กองกลาง หรือ มิดฟีลด์ (อังกฤษ: midfielder) ในการเล่นฟุตบอล[1] คือตำแหน่งกึ่งกลางในสนามระหว่างกองหน้ากับกองหลัง โดยมีหน้าที่ครองบอลและส่งบอลสู่กองหน้า โดยกองกลางบางตำแหน่งเล่นในแนวรับ คอยหยุดการบุกจากฝ่ายตรงข้าม หรือที่เรียกว่า กองกลางตัวรับ หรือในบางตำแหน่งจะคอยสกัดกั้นการเคลื่อนที่ของฝ่ายตรงข้ามและคอยจ่ายบอลไปด้านหน้า หรือที่เรียกว่า กองกลางแนวลึก, กองกลางตัวทำเกม, กองกลางตัวกลาง และ กองกลางตัวคุมเกม โดยจำนวนของกองกลางในแต่ละทีมจะขึ้นอยู่กับแผนการเล่น ในเกมนั้น ซึ่งจะเรียกรวม ๆ ทั้งหมดว่า กองกลาง หรือ มิดฟีลด์ [2]

ผู้จัดการทีมส่วนใหญ่ จะใช้กองกลาง 1 คนเพื่อป้องกันการบุกจากฝ่ายตรงข้าม และกองกลางที่เหลือจะคอยช่วยในเกมรุกเพื่อทุกประตู หรืออาจจะเป็นกองกลางที่คอยคุมเกมกลางสนาม ซึ่งกองกลางเป็นตำแหน่งที่จะคอยวิ่งมากที่สุดในสนาม เนื่องจากต้องคอยครองบอลและวิ่งไล่บอลจากฝ่ายตรงข้าม[3]

กองกลางตัวกลาง

แก้
 
ชาบี อดีตผู้เล่นทีมชาติสเปน ซึ่งเคยได้รับรางวัลฟิฟโปร 8 ปีติดต่อกัน

กองกลางตัวกลาง (อังกฤษ: central midfielder) เป็นตำแหน่งของผู้เล่นที่อยู่ตรงกลางระหว่างแนวรุกและแนวรับ มีหน้าที่ควบคุมการเล่นกลางสนาม โดยผู้เล่นในตำแหน่งนี้จะคอยส่งบอล ไปยังกองกลางตัวรุก และช่วยทีมในการเติมเกมรุกโดยวิ่งไปยังพื้นที่เขตโทษ และช่วยยิงประตู

เมื่อทีมฝ่ายตรงข้ามได้บอล กองกลางตัวกลางอาจจะถอยกลับมาช่วยเกมรับหรือช่วยไล่บอลจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในเกมรับนั้น กองกลางตัวกลางอาจจะช่วยถอยไปยังตำแหน่งของกองหลังตัวกลาง เพื่อป้องกันลูกยิงไกลจากฝ่ายตรงข้าม หรืออาจจะวิ่งประกอบกองกลางฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ทำการยิงจากระยะไกลได้

โดยแผน 4–3–3 และ 4–5–1 ส่วนใหญ่จะใช้กองกลางตัวกลาง 3 คน ส่วน 4–4–2 ส่วนใหญ่จะใช้กองกลางตัวกลาง 2 คน[4] และในแผน 4–2–3–1 จะใช้กองกลางตัวลึก 2 คน ซึ่งอาจจะเป็นกองกลางตัวกลางก็ได้เช่นกัน

กองกลางบ็อกซ์ทูบ็อกซ์

แก้

กองกลางบ็อกซ์ทูบ็อกซ์ (อังกฤษ: box-to-box midfielder) เป็นกองกลางตัวกลางที่คอยวิ่งไล่และมีความสามารถในหลายด้าน ซึ่งจะทำหน้าที่ทั้งคอยตั้งรับและรุกให้กับทีม[5] ซึ่งจะทำหน้าที่ตั้งแต่การป้องกันการทำประตูที่กรอบเขตโทษของฝั่งตัวเองและคอยวิ่งเติมเกมไปทำประตูที่ฝั่งตรงข้าม[6] โดยในฟุตบอลสมัยใหม่ที่เปลี่ยนจากแผนการเล่น 4–4–2 มาเป็น 4–2–3–1 ทำให้หน้าที่ของกองกลางบ็อกซ์ทูบ็อกซ์เปลี่ยนไปจากเดิมที่มีอยู่ตั้งแต่ยุค 80 โดยกองกลางตัวกลาง 2 คนนั้นจะแบ่งเป็น "ตัวคุมเกม" กับ "ตัวสร้างสรรค์เกม"[7] ตัวอย่างกองกลางบ็อกซ์ทูบ็อกซ์ที่มีชื่อเสียง เช่น บัสทีอัน ชไวน์ชไตเกอร์, ยาย่า ตูเร และ ราจา ไนง์โกลัน

