ไดโงฮนซง

(เปลี่ยนทางจาก ไดโงะฮนซง)

ไดโงฮนซง (ญี่ปุ่น: 大御本尊ทับศัพท์: Dai Gohonzon) เป็นสิ่งสักการบูชาสูงสุดของศาสนาพุทธนิกายนิจิเร็นโชชู คำว่า "ได" (大) แปลว่า "ยิ่งใหญ่, สูงสุด" ส่วน "โกฮนซง" (御本尊) หมายถึง สิ่งสักการะ คำว่า "ไดโงฮนซง" จึงแปลว่า "สิ่งสักการะสูงสุด"

ภาพถ่ายของไดโงฮนซงแห่งวัดไทเซกิจิ บันทึกภาพในยุคไทโช เมื่อ ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456)

ไดโงฮนซงมีลักษณะเป็นรูปมัณฑละ (มณฑล) จารึกภาษาจีนและภาษาสันสกฤต ซึ่งทำจากไม้การบูร โดยหลักแล้วมัณฑละดังกล่าวประกอบด้วยนามของพุทธะ พระโพธิสัตว์ เทพในพุทธศาสนา และคุรุอาจารย์ต่าง ๆ ในศาสนาพุทธเป็นจำนวนมาก รายล้อมรอบอักษรคันจิ (อักษรจีน) ที่อยู่ศูนย์กลางมัณฑละ ซึ่งจารึกเป็นคาถาว่า "นามูเมียวโฮเร็งเงเกียวนิจิเร็ง" [1] ตามประวัติกล่าวว่าไดโงฮนซงถูกจารึกขึ้นโดยพระนิจิเร็ง (หรือ "นิจิเร็นไดโชนิง" ในหมู่สานุศิษย์แห่งนิกายนิจิเร็นโชชู) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1279 เป็นการจำลองธรรมสภาในห้วงอวกาศขณะที่พระโคตมพุทธเจ้า (ฝ่ายมหายานนิยมเรียกว่า "พระศากยมุนีพุทธะ") แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องสัทธรรมปุณฑรีกสูตร ปัจจุบันไดโงฮนซงประดิษฐานอยู่ ณ โฮอันโดะ วัดไทเซกิจิ จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น อันเป็นศูนย์กลางใหญ่ของศาสนาพุทธนิกายนิจิเร็นโชชู

สานุศิษย์แห่งนิกายนิจิเร็นโชชูถือว่าไดโงฮนซงคือการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบุคคลและธรรม และคือจุดมุ่งหมายในการมาเกิดของพระนิจิเร็นไดโชนิง

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2012-04-11.