การกลับใจของเปาโลอัครทูต

การกลับใจของเปาโลอัครทูต (อังกฤษ: Conversion of Paul the Apostle หรือ Pauline conversion), การกลับใจที่ดามัสกัส (อังกฤษ: Damascene conversion), พระคริสต์แสดงองค์ที่ดามัสกัส (อังกฤษ: Damascus Christophany) หรือ เหตุการณ์บนถนนสู่ดามัสกัส (อังกฤษ: Road to Damascus event) เป็นเหตุการณ์ในชีวิตของเซาโล/เปาโลอัครทูตที่ปรากฏในภาคพันธสัญญาใหม่ ซึ่งนำให้เปาโลล้มเลิกการข่มเหงคริสต์ศาสนิกชนในยุคแรก แล้วกลายมาเป็นสาวกคนหนึ่งของพระเยซู

การกลับใจของนักบุญเปาโล โดย Luca Giordano (ค.ศ. 1690, พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งน็องซี
การกลับใจของนักบุญเปาโล โดยการาวัจโจ (ค.ศ. 1600)

เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่

แก้

ประสบการณ์การกลับใจของเปาโลถูกกล่าวถึงในบทจดหมายของเปาโลและในกิจการของอัครทูต ทั้งสองแหล่งระบุว่าเซาโล/เปาโลเดิมไม่ใช่สาวกของพระเยซูและไม่เคยรู้จักพระเยซูก่อนพระองค์ทรงถูกตรึงที่กางเขน เรื่องเล่าในหนังสือกิจการของอัครทูตทำให้อนุมานได้ว่าการกลับใจของเปาโลเกิดขึ้นใน 4-7 ปีหลังการตรึงพระเยซูที่กางเขน[1][2][3] เรื่องราวประสบการณ์การกลับใจของเปาโลถูกระบุว่าเป็นการอัศจรรย์ เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือการสำแดง

ก่อนการกลับใจ

แก้

ก่อนการกลับใจ เปาโลเป็นที่รู้จักในชื่อเซาโลและเป็น "ฟาริสีในพวกฟาริสี" ผู้ "ข่มเหง" เหล่าสาวกของพระเยซูอย่างรุนแรง เปาโลเล่าถึงชีวิตก่อนการกลับใจของตนในจดหมายถึงชาวกาลาเทียว่า:

เพราะว่าท่านก็ได้ยินถึงชีวิตในอดีตของข้าพเจ้า เมื่อยังอยู่ในศาสนายิวว่า ข้าพเจ้าได้ข่มเหงคริสตจักรของพระเจ้าอย่างร้ายแรงยิ่งนัก และพยายามทำลายเสีย และข้าพเจ้าได้ก้าวหน้าในด้านศาสนายิวเหนือกว่าเพื่อนร่วมชาติหลายคนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ข้าพเจ้ามีความกระตือรือร้นกว่าในเรื่องขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษของข้าพเจ้า

— กาลาเทีย 1:13–14, THSV11[4]

เปาโลยังกล่าวถึงชีวิตก่อนกลับใจของคนในจดหมายถึงชาวฟีลิปปี 3:4–6[5] และการมีส่วนร่วมเปาโลในเหตุการณ์การขว้างสเทเฟนด้วยก้อนหินถูกกล่าวถึงในกิจการ 7:57–8:3[6]

บทจดหมายของเปาโล

แก้
 
ภาพปูนเปียกใน Cappella Paolina ในวาติกัน โดยมีเกลันเจโล (ค.ศ. 1542-1545)

ในบทจดหมายของเปาโล คำบรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์การกลับใจของเปาโลมีเพียงสั้น ๆ จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 วรรค 9:1[7] และ 15:3–8[8] บรรยายถึงเปาโลที่เห็นพระคริสต์ผู้ทรงคืนพระชนม์ว่า:

เพราะว่าข้าพเจ้าได้มอบเรื่องสำคัญที่สุดที่ได้รับมานั้นแก่พวกท่านคือพระคริสต์วายพระชนม์เพราะบาปของเรา ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ และทรงถูกฝังไว้ แล้ววันที่สามพระองค์ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมา ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ พระองค์ทรงปรากฏต่อเคฟาส แล้วต่ออัครทูตสิบสองคน ต่อจากนั้น พระองค์ทรงปรากฏต่อพี่น้องกว่าห้าร้อยคนในเวลาเดียวกัน ที่ส่วนมากยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่บ้างก็ล่วงหลับไปแล้ว ต่อจากนั้นพระองค์ทรงปรากฏต่อยากอบ แล้วต่ออัครทูตทั้งหมด หลังสุดพระองค์ทรงปรากฏต่อข้าพเจ้า ผู้เป็นเหมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด

