แผนลับ 20 กรกฎาคม

แผนลับ 20 กรกฎาคม (อังกฤษ: 20 July plot) เป็นความพยายามลอบสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ฟือเรอร์แห่งไรช์ที่สาม ภายในกองบัญชาการสนาม "รังหมาป่า" ใกล้เมืองรัสเทินบวร์ค มณฑลปรัสเซียตะวันออก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 โดยมีวัตถุประสงค์อย่างชัดแจ้งเพื่อช่วงชิงอำนาจควบคุมประเทศเยอรมนีจากพรรคนาซี (รวมถึงเอ็สเอ็ส) เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ความปรารถนาเบื้องหลังของนายทหารระดับสูงของแวร์มัคท์หลายนาย คือ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าชาวเยอรมันทุกคนไม่ได้เป็นอย่างฮิตเลอร์และพรรคนาซี แม้จะยังไม่ทราบรายละเอียดการริเริ่มสันติภาพของผู้ก่อการ[1][2][3] แต่พวกเขาน่าจะรวมข้อเรียกร้องให้ยอมรับการผนวกดินแดนโดยเยอรมนีในทวีปยุโรป[4][5]

แผนลับ 20 กรกฎาคม

ภาพห้องประชุมใน "รังหมาป่า" ไม่นานหลังจากเกิดการระเบิดที่มีเป้าหมายเพื่อลอบสังหารฮิตเลอร์
วันที่20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944
สถานที่
ผล รัฐบาลฮิตเลอร์ ได้รับชัยชนะและฝ่ายผู้ก่อรัฐประหารกระทำการยึดอำนาจไม่สำเร็จ
คู่สงคราม
ฝ่ายต่อต้านฮิตเลอร์ นาซีเยอรมนี รัฐบาลฮิตเลอร์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ความสูญเสีย
  • ประหารชีวิต 4,980 คน
  • ถูกจับกุม 7,000 คน
เสียชีวิต 4 นาย

แผนลับดังกล่าวเป็นความพยายามสูงสุดของขบวนการกู้ชาติเยอรมันหลายกลุ่มในการโค่นรัฐบาลเยอรมันอันมีพรรคนาซีเป็นผู้นำ ความล้มเหลวทั้งในการลอบสังหารฮิตเลอร์และรัฐประหารซึ่งวางแผนให้เกิดขึ้นหลังการลอบสังหารนั้นนำไปสู่การจับกุมประชาชนอย่างน้อย 7,000 คนโดยตำรวจลับ[6] ตามรายงานการประชุมกิจการนาวีของฟือเรอร์ มีผู้ถูกประหารชีวิต 4,980 คน[6]

เบื้องหลัง แก้

นับแต่ ค.ศ. 1938 เป็นต้นมา มีกลุ่มคบคิดหลายกลุ่มวางแผนโค่นรัฐบาลนาซีแล้วในกองทัพบกเยอรมัน และองค์การข่าวกรองทหารเยอรมนี (อับแวร์) ผู้นำแผนคบคิดในช่วงแรกรวมไปถึงพลตรี ฮันส์ โอสเทอร์, พลเอกอาวุโสลูทวิช เบ็ค และจอมพลแอร์วีน ฟ็อน วิทซ์เลเบิน โอสเทอร์เป็นรองหัวหน้าสำนักงานข่าวกรองทหาร เบ็คเป็นอดีตเสนาธิการกองบัญชาการใหญ่กองทัพบกเยอรมัน (Oberkommando des Heeres) ฟ็อน วิทซ์เลเบิน เป็นอดีดผู้บัญชาการกองทัพที่ 1 และอดีตผู้บัญชาการใหญ่ตะวันตก จากนั้น พวกเขาได้ติดต่อกับพลเรือนที่โดดเด่นหลายคน รวมถึงคาร์ล ฟรีดริช เกอร์เดอเลอร์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองไลพ์ซิจ และนักกฎหมายเฮ็ลมูล ฟ็อน ม็อลท์เคอ

กลุ่มคบคิดทางทหารหลายกลุ่มแลกเปลี่ยนแนวคิดกับกลุ่มกู้ชาติพลเรือน นักการเมืองและปัญญาชนในไครเซาแอร์ ไครส์ (ซึ่งประชุมกันที่คฤหาสน์ฟ็อนมอลท์เคอในไครเซา) และในวงลับอื่น ๆ มอลท์เคอคัดค้านการสังหารฮิตเลอร์ เขาต้องการให้นำตัวฮิตเลอร์มาพิจารณาคดีในศาล มอลท์เคอกล่าวว่า "เราล้วนเป็นมือสมัครเล่น และจะทำพลาด" มอลท์เคอยังเชื่อว่าการฆ่าฮิตเลอร์เป็นการเสแสร้ง ฮิตเลอร์และลัทธิชาติสังคมนิยมเปลี่ยน "การกระทำผิด" เข้าสู่ระบบ อันเป็นสิ่งที่ขบวนการก้ชาติพึงเลี่ยง[7]

มีการพัฒนาแผนจัดการโค่นอำนาจและป้องกันฮิตเลอร์มิให้เปิดฉากสงครามโลกครั้งใหม่ใน ค.ศ. 1938 และ 1939 แต่ยกเลิกไป เพราะนายพลฟรันทซ์ ฮัลเดอร์ และนายพลเบราคิทช์ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด และชาติตะวันตกไม่สามารถยับยั้งการแผ่อำนาจของฮิตเลอร์กระทั่ง ค.ศ. 1939 กลุ่มต่อต้านทหารกลุ่มแรกชะลอแผนของตนหลังฮิตเลอร์ได้รับความนิยมอย่างยิ่งหลังความสำเร็จอย่างรวดเร็วไม่คาดฝันในยุทธการที่ฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1942 มีการตั้งกลุ่มสมคบใหม่ขึ้น นำโดยพันเอกเฮ็นนิง ฟ็อน เทร็สโค ฝ่ายเสนาธิการของจอมพลเฟดอร์ ฟ็อน บ็อค แม่ทัพกลุ่มกลางในปฏิบัติการบาร์บารอสซา เทร็สโคสรรหาผู้ต่อต้านเข้าสู่เสนาธิการของกลุ่มอย่างเป็นระบบ ทำให้เป็นศูนย์กลางของกลุ่มต่อต้านในกองทัพบก แต่กลุ่มไม่สามารถทำอะไรฮิตเลอร์ได้มากนักเพราะมีการคุ้มกันอย่างแน่นหนา และไม่มีผู้ก่อการคนใดเข้าใกล้ตัวฮิตเลอร์ได้มากพอ[8]

กระนั้น ระหว่าง ค.ศ. 1942 พลตรีโอสเทอร์และพันเอกเทร็สโคสามารถสร้างเครือข่ายต่อต้านอันมีประสิทธิภาพได้อีกครั้ง สมาชิกสำคัญที่สุดของพวกเขา คือ พลเอกฟรีดริช อ็อลบริชท์ ซึ่งอยู่ประจำกองบัญชาการใหญ่กองทัพบกเยอรมัน ใจกลางกรุงเบอร์ลิน ซึ่งควบคุมระบบการสื่อสารอิสระต่อหน่วยกองหนุนทั่วประเทศเยอรมนี ความเชื่อมโยงนี้กับกลุ่มต่อต้านของเทร็สโคในกองทัพกลุ่มกลางสร้างกลไกรัฐประหารที่ใช้การได้ขึ้น[9]

ปลายปี ค.ศ. 1942 พันเอกเทร็สโคและพลเอกอ็อลบริชท์คิดแผนการลอบสังหารฮิตเลอร์ และจัดการโค่นอำนาจระหว่างที่ฮิตเลอร์เยือนกองบัญชาการสนามของกองทัพกลุ่มกลางที่สโมเลนสก์ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1943 โดยวางระเบิดบนเครื่องบินของเขาแต่ระเบิดไม่ทำงาน ความพยายามหนที่สองในสัปดาห์ต่อมา ระหว่างที่ฮิตเลอร์กำลังตรวจอาวุธของโซเวียตที่ถูกยึดในกรุงเบอร์ลินก็ไม่ประสบผลเช่นกัน ความผิดพลาดเหล่าทำให้กลุ่มผู้คบคิดเสียกำลังใจ ระหว่าง ค.ศ. 1943 เทร็สโคพยายามอย่างไร้ผลในการสรรหานายทหารบกระดับสูงที่คุมกำลังภาคสนาม เช่น จอมพลเอริช ฟ็อน มันชไตน์ และจอมพลแกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท เพื่อช่วยยึดอำนาจ เทร็สโคเจาะจงทุ่มเทกับแม่ทัพกลุ่มกลาง จอมพลกึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ เพื่อเกลียกล่อมให้เคลื่อนไหวต่อต้านฮิตเลอร์ ซึ่งบางครั้งก็ได้รับความยินยอมจากเขาสำเร็จ ทว่าเขากลับไม่เด็ดขาดในนาทีสุดท้าย[10] แม้จอมพลทั้งหลายจะปฏิเสธ ทว่าไม่มีคนใดรายงานกิจกรรมทรยศต่อตำรวจลับหรือฮิตเลอร์เลย

