ไชยวัฒน์ วรรณานนท์

นายไชยวัฒน์ วรรณานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2489 เป็นศิลปินชาวไทย บุตรคนที่ 2 ของนายสมชายและนางเตื้อม วรรณานนท์ ภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชีวิตในวัยต้น ได้เริ่มเรียนชั้นประถมปีที่ 1 - 3 ที่โรงเรียนวัดอินทารามตำบลท่าฉาง แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนหาดเสี้ยว จังหวัดระนอง และจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่นั่นเมื่อปี พ.ศ. 2501 ต่อมาได้กลับมาอยู่ที่บ้านและเรียนจบ ชั้นมัธยมปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนท่าฉางวิทยา ตำบลท่าฉาง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเรียนชั้นมัธยมปี ที่ 4 ที่โรงเรียนเวียงไชยศึกษา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากนั้นได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ที่โรงเรียนบ้านนาสาร อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่นั่นในปี พ.ศ. 2506

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วมีความตั้งใจที่จะเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างเนื่องจากสนใจในงานศิลปะ มาก แต่ทางบ้านไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอจึงไม่มีโอกาส ในปี พ.ศ. 2507 จึงได้ไปอยู่กับลุงที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อจะ ได้ฝึกงานเป็นช่างกลึง แต่ไม่ชอบ ลุงจึงได้นำไปฝากให้อยู่กับช่างเขียนภาพโฆษณาของโรงหนังเริงจิต ได้ฝึก เป็นช่างเขียนภาพโฆษณาที่โรงหนังแห่งนี้ จนกลายเป็นผู้ที่มีฝืมือดีที่สุดของจังหวัดภูเก็ตในช่วงระยะเวลา 2 ปี ต่อมา

ในปี พ.ศ. 2509 ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ด้วยเงินที่สะสมไว้ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะฝึกหัดการเขียนภาพโฆษณา ภาพยนตร์ให้ดียิ่งขึ้น โดยที่นายเยี่ยง ช่างเขียนภาพของเอสจันโฆษณา ซึ่งได้รู้จักกันที่ภูเก็ต ได้นำไปฝากกับ นายเทียมเจ้าของโรงงานเขียนภาพโฆษณาที่มีชื่อเสียง ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่เป็นคนล้างพู่กัน กวาดโรง งาน และจัดสีให้แก่ช่างวาดซึ่งมีอยู่ 7-8 คน ต้องตื่นนอนตั้งแต่ 5 นาฬิกาเป็นประจำ เพื่อทำงานดังกล่าวและใช้ เวลาขณะที่คนอื่นยังไม่ตื่นนอนเขียนภาพทุกวัน โดยไม่มีใครเคยได้รู้เห็นด้วยการซ่อนไว้ และลบทิ้งในเวลาต่อมา ทำเช่นนี้อยู่เป็นเวลาถึง 2 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2511 เขามีโอกาสเป็นช่างเขียน เนื่องจากในช่วงที่กำลังรับ งานเขียนเป็นจำนวนมาก ช่าง 2 คนล้มป่วยลงอย่างกะทันหัน ไม่สามารถหาคนมาทำงานให้ทันตามกำหนดได้ จึงได้รับอาสาเขียนภาพที่ต้องการด้วยความสามารถที่ปรากฏจากผลงานจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมงานทั้งหมด

ขณะที่ทำงานกับนายเทียม ได้รับความรู้เกี่ยวกับศิลปะกว้างขวางขึ้น เนื่องจากเห็นภาพแปลก ๆ และได้ฟัง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และช่างฝีมือดีสนทนากันบ่อย ๆ ทำให้เกิดความสงสัยเรื่องงานศิลปะของ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เมื่อถามใคร ๆ ก็ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ มีแต่คนคอยห้ามปรามไม่ให้เป็นศิลปินเพราะกลัวจะเอาชีวิตไม่รอด แต่ก็ยังไม่ท้อถอยจนกระทั่งได้มาทำงานเขียนภาพโฆษณาสินค้าที่ซอยสารภี ถนนตากสินได้มีโอกาสรู้จักกับ ประเทือง เอมเจริญ และจ่าง แซ่ตั้ง ทั้งยังมีโอกาสติดตามบุคคลดังกล่าวไป เขียนภาพธรรมธาติหลายครั้ง ได้รับการฝึกหัดด้วยการแนะนำ วิจารณ์จากบุคคลทั้งสองจนมีความรู้ความชำนาญสามารถเขียนภาพธรรมชาติได้ดีคนหนึ่ง

จากการที่เริ่มเขียนภาพธรรมชาติ ก็ทำให้ห่างเหินจากโรงงานเขียนภาพของนายเทียมจนกระทั่งได้กลับมา บ้านที่อำเภอท่าฉาง และได้เขียนภาพสีน้ำมันชื่อ "ตาลเดี่ยว" ซึ่งเมื่อ ประเทือง เอมเจริญ เห็นก็ชอบใจ ได้ นำไปจัดแสดงที่แกลลอรี่ ซอยอโศก ร่วมกับศิลปินอื่น ๆ รวม 6 คน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจเป็นอันมาก

