ตำแหน่งผู้เล่นฟุตบอล

ภาพร่วมเกี่ยวกับผู้เล่นในทีมฟุตบอล
(เปลี่ยนทางจาก กองกลางตัวรุก)

ในกีฬาฟุตบอล หนึ่งทีมมีผู้เล่น 11 คน เป็นมีผู้รักษาประตู 1 คน และผู้เล่นตำแหน่งอื่นอีก 10 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่ทำหน้าที่ป้องกัน (กองหลัง) ผู้อยู่แดนกลาง (กองกลาง) และผู้บุก (กองหน้า) แล้วแต่ระบบแผนที่ใช้ โดยตำแหน่งเหล่านั้นจะบ่งบอกถึงหน้าที่และพื้นที่ในการเล่นของตำแหน่งนั้น ๆ ด้วย

โดยตอนแรกจะมีแค่ตำแหน่งกองหน้า (forwards), ฮาล์ฟแบ็ก (half-backs) และทรีควอเตอร์แบ็ก (three-quarter-backs) ช่วงแรกที่มีชื่ออย่างนี้เพราะว่า สมัยนั้นเป็นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระบบ 2–3–5 เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง การป้องกันจะมีฟุลแบ็กที่รู้จักกันในชื่อกองหลังฝั่งซ้ายและกองหลังฝั่งขวา แดนกลางจะมีเลฟต์ฮาล์ฟ (left-half), เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ (centre-half) และไรต์ฮาล์ฟ (right-half) และในแนวบุกจะเป็นเอาต์ไซด์เลฟต์ (outside-left), อินไซด์เลฟต์ (inside-Left), กองหน้าตรงกลาง (centre-forward), อินไซด์ไรต์ (inside-right) และเอาต์ไซด์ไรต์ (outside-right) หลังจากนั้นรูปแบบระบบก็พัฒนาไปจนมีชื่อตำแหน่งมากมาย อย่างเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 คำว่า "ฮาล์ฟแบ็ก" ได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า "กองกลาง" กับตำแหน่งที่เล่นในแดนกลางทั้งกลางสนามและริมเส้น กองกลางตัวกลางได้ถูกพัฒนาขึ้นอีกกลายเป็นกองกลางตัวบุกและกองกลางตัวรับ

ในเกมสมัยใหม่ ตำแหน่งในฟุตบอลได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเหมือนรักบี้หรืออเมริกันฟุตบอล ถึงอย่างนั้นนักเตะส่วนใหญ่มักเล่นในตำแหน่งเดิมตลอดการค้าแข้งของพวกเขา เพราะในแต่ล่ะตำแหน่งนั้นใช้ทักษะและความสามารถทางร่างกายไม่เหมือนกัน แต่ก็มีนักฟุตบอลบางพวกที่เล่นได้หลายตำแหน่ง ซึ่งถึงเรียกว่า "นักเตะสารพัดประโยชน์" (utility players)[1]

ถึงกระนั้นก็ยังมีกลวิธีโททัลฟุตบอลที่วางตำแหน่งนักเตะอย่างหลวม ๆ ทำให้ผู้เล่นสามารถเล่นได้อย่างหลากหลาย ตัวอย่างเช่นโยฮัน ไกรฟฟ์ ที่สามารถเล่นได้ทุกตำแหน่งยกเว้นผู้รักษาประตู

ผู้รักษาประตู

แก้
 
ผู้รักษาประตู (เสื้อสีดำ) พยายามใช้มือป้องกันลูกจุดโทษ

ผู้รักษาประตู (goalkeeper) เป็นตำแหน่งที่ป้องกันมากที่สุดในบรรดาหลายตำแหน่ง หน้าที่หลักก็คือการไม่ให้อีกทีมได้แต้มโดยการรับ การปัด หรือการชกบอลจากการยิง การโหม่ง หรือจากลูกที่ไขว้เข้ามา ตำแหน่งนี้ไม่เหมือนตำแหน่งอื่นในทีมตรงที่ส่วนใหญ่ตำแหน่งนี้มักใช้เวลาอยู่บริเวณกรอบเขตโทษ ผลคือทำให้ผู้รักษาประตูเห็นตำแหน่งที่ดีของสนามหรือจากลูกตั้งเตะ ผู้รักษาประตูเป็นผู้เล่นคนเดียวที่สามารถใช้มือกับลูกฟุตบอลได้ แต่ใช้ได้ในกรอบเขตโทษตัวเองเท่านั้น ตำแหน่งผู้รักษาประตูนี้ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญและยากในการป้องกันอีกด้วย

