แมยิสเตร็ด

ตำแหน่งข้าราชการของตะวันตก มักทำหน้าเป็นตุลาการ

แมยิสเตร็ด[1] หรือทับศัพท์อย่างปัจจุบันได้ว่า แมจิสเตรต (อังกฤษ: magistrate) เป็นชื่อตำแหน่งข้าราชการประเภทหนึ่ง คล้ายคลึงตำแหน่งยกกระบัตรในสมัยโบราณ

ในสมัยโบราณ เช่น ในครั้งโรมันโบราณและจักรวรรดิจีน เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทั้งในทางบริหารและตุลาการ

ในปัจจุบัน หมายถึง ตุลาการ โดยเฉพาะตุลาการศาลแขวง (Justice of the Peace) ตามระบบกฎหมายฝ่ายซีวิลลอว์ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งมีอำนาจหน้าที่จำกัด ตามระบบกฎหมายฝ่ายคอมมอนลอว์ และในความหมายทั่วไป เป็นไวพจน์ของคำว่า "ตุลาการ" ในภาษาอังกฤษ

คำ "แมยิสเตร็ด" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำ "magistrat" ในภาษาอังกฤษสมัยกลางราว ค.ศ. 1374 หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย คำ "magistrat" นั้นรับมาจากคำภาษาฝรั่งเศสเก่าว่า "magistrat" และ คำภาษาละตินว่า "magistratus" ซึ่งมาจากคำ "magister" (แปลว่า ใต้เท้า หรือผู้เป็นใหญ่) อันมีรากศัพท์ว่า "magnus" (ยิ่งใหญ่) ตามลำดับ

อ้างอิง แก้

  1. ใช้อยู่ในกฎหมายไทย เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรค 3 (ยังใช้อยู่ในเวลานี้) ว่า

    "ถ้าใบมอบอำนาจนั้นได้ทำในราชอาณาจักรสยาม ต้องให้นายอำเภอเป็นพยาน ถ้าได้ทำในเมืองต่างประเทศที่มีกงสุลสยาม ต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน ถ้าได้ทำในเมืองต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลสยาม ต้องให้บุคคลเหล่านี้เป็นพยาน คือ เจ้าพนักงานโนตารีปับลิก หรือแมยิสเตร็ด หรือบุคคลอื่นซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเช่นว่านี้ และต้องมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้"