูง คือ ปรากฏภาพความรุนแรงที่เกิดจากฝั่งตำรวจน้อยมาก ทั้งโจมตีผู้ประท้วงและแก้ต่างให้รัฐบาลกับตำรวจ ส่วนภาพและวิดีทัศน์ความรุนแรงจากตำรวจนั้นล้วนเผยแพร่ทางสื่อสังคมต่าง ๆ ทำให้เกิดกระแส #แบนสื่อช่องหลัก[469][470] เดือนสิงหาคม 2563 เนชั่นทีวีลงข่าวยอมรับว่ามีผู้สื่อข่าวของตนปกปิดสังกัดและแอบอ้างว่ามาจากช่องอื่นจริง และกองบรรณาธิการเรียกตักเตือนแล้ว แต่อ้างว่านักข่าวกระทำเช่นนั้นเพราะกลัวเกิดอันตรายจากผู้ชุมนุม[471] ต่อมาจึงเกิดการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคชื่อ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น เพื่อให้เนชั่นเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอข่าว[472] ทำให้เนชั่นต้องมีการปฏิรูปองค์กรในช่วงเดือนพฤศจิกายน[473] และปัจจุบันบุคลากรกลุ่มสุดโต่งได้ย้ายไปทำสถานีข่าวชื่อท็อปนิวส์เรียบร้อยแล้ว

หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงแก้ไขข่าวว่าในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2563 รายงานผิดว่าผู้ประท้วงรบกวนระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร แต่แท้จริงแล้ว กอร.ฉ. สั่งปิดรถไฟฟ้า[474]

ในเดือนพฤศจิกายนมีสื่ออีก 3 สำนักที่นำเสนอข่าวผิดจากข้อเท็จจริง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากฝั่งราษฎร ได้แก่ ช่องวัน 31 ที่อ้างว่ามีการย้ายรถตำรวจจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงขึ้น[475], อมรินทร์ทีวี ที่พาดหัวใส่ร้ายราษฎรว่าทำร้ายกลุ่มเสื้อเหลือง[476] และ ไทยรัฐทีวี ที่ด่วนสรุปว่าเหตุความวุ่นวายเกิดจากนักเรียนอาชีวะทะเลาะกันเอง[475]

ส่วนการรายงานของสื่อต่างประเทศ สำนักข่าวรอยเตอส์และไฟแนนเชียลไทมส์ลงข่าวกระแสแฮชแท็ก #RepublicofThailand ทางทวิตเตอร์ในปลายเดือนกันยายน[477] ขณะที่เดือนตุลาคมสัญญาณจากซีเอ็นเอ็น, บีบีซี เวิลด์นิวส์, อัลญะซีเราะฮ์อิงกลิช, เอ็นเอชเคเวิลด์ และสำนักข่าวต่างประเทศอื่นที่นำเสนอการชุมนุมในประเทศไทยถูกห้ามออกอากาศทางทรูวิชั่นส์และแอปพลิเคชันทรูไอดี[478] 31 ตุลาคม สำนักข่าวเอเอฟพีลงข่าวเพื่อแก้ไขข่าวเท็จที่บิดเบือนคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า พระมหากษัตริย์ไทยมิได้กระทำผิด[479]

ในเดือนพฤศจิกายน หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ ลงบทวิเคราะห์ว่ามีข่าวลือรัฐประหารในไทยอีกครั้ง ส่วนสื่อต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนีจับประเด็นการพำนักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[480] สื่อในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ที่ได้รับความเคารพนับถือไปจนถึงแทบลอยด์ต่างให้ความสนใจกับข่าวการประท้วง หลายเจ้าตั้งคำถามถึงพระจริยวัตรและพระราชทรัพย์ เช่น ดิอีโคโนมิสต์ ลงว่า พระองค์ต้องการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ เดอะไทมส์ พาดหัวว่า พระองค์ทรงเป็นของขวัญของนักสาธารณรัฐนิยม[481]

หมายเหตุ แก้

  1. สื่อสนับสนุนรัฐบาลบางส่วนใช้คำว่า "การจลาจล"[2]
  2. ภายหลังพบว่ามีความเกี่ยวข้องเป็นหุ้นส่วนกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย
  3. รวบรวมจากหลายแหล่ง:[16][17][18][19][20][21][22][23][24]
  4. ตำรวจนายดังกล่าวเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย อย่างไรก็ตาม มีผู้ประท้วงเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเช่นเดียวกัน
  5. รวบรวมจากหลายแหล่ง:[30][31][32][33][34][35][36][37][38][39]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เพลิงลามทุ่ง". BBC Thai. 2020-02-28.
  2. "คลิปจลาจลที่แยกบางนา ปาหินใส่ป้อมตร.-ไล่ตื้บคนป่วน". dailynews. 18 October 2020.
  3. "ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 10 November 2021.
  4. คณะราษฎร: ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องก่อนชุมนุมใหญ่ 14 ตุลา ประยุทธ์ลาออก-เปิดสภาแก้ รธน.-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
  5. จากใจตำรวจควบคุมฝูงชน อยากให้คนไทยรักและสามัคคีกัน หลังต้องทิ้งครอบครัวมาปฏิบัติหน้าที่ - ผู้จัดการ
  6. ยันรถน้ำจีโน่มาตรฐานสากล สงสัยขอตรวจสอบได้ที่อคฝ. - เดลินิวส์
  7. "รถน้ำแรงดันสูง-รถเติมน้ำโดนม็อบทำเสียหาย – innnews". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-18. สืบค้นเมื่อ 2020-11-26.
  8. ผู้ชุมนุมผวา! ตชด.ตั้งแถวบริเวณถนนอักษะตะโกนด่าลั่น​ - Thai Post
  9. "กลุ่มพันธมิตรนิสิตนักศึกษาฯออกแถลงการณ์ชวนคนร่วม"อาชีวะปกป้องสถาบันฯ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-24. สืบค้นเมื่อ 2021-12-24.
  10. "เยาวชนช่วยชาติ" นัดรวมตัว แสดงความรักชาติ พรุ่งนี้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
  11. 11.0 11.1 "Thai king's praise for defiant loyalist draws controversy". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 24 October 2020. สืบค้นเมื่อ 24 October 2020.
  12. 12.0 12.1 คุม 'ทนายอานนท์ - ไมค์' ส่งศาลแล้วทั้งคู่ ท่ามกลางมวลชนนับร้อย กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2563
  13. ชุมนุม 19 กันยา : “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษาผู้ยืนกรานปฏิรูปสถาบันฯ เก็บถาวร 2020-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  14. เพนกวิน ตะโกน “ไม่มีสิทธิคุกคามประชาชน” ระหว่างตำรวจบุกจับคดีเดียวกับ อานนท์-ไมค์ แต่ถูกตั้งข้อหา “ทำร้ายร่างกาย” เพิ่มด้วย
  15. นับเงินกันเพลิน! แกนนำปลดแอก เปิดบัญชีธนาคารระดมทุนจัดงาน 14 ต.ค.พบบริจาคมากสุดกว่า 1 หมื่นบาท
  16. "สภาวุ่น! ม็อบปิดทางออกรัฐสภา-บุกปีนรั้วเจ็บ 1 คน". ไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 24 September 2020.
  17. "ด่วน! ม็อบปะทะวุ่น หลังตำรวจเริ่มกระชับพื้นที่ เจ็บ 1 ราย". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 14 October 2020.
  18. "คณะราษฎรเดินหน้าชุมนุมต่อวันที่ 4-สรุปบาดเจ็บ 7 คน". Thai PBS. 17 October 2020. สืบค้นเมื่อ 17 October 2020.
  19. 19.0 19.1 "เครือข่ายรามคำแหงฯ เข้าแจ้งความกลุ่มเสื้อเหลืองทำร้ายร่างกาย". Manager Online. 21 October 2020. สืบค้นเมื่อ 22 October 2020.
  20. 20.0 20.1 20.2 "Police vow to detain 3 protesters further". Bangkok Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 November 2020. สืบค้นเมื่อ 31 October 2020.
  21. 21.0 21.1 "เอราวัณ รายงานเหตุชุมนุมเจ็บ 5 ราย ส่ง รพ.และกลับบ้านได้แล้วทุกราย". มติชนออนไลน์. 8 November 2020. สืบค้นเมื่อ 8 November 2020.
  22. 22.0 22.1 Yuda, Masayuki (18 November 2020). "Thailand parliament weighs changing constitution as protests rage". Nikkei Asia. สืบค้นเมื่อ 18 November 2020.
  23. 23.0 23.1 "Protest Promotes a Diversity of Causes, From Feminism to LGBT". Khaosod English. 15 November 2020. สืบค้นเมื่อ 22 November 2020.
  24. 24.0 24.1 "เกิดเหตุชุลมุนหลังเกิดเสียงคล้ายปืน หลัง "ราษฎร" ยุติชุมนุม". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  25. ยกย่อง ‘ลุงไพโรจน์’ สู้เพื่อปชต.จนวาระสุดท้าย ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’ พรากชีวิตหน้าศาลอาญา
  26. สลด! 'ร.ต.อ.วิวัฒน์' เสียชีวิต ขณะปฏิบัติหน้าที่คุมม็อบ
  27. หมอทศพรเผย เยาวชนชายวัย 15 ถูกยิงหน้าสน.ดินแดง เสียชีวิตแล้ว หลังรักษาตัวกว่า 2 เดือน
  28. TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. มานะ หงษ์ทอง ชายวัย 64 ปี ซึ่งถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ศีรษะขณะเดินทางกลับแฟลตดินแดง ได้เสียชีวิตลงแล้ว. (twitter.com).สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2565
  29. "Police officer dies of heart attack in wake of weekend clashes (2021)". Thai Enquirer. 1 March 2021. สืบค้นเมื่อ 2 March 2021.
  30. อานนท์ นำภา: ศาลอนุมัติหมายจับ "ทนายอานนท์" หลังปราศรัยเรื่องสถาบันกษัตริย์
  31. จับแล้ว! 'ภาณุพงศ์ จาดนอก' กำลังถูกนำตัวไป​ สน.สำราญราษฎร์
  32. 32.0 32.1 Anti-Govt Protesters Detained, Given ‘Attitude Adjustment’ in Jungle
  33. "โดนแล้ว! ตำรวจบุกรวบ 'เพนกวิน' หลังถูกแจ้งจับ ผิดมาตรา116". Thai Post. สืบค้นเมื่อ 14 August 2020.
  34. "รวบ 'บารมี ชัยรัตน์' คดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก 18 ก.ค." VoiceTV. สืบค้นเมื่อ 19 August 2020.
  35. "หยุดไม่อยู่ แฟลชม็อบทุกวัน ตร.จับ 9 แกนปลดแอกส่งฝากขัง-ศาลให้ประกัน ตั้งเงื่อนไขห้ามผิดซ้ำ". มติชนออนไลน์. 21 August 2020. สืบค้นเมื่อ 21 August 2020.
  36. ""ทัตเทพ-ภานุมาศ" ได้รับการปล่อยตัวแล้ว นักวิชาการ-ส.ส. ช่วยประกัน". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 26 August 2020.
  37. "มีนาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มเกือบ 200 ราย ยอดพุ่งไปอย่างน้อย 581 คน ใน 268 คดี". TLHR. 6 April 2021. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
  38. 38.0 38.1 "Prayut Refuses To Resign, Police Crack Down on Protesters". Khaosod English. 16 October 2020. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  39. 39.0 39.1 "พรรคก้าวไกล เจรจา ผบช.น. เข้าพื้นที่ชุมนุม พาคนเจ็บออกจากม็อบ". ประชาชาติธุรกิจ. 16 October 2020. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  40. "รุ้ง-แอมเนสตี้ ยื่นเกือบ 3 หมื่นชื่อ ถึง "ประยุทธ์" หยุดละเมิดสิทธิผู้เห็นต่าง". ประชาชาติธุรกิจ. 1 November 2021. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021.
  41. สหรัฐฯภัยร้ายของไทย?? แฉพฤติกรรม “ทัศนัย” ม.เชียงใหม่ ยิ่งเห็นชัด “ม็อบสามกีบ” ทาสรับใช้ต่างชาติ!?!
