เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก

เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก (อังกฤษ: HMHS Britannic) มีชื่อเต็มว่า เรือพยาบาลหลวงบริแทนนิก (His Majesty's Hospital Ship Britannic) เป็นเรือพยาบาลสัญชาติอังกฤษ เป็นเรือลำสุดท้ายและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโครงการเรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิกของสายการเดินเรือไวต์สตาร์ไลน์ และเป็นเรือลำที่สองของไวต์สตาร์ที่ใช้ชื่อ 'บริแทนนิก' เรือลำนี้เป็นเรือฝาแฝดของอาร์เอ็มเอส โอลิมปิก และ อาร์เอ็มเอส ไททานิก โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อให้บริการในฐานะเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ถูกเกณฑ์เข้ามาเป็นเรือพยาบาลก่อนในปี 1915 หลังเรือ อาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย และ อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย ที่ได้ผันตัวเป็นเรือพยาบาลก่อนหน้า เรือ บริแทนนิก เช่นกัน จนกระทั่งเรือ บริแทนนิก อับปางลงในทะเลอีเจียนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1916

เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก
HMHS Britannic
ประวัติ
สหราชอาณาจักร
เจ้าของ ไวต์สตาร์ไลน์
ผู้ให้บริการสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ราชนาวี
ท่าเรือจดทะเบียนลิเวอร์พูล, อังกฤษ
Ordered1911
อู่เรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์, เบลฟาสต์, ไอร์แลนด์เหนือ
Yard number433[1]
ปล่อยเรือ30 พฤศจิกายน 1911
เดินเรือแรก26 กุมภาพันธ์ 1914
สร้างเสร็จ12 ธันวาคม 1915
บริการ23 ธันวาคม 1915 (เรือพยาบาล)
หยุดให้บริการ21 พฤศจิกายน 1916
รหัสระบุ
ความเป็นไปชนกับทุ่นระเบิดของ SM U-73 และอับปางในวันที่ 21 พฤศจิกายน 1916 ใกล้กับเกาะเคีย ในทะเลอีเจียน
ลักษณะเฉพาะ
ชั้น: ชั้นโอลิมปิก
ขนาด (ตัน): 48,158 ตันกรอส
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 53,200 ตัน
ความยาว: 882.9 ฟุต (269.1 เมตร)
ความกว้าง: 94 ฟุต (28.7 เมตร)
ความสูง: 175 ฟุต (53 เมตร) (วัดจากกระดูกงูถึงปลายปล่องไฟ)
กินน้ำลึก: 34 ฟุต 7 นิ้ว (10.5 เมตร)
ความลึก: 64 ฟุต 6 นิ้ว (19.7 เมตร)
ดาดฟ้า: 10 ชั้น; 7 ชั้นสำหรับผู้โดยสาร, 3 ชั้นสำหรับลูกเรือ โดยมี Sun deck, Boat (ชั้น A), Promenade (ชั้น B), C-G, ชั้นท้องเรืออีก 2 ชั้น (เป็นพื้นที่สำหรับหม้อน้ำ, เชื้อเพลิง, เครื่องยนต์, ห้องผนึกน้ำ, ประตูกั้นน้ำ หรือพื้นทีสำหรับเพลาใบจักร เป็นต้น)
ระบบพลังงาน:
  • หม้อไอน้ำแบบปลายคู่ 24 เตา และแบบปลายเดี่ยว 5 เตา[2]
  • เครื่องยนต์ 4 กระบอกสูบไอน้ำแบบ Triple Expansion จำนวน 2 เครื่อง ขับเคลื่อนโดยตรงกับใบจักรซ้าย-ขวา ให้กำลัง 32,000 แรงม้า (12,000 kW) และไอน้ำความดันต่ำที่ผ่านการใช้จากเครื่องยนต์ทั้งสองชุดจะเข้าสู่เครื่องยนต์กังหันไอน้ำความดันต่ำ ขับเคลื่อนผ่านชุดเกียร์สู่ใบจักรกลาง ให้กำลัง 18,000 แรงม้า (15,000 kW) ให้กำลังรวม 50,000 แรงม้า (37,000 kW)
ระบบขับเคลื่อน: ใบจักร 3 ตัว ทำจากสัมฤทธิ์ โดยใบจักรกลางมีขนาด 16 ฟุต 6 นิ้ว ดุมใบจักรเป็นกรวยครอบ พวงใบจักรมี 4 ใบ ส่วนใบจักรซ้ายและขวามีขนาด 23 ฟุต 6 นิ้ว ไม่มีกรวยครอบที่ดุม พวงใบจักรมี 3 ใบ
ความเร็ว:
  • ความเร็วบริการ: 21 นอต (39 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 24 ไมล์ต่อชั่วโมง)
  • ความเร็วสูงสุด: 24 นอต (44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 28 ไมล์ต่อชั่วโมง)
ความจุ: ผู้โดยสาร 3,309 คน

เรือบริแทนนิกถูกสร้างก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่ม และได้รับการออกแบบให้เป็นเรือที่ปลอดภัยที่สุดในบรรดาเรือทั้งสามลำ โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระหว่างการก่อสร้างจากบทเรียนที่ได้จากการอับปางของเรือไททานิก เรือถูกเก็บไว้ที่อู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟ ในเบลฟาสต์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะถูกเกณฑ์ไปเป็นเรือพยาบาล และทำหน้าที่ระหว่างสหราชอาณาจักรและดาร์ดะแนลส์ระหว่างปี ค.ศ. 1915–1916

ในเช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 เรือได้ชนกับทุ่นระเบิดของกองทัพเรือเยอรมันใกล้กับเกาะเคียของกรีซ และอับปางลง 55 นาทีต่อมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 30 คนจากทั้งหมด 1,066 คน และผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งนับเป็นเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่อับปางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[3]

หลังสงคราม ไวต์สตาร์ไลน์ได้รับค่าชดเชยจากการสูญเสียบริแทนนิกด้วยการมอบเรือเอสเอส บิสมาร์ค (SS Bismarck) ให้เป็นส่วนหนึ่งของค่าปฏิกรรมสงคราม และถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอาร์เอ็มเอส มาเจสติก (RMS Majestic)

ในปี 1975 ได้มีการค้นพบซากเรือโดยจาคส์ กูสโต (Jacques Cousteau) ซึ่งนับเป็นเรือโดยสารที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่ใต้ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก[4] ซากเรือถูกซื้อไปในปี ค.ศ. 1996 และปัจจุบันเป็นเจ้าของโดยไซมอน มิลส์ (Simon Mills) นักประวัติศาสตร์ทางทะเล

การเปลี่ยนแปลงการออกแบบ แก้

เดิมทีขนาดของเรือบริแทนนิกนั้นใกล้เคียงกับเรือแฝดพี่ทั้งสองลำ (โอลิมปิกและไททานิก) แต่ขนาดของเรือถูกปรับเปลี่ยนในขณะที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างหลังจากเหตุการณ์เรือไททานิคอับปาง

ด้วยระวางบรรทุก 48,158 ตัน ทำให้เรือบริแทนนิกมีปริมาณภายในที่เหนือกว่าเรือแฝดพี่ แต่ไม่ได้ทำให้กลายเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น เนื่องจากเรือเอสเอส วาเทอร์แลนด์ (SS Vaterland) ของเยอรมนียังคงถือครองตำแหน่งนี้อยู่ด้วยระวางบรรทุกที่สูงกว่าอย่างมาก[5]

เรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิก (Olympic-class ships) ขับเคลื่อนด้วยระบบผสมระหว่างเครื่องยนต์ไอน้ำขยายสามเท่า (triple-expansion steam engines) จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งขับเคลื่อนใบจักรซ้ายและขวา กับกังหันไอน้ำแรงดันต่ำ (low-pressure steam turbine) ที่ใช้ไอน้ำที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ทั้งสองเพื่อขับเคลื่อนใบจักรกลาง ทำให้เรือมีความเร็วสูงสุด 23 นอต[6]

การปรับการออกแบบหลังไททานิกอับปาง แก้

 
แนวคิดของศิลปินเกี่ยวกับอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก หากเป็นเรือเดินสมุทร

เรือบริแทนนิกมีเค้าโครงที่คล้ายคลึงกับเรือแฝดพี่ทั้งสองลำ (โอลิมปิกและไททานิก) แต่หลังจากเหตุการณ์เรือไททานิกอับปางและการสอบสวนที่ตามมา ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบหลายอย่างสำหรับเรือบริแทนนิก การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก่อนเปิดตัวเรือได้แก่:[7]

  • เพิ่มความกว้างของเรือบริเวณห้องเครื่องยนต์และหม้อไอน้ำเป็น 94 ฟุต (29 เมตร) เพื่อรองรับโครงสร้างแบบตัวเรือสองชั้น (double hull)
  • เพิ่มขนาดของเครื่องยนต์กังหันไอน้ำเป็น 18,000 แรงม้า (13,000 กิโลวัตต์) จากเดิมที่เป็น 16,000 แรงม้า (12,000 กิโลวัตต์) ที่ติดตั้งบนเรือสองลำก่อนหน้า เพื่อชดเชยความกว้างของลำเรือที่เพิ่มขึ้น
  • กำแพงกั้นน้ำส่วนกลางได้รับการปรับปรุงให้มีความทนทานมากขึ้น ซึ่งช่วยให้เรือยังสามารถลอยลำอยู่ได้หากมีน้ำท่วมอย่างน้อย 6 ห้อง
  • ขยายความสูงของกำแพงกั้นน้ำ 6 ใน 15 แนวให้สูงขึ้นถึงดาดฟ้าชั้น B
     
    เครนโครงเหล็กไฟฟ้าบนเรือบริแทนนิก

การเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการติดตั้งเครนแขวนเรือชูชีพขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "เครนโครงเหล็ก" (gantry davits) ซึ่งแต่ละตัวขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและสามารถจุเรือชูชีพได้ 6 ลำซึ่งเก็บไว้บนโครงเหล็ก โดยเรือถูกออกแบบมาให้มีเครน 8 ตัว แต่มีเพียง 5 ตัวเท่านั้นที่ติดตั้งก่อนที่เรือจะเข้าประจำการในสงคราม ส่วนที่เหลือใช้เรือชูชีพที่ปล่อยโดยเครนแบบเวลิน (Welin-type davits) ที่ควบคุมด้วยมือเหมือนเดียวกับเรือโอลิมปิกไททานิก[8][9]

