กฎบัตรอาเซียน (อังกฤษ: ASEAN Charter)[1] เป็นร่างสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรของสมาคมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายโดยเฉพาะการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งเริ่มใช้งานในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550[2]

กฎบัตรอาเซียน
สมาชิกอาเซียน
วันลงนาม20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 (2007-11-20)
ที่ลงนามประเทศสิงคโปร์
วันมีผลธันวาคม พ.ศ. 2551
เงื่อนไขทุกรัฐสมาชิกให้สัตยาบัน
ผู้ลงนาม10 รัฐสมาชิก
ภาคี10 รัฐสมาชิก (บรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม)
ผู้เก็บรักษาเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภาษาอังกฤษ
ข้อความทั้งหมด
th:กฎบัตรสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ วิกิซอร์ซ

กฎบัตรอาเซียนประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ เสาหลักด้านการเมือง เสาหลักด้านเศรษฐกิจ เสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม

กฎบัตร

แก้
รัฐสมาชิก รัฐบาลให้สัตยาบัน รับสัตยาบันสาร
ล่วงหน้า
ลงนามโดย
  สิงคโปร์ 18 ธันวาคม 2550 7 มกราคม 2551 นายกรัฐมนตรี
  บรูไน 31 มกราคม 2551 15 กุมภาพันธ์ 2551 สุลต่าน
  ลาว 14 กุมภาพันธ์ 2551 20 กุมภาพันธ์ 2551 ประธานาธิบดี
  มาเลเซีย 14 กุมภาพันธ์ 2551 20 กุมภาพันธ์ 2551 รัฐมนตรีต่างประเทศ
  เวียดนาม 14 มีนาคม 2551 19 มีนาคม 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  กัมพูชา 25 กุมภาพันธ์ 2551[3] 18 เมษายน 2551 รัฐสภา
  พม่า 21 กรกฎาคม 2551 21 กรกฎาคม 2551[4] รัฐมนตรีต่างประเทศ
  ฟิลิปปินส์ 7 ตุลาคม 2551[5] 12 พฤศจิกายน 2551[6] วุฒิสมาชิก
  อินโดนีเซีย 21 ตุลาคม 2551[7] 13 พฤศจิกายน 2551[6] สภาที่ปรึกษาประชาชนแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
  ไทย 16 กันยายน 2551[8] 14 พฤศจิกายน 2551[6] รัฐสภา

ประวัติ

แก้

อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยตราสารที่เรียกว่า ปฏิญญาอาเซียน หรือที่รู้จักในชื่อ ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) โดยหากพิจารณาจากเนื้อหาของตราสารและสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วง พ.ศ. 2510 พิจารณาได้ว่าอาเซียนจำต้องอาศัยรูปแบบความร่วมมือเชิงมิตรภาพในภูมิภาคและเลี่ยงการกำหนดสิทธิหน้าที่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้นำในภูมิภาคได้อาศัยอาเซียนเป็นเวทีดำเนินความร่วมมือบนพื้นฐานของความยินยอมและความสมัครใจของสมาชิกเป็นหลัก การดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือหรือการอาศัยฉันทามติ โดยเลี่ยงการอ้างสิทธิหน้าที่และการแทรกแซงทางการเมืองระหว่างสมาชิก (non intervention) ซึ่งแนวปฏิบัตินี้ที่เรียกว่า “The ASEAN Way” ได้ช่วยให้ความร่วมมือดำเนินมาได้โดยปราศจากความขัดแย้งรุนแรงแม้ว่าสมาชิกแต่ละประเทศจะมีระบบกฎหมายและนโยบายทางการเมืองที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่ออาเซียนมิได้มุ่งที่จะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาเป็นฐานในการดำเนินการ จึงมิได้มีการจัดทำสนธิสัญญาหรือกฎบัตรอาเซียนมาตั้งแต่ต้น

