แผ่นดินไหวในประเทศพม่า พ.ศ. 2554

(เปลี่ยนทางจาก แผ่นดินไหวในพม่า พ.ศ. 2554)

แผ่นดินไหวในประเทศพม่า พ.ศ. 2554 (พม่า: ၂၀၁၁ မြန်မာငလျင်) เป็นแผ่นดินไหวความรุนแรง 6.8 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ทางตะวันออกของรัฐฉาน โดยมีจุดเกิดแผ่นดินไหวลึกลงไป 10 กิโลเมตร[2] มีแผ่นดินไหวตามเกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งความรุนแรง 4.8 แมกนิจูด อีกครั้งหนึ่งมีความรุนแรง 5.4 แมกนิจูด[3] และแผ่นดินไหวตามที่เกิดขึ้นอีก มีความรุนแรง 5 แมกนิจูด ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงรายไปทางทิศเหนือ 70 กิโลเมตร และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเชียงตุง[4]ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 มีแผ่นดินไหวตามเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งความรุนแรง 4.6 แมกนิจูด โดยในหลายจังหวัดทางภาคเหนือในประเทศไทยได้เกิดแผ่นดินไหวด้วย[5]

แผ่นดินไหวในประเทศพม่า พ.ศ. 2554
แผ่นดินไหวในประเทศพม่า พ.ศ. 2554ตั้งอยู่ในประเทศพม่า
Kengtung
Kengtung
Chiang Rai
Chiang Rai
Naypyidaw
Naypyidaw
Yangon
Yangon
Bangkok
Bangkok
แผ่นดินไหวในประเทศพม่า พ.ศ. 2554
เวลาสากลเชิงพิกัด2011-03-24 13:55:13
รหัสเหตุการณ์ ISC16357310
USGS-ANSSComCat
วันที่ท้องถิ่น24 มีนาคม ค.ศ. 2011 (2011-03-24)
เวลาท้องถิ่น20:25:13 (UTC+06:30)
ระยะเวลา1 นาที
ขนาด6.9 Mw
ความลึก10 km (6.21 mi)
ศูนย์กลาง20°42′18″N 99°56′56″E / 20.705°N 99.949°E / 20.705; 99.949พิกัดภูมิศาสตร์: 20°42′18″N 99°56′56″E / 20.705°N 99.949°E / 20.705; 99.949
ระดับความรุนแรงที่รู้สึกได้IX (ร้ายแรง)
ผู้ประสบภัยเสียชีวิต 151 ราย, บาดเจ็บ 212 ราย[1]

ข้อมูลทางธรณีวิทยา แก้

 
แผนที่ของ USGS แสดงความรุนแรงของแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวระดับตื้นนี้เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ซึ่งเป็นเขตมุดตัวของเปลือกโลกระหว่างแผ่นอินโด-ออสเตรเลียนและแผ่นยูเรเซียน โดยมีสาเหตุมาจากรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกตั้งแต่ที่ราบสูงยูนนาน-กุ้ยโจวลงมาถึงทางภาคเหนือของประเทศไทย และจากการที่ประเทศพม่าเป็นเขตเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวอยู่แล้วด้วย[6] แผ่นดินไหวครั้งสำคัญอื่น ๆ ในบริเวณนี้คือแผ่นดินไหวในมณฑลยูนนาน พ.ศ. 2554 และ แผ่นดินไหวในประเทศลาว พ.ศ. 2550

แผ่นดินไหว แก้

 
ความเสียหายของบ้านเรือนในเมืองตาเล แขวงท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
 
ถนนและสะพานเสียหายในเมืองตาเล แขวงท่าขี้เหล็ก

เวลา 20.55 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศพม่า โดยมีจุดศูนย์กลางบริเวณเชิงเขาในประเทศพม่าใกล้กับชายแดนไทยและลาว ในรัฐฉานทางภาคตะวันออกของพม่า ลึกลงไปใต้ดิน 10 กิโลเมตร วัดแรงสั่นสะเทือนได้ที่แมกนิจูด 6.7 โดยแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ในหลายเมืองของพม่า ตั้งแต่ตองยี พะโค ชเวยิน ตองอู มัณฑะเลย์ และเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า โดยเฉพาะที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก สามารถรับรู้ได้มากที่สุด[7] และแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ในหลายประเทศ เช่น ทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย กรุงเวียงจันทน์ของประเทศลาว กรุงฮานอยของประเทศเวียดนาม และแคว้นสิบสองปันนาของประเทศจีน[8]