เรือบริแทนนิกมีเรือชูชีพเพิ่มเติมที่สามารถเก็บไว้บนหลังคาของเรือนพักลูกเรือ เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากเครน และเครนโครงเหล็กก็สามารถยกเรือชูชีพไปยังอีกฝั่งของเรือได้ ตราบใดที่ปล่องควันไม่ขวางทาง การออกแบบนี้ช่วยให้สามารถปล่อยเรือชูชีพทั้งหมดได้ แม้ว่าเรือจะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำให้ไม่สามารถปล่อยเรือชูชีพได้ที่ด้านตรงข้ามกับที่เอียง เครนบางตัวติดตั้งอยู่ใกล้กับปล่องควัน ทำให้การปล่อยเรือชูชีพที่อยู่ใต้ปล่องควันนั้นยากลำบาก[10]

นอกจากนี้ ลิฟต์ที่เคยหยุดที่ดาดฟ้าชั้น A ในเรือไททานิก ก็ถูกปรับปรุงให้สามารถขึ้นไปถึงดาดฟ้าชั้นเรือชูชีพ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและลูกเรือไปยังเรือชูชีพในกรณีฉุกเฉิน[10]

เรือบริแทนนิกมีเรือชูชีพทั้งหมด 48 ลำ โดยแต่ละลำสามารถจุคนได้อย่างน้อย 75 คน ดังนั้นเรือชูชีพทั้งหมดจึงสามารถจุคนได้อย่างน้อย 3,600 คน ซึ่งสูงกว่าความจุสูงสุดของเรือที่ 3,309 คน

ลักษณะเฉพาะของเรือ แก้

 
แบบดาดฟ้า (deck plan) บางส่วนของเรือบริแทนนิก

สัดส่วนเรือ แก้

  • ความยาว: 882.9 ฟุต (269.1 เมตร)
  • ความกว้าง: 94 ฟุต (28.7 เมตร)
  • ความสูง: 175 ฟุต (53 เมตร) จากกระดูกงูถึงปลายปล่องไฟ
  • ความสูงตัวเรือ: 64 ฟุต 6 นิ้ว (19.7 เมตร)
  • กินน้ำลึก: 34 ฟุต 7 นิ้ว (10.5 เมตร)
  • น้ำหนัก: 48,158 ตัน
  • ระวางขับน้ำ: 53,200 ตัน

ลักษณะทั่วไป แก้

  • สี: ปล่องไฟทาสีเหลืองทั้งปล่อง, ตัวเรือและโครงสร้างส่วนบน (superstructure) ทาสีขาว โดยมีแถบสีทองคาดระหว่างตัวเรือกับโครงสร้างบนเรือ สัญลักษณ์กาชาดสีแดง 6 จุด และแถบสีเขียวคาดกลางตลอดความยาวตัวเรือ ท้องเรือใต้แนวน้ำทาสีแดง
  • ปล่องไฟ: 4 ปล่อง แต่ละปล่องสูง 62 ฟุต (18.8 เมตร) กว้าง 19 ฟุต (5.7 เมตร) ยาว 24.5 ฟุต (7.4 เมตร) ใช้เส้นเคเบิลตรึงปล่องละ 12 เส้น ทำมุม 3.27 องศาจากแนวตั้งฉาก ติดหวูดไอน้ำทุกปล่อง ใช้ระบายควัน 3 ปล่องแรก ส่วนปล่องสุดท้ายใช้ระบายอากาศและทำให้ดูสมดุล
  • เสากระโดงเรือ: 2 ต้น ที่หัวเรือและท้ายเรือ สูงต้นละ 154.1 ฟุต (47 เมตร)
  • หัวเรือ: ออกแบบให้มีที่ตัดน้ำแข็งทางหัวเรือ สมอเรือ 2 ตัว เครนยกสมอ 1 ตัว เสากระโดงเรือ 1 ต้น และช่องขนสินค้า
  • ท้ายเรือ: หางเสือ 1 ตัว สะพานเทียบเรือ และเครนยกสินค้า 4 ตัว
  • วัสดุสร้างเรือ: โครงเรือทำจากเหล็ก โครงสร้างภายในทำจากไม้ เปลือกเรือภายในและภายนอกทำจากเหล็กกล้า พื้นดาดฟ้าเรือปูด้วยไม้สัก ปล่องไฟทำจากเหล็กกล้า เสากระโดงเรือทำจากไม้สนสปรูซ
  • ดาดฟ้า: 10 ชั้น; 7 ชั้นสำหรับผู้โดยสาร และ 3 ชั้นสำหรับลูกเรือ โดยมีดาดฟ้าชั้นอาบแดด (Sun deck) ชั้นเรือบด (Boat deck) และทางเดิน (Promenade) (ชั้น A–B) ชั้น C–G และชั้นท้องเรือ 2 ชั้น (สำหรับหม้อน้ำ ถ่านหิน เครื่องยนต์ ห้องกั้นน้ำ ประตูผนึกน้ำ และเพลาใบจักร)
  • เครนโครงเหล็ก: 8 ตัว แต่ละตัวจุเรือชูชีพได้ 6 ลำ รวมทั้งหมด 48 ลำ (ติดตั้งจริงเพียง 5 ตัว รวมทั้งหมด 30 ลำ)
  • เรือชูชีพ: 48 ลำ แต่ละลำบรรทุกคนได้อย่างน้อย 75 คน ดังนั้นสามารถบรรทุกคนได้อย่างน้อย 3,600 คน ซึ่งเกินความจุสูงสุดของเรือที่ 3,309 คน
  • ตำแหน่งห้องวิทยุสื่อสาร: ชั้นเรือบด กราบซ้าย ถัดจากห้องสะพานเดินเรือ
  • ตะเกียงส่งสัญญาณ: 2 ดวง ติดตั้งทั้งกราบซ้ายและขวา บริเวณปีกสะพานเดินเรือชั้นเรือบด
  • สมอเรือ: 2 ตัว หนักตัวละ 27 ตัน ที่หัวเรือทั้งกราบซ้ายและขวา
  • เครนยกสินค้าไฟฟ้า: 6 ตัว; 2 ตัวบนชั้น C ด้านหน้าโครงสร้างส่วนบนเรือใกล้กับช่องสินค้า (Well deck), 2 ตัวบนชั้น B ค่อนไปทางท้ายเรือ, และ2 ตัวบนชั้น C ด้านหลังโครงสร้างส่วนบนเรือใกล้กับช่องสินค้า
  • ห้องเก็บสินค้า: 9 ห้อง (ห้องมาตรฐาน 6 ห้อง ห้องแช่แข็ง 2 ห้อง และห้องไปรษณีย์ 1 ห้อง)
  • ลิฟต์สินค้า: 2 ตัว (ตัวแรกจากชั้น A ไปชั้น D, ตัวที่สองจากชั้น D ไปชั้น G และลงท้องเรือโดยบันได)
  • กำแพงกั้นน้ำ: 15 แนว แบ่งเป็น 16 ห้อง พร้อมประตูประตูผนึกน้ำทำงานด้วยไฟฟ้า
  • ความจุผู้โดยสาร: 3,309 คน
  • ลูกเรือ: ประมาณ 900 คน

ระบบพลังงาน แก้

 
กังหันไอน้ำแรงดันต่ำของเรือบริแทนนิก
  • เชื้อเพลิง: ถ่านหิน
  • หม้อไอน้ำ: 29 ตัว ติดตั้งในห้องหม้อไอน้ำ 6 ห้อง แบ่งเป็น:
    • หม้อไอน้ำแบบเติมถ่านได้ 2 ฝั่ง (double-ended) 24 เตา (6 ช่องเตาต่อหม้อน้ำ 1 ตัว)
    • หม้อไอน้ำแบบเติมถ่านได้ฝั่งเดียว (single-ended) 5 เตา (3 ช่องเตาต่อหม้อน้ำ 1 ตัว)
  • อัตราสิ้นเปลือง: ถ่านหิน 825 ตัน/วัน
  • น้ำจืด 14,000 แกลลอน/วัน

ระบบขับเคลื่อน แก้

  • เครื่องยนต์: เครื่องยนต์ไอน้ำแบบขยายตัวสามเท่า (Triple Expansion) 4 สูบ จำนวน 2 เครื่อง ขับเคลื่อนใบจักรซ้ายและขวาโดยตรง ให้กำลัง 32,000 แรงม้า (12,000 กิโลวัตต์) และไอน้ำความดันต่ำที่ผ่านการใช้จากเครื่องยนต์ทั้งสองจะเข้าสู่เครื่องยนต์กังหันไอน้ำความดันต่ำ โดยขับเคลื่อนผ่านชุดเกียร์สู่ใบจักรกลาง ให้กำลัง 18,000 แรงม้า (15,000 กิโลวัตต์) รวม 50,000 แรงม้า (37,000 กิโลวัตต์)
  • ใบจักร: 3 ตัว ทำจากสัมฤทธิ์ ใบจักรกลางมีขนาด 16 ฟุต 6 นิ้ว (5 เมตร) ดุมใบจักรเป็นกรวยครอบ พวงใบจักรมี 4 ใบ ส่วนใบจักรซ้ายและขวามีขนาด 23 ฟุต 6 นิ้ว (7.1 เมตร) ดุมใบจักรไม่มีกรวยครอบ พวงใบจักรมี 3 ใบ
  • หางเสือ: 1 ตัว หนัก 102.6 ตัน ยึดด้วยพานพับ 6 จุด

ความเร็ว แก้

  • ความเร็วสูงสุด: 24 นอต (44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 28 ไมล์ต่อชั่วโมง)
  • ความเร็วบริการ: 21 นอต (39 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 24 ไมล์ต่อชั่วโมง)

ประวัติ แก้

จุดกำเนิด แก้

 
แบบจำลองต้นแบบของอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ในปี ค.ศ. 1914

ในปี ค.ศ. 1907 เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้จัดการทั่วไปของไวต์สตาร์ไลน์ และลอร์ดเพียร์รี ประธานอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์ ได้ตัดสินใจสร้างเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ 3 ลำ เพื่อแข่งขันกับเรืออาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย (RMS Lusitania) และมอริเทเนีย (RMS Mauretania) ของคูนาร์ดไลน์ ไม่ใช่ในด้านความเร็ว แต่เป็นในด้านความหรูหราและความปลอดภัย[11] ชื่อของเรือทั้งสามลำได้รับการตัดสินใจในภายหลังและสะท้อนถึงความตั้งใจของผู้ออกแบบเกี่ยวกับขนาดของพวกมัน ได้แก่: โอลิมปิก ไททานิก และบริแทนนิก[12]

