แบบเรือประจัญบาน เอ-150


แบบเรือประจัญบาน เอ-150 (Design A-150) หรือที่รู้จักกันในชื่อ เรือประจัญบานชั้นซูปเปอร์ยามาโตะ (Super Yamato class)[A 2] เป็นแบบเรือชั้นเรือประจัญบานของจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยเริ่มออกแบบเมื่อ ค.ศ. 1938–39 และเกือบเสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1941 แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความต้องการเรือรบประเภทอื่นที่สูงกว่า ทำให้งานทั้งหมดของแบบ เอ-150 ต้องหยุดลง ไม่มีแม้กระทั่งการวางกระดูกงู ผู้แต่ง วิลเลียม เอช. การ์ซคี (William H. Garzke) และ โรเบิร์ต โอ. ดับบลิน (Robert O. Dulin) ยืนยันว่าเรือนี้เป็น "เรือประจัญบานที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์"[3] ด้วยเพราะหมู่ปืนหลักมีขนาดใหญ่โตถึง 510 มม. (20 นิ้ว) และอาวุธปืนขนาดรองลงมาอีกจำนวนมาก

ชั้นเรือโดยสรุป
ชื่อ:แบบ เอ-150
ผู้ใช้งาน:จักรวรรดิญี่ปุ่น กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น
ชั้นก่อนหน้า:ชั้นยามาโตะ
แผนที่จะสร้าง:2
สร้างเสร็จ:0
ยกเลิก:2
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือประจัญบาน
ขนาด (ระวางขับน้ำ): ประมาณ 70,000 ตัน[A 1][1]
ความยาว: ประมาณ 263.0 เมตร (863 ฟุต)
ความกว้าง: ประมาณ 38.9 เมตร (128 ฟุต)
ระบบขับเคลื่อน: ไม่ทราบ
ยุทโธปกรณ์: 6 × 510 มม. (20.1 นิ้ว)/45 (2×3)[2]
100 มม. (3.9 นิ้ว)/65 จำนวนมาก[3]
เกราะ: เกราะข้างประมาณ 460 มม. (18 นิ้ว)
เกราะส่วนที่เหลือไม่มีข้อมูลเพียงพอ[4][5]

การออกแบบ แก้

พื้นหลัง แก้

เริ่มแรกแบบเรือประจัญบาน เอ-150 มีแผนที่จะติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 510 มม. (20.1 นิ้ว) 8-9 กระบอก โดยติดตั้ง 3 หรือ 4 กระบอกต่อป้อม จากความสำเร็จในการสร้างปืนใหญ่ขนาด 480 มม. (18.9 นิ้ว) ใน ค.ศ. 1920-1921 ทำให้ญี่ปุ่นมั่นใจว่าปืนใหญ่ขนาด 510 มม. (20.1 นิ้ว) สามารถสร้างขึ้นได้ นอกจากนี้ เรือต้องมีความเร็วสูงสุดที่ 30 นอต (35 ไมล์/ชม.; 56 กม./ชม.) เพื่อให้เรือในชั้นเร็วกว่าเรือประจัญบานชั้นนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ได้มีการตัดทอนรายละเอียดของเรือลงเมื่อการทดสอบระวางขับน้ำเต็มที่ของเรือมีค่าถึง 90,000 ตัน ซึ่งเรือขนาดนี้ "ใหญ่โตเกินไปและแพงเกินไป"[3]

รายละเอียด แก้

การศึกษาออกแบบเริ่มต้นหลังการออกแบบทางวิศวกรรมของเรือชั้นยามาโตะเสร็จสิ้นลง (1938–39) โดยมุ่งความสนใจไปที่ระวางขับน้ำของเรือต้องมีขนาดใกล้เคียงกับเรือยามาโตะ[6] เนื่องจากญี่ปุ่นคาดว่าสหรัฐนั้นทราบรายละเอียดที่แท้จริงของเรือชั้นนั้นแล้ว (กล่าวคืออาวุธหลักมีขนาด 460 มม. (18.1 นิ้ว)) การใช้ปืนขนาด 510 มม. นั้นเป็นการคงไว้ซึ่งนโยบายเรือแต่ละลำต้องเหนือกว่าเรือสหรัฐที่ขนาดใกล้เคียงกันของญี่ปุ่น เอ-150 เป็นการโต้กลับการตอบโต้ของสหรัฐที่มีต่อเรือชั้นยามาโตะ[3]

