แนวคิดหลังยุคนวนิยม

แนวคิดหลังยุคนวนิยม[1] (อังกฤษ: Postmodernism) บางทีใช้คำว่าหลังสมัยใหม่ หรือแนวคิดหลังสมัยใหม่ เป็นแนวคิดทางการเมือง ปรัชญา วัฒนธรรม สังคม ดนตรี และอื่น ๆ ที่ก่อตัวขึ้นโดยมีมุมมองที่ต่างออกไปจากมุมมองทางความคิดแบบเดิม ๆ ของโลก ไม่ว่าจะแนวคิดลัทธิก่อนสมัยใหม่ หรือแนวคิดลัทธิสมัยใหม่ แนวคิดหลังสมัยใหม่ถูกจัดเข้ารวมกับทฤษฎีแนววิพากษ์ (Critical Theory/Critical Scholar)[2]

การกำเนิดของแนวคิดหลังสมัยใหม่ แก้

ในช่วงปลายสมัยใหม่ของภูมิปัญญาตะวันตก มีความคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อความทันสมัย บางครั้งก็เรียกรวมๆว่าความคิดแบบสมัยใหม่นิยม (modernism) กล่าวได้ว่าความคิดทันสมัยมีรากเหง้ามาจากทฤษฎีความคิดในยุคภูมิปัญญา (enlightenment) นักคิด นักปรัชญาการเมืองในยุคสมัยใหม่แข่งขันกันนำเสนอวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวกับชีวิตที่ดี สังคมที่ดี ที่สำคัญคือ แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ที่เห็นว่าปัจเจกบุคคลต้องสละประโยชน์ส่วนตัว หาทางสร้างระบบการเมืองเสรีประชาธิปไตยขึ้นมารองรับ กับแนวคิดมาร์กซิสม์ ที่ต่างต้องการสร้างโลกใหม่ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การขูดรีดจากระบบทุนนิยม ความคิดในยุคสมัยใหม่กล่าวได้ว่ามีศรัทธาแรงกล้าต่อความก้าวหน้า (idea of progress) การที่สังคมมีหลักพื้นฐานอันประกอบด้วยสัจจะ ค่านิยมหลัก และความเชื่อมั่นเรื่องสังคมก้าวหน้ารวมเรียกกันว่าแนวคิดสถาปนานิยม ที่พยายามสถาปนาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้เกิดขึ้นในสังคมผ่านการสร้างค่านิยม, ความเชื่อต่างๆขึ้นมาครอบครองความคิดมนุษย์ในสังคม

ในเวลาต่อมาจึงเกิดความคิดหลังสมัยใหม่ (postmodern) ที่เสนอให้ปฏิเสธความแน่นอน หนึ่งเดียว นักคิดหลังสมัยใหม่ ปฏิเสธเรื่องสัจจะสมบูรณ์สูงสุดเป็นสากล โดยเห็นว่าเป็นเพียงการโอ้อวด แต่เสนอว่าไม่มีศูนย์กลางความเป็นหนึ่งเดียว และสังคมดำรงอยู่อย่างแตกต่างหลากหลาย (diversity) ความคิดและแนวคิดใดๆทั้งหมดเป็นเรื่องที่ได้รับการแสดงออกในรูปภาษาโดยที่ภาษาหรือการใช้ภาษาสื่อความหมายนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจอันซับซ้อน ดังนั้นปรัชญาและทฤษฎีการเมืองจึงมิอาจอยู่เหนือ หรือตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางอำนาจ เช่นกันกับมิอาจให้ความรู้ความเข้าใจได้ด้วยการเป็นกลางไม่โอนเอียง ทฤษฎีการเมืองหรือสัจจะหรือความรู้ใดๆเป็นส่วนหนึ่งโดยนัยของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่นักวิชาการกำลังวิเคราะห์อยู่ นักคิดหลังสมัยใหม่จึงมีลักษณะตั้งข้อกังขาอย่างไม่ลดละต่อสภาพความเป็นจริงใดๆที่ดูหนักแน่นสมบูรณ์ และความเชื่อต่างๆที่พากันยึดถืออย่างไม่ลืมหูลืมตา [3]