วางแผนรัฐประหาร แก้

บุคคลสำคัญ แก้

ชเตาเฟินแบร์คเข้ากับผู้ก่อการ แก้

เมื่อถึงกลาง ค.ศ. 1943 เยอรมนีเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสงครามอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ผู้คบคิดในกองทัพบกและพันธมิตรพลเรือนเชื่อว่าฮิตเลอร์ควรถูกลอบสังหาร เพื่อให้สามารถตั้งรัฐบาลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกยอมรับได้ และมีการเจรจาสันติภาพต่างหากเพื่อป้องกันมิให้โซเวียตบุกครองเยอรมนี ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1943 เทร็สโคพบนายทหารหนุ่มนามว่าพันเอกเคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์คเป็นครั้งแรก พันเอกชเตาเฟินแบร์คเป็นพวกอนุรักษนิยมทางการเมือง พวกชาตินิยมเยอรมันหัวรุนแรงและคริสเตียนโรมันคาทอลิก ผู้เคยได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในแอฟริกาเหนือ ตั้งแต่ต้น ค.ศ. 1942 เขาได้แลกเปลี่ยนความเชื่อมั่นกับนายทหารอีกหลายคนสองเรื่องพื้นฐาน หนึ่งคือเยอรมนีกำลังถูกนำไปสู่หายนะ สองคือการโค่นอำนาจฮิตเลอร์เป็นสิ่งจำเป็น หลังยุทธการที่สตาลินกราดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1942 เขาสรุปว่าการลอบสังหารฮิตเลอร์ชั่วร้ายน้อยกว่าการปล่อยให้ฮิตเลอร์ครองอำนาจ แม้ขัดต่อศีลธรรมศาสนาของเขา ชเตาเฟินแบร์คนำบรรยากาศความเด็ดขาดใหม่มาสู่บรรดาขบวนการต่อต้าน เมื่อเทร็สโคได้รับคำสั่งไปยังแนวรบด้านตะวันออก ชเตาเฟินแบร์คจึงรับผิดชอบการวางแผนและปฏิบัติความพยายามลอบสังหาร

แผนใหม่ แก้

ขณะนี้ อ็อลบริชท์เสนอยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อก่อรัฐประหารต่อฮิตเลอร์ กองกำลังสำรองมีแผนปฏิบัติการชื่อว่า ปฏิบัติการวัลคือเรอ ซึ่งตั้งใจใช้ในเหตุการณ์ที่การทิ้งระเบิดนครเยอรมันของฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้เกิดการขัดขวางจนไม่สามารถรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย หรือแรงงานในบังคับหลายล้านคนจากประเทศที่ถูกยึดครองซึ่งปัจจุบันถูกใช้ในโรงงานของเยอรมนีก่อการกำเริบ อ็อลบริชท์เสนอว่า สามารถใช้แผนนี้ระดมกำลังสำรองเพื่อจุดประสงค์รัฐประหารได้ ในเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. 1943 เทร็สโคร่างแผนวัลคือเรอ "ทบทวน" และคำสั่งเพิ่มเติมใหม่ คำประกาศลับเริ่มต้นด้วยคำเหล่านี้: "ท่านผู้นำฮิตเลอร์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว! พวกคนไร้คุณธรรมในกลุ่มผู้นำพรรค กำลังพยายามใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ทำการแทงข้างหลังกองทัพ และยึดอำนาจไว้เพื่อตนเอง" มีการเขียนคำสั่งละเอียดสำหรับการยึดกระทรวงการสงครามในกรุงเบอร์ลิน สำนักงานใหญ่เอ็สเอ็สของฮิมเลอร์ในปรัสเซียตะวันออก สถานีวิทยุและสำนักงานโทรศัพท์ และกลไกนาซีอื่นทั่วทั้งมณฑลทหารและค่ายกักกัน[11] เดิมเชื่อกันว่าชเตาเฟินแบร์คเป็นผู้รับผิดชอบหลักของแผนวัลคือเรอ แต่เอกสารที่ได้จากสหภาพโซเวียตหลังสงครามและเผยแพร่ใน ค.ศ. 2007 เสนอว่า เทร็สโคพัฒนาแผนดังกล่าวในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1943[12] เอรีคา ภรรยาของเทร็สโค และมาร์การีเทอ ฟ็อน โอเฟน เลขานุการของเขา เป็นผู้จัดการสารสนเทศลายลักษณ์ทั้งหมด หญิงทั้งสองสวมถุงมือเพื่อไม่ให้ทิ้งรอยนิ้วมือ[13] บุคคลเดียวที่สั้งใช้แผนวัลคือเรอได้คือพลเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม ผู้บัญชาการกำลังสำรอง ฉะนั้นเขาต้องถูกดึงมาเป็นพวกหรือให้เป็นกลางเพื่อให้แผนสำเร็จ พลเอกอาวุโสฟร็อมก็เหมือนกับนายทหารอาวุโสคนอื่นอีกหลายคน ฟร็อมทราบโดยรวมว่ามีการสมคบทางทหารต่อฮิตเลอร์ แต่มิได้ทั้งสนับสนุนและรายงานต่อตำรวจลับ

ความพยายามล้มเหลวที่ผ่านมา แก้

ระหว่าง ค.ศ. 1943 ถึงต้น ค.ศ. 1944 พันเอกเทร็สโคและพันเอกชเตาเฟินแบร์คพยายามอย่างน้อยสี่ครั้งเพื่อให้ผู้ก่อการทหารคนหนึ่งเข้าใกล้ฮิตเลอร์มากพอและนานพอที่จะสังหารเขาด้วยระเบิดมือ ระเบิดหรือปืนพกลูกโม่ ทว่า ภารกิจนี้ยากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อสถานการณ์สงครามเลวร้ายลง ฮิตเลอร์ไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะและแทบไม่ค่อยเยือนกรุงเบอร์ลินอีก เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ที่กองบัญชาการสนามที่รังหมาป่า ใกล้รัสเทินบวร์คในปรัสเซียตะวันออก โดยพักผ่อนเป็นบางครั้งที่โอเบอร์ซาลซ์บวร์ค สถานปลีกวิเวกแถบเทือกเขาแอลป์ในบาวาเรียใกล้เมืองแบร์ชเทิสกาเดิน ทั้งสองที่ ฮิตเลอร์ถูกคุ้มกันแน่นหนาและแทบไม่พบผู้ที่เขาไม่รู้จักหรือเชื่อใจ ฮิมเลอร์และตำรวจลับทวีความสงสัยแผนลับต่อฮิตเลอร์ และเจาะจงสงสัยนายทหารเสนาธิการ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการคบคิดที่กำลังดำเนินเอาชีวิตของฮิตเลอร์อยู่ไม่น้อยจริง ๆ

โอกาสสุดท้าย "ไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม" แก้

เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน ค.ศ. 1944 ตำรวจลับสืบใกล้ถึงกลุ่มคบคิด ในเวลานั้น มีความรู้สึกว่าเวลากำลังหมดลง ทั้งในสมรภูมิ ซึ่งทหารในแนวรบด้านตะวันออกกำลังถอยร่นเต็มรูปแบบ และฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกในประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พื้นที่ดำเนินกลยุทธของผู้ก่อการในประเทศเยอรมนีหดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ก่อการเชื่อว่าการลงมือปฏิบัติหนนี้เป็นโอกาสสุดท้าย ถึงขณะนี้ แกนนำผู้คบคิดเริ่มคิดว่าพวกตนชะตาขาด และการกระทำนั้นเป็นในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าเกิดผลจริง บางคนเริ่มมองความมุ่งหมายของการคบคิดว่าเป็นการรักษาเกียรติยศของตนเอง ครอบครัว กองทัพและประเทศเยอรมนีผ่านท่าทีอันสง่างาม แต่ไร้ผล มากกว่าเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์จริง ๆ

