โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า

โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า หรืออาจเป็นที่รู้จักในชื่อ โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีจุดประสงค์หลักในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2536

ประวัติ แก้

จากการเพิ่มจำนวนประชากร การขยายตัวทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้การใช้ไฟฟ้าในสังคมไทยเพิ่มขึ้น จึงทำให้กฟผ. จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้องมีการซื้อวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และนอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ยังอาศัยการเผาเชื้อเพลิงเป็นหลัก จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์โลกร้อน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว การใช้ไฟฟ้าของคนไทยยังไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร ไฟฟ้าที่เสียเปล่ายังมีมาก สามารถรณรงค์เพื่อลดการสูญเสียไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นได้ จึงมีความคิดที่จะตั้งโครงการเพื่อการประหยัดไฟฟ้าขึ้นมา และหลังจากได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ แก้

  1. เพื่อรณรงค์ให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและมีราคาที่เหมาะสม
  2. จูงใจและเสริมสร้างทัศนคติการประหยัดไฟฟ้าแก่ประชาชน โดยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
  3. เสนอทางเลือกของผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง
  4. สนับสนุนและแสวงหาเทคโนโลยีการประหยัดไฟฟ้า รวมทั้งการบริหารการใช้ไฟฟ้าเพื่อนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประเทศชาติโดยรวม

การดำเนินการ แก้

กฟผ. มุ่งเน้นการจูงใจ โดยการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเลือกใช้กลยุทธ์ที่ชื่อว่า 3อ. ได้แก่

  • อ. อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า มุ่งเน้นการรณรงค์ในภาคที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 25 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ หากภาคที่อยู่อาศัยได้เลือกเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่า และช่วยลดการสูญเสียไฟฟ้าที่เคยเสียไปกับอุปกรณ์ตัวเก่าที่ประสิทธิภาพต่ำ
  • อ. อาคารและโรงงานประหยัดไฟฟ้า มุ่งเน้นการรณรงค์ในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 75 ดังนั้น หากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม มีการบริหารการใช้ไฟฟ้าที่ถูกต้อง มีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการลดความร้อนที่เข้าตัวอาคาร ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุงระบบแสงสว่าง และจัดอบรมพนักงานให้ใช้พลังงานอย่างถูกต้อง จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมาก
  • อ. อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า มุ่งเน้นการรณรงค์กับเยาวชน และประชาชนทั่วไป เพราะทัศนคติ ความรู้ในเรื่องพลังงานของผู้ใช้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 แก้

ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า แต่มีภาพรวมที่เป็นที่รู้จักของประชาชนมากที่สุด โดยหากเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สองรุ่น รุ่นหนึ่งได้มาตรฐานเบอร์ 5 อีกรุ่นไม่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 หากเปรียบเทียบว่าทั้งสองรุ่นใช้ไฟฟ้าเท่ากัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ฉลากเบอร์ 5 จะสามารถให้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 และถ้าหากเปรียบเทียบว่าผลิตภัณฑ์สองรุ่นที่ให้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้เท่ากัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 จะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ในปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่ กฟผ. ดำเนินการด้านฉลากกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวน 12 ชนิด ได้แก่

ตู้เย็น แก้

ฉลากเบอร์ 5 ของตู้เย็น มีการดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 การคำนวณค่าประสิทธิภาพของตู้เย็นออกมาเปรียบเทียบเป็นตัวเลข จะต้องใช้ตัวเลข 2 ค่า คือ ปริมาตรปรับเทียบของตู้เย็น(AV) และปริมาณพลังงานที่ใช้ใน 1 ปี(EC) โดยใช้สูตรการคำนวณคือ

AV =[Vf X {(32-Tf)/(32-Tr)}]+Vr (ค่า AV จะไม่แสดงบนฉลากเบอร์ 5 จะต้องคำนวณเอง หรือสอบถามไปที่ฐานข้อมูลของแต่ละบริษัท) โดยที่

  • Vf = ปริมาตรช่องแช่แข็ง (หรือที่มักเรียกกันว่า ช่องฟรีซ) มีหน่วยเป็นลิตร
  • Vr = ปริมาตรช่องแช่เย็น มีหน่วยเป็นลิตร
  • Tf = อุณหภูมิของช่องแช่แข็ง มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส (ตู้เย็นส่วนใหญ่มีค่านี้เป็น -18)
  • Tr = อุณหภูมิของช่องแช่เย็น มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส (ตู้เย็นส่วนใหญ่มีค่านี้เป็น 3)

EC = ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ใช้หากใช้งานต่อเนื่อง 1 ปี มีหน่วยเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมง ({วัตต์ X ชั่วโมง}/1000 เป็นค่าที่ใช้ในการคิดค่าไฟฟ้า และแสดงอยู่ในบรรทัดขาวของฉลากเบอร์ 5)