  42. "เพจดัง"แฉเอกสาร “แอมเนสตี้” หนุน “ทุกม็อบ” ป่วน “เอเปก” แทรกแซง “กม.” ไทย “จรัล” ต้อนรับ “ธนาธร”
  43. Montesano, Michael John, III, 1961- editor. Chong, Terence, editor. Heng, Mark, editor. After the coup : the National Council for Peace and Order era and the future of Thailand. ISBN 978-981-4818-98-8. OCLC 1082521938. {{cite book}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  44. Kongkirati, Prajak; Kanchoochat, Veerayooth (2018). "The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand". TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia. 6 (2): 279–305. doi:10.1017/trn.2018.4. ISSN 2051-364X.
  45. McCargo, Duncan; T Alexander, Saowanee; Desatova, Petra (2016-12-31). "Ordering Peace: Thailand's 2016 Constitutional Referendum". Contemporary Southeast Asia. 39 (1): 65–95. doi:10.1355/cs39-1b. ISSN 0129-797X.
  46. Montesano, Michael J. (2019). "The Place of the Provinces in Thailand's Twenty-Year National Strategy: Toward Community Democracy in a Commercial Nation?" (PDF). ISEAS Perspective. 2019 (60): 1–11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-13. สืบค้นเมื่อ 2020-08-23.
  47. 47.0 47.1 47.2 47.3 Sawasdee, Siripan Nogsuan (2019-12-12). "Electoral integrity and the repercussions of institutional manipulations: The 2019 general election in Thailand". Asian Journal of Comparative Politics. 5 (1): 52–68. doi:10.1177/2057891119892321. ISSN 2057-8911.
  48. 48.0 48.1 48.2 48.3 ""ประชาชนปลดแอก" ประกาศจะไม่หยุดเคลื่อนไหวจนกว่า "อำนาจมืด" จะหมดไป". BBC ไทย. 16 August 2020. สืบค้นเมื่อ 16 August 2020.
  49. McCargo, Duncan (2019). "Southeast Asia's Troubling Elections: Democratic Demolition in Thailand". Journal of Democracy. 30 (4): 119–133. doi:10.1353/jod.2019.0056. ISSN 1086-3214.
  50. McCargo, Duncan; Alexander, Saowanee T. (2019). "Thailand's 2019 Elections: A State of Democratic Dictatorship?". Asia Policy. 26 (4): 89–106. doi:10.1353/asp.2019.0050. ISSN 1559-2960.
  51. McCARGO, DUNCAN (2019). "Anatomy: Future Backward". Contemporary Southeast Asia. 41 (2): 153–162. doi:10.2307/26798844. ISSN 0129-797X.
  52. News, A. B. C. "Court in Thailand orders popular opposition party dissolved". ABC News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-08-23. {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  53. "แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เพลิงลามทุ่ง" [Student flash mobs: sparks in pan or spreading fire?]. BBC Thai. 2020-02-28. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  54. การชุมนุมประท้วงของนักเรียนมัธยม นักศึกษา และคนหนุ่มคนสาว พ.ศ. 2563[ลิงก์เสีย]
  55. 'ประยุทธ์' จาก 'รัฐประหารทำไปก็ไม่จบ' 'ขอเวลาอีกไม่นาน' 'วันเดียวยังไม่อยากอยู่' 'มึงมาไล่ดูสิ' สู่วิกฤตครบ 8 ปี
  56. "Thai parliament approves king's constitutional changes request, likely delaying elections". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2017-01-13. สืบค้นเมื่อ 2020-08-23.
  57. โปรดเกล้าฯถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ 'พ.อ.พงศ์ภพ ทองอุไทย'
  58. โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ ถอนชื่อ ถอดยศทหาร และเรียกคืนเครื่องราชฯ นายทหารหลายคน
  59. โปรดเกล้าฯ ให้ปลดและไล่ออกอีกระลอก 6 ขรก. ในพระองค์ “ประพฤติชั่วร้ายแรง”
  60. โปรดเกล้าฯปลดขรก.ในพระองค์ฝ่ายทหาร ออกจากราชการ-ถอดออกจากยศทหาร
  61. พระราชโองการ ประกาศ ให้ปลดข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร โทษฐาน คบชู้
  62. โปรดเกล้าฯให้ปลด-ถอดออกจากยศทหาร ร้อยตรี นริศร มหันตระกูล กระทำผิดวินัย
  63. โปรดเกล้าฯ ถอดยศทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ฐานหย่อนยาน ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับยศตำแหน่ง
  64. ถอดเครื่องราชฯ พันเอก ชัยเมธี ภูบดีวโรชุพันธุ์ ประพฤติชั่วร้ายแรง-ทำสถาบันฯ เสื่อมเสีย
  65. จุมพล มั่นหมาย : ลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี หลังสารภาพคดีรุกป่าทับลาน
  66. ประกาศ เรื่องให้ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารพ้นจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์และยศทหาร ตลอดจนเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๕๕ ข. ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๒
  67. โปรดเกล้าฯ พระราชทานคืนยศ "สกลเขต" พร้อมเครื่องราชฯ ทุกชั้นตรา
  68. โปรดเกล้าฯ คืนยศ 3 ข้าราชการในพระองค์ ที่เพิ่งถูกปลด-ถอดยศ-ไล่ออกเมื่อเดือนที่แล้ว
  69. อ้างผิดราชสวัสดิ์เชิงชู้สาว ไล่ออก 2 มหาดเล็กห้องบรรทม พร้อมถอดยศทหาร โดยไม่ได้รับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ
  70. ฟ้าเดียวกัน 20/2 : ตุลาการในพระปรมาภิไธย
  71. สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 3 วาระรวด
  72. โปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ให้ดำรงตำแหน่งจำนวน 44 ราย​
  73. "Thai king takes control of five palace agencies". The Business Times (ภาษาอังกฤษ). 2017-05-02. สืบค้นเมื่อ 2020-08-23.
  74. สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ : โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นรองผู้อำนวยการ
  75. 2014 coup marks the highest number of lèse-majesté prisoners in Thai history. Prachatai.
  76. Wright, George; Praithongyaem, Issariya (2020-07-02). "The satirist who vanished in broad daylight". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2020-08-23.
  77. 77.0 77.1 "Facebook user behind viral 'lost faith' shirt committed to psychiatric hospital". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). 13 July 2020.
  78. Pulitzer, Greeley (2 April 2020). "National curfew announced. Takes effect tomorrow". The Thaiger.
  79. Abuza, Zachary (21 April 2020). "Explaining Successful (and Unsuccessful) COVID-19 Responses in Southeast Asia". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 10 June 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  80. Bello, Walden (3 June 2020). "How Thailand Contained COVID-19". Foreign Policy In Focus. สืบค้นเมื่อ 10 June 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  81. Paweewun, Oranan (16 April 2020). "IMF: Thai GDP down 6.7%". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 10 June 2020.
  82. Theparat, Chatrudee (7 April 2020). "Cabinet gives green light to B1.9tn stimulus". Bangkok Post.
  83. "โควิด-19: ผลการสืบสวนโรคพบผู้ที่ต้องเฝ้าระวังจากกรณีเด็กหญิงซูดานและทหารอียิปต์มีทั้งหมด 36 คน". BBC Thai. 2020-07-16. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  84. "ปชช.กังวลทหารอียิปต์-ครอบครัวซูดาน ทำ COVID-19 ระบาดใหม่". Thai PBS. 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  85. "หละหลวม ปล่อยทหารอียิปต์ติดโควิด เข้ามา ท่องเที่ยวระยองพังหนัก รอวันตาย". Thairath. 2020-07-15. สืบค้นเมื่อ 2020-07-14.
  86. "ท่องเที่ยวระยองพังพินาศ แห่ถอนจองโรงแรมรีสอร์ท90%". Dailynews. 2020-07-14. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  87. "โซเชียลเดือด ดันแฮชแท็ก #ตำรวจระยองอุ้มประชาชน ปม 2 วัยรุ่นชูป้ายไล่นายกฯ". Thairath. 2020-07-15. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  88. "Thailand's Future Forward Party Has the Support of Young Thais. A Court Could Disband It Entirely". Time (ภาษาอังกฤษ). 2020-01-20. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  89. "A Popular Thai Opposition Party Was Disbanded. What Happens Next?". CFR (ภาษาอังกฤษ). 2020-02-27. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  90. "Tจุดติด-ไม่ติด : แฮชแท็กและการชุมนุมประท้วงของนิสิตนักศึกษาบอกอะไรเราบ้าง". The Momentum Co. (ภาษาอังกฤษ). 2020-02-26. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  91. ถอดรหัส​แฮชแท็ก​ #เว้นเซเว่นทุก​Wednesday และ #pausemob prachatai.17 มีนาคม 2563. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563
  92. #saveโรม ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ หลังเดินหน้าตามปม 'วันเฉลิม-หมู่อาร์ม' prachatai.2020-06-19 สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563
  93. #saveทิวากร ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังมีข่าวผู้สวมเสื้อ 'เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว' ถูกจับเข้าจิตเวช prachatai.2020-07-14 สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563
  94. ส่องปรากฏการณ์ #กษัตริย์มีไว้ทำไม กับ 'แอคหลุม-มีม' เซฟโซนสีเทาของคนรุ่นใหม่ prachatai.2020-03-26 สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563
  95. ตร.พัทยา อ้าง พ.ร.บ.คอมฯ จับผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชี "นิรนาม_" 20 กุมภาพันธ์ 2563.สืบค้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563
  96. Bright Today (25 April 2020). "สนท. ชวนประท้วงรัฐบาลผ่านออนไลน์ พร้อมติด #MobFromHome". www.brighttv.co.th. สืบค้นเมื่อ 28 August 2020.
  97. กระปุก.คอม (25 April 2020). "โซเชียลไทยเดือด ผุด #MobFromHome ประท้วงรัฐบาล พุ่งเทรนด์อันดับ 1 ทวิตเตอร์". kapook.com. สืบค้นเมื่อ 28 August 2020.
  98. มติชน (27 April 2020). "หมอสุภัทรชวนติดแฮชแท็กต้าน CPTPP ร่วม Mob from Home นวัตกรรมประชาธิปไตยในยุคโควิด -19". www.matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 28 August 2020.
  99. สนุก.คอม (27 April 2020). ""ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า" ชวนชุมนุมออนไลน์ต้าน "CPTPP" หลังกลายเป็นประเด็นร้อน". www.sanook.com. สืบค้นเมื่อ 13 September 2020.
  100. สนุก.คอม (27 April 2020). "กระทรวงพาณิชย์ยอมถอย CPTPP ถอดพ้นวาระประชุมคณะรัฐมนตรี". www.sanook.com. สืบค้นเมื่อ 13 September 2020.
  101. ปมสั่งย้าย "หมอสุภัทร" ยังไม่จบเตรียมยื่นอุทธรณ์สำนักงาน กพ. ในอีก 30 วัน
  102. “หมอสุภัทร” รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ฐานหมิ่นประมาท นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
  103. "Anti-government rallies spreading across Thailand". Coconut Thailand (ภาษาอังกฤษ). 2020-07-20. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  104. "'เยาวชนปลดแอก' เปิดแถลงการณ์ข้อเรียกร้องฉบับเต็ม". Bangkok Biz News. 2020-07-18. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  105. "Thai protesters call for government to resign". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 18 July 2020. สืบค้นเมื่อ 20 July 2020.
  106. ""เยาวชนปลดแอก" ยุติการชุมนุมก่อนเที่ยงคืน อ้างความปลอดภัย สรุปบรรยากาศจากเริ่มจนจบ". BBC Thai. 18 July 2020. สืบค้นเมื่อ 20 July 2020.
  107. “ม็อบปลดแอก” ยุติชุมนุมหวั่นมือที่ 3 ลั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้น เผยแพร่: 19 ก.ค. 2563 05:19 โดย: ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  108. "ประท้วงดาวกระจายลามกว่า 20 จังหวัด เปิดไทม์ไลน์จุดเริ่มจาก 'เยาวชนปลดแอก'". The Bangkok Insight. 23 July 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  109. "4 มหาวิทยาลัยในโคราช นักเรียน ประชาชน แสดงพลังทวงคืนประชาธิปไตย". Thairath. 2020-07-24. สืบค้นเมื่อ 2020-07-26.