กองกลางด้านกว้าง

แก้

กองกลางตัวซ้าย และ กองกลางตัวขวา (อังกฤษ: wide midfielder) เป็นตำแหน่งที่สมดุลระหว่างเกมรุกและเกมรับ คล้ายกับกองกลางตัวกลาง แต่ตำแหน่งนี้จะอยู่ทางด้านกว้างริมขอบสนาม โดยจะคอยเปิดบอล ไปยังพื้นที่เขตโทษของฝั่งตรงข้าม เพื่อสร้างโอกาสในการทำประตู และเมื่อทีมกำลังเล่นเกมรับ จะคอยกดดันคู่แข่งที่พยายามเปิดบอลเข้ามา[8]

แผนการเล่นในยุคใหม่จะมีตำแหน่งกองกลางตัวซ้ายและขวาในแผน 4−4−2, 4−4−1−1, 4−2−3−1 และ 4−5−1[9] ตัวอย่างของกองกลางด้านกว้างที่มีชื่อเสียง เช่น เดวิด เบคแคม และ ไรอัน กิกส์[10]

 
แผนการเล่นแบบเมโทโด (2–3–2–3) ซึ่งตำแหน่งกองกลางด้านกว้าง (สีเหลือง) จะมีหน้าที่ช่วยเกมรับและช่วยกองหน้าด้านกว้าง

วิงฮาล์ฟ

แก้

ตำแหน่ง วิงฮาล์ฟ (อังกฤษ: wing-half) ในอดีต จะคอยเล่นเป็นกองกลางด้านข้างสนาม ซึ่งการเล่นในตำแหน่งนี้ล้าสมัย เพราะการป้องกันเป็นส่วนหนึ่งของฟุลแบ็ก ในปัจจุบัน[11]

กองกลางตัวรับ

แก้
 
เซร์ฆิโอ บุสเกตส์ กองกลางตัวรับทีมชาติสเปน (เสื้อสีแดง) กำลังเคลื่อนที่ไปป้องกันการยิงของมารีโอ บาโลเตลลี

กองกลางตัวรับ (อังกฤษ: defensive midfielder) เป็นกองกลางที่มีหน้าที่ในการป้องกันการยิงประตูจากฝ่ายตรงข้าม โดยจะคอยคุมตำแหน่งอยู่ด้านหน้ากองหลัง หรือคอยประกบแนวรุกของฝ่ายตรงข้าม[12][13][14] กองกลางตัวรับอาจจะย้ายไปยืนในตำแหน่งของฟุลแบ็ก หรือ กองหลังตัวกลาง หากผู้เล่นอื่นกำลังเติมเกมรุกอยู่[15][16]

เซร์ฆิโอ บุสเกตส์ ได้อธิบายทัศนคติของเขาว่า "หัวหน้าผู้ฝึกสอนรู้ว่าผมเป็นผู้เล่นที่จะคอยช่วยเหลือและต้องวิ่งไปด้านข้างเพื่อคอยแทนตำแหน่งของใครบางคน"[16] ผู้เล่นกองกลางตัวรับที่ดีจะต้องคอยระวังตำแหน่งตนเอง, คาดเดาการเล่นของคู่แข่ง, คุมตำแหน่ง, แย่งบอล, ขัดขวาง, ส่งบอล และมีความอึดและความแข็งแกร่งที่ดีเพื่อการแย่งบอล

กองกลางตัวคุมเกม

แก้

กองกลางตัวคุมเกม (อังกฤษ: holding midfielder) หรือ กองกลางแนวลึก (อังกฤษ: Deep-lying midfielder) จะคอยยืนตำแหน่งใกล้กับกองหลัง เมื่อกองกลางคนอื่นจะคอยเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเพื่อทำเกมรุก[17] กองกลางตัวคุมเกมจะคอยรับผิดชอบเมื่อทีมได้บอล ผู้เล่นในตำแหน่งนี้จะคอยส่งบอลสั้นไปยังแนวรุกของทีม แต่อาจจะส่งบอลยาวหรือส่งบอลตรง ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของทีม มาร์เซโล บิเอลซา ถือเป็นผู้เล่นที่เริ่มต้นเล่นในตำแหน่งกองกลางตัวคุมเกมที่มีตำแหน่งป้องกัน[7] ตำแหน่งนี้จะปรากฏอยู่ในแผนการเล่น 4–2–3–1 และ 4–4–2 ไดมอนด์[18]

…เรารู้ว่า ซีดาน, ราอุล และ ฟีกู จะไม่กลับมาช่วยเกมรับ เราจึงใช้ผู้เล่นยืนหน้ากองหลัง ทั้งสี่คนเพื่อช่วยเกมรับ

อารีโก ซัคคี อธิบายถึงเรอัลมาดริด ในการวางตำแหน่งให้ โกลด มาเกเลเล ยืนเป็นกองกลางตัวคุมเกม[19]

