การประชุมสันติภาพเจนีวา
การประชุมสันติภาพเจนีวา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2534 เพื่อหาทางออกอย่างสันติสำหรับการยึดครองคูเวตของอิรัก เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามระหว่างอิรักและกองกำลังผสมซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา ผู้แทนอิรัก ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฏอริก อาสีส ส่วนผู้แทนสหรัฐ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เจมส์ เบเกอร์ การประชุมดังกล่าวกินเวลานานเกือบเจ็ดชั่วโมง โดยที่คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่สามารถตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนะดั้งเดิมของตน อิรักปฏิเสธที่จะยอมถอนทหารออกจากคูเวต ในขณะที่สหรัฐและพันธมิตรยังต้องการให้อิรักถอนทหารออกไปในทันที การประชุมดังกล่าวเป็นการทาบทามครั้งสุดท้ายก่อนที่สงครามอ่าวจะปะทุขึ้น
เบื้องหลัง
แก้วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติผ่านมติ 678 ซึ่งมอบอำนาจให้รัฐสมาชิก "ใช้ทุกวิธีการที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนและทำให้มติที่ผ่านมาทั้งหมดที่ต้องการให้อิรักถอนกำลังทหารออกจากคูเวตในทันทีเป็นผลสำเร็จ" เป้าหมายของมติดังกล่าวคือ การให้สารแก่ซัดดัม ฮุสเซนอย่างเด็ดขาดครั้งสุดท้ายว่า สหประชาชาติจะไม่ยินยอมให้อิรักคงการยึดครองคูเวตต่อไป แม้ว่าสหภาพโซเวียต พันธมิตรอันใกล้ชิดของอิรักและอดีตศัตรูของสหรัฐอเมริกา จะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ซัดดัมพิจารณาการกระทำของเขาอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม ผู้นำโซเวียต มิฮาอิล กอร์บาชอฟ พยายามที่จะเปลี่ยนใจซัดดัมที่จะมองข้ามผลประโยชน์ของตนเอง และทำเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของอิรัก เขาประสบความสำเร็จในการทำให้รัฐสมาชิกอื่นของสหประชาชาติเพิ่ม "ช่วงเวลาแห่งความปรารถนาดี" ในมติที่ 678 ช่วงเวลาแห่งความปรารถนาดีนี้เพื่อให้อิรักมีโอกาสทบทวนนโยบายและการกระทำของตน โดยหวังว่าอิรักจะตัดสินใจถอนกำลังทหารและหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ที่กำลังก่อตัวขึ้น[1]
ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ยืนกรานที่จะบรรลุ "ไมล์เพิ่มเติมสำหรับสันติภาพ" การทาบทามดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการสนทนาระหว่างอิรักกับสหรัฐอเมริกา ทัศนะของสหรัฐรวมถึงทางเลือกในการรับการมาเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิรัก ฏอริก อาสีส และส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เบเกอร์ ไปเยือนอิรัก เป้าหมายหลักเบื้องหลังไมล์เพิ่มเติมสำหรับสันติภาพนี้ เพื่อให้ความมั่นใจแก่พลเมืองอเมริกันว่ารัฐบาลกำลังทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารกับอิรัก[2]
อิรักต้อนรับโอกาสที่จะได้พูดคุยโดยตรงกับสหรัฐ นับตั้งแต่การบุกครองคูเวตเริ่มขึ้น ซัดดัมพยายามวิ่งเต้นเพื่อให้เกิดการเจรจาโดยตรงกับสหรัฐ อิรักเคยปฏิเสธการเจรจาแบบตัวต่อตัวในอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศของอิรัก ลาติฟ นุสเซท จะซิม กล่าวว่า อิรักปรารถนาที่จะอภิปรายถึง "วิกฤตการณ์อ่าว [เปอร์เซีย] ทุกด้าน โดยไม่มีข้อแม้ นานตราบเท่าที่อเมริกันเตรียมพร้อมที่จะเจรจาโดยไม่มีการวางเงื่อนไขล่วงหน้า"[3]
กลุ่มประเทศอาหรับอื่น ๆ เรียกร้องให้ซัดดัมยอมปฏิบัติตามมติที่ 678 ประธานาธิบดีอียิปต์ มูฮัมหมัด โฮซนี มูบารัค และพระมหากษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย ฟาฮัด ตลอดจนประมุขแห่งรัฐของประเทศเหล่านี้ ได้เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีการถอนกำลังทหารอย่างไม่มีเงื่อนไขออกจากคูเวต รัฐมนตรีว่าการะทรวงกลาโหมซีเรียกล่าวว่าซีเรียจะเพิ่มการกดดันทางทหารต่ออิรักหากอิรักไม่ปฏิบัติตาม หลังจากการประชุมในไคโร เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย และอียิปต์ ได้ออกแถลงการณ์ ความว่า "การทาบทามของบุชสร้างโอกาสสุดท้ายในการขจัดภยันตรายของสงครามจากภูมิภาคนี้ ซัดดัมควรจะฉวยเอาโอกาสนี้ในการถอนกำลังทหารออกจากคูเวต ดีกว่าทำให้ภูมิภาคนี้พัวพันกับสงครามที่นองเลือดและไร้ประโยชน์"[4]