ความเชื่อที่ว่า ผู้ก่อการประสบความสำเร็จสำคัญในต้นเดือนกรกฎาคมเมื่อสามารถชักชวนจอมพลแอร์วีน ร็อมเมิล "จิ้งจอกทะเลทราย" ผู้มีชื่อเสียงเข้าร่วมคณะได้ เป็นเรื่องเข้าใจผิด ร็อมเมิลเป็นนายทหารที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเยอรมนีและไม่เคยให้การสนับสนุนแผนลับนี้ (วิทซ์เลเบินเกษียณตั้งแต่ ค.ศ. 1942) แม้ร็อมเมิลรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้อง "มาช่วยประเทศเยอรมนี" แต่เขาเชื่อว่าการฆ่าฮิตเลอร์ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และสมควรนำตัวฮิตเลอร์ขึ้นศาลอาชญากรรมมากกว่าการลอบสังหาร [14]

เมื่อชเตาเฟินแบร์คส่งสารถึงเทร็สโคผ่านร้อยโทไฮน์ริช กราฟ ฟ็อน เลนดอร์ฟ-ชไตนอร์ท ถามว่ามีเหตุผลที่จะฆ่าฮิตเลอร์อ่นหรือไม่หากไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง เทร็สโคตอบว่า "ต้องสังหารเขาให้ได้ไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ต่อให้มันล้มเหลว เราก็ต้องลงมือในกรุงเบอร์ลิน เพราะความมุ่งหมายเชิงปฏิบัตินั้นไม่สำคัญอีกแล้ว สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ ขบวนการต่อต้านในเยอรมันต้องตัดสินใจต่อเบื้องหน้าสายตาชาวโลกและประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบกับสิ่งนั้นแล้ว สิ่งอื่นก็ไม่สำคัญ"[15]

ฮิมเลอร์เคยสนทนากับผู้ต่อต้านที่ทราบแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1943 รัฐมนตรีคลังปรัสเซีย โยฮันเนส โพพิทซ์ ซึ่งเกี่ยวข้องในเครือข่ายของเกอร์เดอเลอร์ มาพบเขาและเสนอว่าจะยอมร่วมมือหากให้ตนเองขึ้นเป็นผู้นำแทนที่ฮิตเลอร์และรับประกันว่าสงครามยุติลงด้วยการเจรจา[16] การประชุมนี้ไม่มีผล แต่โพพิทซ์มิได้ถูกจับกุมทันที (แม้ภายหลังเขาถูกประหารชีวิตใกล้สงครามยุติ) ถึงกระนั้น ปรากฏว่าฮิมเลอร์มิได้ดำเนินการตามล่าเครือข่ายต่อต้านแต่อย่างใด ตัวฮิมเลอร์เองก็ทราบดีว่าแผนกบฏนี้จะก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายประจำ เป็นไปได้ว่าฮิมเลอร์อาจทราบว่าสงครามนี้ไม่อาจเอาชนะได้ จึงปล่อยให้แผนลับดำเนินไปโดยทราบว่าหากแผนนั้นสำเร็จ เขาจะเป็นผู้สืบทอดของฮิตเลอร์ จากนั้นจะสามารถนำมาซึ่งข้อตกลงสันติภาพได้

โพพิทซ์ไม่ใช่ผู้เดียวที่มองฮิมเลอร์ว่ามีมีศักยภาพพอที่จะเป็นพันธมิตร จอมพลเฟดอร์ ฟ็อน บ็อค แนะนำเทร็สโคให้หาพยายามหาแรงจูงใจมาโน้มน้ามเขามากกว่านี้ แต่ไม่มีหลักฐานว่าเทร็สโคทำเช่นนั้น เกอร์เดอเลอร์ดูเหมือนว่าติดต่อกับฮิมเลอร์โดยอ้อมผ่านคนที่ทั้งสองรู้จัก คือ คาร์ล ลังเบน และพลเรือเอกวิลเฮ็ล์ม คานาริส หัวหน้าหน่วยข่าวกรองอับแวร์ เสนอว่า คานาริสและฮิมเลอร์กำลังร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงระบอบ แต่การอ้างดังกล่าวเป็นเพียงการคาดคะเน[17]

เทร็สโคและผู้ก่อการวงในไม่ได้คิดว่าจะล้มฮิตเลอร์ฮิตเลอร์เพียงเพื่อให้หัวหน้าเอ็สเอ็สที่น่าสะพรึงและอำมหิตมาแทนฮิตเลอร์ พวกเขาต้องกานฆ่าทั้งสองคนหากเป็นไปได้ ถึงขนาดที่ความพยายามครั้งแรกของชเตาเฟินแบร์คเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมถูกยกเลิกเพราะฮิมเลอร์ไม่อยู่

ลำดับเหตุการณ์ แก้

ก่อนวันที่ 20 กรกฎาคม แก้

 
ที่รัสเทินบวร์ค วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 ชเตาเฟินแบร์คอยู่ซ้าย ฮิตเลอร์อยู่กลาง จอมพลไคเทิลอยู่ขวา ผู้ที่กำลังเขย่ามือฮิตเลอร์ คือ พลเอกคาร์ล โบเดินชัทซ์ ซึ่งภายหลังได้รับบาดเจ็บสาหัสจากระเบิดของชเตาเฟินแบร์ค

วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 ชเตาเฟินแบร์คได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการของพลเอกอาวุโสฟร็อมที่กองบัญชาการกำลังสำรองในกรุงเบอร์ลิน ตำแหน่งนี้เปิดโอกาสให้เขาสามารถเข้าร่วมการประชุมทางทหารของฮิตเลอร์ได้ ไม่ว่าที่รังหมาป่าในปรัสเซียตะวันออกหรือแบร์ชเทิสกาเดิน ฉะนั้นจะให้โอกาสเขา ซึ่งอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่ปรากฏขึ้น ในการฆ่าฮิตเลอร์ด้วยระเบิดหรือปืนพก ขณะเดียวกัน กลุ่มต่อต้านได้พันธมิตรสำคัญคนใหม่ ซึ่งรวมพลเอก คาร์ล-ไฮน์ริช ฟ็อน ชตึลพ์นาเกิล ผู้บัญชาการทหารเยอรมันในฝรั่งเศส ผู้จะควบคุมกรุงปารีสเมื่อฮิตเลอร์ถูกฆ่าแล้ว และหวังว่าจะเจรจาการสงบศึกทันทีกับกองทัพสัมพันธมิตรที่กำลังรุกเข้ามา

แผนลับเตรียมการสมบูรณ์แล้ว วันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 พลเอกชตีฟฟ์ มีแผนฆ่าฮิตเลอร์ที่การจัดแสดงเครื่องแบบใหม่ที่ปราสาทเคลสส์ไฮม์ใกล้ซาลซ์บวร์ค ทว่า ชตีฟฟ์ไม่สามารถฆ่าฮิตเลอร์ ขณะนี้ชเตาเฟินแบร์คตัดสินใจกระทำสองอย่าง คือ ทั้งลอบสังหารฮิตเลอร์ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด และจัดการแผนลับในกรุงเบอร์ลิน วันที่ 11 กรกฎาคม ชเตาเฟินแบร์คเข้าร่วมการประชุมของฮิตเลอร์โดยพกระเบิดไว้ในกระเป๋าเอกสารของเขา ในแผนการครั้งนี้ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ แห่งองค์การเอ็สเอ็ส และจอมพลไรช์แฮร์มัน เกอริง แห่งกองทัพอากาศ จำเป็นต้องถูกฆ่าไปพร้อมกันด้วยเพื่อเปิดทางให้ปฏิบัติการวัลคือเรอมีโอกาสสำเร็จ อย่างไรก็ตาม แผนครั้งนี้เป็นอันล้มไปเพราะฮิมเลอร์ไม่อยู่ อันที่จริง ฮิมเลอร์แทบไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมทหารเลย[8]

ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม ชเตาเฟินแบร์คบินมายังรังหมาป่าอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เงื่อนไขทุกอย่างลงล็อก โดยมีแผนคือ ให้ชเตาเฟินแบร์ควางกระเป๋าเอกสารที่มีระเบิดอยู่ในห้องประชุมของฮิตเลอร์โดยตั้งตัวจับเวลาไว้ ขอตัวปลีกจากการประชุม รอระเบิด แล้วบินกลับมายังกรุงเบอร์ลินและเข้าร่วมผู้ก่อการคนอื่นที่เบ็นท์เลอร์บล็อก จากนั้น จะเริ่มปฏิบัติการวัลคือเรอ กำลังรักษาดินแดนจะยึดการควบคุมเยอรมนีและจับผู้นำนาซีคนอื่น พลเอกอาวุโสเบ็คจะได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐชั่วคราว เกอร์เดอเลอร์จะเป็นนายกรัฐมนตรี และจอมพลวิทซ์เลเบินจะเป็นผู้บัญชาการสูงสุดแห่งแวร์มัคท์ อย่างไรก็ตาม แผนการในครั้งนี้ถูกยกเลิกไปในนาทีสุดท้าย แม้ฮิมเลอร์และเกอริงเข้าประชุมด้วย แต่ฮิตเลอร์ถูกเรียกออกจากห้องในขณะสุดท้าย ชเตาเฟินแบร์คสามารถขัดขวางระเบิดและป้องกันไม่ให้ถูกตรวจพบได้[8]

วันที่ 17 กรกฎาคม รถทหารของจอมพลแอร์วีน ร็อมเมิล ถูกเครื่องบินสปิตไฟร์กราดยิงในประเทศฝรั่งเศส เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยการบาดเจ็บที่ศีรษะ

20 กรกฎาคม แก้

การลอบสังหาร แก้

 
สภาพห้องประชุมที่ถูกวางระเบิด
 
ตำแหน่งโดยประมาณของผู้เข้าร่วมประชุมในขณะที่เกิดระเบิดในห้องประชุมขึ้น

วันที่ 18 กรกฎาคม มีข่าวลือถึงหูพันเอกชเตาเฟินแบร์คว่าตำรวจลับทราบข่าวการคบคิดและเขาอาจถูกจับกุมได้ทุกเมื่อ แม้จะพิสูจน์ได้ชัดว่าข่าวดังกล่าวเป็นเท็จ แต่เขาก็รู้สึกว่าภัยกำลังคืบใกล้เข้ามาและต้องฉวยโอกาสต่อไปฆ่าฮิตเลอร์เพราะอาจไม่มีโอกาสต่อไปอีกแล้ว เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 20 กรกฎาคม ชเตาเฟินแบร์คบินกลับรังหมาป่าเพื่อเข้าร่วมประชุมทางทหารของฮิตเลอร์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีระเบิดอยู่ในกระเป๋าเอกสารเช่นเดิม แต่การประชุมหนนี้จัดขึ้นในกระท่อมแทนบังเกอร์เนื่องจากอากาศที่ร้อน

ราว 12.30 น. การประชุมเริ่มขึ้น ชเตาเฟินแบร์คขอตัวใช้ห้องน้ำในสำนักงานของจอมพลไคเทิล และเขาได้ใช้คีมกระแทกปลายตัวจุดระเบิดดินสอสอดเข้าไปในแท่งระเบิดพลาสติก 1 กิโลกรัมซึ่งห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล ตัวจุดระเบิดประกอบด้วยหลอดทองแดงบาง ๆ ที่มีคอปเปอร์คลอไรด์ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 นาทีกัดกร่อนสายที่รั้งเข็มแทงชนวนไว้จากเพอร์คัสชันแค็ป (percussion cap) จากนั้น เขาบรรจุระเบิดที่เตรียมแล้วลงในกระเป๋าเอกสารอย่างรวดเร็ว เพราะเขาได้รับคำสั่งให้กลับเข้าประชุม ระเบิดบล็อกที่สองถูกคู่ยึดไว้ ไม่ได้ใส่ลงไปในกระเป๋าเอกสาร เขาเข้าห้องประชุมและพันตรี แอนสท์ โยน ฟ็อน ไฟรเอนด์ วางกระเป๋าเอกสารของชเตาเฟินแบร์คใต้โต๊ะซึ่งฮิตเลอร์และนายทหารอีกกว่า 20 นายประชุมอยู่โดยไม่รู้ตัว[18][19] ไม่กี่นาทีต่อมา ชเตาเฟินแบร์คได้รับโทรศัพท์ที่วางแผนล่วงหน้าและออกจากห้อง สันนิษฐานว่าพันเอก ไฮนซ์ บรันดท์ ใช้เท้าเลื่อนกระเป๋าเอกสารไปด้านข้างโดยผลักไปอยู่หลังขาโต๊ะประชุม ฉะนั้น จึงสะท้อนแรงระเบิดจากฮิตเลอร์แต่ทำให้เขาเสียชีวิตและเสียขาไปข้างหนึ่งเมื่อระเบิดจุดระเบิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ระหว่างเวลา 12.40 น. และ 12.50 น. ระเบิดทำงาน[20] และพังห้องประชุมพินาศ นายทหารสามนายและนักชวเลขได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจากนั้นไม่นาน ฮิตเลอร์รอดชีวิต เช่นเดียวกับคนอื่นที่ได้ขาโต๊ะประชุมรับแรงระเบิดไว้ กางเกงขายาวของฮิตเลอร์ถูกเผาและขาดรุ่งริ่ง และเยื่อแก้วหูเขาทะลุ เช่นเดียวกับผู้รอดชีวิตคนอื่นส่วนใหญ่ในห้อง 24 คน[20] หากวางระเบิดไว้ในบล็อกที่สอง เป็นไปได้ว่าทุกคนที่เข้าประชุมจะเสียชีวิตทั้งหมด

หลบหนีและบินไปยังเบอร์ลิน แก้

 
ทหารกำลังถือกางเกงที่ฮิตเลอร์สวมระหว่างความพยายามลอบสังหารที่ไม่เป็นผล[21]

ในขณะที่กำลังเดินไปที่รถยนต์ ชเตาเฟินแบร์คได้ยินเสียงระเบิดและเห็นควันลอยออกจากหน้าต่างที่แตกของโรงทหารคอนกรีตนั้น ก็เชื่อว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว จึงโดดขึ้นรถทหารของเขาพร้อมนายทหารผู้ช่วย ร้อยโทแวร์เนอร์ ฟ็อน เฮ็ฟเทิน และหลอกผ่านด่านตรวจสามแห่งก่อนออกจากรังหมาป่า จากนั้นร้อยโทเฮ็ฟเทินได้โยนแท่งระเบิดลูกที่สองที่ไม่ได้ใช้และยังไม่ได้แทงเข็มแทงชนวนเข้าไปในป่า ขณะเร่งรุดไปยังสนามบินรัสเทินบวร์คทันก่อนที่คนอื่นจะทราบว่าชเตาเฟินแบร์คเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดดังกล่าว เมื่อเวลา 13.00 น. เขานั่งเครื่องไฮง์เคิล เฮ 111 ที่พลเอกเอดูอวร์ท วากเนอร์ จัดเตรียมไว้ให้

เมื่อเครื่องบินของชเตาเฟินแบร์คร่อนลงที่กรุงเบอร์ลินเมื่อเวลาราว 16.00 น.[22][23] พลเอกเอริช เฟ็ลล์กีเบิล หัวหน้านายทหารสื่อสารที่รังหมาป่าซึ่งอยู่ในแผนลับด้วย โทรศัพท์ถึงเบ็นท์เลอร์บล็อกและบอกผู้ก่อการว่าฮิตเลอร์รอดชีวิตจากการระเบิด ผลคือ การระดมปฏิบัติการวัลคือเรอจะไม่มีโอกาสสำเร็จเมื่อนายทหารกำลังรักษาดินแดนทราบว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ มีความสับสนยิ่งขึ้นอีกเมื่อเครื่องบินของชเตาเฟินแบร์คลงจอดและเขาโทรศัพท์จากสนามบินและว่าแท้จริงฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว[24] ผู้ก่อการที่เบนด์เลอร์บล็อกไม่รู้จะเชื่อใครดี สุดท้ายเมื่อเวลา 16.00 น. อ็อลบริชท์ออกคำสั่งให้ดำเนินปฏิบัติการวัลคือเรอ ทว่าพลเอกอาวุโสฟร็อมผู้ลังเลโทรศัพท์หาจอมพลวิลเฮ็ล์ม ไคเทิล และได้รับการยืนยันว่าฮิตเลอร์รอดชีวิต ไคเทิลต้องการทราบที่อยู่ของชเตาเฟินแบร์ค ซึ่งเป็นการบอกฟร็อมว่ามีการสืบแผนลับมาถึงสำนักงานใหญ่ของเขาแล้ว และเขาอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง ฟร็อมตอบไปว่าเขาคิดว่าชเตาเฟินแบร์คอยู่กับฮิตเลอร์[25]