กองหลัง

แก้
 
กองหลังของโบลตันวอนเดอเรอส์ (ชุดขาว) กำลังป้องกันการรุกของผู้เล่นจากฟุลัม (ชุดฟ้า)

กองหลัง (defender) จะอยู่ด้านหลังของกองกลาง และหน้าที่หลักของพวกเขาก็คือสนับสนุนทีมและป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายทำประตูได้ ปกติพวกเขาจะอยู่เพียงครึ่งสนามในฝั่งพวกเขาเพื่อป้องกัน กองหลังตัวสูงจะไปอยู่แดนหน้า บริเวณจุดโทษของอีกฝ่ายเมื่อมีลูกเตะมุม หรือลูกฟรีคิก เพื่อเขาจะโหม่งเข้าประตูอีกฝ่ายได้

กองหลังตัวกลาง

แก้

กองหลังตัวกลาง (centre-back , center-back) หรือที่ในอดีตเรียกว่าเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ หน้าที่ของพวกเขาคือการหยุดผู้เล่นอีกฝ่าย (โดยเฉพาะศูนย์หน้า)จากการทำประตู และนำลูกบอลออกจากเขตโทษ ตำแหน่งนี้เล่นอยู่ตรงกลางของแผงหลังตามชื่อ ทีมส่วนใหญ่มักจะใช้ 2 คน การยืนตำแหน่งจะยืนหน้าผู้รักษาประตู ทั้งสองเป็นหัวใจหลักในแนวรับ ทั้งการคุมพื้นที่และการประกบตัวต่อตัว

กองหลังตัวกลางมักจะสูง แข็งแกร่ง และต้องมีความสามารถการกระโดดสูง การโหม่งดี และการแย่งลูกได้ดี กองหลังตัวกลางที่ประสบความสำเร็จต้องมีสมาธิ อ่านเกมได้อย่างยอดเยี่ยม และมีความกล้าหาญและเด็ดขาดในการแย่งลูกจากอีกฝ่ายที่จะผ่านไปทำประตู บางครั้งโดยเฉพาะลีกล่าง ๆ กองหลังตัวกลางยังขาดการมีสมาธิในการควบคุมบอลและส่งบอลไม่ดี ทำได้เพียงแค่ปลอดภัยไว้ก่อน ถึงอย่างนั้น สำหรับกองหลังตัวกลางขอเพียงแค่มีทักษะฟุตบอลขั้นพื้นฐานเพื่อรูปแบบการเล่นที่เน้นการครองบอลเท่านั้นก็พอ

ตำแหน่งนี้บางครั้งจะถูกเรียกว่าเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ เดิมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระบบแผน 2–3–5 เป็นที่นิยม แถมสามคนจะถูกเรียกว่าฮาล์ฟแบ็ก เมื่อระบบแผนพัฒนาต่อมา ผู้เล่นตรงกลางทั้งสามนี้ (เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ) ได้ย้ายมาตำแหน่งป้องกันมากขึ้น ปัจจุบันยังมีคนเรียกชื่อเหล่านี้อยู่

สวีปเปอร์

แก้

สวีปเปอร์ (sweeper) หรือ ลีเบโร (อิตาลี: libero) เป็นตำแหน่งที่แตกมาจากกองหลังตัวกลางอีกที หรือเป็นตำแหน่งที่มีกองหลังตัวกลางสามคน ซึ่งเป็นตำแหน่งระหว่างกองหลังตัวกลางทั้งสอง ชื่อนี้มาจากวลี "sweeps up" ในการขจัดบอลที่อีกฝ่ายเลี้ยงฝ่าแนวรับมาได้ ตำแหน่งพวกเขานั้นมีความเป็นอิสระมากกว่าแผงหลังซึ่งคอยประกบอีกฝ่ายที่ถูกกำหนดขึ้น ตำแหน่งสวีปเปอร์จำเป็นต้องมีทักษะอ่านเกมได้ยิ่งกว่ากองหลังตัวกลาง ในปัจจุบันมีกฎล้ำหน้าซึ่งมักใช้แนวนับในการจับอีกฝ่ายล้ำหน้า ทำให้ตำแหน่งนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมในปัจจุบัน

ฟูลแบ็ก

แก้

แบ็กซ้าย (left-back) และ แบ็กขวา (right-back) หรือที่ปกติจะเรียก ฟูลแบ็ก (full-back) จะประจำตำแหน่งที่ด้านข้างของกองหลังตัวกลาง เพื่อป้องกันการบุกจากริมเส้น และบ่อยครั้งที่ต้องไปหยุดการบุกของตำแหน่งปีกฝ่ายตรงข้ามที่พยายามผ่าน หรือโยนบอลเข้าเขตโทษ ตามปกติลูกเตะมุมหรือลูกฟรีคิก ฟุลแบ็กจะไม่ขึ้นไปช่วยแนวหน้า แต่อาจอยู่ประมาณเส้นครึ่งสนาม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแผนของแนวรับนั้น ๆ ด้วย ในเกมสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะให้ฟุลแบ็ก (วิงแบ็ก) มีบทบาทในการบุกด้วย แต่พวกนั้นจะไม่ถูกเรียกว่าแบ็กขวาหรือแบ็กซ้าย

เดิมฟุลแบ็กเป็นแนวรับสุดท้ายของทีม แต่เมื่อเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟได้ถอยร่นลงมากลายเป็นตำแหน่ง "กองหลังตัวกลาง" ฟุลแบ็กได้ถูกย้ายมาริมเส้นกลายเป็นแบ็กขวาและแบ็กซ้าย

วิงแบ็ก

แก้

วิงแบ็ก (wing-back) หรือฟุลแบ็กตัวบุก คือกองหลังที่เน้นในการบุก ชื่อตำแหน่งนี้มาจากปีก (winger) และฟุลแบ็กผสมกัน ปกติตำแหน่งนี้จะใช้ในแผน 3–5–2 จึงถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแดนกลางในจังหวะการบุก หรือบางทีก็ใช้ในแผน 5–3–2 แต่คำว่าวิงแบ็กไม่ค่อยได้ใช้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเล่นแผน 4–3–3 หรือ 4–2–3–1

ผู้เล่นวิงแบ็กจำเป็นต้องใช้พลกำลังอย่างมากในฟุตบอลสมัยใหม่ วิงแบ็กมักจะเล่นบนสนามมากกว่าฟุลแบ็กทั่วไปโดยเฉพาะกับทีมที่ไม่มีผู้เล่นปีก วิงแบ็กต้องการความอึดเป็นพิเศษในการวิ่งขึ้นไปแนวรุกและลงมาตั้งรับ

กองกลาง

แก้
 
เมซุท เออซิล กองกลางทีมชาติเยอรมนี พยายามเลี้ยงบอลหนีคู่แข่งทีมชาติออสเตรีย

กองกลาง (midfielder) เดิมทีเรียกว่าฮาล์ฟแบ็ก ตำแหน่งนี้จะเล่นอยู่ระหว่างศูนย์หน้าและกองหลัง หน้าที่หลักของตำแหน่งนี้คือครองบอล และรับบอลจากกองหลัง แล้วขึ้นไปส่งให้กองหน้า พร้อมกับไล่บอลจากผู้เล่นอีกฝ่าย ส่วนใหญ่ในทีมต้องมีกองกลางตัวกลาง (central midfielder) อย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อหยุดเกมบุกของอีกฝ่าย นอกจากนั้นก็มีการทำประตู ไม่ก็ขึ้นไปบุกและลงมาตั้งรับตามหน้าที่ที่ได้รับ กองกลางนั้นต้องเล่นเกือบทั่วสนาม เมื่อถึงคราวรับ พวกเขาจะลงมาช่วยตั้งรับ เมื่อจะบุกก็ไปช่วยกองหน้าในการบุก พวกเขาส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เริ่มเล่นในจังหวะการบุกของทีม

กองกลางตัวกลาง

แก้

กองกลางตัวกลาง (centre midfielder) มีหน้าที่เชื่อมเกมระหว่างกองหลังและกองหน้า กองกลางตัวกลางนั้นมีหน้าที่มากมาย ตั้งแต่ช่วยทีมบุกในจังหวะการบุก และเมื่อเสียบอลให้อีกฝ่าย พวกเขาต้องพยายามแย่งมันมาก่อนจะถึงแนวหลัง เมื่อแนวหลังหรือพวกเขาได้ลูกบอลอีกครั้ง ตำแหน่งนี้จะเป็นคนที่เริ่มบุกก่อน บางครั้งตำแหน่งนี้จะได้รับชื่อว่า "ตัวทำเกม" (playmaker) บางครั้งตำแหน่งนี้ต้องไปอยู่แนวป้องกันเมื่อถูกบุกมาก ๆ หรือจังหวะเตะมุมของอีกฝ่าย กองกลางตัวกลางบางครั้งก็ต้องยุ่งอยู่กับจังหวะเกมอยู่ตลอดเวลาจนเรียกได้ว่าเป็น "ห้องเครื่องของทีม" (the engine room of the team)

