ไก่ฟ้าพญาลอ

สปีชีส์ของนก

ไก่ฟ้าพญาลอ (อังกฤษ: Siamese fireback, Diard's fireback; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lophura diardi) เป็นไก่ขนาดกลางในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) มีขนสวยงาม พบในประเทศไทย, กัมพูชา, ลาว และเวียดนาม

ไก่ฟ้าพญาลอ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: อันดับไก่
วงศ์: วงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา
สกุล: Lophura
(Bonaparte, 1856)
สปีชีส์: Lophura diardi
ชื่อทวินาม
Lophura diardi
(Bonaparte, 1856)

ลักษณะทั่วไป แก้

 
หน้ากากสีแดงบนหน้าของตัวผู้

ไก่ฟ้าพญาลอเป็นไก่ฟ้าที่มีความสวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของประเทศไทย เป็นไก่ขนาดกลาง ยาวประมาณ 80 ซม. ตัวผู้มีหน้ากากสีแดงสด บนหัวมีเส้นขนแตกพุ่มตรงปลายสีดำเหลือบน้ำเงินยาวโค้งไปด้านหลัง ปากสีเหลืองขุ่น รอบคางใต้หน้ากากลงมามีขนสีดำ ลำตัวด้านบน อก คอ และปีกมีสีเทา ลักษณะเด่นคือ ขนตอนท้ายของลำตัวใกล้โคนหางจะมีสีเหลืองแกมสีทองเห็นได้ชัดเจนขณะกระพือปีกขนคลุมโคนหางมีสีดำเหลือบน้ำเงินขอบสีแดงอิฐซ้อนกันหลายชั้น หางมีสีดำเหลือบเขียวยาวและโค้งลง ขนคลุมปีกมีลายสีดำขอบขาว ท้องสีดำ แข้งสีแดงมีเดือย ตัวเมียหน้าสีแดง บริเวณหน้าอก คอ หลังมีสีน้ำตาลแกมแดง ท้องมีลายเกล็ดน้ำตาลแดงขอบสีขาว ปีกมีสีดำสลับด้วยลายสีขาวตามแนวขวาง หางคู่บนสีดำสลับขาวส่วนคู่ล่างถัดลงมา สีน้ำตาลแกมแดง แข้งสีแดงไม่มีเดือย

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย แก้

ไก่ฟ้าพญาลอพบในประเทศไทย, กัมพูชา, ลาว และเวียดนาม ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาพตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยตามป่าทึบเช่นป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น และป่าดงดิบเขา แต่บางครั้งพบอยู่ตามป่าโปร่ง เช่นป่าเต็งรังป่าเบญจพรรณ ในระดับความสูงไม่เกิน 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

พฤติกรรม แก้

ในธรรมชาติไก่ฟ้าพญาลอมีนิสัยป้องกันอาณาเขต[2] ตัวผู้ชอบอาศัยอยู่โดดเดี่ยวหรือจับคู่หากินกับตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ ออกหากินตอนกลางวันและขึ้นคอนนอนตามต้นไม้สูงในเวลากลางคืน เป็นไก่ฟ้าที่เลี้ยงง่ายที่สุด ไม่ขี้อาย มักพบเห็นได้ง่ายตามถนนที่ผ่านป่า

อาหาร แก้

ไก่ฟ้าพญาลอกิน ตัวหนอน แมลงต่าง ๆ ไส้เดือน สัตว์ขนาดเล็ก เมล็ดหญ้า เมล็ดพืช เมล็ดข้าวชนิดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเจ้าหอมนิล และข้าวขาวดอกมะลิ ผลไม้สุกที่หล่นตามพื้น เช่นลูกไทร และพวกขุยไผ่ เป็นอาหาร และชอบกินพวกสัตว์มากกว่าพืช ถ้าเลี้ยงในกรงสามารถเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูบสำหรับไก่เนื้อหรือไก่ไข่ตามช่วงอายุต่างๆที่มีขายตามท้องตลาดแล้วเสริมด้วยอาหารจำพวก หนอนนก ปลวก รวมทั้งผลไม้และวิตามินสำหรับละลายในน้ำ ไก่ฟ้าพยาลอโตเต็มวัยกินอาหารสำเร็จรูปเฉลี่ย 35.00กรัม/ตัว/วัน

การผสมพันธุ์ แก้

 
ไข่ของไก่ฟ้าพญาลอ

กล่าวกันว่า ไก่ฟ้าพญาลอในธรรมชาติเป็นสัตว์ที่จับคู่ประเภทผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งต่างจากการนำมาเลี้ยงในกรงที่ตัวผู้ตัวเดียวสามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้หลายตัว ฤดูผสมพันธุ์อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม ตัวผู้เกี้ยวตัวเมียโดยใช้วิธียืดอก กางปีก และกระพือปีกถี่ๆ การผสมพันธุ์ตัวเมียจะหมอบลงกับพื้น ตัวผู้ขึ้นเหยียบหลังใช้ปากจิกหัวตัวเมียแล้วผสมพันธุ์อย่างรวดเร็ว การวางไข่แต่ละฟองไม่คงที่ขนาดและรูปร่างไข่จะอ้วนป้อมคล้ายลูกข่าง ไม่เรียวยาวเหมือนไก่ฟ้าชนิดอื่น ไข่ใช้เวลาฟัก 23-25 วัน[2] สามารถแยกเพศได้ตั้งแต่แรกเกิดโดยตัวผู้จะมีขอบหนังหน้ากากเด่นชัดกว่าตัวเมีย แต่จะแยกเพศได้แน่นอนจากรูปร่างและสีขนเมื่อมีอายุประมาณ 4-5 สัปดาห์ สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่ออายุประมาณ 2 ปี

สถานภาพ แก้

ปัจจุบันในธรรมชาตหายากมากกฎหมายจัดให้ไก่ฟ้าพญาลอเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและเป็นสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ จึงมีผู้สนใจนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงมาก ปัจจุบันราชการได้มีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยง โดยมีผู้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย[3]

อ้างอิง แก้

  1. BirdLife International (2016). "Lophura diardi". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T22679274A92808547. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22679274A92808547.en. สืบค้นเมื่อ 11 November 2021.
  2. 2.0 2.1 ไก่ฟ้าพญาลอ เก็บถาวร 2010-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คลังปัญญาไทย
  3. ไก่ฟ้าจากสัตว์ป่าสู่สัตว์เศรษฐกิจ เก็บถาวร 2009-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ศูนย์รวมข่าวสารการเกษตร

แหล่งข้อมูลอื่น แก้