ในช่วงแรกที่มีโครงการเบอร์ 5 ของตู้เย็น (พ.ศ. 2537) มีตู้เย็นไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 โดยที่ตู้เย็นที่ซื้อขายกันทั่วไปจะสิ้นเปลืองไฟฟ้าเป็น 2 เท่าของตู้เย็นที่ได้มาตรฐาน(หากมี AV เท่ากัน) แต่ด้วยการประชาสัมพันธ์ของกฟผ. ทำให้ประชาชนหันไปซื้อเฉพาะตู้เย็นที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 จึงเกิดการแข่งขันของแต่ละบริษัทเพื่อให้ตู้เย็นของตนประหยัดไฟฟ้าเข้าเกณฑ์เบอร์ 5 ให้มากที่สุด ภายใน 1 ปีหลังการออกเกณฑ์เบอร์ 5 (พ.ศ. 2538) ตู้เย็นที่ไม่ได้มาตรฐานเบอร์5 จากที่เคยครองพื้นที่ได้กว่า 90% ก็แทบจะไม่เหลือในท้องตลาดอีกต่อไป (ตู้เย็นที่ผลิตในปี พ.ศ. 2553 ประหยัดไฟฟ้ากว่าตู้เย็นใน พ.ศ. 2538 ประมาณ 30% แต่ตู้เย็นที่ผลิตในปี พ.ศ. 2538 ประหยัดไฟฟ้ากว่าตู้เย็นใน พ.ศ. 2537 ประมาณ 50%)

หลังจากการพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของประสิทธิภาพตู้เย็นใน พ.ศ. 2537 กฟผ. ได้เคยมีการปรับเกณฑ์ประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของตู้เย็นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยในอดีตเคยมีการปรับเกณฑ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2549 โดยเกณฑ์เบอร์ 5 ของตู้เย็นในปัจจุบันเป็นดังนี้

ประเภทของตู้เย็น ค่า AV ค่า EC ที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5
ตู้เย็น 1 ประตู น้อยกว่า 100 ลิตร น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.68AV+255
100 ลิตรขึ้นไป น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.39AV+145
ตู้เย็น 2 ประตูขึ้นไป น้อยกว่า 450 ลิตร น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.39AV+388
450 ลิตรขึ้นไป น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.68AV+388

นอกจากนี้ กฟผ. ได้แจ้งว่าใน พ.ศ. 2555 จะมีการปรับเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพตู้เย็นเบอร์ 5 ครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 โดยเกณฑ์ใหม่ที่จะปรับใช้เป็นดังนี้

ประเภทของตู้เย็น ค่า AV ค่า EC ที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5
ตู้เย็น 1 ประตู น้อยกว่า 100 ลิตร น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.62AV+233
100 ลิตรขึ้นไป น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.36AV+133
ตู้เย็น 2 ประตู ขึ้นไป น้อยกว่า 450 ลิตร น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.36AV+354
450 ลิตรขึ้นไป น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.62AV+354

เครื่องปรับอากาศ แก้

ฉลากเบอร์ 5 ของเครื่องปรับอากาศ ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โดยการคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศต้องรู้ตัวเลข 2 ค่า คือ อัตราการทำความเย็น (มีหน่วยเป็น บีทียูต่อชั่วโมง หรือมักเรียกกันย่อๆว่า บีทียู) และ กำลังไฟฟ้าที่ใช้ (มีหน่วยเป็นวัตต์)

ค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศ คำนวณโดย อัตราการทำความเย็น หาร กำลังไฟฟ้าที่ใช้ เช่น เครื่องปรับอากาศขนาด 11,600 บีทียู เครื่องหนึ่ง ใช้กำลังไฟฟ้า 1,000 วัตต์ จะมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 11,600 / 1,000 = 11.6 เป็นต้น

ค่าประสิทธิภาพที่จะได้มาตรฐานเบอร์ 5 ในช่วงแรกอยู่ที่ 10.6 ขึ้นไป แต่ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการปรับเกณฑ์ดังกล่าวเป็น 11.0 ขึ้นไป และสำหรับเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดไม่เกิน 27,296 บีทียู ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 จะปรับเกณฑ์ขึ้นอีกเป็น 11.6 ขึ้นไป

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้แนะนำว่า การเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศ ควรเลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับห้องและการใช้งาน ดังนี้

ขนาดห้อง (ตารางเมตร) ขนาดที่ควรใช้ (ห้องนอน) ขนาดที่ควรใช้ (ห้องทำงาน/ห้องรับแขก)
แดดส่องน้อย (BTU/hr) แดดส่องมาก (BTU/hr) แดดส่องน้อย (BTU/hr) แดดส่องมาก (BTU/hr)
9 - 12 7,000 8,000 9,000
13 - 14 8,000 9,000 11,000
15 - 17 9,500 11,000 13,500
18 - 20 12,000 13,500 16,500
21 - 24 15,000 16,500 20,000
25 - 33 18,000 20,000 26,500
34 - 44 24,000 26,500 30,000