ขณะเดียวกัน พลเอกคาร์ล-ไฮน์ริช ฟ็อน ชตึลพ์นาเกิล ผู้ว่าการทหารในดินแดนยึดครองฝรั่งเศส จัดการปลดอาวุธตำรวจเอ็สเดและทหารเอ็สเอ็ส และจับตัวผู้นำส่วนใหญ่ได้ เขาเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของจอมพลกึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอและขอให้เขาติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทว่า เขาได้รับแจ้งว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่[24] เวลา 16.40 น. ชเตาเฟินแบร์คและเฮ็ฟเทินมาถึงเบ็นท์เลอร์บล็อก พลเอกอาวุโสฟร็อมเปลี่ยนฝ่ายและพยายามจับตัวชเตาเฟินแบร์ค ซึ่งเข้าใจว่าพยายามปกป้องตัวเอง อ็อลบริชท์และชเตาเฟินแบร์คจึงใช้ปืนกักขังเขาไว้ แล้วอ็อลบริชท์แต่งตั้งให้พลเอกอาวุโสเอริช เฮิพเนอร์ ปฏิบัติหน้าที่แทนเขา

ถึงขณะนี้ ฮิมเลอร์เข้าควบคุมสถานการณ์และออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งดำเนินการปฏิบัติการวัลคือเรอของอ็อลบริชท์ แต่ในหลายพื้นที่ รัฐประหารยังดำเนินไป นำโดยนายทหารซึ่งเชื่อว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว ในกรุงเบอร์ลิน พลเอก เพาล์ ฟ็อน ฮาเซอ หัวหน้านครและผู้ก่อการ ออกคำสั่งกองพลทหารราบยานเกราะโกรสด็อยท์ชลันด์ ภายใต้บังคับบัญชาของพันตรีอ็อทโท แอ็นสท์ เรเมอร์ บุกยึดถนนวิลเฮ็ล์มและจับตัวรัฐมนตรีโฆษณาการ โยเซฟ เกิบเบิลส์[26] ในกรุงเวียนนา กรุงปราก และอีกหลายแห่ง ทหารยึดครองสำนักงานพรรคนาซีและจับกุมเกาไลเทอร์และนายทหารเอ็สเอ็สไว้

รัฐประหารล้มเหลว แก้

เวลาประมาณ 18.00 น. ผู้บัญชาการมณฑลทหารที่สาม กรุงเบอร์ลิน พลเอกโยอาคิม ฟ็อน คอทซ์ไฟลช์ ถูกเรียกตัวมายังเบ็นท์เลอร์บล็อก แต่เขาปฏิเสธคำสั่งของอ็อลบริชท์อย่างโกรธเคืองและเอาแต่ตะโกนว่า "ท่านผู้นำยังมีชีวิตอยู่"[27] ดังนั้นเขาจึงถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ พลเอกไฟรแฮรร์ ฟ็อน ทึนเกินได้รับแต่งตั้งแทนที่ แต่เขาช่วยได้น้อยมาก พลเอก ฟริทซ์ ลินเดมันน์ ซึ่งน่าจะออกประกาศแก่ชาวเยอรมันทางวิทยุ แต่เขาไม่อยู่และเนื่องจากเขาเป็นผู้ถือสำเนาประกาศฉบับเดียว เบ็คจึงต้องร่างคำประกาศใหม่[28]

 
ทหารและองค์การเอ็สเอ็สที่เบ็นท์เลอร์บล็อก

เวลาแตกหักมาถึงเมื่อเวลา 19.00 น. เมื่อฮิตเลอร์ฟื้นตัวเพียงพอจะโทรศัพท์ เขาโทรหารัฐมนตรีเกิบเบลส์ที่กระทรวงโฆษณาการ เกิบเบลส์จัดแจงให้ฮิตเลอร์คุยกับพันตรีเรเมอร์ ผู้บังคับบัญชาทหารที่ล้อมกระทรวงอยู่ หลังจากยืนยันแล้วว่าเขายังมีชีวิตอยู่ ฮิตเลอร์สั่งให้เรเมอร์ควบคุมสถานการณ์ในกรุงเบอร์ลินอีกครั้ง พันตรีเรเมอร์สั่งให้ทหารของเขาล้อมและปิดเบนด์เลอร์บล็อก แต่ไม่เข้าไปในอาคาร [26] เมื่อเวลา 20.00 น. จอมพลวิทซ์เลเบินผู้โกรธจัดมาถึงเบ็นท์เลอร์บล็อกและมีการโต้เถียงอย่างขมขื่นกับชเตาเฟินแบร์ค ผู้ยังยืนยันว่าสามารถดำเนินรัฐประหารต่อไปได้ จากนั้นไม่นานวิทซ์เลเบินก็ออกไป เวลาใกล้เคียงกันนี้ การยึดอำนาจที่วางแผนไว้ในกรุงปารีสถูกยกเลิกเมื่อจอมพล กึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการใหญ่ตะวันตก ทราบว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่

เมื่อพันตรีเรเมอร์เข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงเบอร์ลินและข่าวสะพัดไปว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ สมาชิกที่ไม่ค่อยเด็ดเดี่ยวของการคบคิดในกรุงเบอร์ลินเริ่มเปลี่ยนฝ่าย มีการต่อสู้ในเบ็นท์เลอร์บล็อกระหว่างนายทหารที่สนับสนุนและคัดค้านรัฐประหาร และชเตาเฟินแบร์คได้รับบาดเจ็บ เมื่อเวลา 23.00 น. ฟร็อมกลับเข้าควบคุมพื้นที่ และหวังว่าการแสดงความภักดีอย่างออกนอกหน้าจะช่วยเขาได้ เมื่อพลเอกอาวุโสเบ็คทราบว่าสถานการณ์สิ้นหวัง ยิงตัวตาย เป็นผู้ฆ่าตัวตายคนแรกในหลายวันให้หลัง แม้ทีแรกเบ็คเพียงแค่ทำให้ตัวบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น เขาถูกทหารยิงที่คอ ฟร็อมจัดศาลทหารเฉพาะหน้าอันประกอบด้วยตัวเขาเอง และพิพากษาลงโทษประหารชีวิตอ็อลบริชท์, ชเตาเฟินแบร์ค, เฮ็ฟเทิน, เควียร์นไฮม์ นายทหารอีกคน เมื่อเวลา 00.10 น. ชอองวันที่ 21 กรกฎาคม พวกเขาถูกประหารชีวิตในลานด้านนอก ซึ่งอาจเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาเปิดเผยการมีส่วนของฟร็อม[29] มีผู้อื่นจะถูกประหารชีวิตอีกเช่นกัน แต่เมื่อเวลา 00.30 น. เอ็สเอ็สนำโดยออทโท สกอร์เซนีมาถึงและห้ามประหารชีวิตเพิ่ม

ผลสืบเนื่อง แก้

 
สนามที่เบ็นท์เลอร์บล็อก ที่ซึ่งชเตาเฟินแบร์ค อ็อลบริชท์ และคนอื่นถูกประหารชีวิต
 
อนุสรณ์ที่เบ็นท์เลอร์บล็อก เขียนว่า "บุคคลเหล่านี้ตายเพื่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1944 พลเอกอาวุโสลูทวิช เบ็ค, พลเอกทหารราบฟรีดริช อ็อลบริชท์, พันเอกเคลาส์ กราฟ เช็งค์ ฟ็อน ชเตาฟ์เฟินแบร์ค, พันเอกอัลเบร็ชท์ ริทเทอร์ แมทซ์ ฟ็อน เควียร์นไฮม์, ร้อยโทแวร์เนอร์ ฟ็อน เฮ็ฟเทิน"

อีกหลายสัปดาห์ถัดมา ด้วยความโกรธเกรี้ยวของฮิตเลอร์ ตำรวจตำรวจลับของฮิมเลอร์ล้อมจับแทบทุกคนที่มีส่วนกับแผนลับดังกล่าวแม้เพียงเล็กน้อย การค้นพบจดหมายและบันทึกประจำวันในบ้านและสำนักงานของผู้ที่ถูกจับกุมนั้นเปิดเผยแผนการตั้งแต่ ค.ศ. 1938, 1939 และ 1943 ซึ่งนำไปสู่การจับกุมตามมาอีกหลายรอบ รวมทั้งการจับกุมฟรันซ์ ฮัลเดอร์ที่เสียชีวิตในค่ายกักกัน และด้วยกฎหมายซิพเพนฮัฟท์ (ความรับผิดทางสายเลือด) ญาติทุกคนของผู้ก่อการคนสำคัญถูกจับกุมด้วยเช่นกัน

