ใบสอ (อังกฤษ: Merlon) เป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างที่เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงบัง (parapet) ของเชิงเทิน ที่บางครั้งสลับกับ “ช่องกำแพง” (Embrasure)

ภาพแสดงใบสอจากหนังสือ “พจนานุกรมศัพท์สถาปัตยกรรมของฝรั่งเศสระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 16”[1] โดยเออแชน วียอเลต์-เลอ-ดุค

คำว่า “Merlon” ในภาษาอังกฤษมาจากภาษาฝรั่งเศสที่มาจากภาษาอิตาลี “merlone” ที่อาจจะย่อมาจากคำว่า “mergola” ที่แผลงมาจากภาษาละติน “mergae” ที่แปลว่าคราด หรือแผลงมาจาก “moerulus” ที่มาจากคำว่า “murus” หรือ “merulus” ที่แปลว่ากำแพง อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ามาจากภาษาละติน “merulus” (กล่าวถึงในคริสต์ศตวรรษที่ 10) ที่ย่อเป็น “merle” ที่ทำให้เห็นภาพพจน์ของนกดำเกาะบนกำแพง

ใบสอเป็นส่วนสำคัญของเชิงเทินและใช้กันมาเป็นเวลานาน ตัวอย่างที่พบคือในสิ่งก่อสร้างจากยุคกลางที่ใช้ประโยชน์ทั้งทางการป้องกันทางยุทธการและในการตกแต่ง ลักษณะของใบสอถ้าเป็นสี่เหลี่ยมธรรมดาก็เรียกว่า “ใบสอเกล์พ” ถ้ามีที่คลุมตอนบนเป็นปมรูปตัววีของอิตาลีเรียกว่า “ใบสอเกล์พและกิเบลลิเน” หรือ “ใบสอสวอลโลว์เทล” ทรงอื่นที่ใช้ก็มีใบสอสามเหลี่ยม, สี่เหลี่ยม, โล่, ดอกไม้, กลม (มุสลิมและแอฟริกา), ปิรามิด หรืออื่นๆ ขึ้นอยู่กับการใช้สอยหรือการตกแต่งที่ต้องการ

ในสมัยโรมันใบสอมีความกว้างพอที่จะให้ทหารคนหนึ่งใช้บังตัวได้ เมื่อมีการวิวัฒนาการทางอาวุธมากขึ้นในยุคกลางรวมทั้งหน้าไม้และอาวุธปืน ใบสอก็ได้รับการขยายให้กว้างขึ้นและบางครั้งก็จะมีช่องธนู (arrow-loop) ที่มีขนาดและรูปร่างหลายแบบที่อาจจะกลมหรือเป็นกางเขนขึ้นอยู่กับอาวุธที่ใช้ ใบสอสมัยต่อมาสามารถใช้ในการยิงด้วยปืนได้ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ใบสอก็อาจจะมีหน้าต่างไม้ที่เปิดปิดได้เพื่อใช้ในการป้องกันเมื่อปิด

หลังจากใบสอหมดความสำคัญลงเพราะการใช้ปืนใหญ่การใช้ใบสอจึงเป็นการใช้สำหรับในการตกแต่งเท่านั้น และกลับมาเป็นที่นิยมใช้กันอีกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค

อ้างอิง แก้

  • Balestracci, D. (1989). "I materiali da costruzione nel castello medievale". Archeologia Medievale (XVI): 227–242.
  • Luisi, R. (1996). Scudi di pietra, I castelli e l’arte della guerra tra Medioevo e Rinascimento. Bari.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ใบสอ

ระเบียงภาพ แก้