หลอดตะเกียบ แก้

โครงการรณรงค์เลิกหลอดไส้ ใช้หลอดตะเกียบ เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 โดยที่การคิดค่าประสิทธิภาพของหลอดไฟฟ้า จะต้องทราบตัวเลข 2 ค่า คือ ปริมาณแสงสว่างของหลอดไฟ (มีหน่วยเป็น ลูเมน หลอดไฟที่ผู้ผลิตมีคุณธรรมจะระบุค่าดังกล่าวอย่างถูกต้องไว้ด้านข้าง หรือฝา หรือฝาก้นกล่อง) และกำลังไฟฟ้าที่ใช้ (วัตต์) การคิดค่าประสิทธิภาพของหลอดไฟฟ้า ให้นำปริมาณแสงที่หลอดไฟให้ (ลูเมน) มาหารด้วยกำลังไฟ (วัตต์) จะได้ค่าประสิทธิภาพของหลอดไฟฟ้า(หน่วยเป็นลูเมน/วัตต์)

หลอดไฟฟ้าแบบตะเกียบ ที่จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานเบอร์ 5 ต้องมีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่าตารางต่อไปนี้

กำลังไฟ (วัตต์) สีของแสงที่หลอดไฟให้อุณหภูมิสีไม่เกิน 4,400 K (หลอดสีเหลือง วอร์มไวท์) สีของแสงที่หลอดไฟให้มีอุณหภูมิสีสูงกว่า 4,400 K (หลอดสีขาว เดย์ไลท์)
5 - 8 50 45
9 - 14 55 50
15 - 20 60 55
21 - 24 60
25 - 60 65

หลอดตะเกียบ อาจมีบางรุ่นที่ไม่ผ่านมาตรฐานเบอร์ 5 แม้แต่ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงยังมีบางรุ่นที่ไม่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 ดังนั้น ผู้บริโภคควรดูรายละเอียดข้างกล่องก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้ได้หลอดไฟที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่หลอดตะเกียบทุกรุ่น มีประสิทธิภาพสูงกว่าหลอดไส้เสมอ

ในการรณรงค์เป็นเวลากว่า 10 ปี ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากชาวบ้านรากหญ้าจำนวนมากยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลอดไส้ โดยซื้อหลอดไส้เพราะเห็นว่าราคาถูก (ประมาณ 10 บาท) เมื่อเทียบกับหลอดตะเกียบ (ประมาณ 100 - 200 บาท) โดยลืมคำนึงไปว่า

  • หลอดไส้มีอายุการใช้งาน 1,000 ชั่วโมง ในขณะที่หลอดตะเกียบมีอายุการใช้งาน 6,000 ชั่วโมง ดังนั้น หากเปิดใช้งานวันละ 5 ชั่วโมง ในเวลา 3 ปี หากใช้หลอดไส้จะต้องเปลี่ยนใหมเพราะหลอดขาดถึง 5 ครั้ง (สิ้นสุดปีที่ 3 กำลังใช้หลอดที่ 6) ในขณะที่ถ้าใช้หลอดตะเกียบ จะยังไม่ต้องเปลี่ยนใหม่เลย (สิ้นสุดปีที่ 3 หลอดแรกยังไม่พัง)
  • เมื่อต้องการแสงสว่างเท่าเดิม เมื่อใช้หลอดตะเกียบจะใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 4 เท่า โดยการเลือกซื้อหลอดตะเกียบแทนหลอดไส้ ควรใช้ตามตารางดังกล่าว
หลอดไส้ (วัตต์) หลอดจะเกียบที่ให้แสงสว่างใกล้เคียง (วัตต์)
25 5
40 7 - 9
60 11 - 13
75 15
100 20
125 23

หากเปรียบเทียบหลอดไส้และหลอดตะเกียบแล้ว หากเปิดใช้งานวันละ 5 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายรวมระหว่างหลอดไส้และหลอดตะเกียบในช่วงเวลา 3 ปี(เวลาการใช้งานรวม 5,475 ชั่วโมง)จะเป็นดังนี้

ค่าใช้จ่าย หลอดไส้ 60 วัตต์ หลอดตะเกียบ 13 วัตต์ ให้แสงเท่าหลอดไส้
ค่าหลอด 60 บาท
(สิ้นปีที่ 3 กำลังใช้หลอดที่ 6)
150 บาท
หลอดแรกยังไม่หมดอายุ
ค่าไฟฟ้า(คิดหน่วยละ 3.28 บาท) 1077.48 บาท (หลอด 60 วัตต์) 233.45 บาท (หลอดไฟ 13 วัตต์)
รวม 1,137.48 บาท 383.45 บาท

