โอโตเมะ (ญี่ปุ่น: 乙女โรมาจิOtome; แปล: นางรำโกะเซะจิ ) เป็นบทที่ 21 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุระซะกิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บท

ที่มาของชื่อบท โอโตเมะ แก้

โอโตเมะ แปลว่า หญิงสาว

และ โอโตเมะ บทที่ 21 ของตำนานเก็นจิ หมายถึงหญิงสาวที่ได้รับเลือกให้เป็นนางรำโกะเซะจิ

การร่ายรำโกะเซะจิโนะไม แก้

โกะเซะจิ โนะ ไม (五節の舞 gosechi no mai) การร่ายรำของหญิงสาว 5 คน , การร่ายรำสะบัดชายแขนเสื้อ 5ครั้ง เป็นการร่ายรำเฉลิมฉลองเทศกาลโตะโยะอะคะริ โนะ เซะจิเอะ ( Toyoakari-no-sechie Festival )เป็นการร่ายรำโบราณตั้งแต่สมัยเฮอันของญี่ปุ่น ตำนานกล่าวว่า เป็นการร่ายรำสะบัดชายแขนเสื้อ 5 ครั้งของเหล่านางอัปสรสวรรค์ [1] เมื่อพวกนางได้ยินเสียง วะกง ( โกะโตะแบบญี่ปุ่น ) ของจักรพรรดิเท็มมุ (Tenmu) ทรงบรรเลงขณะประพาสภูเขาโยชิโนะ การร่ายรำนี้ จะแสดงเบื้องพระพักตร์ของจักรพรรดิในราชพิธีชำระมลทินประจำปีตั้งแต่สมัยเฮอัน ได้รับการกล่าวถึงในวรรณกรรมสมัยเฮอันบ่อยครั้ง และนับว่าเป็นการแสดงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในราชสำนัก เพราะนางรำที่ได้รับเลือกมาร่ายรำ โกะเซะจิ โนะ ไม นับว่าเป็นเกียรติยศอย่างสูง แต่ละคนนั้นจะได้รับเลือก ได้รับการสนับสนุน และถือเป็นตัวแทนของตระกูลขุนนางที่มีอำนาจในยุคนั้น ดังนั้น นางรำแต่ละคนจะต้องแบกรับความกดดันของการแข่งขันระหว่างตระกูลที่มีอำนาจด้วย เมื่อยามที่ต้องร่ายรำร่วมกันหน้าพระพักตร์ การร่ายรำโกะเซจิ โนะ ไม รูปแบบที่แสดงในปัจจุบัน สืบทอดแบบอย่างมาตั้งแต่การแสดงในยามสวรรคตของจักรพรรดิไทโช ( Taishô ) [2]

เรื่องย่อ แก้

 
แบบจำลองคฤหาสน์โรคุโจ ที่ Genji Monogatari Museum ใน อุจิ ประเทศญี่ปุ่น

เก็นจูมีความคิดว่า ยูงิริ ควรได้รับการศึกษาในวิทยาลัย เพื่อจะได้มีความรู้เมื่อได้ก้าวหน้าในตำแหน่งมหาเสนาบดีแห่งรัฐในภายภาคหน้า เมื่อยูริงิผ่านพิธีเกมปุกุเมื่ออายุ 12 แล้ว เขาจึงได้ยศขุนนางขั้น 6 ซึ่งถือเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยเท่านั้น ทั้งๆที่ระดับบุตรชายของเก็นจิ น่าจะได้ยศขุนนางขั้น 4 ทุกคนต่างพากันประหลาดใจ เพราะต่างก็คิดว่ายูงิริจะต้องได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็ว เก็นจินั้นปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้บุตรชายได้รับการศึกษาและมีพื้นฐานความรู้อย่างมั่นคงในทุกด้าน อยากให้เขาได้คบหาเพื่อนฝูงในวิทยาลัย ซึ่งหาได้ยากที่บุตรชายในตระกูลขุนนางชั้นสูงจะเข้าศึกษาในวิทยาลัย เก็นจิทดสอบบุตรชายก่อนที่ยูงิริจะเข้าสอบจริงอย่างเข้มงวด อีกทั้งยังเชิญนักวิชาการมาสอนเพิ่มเติม ยูงิรินั้นเรียนหนักมากจนสามารถสอบจบการศึกษาได้ภายใน 6 เดือน เก็นจิภูมิใจในตัวบุตรชายมาก[3]


พระชายาตำหนักอุเมะ( ดอกเหมย ) ได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นจักรพรรดินี และได้รับฉายาว่า อะกิโคะโนะมุ ( ผู้ชื่นชมฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ) ทำให้เก็นจิผู้สนับสนุนให้นางเข้าวัง เลื่อนขั้นเป็น ไดโจไดจิน ส่วน โทโนะจูโจ สหายและคู่แข่ง ได้เลื่อนขึ้นเป็นไนไดจิน


โทโนะจูโจ ผู้ผิดหวังจากการที่ บุตรีของเขา พระชายาโคกิเด็ง คู่แข่งของพระชายาตำหนักอุเมะ ไม่ได้รับเลือกเป็นจักรพรรดินี จึงเบนความสนใจไปที่บุตรีอีกคน คุโมะอิโนะคาริ หวังจะหนุนนางให้เป็นชายาขององค์รัชทายาท ทว่า โทะโนะจูโจ กริ่งเกรงความสัมพันธ์สนิทสนมระหว่าง คุโมะอิโนะคะริ กับ ยูงิริ หลานแท้ๆของเขาเอง ที่ได้รับการเลี้ยงดูมาด้วยกันแต่เล็กจากองค์หญิงโอมิยะ จะเป็นอุปสรรคต่อแผนการในอนาคต จึงพยายามแยกเด็กทั้งสองให้ห่างกัน ทั้งๆที่ทั้งคู่สนิทสนมรักใคร่กันมาก

ในเทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยวในเดือน 11 เก็นจิเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับหน้าที่เฟ้าหานางรำโกะเซะจิ เก็นจิเลือกหญิงสาวผู้งดงามที่สุดจากบรรดาหญิงสาวที่เฟ้นหามา นางคือบุตรีของ โคะเระมิตสึ คนสนิทของเขาเอง ซึ่งบัดนี้มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองจังหวัดเซ็ตสึ ยูงิริผู้เศร้าหมองที่ถูกกีดกันไม่ให้พบ คุโมะอิโนะคะริ ที่บ้านคฤหาสน์ซันโจ จึงเดินอย่างเลื่อนลอยเข้าไปในส่วนของคฤหาสน์ที่เก็นจิห้ามเขาเข้าไป จนกระทั่งได้พบเห็นบุตรีของโคะเระมิตสึ ที่มีรูปร่างคล้ายคลงกับ คุโมะอิโนะคะริ เขาจึงปักใจหลงเสน่ห์นางรำโกะเซะจิเข้าแล้ว ยูงิริ ฝากเพลงยาวให้กับบุตรชายคนหนึ่งของโคะเระมิตสึ ส่งให้นาง ทว่า โคะเระมิตสึได้รับสาส์นฉบับนั้นเสียก่อน เขาพอใจมากที่ยูงิริสนใจบุตรีของตน


นางรำโกะเซะจิในปีนี้ ทำให้เก็นจิถวิลหา นางรำโกะเซะจิ คนหนึ่งที่เขาเคยมีสัมพันธ์ด้วย เขาจึงส่งเพลงยาวให้นางรำโกะเซะจิคนนั้น บทร้อยกรองในเพลงยาว มีคำว่า โอะโตะเมะ ประกอบอยู่ และนี่กลายเป็นที่มาชองชื่อบท โอะโตะเมะ ช่วงนี้เอง เก็นจิขอร้องให้ ฮะนะจิรุซะโตะ เป็นผู้ดูแลยูงิริ[4]


คฤหาสน์โระคุโจ (六條院 Rokujo - in ) ที่เก็นจิก่อสร้าง เสร็จสมบรูณ์ในเดือนสิงหาคม เป็นคฤหาสน์ที่กว้างใหญ่ไพศาล ที่เก็นจิคิดจะรวบรวมเหล่าภรรยาและหญิงที่เคยมีสัมพันธ์หรือรู้จักกันและไม่มีที่พึ่งพิงมาดูแล แบ่งเป็น 4 ส่วน แต่ละส่วนมีสวนปลูกพืชพรรณแบ่งเป็น เรือนฤดูใบไม้ผลิ ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ใช้เป็นที่พำนักของ มุระซะกิ ปลูกดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิเช่น ดอกซะกุระ ดอกฟุจิ และดอกยะมะบุกิ มีเนินเขาและทะเลสาบจำลองงดงาม เรือนฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต เนื้อที่กินพื้นที่เดิมของคฤหาสน์เดิมของอดีตพระชายาแห่งโรคุโจ เป็นที่พำนักของ จักรพรรดินีอะกิโคะโนะมุ ยามลาราชการจากวังกลับมาพักผ่อน ปลูกโมะมิจิ และต้นไม้ดอกไม้มี่เปลี่ยนสีและเบ่งบานในฤดูกาล มีน้ำตกจำลอง เนินเขา ทิวทัศน์ของสวนนี้เทียบได้กับทิวศน์ฤดูใบไม้เปลี่ยนสีอันงดงามของซะงะโนะเลยทีเดียว เรือนฤดูคิมหันต์ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นทีพำนักของ ฮะนะจิรุซะโตะกับยูงิริ ปลูกดอกส้ม ดอกอุโนะฮะนะ ทิวไผ่เย็นสบายในฤดูร้อน เรือนเหมันต์ ให้เป็นทีพำนักของ อะคะชิโนะคิมิ ผู้ซึ่งย้ายเข้ามาพำนักทีหลัง ปลูกทิวต้นสนซึ่งจะงดงามยามหิมะตกปกคลุม

ช่วงที่คฤหาสน์สร้างเสร็จใหม่ๆเป็นช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยน อะกิโคะโนะมุ จึงส่งกล่องประดับประดางดงามบรรจุไว้ด้วยใบไม้เปลี่ยนสี ดอกไม้ในฤดูใบไม้ร่วงงามๆ ให้มุระซะกิ เป็นของขวัญแนบคำกลอน หมายความว่า ได้ส่งสิ่งแทนฤดูใบไม้ร่วงซึ่งยากที่ฤดูใบไม้ผลิจะได้ชื่นชมมาให้ มุระซะกิรู้สึกสนุกสนานกับการหยอกล้อนี้ของอะกิโคะโนะมุ นางส่งต้นสนประดิษฐ์ผูกไว้ด้วยสาส์นร้อยกรอง จัดใส่ในกล่องใบเดิมส่งกลับตอบแทนให้อะกิโคะโนะมุด้วยเวลาอันรวดเร็ว อะกิโคะโนะมุ ทึ่งกับไหวพริบปฏิพานของมุระซะกิยิ่ง

อ้างอิง แก้