โคสัมฤทธิ์ (อังกฤษ: bronze bull), โคทองเหลือง (อังกฤษ: brazen bull) หรือ โคซีชีเลีย (อังกฤษ: Sicilian bull) เป็นเครื่องลงทัณฑ์และประหารอันคิดค้นขึ้นในกรีซโบราณ โดย เพอริลลอส (Perillos) นายช่างโลหะชาวเอเธนส์[1] เขาถวายเครื่องนี้แก่ พระเจ้าฟาลาริส (Phalaris) ทรราชแห่งเมืองอาครากัส (Akragas) แคว้นซีชีลี (Sicily) ให้เป็น "วิธีใหม่สำหรับประหารชีวิตนักโทษ"[2] เครื่องนี้มีรูปลักษณ์เป็นโค ทำขึ้นจากสัมฤทธิ์ทั้งตัว และข้างในกลวง ที่ลำตัวโคข้างหนึ่งทำช่องมีฝาปิดไว้เป็นประตู[3] นักโทษจะถูกใส่เข้าไปในตัวโคผ่านประตูนั้น จากนั้นจะสุมเพลิงใต้ท้องโคเพื่อให้โคร้อนทั้งตัว นักโทษจะถูกอบอยู่ข้างในนั้นอย่างทรมาน แล้วจะสุกตายเมื่อโคเปลี่ยนเป็นสีเหลือง[4]

นายช่างเพอริลลอสถูกจับยัดเข้าไปในโคสัมฤทธิ์ที่ตนสร้างขึ้นมาเอง

ประวัติ แก้

พระเจ้าฟาลาริส ผู้ปกครองเมืองอาครากัส ในแคว้นซีชีลี มีพระราชโองการให้นายช่างเพอริลลอสสร้างเครื่องประหารนักโทษขึ้น[4] นายช่างผู้นี้ออกแบบให้เครื่องประหารมีรูปลักษณ์เป็นโคดั่งบรรยายมาข้างต้นนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาออกแบบให้โคร้องคำรามได้ด้วย โดยส่วนศีรษะของโคนั้นออกแบบให้มีระบบซับซ้อน เป็นท่อกับฝาปิด เพื่อให้เสียงครวญครางของนักโทษที่ถูกอบอยู่ข้างในนั้นเล็ดลอดผ่านท่อออกมาคล้ายเสียงคำรามของสัตว์ พร้อม ๆ กับที่ควันกำยานกลิ่นเผ็ดร้อนจะคละคลุ้งออกมาทางจมูกโค ประหนึ่งโคกำลังโมโหโกรธาด้วย[5]

สร้างโคขึ้นเสร็จแล้ว นายช่างเพอริลลอสกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า "เสียงหวีดร้องของนักโทษนั้น จักลอดออกมาทางท่อเหล่านั้นให้พระองค์ได้สดับ อุปมาดังเสียงสัตว์คำรามอันละมุนละไม น่าสังเวช และเป็นมธุรสซึ่งหาที่สุดมิได้"[6] พระเจ้าฟาลาริสทรงฟังคำของนายช่างแล้วทรงรู้สึกสะอิดสะเอียน จึงทรงบัญชาให้นายช่างทดลองเครื่องประหารนี้ด้วยตนเองเสีย เมื่อนายช่างเข้าไปในตัวโค ประตูก็ลั่นลง และเพลิงก็สุมขึ้นใต้ท้องโค แล้วท้าวฟาลาริสก็ได้สดับเสียงโหยหวนของนายช่างเป็นคนแรก[6] แต่ก่อนที่นายช่างจะถึงแก่ความตาย ทรงสั่งให้เปิดประตูโคและนำเขาออกมา นายช่างเชื่อว่าจะพระราชทานรางวัลให้แก่เขาเป็นแน่ ทว่า มีพระราชบัญชาให้จับนายช่างขึ้นไปบนยอดเขาแล้วทุ่มลงมาให้ตายเสีย[4]

ตามตำนาน ว่ากันว่า หลังจากอบนักโทษเสร็จแล้ว เมื่อเปิดประตูดู จะเห็นว่า ชิ้นกระดูกของเหยื่อนั้น "มีประกายดังอัญมณี และฉะนั้น จึงโปรดให้นำไปทำทองพระกร"[7] นอกจากนี้ ยังว่า เมื่อเทเลมาคัส (Telemachus) ผู้กล้า ยึดอำนาจจากพระเจ้าฟาลาริสได้แล้ว ก็ให้ประหารพระองค์ด้วยโคสัมฤทธิ์นี้ดุจกัน[4]

การใช้ แก้

 
พิมพ์ไม้โบราณ แสดงภาพโคสัมฤทธิ์อยู่ด้านซ้าย

มีบันทึกว่า ชาวโรมันใช้โคสัมฤทธิ์ประหารชาวคริสต์เป็นอันมาก ในจำนวนนี้ รวมถึง นักบุญยุสเตส (Saint Eustace) ผู้ถูกอบในโคสัมฤทธิ์พร้อมภรรยาและบุตร ตามพระราชโองการของจักรพรรดิเฮเดรียน (Hadrian) และนักบุญแอนทิพัส (Saint Antipas) มุขนายกแห่งเพอร์กามัม (Bishop of Pergamum) ผู้ถูกประหารใน ค.ศ. 92 เมื่อจักรพรรดิดอมีเชียน (Domitian) ทรงรุกรานเอเชียน้อย[4]

อนึ่ง ปรากฏว่า มีการใช้โคสัมฤทธิ์ในแผ่นดินโรมมาเป็นเวลาอีกสองศตวรรษให้หลัง โดยในช่วงนี้ จักรพรรดิไดโอคลีเชียน (Diocletian) มีพระราชโองการให้ประหารนักบุญเพลาเกียแห่งทาร์ซัส (Pelagia of Tarsus) ใน ค.ศ. 287 ด้วย

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. Diehl & Donnelly 2008, p. 37
  2. "The Brazen Bull". สืบค้นเมื่อ 2009-05-11.
  3. Diehl & Donnelly 2008, p. 39
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "Perillos of the Brazen Bull". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-16. สืบค้นเมื่อ 2009-05-11.
  5. "Heat Torture". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2009-05-11.
  6. 6.0 6.1 "Top 10 Gruesome Methods of Execution". สืบค้นเมื่อ 2009-05-11.
  7. Thompson 2008, p. 30
บรรณานุกรม
  • Diehl, Daniel; Donnelly, Mark P. (2008), The Big Book of Pain: Punishment and Torture Through History, The History Press, ISBN 978-0-750-94583-7
  • Thompson, Irene (2008), The A to Z of Punishment and Torture: From Amputations to Zero Tolerance, Book Guild Publishing, ISBN 978-1-846-24203-8

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โคสัมฤทธิ์