แม้แบบพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1941[6] แต่เอกสารที่เกี่ยวข้องกลับมีชะตากรรมคล้ายกับเอกสารของเรือชั้นยามาโตะ[7][8] นั้นคือเอกสารส่วนมากและแบบทางวิศวกรรมทั้งหมดถูกทำลายเมื่อสิ้นสุดสงคราม ทำให้ไม่สามารถทราบรายละเอียดทั้งหมดของเรือได้[3] เท่าที่ทราบเรือมีอำนาจการยิงเหนือเรือชั้นยามาโตะ ด้วยหมู่ปืนหลักขนาด 510 มม. (20.1 นิ้ว) 6 กระบอก ติดตั้งในป้อมปืน 3 ป้อม ป้อมละ 2 กระบอก และปืนรองขนาดลำกล้อง 100 มม. (3.9 นิ้ว)/65 จำนวนมาก[6] ระวางขับน้ำใกล้เคียงกับเรือชั้นยามาโตะคือประมาณ 60,000–70,000 ตัน[6] เกราะด้านข้างกราบเรืออาจหนาถึง 460 มม. (18 นิ้ว)[5] ซึ่งเป็นขนาดหนาเกินกว่าที่โรงงานเหล็กกล้าในญี่ปุ่นจะสามารถผลิตได้ มีการใช้ "แผ่นเกราะขนาบข้างเรือคู่ (double strake)" แทน ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพดีกว่าแบบแผ่นเดี่ยว[6]

อาวุธยุทธภัณฑ์ แก้

แม้ว่าไม่สามารถระบุรายละเอียดของอาวุธขนาดเล็กในแบบได้ แต่หมู่ปืนหลักในแบบเป็นปืนใหญ่ขนาดลำกล้อง 510 มม. (20.1 นิ้ว)/45 6 กระบอก ติดตั้งสองกระบอกต่อป้อม ปืนเหล่านี้เป็นปืนขนาดใหญ่ที่สุดที่ติดตั้งในเรือหลวง ใหญ่กว่าปืนขนาด 460 มม. (18.1 นิ้ว) ที่ติดตั้งบนเรือชั้นยามาโตะมาก[9] ในปี ค.ศ. 1941 ปืนใหญ่ 510 มม. หนึ่งหรืออาจจะสองกระบอกเริ่มการผลิตขึ้นที่อู่ทหารเรือคูเระ และรายละเอียดของป้อมปืนได้ถูกร่างขึ้น ป้อมปืนมีน้ำหนัก 2,780 เมตริกตัน เปลี่ยนแนวยิงได้ 2° ต่อวินาที มีแนวยิงทางราบทางกราบซ้ายหรือขวา 120° ปืนมีอัตราการยิงสูงสุด 1 ถึง 1.5 นัดต่อนาที มีมุมเงย -5° ถึง 45° มีอัตราการยกเงย 10° ต่อวินาที ปืนใหญ่หนัก 227 เมตริกตัน ยาว 23.56 ม. (928 นิ้ว) ปากกระบอกยาว 22.84 ม. (899 นิ้ว) กระสุนเจาะเกราะจะมีน้ำหนักระหว่าง 1,900-2,000 กก. (4,190-4,409 ปอนด์) ในขณะที่กระสุนระเบิดแรงสูงจะมีน้ำหนัก 1,858 กิโลกรัม (4,100 ปอนด์)[2]

หมู่ปืนรองที่มีจำนวนมากเป็นปืน 100 มม. (3.9 นิ้ว)/65 แม้ว่าจะไม่ใช้แบบสรุปสุดท้าย ปืนชนิดนี้เป็นปืนต่อต้านอากาศยานที่ดีที่สุดที่ผลิตโดยญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[10] โดยรวมแล้ว เป็นอาวุธที่ดีมากเมื่อเทียบกับอาวุธร่วมสมัยอื่นๆ ข้อได้เปรียบที่สำคัญที่ทำให้ปืนชนิดนี้ประสบความสำเร็จคือ "ความเร็วปากกระบอกปืนสูงและมีอัตราการยิงที่รวดเร็ว" เป็นผลให้มีรอบการบำรุงที่สั้น นั่นคือ 350–400 นัดต่อรอบ ในการต่อต้านอากาศยาน เพดานยิงที่มุมเงย 90° คือ 13,000 ม. (43,000 ฟุต) มีระยะหวังผลคือ 11,000 ม. (36,000 ฟุต) ปืนมีอัตราการยิง 15–21 นัดต่อนาที[10]

