โรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์

โรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์' (อังกฤษ: La Salle Chotiravi Nakhonsawan School) ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 1953 เป็นโรงเรียนเอกชนโรมันคาทอลิกในเครือมูลนิธิลาซาลแห่งแรกของประเทศไทย (ก่อนโรงเรียนลาซาลจันทบุรี แห่งที่ 2 และโรงเรียนลาซาลกรุงเทพ แห่งที่ 3) มีนักบุญฌ็อง-บาติสต์ เดอ ลา ซาล เป็นองค์อุปถัมภ์ของนักเรียนลาซาลทั่วโลก

โรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์
La Salle Chotiravi Nakhonsawan School
ที่ตั้ง
แผนที่
18 ถนนโกสีย์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ 60000
ข้อมูล
ชื่ออื่นLSCN ล.ซ. (LSCN)
ประเภทโรงเรียนเอกชน
คำขวัญคุณธรรมนำวินัย ใส่ใจการศึกษา กิจกรรมก้าวหน้า พัฒนาสังคม
สถาปนาค.ศ. 1953
อธิการ ปัจจุบันภราดาธีระยุทธ ชาแดง
สีเหลือง-แดง
เพลง​มาร์ชโชติรวี, มาร์ชลาซาลนครสวรรค์
เว็บไซต์www.lasallechote.ac.th, www.lasallethailand.org

ประวัติ แก้

โรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์ชื่อโรงเรียนโชติรวี ตั้งอยู่เลขที่ 44 ถนนอถรรกวี ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ (ปัจจุบันคือวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสวรรค์ประชารักษ์) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2496 โดยทำสัญญาเช่าที่และอาคารเรียนโรงเรียนตงฮั้ว จากมูลนิธิปากน้ำโพประชานุเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วยอาคารไม้สองชั้นหนึ่งหลัง อาคารชั้นเดียวสองหลัง และได้เปิดทำการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2496 โดยรับเฉพาะนักเรียนชาย มีภราดาโยเซฟ มาร์แชล แมรตส์ ดำรงตำแหน่งอธิการ นายสุทธิ สุทธพงษ์ เป็นผู้ถือใบอนุญาต และนายชัยสิทธิ์ สุทธาธาร เป็นผู้จัดการและครูใหญ่ ดำเนินการสอนโดยคณะภราดาลาซาล โรงเรียนดำเนินงานอยู่ได้โดยอาศัยค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงจากนักเรียน และงบประมาณอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่าที่และอาคารให้สมาคมจีนปีละ 6,000 บาท อาคารที่ขอเช่านั้นเป็นอาคารเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก จึงตกเป็นภาระของโรงเรียนที่ต้องซ่อมแซมเรื่อยมา

ปีพ.ศ. 2500 เป็นปีที่สัญญาหมดอายุ สมาคมจีนได้เปลี่ยนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เป็นนายคิน แซ่โค้ว ตำแหน่งประธานกรรมการ และได้ขอขึ้นค่าเช่าอาคารสถานที่สำหรับปีต่อไปคือ เก็บค่าเช่าปีละ 20,000 บาท โดยแบ่งเก็บเป็น 2 งวด งวดแรกเก็บในเดือนพฤษภาคมเป็นเงิน 10,000 บาท งวดที่สองเก็บในเดือนพฤศจิกายนเป็นเงิน 10,000 บาท โรงเรียนได้ตัดสินใจตกลงทำสัญญาเช่าต่อจนถึงปีการศึกษา 2503 เมื่อใกล้จะหมดสัญญาเช่าเจ้าของต้องการอาคารคืน โรงเรียนจึงได้หาซื้อที่ดินเพื่อจะสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ ช่วงนั้นบอร์เนียว (อิสท์ เอเชียติ๊ก) หมดสัมปทาน และจะขายที่ดินบริเวณใกล้ๆวัดไทรใต้ มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ จึงได้เสนอเรื่องนี้ต่อคณะภราดาลาซาล คณะภราดาได้ตกลงซื้อเมื่อเดือนธันวาคม 2502 ในราคา 700,000 บาท แล้วมอบให้ภราดาไมเคิล ฟีเอเวต์ อธิการโรงเรียนโชติรวี เป็นผู้ควบคุมดำเนินการก่อสร้างอาคารสามชั้น (อาคารลาซาล) ความยาว 108 เมตร มีห้องเรียนทั้งหมด 30 ห้องเรียน มีห้องอธิการ ห้องครูใหญ่ ห้องทำงานครู 4 ห้อง ห้องสมุด ห้องจำหน่ายหนังสือ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ชั่วคราว มูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้น 2,1000,000 บาทเศษ นอกจากนี้ได้สร้างโรงอาหาร สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน และห้องเรียนเป็นอาคารไม้สำหรับชั้นประถมศึกษาอีก 2 หลัง