  110. ชาวไทยในต่างประเทศ ร่วมแสดงพลังเรียกร้องประชาธิปไตย "ขับไล่เผด็จการ"
  111. ""กลุ่มเสรีเทยพลัส" จัดกิจกรรมม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล". MGR Online. 25 July 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-07-26.
  112. "2 อาทิตย์หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก: เสนอหยุดคุกคาม กลับถูกคุกคามกว้างขวาง". ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (THAI LAWYERS FOR HUMAN RIGHTS). 31 July 2020. สืบค้นเมื่อ 14 August 2020.
  113. มติชน (1 August 2020). "เปิดตัว 'คณะประชาชนปลดแอก' ลั่น เยาวชนไม่อาจสู้ลำพัง เล็งนัดหมายเร็ว ๆ นี้". www.matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 3 August 2020.
  114. กรุงเทพธุรกิจ (3 August 2020). "กลุ่มมหานครฯ-มอกะเสด แต่งกายชุดพ่อมด-แม่มด ขับไล่อำนาจมืดจากคนที่คุณก็รู้ว่าใคร". www.bangkokbiznews.com. สืบค้นเมื่อ 3 August 2020.
  115. Demonstrators gather in Harry Potter-themed protest against Thai monarchy
  116. มติชน (3 August 2020). "สวมหน้ากาก 'บิ๊กป้อม' ร่วมม็อบ เจอเสกคาถาไล่ ปล่อยมุขฮา 'ไม่รู้ ๆ '". www.matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 3 August 2020.
  117. ด่วน! โดนจับแล้ว 'อานนท์ นำภา' ตามหมายจับศาลอาญา
  118. อานนท์ นำภา ส่งสารถึงผู้ชุมนุม "ต่อสู้ให้ถึงเส้นชัย" ด้านแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย เรียกร้อง "ถอนข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริง"
  119. "Rival protests raise fears of return to violence". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 11 August 2020.
  120. "คิดแต่ละเรื่อง! "อัษฎางค์" จวกยับ "เยาวชนปลดแอก" ยุ "ไม่รับปริญญา" "ปวิน" แอ่นรับสนับสนุนแคมเปญทันควัน". mgronline.com. 10 August 2020.
  121. เตือน!คนรุ่นใหม่ลุกฮือสู้เผด็จการ ล่า5หมื่นชื่อแก้รธน.60ตั้งส.ส.ร.
  122. "ม็อบนศ.ฮือต้าน"รัฐบาลลุงตู่"แน่น ม.ธรรมศาสตร์". posttoday.com. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
  123. Press, Associated (11 August 2020). "Student Protest at Thammasat the Largest Rally in Months". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 11 August 2020.[ลิงก์เสีย]
  124. "ประมวลชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 'เราไม่ต้องการปฏิรูปเราต้องการปฏิวัติ'". prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
  125. "Thailand protests: Risking it all to challenge the monarchy". BBC News. 14 August 2020.'revolutionary'
  126. "สำรวจแนวการชุมนุมประชาชนหนุน-ต้านรัฐบาล". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 18 August 2020.
  127. 127.0 127.1 127.2 "Thailand's youth demo evolves to largest protest since 2014 coup". Nikkei Asian Review. สืบค้นเมื่อ 18 August 2020.
  128. "ชาวไทย-ไต้หวัน-ฮ่องกง จัดชุมนุม #ไทเปจะไม่ทน จี้ รัฐบาลไทย หยุดคุกคามประชาชน". มติชนออนไลน์. 16 August 2020. สืบค้นเมื่อ 16 August 2020.
  129. "โรงเรียนทั่วประเทศเดือด ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว ไม่เอาเผด็จการ". ประชาชาติธุรกิจ. 17 August 2020. สืบค้นเมื่อ 17 August 2020.
  130. "เอาแล้ว! กลุ่มนักเรียนเลว นัดเป่านกหวีดไล่ รมว.ศึกษา ลั่นต้องปกป้องอนาคต". ข่าวสด. 18 August 2020. สืบค้นเมื่อ 19 August 2020.
  131. "Royalists rally to support monarchy". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-08-30.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  132. English, Khaosod (2020-08-31). "Royalists Slam 'Foreign Interference' in Major Counter-Rally". Khaosod English (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-08-31.
  133. "Students submit manifesto". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 27 August 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  134. "First ever dialogue on Thai monarchy arrives in Parliament's 'safe zone'". www.thaipbsworld.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-09-14.
  135. Sattaburut, Aekarach; Chetchotiros, Nattaya. "Govt pleads for charter support". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-09-24.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  136. "ปล่อยตัว ไผ่ ดาวดิน กับพวก ขอโทษสาดสีใส่ตำรวจ บอกเป็นราคาที่ต้องจ่าย". ไทยรัฐ. 28 August 2020. สืบค้นเมื่อ 28 August 2020.
  137. มติชน (9 September 2020). "รุ้ง-เพนกวิน ประกาศค้างคืน มธ.ท่าพระจันทร์ 19 ก.ย. เช้าเดินขบวนสู่ทำเนียบรัฐบาล". www.matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 13 September 2020.
  138. คล้องกุญแจ ปิดประตู ม.ธรรมศาสตร์ แล้ว จับตาความเคลื่อนไหวม็อบพรุ่งนี้ ไทยรัฐ. 18 September 2020. สืบค้นเมื่อวันที่19 September 2020
  139. พท. ตั้งเต้นท์เกาะสถานการณ์ชุมนุม 19 กย. พร้อมเตรียมเอกสารช่วยประกันตัวนิสิต-นศ. สยามรัฐ. สยามรัฐ. 18 September 2020. สืบค้นเมื่อวันที่19 September 2020
  140. 140.0 140.1 ชุมนุม 19 กันยา: มวลชนยึดสนามหลวงเป็นที่ชุมนุมได้สำเร็จ ตร. ตรึงกำลังห้ามเข้าใกล้เขตพระราชฐาน BBC News. 19 September 2020.สืบค้นเมื่อวันที่ 19 September 2020
  141. ม็อบเคลื่อนขบวนออกจาก'ธรรมศาสตร์' ดาหน้าบุกยึดท้องสนามหลวงแล้ว แนวหน้า. 19 September 2020. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 September 2020
  142. "Massive Crowd Gathers in Bangkok for Weekend of Pro-Democracy Protests". BenarNews (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-09-19.
  143. "Scenes From Thailand's Massive Protests Demanding Reform". Diplomat. สืบค้นเมื่อ 23 September 2020.
  144. "'ปรับแผน-เพิ่มกำลัง' รับมือชุมนุมวันนี้ ตร.ตรึง 1 หมื่นนาย ม็อบลั่นปิดเกมก่อนเที่ยง 20 ก.ย." Bangkokbiznews. สืบค้นเมื่อ 20 September 2020.
  145. "Thai activists challenge monarchy by laying plaque". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-09-20. สืบค้นเมื่อ 2020-09-20.
  146. "Protesters install 'new plaque' at Sanam Luang". Bangkok Post. 2020-09-20. สืบค้นเมื่อ 2020-09-20.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  147. 147.0 147.1 "Activists end rally after submitting demands". Bangkok Post. 2020-09-20. สืบค้นเมื่อ 2020-09-20.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  148. "Plaque installed by Thai protesters near palace removed". Al Jazeera. 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 2020-09-21.
  149. "Protests continue to target Thai monarchy". South China Morning Post. สืบค้นเมื่อ 21 September 2020.
  150. Reed, John. "#RepublicofThailand trends as protesters maintain push on monarchy". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 25 September 2020.
  151. "เปิดคำร้องคดี 10 สิงหา กับข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครองฯ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 29 September 2020.
  152. "Students protest against abuse in schools, call for Education Minister to resign". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.
  153. "Early rally site cleared, protesters arrested". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-10-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  154. Johnson, Panu Wongcha-um, Panarat Thepgumpanat, Kay (2020-10-13). "Thai protesters clash with police, call out as king's motorcade passes". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-10-13.
  155. "Anti-government protesters reach Government House, criticize monarchy". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-10-16.
  156. "Protesters gathering at Democracy Monument". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  157. "การ์ตูน" สาวลี้ภัยในเกาหลี โพสต์ลงกลุ่มผีน้อย ชวนไปม็อบในกรุงโซล
  158. Ashworth, Caitlin (2020-10-14). ""Elevated risk of unrest" after 21 activist arrests, UN department says". The Thaiger (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.
  159. "Arrests heighten rally concerns". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  160. 160.0 160.1 "PM ORDERS PROSECUTION OF PROTESTERS WHO 'BLOCKED ROYAL CONVOY'". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 14 October 2020.
  161. "ม็อบ3นิ้วเหิมเกริมหนักล้อมขบวนเสด็จ-ยึดทำเนียบฯไล่นายกฯ". Manager Online. 15 October 2020. สืบค้นเมื่อ 15 October 2020.
  162. "เอาแล้ว! 'ลุงกำนัน' เหลืออดม็อบคุกคามขบวนเสด็จ ชวนพี่น้องร่วมอุดมการณ์ปกป้องสถาบัน". Thai Post. สืบค้นเมื่อ 15 October 2020.
  163. "เกาะติด "คณะราษฎร" ชุมนุม 14 ตุลา "ราษฎรจะเดินนำ ที่ราชดำเนิน" - บีบีซีไทย". BBC Thai. สืบค้นเมื่อ 14 October 2020.
  164. ไทยรัฐ (October 15, 2020). "ราชกิจจาฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ". www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ October 15, 2020.
  165. ประชาชาติธุรกิจ (October 15, 2020). "ตั้ง 'กอร.ฉ.' คุมสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง จ่อประกาศเพิ่มจังหวัดอื่น". www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ October 27, 2020.
  166. The Bangkok Insight (October 15, 2020). "แฮชแท็ก #15ตุลาไปราชประสงค์ ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 สวนทางคำขู่ตำรวจ". www.thebangkokinsight.com. สืบค้นเมื่อ October 15, 2020.
  167. English, Khaosod (15 October 2020). "3 Senior Policemen Removed for Motorcade Bedlam". Khaosod English.
  168. "Prawit-led centre likely to handle situation". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-10-15.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  169. "'รังสิมันต์ โรม'โพสต์ภาพทหารเข้าประจำการรัฐสภาหวั่นคล้ายสถานการณ์ปี57". Siam Rath. 15 October 2020. สืบค้นเมื่อ 15 October 2020.
  170. "ฝ่ายค้านจี้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที เสนอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ". Thai Rath. 15 October 2020. สืบค้นเมื่อ 15 October 2020.
  171. 171.0 171.1 171.2 "Water cannon used on protesters". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  172. "Thai protests: Demonstrators gather again in Bangkok, defying crackdown". BBC News. 15 October 2020. สืบค้นเมื่อ 15 October 2020.
  173. "Protesters occupy Ratchaprasong intersection". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-10-15.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  174. Regan, Helen (October 16, 2020). "Two Thai protesters could face life imprisonment for violence against the Queen". CNN. สืบค้นเมื่อ 2020-10-16.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  175. ""ประยุทธ์" ถามกลับ ผมทำผิดอะไร ลั่นไม่ลาออก รับ มีแผนใช้เคอร์ฟิว แต่ยังไม่ใช้ตอนนี้". มติชนออนไลน์. 16 October 2020. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  176. "'Everyone Can Die Any Moment,' Outrage at Prayut's Protest Remark". Khaosod English. 16 October 2020. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  177. "Thai police resort to teargas, arrest warrants against protesters". Nikkei Asia. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  178. "นักศึกษาธรรมศาสตร์ จัดแฟลชม็อบ ประณามสลายการชุมนุม". ประชาชาติธุรกิจ. 16 October 2020. สืบค้นเมื่อ 17 October 2020.
  179. "นศ.ลุกฮือประณามรัฐ ต่อต้านใช้ความรุนแรง". Bangkokbiznews (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 17 October 2020.
  180. "นักศึกษา ม.ขอนแก่น รับไม่ได้ ลุกฮือจัดชุมนุม ประณามการกระทำจนท". ข่าวสด. 16 October 2020. สืบค้นเมื่อ 17 October 2020.