มีผู้ถูกจับกุมกว่า 7,000 คน[30] และราว 4,980 คนถูกประหารชีวิต[31] ใช่ว่าทุกคนที่ถูกจับกุมหรือประหารชีวิตเชื่อมโยงกับแผนลับนี้ เพราะตำรวจลับฉวยโอกาสดังกล่าวสะสางกับอีกหลายคนที่ต้องสงสัยว่าเข้าข้างฝ่ายต่อต้าน วิทยุอังกฤษยังออกชื่อผู้ต้องสงสัยที่เป็นไปได้ที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ภายหลังก็ถูกจับกุม[32]

ผู้ก่อการพยายามหลบหนีหรือปฏิเสธความผิดเมื่อถูกจับกุมน้อยมาก ผู้รอดชีวิตจากการสอบปากคำจะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีพอเป็นพิธีต่อหน้าศาลประชาชน (โฟล์กสเกริชท์ชอฟ) ศาลเถื่อนซึ่งตัดสินเข้าข้างฝ่ายอัยการเสมอ ประธานศาลประชาชน โรลันท์ ไฟรส์เลอร์ เป็นพวกคลั่งนาซี มีผู้เห็นว่าตะโกนอย่างเดือดดาลและหยาบคายต่อผู้ถูกกล่าวหาในการพิจารณา ซึ่งมีการถ่ายภาพยนตร์ด้วยเหตุผลด้านการโฆษณาชวนเชื่อ[33] นายทหารที่เกี่ยวข้องกับแผนลับถูก "ไต่สวน" ต่อหน้าศาลเกียรติยศทหาร ศาลทหารที่ตัดสินคดีด้วยการพิจารณาหลักฐานที่ตำรวจลับตกแต่งมาให้ก่อนขับผู้ถูกกล่าวหาออกจากกองทัพว่าทำให้เสื่อมเสีย แล้วส่งตัวให้ศาลประชาชน

การพิจารณาครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 7 และ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1944 ฮิตเลอร์สั่งให้ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงถูก "แขวนคอเหมือนวัวควาย"[33] หลายคนชิงฆ่าตัวตายก่อนถึงการพิจารณาหรือการประหารชีวิตของตน รวมทั้งคลูเกอ ที่ถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นกับแผนลับล่วงหน้าและไม่ได้เปิดเผยต่อฮิตเลอร์ ชตึลพ์นาเกิลพยายามฆ่าตัวตายเช่นกัน แต่รอดและถูกแขวนคอ

ขณะถูกทรมานนั้น เขาโพล่งชื่อร็อมเมิลออกมา อีกไม่กี่วันถัดมา ที่ปรึกษาส่วนตัวของชตึลพ์นาเกิล เซซาร์ ฟ็อน ฮอฟัคแคร์ ยอมรับหลังจากถูกทรมานอย่างน่าสยดสยองว่าร็อมเมิลเป็นสมาชิกปฏิบัติการของแผนคบคิดดังกล่าวด้วย ร็อมเมิลมีส่วนเกี่ยวข้องขนาดไหนนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากสรุปว่า อย่างน้อยเขาก็ทราบแผนคบคิดดังกล่าวแม้ไม่ได้พัวพันโดยตรงก็ตาม อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ทราบว่าจะเป็นกรณีอื้อฉาวใหญ่หลวงแก่สาธารณะ หากร็อมเมิลถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ ติดดังนี้แล้ว เขาจึงให้ทางเลือกร็อมเมิลว่าจะฆ่าตัวตายด้วยไซยาไนต์เอง หรือเข้าสู่การบวนการไต่สวนพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยโดยศาลประชาชน หากร็อมเมิลเลือกรับการไต่สวนพิจารณาคดี ครอบครัวของเขาจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงแม้ก่อนการพิพากษาลงโทษที่แน่นอน และพวกเขาจะถูกประหารชีวิตไปพร้อมกับเสนาธิการของเขาด้วย ร็อมเมิลทราบดีว่าการยอมถูกพิจารณาตัดสินคดีในศาลประชาชนมีค่าเท่ากับโทษประหาร เขาจึงทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1944 เขาถูกฝังอย่างสมเกียรติทหาร บทบาทของเขาในเรื่องนี้เปิดเผยหลังสงครามยุติ[14]

เทร็สโคก็ฆ่าตัวตายหนึ่งวันหลังจากรัฐประหารที่ล้มเหลวโดยการใช้ระเบิดมือในดินแดนไม่มีเจ้าของระหว่างแนวรบรัสเซียกับเยอรมัน ก่อนตาย เทร็สโคว่าแก่ฟาเบียน ฟ็อน ชลาเบรนดอร์ฟดังนี้

แม้โลกทั้งใบจะประณามเราในตอนนี้ แต่ผมยังเชื่อเต็มที่ว่าเราทำสิ่งที่ถูก ฮิตเลอร์เป็นศัตรูสำคัญไม่เฉพาะแต่กับเยอรมนีเท่านั้น แต่กับโลกทั้งใบด้วย ภายในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าเมื่อผมไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเพื่อทูลอธิบายต่อสิ่งใดที่ผมได้ทำลงไปแล้วและยังไม่ได้ทำนั้น ผมทราบว่าผมจะสามารถให้ความชอบธรรมได้ต่อสิ่งที่ผมทำไปในการต่อสู้กับฮิตเลอร์ พระเจ้าทรงให้สัญญาแก่อับราฮัมว่าพระองค์จะไม่ทรงทำลายนครโซดอม ถ้าหากยังสามารถหาผู้ชอบธรรมได้สิบคนในนครนั้น ฉะนั้นผมจึงหวังว่า เพื่อเห็นแก่พวกเรา พระเจ้าก็คงจะไม่ทรงทำลายเยอรมนี ไม่มีใครในหมู่พวกเราที่จะคร่ำครวญเกี่ยวกับการตายของตัวเองได้ ผู้ยินยอมเข้าร่วมวงกับพวกเรานั้นได้ยอมสวมเสื้อคลุมพิษแห่งเนสซุสไว้แล้ว บูรณภาพแห่งศีลธรรมของมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อเขาพร้อมสละชีวิตตนเองเพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ[34]

และความล้มเหลวในการรายงานแผนลับดังกล่าวอย่างชัดเจน เขาถูกจับกุมในวันที่ 21 กรกฎาคม ภายหลังฟร็อมถูกศาลประชาชนพิพากาษาลงโทษและตัดสินประหารชีวิต แม้เขาเกี่ยวข้องกับการคบคิด แต่คำพิพากษาทางการของเขาระบุข้อกล่าวหาว่าเขาบกพร่องในหน้าที่ เขาถูกประหารชีวิตในบรันเดินบวร์คอันแดร์ฮาเฟิล ฮิตเลอร์เปลี่ยนโทษประหารชีวิตของเขาจากแขวนคอไปเป็นชุดยิง "ที่มีเกียรติกว่า" ด้วยตนเอง แอร์วีน พลังค์ บุตรชายนักฟิสิกส์ชื่อดัง มักซ์ พลังค์ ถูกประหารชีวิตจากการมีส่วนร่วมด้วย[35][36]

รายงานของคัลเทินบรุนเนอร์ต่อฮิตเลอร์ ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1944 ว่าด้วยเบื้องหลังของแผนคบคิดดังกล่าว ระบุว่าพระสันตปาปาเป็นผู้ก่อการในทางใดทางหนึ่งด้วย โดยเจาะจงชื่อยูจีนิโอ ปาเซลลี สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ว่ามีส่วนในแผนลับด้วย[37] หลักฐานชี้ว่า ผู้ก่อการ พันเอกเวสเซิล ฟ็อน ไฟรทาค-โลริงโฮเฟิน, พันเอกแอร์วีน ฟ็อน ลาโฮอูเซิน และพลเรือเอก วิลเฮ็ล์ม คานาริสเกี่ยวข้องกับการขัดขวางแผนลักพาตัวหรือลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระสันตปาปาปิอุสที่ 12 ของฮิตเลอร์ใน ค.ศ. 1943 เมื่อคานาริสรายงานข้อมูลแผนนี้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่อต้านข่าวกรองของอิตาลี พลเอกเซซาเร อาแมะ ซึ่งได้ส่งต่อข้อมูลดังกล่าว[38][39]

หลังวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เมื่อผู้พิพากษาไฟรส์เลอร์เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดทางอากาศของสหรัฐ ก็ไม่มีการพิจารณาอย่างเป็นทางการเพิ่มอีก แต่จวบจนเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งอยู่ในช่วงปลายสงคราม มีการค้นพบบันทึกประจำวันของคานาริส และอีกหลายคนถูกซัดทอด การประหารชีวิตดำเนินต่อไปจนกระทั่งวันสุดท้ายของสงคราม

การพิจารณาและการประหารชีวิตตามรายงานนั้นได้ถูกถ่ายภาพยนตร์ไว้และถูกตรวจสอบโดยฮิตเลอร์และคณะผู้ติดตามของเขา ภาพยนตร์เหล่านี้ภายหลังถูกตัดต่อโดยเกิบเบิลส์เป็นภาพยนตร์ความยาว 30 นาที และถูกฉายให้แก่นักเรียนนายร้อยที่โรงเรียนนายร้อยลิคแตร์เฟลเดอ แต่เชื่อกันว่าผู้ชมเดินออกจากการฉายด้วยอาการขยะแขยง[40]

ฮิตเลอร์ถือเอาว่าการรอดชีวิตของเขานั้นเป็น "ช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์" และมอบหมายให้มีการจัดทำเครื่องอิสรยาภรณ์ ผลก็คือ เหรียญผู้บาดเจ็บ 20 กรกฎาคม 1944 ซึ่งฮิตเลอร์มอบให้แก่ผู้ที่อยู่กับเขาในห้องประชุมในเวลานั้น เหรียญนี้ถูกจัดทำขึ้น 100 เหรียญ[41] และเชื่อกันว่ามีการมอบให้จำนวน 47 เหรียญ พร้อมด้วยเอกสารรางวัลอันหรูหราที่มอบให้แก่ผู้ได้รับเหรียญซึ่งลงนามส่วนตัวโดยฮิตเลอร์ ทำให้มันเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ที่มีการมอบน้อยที่สุดของนาซีเยอรมนี[42]

จากบทบาทในการยุติรัฐประหาร พันตรีเรเมอร์ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันเอกและเมื่อสงครามยุติ เขามียศเป็นพลตรี หลังสงคราม เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมไรช์และเป็นพวกนีโอนาซีคนสำคัญและสนับสนุนแนวคิดคัดค้านการล้างชาติโดยนาซีกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1997[43]

ฟิลิพพ์ ฟ็อน เบอเซลาแกร์ นายทหารเยอรมันผู้จัดหาระเบิดพลาสติกที่ใช้ในเหตุดังกล่าวนั้น สามารถหลบหนีการถูกตรวจพบและรอดชีวิตจากสงคราม เขาเป็นผู้ร่วมขบวนการผู้รอดชีวิตคนที่สองรองจากสุดท้าย และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 อายุได้ 90 ปี[44]

ผลของรัฐประหาร สมาชิกทุกคนของกองทัพบกถูกบังคับให้สาบานความจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์อีกครั้ง และเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 การแสดงความเคารพแบบทหารถูกแทนที่ด้วยการแสดงความเคารพต่อฮิตเลอร์ทั้งกองทัพซึ่งทำโดยยืดแขนออกและเปล่งคำพูดว่า "ไฮล์ ฮิตเลอร์"[45] แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบลง แต่เวลาต่อมาในปี 1945 นาซีเยอรมันได้พ่ายแพ้สงครามและฮิตเลอร์ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมในฟือเรอร์บุงเคอร์ เวลาต่อมาในอีกหลายปีให้หลังได้การรำลึกต่อกลุ่มบุคคลผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผนลับ 20 กรกฎาคม ซึ่งได้แสดงให้เห็นต่อคนเยอรมันชนรุ่นหลังและชาวโลกว่า ชาวเยอรมันทุกคนไม่ได้เป็นอย่างฮิตเลอร์และพรรคนาซี และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ตายเพื่อเยอรมนี

แผนผังโครงสร้างรัฐบาลตามแผนที่ได้วางเอาไว้ แก้

ผู้สมรู้ร่วมคิดต่างได้ถูกกำหนดตำแหน่งไว้เป็นความลับก่อนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งภายหลังจากการลอบสังหารฮิตเลอร์นั้นพิสูจน์ว่าได้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความล้มเหลวของแผนลับ เช่น รัฐบาลใหม่ไม่เคยลุกขึ้นสู่อำนาจและสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนถูกประหารชีวิต รายชื่อต่อไปนี้ได้ถูกกำหนดไว้สำหรับบทบาทเหล่านี้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944:[46]

หมายเหตุ: พรรคการเมืองพันธมิตรดังกล่าวที่ได้แสดงไว้ในที่นี้ได้ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกพรรคที่ก่อนการยุบพรรคการเมืองทั้งหมดนอกเหนือจากพรรคนาซี

ชื่อของอัลแบร์ท ชแปร์ ถูกระบุไว้ในบันทึกรายชื่อหลายคนของผู้สมรู้ร่วมคิดในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงยุทธภัณฑ์และผลิตกรรมสงคราม; อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ของบันทึกรายชื่อเหล่านี้ได้ระบุว่า ชแปร์ไม่ควรเข้าหาจนกว่าฮิตเลอร์จะเสียชีวิต และแผนผังโครงสร้างของรัฐบาลได้ติดเครื่องหมายคำถามไว้ข้างชื่อของชเปียร์ ด้วยเหตุนี้น่าจะช่วยให้ชเปียร์รอดพ้นจากการถูกจับกุมโดยหน่วยเอ็สเอ็ส และชเปียร์เป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทและไว้ใจที่สุดของฮิตเลอร์[47]

ร็อมเมิลกับแผนลับ 20 กรกฎาคม แก้

ขอบเขตของการพัวพันในการต่อต้านทางทหารต่อฮิตเลอร์ของจอมพล แอร์วีน ร็อมเมิลหรือแผนลับ 20 กรกฎาคม เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบ, ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงมากที่สุดไม่สามารถรอดชีวิตและเอกสารอ้างอิงที่จำกัดเกี่ยวกับแผนการของผู้สมรู้ร่วมคิดที่มีอยู่ ดังนั้น การมีส่วนร่วมของร็อมเมิลยังคลุมเครือและความเข้าใจของมันส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาของเหตุการณ์ภายหลัง (โดยเฉพาะอย่างการบังคับให้ร็อมเมิลกระทำอัตวินิบาตกรรม) และบัญชีโดยผู้มีส่วนร่วมที่รอดชีวิต[48]

ในบันทึกหลังสงครามของ คาร์ล ชเตอลิน นายกเทศมนตรีชตุทท์การ์ทในสมัยนั้น ระบุว่าเขาและผู้สมรู้ร่วมคิดอื่นๆสองคน Alexander von Falkenhausen และ Carl Heinrich von Stülpnagel ได้ริเริ่มความพยายามที่จะนำร็อมเมิลเข้าสู่การสมรู้ร่วมคิดต่อต้านฮิตเลอร์ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1944[49] เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1944 เสนาธิการทหารคนใหม่ของร็อมเมิล Hans Speidel, ได้ไปถึงนอร์ม็องดีและแนะนำร็อมเมิลกับ Stülpnagel ก่อนหน้านี้ Speidel เคยได้ติดต่อกับ คาร์ล เกอร์เดอเลอร์ ซึ่งเป็นผู้นำพลเรือนของขบวนการต่อต้าน แต่ไม่ใช่ผู้คบคิดภายใต้การนำของชเตาเฟินแบร์ค และได้รับความสนใจจากชเตาเฟินแบร์ค เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกองบัญชาการของร็อมเมิล ผู้สมรู้ร่วมคิดต่างรู้สึกว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากจอมพลที่ประจำการอยู่ วิทซ์เลเบินนั้นเป็นจอมพล แต่ยังไม่ได้เข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 ผู้สมรู้ร่วมคิดได้ให้คำแนะนำแก่ Speidel เพื่อนำร็อมเมิลเข้าสู่วงสมาคม[50]

