การท่องเที่ยวเพื่อคลอดบุตร

การท่องเที่ยวเพื่อคลอดบุตร (อังกฤษ: birth tourism) หมายถึง การท่องเที่ยวไปยังประเทศหรือดินแดนที่ให้สัญชาติหริอสิทธิบางประการโดยถือหลักดินแดน (ละติน: jus soli) ซึ่งทำให้ได้รับประโยชน์จากรัฐที่คลอดบุตร เช่น สิทธิการอยู่อาศัย รัฐสวัสดิการด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล การประกันการว่างงาน การประกันสิทธิเสรีภาพ ฯลฯ หรือ หลีกเลี่ยงข้อจำกัดในประเทศต้นทาง เช่น นโยบายห้ามมีบุตรเกินกว่าจำนวนที่กำหนด การเกณฑ์ทหาร ฯลฯ ประโยชน์ที่ได้รับหรือข้อจำกัดที่อาจหลีกเลี่ยงได้มักเป็นสิทธิจำเพาะตัวของเด็กเองส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นผลพลอยได้แก่บิดามารดา เช่น สิทธิในการขอสิทธิมีถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกาให้บิดามารดา

ประเทศปลายทางของการท่องเที่ยวเพื่อคลอดบุตรมักเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีกฎหมายสัญชาติเปิดโอกาสให้ เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ส่วนประเทศต้นทางอาจเป็นประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ดี ไต้หวัน ฮ่องกงและเกาหลีใต้ เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวที่จัดเป็นเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว แต่มีปัญหาความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่และเกาหลีเหนือ รวมถึงการแข่งขันภายในประเทศที่สูงกว่าประเทศตะวันตก สำหรับฮ่องกงเป็นทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง โดยเป็นปลายทางสำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนชาวฮ่องกงเองกลับไปคลอดบุตรในสหรัฐอเมริกา

ประเทศต้นทาง แก้

เชื่อกันว่าการไปคลอดบุตรในสหรัฐอเมริกาเป็นที่นิยมของหญิงมีครรภ์ในเกาหลีใต้ เกาะฮ่องกง และไต้หวัน[1] Edward Chang นักวิชาการด้านเอเชียนอเมริกันศึกษาแห่ง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ริเวอร์ไซด์ กล่าวว่าการคลอดบุตรในสหรัฐอเมริกาเป็นที่นิยมในหญิงชนชั้นนำและร่ำรวยของเกาหลีใต้ "มันง่าย ถ้าคุณแจ้งเกิด เด็กก็ได้หนังสือเดินทางอเมริกันโดยอัตโนมัติ" Kim Jeong Yeon หญิงชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางไปอเมริกาขณะตั้งครรภ์ได้หกเดือนกล่าว[2] เช่นเดียวกับหญิงรายอื่น Kim ใช้จ่ายเงินไปนับพันเหรียญสหรัฐอเมริกาเพื่อการนี้ "ถ้าเพื่อนฉันมีเงิน เพื่อนฉันทุกคนก็คงไปคลอดที่อเมริกากัน" เธอกล่าวเสริม

จากการรายงานของ Selin Burcuoglu เรื่องหญิงตุรกีที่ไปคลอดบุตรในสหรัฐอเมริกาพบว่ากระบวนการนี้ง่าย "เราพบบริษัทบนอินเทอร์เน็ตและตัดสินใจที่จะไปคลอดบุตรที่ออสติน มีความเป็นมืออาชีพมาก เขาจัดการทุกอย่างให้เรา ฉันไม่มีปัญหาในการปรับตัวและคลอดได้อย่างสะดวกสบาย ฉันไม่อยากให้ลูกต้องลำบากเรื่องวีซ่า การเป็นพลเมืองอเมริกามีสิทธิประโยชน์มากมาย"[3] การท่องเที่ยวเพื่อคลอดบุตรเป็นธุรกิจที่ทำเงินให้แก่คนที่อพยพมาอยู่ก่อนได้อย่างดี หมอ เจ้าของโรงแรม รวมถึงครอบครัวจากตุรกีที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้จัดการให้มีการคลอดบุตรชาวตุรกี 12,000 คนในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 ธุรกิจ Marmara Hotel group ได้จัดข้อเสนอพิเศษ "birth tourism package" ที่รวมที่พักในสาขา Manhattan "เราต้อนรับ 15 ครอบครัวในปีที่แล้ว" Nur Ercan Mağden ผู้จัดการสาขา The Marmara Manhattan กล่าว และเสริมด้วยว่าค่าใช้จ่ายของแต่ละครอบครัวนั้นอยู่ที่ราว 45,000 เหรียญ[4]

สื่อในไนจีเรียรายงานว่าการไปคลอดบุตรในอเมริกา "แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว"[5]

ครอบครัวจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีบุตรแล้วหนึ่งคน แต่อยากมีลูกอีกเดินทางไปคลอดบุตรในแคนาดาเพื่อเลี่ยงนโยบายลูกคนเดียว[6] และได้สัญชาติและหนังสือเดินทางแคนาดาก่อนกลับประเทศจีน

The Tucson Medical Center (TMC) ในรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา มีบริการ "birth package" สำหรับหญิงมีครรภ์และเจาะจงกลุ่มลูกค้าในประเทศเม็กซิโก หญิงมีครรภ์อาจเลือกนัดคลอดโดยการผ่าตัดหรือเดินทางมาสองถึงสามสัปดาห์ก่อนกำหนดคลอด ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ราว 2,300-4,600 เหรียญสหรัฐอเมริกา โดยรวมที่พัก ค่าหมอ ค่าโรงพยาบาล ค่าตรวจ รวมถึงค่านวด หากคลอดออกมามากกว่าหนึ่งคนอาจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มราว 500 เหรียญ[7] บริการ "birth packages" ที่มุ่งตลาดไปยังชาวเม็กซิโกและนักท่องเที่ยวอื่นพบได้มากมายใน El Paso รัฐเท็กซัสด้วย ขบวนการเหล่านี้คิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและใช้เวลาที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อการคลอดน้อยลง[8]

ประเทศปลายทาง แก้

สหรัฐอเมริกา แก้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 14 รับรองให้สัญชาติอเมริกาแก่ผู้ที่เกิดในดินแดนของสหรัฐอเมริกา หากผู้นั้นอยู่ในอำนาจกฎหมายสหรัฐอเมริกา ("subject to the jurisdiction of the United States")

การเป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกาย่อมได้รับสิทธิในการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่านักศึกษาต่างชาติและใช้กฎระเบียบที่ผ่อนปรนกว่าในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ นอกจากนี้เมื่อเด็กที่เกิดมีอายุครบ 21 ปีอาจมีสิทธิขอสิทธิอาศัยให้แก่บิดามารดาได้อีกด้วย[9]

การเข้าเมืองสหรัฐอเมริกาโดยกล่าวแจ้งจุดประสงค์อันเป็นเท็จถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง และมีหญิงมีครรภ์จำนวนหนึ่งที่ทำเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การเข้าเมืองมาเพื่อคลอดบุตรไม่เป็นวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด[10]

สถิติจากศูนย์สถิติสุขภาพ (Center for Health Care Statistics) ประมาณการณ์ว่า ใน ค.ศ. 2008 ในประเทศสหรัฐอเมริกามีทารกเกิดจากชาวต่างชาติเพื่อการนี้ 7,462 คน ซึ่งเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนทารกที่เกิด 4.3 ล้านคนในปีเดียวกัน ในขณะที่สถิติจากศูนย์ศึกษาคนเข้าเมือง (Center for Immigration Studies) สำนักคิดที่อยากให้ลดการเข้าเมืองของคนต่างชาติ ประมาณการณ์ว่ามีทารกแรกเกิดจากการท่องเที่ยวเพื่อคลอดบุตรในสหรัฐอเมริการาว 40,000 คนต่อปี[11] อย่างไรก็ดี จำนวนทารกแรกเกิดทั้งหมดที่เกิดจากชาวต่างชาติผู้มีถิ่นฐานชั่วคราวในสหรัฐอเมริการวมทุกวัตถุประสงค์ (เช่น นักท่องเที่ยว นักเรียน คนทำงาน) อาจสูงถึง 200,000 คนต่อปี[12]

แคนาดา แก้

กฎหมายสัญชาติแคนาดาได้ให้สัญชาติแคนาดาแก่ผู้เกิดในดินแดนของแคนาดาตั้งแต่ ค.ศ. 1947 โดยไม่คำถึงสถานะแห่งบิดามารดา มีข้อยกเว้นเพียงบิดามารดาที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลต่างชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น รัฐบาลแคนาดาได้พิจารณาการจำกัดการให้สัญชาติโดยหลักดินแดนแล้ว[13]และยังอภิปรายกันอยู่ใน ค.ศ. 2012[14] โดยในปัจจุบันก็ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