  181. "'หมอวรงค์'งัดภาพม็อบทำร้ายจนท.ด้วยคีมตัดเหล็กขนาดใหญ่ แฉขบวนการบิดเบือน". สยามรัฐ. 17 October 2020. สืบค้นเมื่อ 17 October 2020.
  182. "อัษฎางค์ เปิดประเด็น ม็อบมือเปล่าจริงหรือ ด่าสถาบันฯ กลางราชประสงค์...เรียกชุมนุมสงบจริงหรือ". ทีนิวส์. 17 October 2020. สืบค้นเมื่อ 17 October 2020.
  183. "ไขข้อสงสัย สลายม็อบ 'แยกปทุมวัน' ทำไมต้อง 'น้ำสีฟ้า' !?". ฺBangkokbiznews. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  184. "Police insist water cannons did not fire harmful chemicals". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  185. "Protesters pick 3 sites as mass transit shut down". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 17 October 2020.
  186. "ผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เริ่มวิจารณ์สถาบันฯ และรัฐบาล". BBC ไทย. 18 October 2020. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  187. "House mulls meet to end unrest". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-10-19.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  188. "เกาะติดการชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" เคลื่อนขบวนไปทำเนียบฯ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 October 2020.
  189. "ชุลมุน! เสื้อเหลืองป่วน ฝ่าแนวกั้น ตร. บุกขับไล่ เยาวชนราษฎร ออกจาก ม.รามคำแหง". มติชนออนไลน์. 21 October 2020. สืบค้นเมื่อ 21 October 2020.
  190. "ด่วนปะทะกันแล้ว!! ม็อบอาชีวะ-กลุ่มราษฏร ไล่หวดกันวุ่นหน้ารามคำแหงฯ". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 21 October 2020.
  191. "ม.รามเดือด กลุ่มปกป้องสถาบัน เผชิญหน้า-ปะทะ กลุ่มรามคำแหงปชต. ตร.ห้ามวุ่น". ข่าวสด. 21 October 2020. สืบค้นเมื่อ 21 October 2020.
  192. Paddock, Richard C.; Suhartono, Muktita (21 October 2020). "Thailand's Leader Offers End to Crackdown on Pro-Democracy Protesters". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 22 October 2020.
  193. "PM offers end to 'emergency'". Bangok Post. 22 October 2020. สืบค้นเมื่อ 22 October 2020.
  194. "State of emergency ends in Bangkok". Bangkok Post. 22 October 2020. สืบค้นเมื่อ 22 October 2020.
  195. Regan, Helen (22 October 2020). "Thailand's Prime Minister lifts state of emergency. Protesters give him three days to resign". CNN.com. สืบค้นเมื่อ 22 October 2020.
  196. "Protesters plan action after PM ignores deadline to quit". Bangkok Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 November 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-10-25.
  197. Prapart, Erich; Satrusayang, Cod (27 October 2020). "Student protest leaders do not trust the prime minister's offer to amend the constitution by December". Thai Enquirer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 October 2020. สืบค้นเมื่อ 27 October 2020.
  198. "Thai protesters shun Parliament, ask Germany to probe king". ChannelNewsAsia.com. 27 October 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 October 2020. สืบค้นเมื่อ 27 October 2020.
  199. Strangio, Sebastian (26 October 2020). "Thai Parliament Opens Special Session Over Anti-Government Protests". The Diplomat. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 October 2020. สืบค้นเมื่อ 27 October 2020.
  200. "Charter change boost". Bangkok Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 November 2020. สืบค้นเมื่อ 30 October 2020.
  201. ฝ่ายข่าว ช่อง 7 เอชดี (25 October 2020). "แกนนำกลุ่มราษฎร ประกาศยกระดับการชุมนุมเย็นวันนี้". news.ch7.com. สืบค้นเมื่อ 27 October 2020.
  202. ประชาไท (26 October 2020). "ประมวล #ม็อบ26ตุลา ถาม 4 ข้อสงสัยต่อสถานทูตเยอรมันเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์". prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 27 October 2020.
  203. Promchertchoo, Pichayada (29 October 2020). "Thai protesters stage 'people's runway' in downtown Bangkok against princess' fashion brand". ChannelNewsAsia.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-01. สืบค้นเมื่อ 30 October 2020.
  204. "Khana Ratsadon 2020 put on a mock 'Sirivannavari Fashion Show'". Thisrupt. 30 October 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-01. สืบค้นเมื่อ 30 October 2020.
  205. "Government to spend 29 billion baht on monarchy". Prechatai. 26 March 2020. สืบค้นเมื่อ 30 October 2020.
  206. "เกิดเหตุวุ่นวาย หลังเพนกวิน-ไมค์-รุ้ง ถูกอายัดตัวต่อ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 30 October 2020.
  207. "Outrage as Thailand bans Pornhub, other porn websites". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 3 November 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 November 2020. สืบค้นเมื่อ 5 November 2020.
  208. 208.0 208.1 208.2 "เปิดจดหมาย "ราษฎร" ถึงพระมหากษัตริย์". BBC ไทย. 8 November 2020. สืบค้นเมื่อ 8 November 2020.
  209. "ตำรวจขอโทษม็อบไม่ตั้งใจ มือลั่นเลยเปิดฉากฉีดน้ำ หมอเผยบาดเจ็บ 2 รถพยาบาลรับออกไปแล้ว". amarintv. สืบค้นเมื่อ 8 November 2020.
  210. "Projectile Thrown at Cops Was a Smoke Bomb, Activist Says". Khaosod English. 9 November 2020. สืบค้นเมื่อ 9 November 2020.
  211. "วอร์รูมนายกฯ ประเมินม็อบทั่วไทย ไม่เกิน 2 หมื่น รอแผ่วลง หวดกลับแน่!". ข่าวสด. 11 November 2020. สืบค้นเมื่อ 11 November 2020.
  212. Setboonsarng, Chayut; Thepgumpanat, Panarat (17 November 2020). "At least 55 hurt in Thailand's most violent protests since new movement emerged". Reuters. สืบค้นเมื่อ 18 November 2020.
  213. Ngamham, Wassayos (18 November 2020). "Pro-monarchy supporter caught with pistol, bullets at rally site". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 18 November 2020.
  214. "เปิดคุณสมบัติสารเคมี 5 ตัวในน้ำสีม่วงที่ฉีดใส่ผู้ชุมนุม ไม่ถึงตายแต่อาการหนัก". Kom Chad Luek. 21 November 2020.
  215. Yuda, Masayuki (18 November 2020). "Thailand parliament discards most constitutional reform ideas". Nikkei Asia. สืบค้นเมื่อ 20 November 2020.
  216. "PM thanks volunteers for graffiti cleanup after huge anti-government protest". The Thaiger (ภาษาอังกฤษ). 21 November 2020. สืบค้นเมื่อ 22 November 2020.
  217. ""นักเรียนเลว" จัดชุมนุม "บ๊ายบายไดโนเสาร์" ไม่สนหมายเรียก". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  218. "ส.ว.คนดังไม่ปักใจเชื่อ จี้สอบม็อบชูป้ายถูกครูทำอนาจาร 'สุวินัย' เชื่อ-เห็นใจ แผลในใจน้อง". มติชนออนไลน์. 21 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  219. "เปิดวาร์ปสาวชุดนักเรียนถือป้ายถูกครูทำอนาจารกับสารพัดชุดคอสเพลย์สุดแซ่บ". ผู้จัดการออนไลน์ (ภาษาอังกฤษ). 21 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  220. "ล้อมลวดหนาม'สนง.ทรัพย์สินฯ' ตั้งป้าย'เขตพระราชฐาน'". เดลินิวส์. 23 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  221. "เปิดรายชื่อ "12 แกนนำ" ตำรวจออกหมายเรียกคดี มาตรา 112". ประชาชาติธุรกิจ. 24 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  222. "SCB: กลุ่มราษฎรเปลี่ยนที่ชุมนุม 25 พ.ย. จากสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นสำนักงานใหญ่ไทยพาณิชย์". บีบีซีไทย. 24 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  223. "เริ่มแล้ว ม็อบคณะราษฎร รวมตัวกันเต็มพื้นที่หน้า SCB สำนักงานใหญ่". คมชัดลึก. 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  224. "ชุมนุม 25 พ.ย.: อานนท์ประกาศล่ารายชื่อเสนอ กม. "ทวงคืนทรัพย์สินที่ควรเป็นของราษฎร" ด้าน ส. ศิวรักษ์ ชี้ "ประยุทธ์รังแกพระเจ้าแผ่นดิน"". BBC ไทย. 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 26 November 2020.
  225. "เซอร์ไพรส์! "ส.ศิวรักษ์" โผล่ร่วมชุมนุม ปราศัยโจมตี "บิ๊กตู่" ใช้ ม.112 ขัดพระบรมราชโองการ". พีพีทีวี. 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  226. ""ม็อบราษฎร" เล็งจัดชุมนุมใหญ่แบบไม่ค้างคืน 5 วันติด". ผู้จัดการออนไลน์. 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  227. ""บิ๊กตู่" ยัน ไม่เคยคิดใช้กฎอัยการศึก ขู่ ทำผิดกฎหมายดำเนินการแน่ (คลิป)". ไทยรัฐ. 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  228. "กระสุนเข้าจุดสำคัญ! "นพ.ทศพร"เผยอาการการ์ดอาชีวะโดนยิงร่วง แพทย์ต้องผ่าตัดด่วน". ข่าวสด. 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  229. "ฮือรุมจับมือยิงใส่ม็อบ! การ์ดอาชีวะโดนท้องเจ็บ อีกคนโผล่ปาบึ้มสนั่นวิ่งแหกวงล้อมหนีรอด". ข่าวสด. 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  230. 230.0 230.1 "เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเหตุรุนแรงหลังการชุมนุม "ราษฎร"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 26 November 2020.
  231. "เกมตื้น ๆ 'ปารีณา' ชี้เปรี้ยง 3 นิ้วยิงกันเอง หวังสร้างสถานการณ์". Thai Post. สืบค้นเมื่อ 26 November 2020.
  232. 232.0 232.1 "ชุมนุม 27 พ.ย.: แนวร่วม "ราษฎร" เริ่มกิจกรรม "ซ้อมต้านรัฐประหาร"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 27 November 2020.
  233. ""เพนกวิน" ประกาศชัยชนะนำม็อบถึงราบ 11 - อ่านแถลงการณ์ถ่ายโอนกำลังทหารคืนสังกัด". สนุก.คอม. 29 พฤศจิกายน 2563. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  234. ""นักเรียนเลว-ภาคีนักเรียน KKC ชวนแต่งไปรเวท 1 ธ.ค. ท้ากฎระเบียบล้าหลัง". สนุก.คอม. 1 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  235. "ไบร์ท ชินวัตร เผยเตรียมยกระดับม็อบราษฎร หลัง "ประยุทธ์" ยังเป็นนายกฯ". ไทยรัฐ. 2 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  236. "ครูใหญ่ อรรถพล​ บัวพัฒน์​ ทุบศาลพระภูมิ ที่ชุมนุมห้าแยกลาดพร้าว". คมชัดลึก. 2 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: zero width space character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 15 (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  237. ล็อกโตโต้ขายกุ้งสนามหลวง คอมแบตถีบหน้าการ์ดหญิง
  238. "ม็อบตื่น! เสียงดังคล้ายระเบิดกลางดึก การ์ดแห่เก็บหลักฐาน ขอมวลชนกลับมาร่วมสนุก". มติชนออนไลน์. 31 December 2020. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  239. "WeVo เร่งตำรวจจับคนปาระเบิด หลังไร้ความคืบหน้ามา 7 วัน หวังไม่ให้เกิดระเบิดครั้งที่ 3". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  240. "Law and the virus fail to halt Thailand's 'guerrilla' protest movement". Thai PBS World. สืบค้นเมื่อ 15 January 2021.
  241. "เพนกวิน-รุ่ง นำมวลชนชุมนุมหน้าสภ.คลองหลวง เหตุ 'นิว มธ.' ถูกจับคดี112". Bangkokbiznews. สืบค้นเมื่อ 15 January 2021.
  242. "Scuffles Break Out as Thai Protesters Flout Virus Rules to Protest | Voice of America - English". VOA (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 18 January 2021.
  243. "'Kidnapped' Free Guard found". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 18 January 2021.
  244. "Mall security guard slaps activist during symbolic action". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). 21 January 2021.
