กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ

กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ หรือ เจี้ยซือหวนหุน (อังกฤษ: Borrow a corpse to resurrect the soul; จีนตัวย่อ: 借尸还魂; จีนตัวเต็ม: 借屍還魂; พินอิน: Jiè shī huán hún) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก กลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ผู้ที่มีความสามารถและมีบทบาทในหน้าที่ต่าง ๆ จะใช้ความสามารถนั้นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างผลีผลามไม่ได้ ส่วนผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ก็มักจะขอความช่วยเหลืออยู่เป็นนิจ

กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ
ผู้วางกลศึกจูกัดเหลียง
ผู้ต้องกลศึกสุมาอี้
ประเภทกลยุทธ์เข้าตี
หลักการหลอกศัตรูให้หลงเชื่อเสมือนดั่งสามารถ
สถานที่หุบเขาเฮาโลก๊ก
ผลลัพธ์เกียงอุย, เอียวหงีตีทัพสุมาอี้จนแตก

การที่ใช้ผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ มิใช่เป็นการที่จะมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติ หากแต่เป็นเพราะผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถต้องการความพึ่งพายามต้องการความช่วยเหลือ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ยืมซากคืนชีพไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ให้นำเมล็ดข้าวสารใส่ไว้ในปากเพื่อเป็นการรักษาดาวสำหรับต่ออายุ และหลอกทหารสุมาอี้ให้หลงเชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่[1]

ตัวอย่างกลยุทธ์ แก้

เมื่อคราวที่จูกัดเหลียงตายลงในระหว่างทำศึกกับวุยก๊ก ทำให้ต้องล่าถอยกลับจ๊กก๊กโดยด่วน ก่อนตายจูกัดเหลียงกำชับให้ปิดข่าวการตายของตนเองให้มิดชิดและสั่งห้ามทหารทุกคนไว้ทุกข์และเศร้าโศกเสียใจ สั่งการให้เอียวหงีต่อโลงสำหรับบรรจุศพตนเองในท่านั่ง นำเมล็ดข้าวสารจำนวนเจ็ดเมล็ดใส่ไว้ในปากพร้อมกับจุดโคมเพลิงรองไว้ภายใต้ที่นั่งเพื่อเป็นการรักษาดาวสำหรับอายุให้สว่างไสวบนท้องฟ้า เมื่อสุมาอี้เห็นดาวประจำตัวจูกัดเหลียงยังคงฉายแสงไม่ได้ร่วงหล่นก็จะไม่กล้านำกำลังทหารติดตามมา พร้อมกับให้จัดทำหุ่นรูปตนเองไว้เพื่อใช้สำหรับเตรียมการในการถอยทัพ และมอบหมายให้เกียงอุยนำกำลังทหารจัดตั้งทัพในรูปแบบหน้ากระดานเตรียมรับทหารสุมาอี้

สุมาอี้เห็นดาวประจำตัวจูกัดเหลียงตกถึงสามครั้งสามครา จึงเชื่อว่าจูกัดเหลียงวางกลอุบายให้ทหารนำคบเพลิงขึ้นไปทิ้งบนหน้าผา หลอกให้หลงเชื่อว่าตายแล้วและนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตี สุมาอี้เกรงจะต้องกลอุบายจึงให้ทหารออกลาดตระเวนเพื่อสืบข่าวการตายของจูกัดเหลียง เกียงอุยและเอียวหงีนำกำลังทหารจำนวนพันนายไปดักซุ่มรอคอยทหารสุมาอี้ที่บริเวณเนินเขาแห่งหนึ่ง เมื่อทหารสุมาอี้มาถึงก็จุดประทัดให้สัญญาณ ทหารจูกัดเหลียงที่ซุ่มรอคอยก็ส่งเสียงโห่ร้องอื้ออึงบนบริเวณเนินเขาทั้งสองด้านพร้อมกับบุกเข้าโจมตี สุมาอี้แลเห็นกำลังทหาร ธงศึกจารึกชื่อและหุ่นรูปจูกัดเหลียงที่นั่งบัญชาการบนรถศึกพร้อมพัดขนนกก็จำได้ ตกใจชักม้าหยุดอยู่กับที่

เกียงอุยที่อยู่บนเนินเขาก็ร้องตะโกนว่า "สุมาอี้ต้องกลมหาอุปราชแล้วจะหนีไปไหนได้เล่า"[2] ทหารสุมาอี้แลเห็นกำลังทหารและหุ่นรูปจูกัดเหลียงก็ตกใจทิ้งอาวุธ วิ่งแตกตื่นหนีตายกันอลหม่าน สุมาอี้หลงเชื่อคำพูดของเกียงอุยที่ตนเองต้องกลอุบายของจูกัดเหลียงก็สั่งถอยทัพและชักม้าหลบหนีแบบไม่คิดชีวิต แม้สุมาอี้จะหลบหนีไปได้แต่คงยังขวัญหนีดีฝ่อที่แลเห็นจูกัดเหลียง ทำกิริยาประดุจหนูกลัวแมวต้องเอามือทั้งสองจับศีรษะตัวเองเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่ายังคงอยู่บนบ่ามิได้หลุดหายไปไหน และอีกครั้งที่กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพของจูกัดเหลียงสามารถช่วยรักษากิมก๊กไว้ได้อย่างปลอดภัย เมื่อเตงงายนำกำลังทหารบุกโจมตีเสฉวน ได้มอบหมายให้สุม่อและเตงจ๋งนำกำลังทหารไปตีกิมก๊ก

จูกัดเกี๋ยมบุตรชายของจูกัดเหลียงนำกำลังทหารออกต่อสู้เพื่อรักษากิมก๊ก โดยนำหุ่นรูปจูกัดเหลียงไว้บนเกวียนพร้อมด้วยธงศึกจารึกอักษร "จูกัดเหลียงมหาอุปราช" สุม่อและเตงจ๋งเห็นกำลังทหารจูกัดเกี๋ยมพร้อมด้วยหุ่นจูกัดเหลียงก็ตกใจนึกว่าจูกัดเหลียงนำกำลังทหารมาหมายบุกโจมตี จึงสั่งถอยทัพกลับเสฉวน จูกัดเกี๋ยมเห็นได้ทีก็นำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีทหารสุม่อและเตงต๋งจนแตกพ่ายล้มตายเป็นจำนวนมาก กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพหรือเจี้ยซือหวนหุนของจูกัดเหลียง ก็ประสบความสำเร็จในการหลอกสุมาอี้คราวถอยทัพกลับจ๊กก๊กและช่วยรักษากิมก๊กไว้ได้อย่างงดงาม

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อ้างอิง แก้

  1. เจี้ยซือหวนหุน กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 226, ISBN 978-974-690-595-4
  2. สุมาอี้ต้องกลหุ่นจูกัดเหลียง,สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 632