ระหว่างพยายามตัดสินใจหาวันที่ตัวแทนจากอิรักและสหรัฐจะมาประชุมกัน ซัดดัมยืนกรานว่าวันที่นั้นจะต้องใกล้กับเส้นตายของมติที่ 678 เป้าหมายของเขาคือพยายามที่จะหลีกเลี่ยงมติดังกล่าว สหรัฐต้องการให้วันที่ประชุมอยู่ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2533 และ 3 มกราคม พ.ศ. 2534 เพื่อให้เวลาแก่ซัดดัมเพียงพอที่จะถอนกองทัพอิรัก ยิ่งเวลาเข้าใกล้เส้นตายของมติมากยิ่งขึ้นเท่าใด ความยืดหยุ่นของซัดดัมก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะถอนกำลังทหารจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่วัน ขณะที่ซัดดัมยื้อให้การประชุมดังกล่าวมีขึ้นใกล้กับเส้นตายของมติที่ 678 ประธานาธิบดีบุชฝืนใจเสนอให้การประชุมมีขึ้นในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2534 และสุดท้าย ได้มีการตกลงกันว่า ฏอริก อาสีส และเจมส์ เบเกอร์จะประชุมกันเพื่ออภิปรายถึงการยึดครองคูเวตและมติสหประชาชาติ ประธานาธิบดีบุชได้เคยให้สัญญาต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกาว่าจะไม่มีมติใดเสนอต่อรัฐสภาจนกระทั่งหลังจากการประชุมดังกล่าวสิ้นสุดลง[2]
ผลที่ตามมา
แก้ผลของการประชุมเจนีวาไม่มีความคืบหน้าที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการยึดครองคูเวตของอิรัก ฏอริก อาสีส มีอำนาจเพียงเล็กน้อยในการเปลี่ยนแปลงทัศนะของอิรักและจำเป็นต้องให้การสนับสนุนทัศนะดั้งเดิมของซัดดัม ซัดดัมได้ใช้การประชุมดังกล่าวเพื่อจุดประสงค์ด้านการโฆษณาชวนเชื่อในอิรัก ขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้การประชุมดังกล่าวเพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าตนกำลังวิตกกับการแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวโดยไม่มีปฏิบัติการทางทหาร และเพื่อแจ้งให้ซัดดัมทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเขาไม่สามารถถอนกำลังทหารอิรักออกจากคูเวตได้ การประชุมดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่า สงครามอ่าว หรือปฏิบัติการพายุทะเลทราย ประเทศอาหรับยืนกรานว่าสหรัฐอเมริกาจะต้องดำเนินการตามมติที่ 678 และเสนอการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารเพื่อดำเนินการในมติทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการยึดครองคูเวต
ภายหลังการประชุม อาสีสอธิบายแก่สื่อว่า อิรักต้องการทางออกอย่างสันติต่อปัญหาในภูมิภาค แต่มันไม่สามารถเป็นเพียงสิ่งที่เกี่ยวข้องเฉพาะแต่การยึดครองคูเวตเท่านั้น แต่มันจะต้องรวมถึงการยึดครองกาซา เวสต์แบงก์ และที่ราบสูงโกลัน ปฏิกิริยาของเบเกอร์หลังการประชุม คือ อิรักไม่ปรารถนาที่จะสนับสนุนมติสหประชาชาติ และอิรักต้องการจะคงการยึดครองคูเวตในปัจจุบันต่อไป เบเกอร์มีความหวังน้อยมากว่าจะมีหนทางอื่นนอกเหนือจากการใช้กำลังทหารในการนำอิรักออกจากคูเวต[5] ถึงแม้ว่าการประชุมดังกล่าวจะมีความสำเร็จน้อยมาก แต่มันได้เป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองประเทศพบกันแบบตัวต่อตัว ทั้งสองประเทศยังคงยืนยันทัศนะของตนอย่างหนักแน่นและเป็นความหวังสุดท้ายสำหรับทางออกอย่างสันติ[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ Lawrence Freedman and Efraim Karsh, The Gulf Conflict: Diplomacy and War in the New World Order (New Jersey, 1883), 233-34.
- ↑ 2.0 2.1 "Persian Gulf: Mission of Peace, James Baker and Gerald Post on the Iran-Kuwait Crisis" United States Department of State Dispatch, Jan. 7, 1991.
- ↑ Lawrence Freedman and Efraim Karsh, The Gulf Conflict: Diplomacy and War in the New World Order (New Jersey, 1993), 236.
- ↑ Lawrence Freedman and Efraim Karsh, The Gulf Conflict: Diplomacy and War in the New World Order (New Jersey, 1883), 242.
- ↑ frontline: the gulf war: oral history: tariq aziz
- ↑ frontline: the gulf war: voices in the storm: at the brink of war