  • หลังที่ 1 มี 10 ห้องเรียน, ห้องทำงานครู 1 ห้อง อาคารมีความกว้าง 9 เมตร ยาว 74 เมตร
  • หลังที่ 2 มี 2 ห้องเรียน อาคารมีความกว้าง 8 เมตร ยาว 24 เมตร

ซึ่ง ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล) ได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนแห่งใหม่ และชมเชยว่า "เป็นสถานศึกษาที่เหมาะสมสวยงาม"

ปีการศึกษา 2503 จึงได้ย้ายโรงเรียนมายังแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 18 ถนนโกสีย์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2506 ภราดาโยเซฟ วันคอย ดำรงตำแหน่งอธิการโรงเรียน และกระทรวงศึกษาธิการได้รับรองวิทยฐานะให้เทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล (ตามเอกสาร ศธ. ที่ 23193/2506) ปีการศึกษา 2510 คณะภราดาลาซาลได้แต่งตั้งให้นายดิเรก โชติรวี เป็นผู้ถือใบอนุญาตแทนคณะภราดาจนถึงปี 2530 ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิลาซาล และมีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนโชติรวีเป็น โรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์ ตาภาตาภาดี ปีการศึกษา 2515 ภราดาวีแอล วัน ดำรงตำแหน่งอธิการ ได้มีการสร้างอาคารเรียนใหม่อีก 1 หลัง (อาคารเบนิลด์) สูง 4 ชั้น เริ่มใช้การในปีการศึกษา 2516 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่โรงเรียนเปิดรับนักเรียนหญิง

ปีการศึกษา 2520 ภราดาวิคเตอร์ บู ดำรงตำแหน่งอธิการ และได้สร้างอาคารเรียน 3 ชั้น (อาคารมีเกล) เพื่อให้เพียงพอต่อนักเรียนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

ปีการศึกษา 2523 ภราดาวิคตอร์ กิล ดำรงตำแหน่งอธิการ ซึ่งท่านได้พัฒนาโรงเรียนจนได้รับเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็น โรงเรียนดีเด่นรางวัลพระราชทาน ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายปรับปรุงคุณภาพของโรงเรียน และท่านยังได้รับรางวัล ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนดีเด่นและครูผู้มีผลงานดีเด่นประจำปีการศึกษา 2525 จาก ฯพณฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี

ปีการศึกษา 2530 โรงเรียนได้รับเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นโรงเรียนผู้นำการใช้หลักสูตรระดับมัธยมศึกษา และได้ช่วยเหลือสังคม โดยจัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาส เข้าในโครงการนักเรียนทุนบ้านลาซาล นักเรียนทุนบ้านมีเกล โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ปีการศึกษา 2543 กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มอบเกียรติบัตรเป็นสถานรับเลี้ยงและพัฒนา เด็กปฐมวัยต้นแบบ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนให้การรับรองมาตรฐาน คุณภาพการศึกษา ระดับก่อนประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6

ปีการศึกษา 2546 โรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษา 14 มาตรฐาน รอบแรก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รางวัลพระราชทานด้านการส่งเสริมการอ่านยอดเยี่ยม 5 รางวัล รางวัลดีเด่น 2 รางวัล และได้รับรางวัลพระราชทานด้านส่งเสริมและสนับสนุนการบริจาคโลหิต เพื่อเป็นพระราชกุศล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ความก้าวหน้าของโรงเรียน แก้