ในระยะแรก กองกลางตัวรับ (หรือตัวทำลายเกม) และ กองกลางตัวทำเกม จะอยู่ในทีมที่ใช้กองกลางตัวคุมเกม 2 คน โดยตัวทำลายเกมจะคอยสกัดกั้น, ทำให้ทีมกลับมาครองบอล และจ่ายบอลไปยังตัวทำเกม ส่วนกองกลางตัวสร้างสรรค์เกมจะคอยครองบอลและพาบอลเคลื่อนที่ไปด้านหน้า หรืออาจจะส่งบอลยางไปยังด้านข้าง ซึ่งกองกลางตัวลึกในอดีตเรียกว่า "รีจิสตา" (อังกฤษ: Regista) ตัวอย่างกองกลางตัวทำลายเกมที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น น็อบบี สไตส์, แอร์แบร์ต วิมเมอร์ และ มาร์โค ทาร์เดลลี และในยุคหลัง เช่น โกลด มาเกเลเล และ ฆาบิเอร์ มัสเชราโน ซึ่งผู้เล่นเหล่านี้อาจจะสามารถเล่นได้ในหลายตำแหน่ง โดยกองกลางตัวสร้างสรรค์เกมที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น แกร์ซง, เกล็นน์ ฮ็อดเดิล และ ซันเดย์ โอลิเซ และในยุคหลัง เช่น ชาบี อาลอนโซ และ ไมเคิล แคร์ริก ซึ่งปัจจุบันนั้นมีรูปแบบของกองกลางตัวคุมเกมที่ถูกพัฒนาใหม่เป็น กองกลางบ็อกซ์ทูบ็อกซ์ โดยจะไม่เป็นทั้งกองกลางตัวทำลายเกมหรือกองกลางตัวสร้างสรรค์เกม ซึ่งจะคอยแย่งบอลจากฝ่ายตรงข้ามและวิ่งจากแนวลึกเพื่อส่งบอลให้กับทีมหรืออาจจะวิ่งไปยังพื้นที่เขตโทษของฝ่ายตรงข้าม ตัวอย่างกองกลางบ็อกซ์ทูบ็อกซ์ในปัจจุบัน เช่น ยาย่า ตูเร และ บัสทีอัน ชไวน์ชไตเกอร์ ส่วน ซามี เคดีรา และ เฟร์นังจิญญู เป็นกองกลางตัวทำลายเกมที่มีการครองบอลที่ดี[7]

กองกลางแนวลึก

แก้
 
อันเดรอา ปีร์โล กองกลางแนวลึกชาวอิตาลีกำลังจ่ายบอล ซึ่งปีร์โลถือว่าเป็นหนึ่งในกองกลางแนวลึกที่ดีที่สุดตลอดกาล

กองกลางแนวลึก (อังกฤษ: deep-lying playmaker) เป็นกองกลางตัวคุมเกมที่จะมีความสามารถในการจ่ายบอลมากกว่าการแย่งบอลหรือการเล่นในแนวรับ[20] เมื่อผู้เล่นในตำแหน่งนี้ได้บอล จะคอยส่งบอลยาวหรือส่งบอลที่ซับซ้อนมากกว่าที่จะคอยคุมผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม เป็นส่วนสำคัญในการคุมจังหวะของเกม, การครองบอลของทีม หรือการสร้างสรรค์การเล่นด้วยการจ่ายบอลสั้นหรือการจ่ายบอลยาวไปยังกองหน้าหรือปีก ซึ่งอาจจะส่งบอลไปยังที่ว่างระหว่างกองหลังและกองกลางฝ่ายตรงข้าม[20][21][22] ในประเทศอิตาลี ตำแหน่งกองกลางแนวลึกเรียกว่า "รีจิสตา" (Regista)[23] ส่วนในประเทศบราซิล เรียกว่า "เมีย-อามาดอร์" (Meia-armador)[24]

 
แผนการเล่น 2–3–5 มีกองกลางเซ็นเตอร์ฮาล์ฟอยู่กลางสนาม (สีเหลือง)

เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ

แก้

ฟุตบอลในยุคอดีตมีตำแหน่ง เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ (อังกฤษ: centre-half) ซึ่งจะค่อย ๆ ถอยจากการยืนตำแหน่งในกองกลางเพื่อป้องกันการบุกจากกองหน้าฝ่ายตรงข้าม โดยมีชื่อเรียกมาจากกองหลังตัวกลาง ที่ในเรียกว่า "เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ"[25]