การก่อสร้างเรือโอลิมปิกและไททานิกเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1908 และ 1909 ตามลำดับ[13] ขนาดของเรือทั้งสองนั้นใหญ่โตมากจนจำเป็นต้องสร้างเครนสนามอาร์โรล (Arrol Gantry) เพื่อรองรับขนาดเรือโดยเฉพาะ และขยายขนาดพื้นที่ก่อสร้างเพื่อให้กว้างพอที่จะสร้างเรือสองลำพร้อมกันได้[14]

เรือทั้งสามลำได้รับการออกแบบให้มีความยาว 270 เมตร และมีระวางขับน้ำรวมกว่า 45,000 ตัน แม้ว่าความเร็วที่ออกแบบไว้ประมาณ 22 นอตนั้นจะต่ำกว่าเรือลูซิเทเนีย และมอริเทเนียมาก แต่ก็ยังสามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์[15]

ข่าวลือการเปลี่ยนชื่อ แก้

 
เครนสนามอาร์โรล (Arrol Gantry) ตั้งตระหง่านเหนือตัวเรือบริแทนนิก ราวปี ค.ศ. 1914

แม้ว่าเรื่องนี้ทั้งไวต์สตาร์ไลน์และอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟจะปฏิเสธมาตลอด[10][16] แต่มีบางแหล่งอ้างว่าเดิมทีเรือบริแทนนิกจะถูกตั้งชื่อว่า "ไจแกนติก" (Gigantic) แต่ถูกเปลี่ยนเพื่อไม่ให้แข่งขันกับหรือสร้างการเปรียบเทียบกับชื่อของเรือไททานิก[17][1] หนึ่งในแหล่งที่มาคือ โปสเตอร์ของเรือที่มีชื่อว่าไจแกนติกอยู่ด้านบน[18] แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ได้แก่ หนังสือพิมพ์อเมริกันในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1911 ที่ระบุว่ามีการสั่งซื้อเรือชื่อไจแกนติกโดยไวต์สตาร์ไลน์รวมถึงหนังสือพิมพ์อื่น ๆ จากทั่วโลกทั้งในระหว่างการก่อสร้างและหลังจากการอับปางของไททานิก[19][20][21][22]

ทอม แม็กคลัสกี (Tom McCluskie) ผู้จัดการฝ่ายเก็บเอกสารและนักประวัติศาสตร์ของฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟ ยืนยันว่าในช่วงที่เขาทำงานอยู่ "ไม่เคยเห็นเอกสารอ้างอิงอย่างเป็นทางการใด ๆ ที่ใช้ชื่อไจแกนติก หรือเสนอให้ใช้ชื่อนี้กับเรือลำที่สามในเรือชั้นโอลิมปิก"[23][24] มีการเปลี่ยนแปลงที่เขียนด้วยลายมือลงในสมุดบันทึกใบสั่งซื้อ ซึ่งลงวันที่ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1912 แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเพียงการอ้างถึงความกว้างของเรือที่กำลังก่อสร้างอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ชื่อของเรือแต่อย่างใด[24]

การก่อสร้าง แก้

 
หนึ่งในปล่องไฟของเรือบริแทนนิกกำลังถูกขนส่งไปยังอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟ

กระดูกงูของเรือบริแทนนิกถูกวางในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1911 ที่อู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟ ในเบลฟาสต์ บนแท่นยกลำเดิมที่เคยใช้สร้างเรือโอลิมปิก[9] โดยมีการวางแผนที่จะนำเรือเข้าประจำการในช่วงต้นปี ค.ศ. 1914[25] เนื่องจากมีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากเหตุการณ์เรือไททานิก ทำให้การสร้างเรือบริแทนนิดต้องเสร็จล่าช้าออกไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914[26]

เรือบริแทนนิกปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914[27] มีการกล่าวสุนทรพจน์หลายครั้งต่อหน้าสื่อมวลชน และมีการจัดงานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่การปล่อยเรือ[28] หลังจากนั้นจึงเริ่มการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ บนเรือ และเข้าอู่แห้งในเดือนกันยายนเพื่อติดตั้งใบจักร[29]

 
พิธีปล่อยเรือบริแทนนิกลงน้ำ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914

การใช้พื้นที่เดิมของเรือโอลิมปิกช่วยประหยัดเวลาและเงินของอู่ต่อเรือ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องสร้างท่าเรือลำที่สามที่มีขนาดใกล้เคียงกับเรือสองลำก่อนหน้านี้ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ก่อนที่เรือบริแทนนิกจะเริ่มให้บริการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างนครนิวยอร์กและเซาแทมป์ตัน สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้ปะทุขึ้น อู่ต่อเรือทั้งหมดที่มีสัญญากับกระทรวงทหารเรือ (Admiralty) ได้รับสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ก่อน ส่งผลให้โครงการเรือพลเรือนทั้งหมดรวมถึงเรือบริแทนนิกถูกชะลอไว้[30]

กองทัพเรือได้ขอเรือจำนวนมากมาใช้เป็นเรือลาดตระเวนติดอาวุธหรือเรือขนส่งทหาร กระทรวงทหารเรือได้จ่ายเงินให้บริษัทต่าง ๆ สำหรับการใช้เรือของพวกเขา แต่ความเสี่ยงที่เรือจะอับปางในการปฏิบัติการทางเรือนั้นสูงมาก เรือโดยสารขนาดใหญ่ในมหาสมุทรไม่ได้ถูกนำไปใช้ในกองทัพเรือในตอนแรกเนื่องจากเรือขนาดเล็กใช้งานง่ายกว่า เรือโอลิมปิกกลับมาที่เบลฟาสต์ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1914 ในขณะที่งานประกอบเรือบริแทนนิกยังคงดำเนินต่อไปอย่างช้า ๆ[30]

แปลงเป็นเรือพยาบาล แก้

 
เรือบริแทนนิกหลังจากแปลงเป็นเรือพยาบาลปฏิบัติการ ราวเดือนมกราคม ค.ศ. 1916

เมื่อปฏิบัติการทางเรือขยายไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ความต้องการเรือขนส่งที่มีระวางบรรทุกเพิ่มขึ้นก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1915 เรือบริแทนนิกได้ผ่านการทดสอบเครื่องยนต์ และเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าประจำการในกรณีฉุกเฉินภายในเวลาเพียง 4 สัปดาห์ เดือนเดียวกันนั้นยังเป็นครั้งแรกที่มีการสูญเสียเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ของพลเรือนคือ เรืออาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย ของคูนาร์ดไลน์ ถูกเรือดำน้ำ SM U-20 ของเยอรมนีปล่อยตอร์ปิโดโจมตีใกล้ชายฝั่งไอร์แลนด์จนอับปาง[31]

เดือนถัดมา กองทัพเรือตัดสินใจใช้เรือโดยสารที่เพิ่งได้รับมาจากการขอเมือเร็ว ๆ นี้มาใช้งานเป็นเรือขนส่งทหารในยุทธการกัลลิโพลี (เรียกอีกอย่างว่าการทัพดาร์ดะเนลส์) เรือลำแรกที่แล่นออกไปคือ อาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย และอาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย ของคูนาร์ดไลน์

การยกพลขึ้นบกที่กัลลิโพลีได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นหายนะและจำนวนผู้เสียชีวิตก็มากขึ้น ความต้องการเรือพยาบาลขนาดใหญ่สำหรับการรักษาและการอพยพผู้บาดเจ็บก็เห็นได้ชัด เรืออาควิเทเนียถูกเปลี่ยนเป็นเรือพยาบาลในเดือนสิงหาคม (ตำแหน่งของเรือในฐานะเรือขนส่งทหารถูกแทนที่ด้วยเรือโอลิมปิกในเดือนกันยายน) จากนั้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1915 เรือบริแทนนิกก็ถูกเรียกมาใช้งานเป็นเรือพยาบาล หลังจากเทียบท่าอยู่ในเบลฟาสต์[ต้องการอ้างอิง]

เรือถูกทาสีใหม่เป็นสีขาวพร้อมสัญลักษณ์กาชาดสีแดงขนาดใหญ่และแถบสีเขียวแนวนอน และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "เอชเอ็มเอชเอส (เรือพยายาลหลวง) บริแทนนิก"[30] และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกัปตันชาลส์ อัลเฟรด บาร์ตเล็ตต์ (Charles Alfred Bartlett)[32] ภายในมีการติดตั้งเตียง 3,309 เตียงและห้องผ่าตัดหลายห้อง พื้นที่ส่วนกลางของดาดฟ้าชั้นบนถูกเปลี่ยนเป็นห้องพักสำหรับผู้บาดเจ็บ ห้องโดยสารบนดาดฟ้าชั้น B ถูกใช้เป็นที่พักของแพทย์ ห้องอาหารและห้องรับรองผู้โดยสารชั้นหนึ่งบนดาดฟ้าชั้น D ถูกเปลี่ยนเป็นห้องผ่าตัด สะพานล่างถูกใช้เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บเล็กน้อย[32] อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับการติดตั้งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1915[30]

ประจำการครั้งแรก แก้

 
เรือบริแทนนิกพร้อมกับเรือพยาบาลเอชเอ็มเอชเอส กาเลกา กำลังรับผู้บาดเจ็บขึ้นเรือที่มูดรอส

เมื่อเรือบริแทนนิกถูกประกาศว่าพร้อมให้บริการในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1915 ที่ลิเวอร์พูล เรือก็ได้รับมอบหมายให้เป็นเรือพยาบาลและมีทีมแพทย์ประจำเรือ ประกอบด้วยพยาบาล 101 คน นายทหารสัญญาบัตร 336 คน นายทหารประทวน 52 คน และลูกเรือ 675 คน[32]

วันที่ 23 ธันวาคม เรือออกจากลิเวอร์พูลมุ่งหน้าไปยังท่าเรือมูดรอส บนเกาะเลมนอสในทะเลอีเจียนเพื่อนำทหารที่ป่วยและบาดเจ็บกลับมา[33] โดยเข้าร่วมกับเรืออีกหลายลำในเส้นทางเดียวกัน รวมทั้งเรือมอริเทเนีย อาควิเทเนีย[34] และโอลิมปิก[35] เรือแวะพักเติมถ่านหินที่เนเปิลส์ก่อนจะเดินทางต่อไป หลังจากกลับมา เรือได้ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลลอยน้ำนอกเกาะไวต์เป็นเวลา 4 สัปดาห์[36]

