กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา

(เปลี่ยนทางจาก กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา)

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (9 มกราคม พ.ศ. 2475 – 12 มกราคม พ.ศ. 2553) เป็นสถาปนิกชาวไทย นักธุรกิจ ผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบคาซ่า อาจารย์และอดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คนที่ 4 พ.ศ. 2517–2521)[1], นักแสดง นักบินสมัครเล่น อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี พ.ศ. 2503 และปี พ.ศ. 2507[2] อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 11 และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ปี พ.ศ. 2550

กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 11
ดำรงตำแหน่ง
19 เมษายน 2535 – 18 เมษายน 2539
ก่อนหน้าพลตรีจำลอง ศรีเมือง
ถัดไปพิจิตต รัตตกุล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด9 มกราคม พ.ศ. 2475
จังหวัดพระนครประเทศสยาม
เสียชีวิต12 มกราคม พ.ศ. 2553 (78 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองพรรคพลังธรรม (2531 – 2539)
พรรคประชากรไทย (2539 – 2553)
คู่สมรสสุชาดา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
บุตร3 คน
อาชีพ
  • สถาปนิก
  • อาจารย์
  • นักธุรกิจ
  • นักกีฬายิงปืน
  • นักแสดง
  • ทหารบก
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกองทัพบกไทย
ประจำการ2500 – 2503
ยศ ร้อยเอก
กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
เกิด ไทย
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่า
รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย)
การทำงานบริษัท คาซ่า จำกัด
ผลงานสำคัญ

กฤษฎา เป็นสถาปนิกผู้บุกเบิกงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่คนสำคัญของไทย ด้วยผลงานออกแบบที่เป็นที่รู้จักกันดีเช่น เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ อาคารศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โบสถ์เซเวียร์ เป็นต้น ผลงานของกฤษฎา มักเป็นอาคารเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

ประวัติ แก้

กฤษฎา เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2475 เป็นบุตรของหม่อมหลวงวงศ์อรุณ อรุณวงศ์[α] จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ (อสช 12977) ปริญญาตรีและโททางสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2498, 2499 ได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ไปศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่ โรงเรียนวิจิตรศิลป์เอกอลเดโบซาร์ และดูงานสถาปัตยกรรม เป็นเวลา 6 เดือน ในปี พ.ศ. 2503[3] กฤษฎา สมรสกับ สุชาดา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน

การทำงาน แก้

กฤษฎา เคยรับราชการที่กรมยุทธโยธาทหารบกหลังสำเร็จการศึกษา จนถึงยศร้อยเอก แล้วจึงโอนมาเป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2503–2532) และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม (อาษา) , อดีตอุปนายกของสภาสถาปนิกเอเซีย (ARCASIA) , อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธา (พ.ศ. 2533–2535) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (19 เมษายน 2535 – 18 เมษายน 2539) โดยการสนับสนุนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าฯ คนก่อน ได้รับมอบปริญญา สถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2551 จากการเสนอของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.)[4]

กฤษฎา เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท คาซา (CASA) มีผลงานออกแบบอาคารหลายแห่ง ที่มีชื่อเสียง เช่น อาคารใหม่สวนอัมพร[5] อาคารสินธร ถนนวิทยุ[6] อาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม สาขาสีลม[7] และสาขาหัวหมาก สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม[4] ตึกไอบีเอ็ม ถนนพหลโยธิน[6] สำนักงานใหญ่การบินไทย[6] และเมื่อปี 2539 ได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์[8]

ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นราชบัณฑิตประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สํานักศิลปกรรม ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2551[9]

ถึงแก่กรรม แก้

กฤษฎา ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 ที่โรงพยาบาลศิริราช รวมอายุได้ 78 ปี[10] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร

ผลงานออกแบบ แก้

 
อาคารใหม่สวนอัมพร
 
อาคารศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ (ฝั่งซ้าย; สิ่งตกแต่งด้านหน้าอาคารเดิม)
 
อาคารสำนักงานใหญ่การบินไทย ถนนวิภาวดีรังสิต
 
เอ็มบีเคเซ็นเตอร์
  • อาสนถานแม่พระนิรมล จังหวัดอุบลราชธานี (พ.ศ. 2503)
  • โรงแรมมโนราห์ (พ.ศ. 2506)
  • อาคารกรุงเทพสหกล (พ.ศ. 2510)
  • อาคารสมาคมนักข่าวไทย (พ.ศ. 2510)
  • อาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2510)
  • อาคารบรรยายรวมคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2510)
  • อาคารสารสิน (พ.ศ. 2511)
  • อาคารสวนใหม่อัมพร (พ.ศ. 2511)
  • โบสถ์เซเวียร์ (พ.ศ. 2513)
  • อาคารเซเวียร์ฮอลล์ (พ.ศ. 2513)
  • ห้องสมุด เอ.ยู.เอ. (พ.ศ. 2513)
  • ธนาคารไทยทนุ สาขาสีลม (พ.ศ. 2513)
  • บ้านศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (พ.ศ. 2514)
  • โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ (พ.ศ. 2516)
  • ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ (พ.ศ. 2517)
  • โรงแรมเพลสซิเดนท์ (พ.ศ. 2517)
  • ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลซิดลม (พ.ศ. 2517)
  • อาคารสินเอเซีย (พ.ศ. 2517)
  • อาคารสินธร (พ.ศ. 2521)
  • อาคารศรีวิกรม (พ.ศ. 2522)
  • อาคารอมารีแอร์พอร์ต (พ.ศ. 2523)
  • ริเวอร์ เฮาส์ คอนโดมิเนียม (พ.ศ. 2524)
  • อาคารชาญอิสระ (พ.ศ. 2525)
  • อาคารเอส.พี.อินเตอร์ชันแนล (พ.ศ. 2525)
  • ศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ (พ.ศ. 2525)
  • อาคารเซ็นทรัลชิดลม ทาวเวอร์ (พ.ศ. 2526)
  • อาคารสาธรธานี (พ.ศ. 2526)
  • อาคารบ้านโป่ง (พ.ศ. 2526)
  • อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (พ.ศ. 2527)
  • อาคารเอส.พี. (ไอ.บี.เอ็ม.) (พ.ศ. 2528)
  • อาคารสกล (พ.ศ. 2529)
  • อาคารบิวตี้ เจมส์ (พ.ศ. 2530)
  • ส่วนต่อขยายอาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (พ.ศ. 2531)
  • อาคารซี.ที.ไอ.ทาวเวอร์ (พ.ศ. 2531)
  • อาคารอาร์.เอส.ทาวเวอร์ (พ.ศ. 2532)
  • อาคารหะรินทร (พ.ศ. 2532)