— 1 โครินธ์ 15:3–8, THSV11[8]
 
ภาพในช่องฐานฉากแท่นบูชาในคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดย Luca di Tommè

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 2 ยังบรรยายประสบการณ์การสำแดงต่อเปาโลด้วย ข้อความเริ่มต้นด้วยการที่เปาโลดูเหมือนกำลังพูดถึงบุคคลอื่น แต่ในไม่ช้าก็ปรากฏชัดเจนว่าเปาโลกำลังพูดถึงตนเอง

ข้าพเจ้าจำเป็นต้องอวด แม้ว่าจะไม่มีประโยชน์ แต่ข้าพเจ้าจะพูดต่อไปถึงนิมิตและการสำแดงที่มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ารู้จักชายคนหนึ่งที่อยู่ในพระคริสต์ เมื่อสิบสี่ปีที่แล้วเขาถูกรับขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นที่สาม (จะไปทั้งร่างกายหรือไปโดยไม่มีร่างกายข้าพเจ้าไม่รู้ พระเจ้าทรงรู้) ข้าพเจ้ารู้ว่าชายคนนี้ (จะไปทั้งร่างกายหรือไม่มีร่างกายข้าพเจ้าไม่รู้ พระเจ้าทรงรู้) ถูกรับขึ้นไปยังเมืองบรมสุขเกษม และได้ยินถ้อยคำที่บอกไม่ได้ซึ่งไม่อนุญาตให้มนุษย์กล่าวถึง สำหรับชายคนนั้นข้าพเจ้าอวดได้ แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าจะไม่อวดเลย นอกจากจะอวดเรื่องความอ่อนแอของข้าพเจ้า เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าอยากจะอวดข้าพเจ้าก็ไม่ใช่คนโง่เขลา เพราะว่าข้าพเจ้าจะพูดความจริง แต่ข้าพเจ้างดไว้ เพื่อจะไม่มีใครประเมินข้าพเจ้าสูงกว่าสิ่งที่เขาได้เห็นในตัวข้าพเจ้าหรือฟังจากข้าพเจ้า และเพื่อไม่ให้ข้าพเจ้ายกตัวเกินไป เนื่องจากการสำแดงอันยิ่งใหญ่ ก็ทรงให้มีหนามในเนื้อของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นทูตของซาตานที่คอยโบยตีข้าพเจ้าเพื่อข้าพเจ้าจะไม่ยกตัวเกินไป

— 2 โครินธ์ 12:1-7, THSV11[9]

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย บทที่ 1 ก็บรรยายถึงการกลับใจของเปาโลในฐานะการสำแดงของพระเจ้าโดยการที่พระเยซูทรงปรากฏต่อหน้าเปาโล

พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทราบว่า ข่าวประเสริฐที่ประกาศโดยข้าพเจ้านั้นไม่ใช่ของมนุษย์ เพราะว่าข้าพเจ้าไม่ได้รับข่าวประเสริฐนั้นจากมนุษย์ ไม่มีใครสอนข้าพเจ้า แต่พระเยซูคริสต์ทรงสำแดงแก่ข้าพเจ้า เพราะว่าท่านก็ได้ยินถึงชีวิตในอดีตของข้าพเจ้า เมื่อยังอยู่ในศาสนายิวว่า ข้าพเจ้าได้ข่มเหงคริสตจักรของพระเจ้าอย่างร้ายแรงยิ่งนัก และพยายามทำลายเสีย [...] แต่เมื่อพระเจ้า ผู้ทรงแยกข้าพเจ้าไว้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและได้ทรงเรียกใช้ข้าพเจ้าโดยพระคุณของพระองค์นั้น พอพระทัย ที่จะทรงสำแดงพระบุตรของพระองค์แก่ข้าพเจ้า เพื่อให้ข้าพเจ้าประกาศพระบุตรแก่คนต่างชาตินั้น ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ปรึกษากับมนุษย์คนใดเลย

