กระบวนการดาแกโรไทป์
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ดาแกโรไทพ์ (อังกฤษ: Daguerreotype) ถูกคิดค้นโดย หลุยส์ ฌาคส์ มังเด ดาแกร์ (พ.ศ. 2330 - 2394) โดยดาแกร์ได้ทดลองเกี่ยวกับวัสดุไวแสง เพื่อใช้บันทึกภาพจากกล้องออบสคูร่าโดยตั้งชื่อว่ากระบวนการ ไดออรามา (Diorama) และในขณะเดียวกัน โจเซฟ นีเซฟอร์ เนียฟ ก็ได้คิดค้นกระบวนการเฮลิโอกราฟฟี (Heliograghy) อยู่เช่นกัน แต่ทั้งสองเก็บเป็นความลับเรื่อยมาจนกระทั่งได้รู้จักกันโดยการชักนำของสองพี่น้องช่างทำแว่นตาและต่อมาทั้งสองได้ทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกัน แต่เมื่อทำสัญญาได้เพียง 4 ปี เนียฟกลับถึงแก่กรรมไปเสียก่อน และดาแกร์ ได้นำกระบวนการเฮลิโอกราฟฟี่ (Heliograghy) ของ เนียฟ และกระบวนการไดออรามาของ ดาแกร์ เองมารวมกันแล้วทดลองถ่ายภาพปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จเขาจึงตั้งชื่อกระบวนการใหม่นี้ว่า ดาแกโรไทพ์ (Daguerreotype)
ภาพแรกที่ดาแกร์ทำสำเร็จจนทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งการถ่ายภาพสมัยใหม่ มีชื่อว่าห้องภาพจิตรกร (The Artist’s studio) โดยเป็นการถ่ายภาพหุ่นนิ่งหรือภาพ(still Life) วัตถุที่ใช้เป็นแบบได้แก่ภาพวาด รูปแกะสลักที่เป็นฝีมือของเขาเอง เมื่อข่าวความสำเร็จแพร่ขยายออกไปทำให้ผู้คนสนใจเป็นอันมากโดยเฉพาะ ฟรังซัว อารากอล (Francois Aragol) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งกรุงปารีส ได้มาขอศึกษาความรู้จาก ดาแกร์และนำไปเผยแพร่สาธิตต่อ และเขายังได้เสนอรัฐบาลฝรั่งเศสซื้อลิขสิทธิ์จากดาแกร์ เมื่อรัฐบาลเห็นชอบได้ซื้อลิขสิทธิ์และได้โอนให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งกรุงปรารีสพัฒนา และต่อมารัฐบาลฝรั่งเศส ก็ได้ประกาศให้กระบวนการ ดาแกร์โรไทพ์ (Daguerreotype) เป็นของสาธารณะ ผู้ใดจะนำไปใช้ก็ได้โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์
เมื่อดาแกร์เห็นว่ามีคนสนใจกระบวนการของเขาเป็นอันมากเขาจึงได้เขียนหนังสือเพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า (The History and Description of the Process Named the Daguerreotype) มีจำนวน 79 หน้าและได้พิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสถึง 29 ครั้งและเป็นภาษาอื่นแพร่หลายไปทั่วซีกโลกตะวันตก แต่มีคนติว่าดาแกร์ใช้คำยากเกินไปและมีศัพท์วิทยาศาสตร์อยู่มาก ทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจ รัฐบาลจึงสั่งให้ดาแกร์สาธิตกระบวนการให้สาธารณชนได้ดู เพื่อให้สาธารณชนได้เข้าใจแจ่มแจ้ง และทุกครั้งที่มีการสาธิตเมื่อจบการสาธิตผู้คนต่างพากันแย่งซื้ออุปกรณ์ในการทำกระบวนการนี้เป็นเสมือนหนึ่งว่าเป็นของฝากจากกรุงปารีส จนทำให้เกิดร้านขายอุปกรณ์เหล่านี้อยู่มากมากทั่วกรุงปรารีส