สำหรับประเทศไทย ในเวลา 20.55 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย โดยภายในตัวเมืองรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนได้ครั้งแรกในเวลา 20.55 น. และครั้งที่ 2 ในเวลา 21.30 น. โดยแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นครั้งละประมาณ 5 วินาที โดยในครั้งแรกที่ประชาชนเริ่มรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ได้เริ่มหนีออกมาอยู่นอกตัวอาคารบ้านเรือนกันจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ภายในตึกสูง เช่น อพาร์ทเม้นท์ และหอพัก สำหรับในครั้งแรก ซึ่งการสั่นสะเทือนยาวนานถึงประมาณ 7 วินาที ส่งผลให้ไฟฟ้าในหลายจุดดับลง และเป็นปกติได้ในเวลาไม่นานนัก สำหรับการติดต่อสื่อสาร นอกจากระบบ AIS ที่ยังพอสามารถใช้การได้ในบางช่วง ส่วนที่เหลือทุกระบบไม่สามารถใช้การได้เป็นส่วนใหญ่

ในขณะเดียวกัน แรงสั่นสะเทือนได้ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ น่าน ลำปาง พิษณุโลก ลำพูน แพร่ พะเยา และในภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยพื้นที่ในกรุงเทพฯ รับรู้แรงสั่นสะเทือนในอาคารสูงบริเวณอโศก พระรามเก้า สีลม บางรัก รัชดา ประตูน้ำ และอีกหลายจุด ส่งผลให้พนักงานที่ยังทำงานอยู่วิ่งหนีออกมานอกอาคาร เช่น ผู้ที่ทำงานในตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เพลส (ตึกแกรมมี่) ชั้น 37 พบเห็นโคมไฟโยก มู่ลี่โยก เมื่อยืนขึ้นก็อาการมึน ๆ ผู้ที่อยู่ชั้น 10 บนตึกมาลีนนท์ (ที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3) ไฟห้อยบนตึกโยกอย่างแรง เห็นได้ชัดถึงการสั่นไหว และรู้สึกปวดหัวมาก ขณะที่อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 13 ที่เป็นสำนักงานชั่วคราวของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย พบโคมไฟโยกอย่างเห็นได้ชัด ที่จังหวัดนนทบุรี ผู้ที่อยู่ที่ตึกของโรงพยาบาลนนทเวช ชั้น 16 รับรู้ถึงแรงสั่น ที่เช่นเดียวกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ชั้น 11 และผู้ที่อยู่คอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องอพยพลงมาชั้นล่างเพื่อความปลอดภัย[9]

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการประกาศเตือนภัยสึนามิ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในภาคพื้นดินที่อยู่ห่างไกลเกินกว่าจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์ในมหาสมุทรอินเดีย

แผ่นดินไหวตาม แก้

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานตำแหน่งและความรุนแรงของแผ่นดินไหวตามสามครั้งใหญ่ดังนี้ [10]

วันที่ เวลา (UTC+7) จุดศูนย์กลาง พิกัด แมกนิจูด ความลึก (กม.) หมายเหตุ
24 มี.ค. 2554 20:55 พม่า ใกล้เมืองพยาค รัฐฉาน 20°52′12″N 99°54′36″E / 20.87000°N 99.91000°E / 20.87000; 99.91000 6.7 10 รู้สึกสั่นไหวได้หลายพื้นที่ของภาคเหนือและกรุงเทพมหานคร
24 มี.ค. 2554 21:23 พม่า ห่างจากเมืองท่าขี้เหล็กไปทางทิศเหนือราว 15 กิโลเมตร 20°35′24″N 99°51′36″E / 20.59000°N 99.86000°E / 20.59000; 99.86000 4.9 10
24 มี.ค. 2554 22:54 พม่า ห่างจากเมืองท่าขี้เหล็กไปทางทิศเหนือราว 29 กิโลเมตร 20°42′36″N 99°50′24″E / 20.71000°N 99.84000°E / 20.71000; 99.84000 5.3 40

นอกจากนี้ยังมีแผ่นดินไหวตามที่มีความรุนแรงน้อยกว่าอีกหลายครั้ง

ผลกระทบในประเทศพม่า แก้

ผลกระทบในประเทศไทย แก้

ความเสียหายในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายด้านอาคารสถานที่ ทั้งโบราณสถาน สถานที่ราชการ เส้นทางคมนาคมและบ้านเรือนของประชาชน ในพื้นที่ที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