— กาลาเทีย 1:11–16, THSV11[10]

กิจการของอัครทูต

แก้

กิจการของอัครทูตเล่าถึงประสบการณ์การกลับใจของเปาโลโดยมีการเล่าถึง 3 ครั้งในหนังสือและมีรายละเอียดมากกว่าที่บันทึกในจดหมายของเปาโล หนังสือกิจการของอัครทูตบรรยายว่าเปาโลกำลังเดินทางจากเยรูซาเล็มไปยังเมืองดามัสกัสในแคว้นซีเรียโดยได้รับคำสั่งจากมหาปุโรหิตให้ตามหาและจับกุมเหล่าสาวกของพระเยซู แล้วจะส่งตัวกลับเยรูซาเล็มในฐานะนักโทษเพื่อสอบปากคำและอาจจะตัดสินโทษประหารชีวิต[11] การเดินทางถูกขัดจังหวะเมื่อเปาโลเห็นแสงสว่างจนตาพร่า และได้รับการสื่อสารโดยตรงจากพระสุรเสียงของพระเยซู

กิจการ 9 เล่าเรื่องราวนี้ด้วยมุมมองบุคคลที่สาม:

ขณะที่เซาโลเดินทางไปใกล้จะถึงเมืองดามัสกัส ทันใดนั้นมีแสงสว่างส่องมาจากฟ้าล้อมรอบตัวท่าน ท่านก็ล้มลงที่พื้นและได้ยินพระสุรเสียงตรัสว่า "เซาโล เซาโลเอ๋ย เจ้าข่มเหงเราทำไม?"

เซาโลจึงทูลถามว่า "องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์เป็นใคร?"

พระองค์ตรัสว่า "เราคือเยซูผู้ที่เจ้าข่มเหง จงลุกขึ้นเถิดและเข้าไปในเมือง จะมีคนบอกให้เจ้าทราบว่าเจ้าต้องทำอะไร"

พวกที่เดินทางไปด้วยกันก็ยืนจังงังพูดไม่ออก พวกเขาได้ยินพระสุรเสียงแต่ไม่เห็นใคร เซาโลจึงลุกขึ้นจากพื้น เมื่อลืมตาแล้วก็มองอะไรไม่เห็น พวกเขาจึงจูงมือท่านเข้าไปในเมืองดามัสกัส ตาของท่านก็มืดมัวไปถึงสามวัน และท่านไม่ได้กินหรือดื่มอะไรเลย

— กิจการ 9:3–9, THSV11[12]
 
อานาเนียรักษานักบุญเปาโลให้กลับมามองเห็น (ป. ค.ศ. 1631) โดยปีเอโตร ดา กอร์โตนา

เรื่องราวดำเนินต่อไปด้วยการบรรยายเรื่องที่อานาเนียชาวเมืองดามัสกัสได้รับการสำแดงจากพระเจ้าที่ตรัสสั่งให้อานาเนียไปเยี่ยมเซาโลที่บ้านของยูดาสบนถนนสายที่เรียกว่า "ถนนตรง" และให้วางมือบนตัวเซาโลเพื่อรักษาให้กลับมามองเห็น (เชื่อกันว่าบ้านของยูดาสตั้งอยู่ใกล้กับปลายด้านตะวันตกของถนนตรง)[13] ในตอนแรกอานาเนียรู้สึกลังเลใจเพราะได้ยินเรื่องการข่มเหงของเซาโล แต่อานาเนียก็เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า:

แล้วอานาเนียก็ไป และเข้าไปในบ้านนั้น วางมือบนตัวเซาโลกล่าวว่า "พี่เซาโล พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ที่ปรากฏแก่ท่านระหว่างทางที่ท่านมาที่นี่ ทรงใช้ข้าพเจ้ามาเพื่อให้ท่านมองเห็นอีก และเพื่อให้ท่านเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” ทันใดนั้นมีอะไรเหมือนเกล็ดหลุดจากตาของเซาโล แล้วท่านก็เห็นได้อีก ท่านจึงลุกขึ้นรับบัพติศมา พอรับประทานอาหารแล้วก็มีกำลังขึ้น

— กิจการ 9:17–19, THSV11[14]
 
เปาโลแก้คดีเฉพาะพระพักตร์อากริปปา (กิจการ 26) โดย Nikolai Bodarevsky (ค.ศ. 1875)

