กฤษณา ไกรสินธุ์

ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง กฤษณา ไกรสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495[1] เป็นเภสัชกรชาวไทยที่อุทิศตนช่วยเหลือผู้ป่วยในการผลิตยาในทวีปแอฟริกาและเอเชีย กฤษณาเป็นชาวเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาและมารดาเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขทั้งคู่ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอประกอบวิชาชีพทางสาธารณสุขเช่นกัน


กฤษณา ไกรสินธุ์

เกิด21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 (72 ปี)
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพเภสัชกร, อาจารย์
บุพการี
  • ร.ต.นพ.สมคิด ไกรสินธุ์ (บิดา)
  • นางเฉลิมขวัญ ไกรสินธุ์ (มารดา)
เว็บไซต์www.krisana.org

กฤษณา ไกรสินธุ์ จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตราห์ไคลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ สหราชอาณาจักร หลังจากจบการศึกษาแล้ว กฤษณาได้กลับมาดำรงตำแหน่งอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาได้ทำงานในองค์การเภสัชกรรมและเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยยาต้านเอดส์จนสามารถผลิตยาสามัญชื่อ "ยาเอดส์" ได้เป็นครั้งแรกในประเทศกำลังพัฒนา[2] เธอดำรงตำแหน่งสุดท้ายในองค์การเภสัชกรรมคือผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม

ภายหลังลาออกจากองค์การเภสัชกรรม กฤษณาได้เริ่มต้นการทำงานในประเทศคองโกเป็นประเทศแรก และประสบความสำเร็จในการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ชื่อ "Afrivir" โดยมีส่วนผสมเหมือนยาที่ผลิตในประเทศไทย หลังจากนั้นก็ได้ช่วยเหลือประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกากว่าอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเอริเทรีย แทนซาเนีย เบนิน และไลบีเรีย

ผลงานของกฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นที่สนใจในวงกว้างขึ้น เมื่อมีการนำไปตีพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของบทความภาษาเยอรมัน และมีการสร้างภาพยนตร์สารคดีชีวประวัติของเธอ เรื่อง อะไรต์ทูลิฟ - เอดส์เมดิเคชันฟอร์มิลเลียนส์ (อังกฤษ: A Right to Live - Aids Medication for Millions) ในปี พ.ศ. 2549 รวมถึงการสร้างภาพยนตร์บรอดเวย์ชื่อ คอกเทลล์ (อังกฤษ: Cocktail) ในปี พ.ศ. 2550 นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (อังกฤษ: Global Scientist Award) จากมูลนิธิเลตเต็น ประเทศนอร์เวย์ ประจำปี พ.ศ. 2547[3] รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชียประจำปี พ.ศ. 2551[4] และรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี พ.ศ. 2552[5] ปัจจุบันกฤษณาดำรงตำแหน่งคณบดีของคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต[6][7]

ประวัติ แก้

วัยเยาว์และชีวิตการทำงานในไทย [2495 - 2545] แก้

กฤษณาเกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 เป็นชาวเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางตอนใต้ของประเทศไทย เป็นบุตรของร้อยตรี นายแพทย์ สมคิด และนางเฉลิมขวัญ ไกรสินธุ์ ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ประกอบทางวิชาชีพทางสาธารณสุข บิดาเป็นแพทย์และมารดาเป็นพยาบาล ส่วนอาคือ พลเรือโท อรุณ ไกรสินธุ์ รับราชการทหารเรือ(ถึงแก่อนิจกรรม[8] วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554[9]) กฤษณาเติบโตในวัยเยาว์ที่เกาะสมุย จนกระทั่งย้ายเข้ามาศึกษาระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนราชินี และเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นเธอได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตรัชคไลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ สหราชอาณาจักร ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้วเธอได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมีในปี พ.ศ. 2524 ก่อนจะลาออกมาทำงาน ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม

กฤษณาเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทย จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการผลิตยาสามัญชื่อ "ยาเอดส์" เป็นครั้งแรกในโลก ในปี พ.ศ. 2538 โดยประสบความสำเร็จในการผลิตยาชนิดแรกคือ "ZIDOVUDINE" (AZT) มีฤทธิ์ในการลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ภายหลังการค้นคว้าวิจัยต่อยากว่า 3 ปี (พ.ศ. 2536 - 2538) หลังจากนั้นเธอได้ริเริ่มผลิตยาอีกหลายชนิด โดยเฉพาะยา "GPO-VIR" หรือยาต้านเอดส์สตรีคอกเทลล์ ซึ่งเป็นการรวมตัวยารักษาโรคเอดส์กว่า 3 ชนิดในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกในโลก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2542 องค์การอนามัยโลกเชิญกฤษณาไปที่ทวีปแอฟริกาเพื่อช่วยเหลือด้านเภสัชกรรม หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2545 กฤษณาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม

งานในทวีปแอฟริกา [2545 - ปัจจุบัน] แก้

ภายหลังกฤษณาลาออกจากสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรมแล้วนั้น เธอได้เดินทางไปยังประเทศคองโกโดยลำพัง เพื่อตั้งโรงงานเภสัชกรรมแห่งแรกที่นั่น ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี และประสบความสำเร็จในการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ชื่อ "Afrivir" อันมีส่วนผสมของตัวยาเหมือนยาในประเทศไทย ซึ่งผลิตขึ้นได้ครั้งแรกในทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ. 2548 หลังจากนั้นได้เดินทางไปช่วยเหลืองานทางเภสัชกรรม ณ ประเทศแทนซาเนีย โดยสามารถวิจัยและผลิตยา "Thai-Tanzunate" ในประเทศแทนซาเนียได้สำเร็จ อันเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคระบาดในทวีปแอฟริกา และเดินทางช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ได้แก่ ประเทศอิริคเทอร์เรีย ประเทศเบนิน และประเทศไลบีเรีย

กฤษณาทำงานตามตารางงานของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งไม่มีความแน่นอน ในวันหนึ่งๆ เธออาจพักแรม ณ ประเทศหนึ่งและทำงานในอีกประเทศหนึ่ง ผลงานการทำงานของเธอได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เยอรมันฉบับหนึ่ง ทำให้มีบุคคลสนใจในงานของเธอ และได้มีการนำไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง อะไรต์ทีลีฟ - เอดส์เมดิเคชันออฟมิลเลียนส์ (อังกฤษ: A Right to Live - Aids Medication for Millions) ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งได้รับรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์กว่า 3 รางวัล[10][11] รวมถึงการสร้างภาพยนตร์บรอดเวย์สหรัฐอเมริกาชื่อ คอกเทลล์ (อังกฤษ: Cocktail) ในเปิดแสดงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550[12] นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (อังกฤษ: Global Scientist Award) จากมูลนิธิเลตเต็น ประเทศนอร์เวย์ ประจำปี พ.ศ. 2547 [13] รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชียประจำปี พ.ศ. 2551[14] รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี[2] และรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี พ.ศ. 2552[11]

กฤษณายังได้รับปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิติตมาศักดิ์จากวิทยาลัย Mount Holyoke สหรัฐอเมริกา และเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสตราห์ไคลด์ ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนราชินีประจำปี นักศึกษาเก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันกฤษณาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และยังคงทำงานช่วยเหลือด้านเภสัชกรรมแก่ประเทศในแอฟริกา รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาองค์กรช่วยเหลือด้านยาของเยอรมนี[2] [15][16]

ชีวิตส่วนตัว แก้

กฤษณาเติบโตในครอบครัวซึ่งบิดาและมารดาทำงานในด้านสาธารณสุข ทำให้เธอได้รับแรงบันดาลใจและตัวอย่างจากบิดามารดา เมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแล้วนั้น เธอเข้าศึกษาต่อในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อจบการศึกษาเธอต้องการกลับไปทำงานในภูมิลำเนาบ้านเกิดจึงกลับไปเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งขณะนั้น ศาสตร์ด้านเภสัชเคมีไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากนัก[12]

เธอกล่าวว่าเธอมีจุดอ่อนในเรื่องของเด็กๆ เมื่อเธอเห็นเด็กจะสงสารอยู่เสมอ เมื่อได้รับทราบข่าวการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจขึ้นในการพัฒนายาเอดส์[12] แม้จะประสบอุปสรรคขัดขวางทั้งจากในและนอกองค์กร อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2538 เธอก็สามารถผลิตยาสามัญ "ยาเอดส์" ได้

เมื่อเธอเห็นว่าความช่วยเหลือเป็นไปได้ดีแล้วนั้น ในปี พ.ศ. 2542 เธอเกิดแรงบันดาลใจต้องการช่วยเหลือประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา เมื่อองค์การอนามัยโลกทราบเจตนารมณ์ดังกล่าวของเธอ จึงเชิญให้กฤษณาร่วมดูงานในทวีปแอฟริกาเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยียาไวรัสเอดส์ หลังจากนั้นเธอจึงลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรมเพื่อทำงานช่วยเหลือมนุษยชาติในทวีปแอฟริกาในปี พ.ศ. 2545

การทำงานในแอฟริกาเธอประสบปัญหามากมาย เธอถูกจี้ปล้นในระหว่างการเดินทางและถูกยิงระเบิดที่บ้านพักแต่ระเบิดนั้นพลาดเป้า[12] ผลงานของเธอได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในฝรั่งเศสและเยอรมนี การสร้างละครบรอดเวย์เรื่อง คอกเทลล์ ในสหรัฐอเมริกา และการสร้างละครเวที นางฟ้านิรนาม โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[17]

ชีวิตครอบครัว กฤษณาไม่ได้สมรส อาศัยอยู่กับญาติในบางครั้งเพราะทำงานส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา เธอกล่าวว่า "เราควรทำวันนี้ให้เหมือนกับวันสุดท้ายของชีวิต เพราะนั้นแปลว่าเราต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพราะไม่มีวันพรุ่งนี้ให้แก้ตัวอีกต่อไปแล้ว"[18]