  245. "Iconsiam 'sorry' for guard's assault on student protester". nationthailand (ภาษาอังกฤษ). 20 January 2021.
  246. "สั่งฟ้อง4แกนนำ'ม็อบราษฎร' ผิดม.112+อีก10ข้อหา!". เดลินิวส์. 2021-02-09. สืบค้นเมื่อ 2021-02-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  247. "ส่งตัวเข้าเรือนจำ! ศาลไม่ให้ประกัน4แกนนำ'ม็อบราษฎร'". เดลินิวส์. 2021-02-09. สืบค้นเมื่อ 2021-02-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  248. "แน่น!ม็อบตีหม้อไล่เผด็จการ ตร.ตรึงกำลัง-รถน้ำพร้อม". เดลินิวส์. 2021-02-10. สืบค้นเมื่อ 2021-02-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  249. "รานงาน : บทบาท ราษฎร 'ตีหม้อ' ไล่ 'เผด็จการ' #ม็อบ10กุมภา". มติชน. 2021-02-10. สืบค้นเมื่อ 2021-02-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  250. "#ม็อบ10กุมภา เคลื่อนขบวน! เป้าหมาย สน.ปทุมวัน หลังตำรวจรวบผู้ชุมนุม 10 คน". สนุก.คอม. 2021-02-10. สืบค้นเมื่อ 2021-02-13.
  251. ""รุ้ง" นำม็อบราษฎรลงถนน มุ่งหน้า สน.ปทุมวัน หลังผู้ชุมนุมโดนรวบ". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-02-10. สืบค้นเมื่อ 2021-02-13.
  252. "ม็อบราษฎร ขีดเส้นตำรวจ สน.ปทุมวัน ปล่อยตัวผู้ชุมนุม ก่อน 20.30 น. ขู่บุกโรงพัก". ไทยรัฐ. 2021-02-10. สืบค้นเมื่อ 2021-02-13.
  253. "เกิดเสียงดังคล้ายประทัด บริเวณแนวกั้นตำรวจควบคุมฝูงชน". ไทยรัฐ. 2021-02-10. สืบค้นเมื่อ 2021-02-13.
  254. "#ม็อบ10กุมภา เกิดเสียงดังคล้ายระเบิดหลัง สน.ปทุมวัน". ไทยพีบีเอส. 2021-02-11. สืบค้นเมื่อ 2021-04-17.
  255. ""รุ้ง" ปนัสยา ประกาศยุติชุมนุม หน้า สน.ปทุมวัน แย้มมีซักฟอกรบ.นอกสภา". ไทยรัฐ. 2021-02-10. สืบค้นเมื่อ 2021-02-13.
  256. "Cops Say They Don't Use Tear Gas During Clash at Police Station". Khaosod English. 12 February 2021. สืบค้นเมื่อ 14 February 2021.
  257. "First Major Rally in Months Saw 10 Protesters Briefly Detained". Khaosod English. 11 February 2021. สืบค้นเมื่อ 14 February 2021.
  258. 258.0 258.1 258.2 "Police and protesters face off again". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 14 February 2021.
  259. "เปิด 11 รายชื่อ ถูกรวบคาม็อบ #13กุมภาฯ". มติชนออนไลน์. 13 February 2021. สืบค้นเมื่อ 14 February 2021.
  260. "การ์ดอาชีวะถูกยิง-มวลชนล้อม 7-11 จับมือปืนส่งตำรวจได้ 1 คน". มติชนออนไลน์. 13 February 2021. สืบค้นเมื่อ 14 February 2021.
  261. "#ตำรวจกระทืบหมอ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เช้านี้ หลัง ชาวเน็ตแชร์คลิป ทีมแพทย์โดนล้อม". มติชนออนไลน์. 14 February 2021. สืบค้นเมื่อ 14 February 2021.
  262. "'นครบาล' ขีดเส้น 'Mob Fest' 4 ทุ่มยุติชุมนุมหน้าสภา". กรุงเทพธุรกิจ. 2021-02-19. สืบค้นเมื่อ 2021-02-20.
  263. "เริ่มแล้ว 'ม็อบ' ราษฎรจัดซักฟอก 'รัฐบาล-ประยุทธ์'". กรุงเทพธุรกิจ. 2021-02-20. สืบค้นเมื่อ 2021-02-20.
  264. "#ม็อบ23กุมภา เริ่มลงถนนแยกราชประสงค์ ชูธงชุมนุมเพื่อตำรวจ ขณะตำรวจเตรียมรถน้ำสกัด". สนุก.คอม. 2021-02-23. สืบค้นเมื่อ 2021-02-23.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  265. "เยาวชนปลดแอก เปิดตัว REDEM ช่องทางออกแบบการเคลื่อนไหว บันไดสู่ ปชต". มติชน. 2021-02-24. สืบค้นเมื่อ 2021-02-28.
  266. "มีเสียงดังคล้ายปืนขณะเกิดเหตุชุลมุนบริเวณด่านเก็บเงินทางด่วนดินแดง". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 1 March 2021.
  267. "มวลชนทยอยรวมตัวอนุสาวรีย์ชัยฯ ก่อนเดินไปบ้านพักนายก "ประยุทธ์"". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-02-28. สืบค้นเมื่อ 2021-02-28.
  268. "เยาวชนปลดแอก เปิดมติ 'REDEM' โหวตไป 'บ้านพักหลวงประยุทธ์' 28 ก.พ.นี้". ประชาไท. 2021-02-26. สืบค้นเมื่อ 2021-03-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  269. 269.0 269.1 "Activists Weigh on 'Leaderless' Protest Tactic After Night of Clashes". Khaosod English. 1 March 2021. สืบค้นเมื่อ 1 March 2021.
  270. "นอนคุกยาว! ศาลไม่ให้ประกันตัว 5 ผู้ต้องหาทุบรถ-ชิงตัว 'เพนกวิน-ไมค์'". Thai Post. สืบค้นเมื่อ 20 April 2021.
  271. "ในหลวง พระราชินี" พระราชทานพวงมาลา น้ำหลวงอาบศพ ร.ต.อ.วิวัฒน์ เสริฐสนิท
  272. "แอมมี่ ไชยอมร ยอมรับเป็นมือเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรม". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  273. "เปิดเหตุผลศาล ทำไมถึงไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำ "ราษฎร"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  274. "19.00 น. 'รีเด็ม' เผาขยะหน้าศาลอาญา ตะโกนไล่ประยุทธ์กึกก้อง". มติชน. 2021-03-06. สืบค้นเมื่อ 2021-03-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  275. Sriroengla, Pafun (2021-03-06). "กลุ่ม REDEM ยุติชุมนุมหน้าศาลอาญา ไม่พบความวุ่นวาย-รุนแรง". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2021-03-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  276. "'ไผ่ ดาวดิน' โพสต์ภาพรองเท้า เตรียมร่วมกิจกรรม 'เดินทะลุฟ้า' 247.5 กิโลเมตร จากโคราช ถึงราชดำเนิน". มติชน. 2021-02-15. สืบค้นเมื่อ 2021-03-15.
  277. "เริ่มแล้ว! เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจประชาชน "ไผ่ ดาวดิน" เดินนำขบวนจากโคราชเข้ากรุงเทพฯ". ผู้จัดการออนไลน์. 2021-02-16. สืบค้นเมื่อ 2021-03-15.
  278. "เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบราษฎร เดินทะลุฟ้า 7 มี.ค.64". ฐานเศรษฐกิจ. 2021-03-07. สืบค้นเมื่อ 2021-03-15.
  279. "ตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าเผชิญหน้าทำเนียบ เรียกร้อง 4 ข้อ". ไทยรัฐ. 2021-03-14. สืบค้นเมื่อ 2021-03-15.
  280. "ม็อบเดินทะลุฟ้า V.2 ถึงทำเนียบฯ ประกาศตั้งหมู่บ้าน ย้ำ 4 ข้อเรียกร้อง". ไทยรัฐ. 2021-03-13. สืบค้นเมื่อ 2021-03-15.
  281. "อธิบดีราชทัณฑ์นำทีมแถลงซ้ำ กรณีตรวจโควิด 4 แกนนำ "ราษฎร" กลางดึก". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  282. "มติรัฐสภา โหวตคว่ำวาระสาม จบแล้วแก้ไขรธน. ได้เสียงส.ว.แค่ 2 คน". มติชนออนไลน์. 17 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  283. ""วิษณุ"ส่งซิก แก้รธน.ล่ม". สยามรัฐ. 17 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  284. "Pheu Thai urges partial amendment". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  285. "Thai Police Use Tear Gas, Rubber Bullets to Break Up Protest | Voice of America - English". VOA (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 March 2021.
  286. 286.0 286.1 "ตร. อ้างความรุนแรงเกิดจากผู้ชุมนุมเป็นหลัก ยืนยันว่าใช้มาตรการที่ "ได้รับการยอมรับในระดับสากล"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 March 2021.
  287. "ตร. ยิงกระสุนยาง-ใช้แก๊สน้ำตา-เดินหน้าจับผู้ชุมนุม REDEM". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 March 2021.
  288. 288.0 288.1 "Police disperse Thai protesters demanding monarchy reform". Aljazeera (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 March 2021.
  289. "แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ปะทะม็อบ เผาแยกคอกวัว "รีเดม" บุกแตกหักรื้อคอนเทนเนอร์ (คลิป)". ไทยรัฐ. 21 March 2021. สืบค้นเมื่อ 21 March 2021.
  290. "ผู้ชุมนุม REDEM เผยนาทีถูกชายฉกรรจ์ตามยิง เพื่อนอีกคนยังอยู่ไอซียูอาจเดินไม่ได้ตลอดชีวิต". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 23 March 2021.
  291. "สรุปผู้บาดเจ็บ เหตุปะทะ ม็อบ 20 มีนา ส่ง รพ.33 ราย จับผู้ชุมนุม 28 ราย". ไทยรัฐ. 21 March 2021. สืบค้นเมื่อ 21 March 2021.
  292. "นายกฯ ห่วงสื่อไม่ปลอดภัยในปฏิบัติการสลายชุมนุม แนะ "ออกไปถ่ายข้าง ๆ โน่น"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  293. "ม็อบ'ทอน'เถื่อน! ชุมนุมด้วยระเบิดปิงปองพัง'พระบรมฉายาลักษณ์'". Thai Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 March 2021.
  294. "เดือด! หนุ่มชู 3 นิ้วใกล้กลุ่มปกป้องสถาบัน โดนทำร้ายต่อหน้าตำรวจ". ข่าวสด. 21 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  295. "ด่วน! 'ม็อบ' ประกาศนัดชุมนุม 'ราชประสงค์' 5 โมงเย็น พร้อมเปิดตัว 3 นักปราศรัยวันนี้". กรุงเทพธุรกิจ. 2021-03-24. สืบค้นเมื่อ 2021-03-24.
  296. "ตำรวจรับมือ "ม็อบ 24 มีนา" นัดชุมนุมแนวรถไฟฟ้า BTS เย็นนี้". ฐานเศรษฐกิจ. 2021-03-24. สืบค้นเมื่อ 2021-03-24.
  297. "#ม็อบ24มีนา: จุดเริ่มต้นการชุมนุมระลอกใหม่ 2564 ที่แยกราชประสงค์". ไทยรัฐ. 2021-03-24. สืบค้นเมื่อ 2021-03-26.
  298. "คฝ.บุกสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าแต่เช้ามืด จี้เก็บของ 3 นาที มัดมือ 'ยาใจ' รวบตัวกว่าครึ่งร้อย". มติชน. 2021-03-28. สืบค้นเมื่อ 2021-03-28.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  299. "ด่วน ! นัดระดมมวลชนหน้าทำเนียบฯบ่ายสามโมง ทวงคืน "หมู่บ้านทะลุฟ้า" ประณามจับกุมไม่เป็นธรรม". สยามรัฐ. 2021-03-28. สืบค้นเมื่อ 2021-03-28.
  300. "คนเดือนตุลาเปิดตัวกลุ่ม "OCTDEM" ถอดบทเรียน 6 ตุลา เรียกร้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังในคดีการเมือง". ข่าวสด. 2 April 2021. สืบค้นเมื่อ 5 April 2021.