ดังที่จะเห็นว่า หลอดตะเกียบ แม้จะมีราคาแพงกว่า แต่ก็สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าหลอดตะเกียบถึง 5 เท่า และค่าใช้จ่ายรวมสุทธิราวหนึ่งในสามของหลอดไส้เท่านั้น แต่ด้วยความที่ชาวบ้านรากหญ้ายังขาดความเข้าใจในส่วนนี้ จึงยังซื้อหลอดไส้ที่ราคาถูกตามความเชื่อผิดๆ

บัลลาสต์ แก้

โครงการบัลลาสต์นิรภัยเบอร์ 5 เริ่มดำเนินการครั้งแรกใน พ.ศ. 2541 เพราะบัลลาสต์เป็นอุปกรณ์คู่กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ (ไม่ใช่หลอด คอมแพคฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบ แต่เป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่เป็นหลอดยาวๆ ผอมๆ หรือหลอดที่เป็นวงกลมที่ใช้ตามบ้าน) เพราะหลอดฟลูออเรสเซนต์ต้องอาศัยบัลลาสต์ในการปรับกระแสไฟฟ้าให้เหมาะสมกับหลอด แต่ตัวบัลลาสต์ทั่วไปจะทำให้กระแสไฟฟ้าสูญเสียไปประมาณ 10 - 12 วัตต์ ในทุกขนาดของหลอดไฟ (เช่น หลอดตรง 18 วัตต์ ใช้ไฟฟ้าจริง 28-30 วัตต์, หลอดกลม 32 วัตต์ ใช้ไฟฟ้าจริง 42-44 วัตต์, หลอดตรง 36 วัตต์ ใช้ไฟฟ้าจริง 46-48 วัตต์) ดังนั้นจึงมีโครงการบัลลาสต์เบอร์ 5 โดยบัลลาสต์เบอร์ 5 จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

บัลลาสต์สำหรับหลอดไฟขนาด สูญเสียไฟฟ้า กระแส (แอมแปร์)
18 วัตต์ ไม่เกิน 6 วัตต์ ไม่น้อยกว่า 0.343
36 วัตต์ ไม่น้อยกว่า 0.398

บัลลาสต์เบอร์ 5 จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าได้ 4-6 วัตต์ และจากการที่สูญไฟฟ้าน้อยลง โดยที่ได้แสงสว่างเท่าเดิม หมายถึง การสูญเสียเป็นความร้อนออกมาน้อยลงด้วย บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์มีอุณหภูมิขณะทำงานประมาณ 75 องศาเซลเซียส ในขณะที่บัลลาสต์ธรรมดามีอุณหภูมิขณะทำงาน 110 - 120 องศาเซลเซียส ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศอีกด้วย แต่ตามฐานข้อมูลของกฟผ. แล้ว บัลลาสต์ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวในปัจจุบันมีเพียง 10รุ่น จากผู้ผลิต 4 ราย เท่านั้น

ข้าวกล้อง แก้

โครงการข้าวกล้องเบอร์ 5 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 โดยก่อนหน้านี้ คนไทยนิยมบริโภคข้าวขาว ซึ่งต้องผ่านการขัดสีถึง 3 ครั้ง เป็นการสิ้นเปลืองพลังงานในการขัดสี และยังทำให้สารอาหารหลายชนิดหลุดออกไปด้วย ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า ทรงต้องการให้คนไทยบริโภคข้าวกล้องเพื่อสุขภาพที่ดี จึงมีการตั้งโครงการข้าวกล้องเบอร์ 5 ขึ้น โดยเกณฑ์มาตรฐานของข้าวกล้องเบอร์ 5 เป็นดังนี้

