กลุ่มวังน้ำเย็น

กลุ่มวังน้ำเย็น หมายถึง กลุ่มของนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง นำโดย เสนาะ เทียนทอง ตั้งชื่อตามชื่อ ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นฐานธุรกิจ และการเมืองดั้งเดิมของนายเสนาะ (เดิม อ.วังน้ำเย็น อยู่ใน จังหวัดปราจีนบุรี ก่อนจะแยกออกมาพร้อม อ.อรัญประเทศ, อ.ตาพระยา, อ.วัฒนานคร และ อ.คลองหาด เพื่อจัดตั้งเป็น จังหวัดสระแก้ว)

"กลุ่มวังน้ำเย็น" เดิมเป็นสมาชิก พรรคชาติไทย ซึ่งมี นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจากมีจำนวน ส.ส. ในสังกัดเป็นจำนวนมาก ทำให้มีส่วนสำคัญในการครองเสียงข้างมากใน สภาผู้แทนราษฎร ของ พรรคชาติไทย ซึ่งทำให้ นายบรรหาร สามารถขึ้นสู่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และทำให้ นายเสนาะ มีความสำคัญอย่างมากในพรรคชาติไทยโดยดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรค แต่ต่อมากลุ่มวังน้ำเย็นกลับเปลี่ยนมากดดันให้ นายบรรหาร ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อ พ.ศ. 2539 โดยสนับสนุนให้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในครั้งนั้นนายบรรหารถูกกดดัน จนจำใจยอมประกาศว่าจะลาออก[1]

หลังผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายบรรหาร กลับลำไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ กลุ่มวังน้ำเย็นได้ลาออกจาก พรรคชาติไทย ไปเข้าร่วมกับ พรรคความหวังใหม่ ที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค นายเสนาะได้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรค สามารถสนับสนุนให้ พรรคความหวังใหม่ ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 22 ของประเทศไทยได้สำเร็จ

ต่อมาคะแนนนิยม พรรคความหวังใหม่ ตกต่ำลงมากภายหลัง วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 กระทั่ง พล.อ.ชวลิต ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และ นายเสนาะ ถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค [2] กลุ่มวังน้ำเย็นจึงลาออกจาก พรรคความหวังใหม่ ไปเข้าร่วมกับ พรรคไทยรักไทย และสามารถสนับสนุนให้ พรรคไทยรักไทย ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จากการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544 ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทยได้สำเร็จ ทำให้ นายเสนาะ สามารถกล่าวอ้างอยู่เสมอว่า "ปั้นนายกฯ" หรือ "ทำคลอดนายกฯ" มาแล้วถึง 3 คน

ในช่วงการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายเสนาะ และคนใกล้ชิดส่วนหนึ่ง ได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ในขณะที่สมาชิก กลุ่มวังน้ำเย็น ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพรรค เนื่องจากติดข้อจำกัดทางกฎหมาย เรื่องระยะเวลาที่ต้องเป็นสมาชิกพรรค ไม่ต่ำกว่า 90 วัน จึงจะสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้

ต่อมาเมื่อ นายเสนาะ ก่อตั้ง พรรคประชาราช สมาชิกในกลุ่มวังน้ำเย็นเดิมจำนวนหนึ่งได้ย้ายมาสังกัด พรรคประชาราช ร่วมกับนายเสนาะอีกครั้ง ขณะที่บางส่วนไปเข้าสังกัดพรรคอื่น ๆ ทำให้ภาพความเหนียวแน่นของกลุ่มวังน้ำเย็นไม่ชัดเจนเท่าที่ผ่านมา

ส.ส.ที่สังกัด หรือเคยสังกัดกลุ่มวังน้ำเย็น ระหว่างเข้าร่วมพรรคไทยรักไทย แก้

ส.ส.ที่สังกัด หรือเคยสังกัดกลุ่มวังน้ำเย็น ระหว่างเข้าร่วมพรรคไทยรักไทย เท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้

อ้างอิง แก้

  1. นายเสนาะไม่พอใจนายบรรหาร เนื่องจากต้องการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรคชาติไทย แต่นายบรรหาร ไม่ยอมแต่งตั้งนายเสนาะ แต่กลับควบตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสียเอง โดยให้นายเสนาะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแทน
  2. นายเสนาะถูกลดบทบาทในพรรคความหวังใหม่ หลังจากพลเอกชวลิตลาออกจากตำแหน่งแล้ว ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลสนับสนุนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี กลับถูกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี ส.ส. น้อยกว่า ดึงสมาชิกกลุ่มงูเห่ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลแทน ต่อมานายเสนาะถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นเลขาธิการพรรคแทน