ไข้รากสาดใหญ่ หรือ ไข้ไทฟัส (อังกฤษ: Typhus) เป็นกลุ่มของโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย โดยมีแมลงปรสิต (louse) เป็นพาหะ ชื่อโรคไทฟัสมาจากรากศัพท์ภาษากรีก typhos แปลว่าขี้เกียจหรือขุ่นมัว ซึ่งอธิบายสภาวะจิตใจของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ เชื้อแบคทีเรียก่อโรคนี้คือเชื้อกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ซึ่งเป็นปรสิตที่จำเป็นต้องอยู่ในเซลล์โฮสต์ตลอดเวลา ไม่มีวงชีพอิสระ เชื้อริกเก็ตเซียเป็นเชื้อที่ระบาดอยู่ในสัตว์พวกหนู และแพร่กระจายเข้าสู่มนุษย์โดยเห็บ เหา หมัด โลน หรือไร พาหะเหล่านี้จะเจริญได้ดีภายใต้ภาวะสุขลักษณะไม่ดีเช่นในเรือนจำ ค่ายผู้ลี้ภัย ในหมู่คนไร้บ้าน และในสนามรบช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในประเทศที่พัฒนาแล้วโรคไข้รากสาดใหญ่มักติดต่อผ่านทางหมัด ส่วนในเขตร้อนโรคนี้มักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคไข้เลือดออก

ไข้รากสาดใหญ่
(Typhus)
ผื่นที่เกิดจากไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10A75.1
ICD-9080-083
DiseasesDB29240
MedlinePlus001363
eMedicinemed/2332
MeSHD014438

โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียนอกจากจะมีไข้รากสาดใหญ่ประเภทต่างๆ ที่จะกล่าวถึงแล้วนั้น ยังมีโรคไข้พุพองเทือกเขาร็อกกี (Rocky Mountain spotted fever) และโรคไข้พุพอง (spotted fevers) ที่ระบาดในประเทศโคลอมเบียและบราซิล

ชนิดของไข้รากสาดใหญ่ แก้

ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด แก้

ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด (Epidemic typhus หรืออาจเรียกว่า "Camp Fever", "Jail Fever", "Hospital Fever", "Ship Fever", "Famine Fever", "Petechial Fever", หรือ "louse-borne typhus"[1]) มักเกิดการระบาดหลังจากสงครามหรือภัยพิบัติ เชื้อก่อโรคคือ Rickettsia prowazekii ซึ่งติดต่อผ่านทางเหาตัว (body louse; Pediculus humanus corporis) [2][3]ที่เจริญบนตัวของผู้ติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรีย R. prowazekii จะเติบโตในทางเดินอาหารของเหาและถูกขับถ่ายออกมาทางมูล และติดต่อไปยังอีกคนหนึ่งเมื่อเกา (จากการถูกเหากัดและคัน) และมูลของเหาเข้าไปในแผล ระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ เชื้อแบคทีเรีย R. prowazekii สามารถมีชีวิตและสามารถแพร่กระจายเชื้ออยู่ได้ในมูลเหาเป็นเวลาหลายวัน ไข้รากสาดใหญ่สามารถทำให้เหาตายได้ แต่เชื้อก็ยังมีชีวิตอยู่ในซากเหาได้อีกเป็นเวลานานหลายสัปดาห์

อาการของโรคนี้คือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ไข้สูงลอย ไอ มีผื่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง หนาวสั่น ความดันโลหิตตกลง ซึม ไวต่อแสง และเพ้อ ผื่นจะเริ่มปรากฏบนหน้าอกประมาณ 5 วันหลังจากมีไข้และกระจายไปตามลำตัวและแขนขา แต่ไม่ลามถึงใบหน้า ฝ่ามือและฝ่าเท้า อาการทั่วไปในโรคไข้รากสาดใหญ่ทุกชนิดคือมีไข้ซึ่งอาจสูงถึง 39°C (102°F)

การรักษาการติดเชื้อทำโดยการให้ยาปฏิชีวนะ ส่วนการให้ของเหลวทางหลอดเลือดดำและออกซิเจนอาจพิจารณาเพื่อประคับประคองผู้ป่วย อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ประมาณ 10% ถึง 60% แต่อาจลดลงอย่างรวดเร็วหากใช้ยาปฏิชีวนะ เช่นเตตราไซคลีน (tetracycline) แต่เนิ่นๆ การป้องกันการติดเชื้ออาจใช้วัคซีน