  301. "'พลังคลับ' ชวนร่วม M.O.B Aid: Free Concert Live on Clubhouse เริ่ม 1 ทุ่ม 3 เม.ย." VoiceTV. สืบค้นเมื่อ 5 April 2021.
  302. "คนเสื้อแดง ทยอยร่วมม็อบ "จตุพร" ลั่น เป้าหมายหลักมุ่งไล่ประยุทธ์". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-04-04. สืบค้นเมื่อ 2021-04-05.
  303. "ฤกษ์ 444 จตุพรไล่ตู่ รวมพลหลากสี ส่วนใหญ่สูงวัย งดแตะสถาบัน". ไทยรัฐ. 2021-04-05. สืบค้นเมื่อ 2021-04-05.
  304. ""ม็อบ 4 เมษา" แยกกันเดิน ร่วมกันตี "นปช." แท็กทีม "ม็อบ 3 นิ้ว" จริงหรือ?". ไทยรัฐ. 3 April 2021. สืบค้นเมื่อ 5 April 2021.
  305. "สารพัดม็อบ ยึดฟุตปาท "ราชดำเนิน" จัดรำลึก เหตุสลายการชุมนุม 10 เมษา 53". ไทยรัฐ. 10 April 2021. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
  306. "10 เมษา "เต้น" มาแล้ว หลัง "ตู่" หลบฉาก". คมชัดลึกออนไลน์. 9 April 2021. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
  307. ""REDEM" ประกาศเลื่อนจัดการชุมนุมไม่มีกำหนด เหตุโควิด-19 ระบาดหนัก". ไทยรัฐ. 2021-04-16. สืบค้นเมื่อ 2021-05-02.
  308. "ตำรวจจับ "บาส มงคล" ข้อหา ม.112-พ.ร.บ.คอมพ์ ขณะอดอาหารหน้าศาลอาญา". ไทยรัฐ. 14 April 2021. สืบค้นเมื่อ 14 April 2021.
  309. "7 activists denied bail once again; student hunger striker in declining health". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). 29 April 2021.
  310. "คาราวาน REDEM ประจานรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้ไม่ให้สิทธิประกันตัวนักโทษ ม.112". ประชาไท. 2021-05-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-02.
  311. เหิมหนัก! 'ม็อบรีเด็ม'ปามะเขือเทศ-ไข่ใส่พระบรมฉายาลักษณ์-ป้ายสำนักงานศาล
  312. "ศูนย์ทนายฯ เผยมีผู้ชุมนุมหน้าศาลอาญาถูกจับกุม 4 ราย ตำรวจเตรียมรวบรวมหลักฐานออกหมายจับย้อนหลัง". thestandard. 2021-05-03. สืบค้นเมื่อ 2021-05-03.
  313. "ศาลให้ประกันตัวอานนท์-ภาณุพงศ์-ชูเกียรติ แกนนำและแนวร่วมกลุ่ม "ราษฎร"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 1 June 2021.
  314. "รวมกรณี 7 'เยาวชน' ถูกดำเนินคดี ม.112 จากการแสดงออกทางการเมือง ระหว่าง ต.ค. 63-พ.ค. 64". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 1 June 2021.
  315. "ม็อบกระดาษจี้ 'ยุบสภา' โผล่อนุสาวรีย์ ปชต. หลัง 'เด็มโฮป' เปิดแคมเปญหลายจุดวันนี้". มติชน. 2021-06-03. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
  316. รวมจุดชุมนุม “ม็อบ 24 มิถุนา” เคลื่อนไหวทั่วประเทศ จับตามติร่างรัฐธรรมนูญ ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2564
  317. “เพนกวิน” นำม็อบ 2 กรกฎา ไปทำเนียบ เปิดตลาดขายของพร้อมไล่ “ประยุทธ์” ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2564
  318. ม็อบ 18 กรกฎา เคลื่อนเท้า-ล้อหมุนแล้ว ย้ำ “ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอด”ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2564
  319. คาร์ม็อบ 1 ส.ค. สมบัติทัวร์ บก.ลายจุด ประกาศยุติชุมนุม ไล่ประยุทธ์ ประชาชาติธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2564
  320. "'ม็อบ7สิงหา'โดนเท! ไทยไม่ทน-อาชีวะ-เต้น ประกาศไม่เข้าร่วม". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 7 August 2021.
  321. "ด่วน! 'เพนกวิน' โพสต์สั่งลา 3 นิ้ว ตร.ดักรอหน้าบ้านแล้ว คงไปไม่ถึงม็อบ 7 สิงหา". Thai Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 7 August 2021.
  322. "วาง 'ตู้คอนเทนเนอร์-ถังน้ำมัน' รอบสนามหลวง สกัด 'ม็อบ 7 สิงหา'". VoiceTV. สืบค้นเมื่อ 7 August 2021.
  323. "เยาวชนปลดแอก ประกาศแกงหม้อใหญ่ เปลี่ยนจุดหมายม็อบ 7 สิงหาคม ไปทำเนียบฯ (คลิป)". ไทยรัฐ. 7 August 2021. สืบค้นเมื่อ 7 August 2021.
  324. ""ม็อบ7สิงหา" ประกาศยุติการชุมนุม หลังเผารถตำรวจวอด". คมชัดลึกออนไลน์. 7 August 2021. สืบค้นเมื่อ 7 August 2021.
  325. "สรุปชุมนุม #ม็อบ7สิงหา แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และปฏิบัติการสลายการชุมนุมตลอดทั้งวัน". thestandard. 2021-08-11. สืบค้นเมื่อ 2021-08-11.
  326. "แม่เพนกวิน ร้องไห้ตะโกน "อย่าทำร้ายเด็ก ช่วยทุกคนด้วย" หลังจนท. คุมตัวไปฝากขัง". ข่าวสด. 9 August 2021. สืบค้นเมื่อ 11 August 2021.
  327. "เผย ผบช.น.เพิ่งรู้จากสื่อ คลิป คฝ.พูด "ขอพวกพี่สนุกหน่อย มันเต็มที่แล้ว"". ไทยรัฐ. 11 August 2021. สืบค้นเมื่อ 11 August 2021.
  328. "Student movement organizes Car Mob demanding political and monarchy reform". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). 11 August 2021.
  329. "Student activist arrested, denied bail on royal defamation charge". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). 7 October 2021.
  330. "คาร์ม็อบ" ขับรถยนต์ชนรถถัง "สมบัติ" ชี้ 19 ก.ย. ประตูสู่ 15 ปี รัฐประหาร ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564
  331. คาร์ม็อบ 19 กันยา ณัฐวุฒิ รำลึก “นวมทอง ไพรวัลย์” ขับรถยนต์ชนรถถัง ประชาชาติธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564
  332. "หมอทศพรเผย เยาวชนชายวัย15 ถูกยิงหน้าสน.ดินแดง เสียชีวิตแล้ว หลังรักษาตัวกว่า2เดือน". ข่าวสด. 28 October 2021. สืบค้นเมื่อ 28 October 2021.
  333. "ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ชุมนุม 10 สิงหา 63 "ล้มล้างการปกครอง"". BBC News ไทย. 2021-11-10.
  334. "ด่วน! "ม็อบ 14 พฤศจิกา" ย้ายไปชุมนุม "แยกปทุมวัน" เหตุ ตร.ปิดกั้นเส้นทาง". www.thairath.co.th. 2021-11-14.
  335. ขบวนเสด็จ: เกิดอะไรขึ้นที่วงเวียนใหญ่ สรุปเหตุการณ์นักกิจกรรมชูป้าย ยกเลิก 112-หญิงวิ่งประชิดรถพระที่นั่ง
  336. "ทนายความเผย ศาลอนุญาตให้ประกัน เพนกวิน-อานนท์ แล้ว แต่หลักทรัพย์ไม่เพียงพอวางประกัน". The Standard. 2022-02-22. สืบค้นเมื่อ 2022-02-23.
  337. "3 ชม. พุ่ง 10 ล้าน! แห่โอนช่วย อานนท์-เพนกวิน ทะลักกองทุนราษฎรประสงค์". มติชน. 2022-02-22. สืบค้นเมื่อ 2022-02-23.
  338. "ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ประกันตัว อานนท์-เพนกวิน แม้คดีอื่น ๆ ได้รับการประกันตัวหมดแล้ว". The Standard. 2022-02-23. สืบค้นเมื่อ 2022-02-23.
  339. "เปิดเหตุผลศาลอาญากรุงเทพใต้ ไม่ให้ประกันตัว อานนท์-เพนกวิน ชี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้ส่งตารางเรียนเพิ่ม". The Standard. 2022-02-23. สืบค้นเมื่อ 2022-02-23.
  340. ""เพนกวิน" ได้ประกันตัว พร้อม 6 เงื่อนไข ให้โอกาสออกไปเรียน 3 เดือน". ไทยรัฐ. 2022-02-24. สืบค้นเมื่อ 2022-02-25.
  341. ด่วน! จุฬาฯ สั่งปลดฟ้าผ่า 'เนติวิทย์' จาก 'นายกฯ อบจ.' อ้างเหตุเชิญ 'เพนกวิน' ไลฟ์
  342. Welle (www.dw.com), Deutsche. "Thailand: What happened to mass anti-government protests? | DW | 19.05.2022". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-05-24.
  343. Quinley, Caleb. "'Shattering the palace': Young women take up Thailand reform call". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-05-24.
  344. อนุสาวรีย์ชัยฯวุ่น! ม็อบ 2 กลุ่มหวิดปะทะ ตร.ตรึงกำลัง ศปปส.เปิด ‘หนักแผ่นดิน’ สนั่น
  345. "ม็อบเดินไล่ตู่ : เริ่มตั้งขบวนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รอง ผบช.น. ลงพื้นที่ดูแล". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-06-11. สืบค้นเมื่อ 2022-06-12.
  346. "กลุ่มผู้ชุมนุม ก่อเหตุวุ่นวายบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ก่อนยุติลงในเวลา 19.30 น. โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. 2022-06-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-12. สืบค้นเมื่อ 2022-06-12.
  347. "'ชัชชาติ' ตรวจความพร้อมลานคนเมือง หลังเปิดพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ". ไทยพีบีเอส. 24 มิถุนายน 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2022.
  348. "ม็อบราษฎร แห่หมุดฉลอง 90 ปี ประเดิมลานคนเมือง 'ส.ศิวลักษณ์' ไล่ 'บิ๊กตู่'". ไทยรัฐ. 24 มิถุนายน 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2022.
  349. คชรักษ์ แก้วสุราช; สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์. "'ปลุกผู้คน ปลูกฝันสู่วันของเรา' บันทึกประวัติศาสตร์เพลงการเมืองคนธรรมดาของวงสามัญชน". adaymagazine. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2022.
  350. "แร็ปต้านเผด็จการ: รัฐบาลไทยสั่งยูทิวบ์ระงับการเข้าถึงเอ็มวีเพลง 'ปฏิรูป' ของศิลปินกลุ่ม RAD". บีบีซีไทย. 5 มกราคม 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มกราคม 2021.
  351. "แอมมี่ ไชยอมร : ครึ่งชีวิตที่ผ่านในวงการบันเทิง และที่เหลือบนถนนศิลปะการเมือง". ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน. 14 ตุลาคม 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 ตุลาคม 2022.
  352. "เช็คไลน์อัพศิลปิน DEMO EXPO เสพศิลป์ ฟินดนตรี". สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. 6 สิงหาคม 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2022 – โดยทาง LINE TODAY.
  353. "วัยรุ่นปชต.แห่เสพศิลป์งาน 'DEMO EXPO' แน่นลานคนเมือง เว้น 31 ที่นั่ง หวัง 'ผตห.การเมือง' มาร่วมจอย". มติชน. 20 สิงหาคม 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2022.
  354. 354.0 354.1 354.2 "Thai Protest Leader: 'Our Demands Are Supremely Clear' | Voice of America - English". VOA News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 30 October 2020.
  355. Atiya, Achakulwisut. "Crackdown on student protest is a wasted effort". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-09-15.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  356. "From Hamtaro to Drag Queen: Pop Cultures as the New Means for Thai Political Movement". workpointTODAY. 27 July 2020. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  357. "Opinion: Student Protest Leaders Lack a Coherent Strategy". Khaosod English. 13 August 2020. สืบค้นเมื่อ 24 August 2020.