ชไปเดิลได้พบกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ค็อนสตันทีน ฟ็อน น็อยราท และชเตอลิน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมในเยอรมนี อย่างที่เห็นได้ชัดว่าความต้องการของร็อมเมิล แม้ว่าภายหลังไม่ได้มีอยู่จริง นอยรัทและชเตอลิน ได้แนะนำให้ทำการเปิดการเจรจายอมจำนนทันทีในด้านตะวันตก และตามคำพูดของชไปเดิล ร็อมเมิลได้ตกลงที่จะหารือและเตรียมความพร้อม แม้ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้คบคิดในกรุงเบอร์ลินยังไม่ทราบว่า ร็อมเมิลได้ตัดสินใจที่จะมีส่วนร่วมในการสมรู้ร่วมคิด พวกเขาได้แจ้งกับ Allen Dulles ซึ่งพวกเขาได้คาดหวังจะเจรจาตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก เมื่อร็อมเมิลไม่ได้นับรวมเพื่อสนับสนุน สามวันก่อนการลอบสังหาร เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ขับรถของร็อมเมิลได้ถูกยิงกราดโดยเครื่องบินรบฝ่ายสัมพันธมิตรในฝรั่งเศส; เขาได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการบาดเจ็บที่จุดสำคัญและทำให้ทุพพลภาพ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม

ร็อมเมิลได้คัดค้านการลอบสังหารฮิตเลอร์ ภายหลังสงคราม ภรรยาหม้ายของเขาได้ยืนยันว่า เขาเชื่อว่าความพยายามลอบสังหารนั้นจะทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น[51] ตามที่นักข่าวและนักเขียน William L. Shirer, ร็อมเมิลได้รู้เกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดและสนับสนุนให้ฮิตเลอร์ถูกจับกุมและขึ้นศาล นักประวัติศาสตร์ Ian Becket ได้ระบุว่า "ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า ร็อมเมิลมีความรู้ความเข้าใจมากกว่าและจำกัดในแผนลับ" และสรุปได้ว่า เขาจะไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้คบคิดในผลลัพธ์ของความพยายามในวันที่ 20 กรกฎาคม[48] ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ Ralf Georg Reuth ได้เชื่อว่า "ไม่มีร่องรอยของการมีส่วนร่วมใดๆของร็อมเมิลในการสมรู้ร่วมคิด " นักประวัติศาสตร์ Richard Evans ได้สรุปว่า เขารู้เรื่องแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง[52]

การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Hans Helmut Kirst "20th of July"
  2. Winston Churchill,war annual books, "1944"
  3. William L. Shirer "The Rise and Fall of the Third Reich", part IV, chapter "20th July"
  4. vKlemens von Klemperer. German Resistance against Hitler: The Search for Allies Abroad 1938-1945
  5. Peter Hoffmann. History of the German Resistance, 1933-1945, page 608-609
  6. 6.0 6.1 Shirer 1960, p. 1393.
  7. Kutrz, Harold, July Plot in Taylor 1974, p. 224.
  8. 8.0 8.1 8.2 Kutrz, Harold, July Plot in Taylor 1974, p. 226.
  9. Joachim Fest, Plotting Hitler's Death, p188
  10. Fabian von Schlabrendorff, They Almost Killed Hitler, p39
  11. Fest, Joachim. Plotting Hitler's Death: The German Resistance to Hitler, 1933–1945, 1996, p. 219.
  12. Hoffmann, Peter. "Oberst i. G. Henning von Tresckow und die Staatsstreichpläne im Jahr 1943".
  13. Fest, Plotting Hitler's Death: The German Resistance to Hitler, 1933–1945, 1996, p. 220.
  14. 14.0 14.1 William Shirer, The Rise and Fall of the Third Reich (Touchstone Edition) (New York: Simon & Schuster, 1990)
  15. Joachim Fest, Plotting Hitler’s Death: The German Resistance to Hitler 1933–1945, 236
  16. Joachim Fest, Plotting Hitler's Death, 228
  17. Himmler's contacts with the opposition and his possible motives are discussed by Peter Padfield, Himmler, 419–424
  18. Peter Hoffman (1996). The History of the German Resistance, 1933-1945. McGill-Queen's Press. ISBN 0-77-3515313.
  19. Michael C Thomsett (1997). The German Opposition to Hitler: The Resistance, the Underground, and Assassination Plots, 1938-1945. McFarland. ISBN 0-78-6403721.
  20. 20.0 20.1 Spiegel.de (เยอรมัน)
  21. Galante, Pierre. Operation Valkyrie. Harper and Row, 1981, ISBN 0060380020. Photo insert section.
  22. German radio broadcast 10 July 2010[ลิงก์เสีย] on Deutschlandfunk (MP3; in German)
  23. German radio broadcast 10 July 2010 เก็บถาวร 2011-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน on Bayern1 (written version; in German)
  24. 24.0 24.1 Kutrz, Harold, July Plot in Taylor 1974, p. 227.
  25. Galante, pp. 11–12
  26. 26.0 26.1 Galante, p. 209
  27. Hoffman, Peter. The History of the German Resistance, 1933–1945, p. 426.
  28. Fest, Plotting Hitler's Death, pp. 270, 272.
  29. Taylor 1974, p. 227.
  30. William L. Shirer's Rise and Fall of the Third Reich, ch. 29.
  31. Kershaw, Ian. Hitler 1936–1945: Nemesis, p. 693.
  32. Tatiana von Metternich-Winneburg (1976). Purgatory of Fools. Quadrangle. p. 202. ISBN 0812906918.
  33. 33.0 33.1 See Shirer 1070–1071.
  34. Fest, Plotting Hitler's Death, pp. 289–290.
  35. "Alleged July Plot Conspirators Executed in Plötzensee Prison". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-14. สืบค้นเมื่อ 19 April 2009.
  36. Heideking, Jürgen (1998). American Intelligence and the German Resistance to Hitler: A Documentary History. Widerstand: Dissent and Resistance in the Third Reich Series (revised ed.). Boulder, CO: Westview Press. ISBN 9780813336367. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)[ลิงก์เสีย]
  37. Pave the Way Foundation Reveals Evidence of Pope Pius XII's Active Opposition to Hitler เก็บถาวร 2009-09-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 29 June 2009. Accessed 4 September 2009. 6 September 2009.
  38. More proof of Hitler's plan to kill Pius XII: Son of German Intelligence Officer Comes Forward เก็บถาวร 2010-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Zenit News 16 June 2009
  39. Italian newspaper reveals details behind Hitler’s plan to kill Pius XII CBCP News 17 June 2009
  40. Shirer attributes this anecdote to Allen Dulles in his book Germany's Underground, p. 83.
  41. Forman, Adrian (1993). Guide to Third Reich German Awards...And Their Values (2nd Ed.) San Jose, CA: R. James Bender. ISBN 912138-52-1
  42. Angolia, John R. (1976). For Führer and Fatherland: Military Awards of the Third Reich (1st Ed.) San Jose, CA: R. James Bender. OCLC 2853647
  43. Holocaust Denial on Trial: Using History to Confront Distortions เก็บถาวร 2009-09-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. "Biographies: Otto Remer," (retrieved on 10 April 2009).
  44. "Hitler plot survivor dies aged 90". London: BBC News Online. 2 May 2008.
  45. Büchner, Alex (1991). German Infantry Handbook, 1939–1945: Organization, Uniforms, Weapons, Equipment, Operations. Schipper Publishing. ISBN 978-0887402845
  46. The list of proposed appointments from The History of German Resistance 1933–1945 p. 367.
  47. Speer, Albert. Inside the Third Reich.
  48. 48.0 48.1 Beckett 2014, p. 6.
  49. Shirer 1960, pp. 1031, 1177.
  50. Hart 2014, pp. 139–142.
  51. Hart 2014, p. 140: Sourced to Speidel (1950) Invasion 1944: We Defended Normandy, pp. 68, 73.
  52. Evans 2009, p. 642.
  53. The Desert Fox: The Story of Rommel ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  54. 20. Juli 1944
  55. Der 20. Juli ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  56. The Night of the Generals ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  57. Claus Graf Stauffenberg ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
  58. War and Remembrance part 10 ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  59. The Plot to Kill Hitler ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  60. The Restless Conscience ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  61. Die Stunde der Offiziere ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  |
  62. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-21. สืบค้นเมื่อ 2009-07-19.
  63. Stauffenberg ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  64. http://www.new-video.de/film-stauffenberg/
  65. Days That Shook the World ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  66. Valkyrie ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  67. Operation Valkyrie: The Stauffenberg Plot to Kill Hitler ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  68. Stauffenberg - Die wahre Geschichte ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  

แหล่งข้อมูลอื่น แก้