ไฟล์ศูนย์ไบต์ คือไฟล์คอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้บรรจุข้อมูลอะไร หมายความว่ามีขนาดของไฟล์เท่ากับศูนย์ไบต์

โปรแกรมประยุกต์ส่วนใหญ่ไม่สามารถโหลดหรือใช้ไฟล์ศูนย์ไบต์ได้ ถึงแม้ว่าไฟล์ไฟล์หนึ่งจะถูกอธิบายว่าเป็นเอกสารจากโปรแกรมประมวลคำที่ไม่มีตัวหนังสือ หรือไฟล์ภาพที่มีมิติกว้างศูนย์ยาวศูนย์ หรือไฟล์เสียงที่มีความยาวศูนย์วินาที ก็ยังมีข้อมูลเมทาดาตาที่ใช้ระบุรูปแบบไฟล์และอธิบายสมบัติพื้นฐานของไฟล์เก็บอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดไฟล์ที่มีขนาดมากกว่าศูนย์ไบต์ ส่วนรูปแบบที่เรียบง่ายมาก ๆ บางรูปแบบไม่ได้ใช้เมทาดาตา เช่นไฟล์ข้อความแอสกี เช่นนี้สามารถมีขนาดเป็นศูนย์ไบต์ได้

ในบางกรณี ไฟล์ศูนย์ไบต์สามารถใช้แสดงสารสนเทศได้อย่างเมทาดาตาของไฟล์ (ตัวอย่างเช่น ชื่อไฟล์ที่แสดงข้อความชี้แจงแก่ผู้ใช้ขณะที่ดูรายการในไดเรกทอรี อาทิ documents-have-been-moved-to-partition-D.txt ฯลฯ) หรือใช้วางในไดเรกทอรีเพื่อทำให้แน่ใจว่าไดเรกทอรีนั้นจะไม่ว่างเปล่า เพราะเครื่องมือบางชนิดเช่นซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลและซอฟต์แวร์ควบคุมการแก้ไขปรับปรุง จะละเว้นไดเรกทอรีว่างในการประมวลผล

มีหลายวิธีที่จะสร้างไฟล์ศูนย์ไบต์ขึ้นมาเองได้ ตัวอย่างเช่น การบันทึกเนื้อหาว่างในโปรแกรมแก้ไขข้อความ หรือการใช้โปรแกรมอรรถประโยชน์ที่มีมากับระบบปฏิบัติการ หรือเขียนโปรแกรมให้สร้างไฟล์นั้นขึ้นมา ไฟล์ศูนย์ไบต์อาจเกิดขึ้นได้ขณะที่โปรแกรมสร้างไฟล์ขึ้นมาแต่หยุดทำงาน หรือถูกรบกวนก่อนเขียนข้อมูลเสร็จ เนื่องจากข้อมูลที่จะเขียนนั้นเก็บชั่วคราว (cache) อยู่ในหน่วยความจำและจะถ่ายเท (flush) ลงดิสก์ในภายหลัง โปรแกรมที่ไม่ได้ถ่ายเทข้อมูลลงดิสก์หรือหยุดทำงานกะทันหันอาจส่งผลให้ไฟล์มีขนาดเป็นศูนย์ไบต์ เมื่อไฟล์ศูนย์ไบต์ถูกสร้างขึ้น ระบบไฟล์จะไม่บันทึกเนื้อหาของไฟล์ลงหน่วยเก็บ เพียงแต่จะปรับปรุงตารางดัชนีของมันเท่านั้น