โรงเรียนกฎหมาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2440 โดยพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (ฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งขณะนั้น) เพื่อให้การศึกษาอบรมด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ดี แม้ครั้งนั้นมีสถานะเป็นแต่โรงเรียน อันมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ แต่ก็มีประกาศของโรงเรียน เกี่ยวกับกำหนดการสอบไล่ของนักเรียนกฎหมาย ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวราชการด้วย[ต้องการอ้างอิง] สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมาย ได้แก่ห้องเสวยของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอยู่ถัดจากห้องทรงงาน[ต้องการอ้างอิง] โดยเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงให้การศึกษาด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ครั้นมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงย้ายไปทำการเรียนการสอน ยังตึกสัสดีหลังกลาง กระทรวงยุติธรรม

พระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงสถาปนาโรงเรียนกฎหมาย ประดิษฐาน ณ อาคารสำนักงานศาลยุติธรรม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ฯ ทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้น โรงเรียนกฎหมายก็ทรุดโทรมตามลำดับ และต้องไปเปิดการเรียนการสอน เป็นการชั่วคราวที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร และที่เรือนไม้หลังเล็กๆ ระหว่างตึกศาลแพ่งกับตึกเก๋งจีน ซึ่งบัดนี้ทำลายลงแล้ว และปี พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับโรงเรียนแห่งนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยให้สังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรม และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโรงเรียน โดยย้ายสถานที่เรียนมายังอาคารห้างแบดแมนเดิม บริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา (ปัจจุบันเป็นที่จอดรถข้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล)

จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลจัดตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้น ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วให้โอนโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ไปสมทบกับคณะดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 เมษายน ปีนั้นเอง[1] ครั้งนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้การเรียนการสอน ของโรงเรียนกฎหมาย เป็นแผนกวิชาหนึ่งของคณะนี้ อนึ่ง การเรียนการสอนยังคงจัดอยู่ที่อาคาร เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาเช่นเดิม[2] ซึ่งคำสั่งให้โอนโรงเรียนกฎหมาย ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ สร้างความไม่พอใจแก่นักเรียนของโรงเรียนกฎหมาย ที่ต้องการให้ยกสถานะโรงเรียนของตนเป็นมหาวิทยาลัย แต่รัฐบาลกลับทำให้เสมือนยุบหายไป กลุ่มนักเรียนกฎหมายดังกล่าว จึงเคลื่อนไหวหนุนให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น[3] ทั้งนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติฯ ให้โอนทรัพย์สิน ตลอดจนคณาจารย์ ของโรงเรียนกฎหมายเดิม เข้าสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ด้วย[4]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้มีการแยกหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต ออกเป็นคณะวิชาต่างๆ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เป็นคณะวิชาคณะหนึ่งในคณะก่อตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาปนาหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตขึ้น และมีพัฒนาการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

เบื้องหลังและพื้นภูมิ แก้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หลังจากผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนมัธยมกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 3 ปี พระองค์ทรงสอบเรียนต่อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้ด้วยพระชนมายุเพียงแค่ 14 ชันษา แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมให้ทรงเข้าศึกษาต่อ เนื่องจากติดข้อบังคับที่ว่าพระชนมายุไม่ถึง 18 ชันษา แต่ทรงเสด็จไปขอร้องเป็นกรณีพิเศษต่อทางมหาวิทยาลัยโดยอ้างว่า “คนไทยเกิดง่ายตายเร็ว” สุดท้ายมหาวิทยาลัยยินยอมให้สอบอีกครั้ง ซึ่งทรงสอบได้และศึกษาต่อจนจบหลักสูตรปริญญาตรีด้านกฎหมายชั้นเกียรตินิยม พระชนมายุเพียง 17 ชันษาเท่านั้น นับเป็นบัณฑิตที่มีอายุน้อยที่สุด

หลังจากเสด็จกลับมาไทยทรงเข้ารับราชการที่กรมราชเลขานุการ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ในขณะเดียวกันทรงมีตำแหน่งเป็นสภานายกพิเศษจัดตั้งศาลมณฑลและศาลเมือง (ศาลจังหวัด) ขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ โดยทรงจัดตั้งศาลหัวเมืองในมณฑลอยุธยาขึ้นเป็นแห่งแรก แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะมีคดีความในศาลคั่งค้างอยู่มาก แต่ก็ทรงตัดชำระความด้วยพระองค์เองจนเสร็จสิ้นภายในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม[5]


อ้างอิง แก้

  1. ประกาศโอนโรงเรียนกฎหมายไปขึ้นแก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ราชกิจจานุเบกษา
  2. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ธรรมศาสตร์การเมืองไทย จากปฏิวัติ 2475 ถึง 16 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519.กรุงเทพฯ : มติชน,2547.
  3. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปรีดีกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สถาบันปรีดี พนมยงค์
  4. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476, ราชกิจจานุเบกษา
  5. "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-24. สืบค้นเมื่อ 2018-04-23.