กรมขุนวิมลพัตร

(เปลี่ยนทางจาก กรมขุนวิมลภักดี)

กรมขุนวิมลพัตร[1] หรือ กรมขุนวิมวัต[1] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ถูกกวาดต้อนไปประทับ ณ พระราชวังหลวงอังวะจนกระทั่งสวรรคต[2]

กรมขุนวิมลพัตร
พระอัครมเหสีกรุงศรีอยุธยา
ก่อนหน้ากรมหลวงพิพิธมนตรี
ถัดไปกรมหลวงบาทบริจา
พระราชสวามีสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
พระราชบุตรเจ้าฟ้าสิริจันทรเทวี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระราชมารดาเจ้าจอมมารดาศรี

พระราชประวัติ แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น แก้

กรมขุนวิมลพัตรมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าแมงเม่า บางแห่งออกพระนามว่า เม้า หรือเมาฬี[2] "บัญชีพระนามเจ้านาย" ในคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่าพระองค์เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศรี มีพระเชษฐาและพระภคินีร่วมพระชนกชนนีคือ พระองค์เจ้าหญิงผอบ, พระองค์เจ้าชายสถิต, พระองค์เจ้าชายพงศ์ และพระองค์เจ้าชายแตง[3]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า หลังสงครามพระเจ้าอลองพญาในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ สมเด็จพระอนุชาธิราชให้สึกพระองค์เจ้าแมงเม่าจากชี นำมาถวายเป็นบาทบริจาริกาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[4] ต่อมาจึงทรงยกเจ้าแมงเม่าเป็นพระอัครมเหสี[5] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็นกรมขุนวิมลพัตร[1] แต่ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมระบุว่าได้สถาปนาเป็นกรมหมื่นพิมลภักดี[6] และทรงให้มเหสีอื่น ๆ มียศถาบรรดาศักดิ์เสมอกัน[7] ส่วนบันทึกของบาทหลวงปีแยร์ บรีโก (Pierre Brigot) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ระบุว่า "...ตั้งแต่สมัยก่อน ๆ มา พระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเท่ากับเป็นกฎหมายในเมืองนี้ ครั้งมาในบัดนี้ เจ้านายผู้หญิงทุกองค์ก็มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการก็ต้องเปลี่ยนกันอยู่เสมอ..."[8] สอดคล้องกับพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียนได้ระบุว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชมีพระราชดำรัสให้พระองค์เจ้าแมงเม่าสึกจากชีแล้วตั้งให้เป็นพระอัครมเหสีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า "...แลสมเดจ์พระราชอนุชาเสดจ์ขึ้นเฝ้าพระเชษฐ์าอยู่เนือง ๆ ดำหรัสให้พระองค์จ้าวแมงเม่า ซึ่งทรงผนวดเปนชีอยู่นั้นลาผนวดออกมาเปนพระอัคะมเหษีพระเชษฐ์าธิราช"[9]

กรมขุนวิมลพัตรมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือเจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี บางแห่งออกพระนามเป็นศรีจันทเทวี (คำให้การขุนหลวงหาวัด)[7], ศิริจันทาเทวี (คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม)[6] หรือเจ้าฟ้าน้อย (คำให้การชาวกรุงเก่า)[1] หลังประสูติกาลมีการประโคมดนตรีสามครั้งตามโบราณราชประเพณี[5]

พระราชอำนาจ แก้

พระนางมีบทบาททางการเมืองระดับหนึ่ง ดังที่ปีแยร์ บรีโก บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า "... บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน [พระราชชายา] ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตายเอาไฟเผาบ้านเรือนจะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น..."[10] และบาทหลวงคนนี้ยังสรุปว่าการที่ฝ่ายในมีอำนาจนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้อาณาจักรอ่อนแอ และเป็นแบบอย่างให้เหล่าข้าราชการทำตาม[8]

ปลายพระชนม์ แก้

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์, กรมขุนวิมลพัตร และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ต่างพากันหลบหนีพม่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์เสด็จสวรรคต พม่าตามจับกรมขุนวิมลพัตรพระมเหสี พระราชบุตร และพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ กวาดต้อนไปยังกรุงอังวะ[2][11][12] โดยพระเจ้ามังระโปรดให้พระองค์รวมทั้งเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นประทับอยู่ภายในพระราชวังหลวงอังวะ[13] พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสด็จสวรรคต

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

กรมขุนวิมลพัตรเป็นตัวละครในละครโทรทัศน์เรื่อง นิราศสองภพ รับบทโดยดวงหทัย ศรัทธาทิพย์เมื่อ พ.ศ. 2545 ละครโทรทัศน์ ฟ้าใหม่ รับบทโดยปิยะดา เพ็ญจินดาเมื่อ พ.ศ. 2547[14] ภาพยนตร์ซีรีส์ ศรีอโยธยา รับบทโดยรัดเกล้า อามระดิษเมื่อ พ.ศ. 2560[15][16] และเป็นตัวละครในนวนิยายเรื่อง หนึ่งด้าวฟ้าเดียว ของวรรณวรรธน์ ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2557 และถูกดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2561 รับบทโดยจินตหรา สุขพัฒน์[17]

ลำดับสาแหรก แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 177
  2. 2.0 2.1 2.2 พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 1135
  3. ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 176
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 374
  5. 5.0 5.1 ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 129
  6. 6.0 6.1 คำให้การขุนหลวง วัดประดู่ทรงธรรม, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 314
  7. 7.0 7.1 ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 494
  8. 8.0 8.1 ผิน ทุ่งคา (19 เมษายน 2561). "บาทหลวงฝรั่งเศสอ้าง "เจ้านายผู้หญิง" มีอำนาจเทียบเท่า "กษัตริย์" ก่อนสิ้นแผ่นดินอยุธยา". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากฉบับตัวเขียน, หน้า 340
  10. ขจร สุขพานิช. ข้อมูลประวัติศาสตร์ : สมัยบางกอก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2531. หน้า 269
  11. ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 136
  12. ปรามินทร์ เครือทอง (9 เมษายน 2561). "ชะตากรรมเจ้าหญิงอยุธยาหลังกรุงแตก". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (5 มีนาคม 2561). "ตามรอยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด: จากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงอมรปุระ". ศิลปวัฒนธรรม. (39:5), หน้า 72-92
  14. "ละคร ฟ้าใหม่ เรื่องย่อ". ออนไลน์ไอดอล. พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  15. "เรื่องย่อ ภาพยนตร์ซีรีส์ "ศรีอโยธยา"". MGR Online. 4 ธันวาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. "ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ "ศรีอโยธยา" ออกอากาศตอนแรก 20.30 น. คืนนี้". ทรูโฟร์ยู. 5 ธันวาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "เรื่องย่อ : หนึ่งด้าวฟ้าเดียว". สปริงนิวส์. 12 เมษายน 2561. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. ISBN 978-974-7088-10-6
  • ศานติ ภักดีคำ. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า (35)-(50). ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9