โรคบริลล์-ซินสเซอร์ (Brill-Zinsser disease) ค้นพบโดยนาธาน บริลล์ (Nathan Brill) ในปี ค.ศ. 1913 เป็นลักษณะหนึ่งของไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาดที่มีความรุนแรงต่ำ ซึ่งเกิดซ้ำหลังจากอาการแสดงของโรคครั้งแรกหายไปแล้ว (หลังระยะแฝงที่ยาวนาน) (ในลักษณะเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างอีสุกอีใสและงูสวัด) การอุบัติซ้ำในลักษณะนี้สามารถเกิดในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ

ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาดพบได้บ่อยระหว่างสงครามหรือภาวะทุพภิกขภัย เช่น การระบาดของโรคไข้รากสาดใหญ่ในค่ายกักกันของนาซีเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายพันคนเนื่องจากมีสุขภาวะที่ย่ำแย่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคหลายชนิด ส่วนการระบาดที่พบในคริสต์ศตวรรษที่ 21 น่าจะเกิดจากค่ายผู้ลี้ภัยในภาวะอดอยากหรือมีภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น แก้

ไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น (Endemic typhus หรืออาจเรียกว่า "ไข้รากสาดใหญ่จากหมัด" (flea-borne typhus) และ "ไข้รากสาดใหญ่จากหนู" (murine typhusor)) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Rickettsia typhi และติดต่อผ่านทางหมัด (flea) ที่กัดหนู[4] ในบางครั้งไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่นอาจเกิดจากเชื้อ Rickettsia felis และติดต่อผ่านทางหมัดที่อาศัยบนแมวหรือโอพอสซัม

อาการของไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่นได้แก่ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียนและไอ ไข้รากสาดชนิดนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ[4] และมักกลับมาหายเป็นปกติ แต่อาจพบการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ พิการอย่างรุนแรง หรือภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ อาการแสดงอาจคล้ายกับหัด หัดเยอรมัน หรือ Rocky Mountain spotted fever[5]

ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ แก้

ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ หรือ สครับไทฟัส (Scrub typhus หรืออาจเรียกว่า "ไข้รากสาดใหญ่จากไรอ่อน" (chigger-borne typhus)) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า Orientia tsutsugamushi ซึ่งมีพาหะนำโรคคือไรอ่อน (chigger) ซึ่งพบมากตามป่าละเมาะ โรคไข้รากสาดใหญ่ชนิดนี้รู้จักในญี่ปุ่นในชื่อ "โรคซัทสึกามูชิ" (tsutsugamushi disease) และพบความชุกของโรคในมาเลเซียและออสเตรเลีย ชายแดนไทย-พม่า พบการระบาดของโรคนี้อย่างรุนแรงในกองทหารในพม่าและศรีลังการะหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[6]

อาการของไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะได้แก่มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ และมีอาการในระบบทางเดินอาหาร สายพันธุ์ของเชื้อ O. tsutsugamushi ที่รุนแรงอาจทำให้มีเลือดออกและเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด (intravascular coagulation) การสัมผัสกับไรอ่อนซึ่งพบได้ทั่วไปทุกภูมิภาคของโลกอาจทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนัง

การรักษา แก้

โรคไข้รากสาดใหญ่หากไม่ได้รับการรักษาอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด การให้การรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยยาปฏิชีวนะจะช่วยรักษาผู้ป่วยได้เกือบทุกราย[7]

อ้างอิง แก้

  1. "Diseases P-T at sedgleymanor.com". สืบค้นเมื่อ 2007-07-17.
  2. Gray, Michael W. Rickettsia, typhus and the mitochondrial connection Nature 396, 109 - 110 (12 November 1998)].
  3. Jan O. Andersson, Siv G.E. Andersson, “A century of typhus, lice, and Rickettsia” , Res. Microbiol. 151 (2000) 143–150.
  4. 4.0 4.1 Information on Murine Typhus (Fleaborne Typhus) or Endemic Typhus เก็บถาวร 2011-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Texas Department of State Health Services (2005).
  5. Current Medical Dianosis & Treatment 1999 ed. Lawrence M. Tierney, Jr., MD, Stephen J. McPhee, MD, Maxine A. Papadakis, MD, Appleton & Lange, 1999. pp.1286 ISBN 0-8385-1550-9
  6. Audy, J. R. "Red Mites and Typhus." London: The Athlone Press. 1968. ISBN 0485263181
  7. MedlinePlus Medical Encyclopedia: Typhus