การทรยศโดยชาติตะวันตก

การทรยศโดยชาติตะวันตก (อังกฤษ: Western betrayal) หรืออาจใช้ว่า การทรยศที่ยัลตา (อังกฤษ: Yalta betrayal) เป็นคำที่มักจะใช้กันในกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก[1] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโปแลนด์และเช็กเกีย ซึ่งหมายความถึงนโยบายด้านการต่างประเทศของกลุ่มประเทศตะวันตกหลายประเทศ ซึ่งได้ละเลยสนธิสัญญาพันธมิตรและข้อตกลงหลายฉบับนับตั้งแต่สนธิสัญญาแวร์ซาย สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ไปจนถึงสมัยสงครามเย็น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการหลอกลวงและการทรยศ[2]

"ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสาม" ที่การประชุมที่ยัลตา (แถวนั่งจากซ้ายไปขวา) วินสตัน เชอร์ชิลล์ แฟรงกลิน โรสเวลต์ และโจเซฟ สตาลิน

ในการใช้คำว่า "การทรยศ" นี้ เป็นผลมาจากความจริงที่ว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก ซึ่งแม้ว่าจะได้สนับสนุนให้เกิดระบอบประชาธิปไตยและการวางนโยบายด้วยตนเอง ได้ลงนามในสนธิสัญญาและก่อตั้งพันธมิตรทางการทหารทั้งก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กระนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกกลับทรยศพันธมิตรของตนในยุโรปกลางโดยการละเลยที่จะปฏฺบัติตามข้อผูกมัดตามสนธิสัญญานั้น ยกตัวอย่างเช่น ไม่ช่วยป้องกันนาซีเยอรมนีจากการยึดครองเชโกสโลวาเกีย แต่กลับยกให้ในข้อตกลงมิวนิก (ค.ศ. 1938) หรือการทอดทิ้งโปแลนด์ในรับมือกับเยอรมนีและสหภาพโซเวียตตามลำพังระหว่างการบุกครองโปแลนด์ (ค.ศ. 1939)[3] และการลุกฮือในกรุงวอร์ซอ ในปี ค.ศ. 1944[4]

นอกจากนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกยังได้ลงนามในข้อตกลงยัลตา และภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ไม่ให้การป้องกันหรือยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือรัฐเหล่านี้จากการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการควบคุมของสหภาพโซเวียต และระหว่างการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 ฮังการีก็ไม่ได้รับทั้งการสนับสนุนทั้งทางทหารและการสนับสนุนในด้านกำลังใจจากฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกเลย และทำให้การปฏิวัติถูกปราบปรามโดยกองทัพแดงในที่สุด[5] สถานการณ์เดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1968 เมื่อกองทัพร่วมของกลุ่มประเทศสนธิสัญญาวอร์ซอเพื่อกำจัดยุคฤดูใบไม้ผลิปรากในเชโกสโลวาเกีย และยุติการเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับมาสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ดังเดิม

ดังที่ได้เกิดความกังวลในการประชุมยัลตา แนวคิดของมันก็ถูกโต้เถียงกัน โดยนักประวัติศาสตร์มองว่าการที่นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร วินสตัน เชอร์ชิลล์ และประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากยอมรับความต้องการของผู้นำโซเวียต โจเซฟ สตาลิน ทั้งในการประชุมเตหะรานและในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกเองก็ได้ประเมินอำนาจของสหภาพโซเวียตผิดไปบ้าง เช่นเดียวกับที่ประเมินนาซีเยอรมนีผิดไปหนึ่งทศวรรษก่อนหน้านั้น แต่ผู้สนับสนุนการประชุมยอลตามีแนวคิดว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการทรยศกลุ่มประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยไม่มีการพิจารณาถึงชะตากรรมของโปแลนด์ในอนาคต กองกำลังโปแลนด์ถือเป็นกองกำลังที่ต่อสู้กับนาซีเยอรมนีเป็นเวลายาวนานกว่าประเทศอื่นใดในสงครามโลกครั้งที่สอง และทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังสหรัฐอเมริกา อังกฤษและโซเวียตในการทัพที่สำคัญหลายครั้ง[6] รวมไปถึงในยุทธการที่เบอร์ลินครั้งสุดท้าย ซึ่งกองกำลังติดอาวุธโปแลนด์ทางตะวันตกมีจำนวนกว่า 249,000 นาย (กองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกมีจำนวนกว่า 4 ล้านนาย) และ 180,000 นายทางตะวันออก (กองทัพโซเวียตมีจำนวนกว่า 6 ล้านนาย) และมีอีกกว่า 300,000 นายที่ทำการรบใต้ดิน หรือในกองกำลังกู้ชาติ[7][8][9] ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพโปแลนด์มีจำนวนกว่า 600,000 นาย โดยที่ไม่นับกองกำลังกู้ชาติ[10] ซึ่งทำให้โปแลนด์มีกองกำลังขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ในสงคราม รองมาจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร[10][11] รัฐบาลผลัดถิ่นโปแลนด์เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นประธานาธิบดีโรสเวลต์ก็ยังนิ่งนอนใจได้เมื่อรัฐบาลโปแลนด์ถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลหุ่นของโซเวียต โดยได้มีข้อสังเกตว่าโรสเวลต์ได้วางแผนที่จะมอบโปแลนด์ให้กับสตาลิน[12]