ความสำคัญต่ออาเซียน

แก้

แม้อาเซียนจะมิได้มีสนธิสัญญาหรือกฎบัตรมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาเซียนก็ได้พัฒนาความร่วมมือโดยอาศัยฐานในทางกฎหมายระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น การที่สมาชิกอาเซียนได้จัดทำสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia 1976 หรือ TAC) ซึ่งก็เป็นการนำหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิมแล้วมาเน้นย้ำระหว่างรัฐในภูมิภาค เช่น หลักการเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐ หลักการไม่แทรกแซงกิจการอันเป็นการภายในของแต่ละรัฐ ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติอยู่แล้ว เป็นต้น และอาเซียนก็ได้อาศัยหลักในสนธิสัญญาดังกล่าวมาเป็นหลักการที่อาเซียนยึดถือ และเป็นข้อแม้ในการต่อรองกับรัฐที่ไม่ใช่สมาชิกให้ลงนามเป็นภาคีก่อนจะได้รับให้เข้าร่วมประชุมกับอาเซียนนั่นเอง ข้อพิจารณาสำคัญคือสนธิสัญญาดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องหรือทำขึ้นกับอาเซียนโดยตรง และอาเซียนก็มิได้มีความสามารถในการทำสนธิสัญญาโดยตนเอง เพียงแต่รัฐที่อยู่ในบริเวณเอเชียอาคเนย์ได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวเพื่อประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคและอาศัยอาเซียนเป็นเครื่องมือในการดำเนินความร่วมมือ และพันธกรณีหรือหน้าที่ตามสนธิสัญญานั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนโดยปริยาย นอกจากนี้อาเซียนยังได้เป็นเวทีที่ทำให้เกิดสนธิสัญญาในเรื่องอื่น ๆ เช่น การทำให้ภูมิภาคปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ หรือล่าสุดในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนความตกลงเรื่องเศรษฐกิจและความร่วมมือเฉพาะด้าน เช่น ด้านการส่งเสริมสวัสดิการสังคม การศึกษา การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ สิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ ฯลฯ ซึ่งล้วนอาศัยอาเซียนเป็นกลไกสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้น แม้ในทางรูปแบบแล้วจะไม่ถือว่าอาเซียนได้ตั้งอยู่บนฐานกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ในทางเนื้อหากฎหมายระหว่างประเทศและความตกลงเหล่านี้ก็จะได้มีอิทธิพลต่อการดำเนินการของอาเซียนในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ความเป็นมาและกระบวนการจัดทำ

แก้

เมื่อเดือนธันวาคม 2540 ในการประชุม ณ กัวลาลัมเปอร์ บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมประกาศ “วิสัยทัศน์อาเซียน 2020” (ASEAN Vision 2020) โดยกำหนดเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) อาเซียนจะมีรูปแบบความร่วมมือที่พัฒนาใกล้ชิดมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ต่อมาในการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 9 ในเดือนตุลาคม 2546 ที่บาหลี ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) เพื่อให้เกิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยจะประกอบด้วย 3 เสาหลัก (pillars) ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community–ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC)

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2547 ได้มีการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 10 ณ กรุงเวียงจันทน์ และบรรดาผู้นำอาเซียนได้ประกาศแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme) ซึ่งได้สนับสนุนการจัดทำกฎบัตรอาเซียนเพื่อรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2563 และในเดือนธันวาคม 2548 ได้มีการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 11 ณ กรุงบาหลี โดยบรรดาผู้นำได้ร่วมกันประกาศ หลักการสำคัญในการจัดทำกฎบัตรอาเซียนและได้มอบหมายให้ “คณะผู้ทรงคุณวุฒิ” (Eminent Persons Group) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการต่างประเทศจากแต่ละประเทศสมาชิก เป็นผู้จัดทำข้อเสนอแนะเบื้องต้นและลักษณะทั่วไปของกฎบัตรอาเซียน ซึ่งคณะผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้ประชุมหารือร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ จนสามารถสรุปข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการจัดทำกฎบัตรในรูปแบบ “รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องกฎบัตรอาเซียน” ในเดือนธันวาคม 2549 ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2550 ในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 12 ณ กรุงเซบู บรรดาผู้นำได้ร่วมกันประกาศ รับรองรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับกฎบัตรอาเซียนและได้มอบหมายให้ “คณะทำงานระดับสูง” หรือ High Level Task Force ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญจากแต่ละประเทศสมาชิกเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำร่างกฎบัตรอาเซียนและเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โดยให้อาศัยหลักการสำคัญที่บรรดาผู้นำได้ร่วมกันประกาศไว้ ณ กรุงบาหลี และกรุงเซบู รวมถึงให้พิจารณาจากข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถนำร่างกฎบัตรไปพิจารณาในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ ประเทศสิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ต่อไป จากนั้นก็จะได้มีการตรวจสอบ รับฟังความคิดเห็น ก่อนผู้นำจะลงนาม