ปีการศึกษา 2547 ได้พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

  • ดำเนินโครงการ To Be Number One และโครงการโรงเรียนสดใสปลอดภัยยาเสพติด
  • ได้รับมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารระดับ "ดี" ของกรมอนามัย
  • ดำเนินโครงการรักชาติถูกทาง สร้างเสริมความซื่อสัตย์สุจริต
  • ดำเนินโครงการรักการอ่านสานสู่ฝัน
  • ดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน
  • จัดตั้งชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยโรงเรียน

ปีการศึกษา 2548 ภราดาประภาส ศรีเจริญ ดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้รับใบอนุญาต/ครูใหญ่ โรงเรียนมีการพัฒนาตามด้านต่างๆ ดังนี้

  • ดำเนินการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6
  • ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรดีเด่น ระดับประเทศ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
  • ได้รับเลือกเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพต้นแบบ ระดับทอง
  • ได้รับเลือกเป็นโรงเรียนที่จัดตั้งโครงการชมรมวัฒนธรรมไทยในสถานศึกษา มาตรฐานยอดเยี่ยม 2 ปีต่อเนื่อง
  • ได้รับการคัดเลือกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนระดับเหรียญทองแดงจาก สพฐ. 4 รางวัล
  • ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้เป็นสถานประกอบการดีเด่น ด้านการจ้างงานคนพิการ
  • สร้างอาคาร คสล โครงเหล็ก (เอนกประสงค์) ชั้นเดียว จำนวน 1 หลัง ปรับปรุงห้องทะเบียน ห้องวิชาการ ห้องประสิทธิผล และห้องประชุมที่ชั้นล่างอาคารลาซาล ซ่อมบำรุงบ้านพัก อาคารในโครงการพิเศษ บ้านลาซาล บ้านมีเกล
  • ติดตั้งวางระบบไฟฟ้าภายในโรงเรียน เป็นการตรวจสอบและซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพที่ดี ประหยัดพลังงาน
  • ปรับปรุงซ่อมแซมอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน
  • ติดพัดลมเพิ่มที่อาคารโซโลมอน 12 ห้องเรียน ห้องละ 2 เครื่อง พร้อมทั้งห้องประกอบและห้องกิจการนักเรียน
  • เพิ่มห้องปฏิบัติการทางภาษาระดับประถมศึกษา 1 ห้อง และห้องปฏิบัติการทางภาษา ระดับมัธยมศึกษา 1 ห้อง
  • พัฒนาระบบเครือข่าย ระบบ LAN การให้บริการ Internet และเพิ่มจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ จำนวน 55 เครื่อง มีห้องเรียนจำนวน 99 ห้อง

ปีการศึกษา 2549 ภราดาชัยพร กิจมงคล ดำรงตำแหน่งผู้รับใบอนุญาต/อธิการ/ครูใหญ่ ซึ่งโรงเรียนได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ

  • ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดโครงการ อย.น้อย ระดับประเทศ
  • ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในการประกวดหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม "โต๊ะจีนหนังสือ" จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
  • ได้รับรางวัลเหรียญทอง 1 รางวัล เหรียญเงิน 2 รางวัล เหรียญทองแดง 4 รางวัล และชมเชย 5 รางวัล ในการประกวดสื่อประกอบการเรียนการสอน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จาก สมศ.
  • ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นการจัดสัปดาห์ส่งเสริมศาสนา และจริยธรรม เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จาก ฯ พณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
  • ได้รับรางวัลชมเชย ระดับประเทศ จากการประกวดเว็บไซต์ โรงเรียนมัธยมไทย จัดโดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ต เพื่อโรงเรียนและชุมชน
  • คณะพัฒนาคุณภาพโรงเรียนได้รับรางวัล BEST PRACTICES ระบบเรียนรู้เรื่อง พัฒนาการอ่าน สู่การเรียนรู้ ด้วยนวัตกรรม 4 ส. จากสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผลงานจากการเข้าร่วมโครงการระบบดี โรงเรียนมีคุณภาพ ระหว่างปี 2547-2549