กองกลางตัวรุก

แก้

กองกลางตัวรุก (อังกฤษ: Attacking midfielders) เป็นกองกลางที่ยืนตำแหน่งด้านหน้าของกองกลางปกติ ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างกองกลางตัวกลางกับกองหน้า โดยจะเล่นในเกมรุกเป็นหลัก[26] ในบางครั้งกองกลางตัวรุกอาจจะถูกเรียกว่า "เทรควาร์ทิสตา" (อังกฤษ: Trequartista) หรือ "ฟันตาซิสตี" (อิตาลี: Fantasisti) ซึ่งหมายถึงกองกลางตัวสร้างสรรค์เกมที่อยู่ระหว่างกองหน้ากับกองกลาง มีความคล่องตัวสูง, มีการเล่นที่สร้างสรรค์และมีความสามารถพิเศษสูง, มีความคล่องแคล่ว, มีความคิดในการทำเกม, สามารถยิงประตูจากระยะไกลได้ และ มีการส่งบอลที่ยอดเยี่ม อย่างไรก็ดี กองกลางตัวรุกและเทรควาร์ทิสตาจะเล่นด้วยตำแหน่งนี้ ซึ่งกองกลางตัวรุกบางคนจะยืนตำแหน่งเป็นกองหน้าตัวต่ำ ที่จะคอยส่งบอลไปยังกองหน้า หรือส่งบอลเพื่อทำประตู[27]

ตามตำแหน่งในสนาม กองกลางตัวรุกอาจจะแบ่งเป็นกองกลางตัวรุกด้านซ้าย, ด้านขวา และตัวกลาง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการช่วยกองหน้าทำประตู โดยกองกลางตัวรุกตัวกลาง อาจจะเรียกว่า "ตัวสร้างสรรค์เกม" (อังกฤษ: Playmaker) หรือ "ผู้เล่นหมายเลข 10" (ตาม เสื้อหมายเลข 10 ที่อยู่ในตำแหน่งนี้)[28][29] กองกลางตัวรุกที่ดีจะต้องมีทักษะการส่งบอลที่ดี, มีความคิดในการสร้างสรรค์เกม, สามารถยิงประตูจากระยะไกลได้ และมีทักษะการเลี้ยงบอลที่ดี

กองกลางตัวสร้างสรรค์เกม

แก้
 
ฟรันเชสโก ตอตตี กองกลางตัวสร้างสรรค์เกมชาวอิตาลี ลงเล่นให้กับโรมา ในปี ค.ศ. 2013

ผู้เล่นในตำแหน่งนี้จะเป็นผู้เล่นที่สามารถเปลี่ยนเกมได้ โดยกองกลางตัวรุกเป็นตำแหน่งสำคัญที่จะต้องมีผู้เล่นที่มีทักษะสูงทั้งการส่งบอลและการเลี้ยงบอล เช่นเดียวกับการอ่านเกมเพื่อที่จะสร้างสรรค์เกมไปยังแนวรับของฝ่ายตรงข้าม

หน้าที่หลักของกองกลางตัวสร้างสรรค์เกมคือการยิงประตูและสร้างโอกาสการทำประตู โดยใช้ทักษะต่าง ๆ อาจจะเปิดบอล, ส่งบอล หรือการโหม่งให้กับเพื่อนร่วมทีม โดยอาจจะทำประตูด้วยการเลี้ยงบอลหลบคู่แข่งหรือการชิ่งบอลกับเพื่อนร่วมทีม ซึ่งกองกลางตัวรุกอาจจะวิ่งไปยังพื้นที่เขตโทษของฝ่ายตรงข้ามเพื่อทำประตูจากการส่งบอลของเพื่อนร่วมทีม[2]

ตำแหน่งกองกลางตัวรุก เช่น กองกลางตัวสร้างสรรค์เกม ถูกใช้อย่างแพร่หลายในฟุตบอลยุคปัจจุบัน ซึ่งในตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นที่มีชื่อเสียง โดยส่วนมากจะสวมเสื้อหมายเลข 10 ทีมอาจจะใช้แผนการเล่นที่ปล่อยให้กองกลางตัวรุกวิ่งช่วยเหลือเพื่อนหรือสร้างสรรค์เกม โดยหนึ่งในแผนการเล่นที่ใช้กองกลางตัวรุกที่เป็นที่นิยมคือ 4–4–2 ไดมอนด์ (หรือ 4–1–2–1–2) ซึ่งจะมีตำแหน่งผู้เล่นกองกลางตัวรุกและกองกลางตัวรับแทนการใช้ตำแหน่งกองกลางตัวกลางในอดีต อาจจะเรียกว่า "เทรควาร์ทิสตา" (อังกฤษ: Trequartista) หรือ "ฟันตาซิสตี" (อิตาลี: Fantasisti)[27] ส่วนในประเทศบราซิล เรียกว่า "เมีย-อามาดอร์" (โปรตุเกส: Meia-armador)[24] และในประเทศอาร์เจนตินา และ ประเทศอุรุกวัย เรียกว่า "เอนกันเช" (สเปน: Enganche)[30]

