ลิขสิทธิ์

ทรัพย์สินทางปัญญา
(เปลี่ยนทางจาก กฎหมายลิขสิทธิ์)

[1]ลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มอบสิทธิทางกฎหมายให้ผู้สร้างสรรค์งานแต่เพียงผู้เดียวในการเผยแพร่ ทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานที่สร้างสรรค์ โดยทั่วไปแล้ว งานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นงานสร้างสรรค์ทางปัญญาทุกรูปแบบ เช่น งานเขียน งานดนตรี งานนาฏศิลป์ งานศิลปะ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น[1] เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถมอบสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่นได้ โดยอาจจะมอบสิทธิ์ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้ เช่น สิทธิ์การตีพิมพ์ สิทธิ์การแปล สิทธิ์การดัดแปลง เป็นต้น[2]

ลิขสิทธิ์มีระยะเวลาจำกัด ระยะเวลาของลิขสิทธิ์โดยทั่วไปคือเริ่มตั้งแต่การสร้างสรรค์งาน และสิ้นสุด 50 ถึง 100 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละเขตอำนาจ ลิขสิทธิ์ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดและข้อยกเว้นของกฎหมายลิขสิทธิ์ เช่น การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ

กฎหมายลิขสิทธิ์ในบางประเทศมีข้อกำหนดในการสถาปนาลิขสิทธิ์ เช่น การขึ้นทะเบียนงาน แต่ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันถือว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์เริ่มต้นขึ้นเมื่องานถูกสร้างโดยไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน โดยทั่วไป การบังคับใช้ลิขสิทธิ์เป็นการใช้กฎหมายแพ่ง แต่บางเขตอำนาจมีการใช้โทษทางอาญาด้วย

สนธิสัญญากรุงเบิร์น

แก้

สนธิสัญญากรุงเบิร์นเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โดยประเทศภาคีสมาชิกในสนธิสัญญานี้ จะมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์เสมอเหมือนกัน เสมือนว่าทุกๆ ประเทศสมาชิกเป็นประเทศเดียวกัน เช่น กรณีมีการสร้างสรรค์งานเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา งานชิ้นนั้นก็จะได้รับการคุ้มครองในประเทศไทย ตามกฎหมายไทย ด้วยเช่นกัน เพราะทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยต่างได้ลงนามในสนธิสัญญานี้

ลิขสิทธิ์ในประเทศไทย

แก้

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยจะกำหนดให้มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต กรณีเจ้าของเป็นนิติบุคคล จะเริ่มนับอายุตั้งแต่ผลงานถูกสร้างขึ้นมานับไปอีก 50 ปี หรือเริ่มนับเมื่อมีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดทีหลัง แต่การโฆษณาครั้งแรกนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใน 50 ปี นับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา ถ้าพ้น 50 ปีไปแล้วโดยที่ยังไม่ได้มีการโฆษณา ถือว่าลิขสิทธิ์หมดอายุ โดยที่การโฆษณาในภายหลังจะไม่มีผลต่อการนับต่ออายุลิขสิทธิ์อีก การโฆษณานี้จะต้องเป็นการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย จึงจะนับเป็นการโฆษณาครั้งแรกที่ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ได้

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะมีข้อยกเว้นในงานบางประเภทที่จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต่างออกไป ได้แก่ ศิลปประยุกต์ มีอายุคุ้มครอง 25 ปี งานบางชนิดที่สร้างสรรค์โดยบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่นิติบุคคล ก็จะมีข้อยกเว้นให้เริ่มนับอายุเช่นเดียวกับกรณีนิติบุคคล คือ เริ่มนับตั้งแต่ได้มีการสร้างงานขึ้น หรือตั้งแต่โฆษณาครั้งแรก (แทนที่จะนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต) งานเหล่านั้น ได้แก่ ภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ งานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่ง รวมถึง ศิลปประยุกต์ งานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ และ ไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ก็ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ในลักษณะเดียวกับนิติบุคคล

กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของประเทศไทย คือ ประกาศหอพระสมุดวชิรญาณ ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435)[3] เป็นการคุ้มครองเพื่อมิให้ผู้ใดนำความต่าง ๆ ในหนังสือวชิรญาณวิเศษไปตีพิมพ์ เย็บเป็นเล่มหรือเป็นเรื่อง นอกจากได้รับอนุญาตจากกรรมสัมปาทิกสภา [4] แต่ไม่มีการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน[5]

กฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับลิขสิทธิ์ได้ประกาศใช้ตามลำดับ โดยยกเลิกฉบับก่อนหน้า ดังนี้ [5]

  1. พระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444)
  2. พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. 2457
  3. พระราชบัญญัติคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474
  4. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521
  5. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
  6. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
  7. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์

แก้

ในประเทศไทย พบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ค่อนข้างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น ซีดีเพลง (มักเป็นซีดีรวมไฟล์เพลงประเภท MP3) วีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ ทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ รวมไปถึง ซอฟต์แวร์ เกม และโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ โดยสถานที่ที่เคยมีปัญหาเรื่องการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาก ได้แก่ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า, คลองถม, เซียร์ รังสิต, ตะวันนา เป็นต้น[6]

ในปี 2550 ประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดเป็นอันดับ 4 ในเอเชียแปซิฟิก[7] ส่งผลเสียต่อชื่อเสียงและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 World Intellectual Property Organization (2008). WIPO intellectual property handbook: Policy, law and use (PDF). pp. 40–67. ISBN 978-92-805-1291-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-03-20. สืบค้นเมื่อ 2019-08-06.
  2. Ginsburg, Jane (2017). "Copyright". ใน Dreyfuss, Rochelle; Pila, Justine (บ.ก.). The Oxford handbook of intellectual property law. doi:10.1093/oxfordhb/9780198758457.013.23. ISBN 9780198758457.
  3. ประกาศหอพระสมุดวชิรญาณ,ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558
  4. สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. "8.1.1 ความหมายของทรัพย์สินทางปัญญา". เอกสารการสอนชุดวิชากฎหมายธุรกิจ หน่วยที่ 8-15. ปรับปรุงครั้งที่ 1, พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2554. หน้า (8-6). ISBN 978-616-505-374-7
  5. 5.0 5.1 "ความเป็นมาของกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-11. สืบค้นเมื่อ 2013-04-20.
  6. ไทยรัฐ, เจ้าข้าเอ๊ย! รัฐจะลุยละเมิดลิขสิทธิ์, 18 พฤศจิกายน 2551 เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2552
  7. สยามธุรกิจ, ‘บีเอสเอ’ผุดแคมเปญสายด่วน รณรงค์ลด ละ เลิก ซอฟต์แวร์เถื่อน, 29-31 สิงหาคม 2550 เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้