โทกูงาวะ สึนาโยชิ

โทะกุงะวะ สึนะโยะชิ (ญี่ปุ่น: 徳川 綱吉โรมาจิTokugawa Tsunayoshi23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1646 - 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1709) เป็น โชกุน คนที่ 5 แห่ง ตระกูลโทะกุงะวะ (ช่วงสมัย: พฤษภาคม ค.ศ. 1680 - 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1709) โทะกุงะวะ สึนะโยะชิ เกิดเมื่อปีค.ศ. 1646 เป็นบุตรชายคนที่สี่ของโชกุนโทะกุงะวะ อิเอะมิสึ เกิดแต่นางเคโชอิน (Keichō-in, 桂昌院) ภรรยาน้อยของโชกุนอิเอมิสึ ในค.ศ. 1661 ได้รับการแต่งตั้งเป็นไดเมียวแห่งแคว้นทะเตะบะยะชิ (Tatebayashi, 館林) ในจังหวัดโคซุเกะ (Kōzuke, 上野) ในปัจจุบัน

โทะกุงะวะ สึนะโยะชิ
徳川綱吉
โชกุนแห่งเอะโดะ
1680 - 1709
ก่อนหน้าโทะกุงะวะ อิเอะสึนะ
ถัดไปโทะกุงะวะ อิเอะโนะบุ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1646
อสัญกรรม19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1709
บิดาโทะกุงะวะ อิเอะมิสึ
มารดา桂昌院
บุตร-ธิดาโทะกุงะวะ อิเอะโนะบุ (บุตรบุญธรรม)

ในค.ศ. 1680 เมื่อโชกุนโทะกุงะวะ อิเอะสึนะพี่ชายต่างมารดาของตนเสียชีวิตไปโดยไม่มีทายาท ขุนนางในบะกุฟุที่มีอำนาจในขณะนั้นคือไทโรซะกะอิ ทะดะกิโยะ (Sakai Tadakiyo, 酒井忠清) ได้เสนอให้นำเจ้าชายที่เป็นเชื้อพระวงศ์จากเกียวโตมาดำรงตำแหน่งโชกุนเป็นหุ่นเชิดของตนต่อมา ซึ่งเป็นที่ต่อต้านจากขุนนางคนอื่นๆในบะกุฟุ โดยเฉพาะโรจูฮอตตะ มะสะโตะชิ (Hotta Masatoshi, 堀田正俊) ผู้ซึ่งสนับสนุนโทะคุงาวะ สึนะโยะชิ ไดเมียวแห่งแคว้นทะเตะบะยะชิ ให้สืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อมา เมื่อสึนะโยะชิได้เป็นโชกุนแล้ว ไทโรซะกะอิจำต้องรีบลาออกจากตำแหน่งด้วยเกรงการลงโทษ โชกุนสึนะโยะชิจึงได้แต่งตั้งฮอตตะ มะสะโตะชิให้เป็นไทโรแทนเพื่อเป็นการตอบแทนที่สนับสนุนให้ตนได้เป็นโชกุน

ในช่วงต้นสมัยของโชกุนสึนะโยะชิ ไทโรฮอตตะ มะสะโตะชิมีอำนาจมาก จนเริ่มเป็นที่ไม่พอใจของโชกุนสึนะโยะชิ โชกุนสึนะโยะชิได้พยายามที่จะนำโซะบะโยนิน (Sobayōnin, 側用人) หรือขุนนางคนสนิทจากแคว้นทะเตะบะยะชิเดิมของตนเข้ามามีอำนาจในบะกุฟุ ได้แก่ มะริโนะ นะริซะดะ (Marino Narisada, 牧野成貞) และ ยะนะงิซะวะ โยะชิยะสุ (Yanagisawa Yoshiyasu, 柳沢吉保) จนกระทั่งฮอตตะ มะสะโตะชิถูกลอบสังหารในค.ศ. 1684 โชกุนสึนะโยะชิจึงมีอำนาจปกครองญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่

ในสมัยของโชกุนสึนะโยะชิได้พยายามที่จะลดอำนาจของขุนนางในบะกุฟุและไดเมียวฟุไดลง[1] โชกุนสึนะโยะชิได้ชื่อว่าเป็นโชกุนที่เข้มงวดมาก แม้ขุนนางหรือไดเมียวกระทำผิดเพียงเล็กน้อยก็อาจจะถูกยึดทรัพย์สินที่ดินรวมถึงแคว้นที่ปกครองตกมาเป็นของบะกุฟุ ขุนนางตำแหน่งใหญ่เช่นไทโรหรือโรจูหมดอำนาจไป และเพิ่มอำนาจให้แก่ขุนนางคนสนิทของโชกุน และโชกุนสึนะโยะชิยังส่งเสริมลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) ให้เป็นหลักปรัชญาประจำชาติของญี่ปุ่น โดยในค.ศ. 1691 โชกุนสึนะโยะชิก่อตั้งสำนักยูชิมะ (Yushima Seidō, 湯島聖堂) อันเป็นสำนักขงจื้อประจำชาติของญี่ปุ่น โดยมีตระกูลฮายาชิ (Hayashi, 林) เป็นเจ้าสำนัก