ชนิดข้าวกล้อง พื้นข้าว (ร้อยละ) ส่วนของต้นข้าว ไม่ต่ำกว่า (ร้อยละ) ส่วนของข้าวหัก (ร้อยละ) ส่วนผสม (ร้อยละ) ข้าวและสิ่งที่อาจมีปนได้ไม่เกิน(ร้อยละ)
เมล็ดยาว เมล็ดสั้น (ไม่เกิน 6.2 มม.) ไม่เกิน ข้าวเต็มเมล็ด ไม่ต่ำกว่า ต้นข้าว ข้าวหัก ไม่เกิน เมล็ดแดง เมล็ดเหลือง ท้องไข่ เมล็ดเสีย ข้าวเหนียวขาว เมล็ดลีบ
เมล็ดอ่อน
เมล็ดพืชอื่น
และวัตถุอื่น
อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือหลายอย่างรวมกัน
ข้าวเปลือก
ชั้น 1 (เกิน 7มม.) ไม่ต่ำกว่า ชั้น 2 และ หรือชั้น 3 (เกิน 6.2 มม. แต่ไม่เกิน 7 มม.)
100% ชั้น 1 70 - 5 8 ไม่ต่ำกว่า 5 แต่น้อยกว่า 8 80 - 4 1 0.5 3 0.5 1.5 3 0.5
100% ชั้น 2 55 - 6 8 ไม่ต่ำกว่า 5 แต่น้อยกว่า 8 80 - 4.5 1.5 0.75 6 0.75 1.5 5 1
100% ชั้น 3 40 - 7 8 ไม่ต่ำกว่า 5 แต่น้อยกว่า 8 80 - 5 2 0.75 6 0.75 1.5 5 1
5% 30 - 10 7.5 ไม่ต่ำกว่า 3.5 แต่น้อยกว่า 7.5 75 - 7 2 1 6 1 1.5 6 1
10% 20 - 15 7 ไม่ต่ำกว่า 3.5 แต่น้อยกว่า 7.5 70 - 12 2 1 7 1 1.5 7 2
20% 10 - 35 6.5 ไม่ต่ำกว่า 3 แต่น้อยกว่า 6.5 65.5 - 17 5 1 7 1.5 2 8 2

จากฐานข้อมูลของ กฟผ. ปัจจุบัน มีผู้ผลิตข้าวกล้องเพียง 2 รายเท่านั้นที่ผลิตข้าวกล้องได้ตรงตามมาตรฐานเบอร์ 5 โดยเจ้าหนึ่ง เป็นข้าวกล้อง 5% อีกเจ้าหนึ่งเป็นข้าวกล้อง 15%

พัดลมไฟฟ้า แก้

โครงการพัดลมไฟฟ้าเบอร์ 5 ดำเนินการครั้งแรกใน พ.ศ. 2544 โดยครอบคลุมเฉพาะพัดลมขนาดใบพัด 12 และ 16 นิ้ว ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 90 โดยค่าการคำนวณประสิทธิภาพของพัดลมจะตั้งรู้ตัวเลข 2 ค่า คือ อัตราการพ่นลม (มีหน่วยเป็น ลูกบาศก์เมตรต่อนาที) ซึ่งจะได้จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ มักระบุไว้ที่กล่องผลิตภัณฑ์ ฉลากเบอร์ 5 หรือสอบถามที่ศูนย์บริษัทผลิต และกำลังไฟที่ใช้ (มีหน่วยเป็นวัตต์)

การคำนวณค่าประสิทธิภาพ ให้นำอัตราการพ่นลม (ลูกบาศก์เมตรต่อนาที) หารด้วยกำลังไฟ (วัตต์) จะได้ค่าประสิทธิภาพ (มีหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร ต่อนาที ต่อวัตต์) เช่น พัดลมรุ่นหนึ่ง มีอัตราการพ่นลมอยู่ที่ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที ใช้ไฟฟ้า 53 วัตต์ มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 70/53 = 1.32 เป็นต้น

  • พัดลม 12 นิ้ว ต้องมีค่าประสิทธิภาพ 1.10 ขึ้นไป
  • พัดลม 16 นิ้ว ต้องมีค่าประสิทธิภาพ 1.30 ขึ้นไป

หม้อหุงข้าวไฟฟ้า แก้

โครงการหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเบอร์ 5 เริ่มดำเนินการครั้งแรกใน พ.ศ. 2547 เพื่อให้มีหม้อหุงข้าวที่ใช้ไฟฟ้าทำความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทดสอบค่าประสิทธิภาพจะทดสอบในห้องทดลอง สูตรการคำนวณค่าประสิทธิภาพหม้อหุงข้าวคือ 100[{1.16G1(T2-T1)}/E] + 100[{CG2(T2-T1)}/3.6E] โดยที่

  • G1 = มวลน้ำหุงข้าวก่อนการทดสอบ มีหน่วยเป็นกิโลกรัม
  • G2 = มวลหม้อหุง มีหน่วยเป็นกิโลกรัม
  • T1 = อุณหภูมิน้ำขณะเริ่มทดสอบ มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส
  • T2 = อุณหภูมิน้ำสูงสุดขณะทดสอบ มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส
  • C = ความจุความร้อนจำเพาะของหม้อหุง มีหน่วยเป็นกิโลจูล/กิโลกรัม-เคลวิน
  • E = พลังงานที่ใช้ มีหน่วยเป็นวัตต์-ชั่วโมง

เมื่อคำนวณตัวเลขออกมาจากห้องทดลองแล้ว เกณฑ์ประสิทธิภาพที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเบอร์ 5 คือ

กำลังไฟฟ้าของหม้อหุงข้าว ค่าประสิทธิภาพขั้นต่ำ สำหรับหม้อหุงข้าวประเภท Jar Type ค่าประสิทธิภาพขั้นต่ำ สำหรับหม้อหุงข้าวแบบ Rice Cooker
มากกว่า 500 แต่ไม่เกิน 600 87 83
มากกว่า 600 แต่ไม่เกิน 700 88 84
มากกว่า 700 89 85