ฮ่องกง แก้

ตามกฎหมายหลักฮ่องกง (Basic Law of Hong Kong) ประชาชนจีนที่เกิดในเกาะฮ่องกงมีสิทธิการอยู่อาศัยในดินแดนเกาะฮ่องกง กล่าวคือ มีสิทธิทั่วไปอย่างชาวฮ่องกง คดีระหว่างอธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมือง กับจวง เฟิงหยวน (Director of Immigration v. Chong Fung Yuen) ใน ค.ศ. 2001 ยืนยันให้สิทธินี้แก่บุตรของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ใช่ผู้มีสิทธิอาศัยในเกาะฮ่องกง[15] ด้วยเหตุนี้จึงมีหญิงมีครรภ์ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางมาคลอดบุตรในเกาะฮ่องกงเพื่อให้บุตรของตนมีสิทธิอาศัยในเกาะดังกล่าว ใน ค.ศ. 2009 มีทารกถึง 36% ที่เกิดในเกาะฮ่องกงที่มีบิดามารดามาจากจีนแผ่นดินใหญ่[16] กรณีนี้ได้สร้างกระแสต่อต้านและก่อให้เกิดความกังวลต่อระบบรัฐสวัสดิการรวมถึงการศึกษาของเกาะฮ่องกง[17] ความพยายามที่จะจำกัดสิทธิโดยกำเนิดในกรณีดังกล่าวถึงปฏิเสธโดยศาล[16] ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยอย่างมา กระทั่งได้ลุกขึ้นประท้วงต่อต้านเมื่อต้น ค.ศ. 2012

ไอร์แลนด์ แก้

กฎหมายสัญชาติไอร์แลนด์ให้สิทธิสัญชาติโดยกำเนิดมาโดยตลอดจนกระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 27 ซึ่งได้รับการลงประชามติยอมรับใน ค.ศ. 2004 การแก้ไขดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกระแสการรายงานข่าวหญิงท้องแก่ขอลี้ภัยในไอร์แลนด์ ซึ่งคาดหมายได้ว่าแม้คำขอลี้ภัยจะไม่ได้รับการอนุมัติ แต่ทารกที่เกิดใหม่ในไอร์แลนด์ก็จะได้สัญชาติไอร์แลนด์[18]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Korean moms want 'born in USA' babies เก็บถาวร 2012-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2002 LA Times
  2. Barbara Demick, "Korean Moms Want 'Born in USA' Babies," L.A. Times, May 2002.
  3. Işıl Eğrikavuk, "Birth Tourism in US on the Rise for Turkish Parents," Hürriyet Daily News, Mar. 12, 2010. http://www.hurriyetdailynews.com/n.php?n=birth-tourism-to-the-usa-explodes-2010-03-12
  4. Id. See also, "Birthright Citizenship in the United States: A Global Comparison," Center for Immigration Studies, August 2010. http://www.cis.org/birthright-citizenship
  5. Davidson Iriekpen, "Citizenship Rights: American Agitations Threaten a Nigerian Practice," This Day (Nigeria), Aug. 16, 2010. http://www.thisdayonline.com/nview.php?id=180829 เก็บถาวร 2011-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. "Chinese 'birth tourists' having babies in Canada". CBC News. January 18, 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-01-19.
  7. Mariana Alvarado, "Hospital Lures Mexican Moms; Tucson Medical Center 'Birth Package' Raises Questions," Ariz. Daily Star, June 21, 2009. http://azstarnet.com/news/local/article_9dd9a46b-a189-5629-835b-03029d25bbe7.html
  8. "About Us". http://www.doctoresparati.com/home.html เก็บถาวร 2013-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. Medina, Jennifer (March 28, 2011). "Officials Close 'Maternity Tourism' House in California". The New York Times.
  10. Keith B. Richburg, For many pregnant Chinese, a U.S. passport for baby remains a powerful lure, The Washington Post, Sunday, July 18, 2010.
  11. http://blog.nj.com/njv_paul_mulshine/2011/01/post_62.html; http://www.cis.org/birthright-citizenship
  12. http://cis.org/birthright-citizenship-for-visitors
  13. Thomas Alexander Aleinikoff; Douglas B. Klusmeyer (2002). Citizenship policies for an age of migration. Carnegie Endowment. p. 12. ISBN 978-0-87003-187-8.
  14. Prithi Yelaja (March 5, 2012). "'Birth tourism' may change citizenship rules". CBC News.
  15. Chen, Albert H. Y. (2011), "The Rule of Law under 'One Country, Two Systems': The Case of Hong Kong 1997–2010" (PDF), National Taiwan University Law Review, 6 (1): 269–299, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-10-25, สืบค้นเมื่อ 2011-10-04
  16. 16.0 16.1 "Mamas without borders". The Economist. August 19, 2010.
  17. "Hong Kong Maternity Tourism". Sinosplice. 2009-10-15. สืบค้นเมื่อ 2012-02-15.
  18. Mancini, J. M. (September 2008). ""Citizenship Matters": Lessons from the Irish Citizenship Referendum". American Quarterly. 60 (3): 575–599. doi:10.1353/aq.0.0034. ISSN 1080-6490. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)