โสม (ออกเสียง โสม หรือ โสมะ) (ภาษาสันสกฤต) หรือ เหาม (ภาษาอเวสตะ) มีรากศัพท์จากภาษาโปรโตอินเดีย-อิหร่าน "*sauma-" หมายถึง เครื่องดื่มที่ใช้ในพิธีกรรมโบราณ นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในวัฒนธรรมอินเดีย-อิหร่านยุคต้นๆ และภายหลังยังมีความสำคัญในวัฒนธรรมเปอร์เซียและวัฒนธรรมพระเวท มักจะกล่าวถึงเสมอในฤคเวทซึ่งมีบทสวดหลายบทบรรยายถึงคุณสมบัติของโสมว่า ช่วยชูกำลัง และทำให้มึนเมา ในคัมภีร์อะเวสตะของเปอร์เซียโบราณ มีบทสวดหนึ่งหมวด เรียกว่า ยัษฏ์ (Yasht) มีเนื้อหากล่าวว่าถึง เหามะ ทั้งหมวด (มี 24 บทด้วยกัน)

นอกจากนี้ ตามคติของฮินดู "โสม" ยังหมายถึงเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ด้วย

ในคัมภีร์พระเวท มีคำบรรยายถึงการเตรียมน้ำโสมเอาไว้ว่า ทำได้โดยการค้นน้ำจากลำต้นของไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นบนภูเขา ซึ่งนักวิชาการในชั้นหลังสันนิษฐานเอาไว้ต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเป็นเห็ดเมา พืชเสพย์ติดจำพวกกัญชา หรือป่านเหลือง (Ephedra) ทั้งในวัฒนธรรมพระเวท และวัฒนธรรมโซโรอัสเตอร์ คำว่าโสมนี้ หมายถึง ทั้งพืช เครื่องดื่ม และยังเป็นบุคลาธิษฐาน หมายถึงเทพเจ้า ซึ่งทั้ง 3 นี้ก่อให้เกิดนัยสำคัญทางศาสนาและปรัมปราคติขึ้น

รากศัพท์ แก้

ทั้งคำว่า โสม และ เหาม ของอะเวสตะ ต่างก็มาจาก รากศัพท์โปรโตอินเดิย-อิหร่าน "*sauma-" ดังกล่าวมาแล้ว สำหรับชื่อเผ่า "เหามวาร์ค" (Hauma-varga) ในแถบสไคเทียน ก็มีความสัมพันธ์กับคำนี้ และอาจมีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมเหล่านี้ด้วย คำนี้มาจากรากศัพท์อินเดีย-อิหร่าน "*sav-" (สันสกฤต สว-) หมายถึง กด คั้น นั่นคือ *sav-ma- เป็นเครื่องดื่มที่เตรียมจากการคั้นลำต้นของพืชชนิดหนึ่ง (เทียบ es-presso) รากศัพท์ของคำนี้ อาจเป็นภาษาโปรโตอินเดีย-ยุโรป (*sewh-) และยังปรากฏในคำว่า son (ลูกชาย) ในภาษาอังกฤษด้วย (จากรากศัพท์ *suhnu- หมายถึง คั้นออกมา ดันออกมา ซึ่งก็คือ เพิ่งเกิดใหม่ นั่นเอง

โสมในพระเวท แก้

ในคัมภีร์พระเวท โสมถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เสมอเทพเจ้า เทพเจ้า น้ำโสม และต้นโสม อาจหมายถึง สิ่งอันเป็นหนึ่งเดียว หรืออย่างน้อยก็แยกความแตกต่างได้ยาก ลักษณะเช่นนี้ คล้ายกับคำว่า "ambrosia" ของกรีกโบราณ (มีรากศัพท์ร่วมกับคำว่า "อมฤต") ซึ่งเป็นสิ่งที่เทพเจ้าดื่ม และสิ่งที่ทำให้ผู้ดื่มกลายเป็นเทพเจ้า พระอินทร์และพระอัคนิ ถือว่าได้เสวยน้ำโสมอย่างบริบูรณ์ หากมนุษย์ได้ดื่มน้ำโสม ก็เชื่อว่าอาจจะได้รับความเป็นทิพย์เช่นเทพเจ้าด้วย