การประกาศใช้

แก้

วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย ได้ประกาศใช้ กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้การดำเนินงานของอาเซียน เป็นไปภายใต้กฎหมายเดียวกันและปูทางไปสู่การสร้างตลาดเดียวในภูมิภาคภายใน 7 ปี[9]

โครงสร้างของกฎบัตรอาเซียน

แก้

โครงสร้างของกฎบัตรนี้ ประกอบด้วย อารัมภบทและข้อบังคับ 55 ข้อใน 13 หมวด [10]

หมวด 1 วัตถุประสงค์และหลักการ – กล่าวถึงวัตถุประสงค์และหลักการ

หมวด 2 สภาพบุคคลตามกฎหมาย – ระบุฐานะทางกฎหมาย

หมวด 3 สมาชิกภาพ – อธิบายสมาชิก การรับสมาชิกใหม่

หมวด 4 องค์กร – กล่าวถึงองค์กรและทำงานประกอบด้วย ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีประสานงาน คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่าง ๆ องค์กรรัฐมนตรีเฉพาะสาขา คณะกรรมการถาวรประจำอาเซียน เลขาธิการและสำนักเลขาธิการ องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

หมวด 5 องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน – มีรายชื่อตามภาคผนวก 2

หมวด 6 ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ – เอกสิทธิ์ทางการทูตของอาเซียน

หมวด 7 การตัดสินใจ – กล่าวถึงเกณฑ์การตัดสินที่อยู่บนหลักการปรึกษาหารือและฉันทามติ

หมวด 8 การระงับข้อพิพาท – กล่าวถึงวิธีระงับข้อพิพาทและคนกลาง โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นช่องทางสุดท้าย

หมวด 9 งบประมาณและการเงิน – กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณของสำนักเลขาธิการ

หมวด 10 การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน – กล่าวถึง ประธานอาเซียน พิธีการทางการทูต ภาษาทำงาน

หมวด 11 อัตลักษณ์และสัญลักษณ์ - กล่าวถึงคำขวัญ ธง ดวงตรา วันและเพลงอาเซียน

หมวด 12 ความสัมพันธ์ภายนอก – กล่าวถึงแนวทางและขั้นตอนการเจรจาของอาเซียนกับคู่เจรจา

หมวด 13 บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย – กล่าวถึงการบังคับใช้

ภาคผนวก 1 – กล่าวถึงองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา

ภาคผนวก 2 – กล่าวถึงองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน คือ รัฐสภา องค์กรภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม

ภาคผนวก 3 – อธิบายรายละเอียดธงอาเซียน

ภาคผนวก 4 – อธิบายรายละเอียดดวงตราอาเซียน

สาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียน

ตามกฎบัตรนี้ อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล

วัตถุประสงค์ ของกฎบัตรเป็นการประมวลบรรทัดฐาน (Norm) และค่านิยม (Value) ของอาเซียนที่สรุปได้ดังนี้

ภาพรวมของประชาคมอาเซียน การรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ การเพิ่มความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

ด้านเศรษฐกิจ สร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวและความสามารถในการแข่งขันสูง การรวมตัวทางเศรษฐกิจที่มีการเคลื่อนย้ายเสรีของสินค้า/บริการ การลงทุนและแรงงาน การเคลื่อนย้ายทุนเสรียิ่งขึ้น

ด้านความมั่นคงของมนุษย์ บรรเทาความยากจน และลดช่องว่างการพัฒนา ส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีพ

ด้านสังคม ส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างสังคมที่ปลอดภัยมั่นคงจากยาเสพติด เพิ่มพูนความกินดีอยู่ดีของประชาชนอาเซียน ผ่านโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์, สวัสดิการ และความยุติธรรม