เนื่องจากมีความต้องการศึกษาธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง จึงได้เดินทางไปยังปราสาทหินเขาพนมรุ้ง จังหวัด บุรีรัมย์ พักอยู่ที่นั่น 4 เดือน ได้วาดภาพปราสาทหินและฝึกสมาธิไปด้วย จากการทำสมาธิและได้รับคำบอกกล่าวสั่งสอนจากบุคคลที่น่าเชื่อถือ ทำให้หันไปสนใจธรรมะและต้องการบวชเป็นภิกษุที่นั่น แต่ก็ไม่มีโอกาสด้วยมีเหตุจำเป็นที่จะต้องกลับมาบ้านอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2511 จึงได้อุปสมบทที่วัดอินทาราม อำเภอ ท่าฉาง หลังจากถือสมณเพศได้ 1 เดือน ก็ไปพักอยู่ที่วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จังหวัดเชียงใหม่ ระยะนั้น หยุดเขียนภาพโดยสิ้นเชิง มุ่งมั่นเพียรศึกษาธรรมเท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2514 หลังจากพักที่วัดอุโมงค์ได้ 2-3 ปี ก็เดินทางไปยังเกาะเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ได้ศึกษาธรรมชาติของทะเล ที่นี่ได้เริ่มเขียนทะเล ท้องฟ้า โดยใช้สีน้ำมันอย่างจริงจัง ภาพเหล่านี้ประเทือง เอมเจริญ ได้นำไปแสดงร่วมกับกลุ่มธรรมหลายภาพ หลังจากที่ได้พักอยู่ที่เกาะเสม็ด 3-4 เดือน ก็ได้กลับ ไปวัดอุโมงค์อีก

ต่อมาได้เดินทางไปจำพรรษาที่วัดหนองบุ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ด้วยเหตุผลเพื่อฝึกเผยแพร่ธรรม จึงเริ่มหัดเทศน์และปาฐกถาธรรมอย่างเป็นกิจลักษณะ เมื่อออกพรรษาได้ออกไปพักอยู่ที่เกาะเสม็ดอีกครั้งหนึ่ง โอกาสนี้ได้ร่วมก่อตั้งสำนักสงฆ์ ได้เขียนภาพสีน้ำมันที่นี่เป็นจำนวนหลายภาพ หลังจากนั้นได้กลับไปวัดหนองบุ จังหวัดอุดรธานีและได้เขียนภาพผนังโบสถ์ของวัดนี้จนแล้วเสร็จ แล้วจึงกลับไปที่สำนักสงฆ์เกาะแสมสารจังหวัดชลบุรีเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องทะเล ทำให้มีผลงานสีน้ำอีกเป็นจำนวนหลายภาพกลุ่มธรรมได้นำภาพเขียนเหล่านี้ไปแสดงอีกหลายครั้งต่อมา

ประมาณปี พ.ศ. 2518 ได้เดินทางกลับบ้านที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานีและได้ลาสิกขาบท แล้วไปเปิดแกลอรี่ที่พัทยากับเพื่อนในเวลาต่อมา แต่ทำอยู่ไม่นานนักก็ได้มอบงานนี้ให้เพื่อนได้ดำเนินการต่อ ตนเองได้กลับมาทำงานศิลปะทางศาสนาโดยเริ่มต้นที่วัดเกษมบำรุง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยทำหน้าบัน โบสถ์ ฐานปัทม์ เจดีย์ ซุ้มประตู มีผู้ศรัทธามอบหมายงานวัดอื่นๆ มากขึ้นตามลำดับ งานที่ภาคภูมิใจมากคือการร่วมเขียนภาพที่ผนังวัดโบสถ์ วัดคลองเตยนอก กรุงเทพ ฯ ร่วมกับศิลปินมีชื่ออีก 3 ท่าน เขียนภาพปริศนาธรรมที่วัดชุมแสง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ทั้งยังได้ปั้นดินด้วยศิลปะศรีวิชัยประดับธรรมศาลาที่วัดนี้ด้วย

ระหว่าง ปี พ.ศ. 2522-2528 มีการจัดแสดงภาพเขียนที่กรุงเทพฯ หลายครั้งและในเวลาต่อมายังได้ นำไปแสดงที่อเมริกา ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรเผยแพร่งานด้านนี้ในสถาบันระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาเป็นประจำทั้งในส่วนกลางและภาคอื่นๆ โดยเฉพาะที่วิทยาลัยครูและโรงเรียนช่างศิลป์ ฯลฯ

ปี พ.ศ. 2528 - ปัจจุบัน ได้ทำงานศิลปะเกี่ยวกับศาสนา สร้างผลงานภาพเขียนตามโอกาสและร่วมก่อตั้งชมรมศิลปะศรีวิชัยที่สุราษฎร์ธานี เพื่อเผยแพร่ศิลปะให้กว้างขวางด้วยกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น สาธิตการเขียนภาพ จัดนิทรรศการ บรรยายวิธีเขียนภาพต่างๆ ฯลฯ ทำให้งานศิลปะในจังหวัดนี้ได้รับความสนใจกว้างขวางยิ่งขึ้น

นายไชยวัฒน์ วรรณานนท์ เป็นศิลปินผู้ประสบความสำเร็จด้วยวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นที่จะดำรงคุณค่าแห่งศิลปะ และใช้ศิลปะเพื่อสังคม โดยมีพื้นฐานทางคุณธรรมเป็นที่ตั้ง มีการสั่งสมและสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ขาดสาย ทั้งจิตกรรมและปฏิมากรรมนับชิ้นไม่ถ้วน ให้ผู้ที่รับรู้และพบเห็นมีโอกาสภาคภูมิใจฝีมือ คนไทยโดยทั่วกัน ด้วยเหตุดังกล่าว ไชยวัฒน์ วรรณานนท์ จึงได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรม การวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของภาคใต้ประจำปี พ.ศ. 2529