กองกลางตัวรุกแบบฟอลส์

แก้

กองกลางตัวรุกแบบฟอลส์ (อังกฤษ: false attacking midfielder) ใช้ในฟุตบอลอิตาลี เป็นตำแหน่งของผู้เล่นในแผนการเล่นแบบ 4–3–1–2 ซึ่งจะยืนลึกลงไปในตำแหน่งกองกลาง และพยายามสร้างพื้นที่ให้กับเพื่อนร่วมทีมในการวิ่งทำเกมรุก โดยกองกลางตัวรุกแบบฟอลส์ อาจจะยืนอยู่ในตำแหน่งเดียวกับกองกลางตัวกลางและเล่นเหมือนเป็นกองกลางตัวลึก ซึ่งจะต้องใช้ทักษะความสร้างสรรค์, ทักษะส่วนตัวในการเคลื่อนที่, การจ่ายบอลที่ดี และการยิงประตูระยะไกล โดยตำแหน่งนี้จะต้องวิ่งค่อนข้างเยอะ เนื่องจากต้องอ่านเกมและช่วยทีมในเกมรับ[31]

ฟอลส์ 10 หรือ ปีกตัวกลาง

แก้

ฟอลส์ 10 (อังกฤษ: false 10) หรือ ปีกตัวกลาง (อังกฤษ: central winger)[32] เป็นรูปแบบหนึ่งของกองกลางที่จะแตกต่างจากกองกลางตัวรุกแบบฟอลส์ โดยจะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับ "ฟอลส์ 9" จะทำหน้าที่ไม่เหมือนกับกองกลางตัวสร้างสรรค์เกมที่อยู่ด้านหลังของกองหน้า แต่เป้าหมายของฟอลส์ 10 คือการครองบอลในแนวกว้างและเปิดบอลยาวไปยังที่ว่างเพื่อช่วยเหลือปีกและฟุลแบ็กทั้งสองข้าง ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับกองกลางฝ่ายตรงข้าม ที่จะต้องระวังทั้งฟอลส์ 10 และปีกหรือฟุลแบ็กทั้งสองด้าน ซึ่งฟอลส์ 10 อาจจะช่วยในการปล่อยให้กองกลางหาที่ว่างได้มากขึ้น โดยในอดีตเป็นจะใช้ปีกมาเล่นในตำแหน่งกลางสนามนี้ และพยายามที่จะพาบอลไปทั้งด้านข้างและตรงกลางเพื่อที่จะหาช่องในการส่งบอลให้กับเพื่อนร่วมทีม ในบางครั้ง อาจจะมีทั้งฟอลส์ 10 และฟอลส์ 9 ทั้ง 2 ตำแหน่งในทีมเดียวกัน เช่นในแผนการเล่น 4–6–0 ซึ่งดัดแปลงมาจาก 4–3–3 หรือ 4–2–3–1 เมื่อทีมบุกไปด้านหน้า ฟอลส์ 9 จะถอยกลับมาเพื่อดึงกองหลังออกจากฟอลส์ 10 และสร้างพื้นที่ให้เพื่อนร่วมทีมกลางสนาม โดยฟอลส์ 10 จะพยายามวิ่งออกจากตำแหน่งเพื่อหาพื้นที่ให้กับทีม หรืออาจจะเลี้ยงบอลไปยังพื้นที่เขตโทษเพื่อทำประตูหรือส่งบอลให้กับฟอลส์ 9 ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการทำประตูเพิ่มขึ้น[33]

ปีก

แก้

ในฟุตบอลสมัยใหม่ ปีกหรือผู้เล่นด้านกว้างจะหมายถึงผู้เล่นที่ไม่ใช่ผู้เล่นแนวรับที่เล่นด้านซ้ายหรือด้านขวาของสนาม อาจจะหมายถึงกองกลางตัวซ้ายหรือตัวขวา, กองกลางตัวรุกด้านซ้ายหรือด้านขวา และกองหน้าด้านซ้ายหรือด้านขวา[8] วิงแบ็ก ด้านซ้ายหรือขวา หรือ ฟุลแบ็ก ด้านซ้ายหรือขวา ไม่ถือว่าเป็นตำแหน่งปีก

ในแผนการเล่น 2−3−5 เป็นแผนการเล่นที่ได้รับความนิยมในปลายศตวรรษที่ 19 โดยปีกทั้งสองข้างจะอยู่ด้านข้างของสนาม และเปิดบอลให้กับกองหน้าด้านในหรือกองหน้าตัวกลาง[34] ในอดีต ปีกจะทำหน้าที่เล่นเกมรุกเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องช่วยทีมในเกมรับ แต่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงยุค 1960 ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1966 อัลฟ์ แรมซีย์ ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ไม่ได้ส่งผู้เล่นให้ลงตำแหน่งปีกตั้งแต่รอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยได้ฉายาว่า "Wingless Wonders" โดยเล่นในแผนการเล่น 4–4–2 แบบใหม่[35][36]

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาในยุคใหม่ ผู้เล่นด้านกว้างจะคอยติดตามบอลและช่วยฟุลแบ็กในการไล่บอลเกมรับมากขึ้น ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ทั้งเกมรับและเกมรุกโดยการช่วยเปิดบอลไปยังกองหน้า[37] โดยกองหน้าบางตำแหน่งจะเล่นในตำแหน่งปีกอยู่ด้านหลังกองหน้าเดี่ยว โดยในแผนการเล่นที่ใช้ผู้เล่นกองกลาง 3 คน ปีกอาจจะเป็นกองกลางไปเล่นด้านกว้างแทน