ใน Battleships: Axis and Neutral Battleships in World War II (เรือประจัญบาน: เรือประจัญบานอักษะและฝ่ายเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 2) ผู้แต่ง วิลเลียม เอช. การ์ซคี (William H. Garzke) และ โรเบิร์ต โอ. ดับบลิน (Robert O. Dulin) ยืนยันว่าแบบเรือ เอ-150 เป็น "เรือประจัญบานที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์"[3] เพราะหมู่ปืนหลักขนาดยักษ์และหมู่ปืนรองที่เป็นปืนสองประสงค์[3]

การสร้าง แก้

ด้วยสงครามบนเส้นขอบฟ้าในต้นปี ค.ศ. 1941 แม้ว่าแบบ เอ-150 จะเสร็จสมบูรณ์ แต่แบบทางวิศวกรรมทั้งหมดก็ได้หันเหไปจากเรือประจัญบานไปสู่ "เรือบรรทุกอากาศยาน เรือลาดตระเวน และเรือขนาดเล็ก"[3] ตามความต้องการในขณะนั้น ถึงแม้ว่าเรือแบบ เอ-150 จะไม่ได้สร้าง แต่มีแผนที่จะสร้างเรือตามแบบ 2 ลำ โดยได้กำหนดชื่อชั่วคราวเป็นเรือรบหมายเลข 798 และเรือรบหมายเลข 799 โดยวางแผนจะเริ่มสร้างใน ค.ศ. 1942 เรือรบหมายเลข 798 จะต่อในอู่เดียวกับชินาโนะ ขณะที่เรือรบหมายเลข 799 จะสร้างในคูเระในอู่เดียวกับยามาโตะ หลังจากเรือรบหมายเลข 111 ซึ่งเป็นเรือชั้นยามาโตะลำที่ 4 ปล่อยลงน้ำ เรือทั้งสองมีแผนจะวางกระดูกงูในปลายปี ค.ศ. 1941 หรือไม่ก็ต้นปี ค.ศ. 1942 ปล่อยลงน้ำใน ค.ศ. 1944/45 และสร้างเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1946/47 อย่างไรก็ตาม รูปแบบสงครามหลังยุทธนาวีมิดเวย์ได้เปลี่ยนไป มีความต้องการเรืออื่นๆ มากกว่าเรือประจัญบาน[6]

เชิงอรรถ แก้

  1. "ตัน" ในบทความนี้ไม่ใช่เมตริกตัน แต่เป็น Long ton ที่มีขนาดเท่ากับ 2,240 ปอนด์ (1,016 กก.)
  2. ถึงแม้บางคนจะเรียกว่า "ชั้นซูปเปอร์ยามาโตะ" แต่แบบ เอ-150 ก็ได้รับการออกแบบใหม่เกือบทั้งหมด มีแต่เพียงส่วนน้อยที่ได้มาจากแบบทางวิศวกรรมของเรือชั้นยามาโตะ ดูเพิ่ม: Garzke and Dulin, p. 85

อ้างอิง แก้

  1. Breyer (1973), p. 330
  2. 2.0 2.1 DiGiulian, Tony (9 October 2006). "51 cm/45 (20.1") "A" Type 98 (?)". Navweaps. สืบค้นเมื่อ 5 November 2009.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Garzke and Dulin (1985), p. 85
  4. Garzke and Dulin (1985), p. 86
  5. 5.0 5.1 Gardiner and Chesneau (1980), p. 178
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 Garzke and Dulin (1985), pp. 85–86
  7. Muir (1990), p. 485
  8. Skulski (1989), p. 8
  9. Garzke and Dulin (1985), pp. 85 and 88
  10. 10.0 10.1 DiGiulian, Tony (9 October 2006). "10 cm/65 (3.9") Type 98". Navweaps. สืบค้นเมื่อ 5 November 2009.

บรรณานุกรม แก้