จากฐานข้อมูล มีผู้ผลิตเพียง 4 ราย ที่ผลิตหม้อหุงข้าวได้ตามเกณฑ์มาตรฐานเบอร์ 5

โคมไฟประสิทธิภาพสูง แก้

โคมไฟประสิทธิภาพสูง เริ่มดำเนินการใน พ.ศ. 2547 โดยครอบคลุมถึงโคมไฟของหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ชนิดตะแกรง, โคมไฟหลอดขั้วเกลียว E27, โคมไฟหลอดขั้ว G23 โดยเกณฑ์ประสิทธิภาพเป็นดังนี้

ชนิดโคมไฟ เกณฑ์ประสิทธิภาพ เกณฑ์อื่นๆ
โคมไฟฟลูออเรสเซนต์แบบตะแกรง สะท้อนแสงออกมาไม่ต่ำกว่า 80% ผ่านเกณฑ์ค่าแสงบาดตา เกรด A ที่ 500 ลักซ์
โคมไฟหลอดขั้วเกลียว E27 มุมที่แสงกระจายออกต้องไม่เกิน 65 องศา
โคมไฟหลอดขั้ว G23 สะท้อนแสงออกมาไม่ต่ำกว่า 65%

การเปลี่ยนมาใช้โคมไฟประสิทธิภาพสูงเบอร์ 5 อาจสามารถช่วยลดจำนวนหลอดไฟที่ใช้ในการส่องได้ เพราะโคมไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน จะดูดซับแสงจากหลอดไฟไว้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นแสงที่ผู้ใช้ได้รับจะน้อยลง ดังนั้น หากเปลี่ยนไปใช้โคมไฟประสิทธิภาพสูง จะได้รับแสงเพิ่มขึ้นโดยที่ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม หรืออาจใช้จำนวนหลอดไฟลดลงได้โดยที่ได้รับแสงสว่างเท่าเดิมด้วยเช่นกัน ช่วยประหยัดไฟได้

บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ ที5 แก้

บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ ที5 เริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2550 โดยเป็นการนำเข้าบัลลาสต์รุ่นใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำเข้าหลอดฟลูออเรสเซนต์ที 5 รุ่นใหม่ โดยบัลลาสต์รุ่นใหม่สามารถใช้ได้กับหลอดรุ่นใหม่เท่านั้น โดยบัลลาสต์ที 5 เบอร์ 5 รุ่นใหม่ มีการสูญเสียไฟฟ้าไม่เกิน 3 วัตต์ เป็นการปูทางเพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายหลอดฟลูออเรสเซนต์รุ่นใหม่ในปี 2552

พัดลมส่ายรอบตัว แก้

พัดลมประเภทเดียวกับพัดลมตั้งพื้นที่ติดอยู่บนเพดาน แล้วหมุนส่ายไปรอบตัวขณะใช้งาน มีโครงการเบอร์ 5 ใน พ.ศ. 2551 โดยใช้เกณฑ์เดียวกับพัดลมไฟฟ้าแบบทั่วไป

หลอดฟลูออเรสเซนต์ที5 แก้

เดิมทีนั้น ประเทศไทยใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 หุน หรือ ที12 (เท่ากับ 2.54 ซม.) เรียกกันว่า "หลอดอ้วน" ซึ่งมี 2 ขนาด คือ 20 และ 40 วัตต์ ซึ่งต่อมาในปีพ.ศ. 2536 คนไทยก็เริ่มหันไปซื้อหลอดฟลูออเรสเซนต์รุ่นใหม่ในขณะนั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 หุน หรือ ที8 เรียกกันว่า "หลอดผอม" ซึ่งมี 2 ขนาด คือ 18 และ 36 วัตต์ แต่สามารถให้แสงสว่างได้เทียบเท่าหลอดอ้วน 20 กับ 40 วัตต์ได้ ตามลำดับ

พ.ศ. 2552 หลอดไฟรุ่น "ผอมกว่า" ได้เริ่มจำหน่ายในประเทศไทย (หลังจากบัลลาสต์ ที 5 เข้ามา 2 ปี) ฟลูออเรสเซนต์รุ่นใหม่นี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 หุน หรือ ที5 เรียกกันว่า "หลอดเส้น" มี 2ขนาด คือ 14 และ 28 วัตต์ แต่ให้แสงได้เทียบเท่าหลอดผอมแบบ 18 และ 36 วัตต์ ตามลำดับ ยิ่งเมื่อนับบัลลาสต์ที่ประหยัดไฟกว่าบัลลาสต์ของที8 แล้ว ชุดหลอดไฟที 5 รุ่นใหม่ ให้แสงเท่าเดิมโดยประหยัดไฟกว่าได้ถึง 30%