ในปัจจุบันอาจจะเป็นบทบาทของวิงแบ็ก ที่เป็นผู้เล่นด้านกว้างที่เล่นในเกมรับและรุก[38] ในตำแหน่งปีกอาจจะจัดว่าเป็นกองหน้าหรือกองกลางก็ได้ ส่วนวิงแบ็กนั้นยังไม่ชัดเจนว่าเป็นกองหลังหรือกองกลาง

 
ปีก (สีแดง) และ ผู้เล่นด้านกว้างหรือกองกลางตัวกลางด้านกว้าง (สีน้ำเงิน)

ปีกอาจจะเป็นกองกลางตัวรุกที่เล่นในตำแหน่งด้านกว้าง[37] ปีกอย่าง สแตนลีย์ แมทธิว หรือ จิมมี จอห์นสโตน เป็นปีกในยุคก่อนที่จัดว่าเป็นกองหน้าในแผนการเล่นรูปแบบดับเบิลยู (W-shaped) ผู้เล่นในตำแหน่งนี้เคยถูกเรียกว่ากองหน้าตัวนอกด้านกว้าง แต่เมื่อผ่านมาใน 40 ปีหลัง ตำแหน่งปีกได้ถอยลงไปและจัดว่าอยู่ในตำแหน่งกองกลาง ซึ่งส่วนมากจะใช้ในแผนการเล่น 4–4–2 หรือ 4–5–1 (ซึ่งเมื่อทีมกำลังบุก รูปแบบการเล่นจะถูกเปลี่ยนเป็น 4–2–4 และ 4–3–3 ตามลำดับ)

หน้าที่ของปีก:

  • คอยวิ่งสอดแทรกเมื่อมีการจ่ายบอลไปยังที่ว่างด้านกว้าง
  • ปะทะกับฟุลแบ็กของผ่ายตรงข้ามด้วยทักษะหรือความเร็ว
  • อ่านการส่งบอลจากกองกลางและวิ่งหาช่องว่างเพื่อทำเกมรุก เพื่อทำการเปิดบอลหรือวิ่งตัดเข้าด้านในเพื่อทำประตู
  • ช่วยเกมรับในการติดตามปีกฝ่ายตรงข้าม

บทบาทของปีกคือความรวดเร็วในการวิ่งและการเล่นบอลด้านกว้าง ซึ่งหน้าที่หลักคือการวิ่งด้านกว้างและเปิดบอลเข้าไปในพื้นที่เขตโทษ หรือปีกบางตำแหน่งจะวิ่งตัดเข้าไปด้านใน เพื่อที่จะกดดันผู้เล่นกองกลางฝ่ายตรงข้ามและส่งบอลไปยังกองหน้าเพื่อทำประตู ผู้เล่นที่อาจจะไม่ได้มีความรวดเร็วก็เป็นปีกที่ดีได้เช่นกันจากการทำหน้าที่ตามบทบาทที่ดีทั้งเกมรุกและเกมรับ

ความสามารถของปีก:

  • ทักษะทางเทคนิคในการเอาตัวรอดเพื่อเอาชนะฟุลแบ็ก
  • วิ่งเพื่อเอาชนะฟุลแบ็ก
  • การเปิดบอลที่แม่นยำ
  • การวิ่งทำทางเมื่อไม่มีบอลและการอ่านเกมการส่งบอลของกองกลางหรือกองหน้า
  • มีทักษะการส่งบอลและมีสมาธิที่ดี เพื่อที่จะครองบอลในพื้นที่ฝ่ายตรงข้าม
  • ปีกในยุคใหม่อาจจะต้องมีการปรับด้านการยืนจากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้ายที่รวดเร็วตามแผนการเล่นของผู้ฝึกสอน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันปีกเป็นหนึ่งในตำแหน่งของฟุตบอลที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังมีหลายสโมสรที่เล่นโดยไม่ใช้ปีก เช่น เอซี มิลาน ในยุค 2000 ซึ่งแผนการเล่นของการ์โล อันเชลอตตี จะไม่ใช้ปีก โดยจะใช้กองกลางด้านในแบบไดมอนด์หรือแผนต้นคริสต์มาส (4–3–2–1) และใช้ฟุลแบ็กโดยเป็นกองหลังด้านกว้างแทน

ปีกแบบสลับด้าน

แก้
 
เมแกน ราพิโน กองกลางของฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกา กำลังลงเล่นในตำแหน่งปีกแบบสลับด้าน