วงการบันเทิง แก้

กฤษฎา เป็นนักบินสมัครเล่น เคยมีผลงานเป็นนักแสดงรับเชิญ ในภาพยนตร์เรื่อง เสือ โจรพันธุ์เสือ (2541) โดยรับบทเป็น พระยาบริรักษ์ประชาราษฎร์ บิดาของ เสือใบ (อำพล ลำพูน) ตัวเอกในเรื่อง และ เรื่องพรางชมพู (2545)[11] แสดงละครโทรทัศน์เทิดพระเกียรติเรื่อง พ่อ ตอน ชีวิตที่พอเพียง (2542) และแสดงละครเวที

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แก้

กฤษฎา ได้เข้ารับราชการในกองทัพไทยในปี พ.ศ. 2500 – 2503 และได้เป็นนักกีฬายิงปืนทีมชาติในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี พ.ศ. 2503กรุงโรม ประเทศอิตาลี และปี พ.ศ. 2507กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น[2]

ยศกองอาสารักษาดินแดน แก้

กฤษฎา ได้รับพระราชทานยศนายกองเอกแห่งกองอาสารักษาดินแดน[12]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. อรุณวงศ์ สะกดด้วย "ศ"

อ้างอิง แก้

  1. "ลำดับตอนที่ #38 : ทัวร์กันให้ทั่วจุฬาฯ ตอนที่ 12 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์". Dek-D.com. 3 ตุลาคม 2006.
  2. 2.0 2.1 "Krisada Arunwong". Sports Reference. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2015.
  3. "รอ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา". วารสารข้าราชการกรุงเทพมหานคร. 3 (2): 8–9. เมษายน 1992. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2008.
  4. 4.0 4.1 แพง ชินพงศ์ (17 มกราคม 2008). "วธ.ประกาศ 6 ศิลปินแห่งชาติ ปี 2550 "ร.อ.กฤษฎา-ครูเพลงชื่อดัง" ได้รับรางวัล". ผู้จัดการออนไลน์.
  5. "อาคารใหม่สวนอัมพร". TCDC. 15 มิถุนายน 2010.
  6. 6.0 6.1 6.2 "Introduction". Casa Company Limited (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2008. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2008.
  7. "เซ็นทรัลรีเทล ทุ่มงบกว่า 50 ล้าน ปรับโฉมใหม่เซ็นทรัล-สีลม โดนใจลูกค้าย่านธุรกิจ". ThaiPR.net. 13 กันยายน 2007.
  8. ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ (18 มกราคม 2008). "อ.กฤษฎา คือ ศิลปินแห่งชาติ ของเราในปี ๒๕๕๐ ครับผม". สมาคมสถาปนิกสยาม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 มกราคม 2014.
  9. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งราชบัณฑิต. เล่ม 125 ตอนพิเศษ 163 ง หน้า 45. วันที่ 10 ตุลาคม 2551.
  10. "อดีตผู้ว่าฯกทม."กฤษฎา"เสียชีวิตแล้ว". คมชัดลึกออนไลน์. 13 มกราคม 2010. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2023.
  11. "พรางชมพู (2002)". สยามโซน.คอม.
  12. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน. เล่ม 110 ตอนที่ 19 ฉบับพิเศษ หน้า 3. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536.
  13. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. เล่ม 108 ตอนที่ 208 ง ฉบับพิเศษ หน้า 1. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2534.
  14. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. เล่ม 103 ตอนที่ 213 ง ฉบับพิเศษ หน้า 5. วันที่ 3 ธันวาคม 2529.
  15. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณภรณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี ๒๕๕๑. เล่ม 126 ตอนที่ 2 ข หน้า 122. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552.
  16. ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า. เล่ม 85 ตอนที่ 44 ง ฉบับพิเศษ หน้า 30. วันที่ 15 พฤษภาคม 2511.
  17. ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา. เล่ม 99 ตอนที่ 184 ง ฉบับพิเศษ หน้า 3241. วันที่ 17 ธันวาคม 2525.
  18. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี. เล่ม 111 ตอนที่ 15 ช หน้า 90. วันที่ 17 สิงหาคม 2537.
  19. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ และเหรียญราชรุจิ. เล่ม 113 ตอนที่ 12 ข หน้า 64. วันที่ 21 มิถุนายน 2539.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้


ก่อนหน้า กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ถัดไป
พลตรี จำลอง ศรีเมือง    
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
(19 เมษายน พ.ศ. 2535 – 18 เมษายน พ.ศ. 2539)
  พิจิตต รัตตกุล