หลอดที 5 มีเกณฑ์มาตรฐานเบอร์ 5 ดังนี้

รายละเอียด หน่วย หลอด 28 วัตต์ หลอด 14 วัตต์
สีขาว ค่าสีไม่ต่ำกว่า 5000K สีเหลือง ค่าสีต่ำกว่า 5000K สีขาว ค่าสีไม่ต่ำกว่า 5000K สีเหลือง ค่าสีต่ำกว่า 5000K
ค่าการส่องสว่าง (ไม่ต่ำกว่า) ลูเมน 2,600 2,660 1,120 1,200
คิดเป็นประสิทธิภาพ (ไม่ต่ำกว่า) ลูเมนต่อวัตต์ 92.85 95.00 80.00 85.71
การดำรงแสงสว่างหลังการใช้งาน 2,000 ชั่วโมง(ไม่ต่ำกว่า) ร้อยละ (เมื่อเทียบกับความสว่างเริ่มแรก) 92 92 92 92
ดัชนีความถูกต้องของสี ตามดัชนี CRI (ไม่ต่ำกว่า) - 82 82 82 82
ปริมาณสารปรอท ตาม RoHS (ไม่เกิน) มิลลิกรัม 5 5 5 5
อายุการใช้งาน (ไม่ต่ำกว่า) ชั่วโมง 15,000 15,000 15,000 15,000
ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม - มอก.956-2533 มอก.956-2533 มอก.956-2533 มอก.956-2533

ปัจจุบัน หลายหน่วยงานและห้างสรรพสินค้าชื่อดังบางสาขาได้เปลี่ยนหลอดไฟที8 ออกเป็นหลอดที 5 ทั้งหมด และลดค่าใช้จ่ายได้หลายหมื่นหลายแสนบาทต่อเดือน โดยที่ลูกค้าและผู้ติดต่อไม่รู้สึกว่ามืดลงเลยแม้แต่น้อย

เครื่องรับโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ แก้

ในเครื่องรับโทรทัศน์และหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะมีโหมดพร้อมใช้งาน (Stand By) ซึ่งการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านรีโมทคอนโทรล แม้จะปิดหน้าจอ แต่จะเปิดโหมดพร้อมใช้งานไว้ ซึ่งจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ปิดโดยสมบูรณ์ แต่ยังต้องใช้พลังงานอีกเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 3-10 วัตต์ แล้วแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า ถึงจะน้อย แต่เมื่อเปิดทิ้งไว้ค้างคืน หลายล้านเครื่องรวมกัน กลายเป็นไฟฟ้าสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์หลายล้านวัตต์ ที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ปิดเครื่องที่สวิตช์ที่ตัวเครื่อง ไม่ปิดโทรทัศน์โดยรีโมทคอนโทรล(และไม่ปล่อยให้หน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ดับเองเมื่อปิดเครื่อง) เมื่อไม่จำเป็น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร

ส่วนการจะทำให้การปิดโดยใช้รีโมทคอนโทรล(และการปิดเองของหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อปิดเครื่อง)เป็นการปิดโดยไม่เปิดโหมดพร้อมใช้งานนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการปิดโดยวิธีดังกล่าว อาจเป็นกรณีของการที่โทรทัศน์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ถูกติดตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถเอื้อมมือถึงได้ หรือเป็นกรณีการช่วยเหลือผู้พิการทางร่างกายในการปิด/เปิดเครื่องได้ง่ายขึ้น หรือกรณีอื่นๆ หากการปิดเครื่องโดยวิธีดังกล่าว ไม่เปิดโหมดพร้อมใช้งานไว้ ทุกระบบจะปิด และการเปิดครั้งต่อไปจะจำเป็นต้องไปเปิดที่ตัวเครื่องเสมอ จึงต้องมีโหมดพร้อมใช้งานไว้ โดยจะยังเปิดอุปกรณ์ส่วนหนึ่งไว้ เพื่อเตรียมเปิดเครื่องเมื่อได้รับสัญญาณระยะไกลจากรีโมทคอนโทรล(หรือจากซีพียูของเครื่องคอมพิวเตอร์) การไม่ใช้โหมดพร้อมใช้งานเมื่อไม่จำเป็น จึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้

เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือ ใน พ.ศ. 2553 จึงได้มีมาตรการใหม่โดยทำโครงการฉลากเบอร์ 5 สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ โดยเป็นเบอร์ 5 ที่ไม่พิจารณาการทำงานขณะเปิดใช้งานเลย จะพิจารณาเฉพาะขณะปิดใช้งาน โดยโหมดพร้อมใช้งานทั้งระบบ จะต้องใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 1 วัตต์ จึงจะได้มาตรฐานเบอร์ 5 เพื่อลดการสูญเสียพลังงานจากโหมดพร้อมใช้งาน

