กระด้างภัณฑ์และละมุนภัณฑ์

กระด้างภัณฑ์ และ ละมุนภัณฑ์ เป็นคำศัพท์ภาษาไทยที่เข้าใจผิดกันว่า ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้สำหรับ ฮาร์ดแวร์ (hardware) และซอฟต์แวร์ (software) ตามลำดับ

กำเนิดศัพท์ แก้

จุดเริ่มต้นของคำ "กระด้างภัณฑ์" และ "ละมุนภัณฑ์" มาจากรัฐสภาไทยซึ่งไม่นิยมใช้ศัพท์ภาษาต่างประเทศ ในการประชุมครั้งหนึ่งมีการเอ่ยถึงซอฟต์แวร์ เดโช สวนานนท์ จึงบัญญัติให้ที่ประชุมใช้ว่า "ละมุนภัณฑ์" ต่อภายหลังจึงเกิด "กระด้างภัณฑ์" สำหรับฮาร์ดแวร์[1]

ความเข้าใจผิด แก้

ประชาชนทั่วไปมักเข้าใจว่า ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติให้ใช้ "กระด้างภัณฑ์" แทนฮาร์ดแวร์ และ "ละมุนภัณฑ์" แทนซอฟต์แวร์ ทั้งยังมักนำไปล้อเลียนกันเป็นที่สนุกปาก แต่แท้จริงแล้ว ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้ดังนี้[2][3]

  • hardware ใช้ทับศัพท์ว่า "ฮาร์ดแวร์" หรือใช้ศัพท์ไทยว่า "ส่วนเครื่อง" หรือ "ส่วนอุปกรณ์" ก็ได้
  • software ใช้ทับศัพท์ว่า "ซอฟต์แวร์" หรือใช้ศัพท์ไทยว่า "ส่วนชุดคำสั่ง" ก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีศัพท์อื่น ๆ ที่เข้าใจผิดอย่างเดียวกัน เช่น "joystick" ที่เชื่อกันว่าราชบัณฑิตยสถานให้ใช้ว่า "แท่งหรรษา" แต่อันที่จริง ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า "ก้านควบคุม"[2]

ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิตซึ่งรับผิดชอบบัญญัติศัพท์ทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงความเข้าใจผิดเหล่านี้ว่า[4]

"...มีคนพูดอย่างสนุกสนานอยู่เสมอว่า คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ที่ไม่ได้เรื่องออกมาให้ใช้ เช่นคำ 'software' ก็บัญญัติว่า 'ละมุนภัณฑ์' แล้วก็ขยายต่อไปว่า 'hardware' ก็บัญญัติว่า 'กระด้างภัณฑ์' ผมได้ฟังแล้วก็ได้แต่ปลง เพราะคนพูดบางคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือ ไม่ได้สอบสวนศึกษาเรื่องแท้จริงก่อนว่า คำศัพท์ที่บัญญัติจริง ๆ คืออะไร แม้แต่หนังสือศัพท์บัญญัติที่ทางราชบัณฑิตยสถานพิมพ์ก็ยังไม่มี เมื่อยังไม่ได้หาข้อมูลจนรู้ข้อเท็จจริง แล้วจะมาพูดวิจารณ์ได้อย่างไร ความจริงก็คือ คณะกรรมการไม่เคยบัญญัติศัพท์แบบนี้เลย คนทั้งหลายได้แต่พูดต่อ ๆ กันไปเองไม่มีมูลเลย หลักฐานอยู่ในหนังสือศัพท์บัญญัติตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงปัจจุบัน..."

ขณะที่ จินตนา พันธุฟัก เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ให้สัมภาษณ์ว่า[5]

"...เป็นตราบาปที่ราชบัณฑิตยสถานต้องรับมาอย่างไม่รู้เรื่อง เป็นความเสียหายที่แก้ไม่ได้เสียที แล้วยิ่งคำศัพท์ว่า 'joystick' ที่ไปกล่าวกันว่าราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า 'แท่งหรรษา' นี่ยิ่งไปกันใหญ่ และเป็นเรื่องที่น่าเกลียดมาก ๆ ราชบัณฑิตยสถานเป็นหน่วยงานที่เต็มไปด้วยผู้ทรงความรู้ การบัญญัติศัพท์ย่อมต้องมีหลักวิชาการ และใช้การพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วน..."

การล้อเลียนในสื่อ แก้

แม้ราชบัณฑิตยสถานจะปฏิเสธเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทว่า ยังมีผู้นำเสนอว่าเป็นผลงานของราชบัณฑิตยสถานอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เช่น ในรายการเรื่องเล่าเสาร์–อาทิตย์ ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สรยุทธ สุทัศนะจินดา กล่าวว่า "...เคยบัญญัติศัพท์ 'กระด้างภัณฑ์', 'ละมุนภัณฑ์' มาให้ใช้ แต่มันตลกจนไม่อยากจะใช้..."[6]

การ์ตูน "ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน" ประจำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 9 สิงหาคม 2554 ล้อเลียนประเด็นนี้ว่า ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้น คือ Google ว่า อสงไขยสนธิ, Twitter ว่า สำเนียงสกุณา, Hi5 ว่า เบญจสวัสดี และ Facebook ว่า พักตร์ปกรณ์[7]

อ้างอิง แก้

  1. สิ่งที่ได้จากวันเปิดตัว พจนานุกรม ฉบับมติชน - นิตยา กาญจนะวรรณ
  2. 2.0 2.1 ศัพท์บัญญัติของศัพท์ software และ hardware จาก ราชบัณฑิตยสถาน
  3. ความเข้าใจผิดบางประการของ “ละมุนภัณฑ์-กระด้างภัณฑ์”[ลิงก์เสีย] - สุดสัปดาห์
  4. ราชบัณฑิต - ครรชิต มาลัยวงศ์
  5. "ละมุนภัณฑ์" "กระด้างภัณฑ์" "แท่งหรรษา" ศัพท์นี้ มิเคยบัญญัติ - โพสต์ทูเดย์
  6. "เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ : ศัพท์ใหม่ราชบัณฑิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-17. สืบค้นเมื่อ 2011-07-09.
  7. ราชบัณฑิตทันสมัยเผยศัพท์ใหม่ไอทีออกวิทยุ เก็บถาวร 2011-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - Mthai

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้