การเดินทางครั้งที่ 3 ของเรือบริแทนนิกนั้นเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 4 เมษายน ค.ศ. 1916 ในเดือนมกราคมก่อนหน้านั้น ทางการได้สั่งอพยพทหารออกจากพื้นที่ดาร์ดะแนลส์[37] เมื่อสิ้นสุดการรับราชการทหารเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1916 เรือบริแทนนิกได้เดินทางกลับไปยังเบลฟาสต์เพื่อเข้ารับการปรับปรุงและแปลงสภาพให้เป็นเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก รัฐบาลอังกฤษจ่ายเงินชดเชยให้กับไวต์สตาร์ไลน์เป็นจำนวนเงิน 75,000 ปอนด์เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการแปลงสภาพเรือ การแปลงสภาพดำเนินไปเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะถูกขัดจังหวะโดยการเรียกเรือกลับเข้าประจำการทหารอีกครั้ง[38]

เรียกกลับ แก้

 
เรือบริแทนนิกแวะเติมถ่านหินที่เนเปิลส์ ราวปี ค.ศ. 1915–16

กองทัพเรือเรียกเรือบริแทนนิกกลับเข้าประจำการในฐานะเรือพยาบาลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1916 และกลับสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสำหรับการเดินทางครั้งที่ 4 ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน[39] วันที่ 29 กันยายน ระหว่างทางไปเนเปิลส์ เรือเผชิญกับพายุรุนแรงซึ่งเรือสามารถผ่านไปได้โดยไม่ได้รับความเสียหาย[40] เรือเดินทางกลับเซาแทมป์ตันในวันที่ 9 ตุลาคม ถือเป็นเดินทางเป็นครั้งที่ 5 แต่การเดินทางครั้งนี้ก็ถูกขัดขวางด้วยการกักตัวลูกเรือเมื่อเรือมาถึงมูดรอส (ปัจจุบันคือมูโดรส) เนื่องจากลูกเรือมีอาการอาหารเป็นพิษ[41]

ชีวิตบนเรือบริแทนนิกดำเนินไปตามกิจวัตรประจำวัน:[33]

  • 06:00 น.: ปลุกผู้ป่วยและทำความสะอาดสถานที่
  • 06:30 น.: เสิร์ฟอาหารเช้า
  • 07:00 น.: กัปตันตรวจเยี่ยมเรือ
  • 12:30 น.: เสิร์ฟอาหารกลางวัน
  • 16:30 น.: เสิร์ฟน้ำชา
  • ช่วงระหว่างมื้ออาหาร: แพทย์ทำการรักษาผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ต้องการเดินเล่นสามารถทำได้
  • 20:30 น.: ผู้ป่วยเข้านอน กัปตันตรวจเยี่ยมเรืออีกครั้ง
  • บนเรือมีการจัดชั้นเรียนทางการแพทย์เพื่อฝึกอบรมพยาบาล[42]

เดินทางเที่ยวสุดท้าย/อับปาง แก้

 
ที่ตั้งของเกาะเคียในหมู่เกาะซิคละดีส ในทะเลอีเจียน
 
ช่องแคบระหว่างเกาะมาโครนิซอส (ขวา) และเกาะเคีย (ซ้าย) ซึ่งเรือบริแทนนิกอับปางลงใกล้กับเกาะคีย์ (จุด X)

หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทาง 5 ครั้งไปยังเขตสงครามตะวันออกกลาง และกลับมายังสหราชอาณาจักรเพื่อส่งผู้ป่วยและทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เรือบริแทนนิกก็ได้ออกจากเซาแทมป์ตันมุ่งหน้าสู่เลมนอสในเวลา 14:23 น. ของวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 นับเป็นการเดินทางครั้งที่ 6 ของเรือไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน[43] เรือแล่นผ่านยิบรอลตาร์ในเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 15 พฤศจิกายน และมาถึงเนเปิลส์ในเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน เพื่อหยุดเติมถ่านหินและน้ำตามปกติ ซึ่งถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจขั้นแรกของเรือ[44]

เกิดพายุรุนแรงพัดถล่มจนเรือต้องจอดที่เนเปิลส์จนถึงบ่ายวันที่ 19 พฤศจิกายน เมื่อกัปตันบาร์ตเล็ตต์ตัดสินใจใช้ประโยชน์จากช่วงสั้น ๆ ที่สภาพอากาศดีขึ้นและเดินทางต่อไป ทะเลก็กลับมามีคลื่นอีกครั้งเมื่อเรือออกจากท่า พายุสงบลงในเช้าวันรุ่งขึ้นและเรือก็ผ่านช่องแคบเมสซินาไปได้อย่างราบรื่น แล่นผ่านแหลมมะตะบันในช่วงรุ่งสางของวันที่ 21 พฤศจิกายน และในตอนเช้า เรือก็แล่นด้วยความเร็วเต็มที่เข้าสู่ช่องแคบเคีย[44]

ขณะนั้นบนเรือมีผู้โดยสาร 1,066 คน แบ่งเป็นลูกเรือ 673 คน เสนารักษ์ทหารบก (Royal Army Medical Corps; RAMC) 315 คน พยาบาล 77 คน และกัปตัน[45]

เสียงระเบิดบนเรือ แก้

 
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 รายงานข่าวการอับปางของเรือพยาบาลเอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก

เวลา 08.12 น. ตามเวลายุโรปตะวันออกของวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 เรือเอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก ได้รับแรงกระแทกจากระเบิดหลังจากชนกับทุ่นระเบิดและจมลง 55 นาทีต่อมา[46] ต่อมาได้มีการเปิดเผยว่าทุ่นระเบิดเหล่านี้ถูกวางไว้ในช่องแคบเอา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1916 โดยเรือดำน้ำ SM U-73 ภายใต้คำสั่งของร้อยโทกูสตาฟ ซีส [de]

เมื่อเกิดระเบิดขึ้น บรรยากาศในห้องอาหารก็เปลี่ยนไปทันที แพทย์และพยาบาลรีบออกไปประจำจุดของตนเองอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ตอบสนองแบบเดียวกัน เพราะแรงระเบิดบริเวณส่วนท้ายของเรือไม่รุนแรงเท่าส่วนหัว ทำให้หลายคนคิดว่าเรือชนกับเรือลำเล็กกว่า กัปตันบาร์ตเล็ตต์และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฮูมอยู่บนสะพานเดินเรือในขณะนั้น และสถานการณ์ที่ร้ายแรงก็ปรากฏชัดขึ้นอย่างรวดเร็ว[47] การระเบิดเกิดขึ้นที่ด้านกราบขวา[47] ระหว่างห้องเก็บของหมายเลข 2 และ 3 แรงระเบิดทำให้กำแพงกั้นน้ำระหว่างห้องเก็บของหมายเลข 1 และส่วนหัวเรือเสียหาย[46] ห้องกั้นน้ำ 4 ห้องแรกที่อยู่ด้านหน้าเรือเริ่มเต็มไปด้วยน้ำอย่างรวดเร็ว[46] อุโมงค์คนต้มน้ำ (boiler-man's tunnel) ที่เชื่อมห้องพักของคนต้มน้ำที่หัวเรือกับห้องหม้อไอน้ำหมายเลข 6 ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง และน้ำก็ไหลเข้าห้องหม้อไอน้ำนั้น[46]

กัปตันบาร์ตเล็ตต์สั่งให้ปิดประตูผนึกน้ำ ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ และให้ลูกเรือเตรียมเรือชูชีพ[46] สัญญาณ SOS ถูกส่งออกไปทันที และเรืออื่น ๆ หลายลำในบริเวณนั้นก็ได้รับสัญญาณ รวมถึงเรือหลวงสเกิร์จ (HMS Scourge) และเรือหลวงเฮโรอิก (HMS Heroic) แต่บริแทนนิกไม่ได้รับสัญญาณตอบกลับใด ๆ โดยที่กัปตันบาร์ตเล็ตต์และเจ้าหน้าที่วิทยุบนเรือไม่ทราบเลยว่าแรงระเบิดครั้งแรกนั้นทำให้สายอากาศที่แขวนอยู่ระหว่างเสากระโดงเรือขาด[48]

ในขณะที่ประตูผนึกน้ำของอุโมงค์คนต้มน้ำเสียหาย ประตูผนึกน้ำระหว่างห้องหม้อไอน้ำหมายเลข 6 และ 5 ก็ไม่สามารถปิดได้อย่างถูกต้อง[46] ทำให้น้ำไหลเข้าไปในห้องหม้อไอน้ำหมายเลข 5 มากขึ้น ขณะนี้เรือบริแทนนิกถึงขีดจำกัดการถูกน้ำท่วมแล้ว โดยเรือสามารถลอยลำอยู่เหนือน้ำได้โดยมีห้องกันน้ำอย่างน้อย 6 ห้องถูกน้ำท่วม[49] มาตรการเหล่านี้ถูกนำมาใช้หลังจากการจมของไททานิก (ไททานิกสามารถลอยลำอยู่น้ำได้ด้วยช่องกันน้ำ 4 ช่องแรกเท่านั้น)[50]

กำแพงกั้นน้ำที่สำคัญถัดไปคือระหว่างห้องหม้อไอน้ำหมายเลข 5 และ 4 ที่ประตูผนึกน้ำยังคงสภาพสมบูรณ์ และน่าจะรับประกันความอยู่รอดของเรือได้ แต่ทว่ามีช่องหน้าต่างเรือที่เปิดอยู่ตามชั้นล่างด้านหน้าเรือ ซึ่งเอียงอยู่ใต้ระดับน้ำภายในไม่กี่นาทีหลังเกิดระเบิด เนื่องจากพยาบาลได้เปิดช่องหน้าต่างเหล่านี้ส่วนใหญ่เพื่อระบายอากาศในห้องผู้ป่วย ซึ่งขัดกับคำสั่งที่ได้รับไว้ เมื่อเรือเอียงมากขึ้น น้ำก็ท่วมถึงระดับนี้และเริ่มไหลเข้าด้านหลังจากกำแพงกั้นน้ำระหว่างห้องหม้อไอน้ำหมายเลข 5 และ 4 ด้วยห้องกันน้ำมากกว่า 6 ห้องที่ถูกน้ำท่วม จึงทำให้เรือไม่สามารถลอยลำอยู่เหนือน้ำได้อีกต่อไป[50]