เมื่อเวลาผ่านไป กองกลางตัวกลางก็ได้รับการพัฒนาเป็นกองกลางตัวบุกและกองกลางตัวรับ ซึ่งทั้งสองตำแหน่งนี้จะอธิบายไว้ด้านล่างของกองกลางตัวกลางนี้ บางทีอาจวางตำแหน่งทั้งสามไว้ด้วยกัน หรืออาจให้กองกลางไปไว้ด้านกว้างหรือริมเส้นด้วย

กองกลางตัวรับ

แก้

กองกลางตัวรับ (defensive midfielder) เป็นกองกลางที่ประจำที่ก่อนกองหลัง มีบทบาทในการป้องกัน เมื่อไม่มีการบุก กองกลางตัวรับจะรีบถอยมาตั้งรับ และแย่งลูกบอลจากทีมฝ่ายตรงข้าม

แม้หน้าที่หลักจะเป็นป้องกัน แต่ก็มีกองกลางบางคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวทำเกมในแนวลึกหรือตัวทำเกมตัวต่ำ (deep-lying playmaker) ซึ่งสามารถกำหนดจังหวะเกมได้จากตำแหน่งที่อยู่ท้ายด้วยการผ่านบอล

กองกลางตัวรับต้องการการยืนตำแหน่งที่ดี การขยันไล่บอล มีความสามารถในการสกัดบอล และต้องคาดการณ์ผู้เล่นและลูกบอลได้ดี นอกจากนี้ยังต้องการทักษะการส่งบอล และการครองบอลภายใต้ความกดดันได้ดี แต่ที่สำคัญที่สุดคือความอึด เพราะตำแหน่งนี้ต้องวิ่งไปทั่วสนามตลอดการค้าแข้ง ในสโมสรชั้นนำ กองกลางอาจวิ่งเกือบ 12 กิโลเมตร ตลอดเกม ส่วนตัวทำเกมตัวต่ำต้องการการสัมผัสบอลแรกในสถานการณ์กดดัน และทักษะส่งไกลไปอีกครึ่งสนามอย่างแม่นยำเพื่อให้เพื่อนบุก[2]

กองกลางตัวรุก

แก้

กองกลางตัวรุก (attacking midfielder) คือกองกลางที่อยู่สูงกว่าปกติ แต่จะไม่เกินศูนย์หน้า เป็นผู้เล่นช่วยทีมในจังหวะบุก หน้าที่ของตำแหน่งนี้คือการสร้างโอกาสทำประตูด้วยวิสัยทัศน์ที่เหนือชั้นและทักษะของพวกเขา คนที่จะเล่นกองกลางตัวรุกต้องมีความชำนาญในการส่งบอล และที่สำคัญกว่านั้นก็คือการอ่านการเคลื่อนไหวของกองหลังเพื่อส่งบอลไปให้ศูนย์หน้าทำประตู

บางครั้งตำแหน่งกองกลางตัวรุกถูกเรียกว่า "เตรกวาร์ติสตา" (อิตาลี: trequartista) ซึ่งรู้จักกันดีในการยิงประตูจากระยะไกล และการกล้าที่จะผ่านบอล แต่กองกลางตัวรุกไม่ใช่ว่าเป็นเตรกวาร์ติสตา เพราะเตรกวาร์ติสตาต้องเป็นกองกลางตัวรุกที่สร้างสรรค์การบุกที่หลากหลายในการทำประตู พวกเขามักจะเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นประจำทีม ดังนั้นทีมมักจะให้เขาเป็นตัวฟรี เพื่อค่อยสร้างสรรค์สถานการณ์ในจังหวะบุก[3]

กองกลางด้านกว้าง

แก้

กองกลางด้านกว้าง (wide midfielder) หรือ กองกลางตัวริมเส้น (side midfielder) ตำแหน่งในอดีตคือไรต์ฮาล์ฟและเลฟต์ฮาล์ฟ หรืออีกชื่อคือวิงฮาล์ฟ (wing-half) เป็นตำแหน่งที่ประจำการทางซ้ายและขวาของตำแหน่งเซ็นเตอร์กองกลาง พวกเขาบางครั้งก็ถูกเรียกว่า "ปีก" (winger) เนื่องจากแผนสมัยใหม่ได้เอากองหน้าริมเส้นเลื่อนมาเล่นในตำแหน่งกองกลางด้านกว้าง ทำให้ยังมีการใช้คำว่าปีกอยู่