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้กล่าวกันว่าได้ก้าวเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern era) คือความคิดที่ว่าสิ่งที่เป็นจริง (the real) กับสิ่งที่ปรากฏ (apparent) นั้นอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นความคิดของฟรีดริช นิทซ์เชอ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) ซึ่งความคิดดังกล่าวเข้าไปมีอิทธิพลในวงการศิลปะในช่วงทศวรรษที่ 1920 กล่าวได้ว่าแนวคิดหลังสมัยใหม่ (postmodern) คือการเคลื่อนไหวทางความคิดและวัฒนธรรมที่ต่อต้านนิยาม, ความเชื่อ, ค่านิยม, จารีต, ประเพณีฯลฯ อาทิองค์รวม (totality), ความเป็นเหตุเป็นผล (rationality), ความเป็นสากล(universality), ความเป็นวัตถุวิสัย (objectivity) ฯลฯ ซึ่งนักคิดหลังสมัยใหม่จะตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่ต่างเป็นเพียง “เรื่องเล่าหลัก (meta-narrative)” ที่เกิดขึ้นมาจากข้ออ้างของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ของแนวคิดสมัยใหม่ (modernism) [4]

ความหมาย แก้

คำว่าหลังสมัยใหม่ถูกใช้ครั้งแรกโดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสฌัง-ฟรังซัวร์ ไลโอตารด์ (Jean-François Lyotard) ที่มาของคำว่าหลังสมัยใหม่ก็มาจากชื่อหนังสือของไลโอตารด์ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1979 คือ “สภาวะหลังสมัยใหม่ : รายงานว่าด้วยความรู้ (The Postmodern Condition : A Report on Knowledge)” ซึ่งไลโอตาร์ดกล่าวว่าในทางการ “หาความรู้” ในแนวทางแบบหลังสมัยใหม่นั้นหากจะบอกเวลาที่แน่ชัดที่สุดหรือในทศวรรษที่ 1950 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปเริ่มปรับเปลี่ยนและรื้อสร้าง (reconstruct) ทางความคิดในเรื่องต่างๆ ทั้งในเรื่องมนุษย์, สังคม และวัฒนธรรม ไลโอตาร์ดเรียกร้องให้มนุษย์ปฏิเสธเรื่องเล่าหลัก หรือทฤษฎีต่างๆที่อ้างความเป็นสากลของวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการหาความรู้พื้นฐานของปรัชญาซึ่งเริ่มต้นด้วยการขุดเซาะทฤษฎีทางปรัชญาต่างๆที่อ้างตนว่าสามารถอธิบายความจริงได้ ไลโอตาร์ดอธิบายถึงสิ่งเขาเรียกว่าหลังสมัยใหม่ไว้ว่า

ข้าพเจ้านิยามหลังสมัยใหม่ในฐานะความไม่เชื่อถือในเรื่องเล่าหลัก ความไม่เชื่อถือนี้มิได้เป็นผลจากพัฒนาการของการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ แต่ทว่าเป็นสิ่งที่คาดได้ว่าจะเกิดขึ้น ความล้าสมัยของการทำให้เรื่องเล่าหลักมีความชอบธรรม, เป็นที่ยอมรับ คือความล้มเหลวของหลักอภิปรัชญา และขนบของการศึกษาในมหาวิทยาลัย เรื่องเล่าอื่นๆได้สูญเสียหน้าที่ของมันไปหมด... ...อะไรคือหลังสมัยใหม่?... ข้าพเจ้าไม่ได้รู้สึกสงสัยเลยว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะสมัยใหม่ หากสิ่งใดจะเป็นสิ่งใหม่ก็ต้องเริ่มต้นจากการเป็นสิ่งหลังสมัยใหม่ แนวคิดหลังสมัยใหม่ไม่สามารถถูกเข้าใจว่าเป็นจุดจบของแนวคิดสมัยใหม่ แต่คือจุดเริ่มต้น และจุดที่ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ... หลังสมัยใหม่จะทำให้สิ่งที่ภาวะสมัยใหม่ไม่นำเสนอมีที่ทางที่จะเสนอตัวเอง[5]

อ้างอิง แก้

  1. ศัพท์บัญญัติ ราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พิมพ์คำว่า post-modernism
  2. Stephen D. Tansey. Politics : the basic. (3rd Edition) London : Routledge, 2004, pp.18 - 22.
  3. พิสิษฐิกุล แก้วงาม. ทฤษฎีการเมืองกับการศึกษารัฐศาสตร์. มหาสารคาม : หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม, 2552.
  4. Gary Aylesworth, “Postmodernism,” Stanford Encyclopedia of Philosophy (Sep 30, 2005), Cited by http://plato.stanford.edu/entries/postmodernism
  5. Jean-François Lyotard. The Postmodern Condition : A Report on Knowledge. Geoff Bennington and Brian Massumi (trans.) Minneapolis : The University of Minnesota Press, 1984, pp. xxiv, 79 - 81.

ดูเพิ่ม แก้