ปีกแบบสลับด้าน (อังกฤษ: Inverted winger) เป็นตำแหน่งแบบใหม่ที่พัฒนาจากตำแหน่งปีกแบบดั้งเดิม โดยปกตินั้น ปีกจะอยู่ในด้านตามเท้าที่ถนัด เช่น ผู้เล่นที่ถนัดเท้าซ้ายจะเล่นปีกด้านซ้าย และผู้เล่นที่ถนัดเท้าขวาจะเล่นปีกด้านขวา[39] ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพในการเปิดบอลเข้าพื้นที่เขตโทษได้ดีตามเท้าข้างที่ถนัด แต่ปีกแบบสลับด้านนั้นจะเน้นในเรื่องของการวิ่งตัดเข้าด้านในเพื่อทำประตู (เช่น ผู้เล่นที่ถนัดเท้าขวาจะเล่นปีกแบบสลับด้านในด้านซ้าย) ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยกองหน้า และทำเกมรุกได้อย่างเต็มที่[40]

ในปีกแบบดั้งเดิมนั้นมีหน้าที่ในการช่วยดึงฟุลแบ็กจากฝ่ายตรงข้ามออกมาและการเปิดบอลจากด้านข้างแล้ว ส่วนปีกแบบสลับด้านจะลงเล่นในตำแหน่งปีกและวิ่งตัดเข้ากรอบ 18 หลา หรือการวิ่งรับบอลจากเพื่อนร่วมทีมเพื่อเข้ามาทำประตูด้วยเท้าข้างที่ถนัด[41] โดยตำแหน่งนี้ได้รับความนิยมในฟุตบอลยุคใหม่ซึ่งทำให้ตำแหน่งปีกสามารถเล่นเป็นทั้งตัวสร้างสรรค์เกมและผู้ทำประตู[42] เช่น โดเมนีโก เบราร์ดี ปีกขวาที่ถนัดซ้ายของซัสซูโอโล ที่สามารถทำประตูได้ถึง 30 ประตู โดยทำประตูได้เร็วกว่าผู้เล่นอื่น ๆ ในการแข่งขันเซเรียอา 50 ปีล่าสุด[43] นอกจากการช่วยดึงฟุลแบ็กในฝั่งที่เท้าของกองหลังฝ่ายตรงข้ามไม่ถนัดแล้ว ยังช่วยตัดเข้าด้านในเป็นกองหน้าและให้วิงแบ็กวิ่งขึ้นมาเติมเกม เพื่อสร้างโอกาสในการทำประตูมากขึ้น[44]

กองกลางที่ประสบความสำเร็จในการเล่นปีกแบบสลับด้าน เช่น ลิโอเนล เมสซิ และ แกเร็ธ เบล ซึ่งโชเซ มูรีนโย อดีตผู้จัดการทีมเรอัลมาดริด ได้เลือกที่จะเล่นในตำแหน่งปีกสลับข้าง ใช้ อังเฆล ดิ มาริอา ยืนด้านขวา และ คริสเตียโน โรนัลโด ยืนด้านซ้าย หรือ ยุพ ไฮน์เคิส อดีตผู้จัดการทีมบาเยิร์นมิวนิก เลือกใช้ อาร์เยิน โรบเบิน ยืนด้านขวา และ ฟร็องก์ รีเบรี ยืนด้านซ้าย[45] หนึ่งในการเล่นที่สำคัญของปีกแบบสลับด้านคือ เยอร์เกิน กราบอฟสกี ปีกชาวเยอรมนี ซึ่งช่วยให้เยอรมนีได้อันดับที่ 3 ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1970 และแชมป์ฟุตบอลโลก 1974