รูปแบบฉลาก แก้

 
รูปแบบฉลากเบอร์ 5 ที่ถูกต้องของหลอดตะเกียบ

ฉลากเบอร์ 5 นี้ มิใช่ว่าคุณสมบัติประสิทธิภาพเข้าเกณฑ์แล้วจะได้รับฉลากในทันที แต่ผู้ผลิตจะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ และปฏิบัติตามขั้นตอนของโครงการ โดยการส่งตัวอย่างให้ กฟผ. ส่งไปวัดผลประสิทธิภาพ และทำตามขั้นตอนอื่นๆ ของโครงการให้ครบถ้วน จึงจะได้รับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

แต่ในปัจจุบัน มีการปลอมแปลงฉลากเบอร์ 5 ไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ ดังนั้น ในปัจจุบัน กฟผ. จึงได้ปรับปรุงรูปแบบฉลากให้แตกต่างจากฉลากในช่วงหลายปีก่อน โดยมีส่วนประกอบดังนี้

  • พื้นหลังโดยรวมเป็นสีเหลือง มีตราสัญลักษณ์กระทรวงพลังงานอยู่ตรงกลาง
  • ตัวเลขระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้ เลขสีขาว ในวงกลมสีแดง และตัวเลขเรียง 1-5 ในครึ่งวงกลม แบ่งครึ่งวงกลมเป็น 5 ส่วน แสดงตัวเลขเป็นสีเขียว และคำอธิบายเป็นสีขาวบนพื้นสีเขียว ยกเว้นช่องที่เป็นตัวเลขระดับที่ได้ จะแสดงเป็นสีแดง และคำอธิบายจะเป็นสีขาวในพื้นสีแดง
  • มุมบนขวา มีระบุ “เกณฑ์พลังงานปี” และ ด้านล่างมีระบุปีที่กำหนดเกณฑ์พลังงาน ซึ่งเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ผู้บริโภคควรเลือกซื้อสินค้าเบอร์ 5 ที่ระบุเกณฑ์พลังงานปี 2011 สำหรับพัดลม และปี 2008 หรือมากกว่า สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
  • บรรทัดต่อมาระบุว่า “ฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า”
  • บรรทัดต่อมา ระบุชนิดของอุปกรณ์
  • บรรทัดต่อมาเป็นตาราง 2 บรรทัด แสดงค่าประสิทธิภาพของอุปกรณ์
  • ต่อๆ มา แสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์

เบอร์ 5 ไม่มีฉลากแบบย่อ หากฉลากเบอร์ 5 ที่ติดบนผลิตภัณฑ์ไม่เข้ารูปแบบดังกล่าว หรือมีเพียงครึ่งเดียว เป็นฉลากปลอม

มาตรการสุ่มกลับ แก้

เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โครงการฯ จะจัดการสุ่มกลับผลิตภัณฑ์ คือ จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 จากท้องตลาดทั่วไป มาตรวจสอบซ้ำตามกำหนด ซึ่งหากผลการตรวจสอบที่ได้ ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ผลิต จะได้รับฉลากใหม่ ที่จะระบุ “เกณฑ์พลังงานปี” ที่เป็นปีที่ทดสอบ (เป็นปัจจุบันมากขึ้น) มาตรการสุ่มกลับครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 ดังนั้น เพื่อสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ควรเลือกซื้อสินค้าที่มีระบุเกณฑ์พลังงานในฉลากไม่ต่ำกว่าปี 2008

แต่หากผลที่ได้จากการสุ่มกลับ เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย และยังอยู่ในเกณฑ์เบอร์ 5 ผู้ผลิตจะได้รับฉลากใหม่ที่เป็นปัจจุบัน แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเลขค่าประสิทธิภาพที่แสดงบนฉลากและในแคตตาล็อกสินค้าให้ถูกต้อง และส่งให้ กฟผ. ตรวจสอบด้วย

แต่ถ้าค่าประสิทธิภาพจากการสุ่มกลับน้อยลงจากผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่ส่งให้โครงการฯ ตรวจสอบแต่แรกอย่างยิ่งยวด โครงการฯ จะยึดคืนฉลากของผลิตภัณฑ์ในรุ่นที่ไม่ผ่านคืนทั้งหมด และสั่งห้ามติดฉลากเบอร์ 5 ในผลิตภัณฑ์รุ่นนั้นๆ 1 ปี และจะลงประกาศในเว็บไซต์ กฟผ. ให้ประชาชนรับทราบ

หากการกระทำผิดดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โครงการฯ จะยึดฉลากของผลิตภัณฑ์ทุกรุ่นของผู้ผลิตรายนั้น และเพิกถอนสิทธิเข้าร่วมโครงการ 3 ปี

อ้างอิง แก้