นักประวัติศาสตร์คนอื่น ๆ เสนอว่า เชอร์ชิลล์กระตุ้นให้โรสเวลต์ดำเนินกิจการทางทหารต่อในทวีปยุโรป แต่ต่อต้านสหภาพโซเวียต เพื่อป้องกันการแสวงหาดินแดนเพิ่มเติมจากพรมแดนของตน รูสเวลต์ดูเหมือนว่าจะเชื่อใจในการรับประกันของสตาลินและปฏิเสธที่จะสนับสนุนเจรนาของเชอร์ชิลล์ในการรักษาเสรีภาพของทวีปยุโรปนอกเหนือจากอิทธิพลของสหภาพโซเวียต โดยปราศจากการหนุนหลังของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรที่เหนื่อยอ่อน อดอยาก และแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวจึงไม่สามารถดำเนินการตามที่ตั้งใจเอาไว้ และถึงแม้ว่าจะมีการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกาก็ตาม ผลจากกิจการทางทหารนั้นก็ยังคงไม่แน่นอนอยู่มาก

การทูตและยุโรปกลางหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แก้

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1919 เป็นต้นมา ฝรั่งเศสได้ดำเนินนโยบายที่จะสร้างแนวกักกันโรคในยุโรปตะวันออก ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียต รวมไปถึงแนวคิดทางการเมืองของตน ซึ่งอุปมาได้ดังเช่นเชื้อโรค การร่วมมือกันบุกครองสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี ในปีเดียวกัน โดยกองกำลังโรมาเนีย เชโกสโลวาเกียและฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการดำเนินการตามแนวคิดนี้ ในปี ค.ศ. 1921 ฝรั่งเศสได้ลงนามในพันธมิตรทางการทหารร่วมกับโปแลนด์ ซึ่งเป็นการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะให้การช่วยเหลือคู่เจรจาในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกบุกครองจากอำนาจตะวันตกอื่น ๆ ในปี ค.ศ. 1924 ฝรั่งเศสลงนามในสนธิสัญญาที่มีเนื้อหาคล้ายกันกับเชโกสโลวาเกีย ในปี ค.ศ. 1926 ลงนามกับโรมาเนีย และในปี ค.ศ. 1927 ลงนามกับยูโกสลาเวีย

ในปี ค.ศ. 1925 ฝรั่งเศสได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่กับโปแลนด์และเชโกสโลวาเกีย ซึ่งเป็นการกระชับระดับความร่วมมือทางทหารร่วมกันระหว่างประเทศคู่เจรจา นอกเหนือจากนั้น ฝรั่งเศสยังได้พยายามเปลี่ยนภาคีน้อย ซึ่งประกอบด้วยเชโกสโลวาเกีย โรมาเนียและยูโกสลาเวีย และยกระดับขึ้นเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านฮังการีในปี ค.ศ. 1921 ให้เป็นพันธมิตรเพื่อต้านเยอรมนีแทน ในปี ค.ศ. 1921 โปแลนด์และโรมาเนียในลงนามในพันธมิตรโปแลนด์-โรมาเนีย ซึ่งทำให้โปแลนด์เข้าใกล้สถานะที่จะเข้าร่วมในภาคีน้อยได้ ฝรั่งเศสเองก็รู้สึกยินดีที่จะรับโปแลนด์เข้ามาเป็นสมาชิกด้วยเช่นกัน แต่ความเป็นปรปักษ์ระหว่างเชโกสโลวาเกียและโปแลนด์ทำให้แนวคิดดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ

นอกเหนือจากข้อตกลงของสันนิบาติชาติ อังกฤษไม่มีข้อผูกมัดในการป้องกันในยุโรปตะวันออกในช่วงคริสต์ทษวรรษ 1920 และได้มีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าอังกฤษจะรักษาสถานะของตนเอาไว้ ในปี ค.ศ. 1925 เลขาธิการต่างประเทศของอังกฤษ เซอร์อัสเทน เชมเบอร์เลน ได้กล่าวต่อสาธารณะว่าฉนวนโปแลนด์ "ไม่คุ้มค่าสำหรับกระดูกของทหารแกรนาเดียร์แม้แต่เพียงคนเดียว"[13][14]

ในตอนปลายคริสต์ทศวรรษ 1920 และตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1930 รูปแบบความเป็นพันธมิตรอันยุ่งเหยิงได้ถูกจัดตั้งขึ้นระหว่างนานาชาติในทวีปยุโรป ในความหวังที่จะป้องกันสงครามในอนาคต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากเยอรมนีหรือสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1932 และ ค.ศ. 1934 โปแลนด์ได้ลงนามในสธิสัญญาไม่รุกรานระหว่างกันกับสหภาพโซเวียตเป็นเวลา 10 ปี และในปี ค.ศ. 1932 เช่นกัน สหภาพโซเวียตได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับฟินแลนด์ เอสโตเนีย และลัตเวีย เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1934 เยอรมนีและโปแลนด์ได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันเป็นเวลา 10 ปี ในปี ค.ศ. 1935 สหภาพโซเวียตได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสและเชโกสโลวาเกีย

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1933 ได้มีข่าวลือในกรุงปารีสว่าได้มีทางเลือกให้ทำ "สงครามเพื่อป้องกันตัว" กับเยอรมนี และได้รับการพิจารณาโดยรัฐบาลฝรั่งเศส เบลเยี่ยมและโปแลนด์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ลูอิส เบิร์นสไตน์ นาไมร์ ได้กล่าวว่า หลังจากนั้น โปแลนด์ได้เสนอแนวคิดสงครามเพื่อป้องกันตัวต่อฝรั่งเศสในเวลานั้น แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานในหอจดหมายเหตุทั้งของฝรั่งเศส เบลเยี่ยม หรือโปแลนด์ที่มีเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามเพื่อป้องกันตัวเลย

อ้างอิง แก้

  1. http://wiadomosci.wp.pl/kat,1342,title,Jalta-symbolem-zdrady-aliantow-wobec-Polski,wid,6624250,wiadomosc.html?ticaid=18594
  2. http://web.ku.edu/~eceurope/hist557/BiblPt2.htm
  3. "FRENCH AND BRITISH BETRAYAL OF POLAND IN 1939".
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-14. สืบค้นเมื่อ 2009-08-16.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2009-08-16.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-06. สืบค้นเมื่อ 2009-08-16.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-07. สืบค้นเมื่อ 2009-08-16.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-21. สืบค้นเมื่อ 2009-08-16.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-10. สืบค้นเมื่อ 2009-08-16.
  10. 10.0 10.1 http://www.ww2.pl/Polish,contribution,to,the,Allied,victory,in,World,War,2,(1939-1945),132.html[ลิงก์เสีย]
  11. http://www.angelfire.com/ok2/polisharmy/chapter1.html
  12. http://www.randomhouse.com/boldtype/0797/radzinsky/excerpt.html
  13. Andrew Rothstein (1980). The Soldiers' Strikes of 1919. Basingstoke: Macmillan Publishing. p. 35. ISBN 0333276930. (อังกฤษ)
  14. Arthur Harris used the same phrase in 1945 and the historian Frederick Taylor on page 432 in Dresden: Tuesday, February 13, 1945 mentions that it was a deliberate echo of a famous sentence used by Bismarck "The whole of the Balkans is not worth the bones of a single Pomeranian grenadier."