อพยพ แก้

 
ภาพการจมของเรือบริแทนนิก

บนสะพานเดินเรือ กัปตันบาร์ตเล็ตต์กำลังพิจารณาความพยายามที่จะช่วยเรือ หลังจากการระเบิดเพียง 2 นาที คนงานในห้องหม้อไอน้ำหมายเลข 5 และ 6 ก็ถูกอพยพ ในเวลาประมาณ 10 นาที บริแทนนิกก็อยู่ในสภาพเดียวกับไททานิกหลังจากชนภูเขาน้ำแข็ง 1 ชั่วโมง เพียง 15 นาทีหลังจากเรือถูกกระแทก ช่องหน้าต่างที่เปิดอยู่บนชั้น E ก็อยู่ใต้น้ำ จากนั้นน้ำก็ไหลเข้าสู่ส่วนท้ายของเรือจากช่องกันน้ำระหว่างห้องหม้อหมายเลข 4 และ 5 ทำให้เรือเอียงไปทางกราบขวาอย่างรวดเร็วเนื่องจากน้ำหนักของน้ำที่ไหลเข้ามาทางกราบขวา[51]

ในขณะที่มองเห็นเกาะเคียของกรีซอยู่ทางด้านขวา กัปตันบาร์ตเล็ตต์จึงสั่งให้หันเรือเข้าหาเกาะเพื่อพยายามนำเรือไปเกยตื้น ผลกระทบจากการเอียงไปทางกราบขวาของเรือและน้ำหนักของหางเสือ ทำให้การพยายามควบคุมเรือด้วยเครื่องยนต์ของตัวเองเป็นไปได้ยาก และระบบบังคับเลี้ยวได้รับความเสียหายจากการระเบิดที่ทำให้ไม่สามารถบังคับเรือด้วยหางเสือได้ กัปตันสั่งให้ขับเคลื่อนใบจักรกราบซ้ายด้วยความเร็วที่สูงกว่ากราบขวา ซึ่งช่วยให้เรือเคลื่อนตัวไปทางเกาะได้ระดับหนึ่ง[51]

ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็เตรียมพร้อมที่จะอพยพ กัปตันบาร์ตเล็ตต์ได้สั่งให้เตรียมเรือชูชีพ แต่ยังไม่อนุญาตให้ปล่อยลงน้ำ ทุกคนนำสิ่งของมีค่าที่สุดติดตัวไปด้วยก่อนอพยพ บาทหลวงประจำเรือเก็บพระคัมภีร์ของเขาไว้ ผู้ป่วยและพยาบาลจำนวนน้อยบนเรือได้รับการรวมตัวกัน พันตรีแฮโรลด์ พรีสต์ลีย์ (Major Harold Priestley) รวบรวมทหารของเขาจากหน่วยเสนารักษ์ทหารบก (Royal Army Medical Corps) ไปที่ด้านหลังของชั้น A และตรวจสอบห้องโดยสารเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้[51]

ขณะที่กัปตันบาร์ตเล็ตต์ยังคงพยายามบังคับเรืออย่างสุดชีวิต เรือก็เอียงเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกเรือคนอื่น ๆ เริ่มกลัวว่าเรือจะเอียงมากเกินไป จึงตัดสินใจปล่อยเรือชูชีพลำแรกลงน้ำโดยไม่รอคำสั่ง[51] บาร์ตเล็ตต์ตัดสินใจหยุดเรือและเครื่องยนต์ ก่อนที่เขาจะทำได้ เรือชูชีพสองลำถูกปล่อยลงน้ำทางฝั่งกราบซ้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ชั้นสาม ฟรานซิส ลอว์ส (Francis Laws) ใบจักรที่ยังคงหมุนอยู่และโผล่ขึ้นมาเพียงบางส่วน ได้ดูดและทำลายเรือชูชีพทั้งสองลำเข้าไป คร่าชีวิตผู้คนไป 30 คน[50] ในที่สุด บาร์ตเล็ตต์ก็สามารถหยุดใบจักรเรือได้ก่อนที่พวกมันจะทำลายเรือชูชีพเพิ่ม[52]

ช่วงเวลาสุดท้าย แก้

 
เรือบริแทนนิกกำลังอับปาง

เวลา 08:50 น. ผู้โดยสารและลูกเรือส่วนใหญ่ได้อพยพลงเรือชูชีพทั้ง 35 ลำที่ปล่อยลงน้ำเรียบร้อยแล้ว ณ จุดนี้ บาร์ตเล็ตต์สรุปว่าอัตราการจมของเรือลดลง เขาจึงสั่งหยุดการอพยพและสั่งให้สตาร์ทเครื่องยนต์อีกครั้งด้วยความหวังว่าจะยังสามารถนำเรือขึ้นฝั่งได้[53]

เวลา 09:00 น. กัปตันบาร์ตเล็ตต์ได้รับแจ้งว่าอัตราการท่วมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเรือกำลังแล่นไปข้างหน้า และน้ำท่วมมาถึงชั้น D แล้ว เมื่อตระหนักว่าไม่มีความหวังที่จะไปถึงฝั่งทันเวลา บาร์ตเล็ตต์จึงได้สั่งหยุดเครื่องยนต์เป็นครั้งสุดท้าย และส่งสัญญาณเตือนภัยสองครั้งด้วยเสียงนกหวีด ซึ่งเป็นสัญญาณให้สละเรือ[54] เมื่อน้ำท่วมถึงสะพานเดินเรือ เขาและผู้ช่วยผู้กัปตันไดค์เดินลงไปบนดาดฟ้าและลงไปในน้ำ ว่ายน้ำไปยังเรือชูชีพแบบพับได้ ซึ่งพวกเขายังคงประสานงานปฏิบัติการกู้ภัยต่อไป[55]

เรือเอียงไปทางกราบขวาอย่างช้า ๆ และปล่องควันก็พังลงทีละปล่องขณะที่เรือล่มอย่างรวดเร็ว เมื่อท้ายเรือโผล่พ้นน้ำ หัวเรือก็ก็ได้กระแทกกับพื้นทะเลแล้ว เนื่องจากความยาวของเรือที่มากกว่าความลึกของน้ำ แรงกระแทกจึงทำให้หัวเรือได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ก่อนที่เรือจะจมหายไปใต้คลื่นทั้งหมดในเวลา 09:07 น. ซึ่งเป็นเวลา 55 นาทีหลังจากเกิดระเบิด[54]

ไวโอเล็ต เจสซอป (Violet Jessop) ผู้รอดชีวิตจากเรือไททานิกและเป็นหนึ่งในผู้โดยสารบนเรือโอลิมปิกเมื่อครั้งชนกับเรือหลวงฮอว์ก บรรยายถึงวินาทีสุดท้ายของเรือบริแทนนิกไว้ดังนี้:[56]

"หัวเรือค่อย ๆ จมลงเล็กน้อย จากนั้นก็จมต่ำลงอีกและต่ำลงเรื่อย ๆ สิ่งของทั้งหมดบนดาดฟ้าหล่นลงไปในทะเลราวกับของเล่นเด็ก จากนั้นเรือก็พุ่งตัวลงอย่างน่ากลัว ท้ายเรือยกขึ้นสูงหลายร้อยฟุตสู่ท้องฟ้า จนกระทั่งในที่สุด เรือก็หายไปในความลึก เสียงของเรือที่หายไปดังกึกก้องไปทั่วผืนน้ำด้วยความรุนแรงอย่างไม่นึกฝัน...."

เมื่อเรือบริแทนนิกอับปาง เรือลำนี้ก็กลายเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่อับปางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นเรือโดยสารที่จมลงใต้ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก[57]

ช่วยเหลือผู้รอดชีวิต แก้

 
ผู้รอดชีวิตจากเรือบริแทนนิกบนเรือหลวงสเกิร์จ

เมื่อเปรียบเทียบกับการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตของเรือไททานิก การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตของเรือบริแทนนิกนั้นสะดวกกว่าด้วยปัจจัยสามประการ ได้แก่:

  • อุณหภูมิที่สูงกว่า: 20 องศาเซลเซียส (68 องศาฟาเรนไฮต์)[58] เทียบกับ –2 องศาเซลเซียส (28 องศาฟาเรนไฮต์) ของไททานิก[59] สภาพอากาศที่อบอุ่นกว่าช่วยป้องกันผู้รอดชีวิตจากภาวะอุณหภูมิต่ำ
  • เรือชูชีพที่มีมากกว่า: เรือชูชีพ 35 ลำถูกปล่อยลงน้ำสำเร็จและลอยอยู่ได้[60] เทียบกับไททานิกที่มีเพียง 20 ลำ[61] จำนวนเรือชูชีพที่มากขึ้นทำให้สามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น
  • ความช่วยเหลือที่อยู่ใกล้กว่า: ความช่วยเหลือมาถึงภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงหลังจากการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือครั้งแรก[60] เทียบกับ 3 ชั่วโมงครึ่งของไททานิก[62] การมาถึงของความช่วยเหลือที่สั้นลงช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต

ผู้ที่เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุเป็นกลุ่มแรกคือชาวประมงจากเกาะเคีย พวกเขานำเรือคาอีค (caïque) ของตนมาช่วยเหลือผู้รอดชีวิตหลายคนขึ้นจากน้ำ[63] เวลา 10:00 น. เรือหลวงเอชเอ็มเอส สเกิร์จ (HMS Scourge) ได้พบเห็นเรือชูชีพลำแรกและอีก 10 นาทีต่อมาก็ได้หยุดเรือและช่วยเหลือผู้รอดชีวิต 339 คน เรือกลไฟติดอาวุธเอชเอ็มเอส เฮโรอิก (HMS Heroic) ที่เดินทางมาถึงก่อนหน้านี้ไม่กี่นาทีก็ได้ช่วยเหลือผู้รอดชีวิต 494 คน[64] มีผู้รอดชีวิตประมาณ 150 คนที่ถูกนำไปยังเมืองโกริสเซียบนเกาะเคีย ซึ่งแพทย์และพยาบาลที่รอดชีวิตพยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยการใช้ผ้ากันเปื้อนและชิ้นส่วนของพวงชูชีพทำเป็นผ้าพันแผล และใช้พื้นที่ท่าเรือเล็ก ๆ เป็นห้องผ่าตัดชั่วคราว[ต้องการอ้างอิง]