ปีการศึกษา 2550 ภราดาวิกตอร์ กิล มูโน๊ส ดำรงตำแหน่งอธิการ ภราดาสยาม งามดี ดำรงตำแหน่งผู้รับใบอนุญาต และภราดาชัยพร กิจมงคล ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ โรงเรียนมีการพัฒนาตามด้านต่างๆ ดังนี้

  • ได้รับรางวัลเหรียญเงินระดับประเทศในการประกวดโครงการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม "รักการอ่านผ่าน 4 ส." จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
  • ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งชมรมวัฒนธรรมไทยในสถานศึกษา ระดับยอดเยี่ยม 4 ปีต่อเนื่อง
  • ได้รับรางวัลโรงเรียนรักการอ่านยอดเยี่ยม ประเภทโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ จากคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา (เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

ปีการศึกษา 2551 ภราดาสยาม งามดี ดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการโรงเรียน/ผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนมีผลงานตามด้านต่างๆ ดังนี้

  • ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ระดับก่อนประถมศึกษาขนาดใหญ่ ต่อเนื่อง 3 ครั้ง ในระยะเวลา 10 ปี
  • ได้รับไตรพระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโครงการบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รุ่นที่ 10
  • ได้รับรางวัลเหรียญทอง ระดับประเทศ จากการประกวดโครงการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม "ขวดมหัศจรรย์ สร้างสรรค์นักอ่าน" จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
  • ได้รับรางวัลดีเด่น กิจกรรมส่งเสริมการอ่านวรรณกรรมเยาวชนแว่นแก้ว
  • ได้รับเกียรติบัตรและรางวัลเหรียญทองแดง จากการทดสอบความรู้ระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จากคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

ปีการศึกษา 2552 ภราดาสยาม งามดี ดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการโรงเรียน/ผู้รับใบอนุญาต มีห้องเรียนจำนวน 96 ห้อง นักเรียนทั้งหมด 4,466 คน โรงเรียนมีผลงานตามด้านต่างๆ ดังนี้

  • ได้รับไตรพระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโครงการบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รุ่นที่ 11
  • ได้รับรางวัลเหรียญทอง ระดับประเทศ จากการประกวดโครงการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม "ที่ทำการไปรษณีย์รักการอ่าน" จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
  • ได้รับรางวัลคุณภาพโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก (V-star Quality Award) ระดับประเทศ ประเภท V-star Club และ V-star Quality Award ระดับจังหวัด
  • ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากผลงานด้านการมีส่วนร่วมรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาในโครงการ "เยาวชนร่วมใจ ลดน้ำเสีย คืนน้ำใสให้เจ้าพระยา" โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปีการศึกษา 2553 ภราดาสยาม งามดี ดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการโรงเรียน/ผู้รับใบอนุญาต

  • ได้รับไตรพระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโครงการบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รุ่นที่ 12
  • ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ระดับประเทศ จากการประกวดโครงการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม "สหกรณ์ออมทรัพย์ความรู้คู่ชุมชน" จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
  • ได้รับโล่รางวัลสถานประกอบการดีเด่น ด้านการจ้างงานผู้พิการ ระดับประเทศ ประจำปี 2553 จากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ปีการศึกษา 2554 ภราดาสยาม งามดี ดำรงตำแหน่งอธิการโรงเรียน

ปีการศึกษา 2555 ภราดาบุญเชิด เกตุรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการ และนางสาวทัศนีย์ กรรณิกา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน

  • ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ระดับประเทศ จากการประกวดโครงการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม "นวัตกรรมการอ่านจากบัตรเติมเงินสู่บัตรเติมความรู้" จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
  • บูรณะปรับปรุงอนุสรณ์สถานนักบุญฌ็อง-บาติสต์ เดอ ลา ซาล

