เจ้าสามกรม เป็นคำเรียกพระราชโอรส 3 พระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ประสูติแต่พระสนม ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี พระองค์เจ้าทั้ง 3 พระองค์เป็นพระราชโอรสที่มีพระชันษาเป็นผู้ใหญ่และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสด็จสวรรคตของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าสามกรมถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ทั้ง 3 พระองค์

พระประวัติ แก้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระสนมหลายพระองค์ ที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่มี 4 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าแขก พระองค์เจ้ามังคุด พระองค์เจ้ารถ และพระองค์เจ้าปาน ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระราชบิดาของพระองค์แล้ว พระองค์เจ้าทั้ง 4 พระองค์ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรม ได้แก่

  • พระองค์เจ้าแขก ได้รับการสถาปนาที่ กรมหมื่นเทพพิพิธ
  • พระองค์เจ้ามังคุด ได้รับการสถาปนาที่ กรมหมื่นจิตรสุนทร
  • พระองค์เจ้ารถ ได้รับการสถาปนาที่ กรมหมื่นสุนทรเทพ
  • พระองค์เจ้าปาน ได้รับการสถาปนาที่ กรมหมื่นเสพภักดี

เจ้าสามกรมทรงขัดแย้งกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ขณะดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สาเหตุหนึ่งมาจากการที่กรมพระราชวังบวรมีพระบัณฑูรให้ตำรวจมานำตัวเจ้ากรม ปลัดกรมและนายเวรปลัดเวรของเจ้าสามกรมมาถามความว่า เจ้ากรมนั้นเป็นแต่หมื่น เหตุใดจึงตั้งบรรดาศักดิ์กันในกรมให้เป็นขุนซึ่งนับว่าทำสูงเกินว่าศักดิ์ จึงมีพระบัณฑูรให้ลงพระราชอาญาโบยหลังคนละ 15 ทีบ้างคนละ 20 ทีบ้าง

หลังจากนั้นไม่นาน กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นการลับว่า พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์ถึงในพระราชวังหลายครั้ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้หาพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเพื่อนำตัวมาสอบความ เมื่อพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรรับเป็นสัจแล้ว จึงมีพระราชดำรัสลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วให้เสนาบดีและลูกขุนพิพากษาโทษ ท้าวพระยามุขมนตรีและลูกขุนกราบบังคมทูลว่า โทษของพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเป็นมหันตโทษขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัตติยประเพณี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสขอชีวิตไว้แต่ให้นาบพระนลาฏแล้วถอดให้เป็นไพร่เสีย ส่วนเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนองค์ละ 30 ที พร้อมทั้งถอดเป็นไพร่เช่นกัน เจ้าฟ้าสังวาลย์อยู่ได้ 3 วันก็สิ้นพระชนม์ ส่วนพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยนและเสด็จสวรรคตลง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้นำพระศพทั้งสองไปฝังยังวัดไชยวัฒนาราม

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตขณะมีพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นครองราชย์มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร แต่ก่อนพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ อันเนื่องมาจากเจ้าสามกรมได้พยายามแย่งชิงราชสมบัติ แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงขอให้พระราชาคณะ 5 รูป มีพระเทพมุนีเป็นประธาน ไปเกลี้ยกล่อมจนสำเร็จ และพระองค์ได้ราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ ต่อมา เจ้าสามกรมถูกจับกุมตัวและสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ โดยนำพระศพไปฝัง ณ วัดโคกพระยาตามโบราณราชประเพณี

พระโอรสธิดา แก้

บัญชีพระนามเจ้านาย ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุพระนามพระโอรสธิดาของเจ้าสามกรมไว้ดังนี้[1]

พระองค์เจ้าชายมังคุด กรมหมื่นจิตรสุนทร

มีพระโอรสธิดา 3 พระองค์ ประสูติแต่พระองค์เจ้าหญิงกระแห คือ

  1. พระองค์เจ้าหญิงเต (ชะฎา)
  2. พระองค์เจ้าชายสุทิน (สูวดี)
  3. พระองค์เจ้าชายแฉ่ง (ชมภู)

พระธิดา 1 พระองค์ไม่ปรากฏนามหม่อมมารดา คือ

  1. หม่อมเจ้าหญิงมวน

และพระธิดาอีก 1 พระองค์ประสูติแต่หม่อมมูล คือ

  1. หม่อมเจ้าหญิงสิริวัฒน์
พระองค์เจ้าชายรถ กรมหมื่นสุนทรเทพ

มีพระธิดา 1 พระองค์ที่ประสูติแต่พระองค์เจ้าหญิงยี่สุ่น คือ

  1. พระองค์เจ้าหญิงมวน (ม่วง)

มีพระโอรสธิดา 4 พระองค์ประสูติแต่หม่อมทองอยู่ คือ

  1. หม่อมเจ้าหญิงองุ่น (อรุณ)
  2. หม่อมเจ้าชายขี้หมู (สูจี)
  3. หม่อมเจ้าชายสุนปุก (สีพี)
  4. หม่อมเจ้าหญิงอำพัน

และพระโอรสอีก 2 พระองค์ประสูติแต่หม่อมชื่น คือ

  1. หม่อมเจ้าชายสุชน
  2. หม่อมเจ้าชายชุมแสง
พระองค์เจ้าชายปาน กรมหมื่นเสพภักดี

มีพระโอรสธิดา 1 พระองค์ ประสูติแต่หม่อมเจ้าจัน คือ

  1. หม่อมเจ้าชายไพฑูรย์

อ้างอิง แก้

  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 2. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี. 2455.
  1. คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. หน้า 628-9. ISBN 978-616-7146-08-9