เรือหลวงสเกิร์จและเฮโรอิกไม่มีพื้นที่บนดาดฟ้าสำหรับผู้รอดชีวิตเพิ่มเติมอีกแล้ว พวกเขาจึงออกเดินทางไปเมืองไพรีอัส เพื่อแจ้งข่าวการมีชีวิตอยู่ของผู้รอดชีวิตที่เหลืออยู่ในโกริสเซีย เรือหลวงฟ็อกซ์ฮาวด์ (HMS Foxhound) เดินทางมาถึงโกริสเซียในเวลา 11:45 น. หลังจากสำรวจบริเวณโดยรอบแล้ว จึงทอดสมอที่ท่าเรือเล็ก ๆ แห่งนั้นในเวลา 13:00 น. เพื่อให้การช่วยเหลือทางการแพทย์และนำผู้รอดชีวิตที่เหลือขึ้นเรือ[64] และในเวลา 14:00 น. เรือลาดตระเวนเบาเอชเอ็มเอส ฟอร์ไซต์ (HMS Foresight) ก็มาถึง

เรือหลวงฟ็อกซ์ฮาวด์ออกเดินทางไปยังไพรีอัสในเวลา 14:15 น ส่วนเรือหลวงฟอร์ไซต์ยังคงอยู่เพื่อจัดเตรียมการฝังศพเสนารักษ์ทหารบก จ่าสิบเอกวิลเลียม ชาร์ป (William Sharpe) ที่เกาะเคีย ซึ่งเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ ผู้รอดชีวิตอีก 2 คนเสียชีวิตบนเรือหลวงเฮโรอิก และอีก 1 คนบนเรือลากจูงโกลิอัท (Goliath) ของฝรั่งเศส ทั้งสามคนได้รับการฝังศพด้วยเกียรติยศทางทหารในสุสานทหารเรือและกงสุลที่ไพรีอัส[65] ผู้เสียชีวิตคนสุดท้ายคือ จี. ฮันนีค็อตต์ (G. Honeycott) ซึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลรัสเซียในไพรีอัสหลังจากพิธีศพไม่นาน[ต้องการอ้างอิง]

การอับปางของเรือบริแทนนิกมีผู้รอดชีวิต 1,036 คนจากผู้โดยสารทั้งหมด 1,066 คน และมีผู้เสียชีวิต 30 คน[66] แต่มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่ได้รับการฝังศพ โดยผู้เสียชีวิตที่เหลือไม่สามารถกู้ศพกลับมาได้ และได้รับเกียรติบนอนุสรณ์สถานในเทสซาโลนีกี (อนุสรณ์สถานมิกรา) และลอนดอน อีก 38 คนได้รับบาดเจ็บ (ลูกเรือ 18 คนและเสนารักษ์ฯ 20 คน)[67] ผู้รอดชีวิตได้รับการดูแลในเรือรบที่ทอดสมออยู่ ณ ท่าเรือไพรีอัส ในขณะที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่ได้รับการต้อนรับในโรงแรมที่ฟาเลรัม ประชาชนชาวกรีซจำนวนมากและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมพิธีศพ ผู้รอดชีวิตถูกส่งกลับบ้านและมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เดินทางกลับถึงสหราชอาณาจักรก่อนวันคริสต์มาส[68]

เรือเดินสมุทร แก้

 
ภาพวาดโถงชั้นหนึ่งและบันไดของอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก

เรือบริแทนนิกได้รับการออกแบบให้มีความหรูหรามากกว่าเรือพี่ เพื่อแข่งขันกับเรือเอสเอส อิมเพอเรเตอร์ เอสเอส วาเทอร์แลนด์ และอาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย

มีห้องโดยสารเพียงพอสำหรับผู้โดยสารที่แบ่งออกเป็นสามชั้น ไวต์สตาร์ไลน์คาดการณ์ว่าฐานลูกค้าของตนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้น คุณภาพของชั้นที่สาม (สำหรับผู้อพยพ) จึงลดลงเมื่อเทียบกับเรือพี่ ในขณะที่คุณภาพของชั้นที่สองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จำนวนลูกเรือที่วางแผนไว้ยังเพิ่มขึ้นจากประมาณ 860 – 880 คนบนเรือโอลิมปิกและไททานิกเป็น 950 คนบนเรือบริแทนนิก[69]

เรือบริแทนนิกได้ปรับปรุงคุณภาพของห้องโดยสารชั้นหนึ่งให้ดีขึ้น เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่มีเด็ก โดยมีการสร้างห้องเล่นสำหรับเด็กบนดาดฟ้าชั้นเรือบด[70] เช่นเดียวกับเรือแฝดทั้งสองลำ สิ่งอำนวยความสะดวกชั้นหนึ่งของเรือบริแทนนิกยังคงมีบันไดใหญ่ (Grand staircase) แต่สิ่งอำนวยความสะดวกของบริแทนนิกนั้นหรูหรามากยิ่งขึ้น มีราวบันไดที่ประดับประดา แผ่นผนังตกแต่งอย่างสวยงาม และมีออร์แกน[71]

เรือบริแทนนิกมีการจัดสรรพื้นที่ทั้งหมดของดาดฟ้าชั้น A ให้กับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง โดยมีการติดตั้งห้องโถง ร้านกาแฟริมระเบียง 2 แห่ง ห้องสูบบุหรี่ และห้องอ่านหนังสือ[72] บนดาดฟ้าชั้น B ประกอบด้วยร้านทำผม ไปรษณีย์ และห้องชุดสุดหรูที่ได้รับการออกแบบใหม่ ซึ่งเรียกในผังของผู้สร้างว่าซาลูน[73] สิ่งเพิ่มเติมที่สำคัญที่สุดคือห้องน้ำในตัวเกือบทุกห้องของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในเรือเดินสมุทร ซึ่งบนเรือโอลิมปิกและไททานิก ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ[74]

สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ถูกติดตั้งไว้ แต่ถูกนำออกในภายหลังเนื่องจากเรือถูกแปลงเป็นเรือพยาบาล และไม่เคยติดตั้งใหม่เพราะเรืออับปางก่อนที่จะเข้าประจำการบริการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ดังนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกที่วางแผนไว้จึงถูกยกเลิก ทำลาย นำกลับไปใช้ซ้ำบนเรือลำอื่น เช่น โอลิมปิกหรือมาเจสติก หรือไม่เคยถูกนำมาใช้เลย[30] ในบรรดาสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ มีเพียงบันไดขนาดใหญ่และห้องเล่นของเด็กเท่านั้นที่ยังคงติดตั้งอยู่ ใต้โดมกระจก มีกำแพงสีขาวอยู่เหนือบันไดชั้นหนึ่งแทนที่จะเป็นนาฬิกาและภาพวาดขนาดใหญ่

 
ออแกนฟิลฮาร์โมนิกเวิลท์บนเรือบริแทนนิกในแค็ตตาล็อกของบริษัทปี ค.ศ. 1914

ออร์แกน แก้

เรือบริแทนนิกมีแผนที่จะติดตั้งออร์แกนฟิลฮาร์โมนิกของบริษัทเวิลท์ (Welte-Mignon) แต่เนื่องจากสงครามปะทุขึ้น ทำให้ออร์แกนนี้ไม่เคยถูกส่งจากเยอรมนีไปยังเบลฟาสต์[30] หลังสงคราม ฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟก็ไม่ได้เรียกร้องให้นำออร์แกนนี้มาติดตั้ง เนื่องจากเรืออับปางก่อนที่เรือจะสามารถเข้าให้บริการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากนี้มันยังไม่ได้ถูกติดตั้งบนเรือโอลิมปิก หรือมาเจสติก เนื่องจากไวต์สตาร์ไลน์ไม่ต้องการ เป็นเวลาหมายปีที่เชื่อกันว่าออร์แกนนี้สูญหายไปหรือถูกทำลาย[30]

อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2007 ผู้บูรณะออร์แกนเวิลท์ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีอัตโนมัติสวิสในเมืองซีเวน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ตรวจพบว่าชิ้นส่วนหลัก ๆ ของออร์แกนนั้นมีตราประทับคำว่า "Britanik" โดยช่างสร้างออร์แกนชาวเยอรมัน"[75] ภาพถ่ายของภาพวาดในโฆษณาของบริษัทซึ่งพบในมรดกของเวิลท์ ในพิพิธภัณฑ์ออกัสตินเนอร์ ในไฟรบวร์ค ได้พิสูจน์ว่านี่คือออร์แกนที่สร้างขึ้นสำหรับเรือบริแทนนิก และพบว่าเวิลท์ได้ขายออร์แกนนี้ให้กับเจ้าของเอกชนในเมืองชตุทการ์ท[76]

ต่อมาในปี ค.ศ. 1937 ออร์แกนนี้ถูกย้ายไปยังห้องแสดงคอนเสิร์ตของบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองวิปเปอร์เฟิร์ท ซึ่งในที่สุดก็ถูกผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ดนตรีอัตโนมัติสวิสซื้อมาในปี ค.ศ. 1969 ในขณะนั้นพิพิธภัณฑ์ยังไม่ทราบประวัติเดิมของออร์แกน [77] และยังคงดูแลให้ออร์แกนอยู่ในสภาพใช้งานได้ และยังคงใช้สำหรับการแสดงแบบอัตโนมัติและแบบแมนนวล

ซากเรือ แก้

 
 
ตำแหน่งของซากเรือนอกชายฝั่งกรีซ

ซากเรือบริแทนนิกอยู่ในพิกัด 37°42′05″N 24°17′02″E / 37.70139°N 24.28389°E / 37.70139; 24.28389 ในระดับความลึกประมาณ 400 ฟุต (122 เมตร)[78] ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1975 โดยฌาคส์ กูสโต (Jacques Cousteau) ซึ่งเป็นผู้สำรวจเรือลำนี้[79][69] ในระหว่างการถ่ายทำการสำรวจ เขายังได้จัดการประชุมทางกล้องกับผู้ที่รอดชีวิตจากการอับปางของเรือหลายคน[80] ในปี ค.ศ. 1976 กูสโตเข้าไปในซากเรือกับนักดำน้ำของเขาเป็นครั้งแรก[81] เขาแสดงความคิดเห็นว่าเรือลำนี้น่าจะถูกจมโดยตอร์ปิโดเพียงลูกเดียว โดยอาศัยความเสียหายของแผ่นโลหะของเรือเป็นหลักฐาน[82]

ซากเรือนอนตะแคงอยู่ทางกราบขวา ซึ่งบดบังร่องรอยการชนกับทุ่นระเบิด ใต้ชั้นดาดฟ้าหน้าเรือ (well deck) เป็นรูขนาดใหญ่ ส่วนหัวเรือได้รับความเสียหายอย่างหนักและติดอยู่กับตัวเรือเพียงบางส่วนของชั้น C ห้องพักลูกเรือที่หัวเรือยังคงอยู่ในสภาพดี โดยยังคงมองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ได้ ส่วนห้องเก็บสินค้าพบว่าว่างเปล่า[81]