เพียง 1 ปีหลังจากคิดค้นได้สำเร็จกระบวนการนี้ได้กระจายอยู่ทั่วไปในซีกโลกตะวันตก และเพียง 6 ปีจากนั้นดาแกร์โรไทพ์ก็ได้มาถึงประเทศไทยพร้อมเรือสินค้าของพวกฝรั่งในปี พ.ศ. 2388 ในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีก็ทรงได้ฉายพระรูปส่งไปพระราชทานให้ประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียร์ซ ของสหรัฐอเมริกาจากกระบวนการดาแกร์โรไทพ์ด้วยและเจริญเติบโตในประเทศไทยอย่างสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงขนาดมีการสร้างห้องมืด สั่งกล้องออบสคูร่า เพลท เคมีต่างๆ เข้ามาใช้ในราชสำนักมากมาย พระบาทสมเด็จพระอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทานกล้องและความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพให้แก่เจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ด้วยกันทั้งยังเคยออกร้านถ่ายรูปและทรงเป็นช่างภาพเองในงานประจำปี วัดเบญจมบพิตรเพื่อนำเงินรายได้ไปบำเพ็ญพระราชกุศลในวัดเบญจมบพิตรด้วย

ขั้นตอนวิธีการทำกระบวนการดาแกร์โรไทพ์ (Daguerreotype)แก้ไข
- ให้นำแผ่นทองแดง(plate)ซึ่งชุบเงินไว้หนึ่งด้าน
- ใช้สำลีชุบน้ำมันหอมผสมกับหินจากภูเขาไฟที่บดละเอียดแล้ว(pumice powder) ทาลงบนแผ่นทองด้านที่ชุบเงินให้ทั่วโดยสม่ำเสมอนานพอสมควร
- นำแผ่นทองแดงไปล้างในสารละลายกรดไนตริกแอซิคและน้ำกลั่น 1:16
- นำแผ่นทองแดงไปอังกับความร้อนโดยหันด้านที่เป็นทองแดงลงหาเปลวไฟ
ขั้นตอนต่อไปนี้เป็นกระบวนการให้ห้องมืด - ให้นำแผ่นทองแดงไปวางไว้บนกล่องที่มีไอโอดีนโดยหันด้านที่เป็นเงินลงหาไอโดดีนโดยกล่องนี้ในส่วนกลางกล่องจะต้องมีผ้ามัสลินขวางอยู่เพื่อเกลี่ยให้ไอโอดีนขึ้นไปติดได้ทั่วแผ่นเพลทอย่างสม่ำเสมอ
- เมื่อกระบวนการนี้เสร็จแผ่นเพลทจะกลางเป็นสีเหลืองเหมือนทองเหลือง
- นำแผ่นเพลทใส่กล่องสำหรับใส่แผ่นเพลท (hoder) และบรรจุใส่กล้องออบสคูร่า
- ถ่ายภาพที่ต้องการโดยในสมัยของดาแกร์นั้นใช้เวลาตั้งแต่ 15 - 40 นาที แล้วแต่สภาพแสง
- นำแผ่นเพลทไปล้างในกรดไนตริกแอซิคเข้มข้น
- นำแผ่นเพลทไปตั้งเอียง 45 องศากับถาดที่มีปรอท (Hg) อยู่
- นำตะเกียงไปเผาปรอท (Hg) ในถาด ขั้นตอนนี้รูปจะค่อยปรากฏขึ้นมาทีละน้อยจนครบ
- นำแผ่นเพลทไปล้างในสารละลายไฮโปและน้ำกลั่นเป็นการคงสภาพ ซึ่งสารละลายนี้จะต้องทำให้อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเดือดเล็กน้อยและเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ
การพัฒนาขึ้นไปอีก 3 ประการคือแก้ไข
- การปรับปรุงเลนส์ ในระยะแรกกล้องมีเลนส์เพียงตัวเดียวต่อมา โจเซฟ เพนซ์วอล (Josef Petzvall) ชาวเยอรมันได้ออกแบบเลนส์คู่ขึ้นซึ่งมีความไวแสงกว่าเดิมถึง 16 เท่า
- การปรับปรุงความไวแสงของเพลท จอห์น เฟรดเดอริค กอด ดาร์ด (John Friedrich God-dard) ได้ทดลองนำโปรมีนไปฉาบเพิ่มเข้าไปบนเพลทอีกครั้งทำให้เพลทมีความไวแสงเพิ่มขึ้นมาก เขาเรียกวัสดุไวแสงชนิดใหม่นี้ว่า “Quick stuff” และถ้าใช้เพลทนี้ร่วมกับกล้องเลนส์คู่จะใช้เวลานานไม่ถึง 1 นาที