โบราณสถาน ศาสนสถาน แก้

โบราณสถานเชียงแสน ในจังหวัดเชียงรายเป็นจุดที่พบความเสียหายมากที่สุด คือ พระธาตุเจดีย์หลวง ที่ยอดพระธาตุตั้งแต่ระฆังคว่ำด้านบนสุดความยาวประมาณ 3 เมตรหักโค่นลงมา กระทบกับเจดีย์เล็ก ที่ตั้งอยู่ใกล้ฐานของพระธาตุเจดีย์หลวง จนทำให้แตกหักทั้งยอดเจดีย์และพระธาตุองค์เล็ก พบรอยแตกร้าวที่องค์พระธาตุ นอกจากนี้ ยังมีการพังทลายของอิฐและคอนกรีตฉาบด้านนอกเป็นโพลงขนาดใหญ่[11] และที่พระธาตุจอมกิตติที่ยอดฉัตรของพระธาตุหักเอียงลงมา มีรอยร้าวรอบองค์พระธาตุ และแผ่นทองหุ้มพระธาตุบิดตัวและร่วงหล่น รวมถึงกระเบื้องหลังคาวัด ยอดกาแลที่ตกลงมาแตกเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำรั้วกั้นห้ามเข้า เพื่อความปลอดภัยของประชาชน[12]

พระพุทธนวล้านตื้อ หรือ พระเชียงแสนสี่แผ่นดิน พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำโขง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ พบองค์พระมีรอยร้าวบริเวณพระเศียรด้านหลัง เส้นพระศก (เส้นพระเกศารูปก้นหอย) ร่วงหายไป 1 เส้น[13]

วัดพระธาตุดอยเวา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย วัดสูงห่างจากพรมแดนไทย-พม่า 500 เมตร หอระฆัง 8 เหลี่ยม 6 ชั้น แสดงพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขนาดความสูงเหนือน้ำทะเล 1,200 เมตร สั่นสะเทือนจนเกิดรอยร้าว และรอยแตกของผิวซีเมนต์กระเทาะเป็นชั้นๆ[14]

วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน จิตรกรรมฝาผนังรูปภาพยักษ์มาทำร้ายแม่ของคันธนกุมาร บริเวณประตูขึ้นทางทิศเหนือของวิหารของวัด ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ผนังตัวพระวิหารโดยรอบมีรอยแตกร้าวหลายจุด ทั้งภายนอกและภายในตัวพระวิหาร พบเศษกระจกที่ใช้ประดับเชิงชายหลุดร่วง มีรอยผงปูนที่ฉาบตัวอาคารด้านนอกร่วงหล่น[15]

สถานที่ราชการ แก้

โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อำเภอเมืองเชียงราย พบรอยแตกร้าวระหว่างจุดเชื่อมต่อของอาคารสมเด็จย่าและอาคารเฉลิมพระเกียรติ จนต้องมีการอพยพผู้ป่วยออกมาจากอาคาร จากการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและโยธาธิการและผังเมืองของจังหวัด พบว่าเป็นเพียงการหลุดร่อนของปูนที่ฉาบไว้โดยไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง ซึ่งจะได้ให้เจ้าหน้าที่กองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข มาทำการประเมินความเสียหายและดำเนินการซ่อมแซม และเตรียมนำผู้ป่วยขึ้นไปนอนพักบนอาคารดังกล่าวต่อไป[16]

ต่อมา ในวันที่ 26 มีนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้า กรณีเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยว่า ยอดผู้บาดเจ็บทั้งหมด 18 ราย เสียชีวิต 1 ราย และจากการติดตามผลความเสียหายของกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสียหายเล็กน้อย ผนังกะเทาะ ไม่กระทบกระเทือนถึงโครงสร้างหลักทั้งหมด 14 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 8 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 5 แห่ง นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้ออกมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากแผ่นดินไหว ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ กาญจนบุรี และตาก ให้เตรียมความพร้อมด้วยมาตรการ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ โดยให้ซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ ถึงแนวทางปฏิบัติพร้อมกับสำรวจผู้ป่วยที่จะต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายกรณีฉุกเฉิน และเตรียมความพร้อมด้านเส้นทาง 2.ด้านระบบบริการ ให้เตรียมความพร้อมของทีม บุคลากร อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในการให้บริการผู้บาดเจ็บ 3.ด้านอาคารและสถานที่ ให้ตรวจสอบจุดที่เสี่ยงต่อการพังทลาย ดำเนินการป้องกัน และเตรียมทางออกฉุกเฉินอย่าให้มีสิ่งกีดขวาง 4.ด้านสาธารณูปโภค เตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบสื่อสาร และเครื่องมือดับเพลิง และ5.ด้านวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยป้องกันวัสดุ สิ่งของ อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ให้ล้มทับ ตกหล่น ตลอดจนสำรวจป้องกันอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีราคาสูง[17]