กองหน้า

แก้
 
กองหน้า (เสื้อสีขาว) พยายามเข้าทำประตูผ่านผู้รักษาประตูของคู่แข่ง (เสื้อสีน้ำเงิน)

กองหน้า (forward, striker) เป็นตำแหน่งของผู้เล่นฟุตบอลที่เล่นอยู่บริเวณหน้าประตูอีกฝ่าย หน้าที่หลักของกองหน้าก็คือทำประตู หรือสร้างโอกาสให้ผู้เล่นอื่นทำประตู หน้าที่ในจังหวะตั้งรับก็มี นั้นก็คือคอยไล่บอลจากองหลังและผู้รักษาประตูอีกฝ่าย ในแผนสมัยใหม่ กองหน้ามีได้ตั้งแต่ 1 ถึง 3 คน ;ยกตัวอย่างเช่นในแผน 4–2–3–1 จะมีกองหน้าคนเดียว, 4–4–2 จะมีกองหน้าสองคน, 4–3–3 จะมีกองหน้า 3 คน โดยมีกองหน้าตัวเป้าหนึ่งคน และปีก 2 คน

กองหน้าตัวเป้า

แก้

กองหน้าตัวเป้า หรือ กองหน้าตัวกลาง (centre forward) หรือ กองหน้าตัวหลัก (main striker) หรือ สไตรเกอร์ (striker) หน้าที่หลักของพวกเขาคือการทำประตู และเป็นหัวใจหลักในการบุกของทีม เมื่อก่อนกองหน้าต้องตัวสูง และแข็งแกร่งทางร่างกายเพื่อแย่งลูกในจังหวะที่มีคนโยนบอลเข้ามาเพื่อทำประตู ทำให้พวกเขาต้องพยายามทำประตูทั้งการเล่นกับเท้า การโหม่ง อีกทั้งส่งให้เพื่อนทำประตู ในปัจจุบันที่เน้นจังหวะบอลเร็วมากขึ้น การเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วจึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อฟุตบอลยุคนี้

กองหน้าตัวต่ำ

แก้

กองหน้าตัวต่ำ (second striker, support striker) ในอดีตตำแหน่งนี้จะถูกเรียกว่ากองหน้าตัวใน (inside forward) ถึงจะมีประวัติมายาวนาน แต่นิยามของตำแหน่งนี้ก็แตกต่างกันไปทุกยุค การเป็นกองหน้าตัวต่ำนั้นไม่จำเป็นต้องมีตัวสูง หรือมีความแข็งแกร่งทางร่างกายเท่ากองหน้าตัวกลาง พวกต้องการทักษะเพื่อช่วยสร้างโอกาสทำประตูให้กองหน้าตัวกลาง การปั่นกองหลังฝ่ายตรงข้าม และถ้ามีโอกาสก็ยิงประตูด้วยตัวเอง

ปีก

แก้

ปีก (winger) ประกอบด้วย ปีกซ้าย (left winger) และ ปีกขวา (right winger) ในอดีตเรียกตำแหน่งนี้ว่ากองหน้าตัวนอก (outside forward) เป็นตำแหน่งของผู้เล่นที่จะบุกจากทางริมเส้นขอบสนาม ในปัจจุบันตำแหน่งนี้ถูกเรียกว่าปีก หน้าที่ของตำแหน่งนี้คือใช้ความเร็วในการบุกผ่าฟุลแบ็กเพื่อป่วนกองหลัง แล้วส่งลูกหรือโยนลูกเข้าไปให้คนบุกอื่นอีกที หรืออาจบุกผ่ากองหลังคนอื่นเข้าไปทำประตูเอง

อ้างอิง

แก้
  1. "นักเตะสารพัดประโยชน์". สำนักข่าวไทย. 28 January 2015. สืบค้นเมื่อ 11 February 2015.
  2. "Patrick Vieira: How to be a midfield destroyer". performance.fourfourtwo.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-15. สืบค้นเมื่อ 11 February 2015.
  3. "เทรกวาทิสตา". pasatito.wordpress.com. สืบค้นเมื่อ 11 February 2015.