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "Positions guide: Central midfield". London: BBC Sport. 1 September 2005. สืบค้นเมื่อ 27 August 2013.
  2. 2.0 2.1 "Football / Soccer Positions". Expert Football. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-23. สืบค้นเมื่อ 21 June 2008.
  3. Di Salvo, V. (6 October 2006). "Performance characteristics according to playing position in elite soccer". International Journal of Sports Medicine. 28 (3): 222–7. doi:10.1055/s-2006-924294. PMID 17024626.
  4. "Formations guide". BBC. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
  5. "Box to box Bowyer". London: BBC Sport. 29 April 2002. สืบค้นเมื่อ 21 June 2008.
  6. Cox, Michael (4 June 2014). "In praise of the box-to-box midfielder". ESPN FC. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
  7. 7.0 7.1 7.2 Wilson, Jonathan (18 December 2013). "The Question: what does the changing role of holding midfielders tell us?". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
  8. 8.0 8.1 "Wide midfielder". BBC. สืบค้นเมื่อ 1 November 2014.
  9. "Formations guide". London: BBC Sport. สืบค้นเมื่อ 22 July 2013.
  10. Taylor, Daniel (18 February 2010). "Milan wrong to play David Beckham in central midfield says Sir Alex Ferguson". The Guardian. England. สืบค้นเมื่อ 22 July 2013.
  11. "Football Glossary, Letter W". Football Bible. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-16. สืบค้นเมื่อ 12 August 2017.
  12. Cox, Michael (20 January 2013). "Manchester United nullified Gareth Bale but forgot about Aaron Lennon". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
  13. Cox, Michael (16 July 2010). "The final analysis, part three: brilliant Busquets". zonalmarking.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-06. สืบค้นเมื่อ 28 July 2013.
  14. Cox, Michael (10 February 2013). "How Manchester United nullified threat of Everton's Marouane Fellaini". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
  15. Cox, Michael (3 March 2010). "Analysing Brazil's fluid system at close quarters". zonalmarking.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-06. สืบค้นเมื่อ 28 July 2013.
  16. 16.0 16.1 Lowe, Sid. "Sergio Busquets: Barcelona's best supporting actor sets the stage". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 30 October 2014.
  17. F., Edward (28 January 2014). "On Going Beyond Holding Midfielders". Cartilage Free Captain. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
  18. Cox, Michael (29 January 2010). "Teams of the Decade #11: Valencia 2001-04". zonalmarking.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-07. สืบค้นเมื่อ 28 July 2013.
  19. Wilson, Jonathan (2013). Inverting the Pyramid. Nation Books. ISBN 9781568589633.
  20. 20.0 20.1 Cox, Michael (19 March 2012). "Paul Scholes, Xavi and Andrea Pirlo revive the deep-lying playmaker". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 1 November 2014.
  21. Goldblatt, David (2009). The Football Book. Dorling Kindersley. p. 48. ISBN 978-1405337380.
  22. Dunmore, Thomas (2013). Soccer for Dummies. John Wiley & Sons. ISBN 978-1-118-51066-7.
  23. "The Regista And the Evolution Of The Playmaker". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-07. สืบค้นเมื่อ 5 January 2015.
  24. 24.0 24.1 "Playmaker". MTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-27. สืบค้นเมื่อ 5 January 2015.
  25. Wilson, Jonathan (20 September 2011). "The Question: Did Herbert Chapman really invent the W-M formation?". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 9 April 2012.
  26. "Positions in football". talkfootball.co.uk. สืบค้นเมื่อ 21 June 2008.
  27. 27.0 27.1 "The Number 10". RobertoMancini.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-19. สืบค้นเมื่อ 13 July 2016.
  28. Wilson, Jonathan (18 August 2010). "The Question: What is a playmaker's role in the modern game?". TheGuardian.com. สืบค้นเมื่อ 1 December 2014.
  29. Cox, Michael (26 March 2010). "How the 2000s changed tactics #2: Classic Number 10s struggle". ZonalMarking.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-08. สืบค้นเมื่อ 1 December 2014.
  30. "Tactics: the changing role of the playmaker". สืบค้นเมื่อ 5 January 2015.
  31. James Horncastle. "Horncastle: Riccardo Montolivo straddles both sides of the Germany/Italy divide". The Score. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-21. สืบค้นเมื่อ 20 August 2014.
  32. "Introducing…the central winger?". zonalmarking.net. 3 December 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-07. สืบค้นเมื่อ 27 August 2013.
  33. "The False-10". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-11. สืบค้นเมื่อ 16 June 2012.
  34. Wilson, Jonathan (2013). "It's a Simple Game". Football League 125. สืบค้นเมื่อ 1 December 2014.
  35. Galvin, Robert. "Sir Alf Ramsey". National Football Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 June 2011. สืบค้นเมื่อ 11 July 2008.{{cite web}}: CS1 maint: unfit URL (ลิงก์)
  36. "Chelsea prayers fly to the wings". FIFA. 5 March 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-24. สืบค้นเมื่อ 25 June 2008.
  37. 37.0 37.1 "Positions guide: Wide midfield". London: BBC Sport. 1 September 2005. สืบค้นเมื่อ 21 June 2008.
  38. "Positions guide: Wing-back". London: BBC Sport. 1 September 2005. สืบค้นเมื่อ 21 June 2008.
  39. Barve, Abhijeet (28 February 2013). "Football Jargon for dummies Part 2- Inverted Wingers". Football Paradise. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-03. สืบค้นเมื่อ 29 October 2015.
  40. Wilson, Johnathan (2013). Inverting The Pyramid: The History of Soccer Tactics. New York, NY: Nation Books. pp. 373, 377. ISBN 1568587384.
  41. Wilson, Jonathan (24 March 2010). "The Question: Why are so many wingers playing on the 'wrong' wings?". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 15 October 2015.
  42. Singh, Amit (21 June 2012). "Positional Analysis: What Has Happened To All The Wingers?". Just-Football.com.
  43. Newman, Blair (8 September 2015). "The young players who could rejuvenate Antonio Conte's Italy at Euro 2016". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 29 October 2015.
  44. Goodman, Mike L. (6 June 2014). "How to Watch the World Cup Like a True Soccer Nerd". Grantland. สืบค้นเมื่อ 15 October 2015.
  45. Koch, Ben (1 February 2011). "Tactics Tuesday: Natural vs. Inverted Wingers". Fútbol for Gringos. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-07. สืบค้นเมื่อ 29 October 2015.