ในฤคเวท แก้

ในคัมภีร์ฤคเวท (8.48.3 แปลโดย Griffith) ระบุว่า

a ápāma sómam amŕtā abhūmâganma jyótir ávidāma devân
c kíṃ nūnám asmân kṛṇavad árātiḥ kím u dhūrtír amṛta mártyasya
เราได้ดื่มน้ำโสม และกลายเป็นอมตะแล้ว เราได้บรรลุถึงแสงสว่าง อันทวยเทพได้ค้นพบ
บัดนี้ คนร้ายใดเล่าจักทำร้ายเราได้ ดูก่อน เทพผู้เป็นอมตะ สิ่งที่มนุษย์ผู้ที่เกิดแล้วตายได้รับคือสิ่งใดเล่า

มณฑลที่ 9 แห่งฤคเวท มีชื่อเรียก "โสม มณฑล" ประกอบด้วยบทสวดที่กล่าวถึง "โสม ปวมาน" ทั้งหมด (โสมที่ทำให้บริสุทธิ์แล้ว) น้ำโสมที่ใช้ดื่มจะถูกเก็บรักษาและแจกจ่ายไปในหมู่คนธรรพ์ นอกจากนี้ฤคเวทยังกล่าวถึง สุโศมะ อรรชิกิยะ และภูมิภาคอื่นๆ ที่มีโสม (เช่นใน 8.7.29; 8.64.10-11) ศรรยนวัต ยังอาจเป็นชื่อสระ หรือบ่อน้ำ ที่สามารถพบโสมได้บริเวณริมตลิ่งหรือขอบสระ

พืชโสมนี้ มีบรรยายว่างอกงามอยู่บนเทือกเขา (คิริษฐะ) มีลำต้นยาว สีเหลือง น้ำดื่มจากโสมทำได้โดยนักบวชจะทุบต้นโสมด้วยหิน อันเป็นวิธีหนึ่งของการบำเพ็ญตบะ น้ำที่คั้นได้จะนำไปผสมกับส่วนผสมอื่น (เช่น น้ำผึ้ง หรือนม) ก่อนดื่ม

ในศาสนาฮินดู แก้

ในศิลปะของฮินดู มีภาพวาดเทพเจ้าโสมเป็นรูปโค หรือนก และบางครั้งก็เป็นตัวอ่อนมนุษย์ แต่ไม่ค่อยพบที่วาดเป็นมนุษย์ผู้ใหญ่ ในศาสนาฮินดูนั้น เทพโสม กำเนิดขึ้นเป็นเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ และมีความเกี่ยวข้องกับปรโลก พระจันทร์ถือถ้วยที่เทพเจ้าใช้ดื่มน้ำโสม ด้วยเหตุนี้ โสมจึงเป็นบุคลาธิษฐานของเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ หรือพระจันทร์ นั่นเอง พระจันทร์ข้างขึ้น หมายถึงโสมกำลังสร้างตัวขึ้นใหม่ พร้อมทื่จะถูกดื่มอีกครั้ง

ในตำนานเล่าว่า ชายาทั้ง 27 องค์ของเทพโสม เป็นธิดาของทักษะ เทพโสมลุ่มหลงภรรยาองค์หนึ่งที่ชื่อ โรหินี มากกว่าองค์อื่นๆ ทักษะจึงสาปให้โสมเหี่ยวแห้งและตายไป แต่บรรดาชายาของโสมมาขัดขวาง จึงทำให้การตายนั้นไม่ได้ตายสิ้นไป แต่จะปรากฏตัวเป็นช่วงๆ และกลายเป็นสัญลักษณ์ข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์นั่นเอง

สุศรุต นักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญอายุรเวทผู้มีชื่อเสียง ได้เขียนไว้ว่า โสมที่ดีที่สุดนั้น จะพบได้ในภูมิภาคลุ่มน้ำสินธุตอนบน และในกัษมีร์ (แคชเมียร์) (Susruta Samhita: 537-538, SS.CS. 29.28-31).