เครื่องจักรหัวเรือและเครนขนสินค้าสองตัวบนดาดฟ้าหน้าเรือยังคงสภาพดี เสากระโดงหน้าเรือหักงอและวางอยู่บนพื้นทะเลใกล้กับซากเรือพร้อมกับรังกา (crow's nest) ที่ยังติดอยู่ ระฆังที่คาดว่าสูญหายไปแล้วถูกพบในการดำน้ำในปี 2019 ซึ่งตกลงมาจากเสากระโดงและอยู่ใต้รังกาบนพื้นทราย พบปล่องไฟหมายเลข 1 ห่างจากชั้นดาดฟ้าเรือไม่กี่เมตร ปล่องไฟหมายเลข 2, 3 และ 4 ในกองเศษซากห่างจากท้ายเรือ[81] และพบเศษถ่านหินอยู่ข้างซากเรือ[83]

ในช่วงกลางปี ​​ค.ศ. 1995 ในการสำรวจที่ถ่ายทำโดย NOVA ดร.โรเบิร์ต บัลลาร์ด (Robert Ballard) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในการค้นพบซากเรือไททานิกในปี 1985 และเรือประจัญบานบิสมาร์คในปี 1989 ได้เดินทางไปเยี่ยมชมซากเรือโดยใช้โซนาร์สแกนด้านข้างขั้นสูง ภาพถูกบันทึกจากยานควบคุมระยะไกล แต่ไม่ได้เข้าไปสำรวจภายในซากเรือ บัลลาร์ดพบว่าปล่องไฟของเรือทั้งหมดอยู่ในสภาพดีอย่างน่าประหลาดใจ และความพยายามในการค้นหาทุ่นระเบิดล้มเหลว[84]

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1996 ซากเรือถูกซื้อโดยไซมอน มิลส์ (Simon Mills) ซึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรือสองเล่มได้แก่ บริแทนนิก – ไททันลำสุดท้าย (Britannic – The Last Titan) และเหยื่อแห่งโชคชะตา (Hostage To Fortune)[85]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1997 ทีมนักประดาน้ำนานาชาติที่นำโดยเควิน เกอร์ (Kevin Gurr) ได้ใช้เทคนิคการดำน้ำระบบหายใจแบบเปิดไตรมิกซ์ (open-circuit trimix) เพื่อสำรวจและบันทึกภาพซากเรือด้วยรูปแบบวิดีโอดิจิทัล DV ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่[84]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 ทีมนักดำน้ำอีกทีมหนึ่งได้เดินทางไปสำรวจซากเรือ[86][87] โดยใช้ยานพาหนะดำน้ำ ทีมได้ดำน้ำสำรวจซากเรือเพิ่มเติมและถ่ายภาพมากกว่าที่เคยมีมา รวมถึงวิดีโอของเครื่องสั่งจักร (telegraph) ทั้ง 4 ตัว พังงา (helm) และเครื่องควบคุมหางเสือระยะไกล (telemotor) บนสะพานเดินเรือ[88]

ในปี ค.ศ. 1999 นักดำน้ำ GUE ที่ชำนาญการดำน้ำในถ้ำและการสำรวจมหาสมุทร เป็นผู้นำในการสำรวจดำน้ำครั้งแรกเพื่อเข้าไปสำรวจภายในซากเรืออย่างละเอียด วิดีโอของการสำรวจครั้งนี้ได้ออกอากาศทางเนชั่นแนลจีโอกราฟิก, บีบีซี, ฮิสทรี และดิสคัฟเวอรี[89]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2003 คณะสำรวจนำโดยคาร์ล สเปนเซอร์ (Carl Spencer) ได้ดำน้ำลงไปสำรวจซากเรือ[90] นี่เป็นการสำรวจครั้งแรกที่นักดำน้ำทุกคนใช้เครื่องช่วยหายแบบวงจรปิด (CCR) นักดำน้ำ ลีห์ บิชอป (Leigh Bishop) ได้นำภาพถ่ายแรก ๆ จากภายในซากเรือกลับมา และคู่หูของเขาริช สตีเวนสัน (Rich Stevenson) พบว่าประตูผนึกน้ำหลายบานเปิดอยู่ มีการสันนิษฐานว่าสาเหตุมาจากการที่ระเบิดทุ่นระเบิดตรงกับช่วงเวลาเปลี่ยนเวรลูกเรือ อีกทางเลือกหนึ่งคือแรงระเบิดอาจทำให้บานประตูเสียรูป ผู้เชี่ยวชาญด้านโซนาร์ บิล สมิธ (Bill Smith) ได้ค้นพบทุ่นระเบิดจำนวนหนึ่งนอกซากเรือ การค้นพบนี้ยืนยันบันทึกของเรือดำน้ำ U-73 ของเยอรมนีว่าเรือถูกจมโดยทุ่นระเบิดลูกเดียว และความเสียหายรุนแรงขึ้นเนื่องจากช่องหน้าต่างและประตูผนึกน้ำที่เปิดอยู่ การสำรวจของสเปนเซอร์ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกเป็นเวลาหลายปีโดยเนชั่นแนลจีโอกราฟิก และช่อง 5 ของสหราชอาณาจักร[91]

ในปี ค.ศ. 2006 คณะสำรวจที่ได้รับทุนและถ่ายทำโดยช่องฮิสทรีได้รวบรวมนักประดาน้ำที่มีทักษะ 14 คน เพื่อช่วยกันค้นหาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เรือจมลงอย่างรวดเร็ว[91] หลังจากเตรียมพร้อม ทีมได้ลงดำน้ำสำรวจซากเรือในวันที่ 17 กันยายน แต่การสำรวจต้องหยุดลงชั่วคราวเนื่องจากมีตะกอนลอยขึ้นมาจนทำให้มองไม่เห็น นักประดาน้ำ 2 คนเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากเหตุการณ์นี้ การดำน้ำครั้งสุดท้ายมีเป้าหมายคือห้องหม้อไอน้ำของเรือ แต่พวกเขาพบว่าการถ่ายภาพภายในซากเรือจะเป็นการละเมิดใบอนุญาตที่ออกโดยกรมโบราณวัตถุใต้น้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในกระทรวงวัฒนธรรมของกรีซ

เนื่องจากข้อจำกัดทางภาษา คำร้องขอในนาทีสุดท้ายจึงถูกปฏิเสธโดยกรมโบราณวัตถุใต้น้ำ ภารกิจนี้ไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เรือล่มอย่างรวดเร็วได้ แต่มีการถ่ายทำวิดีโอนานหลายชั่วโมงและบันทึกข้อมูลสำคัญไว้ ภายหลัง กรมโบราณวัตถุใต้น้ำได้ตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจนี้ และได้เชิญให้ทีมสำรวจกลับมาเยี่ยมชมซากเรือภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่เข้มงวดนัก

ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 คาร์ล สเปนเซอร์ เสียชีวิตในกรีซเนื่องจากปัญหาด้านอุปกรณ์ขณะถ่ายทำซากเรือให้กับเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ซึ่งเป็นครั้งที่สามที่เขาถ่ายภาพซากเรือ[92]

ในปี ค.ศ. 2012 คณะสำรวจนำโดยอเล็กซานเดอร์ โซติริโอ (Alexander Sotiriou) และพอล ลิจเนน (Paul Lijnen) นักดำน้ำที่ใช้เครื่องช่วยหายแบบรีบรีเทอร์ (rebreathers) ได้ลงไปติดตั้งและกู้คืนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาว่าแบคทีเรียกินเหล็กของเรือบริแทนนิกได้เร็วกว่าเรือไททานิกหรือไม่[93]

ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2019 ทิม ซาวิลล์ (Tim Saville) นักดำน้ำลึกชาวอังกฤษ เสียชีวิตระหว่างการดำน้ำลึก 393 ฟุต (120 เมตร) บนซากเรือบริแทนนิก[94]

มรดก แก้

เนื่องจากอาชีพของเรือถูกตัดขาดในช่วงสงคราม ไม่เคยให้บริการเชิงพาณิชย์ และมีผู้เสียชีวิตเพียงเล็กน้อย บริแทนนิกจึงไม่โด่งดังเหมือนไททานิก หลังจากถูกลืมเลือนจากสาธารณชนเป็นเวลานาน เรือก็มีชื่อเสียงอีกครั้งเมื่อซากเรือถูกค้นพบ[95] ชื่อของเรือถูกนำกลับมาใช้ใหม่โดยไวต์สตาร์ไลน์ เมื่อนำเรือเอ็มวี บริแทนนิก (MV Britannic) เข้าประจำการในปี ค.ศ. 1930 เรือลำนั้นเป็นเรือลำสุดท้ายที่ใช้ธงของบริษัท และปลดประจำการในปี ค.ศ. 1960[96]

หลังจากเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามด้วยสนธิสัญญาแวร์ซาย เยอรมนีก็ได้มอบเรือเดินสมุทรบางส่วนของตนเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม สองลำในจำนวนนั้นได้มอบให้ไวต์สตาร์ไลน์ ลำแรกคือ บิสมาร์ก โดยเปลี่ยนชื่อเป็น มาเจสติก (Majestic) ซึ่งมาแทนที่ยริแทนนิก และลำที่สองคือ โคลัมบัส (Columbus) โดยเปลี่ยนชื่อเป็น โฮเมริก (Homeric)[97]

จอร์จ เพอร์แมน (George Perman) ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายจากการอับปางของเรือ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 2000 ขณะนั้นเขาอายุเพียง 15 ปี และกำลังทำหน้าที่เป็นลูกเสือคอยช่วยเหลือบนเรือ[98]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม แก้

การอับปางของเรือถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง "บริแทนนิค" ในปี ค.ศ. 2000 นำแสดงโดยเอ็ดเวิร์ด อัตเตอร์ตัน, อแมนด้า ไรอัน, แจ็กเกอลีน บิสเซ็ต และจอห์น ริส-เดวีส์ เป็นเรื่องสมมติ โดยมีสายลับชาวเยอรมันวางแผนทำลายเรือ เนื่องจากเรือกำลังขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างลับ ๆ

สารคดีของบีบีซี 2 เรื่อง โศกนาฏกรรมเรือแฝดไททานิก – หายนะของบริแทนนิก (Titanic's Tragic Twin – the Britannic Disaster) ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2016 นำเสนอภาพซากเรือในปัจจุบันและพูดคุยกับญาติของผู้รอดชีวิต[99]

