กฎหมายปิดปาก หรือในพระธรรมศาสตร์เรียก บทตัดสำนวน (อังกฤษ: estoppel) คือ หลักกฎหมายที่ไม่ยอมให้อ้างหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากที่กฎหมายสันนิษฐานไว้ ไม่ว่าข้อสันนิษฐานนั้นจะเป็นจริงหรือไม่

คำ "estoppel" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำ "estoupail" ในภาษาฝรั่งเศสเก่า หมายความว่า "ฝาจุก" (stopper plug) อุปมาถึง การอุดความไม่สมดุลของเหตุการณ์ คำ "estoppel" นี้ยังเกี่ยวข้องกับกริยา "estop" ซึ่งมาจากคำ "estopper" ในภาษาฝรั่งเศสเก่าเช่นกัน หมายความว่า "หยุดยั้ง, ขัดขวาง"

โดยเนื้อหาสาระแล้ว กฎหมายปิดปากเป็นหลักในกฎหมายพยานหลักฐาน[1] ซึ่งห้ามบุคคลปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ได้ถือว่ายุติแล้ว เมื่อศาลเห็นว่า คู่ความได้กระทำการใด ๆ อันเข้าลักษณะกฎหมายปิดปาก คู่ความนั้นจะถูก "ปิดปาก" (estopped) มิได้โต้แย้งหรืออ้างสิทธิ เช่น จำเลยจะถูกปิดปากมิให้แก้ต่าง หรือโจทก์จะถูกปิดปากมิให้แก้คำให้การของจำเลย เซอร์เอดเวิร์ด โคก (Edward Coke) ว่า "ที่เรียก กฎหมายปิดปาก หรือข้อตัดบทนั้น เพราะว่าการกระทำหรือการยอมรับของคนผู้นั้นเองกลายเป็นเครื่องหุบหรือปิดปากตัวเขามิให้กล่าวหรืออ้างข้อเท็จจริง"[2]

ตัวอย่างของกฎหมายปิดปาก เช่น มาตรา 407 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย ว่า "บุคคลใดกระทำการตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่า ผู้นั้นหามีสิทธิที่จะได้รับคืนทรัพย์ไม่"

มาตรา 115 แห่งรัฐบัญญัติพยานหลักฐานอินเดีย ค.ศ. 1872 (Indian Evidence Act, 1872) อันเป็นกฎหมายของประเทศอินเดียนั้น บัญญัติถึงกฎหมายปิดปากไว้โดยตรงว่า ในกรณีที่บุคคลหนึ่ง ไม่ว่าโดยแสดงเจตนาก็ดี โดยกระทำก็ดี หรือโดยละเว้นการกระทำก็ดี จงใจก่อหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นเชื่อถือว่าสิ่งหนึ่งเป็นความจริง หรือให้เขากระทำตามความเชื่อถือเช่นนั้น บุคคลผู้นั้น หรือผู้แทนของเขา เมื่อเป็นความหรืออยู่ในกระบวนพิจารณากับบุคคลเช่นว่า จะปฏิเสธว่าสิ่งดังกล่าวไม่เป็นความจริงมิได้[3]

อ้างอิง แก้

  1. "Central London Property Trust v High Trees House Ltd [1947] KB 130". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 มกราคม 2012. สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2012.
  2. 2 Coke, Littleton 352a (PDF). The First Part of the Institutes of the Laws of England. Vol. III. p. 456.
  3. "Central Government Act, Section 115 in The Indian Evidence Act, 1872". Indian Kanoon.