โชกุนสึนะโยะชิเกิดปีจอ จึงมีความเชื่อว่าการดูแลอุปถัมภ์สุนัขในเมืองเอโดะจะทำให้ตนอายุยืน โชกุนสึนะโยะชิจึงออกกฎหมายความเมตตาต่อสัตว์ (Shōruiawaremi-no-rei, 生類憐みの令) ห้ามการทำร้ายสัตว์โดยเฉพาะสุนัขในเมืองเอโดะ และการช่วยเหลือสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ ทำให้สุนัขในเมืองเอโดะเพิ่มจำนวนขึ้นมากและทำให้สุขอนามัยของเมืองแย่ลง ทำให้กฎหมายนี้เป็นที่ไม่พอใจของชาวเมืองเอโดะอย่างมาก โชกุนสึนะโยะชิจึงได้รับฉายาว่า "โชกุนสุนัข" (Inu-kubō, 犬公方)

สมัยของโชกุนสึนะโยะชินั้น เรียกว่า สมัยเง็นโระกุ (Genroku, 元禄) เป็นสมัยที่ศิลปวัฒนธรรมเอโดะเจริญรุ่งเรืองที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ละครโนะ ละครคาบูกิ แต่ก็เป็นสมัยที่ในบากุฟุมีการแก่งแย่งอำนาจและการทุจริตฉ้อฉลอย่างมากมาย ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์โรนินทั้งสี่สิบเจ็ดคน (Forty-Seven Ronin) ในค.ศ. 1703 ในค.ศ. 1691 เอิงเกลเบิร์ต แคมเฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้เดินทางมากับขบวนทูตเจริญสัมพันธไมตรีของฮอลันดาจากเกาะเดจิมะมายังเมืองเอโดะ ได้เข้าพบโชกุนสึนะโยชิและเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้จดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตศิลปวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นสมัยเอโดะ

บุตรชายเพียงคนเดียวของโชกุนสึนะโยะชิได้เสียชีวิตไปในค.ศ. 1683 เมื่อไม่มีทายาทโชกุนสึนะโยะชิจึงรับหลานชายของตนเป็นบุตรบุญธรรม คือ โทะกุงะวะ อิเอะโนะบุ บุตรชายของโทะคุงะวะ สึนะชิเงะ (Tokugawa Tsunashige, 徳川綱重 พี่ชายต่างมารดาของโชกุนสึนะโยะชิ) และให้สืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อไป ในค.ศ. 1703 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวปีเง็นโระกุ (Genroku-no-daijishin, 元禄大地震) บริเวณเมืองเอะโดะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และในค.ศ. 1707 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวปีโฮเอ (Hōei-no-daijishin, 宝永大地震) เป็นแผ่นดินไหวครั้งที่มีขนาดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และทำให้เกิดการระเบิดครั้งสุดท้ายของภูเขาไฟฟุจิ (Hōei-daifunka, 宝永大噴火) โชกุนสึนะโยะชิเสียชีวิตในค.ศ. 1709

อ้างอิง แก้

  1. Conrad D. Totman, Early Modern Japan. 1995

เกร็ดความรู้ แก้

  • ในละครไทกะของ NHK เรื่อง โอกุ สงครามจอมนาง ได้มีการเพิ่มความจริงลงไปว่าแท้ที่จริงแล้วนั้นมารดาที่แท้จริงของโชกุนสึนะโยะชิไม่ใช่ท่านเคโชอินแต่เป็นท่านโอะมะโนะคะตะหรือท่านโอมันเจ้านายของท่านเคโชอินซึ่งได้ยกท่านโทะคุมัตสึให้เป็นลูกเพราะท่านโอมันซึ่งเป็นเชื้อสายของจักรพรรดิเกรงว่าทางราชสำนักจะมาจัดการเรื่องทายาทจึงได้แจ้งไปยังราชสำนักว่าบุตรชายของนางได้ตายไปแล้วหลังคลอด
ก่อนหน้า โทกูงาวะ สึนาโยชิ ถัดไป
โทะกุงะวะ อิเอะสึนะ    
โชกุนแห่งเอะโดะบะคุฟุ
(ค.ศ. 1680-ค.ศ. 1709)
  โทะกุงะวะ อิเอะโนะบุ