เส้นทางคมนาคม แก้

เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้เกิดรอยแผ่นดินแยกบริเวณถนนเลียบชายแดนไทย-พม่า ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย พบเป็นรอยร้าวกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกเกือบ 1 เมตร เป็นระยะทางยาวกว่า 10 กิโลเมตร บางจุดถนนทรุดตัวต่ำกว่าผิวถนนเดิมประมาณ 20 เซนติเมตร

อัคคีภัย แก้

เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในห้างสรรพสินค้าเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยไฟไหม้อุปกรณ์ก่อสร้างบริเวณชั้นใต้ดินซึ่งกำลังมีการก่อสร้างเป็นลานจอดรถ ใช้เวลาในการดับเพลิงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เพลิงจึงสงบ โดยไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ปรากฏเพียงรอยไหม้บนพื้นเพียง 15 ตารางเมตร ไม่ได้ลุกลามมาทางห้าง ส่วนใหญ่มีเพียงควันลอยเข้าไป ทั้งนี้ มีบริษัท ซินเทค เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างบริเวณที่เกิดไฟไหม้

จากการสอบสวนเบื้องต้นคาดว่า ไฟไหม้วัสดุก่อสร้างซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่เก็บวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุเพลิงไหม้ที่แท้จริงต่อไป [18]

ผู้เสียชีวิต แก้

ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่ นางหงส์ คำปิง เสียชีวิตเนื่องจากกำแพงบ้านพังล้มทับ[19] และสามเณรชาวพม่าที่ถูกกำแพงบ้านพังล้มทับที่แขวงท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า และเสียชีวิตระหว่างทางที่เดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลอำเภอแม่สาย[20]

อ้างอิง แก้

  1. "CATDAT Damaging Earthquakes Database 2011 – Annual Review". Earthquake Report. 9 January 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-18. สืบค้นเมื่อ 14 January 2012.
  2. Magnitude 6.8 – MYANMAR
  3. Earthquakes, USGS. "Magnitude 5.4 – MYANMAR". United States Geological Survey. Earthquake Hazards Program. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-31. สืบค้นเมื่อ March 24, 2011.
  4. "North-east Burma hit by two 7.0 magnitude earthquakes". BBC. March 24, 2011. สืบค้นเมื่อ March 24, 2011.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-06. สืบค้นเมื่อ 2011-05-28.
  6. Hazard Risk Profile, ASEAN. "Earthquake". Post Nargis Knowledge Management Portal. Disaster Risk Management. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-04. สืบค้นเมื่อ 24 มี.ค. 2554. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help) (อังกฤษ)
  7. "แผ่นดินไหว!พม่าตายอย่างน้อย25ราย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2011-03-25.
  8. แผ่นดินไหวพม่าทำถนนแม่สายร้าว[ลิงก์เสีย]
  9. "ระทึก!พม่าแผ่นดินไหว7ริกเตอร์สะเทือนถึงเชียงราย-กรุงเทพฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2011-03-25.
  10. แผ่นดินไหวที่ MYANMAR[ลิงก์เสีย]
  11. เจดีย์เก่าแก่กว่า 600 ปี ยอดหักจากแผ่นดินไหว[ลิงก์เสีย]
  12. แผ่นดินไหวพม่า! โบราณสถาน 4 แห่งในเชียงรายเสียหายหนัก[ลิงก์เสีย]
  13. โบราณสถานเชียงแสนเสียหายหนัก เหตุแผ่นดินไหวพม่า
  14. ภาพความเสียหาย “วัดเชียงแสน” เชียงราย “โบราณสถานพันปี” จากแผ่นดินไหวในพม่า
  15. "พบ"พระธาตุแช่แห้ง"ร้าวเพิ่ม-เหตุดินไหวในพม่า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-01. สืบค้นเมื่อ 2011-03-29.
  16. "เหยื่อแผ่นดินไหวพม่าข้ามฝั่งเข้า รพ.แม่สาย คาดบ้านถล่ม-คนตายร่วมครึ่งร้อย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-27. สืบค้นเมื่อ 2011-03-25.
  17. สธ.ชี้แผ่นดินไหวพม่า คนไทยตาย1เจ็บ18 รพ.เสียหาย14แห่ง[ลิงก์เสีย]
  18. "ไฟไหม้ห้างแพลตตินั่ม สงบแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-28. สืบค้นเมื่อ 2011-03-25.
  19. 2011 Thailand earthquake[ลิงก์เสีย]
  20. "เชียงใหม่ 108". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2021-10-10.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้