แกงมัสมั่น เป็นอาหารประเภทแกงที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารมลายู ชาวไทยมุสลิมเรียกแกงชนิดนี้ว่า ซาละหมั่น แกงมัสมั่นแบบมุสลิมไทยออกรสหวานในขณะที่ตำรับดั้งเดิมของชาวมุสลิมออกรสเค็มมัน[1] ในไทยมีวิธีการทำสองแบบคือ แบบไทย น้ำพริกแกงมี พริกแห้ง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ลูกผักชี ยี่หร่า ดอกจันทน์ กานพลู ปรุงรสให้หวานนำ เค็มและอมเปรี้ยว เป็นแกงมีน้ำมากเพื่อรับประทานกับข้าว อีกแบบเป็นแบบมุสลิม น้ำขลุกขลิก ใช้จิ้มขนมปังหรือโรตี ในน้ำพริกแกงไม่ใส่ข่า ตะไคร้ ส่วนผสมที่เป็นพริกแห้ง หอม กระเทียม ถั่วลิสงจะทอดก่อน ใส่ผงลูกผักชี ยี่หร่า ใส่มันฝรั่ง บางสูตรใส่มะเขือยาว ก่อนจะมีมันฝรั่งมาปลูกแพร่หลายในไทย จะนิยมใส่มันเทศ[2] สันนิษฐานว่าคำว่า "มัสมั่น" มาจากภาษาเปอร์เซียคำว่า مسلمان (มุสลิมมาน) ซึ่งหมายถึง ชาวมุสลิม[3]

แกงมัสมั่น
แกงมัสมั่นไก่
ประเภทแกง
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิดไทย
ส่วนผสมหลักเนื้อสัตว์ (เนื้อวัว, เนื้อเป็ด หรือเนื้อไก่) หรือเต้าหู้, กะทิ, หัวหอม, ถั่วลิสง หรือ มะม่วงหิมพานต์, มันฝรั่ง, ใบกระวาน, เม็ดยี่หร่า, อบเชย, โป๊ยกั้ก, น้ำตาลปี๊บ, น้ำปลา, พริก, มะขามเปียก

แกงมัสมั่นจัดเป็นอาหารชนิดแรกที่ปรากฏในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความว่า

๏ แกงไก่มัสมั่นเนื้อ นพคุณ พี่เอย
หอมยี่หร่ารสฉุน เฉียบร้อน
ชายใดบริโภคภุญช์ พิศวาส หวังนา
แรงอยากยอหัตถ์ข้อน อกให้หวนแสวง ๚
กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน[4]

แกงมัสมั่นแบบชาวมุสลิมปักษ์ใต้ ต่างจากการปรุงแกงมัสมั่นของชาวไทยภาคกลางคือ จะไม่ทำเป็นน้ำพริกแกงมัสมั่น แต่จะผสมลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกป่นอินเดียและพริกไทยป่นไว้เป็นผงเครื่องแกง จากนั้นจึงนำลงไปผัดกับน้ำมันที่เจียวหัวหอมแล้ว ส่วนแกงมัสมั่นแบบมลายู-ชวา จะใส่กานพลู อบเชย ลงไปผัดกับน้ำมันและหอมแดงจนหอม แล้วจึงใส่พริกป่นอินเดีย ลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกไทยป่นลงไปผัดให้เข้ากัน นอกจากนั้นยังใส่มะพร้าวคั่ว ผงขมิ้น ดอกไม้จีนและหน่อไม้จีนด้วย

เว็บไซต์ CNNGo ได้จัดอันดับ 50 เมนูอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกโดยการลงคะแนนเสียงทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า แกงมัสมั่นได้รับเลือกให้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก[5]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. อบเชย อิ่มสบาย (2004). นิดดา หงษ์วิวัฒน์ (บ.ก.). อาหารมุสลิม. กรุงเทพฯ: แสงแดด. p. 14. ISBN 974-9665-03-1.
  2. สุมล ว่องวงศ์ศรี (2014). จานอร่อยจากปู่ย่า สูตรโบราณ ๑๐๐ ปี. กรุงเทพฯ: สารคดี. p. 17. ISBN 978-616-7767-30-7.
  3. ช่วงพิชิต, ธีรนันท์ (เมษายน 2001). "ตามรอย สำรับแขกคลองบางหลวง". สารคดี. No. 194. ISSN 0857-1538.
  4. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒). "กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์" – โดยทาง วิกิซอร์ซ.
  5. CNNGo staff (21 กรกฎาคม 2011). "World's 50 best foods". CNN Travel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มกราคม 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • ญดา ศรีเงินยวง; ชนิรัตน์ สำเร็จ, แกงไทย, 300 หน้า, กรุงเทพฯ: แสงแดด, ตุลาคม 2556, ISBN 978-616-284-517-8
  • David Thompson, Classic Thai Cuisine, 145 pages, Berkeley, California: Ten Speed Press, September 1993, ISBN 0-89815-563-0
  • Joe Cummings, Lonely Planet World Food Thailand, 288 pages, London: Lonely Planet Publications, March 2000, ISBN 978-1-86450-026-4