ปรัชญาของโรงเรียน แก้

"คุณภาพของโรงเรียนขึ้นอยู่กับคุณภาพของครูและนักเรียนเป็นสำคัญ"

โรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์ดำเนินกิจการโดยคณะภราดาลาซาล (มูลนิธิลาซาล) จัดการเรียนการสอนนักเรียนชาย-หญิง ทุกชั้นวรรณะ ศาสนา และวัฒนธรรม ตั้งแต่ก่อนปฐมวัยปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เหนือสิ่งอื่นใด โรงเรียนให้การอบรมศีลธรรม จรรยา และอำนวยการศึกษาแก่นักเรียน โดยกำหนดเป้าหมายทำให้ปัจเจกบุคคลมีการพัฒนาการครบทุกด้าน รักความยุติธรรม ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ปลูกฝังความศรัทธาในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และให้นักเรียนได้พัฒนาเชาว์ปัญญา มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิตพอเพียงตามศักยภาพ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พร้อมที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมตามบทบาทและหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองดี ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปัจจัยปฐมภูมิที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของโรงเรียนให้บรรลุพันธกิจตามวัตถุประสงค์ เป็นไปตามหลักแห่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการศึกษา และกำหนดพันธกิจหลักของโรงเรียน

คุณภาพของโรงเรียน หมายถึง การที่โรงเรียนได้ดำเนินงานจัดการศึกษาอย่างมีมาตรฐานคุณภาพ บรรลุผลในการสร้าง และพัฒนาพฤติกรรมความเป็นคนที่สมบูรณ์ทุกด้านให้แก่บุคคล และสามารถทำให้นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ หรือคุณสมบัติที่หลักสูตรของการศึกษากำหนดไว้ รวมทั้งสนอง สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สังคมทุกภาคส่วน และชาติ

คุณภาพของครู หมายถึง การที่ครูควรมีลักษณะที่พึงประสงค์ของโรงเรียนอย่างน้อย 4 ประการคือ "รอบรู้ สอนดี มีคุณธรรมจรรยาบรรณ มุ่งมั่นพัฒนา"

คุณภาพของนักเรียน หมายถึง การที่นักเรียนควรมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของโรงเรียนอย่างน้อย 4 ประการคือ "คุณธรรมนำวินัย ใส่ใจการศึกษา กิจกรรมก้าวหน้า พัฒนาสังคม" และถือเป็นคำขวัญของโรงเรียนอีกนัยหนึ่ง

ทำเนียบอธิการโรงเรียน แก้

ลำดับ รายนาม วาระดำรงตำแหน่ง (ปีการศึกษา)
1 ภราดาโยเซฟ แมรตส์ 2496 - 2501
2 ภราดาไมเคิล ฟีเอเวต์ 2502 - 2504
3 ภราดายอแซฟ วันคอย 2505 - 2510
4 ภราดาปีเตอร์ ฟีนี 2511 - 2514
5 ภราดาวีแอล วัน 2515 - 2519
6 ภราดาวิคตอร์ บู 2520 - 2522
7 ภราดาวิคตอร์ กิล 2523 - 2532
8 ภราดากันย์ วงษ์ชีรี 2532 - 2533
9 ภราดาบุญเชิด เกตุรัตน์ 2534 - 2544
10 ภราดานครชัย ศันสนยุทธ 2545
11 ภราดาประภาส ศรีเจริญ 2546 - 2548
12 ภราดาชัยพร กิจมงคล 2549
13 ภราดาวิกตอร์ กิล มูโน๊ส 2550
14 ภราดาสยาม งามดี 2551 - 2554
15 ภราดาบุญเชิด เกตุรัตน์ 2555
16 ภราดาประภาส ศรีเจริญ 2558-2563
17 ภราดาธีระยุทธ ชาแดง 2563-ปัจจุบัน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  • คู่มือนักเรียนและผู้ปกครองโรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์.
  • วารสารลาซาลโชติรวีนครสวรรค์.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

15°43′09″N 100°08′19″E / 15.7191474°N 100.1387072°E / 15.7191474; 100.1387072