  358. English, Khaosod (20 October 2020). "Schoolgirls Emerge as Leaders of Leaderless Protests in Bangkok". Khaosod English (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 21 October 2020.
  359. "Less Than a Day Old, Democracy Plaque Lives On In Memes, Fanart". Khaosod English. 22 September 2020. สืบค้นเมื่อ 5 November 2020.
  360. ""หมู่บ้านทะลุฟ้า" ปักหลักข้างทำเนียบ ตั้งจุด "คัดกรอง-ลงทะเบียน" เข้ม". ประชาชาติธุรกิจ. 13 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  361. "'หมู่บ้านทะลุฟ้า' ชวนคนไม่มีที่พักหลังม็อบ 'รีเด็ม' สนามหลวงนอนฟรีหลังยุติชุมนุม 20 มี.ค." มติชนออนไลน์. 19 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  362. Helen Regan; Kocha Olarn. "Thailand's monarchy was long considered God-like. But protesters say it's time for change". CNN. สืบค้นเมื่อ 24 August 2020.
  363. Pongsudhirak, Thitinan. "Reforms need broadening of the agenda". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  364. Cunningham, Philip J. "An unexpectedly successful protest". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 September 2020.
  365. "ม็อบยุติชุมนุมหลังจัดกิจกรรมส่งสาส์นราษฎร ย้ำ3ข้อเรียกร้องประนีประนอมที่สุดแล้ว". โพสต์ทูเดย์. สืบค้นเมื่อ 9 November 2020.
  366. "Loss of protest leaders 'critical'". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  367. "4 ปรากฏการณ์ใหม่ในแฟลชม็อบ "ไร้แกนนำ" เมื่อ "ราษฎร" ไทยลุกฮือ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  368. "'A moving current': Thai protesters adopt Hong Kong tactics". Bangkok Post.
  369. "Thailand's Protesters Want the World to Know #WhatsHappeningInThailand". Diplomat. สืบค้นเมื่อ 22 October 2020.
  370. "สันติวิธีหรือไม่ เมื่อไปสาดสี-ขีดเขียน-ใช้คำหยาบ ในการชุมนุม". BBC ไทย. 24 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  371. "The anatomy of waning youth protests". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  372. "เปิดบทสนทนาของนักศึกษากลุ่ม "ไทยภักดี" กับ "ประชาชนปลดแอก" ว่าด้วยท่อน้ำเลี้ยง-เพดาน-สิ่งศักดิ์สิทธิ์". BBC ไทย. BBC. 28 August 2020. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  373. "กัดไม่ปล่อย จ่อร้อง "สรรพากร" สอบท่อน้ำเลี้ยงม็อบ". ฐานเศรษฐกิจ. Bangkok: ฐานเศรษฐกิจ. 17 September 2020. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  374. Komkrit Duangmanee (22 September 2020). "ทราย เจริญปุระ โพสต์โต้ปมควักเงินหนุนม็อบ ลั่น "จะตรวจสอบอะไร ไม่ได้รับบริจาค"". สนุก! นิวส์. Bangkok: เทนเซนต์ (ประเทศไทย). สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  375. "มาแล้ว! "ทราย เจริญปุระ" ตั้งโรงครัวให้ชาวม็อบ บริเวณสนามหลวงใกล้พระแม่ธรณีฯ". สนุก! นิวส์. Bangkok: เทนเซนต์ (ประเทศไทย). 19 September 2020. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  376. "สุดปังพลังติ่ง แฟนคลับศิลปินเกาหลีระดมเงิน 2.3 ล้านสนับสนุนม็อบ". ประชาชาติธุรกิจ. Bangkok: ประชาชาติธุรกิจ. 17 October 2020. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.[ลิงก์เสีย]
  377. "ปังมาก! แฟนคลับเกาหลี โดเนทท่อน้ำเลี้ยงม็อบ ไม่กี่วันทะลุล้าน ผุดแคมเปญ เลิกซื้อโฆษณารฟฟ". มติชน. Bangkok: มติชน. 17 October 2020. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  378. "เหล่าแฟนคลับศิลปินเกาหลีร่วมระดมทุนท่อน้ำเลี้ยง ยอดทะลุล้านในเวลาอันรวดเร็ว!". Kornews. Bangkok: Kornews. 18 October 2020. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  379. "ม็อบเดินถือกล่องขอรับบริจาคเงินผู้ชุมนุม ร่วมเป็นท่อน้ำเลี้ยงไล่'บิ๊กตู่'". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  380. "กองทุนราษฎรประสงค์: ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตย การประกันตัวจะเป็นสิทธิ เงินประกันจะเป็นสวัสดิการ". The MATTER. 23 September 2021. สืบค้นเมื่อ 12 June 2022.
  381. กองบรรณาธิการวอยซ์ออนไลน์ (16 September 2020). "'ศรีสุวรรณ' ร้องสอบ 'ท่อน้ำเลี้ยงม็อบ' รับหาหลักฐานเอาผิด 'กปปส.' ยาก". Voice Online. Bangkok: Voice. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  382. English, Khaosod (31 August 2020). "U.S. Embassy Denies Funding Anti-Govt Protests". Khaosod English (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 31 August 2020.
  383. Chotanan, Patawee. "Dancing with dictatorship: how the government is dealing with the Free Youth movement". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-18.
  384. "แห่ดิสไลค์ คลิปกรมประชาฯ โวยรัฐใช้ภาษีทำคลิปดิสเครดิตม็อบเยาวชน". ไทยรัฐ. 22 August 2020. สืบค้นเมื่อ 22 August 2020.
  385. ""บิ๊กแดง" น้ำตาคลอ! เปิดใจถึงม็อบ นศ. เตือนอย่าใช้วาจาจาบจ้วง". Channel 8. 24 July 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-07-26.
  386. "ผบ.ทบ. ลั่นโอกาสรัฐประหาร "เป็นศูนย์"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 6 October 2020.
  387. "จับตา! #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้ง ทวง 3 ข้อรัฐบาล". ThaiPBS. 25 July 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-07-26.
  388. "Exclusive: Thailand tells universities to stop students' calls for monarchy reform". www.msn.com. สืบค้นเมื่อ 2020-09-14.
  389. "ด่วน! ตร.พัทลุง ทำหนังสือถึงโรงเรียน สั่งห้าม นร.-นศ. ชุมนุมไล่รัฐบาล". Khaosod. 24 July 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 July 2020. สืบค้นเมื่อ 26 July 2020.
  390. "ให้ทุกรร.สังกัดสพฐ.อนุญาตเด็กจัดชุมนุมแต่ห้ามคนนอกร่วม". เนชั่น. 18 August 2020. สืบค้นเมื่อ 18 August 2020.
  391. "เปิดชื่อ 109 รร. คุกคาม นร. "ผูกโบว์ขาว-ชู 3 นิ้ว"". BBC Thai. สืบค้นเมื่อ 24 August 2020.
  392. ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิด 8 รูปแบบการคุกคามปิดกั้น รอบ 2 อาทิตย์หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก
  393. 393.0 393.1 ไม่รอด! ตร.จับแอดมินกุข่าวอุ้ม 3 แกนนำเยาวชนพิษณุโลกเข้าค่าย ตชด. แฉมีคดีติดตัว
  394. 3 แกนนำเยาวชนยังหายตัวปริศนา ส.ส.พิษณุโลก เผย ตชด.ปฏิเสธ ไม่ได้คุมตัว
  395. "สกัดรถยึดหนังสือ กลุ่มนักศึกษาปลดแอก 50,000 เล่ม มวลชนเผาหุ่นฟางนายกฯ". ไทยรัฐ. 19 September 2020. สืบค้นเมื่อ 19 October 2020.
  396. "มีนาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มเกือบ 200 ราย ยอดพุ่งไปอย่างน้อย 581 คน ใน 268 คดี | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (THAI LAWYERS FOR HUMAN RIGHTS)". TLHR. 6 April 2021. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
  397. ""ก้าวไกล" จี้ หยุดใช้นิติสงครามกับ ปชช.ยัน คดี นิสิต-นศ.ไม่เข้า ม.116". ไทยรัฐ. 3 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  398. "เครือข่ายทนายสิทธิร้องเรียน ตร.ละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนต่อนักกิจกรรม". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  399. "ศาลยกคำร้อง ไม่อนุญาตปล่อยตัว 5 แกนนำ ม็อบราษฎร คดีชุมนุม 19 ก.ย." ไทยรัฐ. 9 April 2021. สืบค้นเมื่อ 10 April 2021.
  400. "'หมู่บ้านทะลุฟ้า' และ 'ใส่ชุดไทยไถสเกต' โลกคู่ขนานของการใช้กฎหมาย". ไทยรัฐ. 29 March 2021. สืบค้นเมื่อ 14 April 2021.
  401. Human Rights Watch (17 October 2020). "Thailand: Water Cannon Used Against Peaceful Activists". Human Rights Watch.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  402. "ไขปม! 'กระสุนยาง' อันตรายแค่ไหน ทำไมจึงไม่ควรใช้ 'สลายการชุมนุม'". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  403. "'ม็อบ' ยิ่งรุก 'รัฐบาล' ยิ่งต้าน ประกาศ 'นิติสงคราม'". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  404. "นิธิ เอียวศรีวงศ์ หวั่น 6 ตุลา รอบใหม่". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 12 August 2020.
  405. "ประกาศแต่งตั้ง หัวหน้าผู้รับผิดชอบ กอร.ฉ. แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง". ไทยรัฐ. 15 October 2020. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  406. English, Khaosod (2020-10-16). "Editorial: Prayut Has Lost All Legitimacy. He Must Go". Khaosod English (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-10-17.
  407. "Police move to silence news, Facebook platforms". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-10-19.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  408. "โลกออนไลน์ เผยแพร่เอกสาร สั่งปิด 'เทเลแกรม'". มติชนออนไลน์. 19 October 2020. สืบค้นเมื่อ 19 October 2020.
  409. "ด่วน! ศาลอาญายกเลิกคำร้องปิดวอยซ์ทีวี รวมทั้ง 'เยาวชนปลดแอก' ด้วย". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 21 October 2020.
  410. "ตำรวจบุก "ฟ้าเดียวกัน" ตรวจยึดหนังสือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์". ูผู้จัดการออนไลน์. 19 October 2020. สืบค้นเมื่อ 19 October 2020.
  411. "Anti-Gov't Protest Plans Complicated by Royal Itinerary". Khaosod English. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 October 2020. สืบค้นเมื่อ 14 October 2020 – โดยทาง Reuters.
  412. "'อัศวิน'จัดรถขยะ-รถสุขา ให้ม็อบป้องสถาบันฯหน้ารัฐสภา". Daily News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 October 2020. สืบค้นเมื่อ 25 October 2020.
  413. "มหาเถรสมาคม ห้าม 'พระ-สามเณร' ยุ่งกิจกรรมการเมือง". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  414. "Thailand's Prime Minister Threatens Protesters with Lese Majesty Law". Chiang Rai Times (ภาษาอังกฤษ). 21 November 2020. สืบค้นเมื่อ 22 November 2020.
  415. Crispin, Shawn W. (18 August 2020). "New generation of daring resistance in Thailand". Asia Times. สืบค้นเมื่อ 20 August 2020.
  416. "Thai PM says protesters' call for monarchy reform 'went too far'". www.aljazeera.com. สืบค้นเมื่อ 2020-08-20.
  417. ""ในหลวง" ตรัส "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ชายชูพระบรมฉายาลักษณ์ ร.๙ กลางผู้ประท้วง (ชมคลิป)". ผู้จัดการออนไลน์. 24 October 2020. สืบค้นเมื่อ 23 October 2020.
  418. "Can Thai monarchy emerge unscathed as it faces its greatest challenge?". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 31 October 2020. สืบค้นเมื่อ 1 November 2020.
