การทัพบอร์เนียว พ.ศ. 2488
การทัพบอร์เนียว พ.ศ. 2488 เป็นยุทธการทางทหารที่สำคัญครั้งสุดท้ายของฝ่ายสัมพันธมิตรในในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่าง 1 พฤษภาคม – 21 กรกฎาคม กองพลออสเตรเลีย 1 ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเลสลี มอร์เชดได้โจมตีกองทหารญี่ปุ่นที่ยึดครองเกาะ กองทัพเรือและกองทัพอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งนำโดยกองเรือที่ 7 ของสหรัฐ และกองทัพอากาศที่ 13 ของสหรัฐมีบทบาทที่สำคัญในการทัพครั้งนี้ด้วย มีการตอบโต้จากกองทัพเรือและกองทัพบกของญี่ปุ่นทางใต้และทางตะวันออกของบอร์เนียว ที่นำโดยพลเรือโท มิชิอากิ คามาดะ และทางตะวันตกเฉียงเหนือโดยกองทัพบกที่ 37 นำโดยพลโท บาบะ มาซาโอะ
การทัพบอร์เนียว พ.ศ. 2488 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามโลกครั้งที่สอง | |||||||
แผนที่แสดงความก้าวหน้าของการทัพบอร์เนียว | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ออสเตรเลีย สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ บริเตนใหญ่ | ญี่ปุ่น | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ดักลาส แมกอาเธอร์[1] |
มิชิอากิ คามาดะ บาบะ มาซาโอะ | ||||||
กำลัง | |||||||
35,000 | 15,000 | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
เสียชีวิต 2,100 คน | เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 4,700 คน |
แผนการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตรนี้เป็นที่รู้จักในชื่อยุทธการโอโบ เป้าหมายหลักคือเพื่อทำลายกองทัพญี่ปุ่น และยึดครองดินแดนต่อไปนี้คืนมาคือ ดัตช์อีสต์อินดีส ฟิลิปปินส์ภาคใต้ ซาราวัก และบริติชบอร์เนียว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีน้ำมันดิบ
ในตอนแรก ฝ่ายสัมพันธมิตรได้วางแผนไว้เป็น 6 ขั้นตอนคือ ยุทธการโอโบ 1 โจมตีที่ตารากัน ยุทธการโอโบ 2 โจมตีบาลิกปาปัน ยุทธการโอโบ 3 โจมตีบันจาร์มาซิน ยุทธการโอโบ 4 โจมตีซูราบายาหรือปัตตาเวีย ยุทธการโอโบ 5 โจมตีดัตช์อีสต์อินดีสตะวันออก และยุทธการโอโบ 6 โจมตีบริติชบอร์เนียวหรือซาบะฮ์ ในท้ายที่สุด มีเฉพาะการโจมตีที่ตารากัน บาลิกปาปัน บริติชบอร์เนียวที่เกาะลาบวนและอ่าวบรูไนเท่านั้นที่เกิดขึ้น[2] การโจมตีเริ่มจากยุทธการโอโบ 1 โดยการขึ้นบกที่เกาะเล็กๆของตารากัน ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 จากนั้นตามมาด้วยยุทธการโอโบ 6 ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2488 โดยโจมตีเกาะลาบวนและชายฝั่งของบรูไน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบอร์เนียว อีกสัปดาห์ต่อมา ออสเตรเลียเข้าโจมตีญี่ปุ่นที่เวสตัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวบรูไน จากนั้นจึงตามมาด้วยยุทธการโอโบ 2 ในวันที่ 1 กรกฎาคมที่บาลิกปาปัน การรบเหล่านี้ถือเป็นยุทธการสุดท้ายระหว่างออสเตรเลียและญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
อ้างอิง
แก้- ↑ James 1975, p. 749.
- ↑ Dennis, 1995 p. 440
- Dennis, Peter (1995). The Oxford Companion to Australian Military History. Melbourne, Victoria: Oxford University Press. ISBN 0-19-553227-9.