กฎการปะทะ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
กฎการปะทะ (อังกฤษ: rules of engagement) ในปฏิบัติการของทหาร หรือตำรวจ จะใช้กฎการปะทะเพื่อพิจารณาว่า จะใช้กำลังเมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร ซึ่งกฎนั้น อาจจะเป็นได้ทั้งกฎทั่วๆ ไป และกฎที่เฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องๆ และมีความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมที่ต่างกันในประวัติศาสตร์
กฎการปะทะของทหารอเมริกัน
แก้กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ให้คำนิยามของกฎการปะทะว่า "คำสั่งที่ออกโดยผู้มีอำนาจ ซึ่งให้แนวทางและข้อจำกัดในการปฏิบัติ ต่อการที่หน่วยทหารของสหรัฐอเมริกา จะเข้าทำการรบ หรือดำเนินการรบต่อไป กับฝ่ายตรงข้ามที่เผชิญหน้าอยู่"
กฎการปะทะ เกี่ยวข้องกับ 4 เรื่อง ดังนี้
- จะใช้กำลังทหารเมื่อไร
- จะใช้กำลังทหารที่ไหน
- จะใช้กำลังทหารต่อสู้กับใคร ในสภาวะแวดล้อมที่กำหนดตามข้อ 1 และ ข้อ 2
- จะใช้กำลังทหารอย่างไร เพื่อให้ได้ผลที่ต้องการในท้ายที่สุด
กฎการปะทะ มี 2 รูปแบบ คือ การปฏิบัติที่ทหารสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องปรึกษาผู้มีอำนาจเหนือกว่า ถ้าไม่ได้มีการห้ามไว้อย่างแน่ชัด (บางครั้งเรียกว่า Command by negation) และ การปฏิบัติ ที่จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจสูงกว่าเท่านั้น (บางครั้งเรียกว่า Positive Command)
นอกเหนือไปจากการปฏิบัติตาม ระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) แล้ว กำลังพลจะต้องปฏิบัติตามกฎการปะทะ ในการปฏิบัติการทางทหารใดๆ ซึ่งอาจจะรวมถึง การตอบโต้เมื่อถูกโจมตี การปฏิบัติต่อเชลยศึก และ/หรือ ยุทโธปกรณ์ที่เก็บได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ทหารสามารถปฏิบัติการได้ และการจะใช้กำลังทหารอย่างไร ในปฏิบัติการนั้นๆ
กฎการปะทะ มีความสำคัญมาก เนื่องจาก
- เป็นการกำหนดมาตรฐานที่แน่นอน เข้าใจง่าย ต่อสถานการณ์ที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ว่ากำลังทหารต้องทำอย่างไรในสถานการณ์นั้นๆ โดยปกติ จะถูกคิดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และครอบคลุมถึงสถานการณ์ต่างๆ กัน โดยมีกฎการปฏิบัติในแต่ละสถานการณ์ต่างกัน
- เป็นเครื่องช่วยในการสร้างความเข้าใจระหว่างฝ่ายการเมือง/การทูต กับฝ่ายใช้กำลัง และช่วยให้ฝ่ายการเมือง มีความเข้าใจ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า และปรับแผนการใช้กำลังได้
สิทธิในการใช้กำลังป้องกันตนเอง เป็น กฎการปะทะข้อแรกของกองทัพสหรัฐอเมริกาเสมอ
ความล้มเหลวของกฎการปะทะ
แก้ในการปะทะทุกครั้ง จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความจำเป็นในการใช้กำลังอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ กับ ความจำเป็นในการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นช่องว่างที่ก่อให้เกิดปัญหา คือ
- กฎการปะทะที่เข้มงวดเกินไป ทำให้ผู้บังคับบัญชาทหารเกิดความกดดันในการใช้กำลังที่มีอยู่ปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่า ความผิดพลาดชนิดที่ 1 (Type I error) เป็นเรื่องธรรมดา ที่ฝ่ายการเมืองที่จะต้องควบคุม/จำกัดการปฏิบัติของฝ่ายทหาร ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้นำทางการเมือง ผู้ที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จที่แตกต่างจากฝ่ายทหาร ที่ต้องการใช้กำลังอย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด
- กฎการปะทะที่ปล่อยปละจนเกินไป อาจทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในขณะที่ประสบความสำเร็จในเชิงยุทธวิธี แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง ที่อาจจะต้องการใช้กำลังมากกว่านั้น เรียกว่า ความผิดพลาดชนิดที่ 2 (Type II error)
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
แก้การรบในปัจจุบัน มีการใช้พลเรือนมากขึ้น และพลเรือนเหล่านี้ มักไม่ได้อยู่ในกฎการปะทะ หรือ แม้กระทั่งระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) เดียวกับกำลังพลที่เป็นทหาร ซึ่งนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด "ความผิดพลาดชนิดที่ 2" ขึ้นได้