แขวงทรายกองดิน

แขวงในเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ทรายกองดิน เป็นแขวงหนึ่งในเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร สภาพทั่วไปเป็นเขตเกษตรกรรม ยกเว้นด้านตะวันตกเฉียงใต้ของท้องที่ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย

แขวงทรายกองดิน
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันKhwaeng Sai Kong Din
แผนที่เขตคลองสามวา เน้นแขวงทรายกองดิน
แผนที่เขตคลองสามวา เน้นแขวงทรายกองดิน
ประเทศ ไทย
เขตปกครองพิเศษกรุงเทพมหานคร
เขตคลองสามวา
พื้นที่[1]
 • ทั้งหมด11.396 ตร.กม. (4.400 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)[2]
 • ทั้งหมด13,401 คน
 • ความหนาแน่น1,175.94 คน/ตร.กม. (3,045.7 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์10510
รหัสภูมิศาสตร์104604
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ที่ตั้งและอาณาเขต แก้

แขวงทรายกองดินตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตคลองสามวา มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้[3]

ที่มาของชื่อแขวง แก้

ชุมชนมุสลิมในท้องที่ที่เป็นแขวงทรายกองดินใต้และแขวงแสนแสบปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นชาวมลายูจากเมืองไทรบุรีซึ่งถูกเทครัวขึ้นมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์[4] ชาวมลายูกลุ่มนี้ได้เข้ามาหักร้างถางพง จับจองที่ดินทำกิน และสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยตามแนวคลองแสนแสบหลังจากที่ถูกเกณฑ์มาร่วมขุดคลองสายนี้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ระยะแรกชาวมุสลิมในบริเวณดังกล่าวใช้บ้านของคหบดีคนหนึ่งเป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา ต่อมาได้ร่วมกันสร้างเรือนไม้ขึ้นเพื่อใช้เป็นสุเหร่าหรือมัสยิด[5] เมื่อเวลาผ่านไปได้ประมาณ 70 ปี ชุมชนนี้มีประชากรมากขึ้น บรรดาสัปปุรุษลงมติว่าจะขยายพื้นที่สุเหร่าให้กว้างขึ้นโดยสร้างเป็นอาคารปูนให้มั่นคงถาวร จึงช่วยกันซื้อทรายมากองไว้บนดินเพื่อรอให้มีปริมาณมากพอ จากนั้นก็มีผู้นำทรายมาสมทบอีกเรื่อย ๆ จนกลายเป็นกองใหญ่ค้างอยู่นาน ผู้คนที่เดินทางผ่านไปมาเห็นกองทรายนี้ทุกครั้งจึงเรียกกันติดปากว่า "ทรายกองดิน"[5] ภายหลังเมื่อมีการจัดการปกครองท้องที่ตามระบบมณฑลเทศาภิบาล ทางราชการจึงนำชื่อนี้มาใช้เป็นชื่อตำบล โดยปรากฏเอกสารเกี่ยวข้องกับตำบลนี้ในราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2448[6]

ยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาอีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จกลับจากเมืองฉะเชิงเทราผ่านทางคลองแสนแสบ เมื่อเข้าเขตสุเหร่าของชุมชน พระองค์ก็เสด็จขึ้นฝั่ง ทรงแวะเยี่ยมเยียนสุเหร่า และมีพระราชดำรัสถามว่า "กองทรายกองดินเหล่านี้มีไว้ทำไม"[7] เมื่อทรงได้รับคำตอบจากผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นว่าจะใช้สร้างอาคารสุเหร่า จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ทหารขนอิฐ หิน และทรายมาทางเรือกลไฟอย่างละหลายลำเพื่อพระราชทานสมทบสร้างสุเหร่าหลังใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานที่ดินจำนวน 40 ไร่ เป็นใบเดินทุ่งให้กับทรัสตีสุเหร่าแห่งนี้ด้วย นับแต่นั้นมาชาวบ้านก็เรียกสุเหร่าแห่งนี้ว่า "สุเหร่าทรายกองดิน"[a][5]

ภายหลังทางราชการได้แบ่งและจัดตั้งเขตการปกครองในระดับตำบลขึ้นใหม่ ส่งผลให้บริเวณชุมชนสุเหร่าทรายกองดิน (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "ทรายกองดิน") ทางฝั่งเหนือของคลองแสนแสบ ย้ายจากตำบลทรายกองดินไปขึ้นกับตำบลทรายกองดินใต้แทน