ด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คุ้มครองสภาพแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

ด้านวัฒนธรรม ส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนโดยเคารพความหลากหลายและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

ด้านการเมืองความมั่นคง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม ตอบสนองต่อสิ่งท้าทายความมั่นคง เช่น การก่อการร้าย

หลักการ ของกฎบัตรนี้ อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การไม่แทรกแซงกิจการภายใน การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี สิ่งที่เน้นหนักคือ การรวมศูนย์กับความสัมพันธ์กับภายนอก จึงทำให้กฎบัตรนี้เป็นเสาหลักของการสร้างประชาคมอาเซียนและตอกย้ำถึงข้อผูกมัดทางกฎหมายของข้อตกลงอาเซียนต่าง ๆ

กลไกของอาเซียน ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นองค์สูงสุดในกำหนดนโยบายของอาเซียน โดยมีการประชุมสุดยอดปีละ 2 ครั้ง มีคณะมนตรีประสานงานอาเซียนที่มาจากรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้บริหารงานทั่วไป และคณะมนตรีประชาคมอาเซียนดำเนินการตามพันธะกรณีในแต่ละสาขา เลขาธิการเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสำหรับการติดตามความคืบหน้าในกิจการต่าง ๆ ของอาเซียน รวมทั้งมีคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน

การบริหารงาน ประธานอาเซียนดำรงตำแหน่งวาระ 1 ปี และประเทศที่เป็นประธานอาเซียนจะรับตำแหน่งประธานของกลไกของอาเซียนทุกตำแหน่ง อาทิ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน มนตรีประสานงานอาเซียน มนตรีประชาคมอาเซียนคณะต่าง ๆ ประธานผู้แทนถาวรประจำอาเซียน

จากกำหนดให้มีการประชุมสุดยอดปีละ 2 ครั้งแสดงว่า อาเซียนกำลังปรับให้ที่ประชุมสุดยอดให้มีบทบาทเชิงบริหารอย่างใกล้ชิดกับการปฏิบัติงานมากขึ้น แทนที่จะให้ที่ประชุมสุดยอดเป็นเพียงพิธีกรรมทางการทูต รวมทั้งการบริหารงานที่ทำให้มีสอดคล้องกับประธานอาเซียนย่อมแสดงถึงความพยายามเพิ่มสมรรถนะขององค์กรในด้านประสิทธิผลของคณะทำงานด้านต่าง ๆ มากขึ้น

ข้อบังคับที่น่าสนใจคือ การให้มีองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างข้อบังคับโดยคณะทำงานระดับสูง ขณะที่ บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิก ทำให้สามารถคาดหวังองค์กรนี้ในฐานะเวทีของการเรียกร้องสิทธิและสร้างพื้นที่ต่อการรับรู้จากสาธารณะ

อ้างอิง

แก้
  1. The ASEAN Charter (PDF). Jakarta: ASEAN Secretariat. Dec 2007. ISBN 978-979-3496-62-7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-23. สืบค้นเมื่อ 20 May 2015.
  2. "Indonesian ministers asked to follow up ASEAN summit results", Xinhua, 22 Nov 2007.
  3. "Cambodian National Assembly approves ASEAN Charter". News.xinhuanet.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 December 2008. สืบค้นเมื่อ 16 Dec 2008.
  4. "Burma ratifies ASEAN charter | The Australian". Theaustralian.news.com.au. 22 Jul 2008. สืบค้นเมื่อ 16 Dec 2008.[ลิงก์เสีย]
  5. "Philippine Senate ratifies ASEAN Charter", 7 Oct 2008.
  6. 6.0 6.1 6.2 "Malaysian National News Agency: BERNAMA". Bernama.com.my. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 มกราคม 2009. สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2008.
  7. "ASEAN Secretariat: ASEAN Charter fully ratified", 21 Oct 2008.
  8. "Surin welcomes Thailand's ratification of Asean charter" เก็บถาวร 24 กันยายน 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 16 Sep 2008.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-17. สืบค้นเมื่อ 2008-12-18.
  10. ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ, thaiindy.org, กฎบัตรอาเซียน เก็บถาวร 2009-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 10 ธันวาคม 2551

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้