นวนิยายเรื่อง The Deep ของอัลมา คัตสุ (Alma Katsu) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2020 มีฉากหลักอยู่บนเรือสองลำ นั่นคือเรือบริแทนนิก และไททานิก ซึ่งเป็นเรือแฝดกันและเนื้อเรื่องมุ่งเน้นไปที่เหตุการณ์อับปางของเรือทั้งสองลำ[100]

เรือลำยักษ์ "ไจแกนติก" ซึ่งเป็นฉากหลักของเกมหนีห้องปี ค.ศ. 2009 "999: Nine Hours, Nine Persons, Nine Doors" อ้างอิงถึงเรือบริแทนนิก ซึ่งเป็นเรือแฝดของเรือไททานิกที่แปลงสภาพเป็นเรือพยาบาล[101]

ไปรษณียบัตร แก้

ไปรษณียบัตรของอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก
 
เอสเอส บริแทนนิก ในอู่ต่อเรือก่อนพิธีปล่อย
เอสเอส บริแทนนิก ในอู่ต่อเรือก่อนพิธีปล่อย 
 
อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ในฐานะเรือโดยสารที่บริษัทตั้งใจเอาไว้
อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ในฐานะเรือโดยสารที่บริษัทตั้งใจเอาไว้ 

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Lynch (2012), p. 161.
  2. "HMHS Britannic (1914) Builder Data". MaritimeQuest. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2008.
  3. Vladisavljevic, Brana. "Titanic's sister ship Britannic could become a diving attraction in Greece". Lonely Planet. Retrieved 9 October 2021.
  4. "HMHS Britannic", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2023-07-28, สืบค้นเมื่อ 2023-07-29
  5. Chirnside 2011, p. 217.
  6. Chirnside 2011, p. 231.
  7. Chirnside 2011, p. 220.
  8. Chirnside 2011, p. 224.
  9. 9.0 9.1 Piouffre 2009, p. 307.
  10. 10.0 10.1 10.2 Bonsall, Thomas E. (1987). "8". Titanic. Baltimore, Maryland: Bookman Publishing. p. 54. ISBN 978-0-8317-8774-5.
  11. Chirnside 2011, p. 12.
  12. Piouffre 2009, p. 41
  13. Chirnside 2011, p. 19.
  14. Chirnside 2011, p. 14.
  15. Chirnside 2011, p. 18.
  16. "HMHS Britannic". ocean-liners.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 ธันวาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2006.
  17. Bonner, Kit; Bonner, Carolyn (2003). Great Ship Disasters. MBI Publishing Company. p. 60. ISBN 0-7603-1336-9.
  18. "White Star Line". 20thcenturyliners.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มิถุนายน 2014. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2014.
  19. "24 Apr 1912 – WHITE STAR'S NEXT GREAT LINER. – Trove". Trove.nla.gov.au. 1912-04-24. สืบค้นเมื่อ 2022-02-27.
  20. "25 Nov 1911 – A MAMMOTH STEAMER. – Trove". Trove.nla.gov.au. 1911-11-25. สืบค้นเมื่อ 2022-02-27.
  21. The Madison Daily Leader เก็บถาวร 5 ตุลาคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 27 November 1911..Retrieved 4 October 2018
  22. Las Vegas Optic: "1,000 FOOT SHIP MAY DOCK IN NEW YORK" เก็บถาวร 5 ตุลาคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 21 November 1911..Retrieved 4 October 2018
  23. Joshua Milford: What happened to Gigantic? เก็บถาวร 5 มีนาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Website viewed 9 June 2014
  24. 24.0 24.1 Mark Chirnside: Gigantic Dossier เก็บถาวร 3 มีนาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Website viewed 1 May 2012
  25. Chirnside 2011, p. 216.
  26. Chirnside 2011, p. 242.
  27. Launch footage เก็บถาวร 11 พฤษภาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน and "Funnel fitting". เก็บถาวร 21 มิถุนายน 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน British Pathé. Retrieved 18 February 2013
  28. Chirnside 2011, p. 238.
  29. Chirnside 2011, p. 239.
  30. 30.0 30.1 30.2 30.3 30.4 30.5 30.6 Chirnside 2011, p. 240.
  31. Le Goff 1998, p. 50
  32. 32.0 32.1 32.2 Chirnside 2011, p. 241.
  33. 33.0 33.1 Chirnside 2011, p. 243.
  34. Chirnside 2011, p. 92.
  35. Chirnside 2011, p. 94.
  36. Chirnside 2011, p. 244.
  37. Chirnside 2011, p. 245.
  38. Chirnside 2011, p. 246.
  39. Chirnside 2011, p. 247.
  40. Chirnside 2011, p. 249.
  41. Chirnside 2011, p. 250.
  42. Chirnside 2011, p. 254.
  43. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :3
  44. 44.0 44.1 Chirnside 2011, p. 253.
  45. "Sinking". Hospital Ship HMHS Britannic. เก็บจากต้นฉบับเมื่อ 10 สิงหาคม 2015.
  46. 46.0 46.1 46.2 46.3 46.4 46.5 Chirnside 2011, p. 260.
  47. 47.0 47.1 Chirnside 2011, p. 259.
  48. Chirnside 2011, p. 256.
  49. Chirnside 2011, p. 261.
  50. 50.0 50.1 50.2 Chirnside 2011, p. 258.
  51. 51.0 51.1 51.2 51.3 Chirnside 2011, p. 257.
  52. Chirnside 2011, p. 259.
  53. Chirnside 2011, p. 260.
  54. 54.0 54.1 Chirnside 2011, p. 261.
  55. « Britannic » เก็บถาวร 6 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Titanic-titanic.com. Accessed 12 July 2009.
  56. Gleick, Elizabeth; Carassava, Anthee (26 October 1998). "Deep Secrets". Time International (South Pacific Edition). No. 43. p. 72.
  57. "PBS Online – Lost Liners – Britannic". PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 ตุลาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2008.
  58. Chirnside 2011, p. 262.
  59. Lord 2005, p. 149.
  60. 60.0 60.1 Chirnside 2011, p. 266.
  61. Lord 2005, p. 103.
  62. Brewster & Coulter 1998, pp. 45 and 62.
  63. Chirnside 2011, pp. 261–262.
  64. 64.0 64.1 Chirnside 2011, p. 262.
  65. "Cemetery Details | CWGC". www.cwgc.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-09-26.
  66. Chirnside 2011, pp. 325–327.
  67. "Crew Lists". Hospital Ship HMHS Britannic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 สิงหาคม 2015.
  68. Chirnside 2011, p. 264.
  69. 69.0 69.1 Chirnside 2011, p. 296.
  70. Chirnside 2011, p. 225.
  71. RMS Britannic: A deck, Hospital Ship Britannic on The Internet Archive. Accessed 7 April 2011.
  72. Chirnside 2011, p. 226.
  73. « RMS Britannic: B deck », Hospital Ship Britannic on The Internet Archive. Accessed 7 April 2011.
  74. Chirnside 2011, p. 227.
  75. Christoph E. Hänggi: Die Britannic-Orgel im Museum für Musikautomaten Seewen So. Festschrift zur Einweihung der Welte-Philharmonie-Orgel; Sammlung Heinrich Weiss-Stauffacher. Hrsg.: Museum für Musikautomaten Seewen SO. Seewen: Museum für Musikautomaten, 2007.
  76. "Sunken Ocean-Liner Britannic's pipe organ found: Rare Welte-Philharmonie Organ Scheduled to Play Again" (PDF). David Rumsey: Organist, Consultant. 23 พฤษภาคม 2011. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มีนาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2012.
  77. Museum of Music Automatons Seewen: History of the organ Website viewed 20 November 2023
  78. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ MC275
  79. "Britannic Jacques Cousteau's Search for Titanic's Sister Ship, Britannic Full Documentary". YouTube. 5 กันยายน 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มกราคม 2017. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2016.
  80. The Independent เก็บถาวร 21 กันยายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, obituary:Sheila Macbeth Mitchell; Friday 18 March 1994..Retrieved 29 February 2016
  81. 81.0 81.1 81.2 Chirnside 2011, p. 276.
  82. "British Red Cross ship hit by torpedo". The Times. No. 59868. London. 23 November 1976. col F, p. 8.
  83. Chirnside 2011, p. 277.
  84. 84.0 84.1 « HMHS Britannic Expedition Summary 1976–1999 », Marconigraph on The Internet Archive. Accessed 7 April 2011.
  85. Chirnside 2011, p. 284.
  86. Chirnside 2011, pp. 282–284.
  87. Hope, Nicholas (1998). "How We Dived The Britannic" เก็บถาวร 12 ธันวาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Bubblevision.com. Retrieved 1 January 2011.
  88. Hope, Nicholas (1998). "HMHS Britannic Video" เก็บถาวร 12 ธันวาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Bubblevision.com. Retrieved 1 January 2011.
  89. "HMHS Britannic". Ocean Discovery. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 พฤษภาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2008.
  90. « The Wreck », Hospital Ship Britannic on The Internet Archive. Accessed 7 April 2011.
  91. 91.0 91.1 (ในภาษาฝรั่งเศส) « Plongée par 120 m de fonds » เก็บถาวร 2 ตุลาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, La Dernière Heure. Accessed 28 July 2009.
  92. Pidd, Helen (25 พฤษภาคม 2009). "Tributes paid to diver Carl Spencer, killed filming Titanic sister ship". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012.
  93. "Project Britannic". divernet.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2013.
  94. Rosemary E Lunn A little good comes from Brit wreck diver's death เก็บถาวร 7 พฤศจิกายน 2019 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน X-Ray Magazine
  95. Chirnside 2011, p. 274.
  96. « White Star Line MV Britannic (III) 1930–1960 The last WSL ship » เก็บถาวร 20 ธันวาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, « Titanic » and Other White Star Ships. Accessed 28 July 2009.
  97. Chirnside 2011, p. 107.
  98. "Southampton scout survived sinking of First World War hospital ship".
  99. Rees, Jasper (5 December 2016). "Titanic's Tragic Twin: The Britannic Disaster felt under-researched but the survivor testimony was grimly fascinating – review". เดอะเดลีเทเลกราฟ. ลอนดอน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ธันวาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2023.
  100. "'The Deep' book review – Voyage of nightmares and memories". เดอะนิวอินเดียนเอ็กซ์เพรส. เก็บจากต้นฉบับเมื่อ 17 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2023.
  101. Chunsoft (2009-12-10). Nine Hours, Nine Persons, Nine Doors (Nintendo DS). Spike. Level/area: Hospital Room. Seven: 'Chances are, it's the [Gigantic]'

แหล่งข้อมูลอื่น แก้