ประวัติ แก้

เดิมแขวงทรายกองดินเป็นมีฐานะเป็น ตำบลทรายกองดิน ขึ้นกับอำเภอเมือง (อำเภอคลองสามวาเดิม) จังหวัดมีนบุรี จนกระทั่ง พ.ศ. 2474 จังหวัดมีนบุรีถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดพระนคร[8] อำเภอเมืองซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของจังหวัดมีนบุรีจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอมีนบุรี ต่อมาใน พ.ศ. 2505 กระทรวงมหาดไทยได้แยกหมู่ที่ 1–10, 15 และ 16 ของตำบลทรายกองดินไปจัดตั้งเป็นตำบลทรายกองดินใต้[9] และในปีถัดมาได้ขยายเขตสุขาภิบาลมีนบุรีให้ครอบคลุมตำบลทรายกองดินด้วย[10]

ใน พ.ศ. 2514 จังหวัดพระนครถูกรวมกับจังหวัดธนบุรีแล้วเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี[11] จากนั้นใน พ.ศ. 2515 จึงเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นกรุงเทพมหานคร[12] ซึ่งได้เปลี่ยนการเรียกหน่วยการปกครองใหม่ ตำบลทรายกองดินจึงเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น แขวงทรายกองดิน และอยู่ในเขตการปกครองของเขตมีนบุรี ก่อนจะย้ายมาขึ้นกับเขตคลองสามวาซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2540[13]

การคมนาคม แก้

ถนนสายหลักในพื้นที่แขวงทรายกองดิน ได้แก่

ถนนสายรองและทางลัดในพื้นที่แขวงทรายกองดิน ได้แก่

เชิงอรรถ แก้

  1. ปัจจุบันมีชื่อทางการว่า "มัสยิดกมาลุลอิสลาม" อยู่ในแขวงทรายกองดินใต้

อ้างอิง แก้

  1. กองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ. สํานักยุทธศาสตร์และประเมินผล. กรุงเทพมหานคร. "จำนวนประชากร พื้นที่ ความหนาแน่น จำนวนบ้าน จำแนกตามแขวง ในเขตกรุงเทพมหานคร 2563." สถิติกรุงเทพมหานครประจำปี 2563.
  2. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติจำนวนประชากรและบ้าน ข้อมูล ปี 2566 พื้นที่ เขตคลองสามวา." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statyear/#/TableTemplate4/Area/statpop?yymm=66&ccDesc=กรุงเทพมหานคร&topic=statpop&ccNo=10&rcodeNo=1046&rcodeDesc=เขตคลองสามวา 2566. สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2567.
  3. "ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง พื้นที่แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก แขวงทรายกองดินใต้ และเปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงบางชันและแขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (พิเศษ 121 ง): 66–73. 24 ธันวาคม 2540.
  4. สุนทร ทิมะเสน. (2523). มัสยิดผดุงอิสลาม. กรุงเทพฯ : เจริญผล, 5–16. อ้างถึงใน ชัยวัฒน์ มีสันฐาน. (2559). "ทบทวนความสัมพันธ์สยาม-มลายู และการเข้ามาของชาวมลายูในภาคกลางของประเทศไทย." รูสมิแล, 37 (2), 57.
  5. 5.0 5.1 5.2 "ประวัติมัสยิดกมาลุลอิสลาม." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://kamalulislam.blogspot.com/p/blog-page.html [ม.ป.ป.]. สืบค้น 4 สิงหาคม 2562.
  6. "ประกาศบอกล่วงหน้าจะแจกโฉนดสำหรับที่ดิน [ตำบลบางชัน อำเภอเมือง เมืองมีนบุรี, ตำบลทรายกองดิน อำเภอเมือง เมืองมีนบุรี และตำบลบางจากฝั่งใต้ อำเภอภาษีเจริญ แขวงเมืองกรุงเทพฯ]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 (42): 992. 14 มกราคม 2448.
  7. สำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์. กระทรวงมหาดไทย. "นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (เขตบางกะปิ เขตสะพานสูง เขตคลองสามวา และเขตมีนบุรี) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2561." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ins.moi.go.th/Download/command/bangkok.docx 2561. สืบค้น 4 สิงหาคม 2562.
  8. "พระบรมราชโองการ ประกาศ ยุบรวมท้องที่บางมณฑลและบางจังหวัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48: 576–578. 21 กุมภาพันธ์ 2474. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2019-08-04.
  9. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลภายในท้องที่อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 79 (46 ง): 1239–1241. 15 พฤษภาคม 2505.
  10. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลมีนบุรี จังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (38 ง): 1199–1200. 23 เมษายน 2506.
  11. "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 88 (พิเศษ 144 ก): 816–824. 21 ธันวาคม 2514. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-04-25. สืบค้นเมื่อ 2019-08-04.
  12. "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 89 (พิเศษ 190 ก): 187–201. 13 ธันวาคม 2515.
  13. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตมีนบุรี และตั้งเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (พิเศษ 108 ง): 25–30. 18 พฤศจิกายน 2540.