  419. “ในหลวง” ตรัสตอบ “ไบร์ท ชินวัตร” เฝ้ารับเสด็จฯ พระบรมมหาราชวัง เจ้าตัวถึงน้ำตาซึม
  420. ‘กลุ่มประชาชนคนรักในหลวง’ ยื่นหนังสือให้กำลังใจส.ว.อย่าโหวตให้พวกแก้112
  421. ประมวล 5 เหตุการณ์เด่น ในการโหวต "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกฯ ครั้งแรก
  422. ศาลพิพากษาจำคุกวีรภาพสามปี ตาม ม.112 ฐานพ่นสี “ปฎิรูปสภาบันกษัตริย์” ที่ #ม็อบดินแดง
  423. ยอมรับแล้ว! “ปิยบุตร” ยืมปาก “พิธา” เฉลย “ล้มเจ้า” ในม็อบ “สาธิต” นักธุรกิจอินเดียรักในหลวงขอถก “บิ๊กแดง”
  424. @MFPThailand (11 August 2020). "นอกจาก 3 ข้อเรียกร้องทางการเมืองไทยแล้ว" (ทวีต). สืบค้นเมื่อ 11 August 2020 – โดยทาง ทวิตเตอร์.
  425. "คณาจารย์ ลงชื่อหนุนกลุ่ม นศ. "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน"". ไทยรัฐ. 12 August 2020. สืบค้นเมื่อ 12 August 2020.
  426. ครูร่วมปลดแอก ชูสามนิ้วในห้องพักครู ขออยู่เคียงข้างนักเรียน matichon.co.th เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563
  427. 'มารีญา' โพสต์ประกาศจุดยืนขออยู่ข้าง 'เยาวชนปลดแอก'
  428. เอก HRK และ โบ๊ะบ๊ะแฟมมิลี่ ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง ถึงกลุ่ม เยาวชนปลดแอก
  429. "Time to call out. Thai stars show solidarity with protest leader". workpointTODAY. 13 August 2020. สืบค้นเมื่อ 16 September 2020.
  430. AmirinTV. "คอมเมนต์สนั่น! ปรากฏการณ์โซเชียลมูฟเมนต์ จากไอดอลสาว BNK 48". Amarin.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  431. Prachachat (14 August 2020). "ดารา-คนบันเทิง แห่โพสต์สนับสนุนเสรีภาพ ต้านการคุกคามประชาชน". Prachachat.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  432. "Doctor sacked for opposing govt's dispersal of protesters". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 18 October 2020.
  433. “หมอเหรียญทอง” โพสต์ไล่แพทย์หญิงต่างอุดมการณ์ออก หลังร่วมลงชื่อคัดค้านการใช้ความรุนแรง
  434. "ยูนิเซฟ เรียกร้องเคารพสิทธิ-ปกป้องความรุนแรงเด็กและเยาวชน". ประชาชาติธุรกิจ. 18 August 2020. สืบค้นเมื่อ 18 August 2020.
  435. "Thailand: Bangkok shuts public transport as protests persist | DW | 17.10.2020". Deutshe Welle. สืบค้นเมื่อ 17 October 2020.
  436. "Thailand: Police disperse pro-democracy protesters outside PM's office". Euro News (ภาษาอังกฤษ). 15 October 2020. สืบค้นเมื่อ 15 October 2020.
  437. "โจชัว หว่อง ฝากถึงชาวโลก ให้ช่วยยืนเคียงข้างชาวไทยหัวใจประชาธิปไตย". Khaosod. 16 October 2020. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  438. "Scholars weigh in on US senators' call for democracy". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  439. English, Khaosod (2020-10-16). "7 Arrested for Fresh Protest, Cops Threaten to Charge Everyone". Khaosod English (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-10-17.
  440. "Listen to the young". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-10-19.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  441. นักเรียนเลว [@BadStudent_] (Sep 16, 2020). "นี่สิ่งที่เพื่อน ๆ ของเราหลายคนต้องเจอค่ะ - ขู่ตัดแม่ตัดลูกถ้ายังไม่หยุดทำ
    - ไม่ให้เงินไปโรงเรียนมาเกือบ 2 เดือน
    - เก็บค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่อยู่กับลูกตัวเอง
    - จะไล่ออกจากบ้าน ให้ไปอยู่ที่อื่น
    - จะส่งไปอยู่ต่างประเทศ
    - จะไม่จ่ายค่าเทอมให้"
    (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.
  442. "เปิดตัว 'สถาบันทิศทางไทย' ขับเคลื่อนไทยไร้ขัดแย้ง". bangkokbiznews.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-04. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
  443. "สถาบันทิศทางไทย เปิดผังเครือข่ายปฏิวัติประชาชน (เพ้อฝัน)". nationtv.tv. 10 August 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-14. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
  444. "A global conspiracy against the Thai Kingdom". thisrupt.co. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-26. สืบค้นเมื่อ 31 August 2020.
  445. "ชาวเน็ตสงสัย พบกลุ่มชายหัวเกรียน รวมตัวเป็นกลุ่ม ตั้งข้อสังเกต เตรียมแฝงม็อบ?". Khaosod. 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.
  446. "นายกฯ ไม่สบายใจม็อบธรรมศาสตร์ชุมนุม บอกติดตามดูอยู่". ไทยรัฐ. 11 August 2020. สืบค้นเมื่อ 11 August 2020.
  447. "'สุดารัตน์'ติงไม่ควรก้าวล่วงสถาบัน วอนยึด3ข้อเรียกร้อง". เดลินิวส์. 11 August 2020. สืบค้นเมื่อ 11 August 2020.
  448. "หยุดจาบจ้วงพระมหากษัตริย์". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 17 August 2020.
  449. Sombatpoonsiri, Janjira; Carnegie Endowment for International Peace (2018). "Conservative Civil Society in Thailand". ใน Youngs, Richard (บ.ก.). The mobilization of conservative civil society (PDF) (ภาษาอังกฤษ). Washington, D.C.: Carnegie Endowment for International Peace. pp. 27–32. OCLC 1059452133.
  450. Correspondent, Our. "Thailand Blocks Overseas Opposition Voice". www.asiasentinel.com. สืบค้นเมื่อ 29 August 2020.
  451. "New Social Media and Politics in Thailand: The Emergence of Fascist Vigilante Groups on Facebook". ASEAS - Austrian Journal of South-East Asian Studies (ภาษาเยอรมัน). 9 (2): 215–234. 2016. ISSN 1999-2521. OCLC 7179244833.
  452. English, Khaosod (28 July 2020). "Royalist Campaign Tells Companies Not to Hire Protesters". Khaosod English (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 28 August 2020.
  453. "Thai royalist seeks to shame, sack young protesters - UCA News". ucanews.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 28 August 2020.
  454. "Thai protests: Thousands gather in Bangkok as king returns to country". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-10-14. สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.
  455. "ศาลรธน.รับวินิจฉัยปมปราศรัยล้มล้างการปกครอง". เดลินิวส์. 16 September 2020. สืบค้นเมื่อ 16 September 2020.
  456. "11th grader summoned by teacher, asked not to give protest speeches". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 September 2020.
  457. ""Whores" & "Sluts": why "good people" love these insults". thisrupt.co. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-11. สืบค้นเมื่อ 2020-09-14.
  458. "นักเรียนเลว โอดเคลื่อนไหวทางการเมือง โดนครอบครัวขู่-ไล่ออกจากบ้าน". ข่าวสด. 16 September 2020. สืบค้นเมื่อ 16 September 2020.
  459. "'อ.เจษฎา' ชี้ม็อบสาดสีใส่ตร. 'รุนแรง-คุกคาม' ยกตัวอย่างสากลประท้วงสันติวิธีด้วยภาพวาด". Thai Post. สืบค้นเมื่อ 1 September 2020.
  460. "เพจโปลิศไทยแลนด์ ตำหนิม็อบสาดสีใส่ตำรวจไม่เกิดผลดีเลย แสดงออกถึงตัวตนเป็นเช่นไร". Thai Post. สืบค้นเมื่อ 1 September 2020.
  461. "หมอสุกิจ อัดม็อบหยาบคายใส่ 'ชวน' ยันเป็นกลาง ไล่ไปด่า ส.ส.-สว.ตัวเอง". ข่าวสด. 25 September 2020. สืบค้นเมื่อ 14 October 2020.
  462. "ตำรวจ บุกไทยซัมมิท กลางวงแถลงข่าวคณะก้าวหน้า". Bangkokbiznews. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  463. "บุก 'ไทยซัมมิท' หนสอง ศ.ป.ป.ส.ไล่ 'ธนาธร' พ้นแผ่นดิน จี้ถือธงนำหน้า อย่าแอบหลังขบวนการ น.ศ." Matichon. 12 October 2020. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  464. "มือมืดปาสี ใส่กลุ่มไทยภักดี ขณะชุมนุมปกป้องสถาบันที่ศาลหลักเมืองขอนแก่น". สยามรัฐ. 23 October 2020. สืบค้นเมื่อ 23 October 2020.
  465. "ชูป้ายผิดชีวิตเปลี่ยน หวิดถูก'กลุ่มผู้ชุมนุม'ประชาทัณฑ์". เดลินิวส์. 23 October 2020. สืบค้นเมื่อ 23 October 2020.
  466. "นิวยอร์กไทมส์ ระบุข่าวลือรัฐประหารในไทยผุดขึ้นหลังการประท้วงของเยาวชน". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 3 November 2020.
  467. "ม็อบเสื้อเหลือง นัดหน้าทำเนียบ ชง "ประยุทธ์-ผบ.ทบ." รัฐประหาร". ประชาชาติธุรกิจ. 8 November 2020. สืบค้นเมื่อ 10 November 2020.
  468. "ฝ่ายขวาสุดโต่งย้อนยุคยานเกราะดาวสยาม ปั่นม็อบ 7 สิงหาให้เป็น 6 ตุลา". ข่าวสด. 7 August 2021. สืบค้นเมื่อ 7 August 2021.
  469. "FootNote:บทบาท อิทธิพล สื่อ"ออนไลน์" ครอบงำ ประยุทธ์ จันทร์โอชา". ข่าวสด. 2 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  470. ""หนูนา หนึ่งธิดา" รัวทวีต #ม็อบ28กุมภา เดือด ทุกคนต้องใจเย็น เราพูดถึงรัฐบาลและคนที่โดนเมื่อคืน อย่าอินเกิน". คมชัดลึกออนไลน์. 1 March 2021. สืบค้นเมื่อ 1 March 2021.
  471. "แจงปมผู้สื่อข่าวหญิงปกปิดต้นสังกัดรายงานข่าวม็อบ". เนชั่นทีวี. 17 August 2020. สืบค้นเมื่อ 17 August 2020.
  472. "จากใจเนชั่น ขอยืนหยัดทำข่าวบนพื้นฐานจริยธรรม วอนหยุดแบนสินค้า". คมชัดลึกออนไลน์. 19 August 2020. สืบค้นเมื่อ 22 August 2020.
  473. "ผู้บริหารเนชั่น : "ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่บิดเบี้ยวไปบ้างระยะหนึ่ง"". บีบีซีไทย. 2020-11-10. สืบค้นเมื่อ 2021-03-23.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  474. "Correction to story 'Protesters hit Bangkok train stations'". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 October 2020.
  475. 475.0 475.1 คุณานุปถัมภ์, เกริกธัช (28 January 2021). "จากวันที่มี #แบนสื่อ ในโลกออนไลน์ สู่วันที่สื่อเริ่มเปลี่ยนทาง". ส่องสื่อ. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  476. "'#แบนอมรินทร์'ติดเทรนด์ทวิตฯ จวกเสนอข่าวใส่ร้ายม็อบ". เดลินิวส์. 2020-11-18. สืบค้นเมื่อ 2021-05-19.
  477. "สื่อต่างชาติรายงาน #RepublicofThailand เกลื่อนโลกโชเชียลไทย". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 29 September 2020.
  478. "โซเชียลตั้งคำถาม ทีวีไทยเซ็นเซอร์ ตัดสัญญาณออกอากาศสื่อต่างประเทศ". มติชนออนไลน์. 15 October 2020. สืบค้นเมื่อ 15 October 2020.
  479. "AFP แจงสื่อออนไลน์บิดเบือนบทสัมภาษณ์ รมต.ต่างประเทศเยอรมนี กรณีกษัตริย์ไทย". มติชนออนไลน์. 31 October 2020. สืบค้นเมื่อ 31 October 2020.
  480. "นิวยอร์กไทมส์ ระบุข่าวลือรัฐประหารในไทยผุดขึ้นหลังการประท้วงของเยาวชน". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 9 November 2020.
  481. "สื่ออังกฤษกับรายงานปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไทย". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 9 November 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้