- การย้อมสีภาพ เนื่องจากภาพที่ได้จากกระบวนการดาแกร์โรไทพ์มีโทนนุ่มและซีดจางง่ายดังนั้น ฮิฟโพไลท์ หลุยส์ ฟีซัว (Hippolyte Louis Fizeau) ได้ทำการย้อมสีภาพด้วยการน้ำเพลทที่คงสภาพแล้วไปอุ่นให้ร้อนแล้วนำสารละลายของ Gold chloride (AuCl3) เทลงบนเพลททำให้โทนของภาพมีสีน้ำตาลไหม้แกมม่วง การย้อมสีภาพจะทำให้เยื่อไวแสงติดได้นานขึ้นและสีของภาพคงทนถาวรกว่า
ข้อเสียของดาแกร์โรไทพ์แก้ไข
- การถ่ายภาพหนึ่งครั้งจะได้เพียงภาพเดียวไม่สามารถอัดเพิ่มได้
- เพลทเป็นโลหะมีน้ำหนักมาก เป็นรอยง่ายต้องเก็บไว้ในกรอบหรือซองโดยเฉพาะ
- เวลามองดูภาพบางทีลำบากเพราะมีแสงสะท้อนรบกวนนัยน์ตา
การสาธิตกระบวนการดาแกร์โรไทพ์แก้ไข
ดาแกร์ได้แสดงให้ประชาชนชม เมื่อ 17 กันยายน ค.ศ. 1839 ที่แกรนด์ โฮเต็ล (Grand Hotel)ในปารีส หนังสือพิมพ์ New York Star ได้ส่งผู้สื่อข่าวมาฟังและสังเกตการณ์ และเมื่อกลับไปนิวยอร์ก ผู้สื่อข่าวคนนี้ได้นำเรื่องราวไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์มีใจความดังนี้
ในการทดลองดาแกโรไทพ์ ดาแกร์ได้แสดงการทดลองจริงๆ ต่อหน้าผู้ชมเพื่อประกอบการบรรยายของเขา เขานำแผ่นทองแดงแผ่นนึง ซึ่งผิวด้านนึงชุบเงิน ใช้สำลีปั้นเป็นรูปกลมๆ ชุบน้ำมันหอม ผสมกับหินระเบิดจากภูเขาไฟที่บดละเอียดแล้ว แล้วนำไปทาถูบนแผ่นทองแดงด้านที่ชุบเงิน วิธีถูเขาถูเบาๆ ครั้งแรกถูเป็นวงกลม เมื่อนานพอสมควรแล้ว ต่อไปเขาถูจากบนมาล่างและถูจนกระทั่งทั่วทั้งสี่ด้านตลอดแผ่น จากนั้นเขานำแผ่นโลหะที่ถูเรียบร้อยแล้ว นำไปล้างในน้ำยาซึ่งมีส่วนผสมของน้ำกลั่น 16 ส่วน กับกรดไนตริก 1 ส่วน เมื่อล้างแล้วนำไปอังกับความร้อนจากตะเกียงโดยให้ด้านที่ชุบเงินอยู่ด้านบนและด้านทองแดงอยู่ด้านล่างติดกับเปลวไฟ เมื่ออังความร้อนพอสมควรแล้ว เขานำไปล้างอีกครั้งหนึ่งในกรดไนตริกชนิดเข้มข้น พอถึงตอนนี้ แผ่นโลหะก็พร้อมจะฉาบด้วยไอโอดีน
วิธีต่อมาเขานำแผ่นโลหะมาในที่ๆ แสงสว่างส่องเข้าไม่ได้ แล้วเอาแผ่นโลหะตรึงติดกรอบไม้ แล้วสอดเข้าไปใต้ฝากล่องเล็กๆ ซึ่งที่ก้นกล่องนั้นมีขวดไอโอดีนตั้งอยู่ สำหรับแผ่นโลหะ เขาวางด้านชุบเงินอยู่ข้างล่างเพื่อคอยรอรับไอของโอดีนจากขวด ที่ตรงกลางระหว่างขวดไอโอดีนกับแผ่นโลหะ มีผ้ามัสลินบางๆ ขึงอยู่ เพื่อทำหน้าที่ เกลี่ยควันไอโอดีนให้ถูกแผ่นโลหะสม่ำเสมอกัน เมื่อทำถึงขั้นตอนนี้ ปรากฏว่าแผ่นโลหะด้านที่ชุบเงินกลายเป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีของ Agl-Siver Iodide ซึ่งเกิดจากเงินกับไอโอดีน ขั้นตอนนี้คือ การฉาบวัสดุไวแสงบนแผ่นโลหะ