งานเขียน แก้

  • เภสัชกรยิปซี (2550) สำนักพิมพ์ลิปส์พับลิชชิง, กรุงเทพมหานคร.
  • เภสัชกรยิปซี 2 : ประเทศแทนซาเนีย (2552) สำนักพิมพ์ลิปส์พับลิชชิง, กรุงเทพมหานคร.
  • เภสัชกรยิปซี 3 : มนตราซาเฮล (2552)affarica ตะวันตก 4 ประเทศ อันได้แก่ เซเนกัล แกมเบีย บูร์กินาฟาโซ และมาลี, เชียงใหม่.
  • เภสัชกรยิปซี 4 : shining black star (2553) ประเทศเคนย่า, สำนักพิมพ์ postbook, กรุงเทพมหานคร.

เกียรติยศ แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

รางวัล แก้

ปีได้รับรางวัล รางวัล
พ.ศ. 2553 "รางวัลสตรีดีเด่นในเวที/เครือข่ายระดับสากล เนื่องในวันสตีสากลประจำปี 2553" สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประเทศไทย
พ.ศ. 2553 "รางวัลบุคคลคุณภาพแห่งปี 2010 สาขาวิทยาศาสตร์" มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย
พ.ศ. 2552 "รางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ" มูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์
พ.ศ. 2552 "เภสัชกรเกียรติยศ" สมาคมเภสัชกรโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2552 "รางวัลพลเมืองดีเด่น" สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทย
พ.ศ. 2551 "รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม" โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. 2551 "ชาวเอเชียแห่งปี 2008" นิตยสารรีเดอร์สไดเจสต์
พ.ศ. 2550 "Speaker for the Chancellor’s Distinguished Lectureship Series" (Louisiana State University’s premier lecture series), มหาวิทยาลัยหลุยส์เซียนาสเตจ สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2548 "Reminders Day AIDS Award" (ReD Awards), เบอร์ลิน เยอรมนี
พ.ศ. 2547 "นักวิทยาศาสตร์โลก" The Letten Foundation, for outstanding scientific contribution in the field of HIV/AIDS, นอร์เวย์
พ.ศ. 2544 "เหรียญทองยูเรก้า" นิทรรศการนวัตกรรมโลกครั้งที่ 50, สถาบันวิจัยเทคโนโลยีใหม่ กรุงบรัสเซล เบลเยียม

อ้างอิง แก้

  1. สุขสันต์วันเกิดแด่เภสัชกรยิปซี[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  2. 2.0 2.1 2.2 เภสัชกรยิปซี 2 : ประเทศแทนซาเนีย[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  3. Commencement เก็บถาวร 2008-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Mount Holyoke College เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  4. Asian of the Year: The Medicine Maker เก็บถาวร 2009-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  5. อยากประกาศให้โลก (คนไทย) รู้.."ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์" เภสัชกร..ผู้ปิดทองหลังพระ จากบล็อกของโอเคเนชัน เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  6. คณะกรรมการจัดการประชุมเตรียมการสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 96 ปี "บทบาทเภสัชกรในการผลิตยาเพื่อสังคม"; กรุงเทพฯ, 2552.
  7. คณะแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เก็บถาวร 2010-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 6 มีนาคม 2554 กรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยรังสิต
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-08-19.
  9. พลเรือโท อรุณ ไกรสินธุ์ รับราชการทหารเรือ
  10. เจาะชีวิตฉายา 'เภสัชกรยิปซี 'ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์' 'บุคคลแห่งปีเอเชีย' นักสู้เอดส์ Nathon City เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  11. 11.0 11.1 อยากประกาศให้โลก (คนไทย) รู้.."ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์" เภสัชกร..ผู้ปิดทองหลังพระ จากบล็อกของโอเคเนชัน เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรหญิง ผู้ปิดทองหลังพระ ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่เร่ร่อนไปทั่วแอฟริกา เก็บถาวร 2009-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน PHA เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  13. Commencement เก็บถาวร 2008-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Mount Holyoke College เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  14. Asian of the Year: The Medicine Maker เก็บถาวร 2009-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  15. คณะกรรมการจัดการประชุมเตรียมการสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 96 ปี "บทบาทเภสัชกรในการผลิตยาเพื่อสังคม"; กรุงเทพฯ, 2552.
  16. คณะแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เก็บถาวร 2010-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 6 มีนาคม 2554
  17. โอเคเนชัน ละครนางฟ้านิรนาม เรื่องราวชีวิต-ผลงาน"เภสัชกรยิปซี" ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ /อักษร จุฬาฯ 30 ส.ค.52 และรวมข่าว ดร.กฤษณา เรียกข้อมูลวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552
  18. นิตยสารคู่สร่างคู่สม ฉบับที่ 565. กรุงเทพมหานคร : [ม.ป.พ.], พ.ศ. 2550.
  19. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี 2552

แหล่งข้อมูลอื่น แก้