การเล่าถึงครั้งที่ 2 ในกิจการของอัครทูตเกี่ยวกับการกลับใจของเปาโลปรากฏในฐานะคำกล่าวของเปาโลที่พูดขณะถูกจับกุมในเยรูซาเล็ม[15] เปาโลกล่าวกับฝูงชนและเล่าเรื่องการกลับใจของตน โดยมีคำบรรยายที่เหมือนกับในกิจการ 9 แต่มีความแตกต่างเล็กน้อย ตัวอย่างเช่นในกิจการ 9:7[16] ระบุว่าผู้ที่ร่วมเดินทางกับเปาโลไม่เห็นว่าเปาโลกำลังพูดกับใคร ในขณะที่กิจการ 22:9[17] ระบุว่าคนทั้งหลายที่อยู่กับเปาโลเห็นแสงสว่างร่วมกัน คำพูดนี้ได้รับการปรับแต่งอย่างชัดเจนให้เหมาะกับผู้ฟังที่เป็นชาวยิว โดยจุดเน้นอยู่ที่กิจการ 22:12[18] เกี่ยวกับชื่อเสียงที่ดีของอานาเนียในหมู่ชาวยิงในดามัสกัส มากกว่าจะเป็นความเป็นคริสเตียนของอานาเนีย[19]

การเล่าถึงครั้งที่ 3 ในกิจการของอัครทูตเกี่ยวกับการกลับใจของเปาโลปรากฏเมื่อเปาโลทูลกษัตริย์อากริปปา โดยแก้คดีป้องกันตนเองจากข้อหาที่เปาโลถูกกล่าวหาว่าต่อต้านธรรมบัญญัติ[20] การกล่าวถึงการกลับใจในครั้งนี้มีขนาดสั้นกว่าการกล่าวถึงครั้งอื่น ๆ คำพูดนี้เป็นอีกครั้งที่ได้รับการปรับแต่งให้เข้ากับผู้ฟัง โดยเน้นย้ำถึงสิ่งที่ผู้ปกครองชาวโรมันจะเข้าใจได้ คือเรื่องการเชื่อฟังนิมิตจากสวรรค์[21] และให้ความมั่นพระทัยกับอากริปปาว่าคริสเตียนไม่ใช่สมาคมลับ[22][23]

อ้างอิง

แก้
  1. Bromiley, Geoffrey William (1979). International Standard Bible Encyclopedia: A-D (International Standard Bible Encyclopedia (W.B.Eerdmans)). Wm. B. Eerdmans Publishing Company. p. 689. ISBN 0-8028-3781-6.
  2. Barnett, Paul (2002). Jesus, the Rise of Early Christianity: A History of New Testament Times. InterVarsity Press. p. 21. ISBN 0-8308-2699-8.
  3. L. Niswonger, Richard (1993). New Testament History. Zondervan Publishing Company. p. 200. ISBN 0-310-31201-9.
  4. กาลาเทีย 1:13 -14
  5. ฟีลิปปี 3:4 -6
  6. กิจการ 7:57 -8
  7. 1 โครินธ์ 9:1
  8. 8.0 8.1 1 โครินธ์ 15:3–8
  9. 2 โครินธ์ 12:1-7
  10. กาลาเทีย 1:11 -16
  11. กิจการ 9:2
  12. กิจการ 9:3 -9
  13. John Phillips, Exploring Acts: An expository commentary, Kregel Academic, 2001, ISBN 0-8254-3490-4, p. 179.
  14. กิจการ 9:13 -19
  15. กิจการ 22:6 -21
  16. กิจการ 9:7
  17. กิจการ 22:9
  18. กิจการ 22:12
  19. C. K. Barrett, A Critical and Exegetical Commentary on the Acts of the Apostles: Introduction and commentary on Acts XV-XXVIII, Continuum, 2004, ISBN 0-567-08395-0, pp. 1029–1031.
  20. กิจการ 26:12 -18
  21. กิจการ 26:19
  22. Charles H. Talbert, Reading Acts: A Literary and Theological Commentary on the Acts of the Apostles, Smyth & Helwys, 2005, ISBN 1-57312-277-7, pp 208–209.
  23. กิจการ 26:26

บรรณานุกรม

แก้

อ่านเพิ่มเติม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้