ดาแกร์ได้ปรับโฟกัสที่กล้องออบสคูล่าสำหรับถ่ายภาพไว้ล่วงหน้าและเอาแผ่นโลหะที่ทำเสร็จแล้วนั้นมาสอดเข้าไปตรงที่บรรจุวัสดุไวแสงของกล้องถ่าย เมื่อบรรจุเพลทแล้ว ก็ทำการถ่ายโดยใช้เวลาถึง 15 นาที สำหรับเวลาการถ่าย อาจเปลี่ยนแปลงได้ ตั้งแต่ 5-40 นาที แล้วแต่แสงมากหรือน้อย ผู้สื่อข่าวคนนี้เรียกดาแกร์ว่า ผู้อำนวยการ (Director) เข้าได้เล่าต่อไปว่า เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว ดาแกร์เอาเพลทออกมาให้ดู ซึ่งไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทำให้ผู้ชทคิดว่า การทดลองคงล้มเหลว จากนั้นดาแกร์เอาเพลทไปล้าง ผู้ชมต่างพากันคิดว่า หลังจากล้างแล้ว ต้องเห็นภาพแน่ๆ แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะไม่มีภาพปรากฏให้เห็น เลยพากันคิดว่า การทดลองล้มเหลวแน่ๆ แต่ดาแกร์ไม่พูดอะไร เขาลงมือทำต่อไป โดยเอาเพลทไปตั้งเอียง 45 องศาเหนือถาดที่มีปรอทอยู่ แล้วเอาตะเกียงเผาปรอทในถาด ไอของปรอทจะขึ้นมาถูกเพลทด้านชุบเงิน ตอนนี้ภาพจะเกิดขึ้นทีละน้อยจนเต็มที่ แล้วไปล้างในน้ำกลั่นซึ่งผสมด้วยไฮโป เป็นการคงสภาพ ซึ่งน้ำยาที่ล้างทำให้ร้อนถึงอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเดือดเล็กน้อย ถึงตอนนี้เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ได้ภาพออกมาดูตามต้องการ
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ New York Star กล่าวว่า ในชีวิตการเป็นผู้สื่อข่าวของเขายังไม่เคยเห็นสิ่งที่วิเศษสมบูรณ์ขนาดนี้มาก่อน เขาได้มีโอกาสเห็นสิ่งมหัศจรรย์ด้วยตาตนเองเป็นครั้งแรก สำหรับภาพที่ดาแกร์ทำนั้น ถ้ามองดูด้วยตาเปล่าจะมองไม่เห็นเกรน (Grain) ของภาพ แต่ถ้านำมาส่องดูกับแว่นขยายจะเห็นเกรนหยาบ ในการทดลองนี้มีตอนหนึ่งที่น่าสนเท่ห์อย่างยิ่ง คือตอนที่ผู้ชมยังมองไม่เห็นภาพบนเพลท ก่อนที่จะเอาเพลมไปอังปรอท ซึ่งตอนนี้เขาอธิบายว่า ยังเป็นภาพแฝงอยู่ เมื่อนำเพลทไปอังไอปรอทแล้ว ภาพก็จะปรากฏขึ้นมามองให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกระบวนการดาแกร์โรไทพ์แก้ไข
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงฉายพระราชทานเป็นบรรณาการแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) ปัจจุบันเก็บรักษาที่สถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา
ฌัง บัปติสต์ ปาลเลอกัวซ์ พร้อมด้วยเด็กไทยชื่อแก้ว และเด็กญวนชื่อชม ถ่ายที่ปารีส เมื่อ พ.ศ. 2397
ชิมะสึ นะริอะกิระ ไดเมียวแห่งแคว้นซัตสึมะ ถ่ายโดย อิชิกิ ชิโร เมื่อ ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)
ทิวทัศน์เมืองซานฟรานซิสโก ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1853 (พ.ศ. 2396)
ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น แห่งสหรัฐอเมริกา ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407)
ซามูเอล เอฟ. บี. มอร์ส ถ่ายเมื่อประมาณ ค.ศ. 1845 (พ.ศ. 2388)
ภาพสุริยุปราคาวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1851 ถ่ายด้วยกระบวนการดาแกโรไทป์ที่หอดูดาวหลวงของราชอาณาจักรปรัสเซีย
ดูเพิ่มแก้ไข
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: กระบวนการดาแกโรไทป์ |
บทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพ หรือ ภาพถ่ายนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล |