เหตุระเบิดที่จังหวัดยะลา พ.ศ. 2520

เหตุระเบิดที่ยะลา 22 กันยายน พ.ศ. 2520 เป็นเหตุการณ์ที่มีความพยายามลอบร้ายต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลยโสภาคย์ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดยะลา ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2520 เชื่อว่าเป็นการปฏิบัติการขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล)

เหตุระเบิดที่ยะลา พ.ศ. 2520
หลังเสียงระเบิด ราษฎรต่างหมอบลงกับพื้นและวิ่งหนี
สถานที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองยะลา
จังหวัดยะลา ประเทศไทย
วันที่22 กันยายน พ.ศ. 2520 (46 ปีที่แล้ว)
15:15 น.
เป้าหมายสมาชิกพระราชวงศ์ไทย
ประเภทระเบิด, การลอบสังหาร
อาวุธระเบิดแสวงเครื่อง
ตายไม่มี
เจ็บ47 คน
ผู้ก่อเหตุองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล)

เบื้องหลัง แก้

การก่อความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ สงขลา, ยะลา, นราธิวาส และ ปัตตานี นั้นมีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดปัตตานีก่อน ซึ่งเดิมจังหวัดปัตตานี เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเอกราชที่ชื่อว่า อาณาจักรปัตตานี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2351 ปัตตานีก็ได้กลายมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของสยาม ที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักสยาม

ต่อมาใน พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้ง "มณฑลเทศาภิบาล" ซึ่งทำให้แต่ละหัวเมืองเก็บภาษีเข้าสู่ราชสำนักสยามโดยตรง ทำให้ข้าราชการปัตตานีเกิดความไม่พอใจต่อสยาม ทำให้ พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน) รายาแห่งปัตตานี ได้วางแผนก่อขบถและปลุกระดมราษฎร 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กระด้างกระเดื่องต่อสยาม จนถูกทางราชสำนักสยามจับกุมตัว หลังจากนั้น ก็มีเหตุความไม่สงบในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เรื่อยมา แม้ว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่บรรลุผล

เหตุการณ์ แก้

เดือนกันยายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ มีหมายกำหนดการในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจและเยี่ยมเยือนราษฎรในจังหวัดภาคใต้

แผนการ แก้

หน่วยข่าวกรองของรัฐ ได้รับข้อมูลตรงกันว่า ขบวนการพูโลจะก่อเหตุร้ายขึ้น ในวันที่ 22 กันยายน 2520 ซึ่งตามหมายกำหนดการ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่ครูสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ และพระราชทานธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้าน ที่สนามโรงพิธีช้างเผือก ในสวนสาธารณะเทศบาลเมืองยะลา โดยสมาชิกขบวนการพูโลได้ประชุมกันถึงแผนการดังกล่าวหลายครั้ง ที่ตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยให้สมาชิกในขบวนการแต่งกายเป็นลูกเสือชาวบ้าน ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ และเมื่อเมื่อสบโอกาสก็จะเข้าประทุษร้าย แต่ถึงกระนั้น ในวันที่ 21 กันยายน 2520 ก่อนเหตุระเบิดราว 20 ชั่วโมง ได้มีตำรวจชั้นนายพลขี่รถมอเตอร์ไซต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจรพุ่งชนรถยนต์พระที่นั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงขับอยู่ เหตุการณ์อลหม่านเล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทอดพระเนตรอยู่โดยไม่มีพระราชกระแสรับสั่งอย่างใด จนกระทั่งคนเจ็บที่กำลังหมดสติถูกนำตัวไปพ้นที่เกิดเหตุแล้ว จึงทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯต่อไปยังพระตำหนัก

แม้ฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน ได้ร่วมวางแผนกันเพื่อถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์อย่างเต็มกำลัง แต่ก็ได้เกิดเหตุร้ายขึ้น เมื่อคนร้ายได้ลอบวางระเบิด 2 ลูก บริเวณปะรำพิธีใกล้ลาดพระบาทที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน โดยกลวิธีในการวางระเบิดนั้น ได้วางไฟแช็กที่ต่อสายเอ็นไนลอนไว้กับวงจรของระเบิด หากมีคนหยิบไฟแช็กขึ้นมาก็จะเกิดระเบิดทันที และเมื่อประชาชนแตกตื่นก็จะเหยียบกับระเบิดลูกที่สองซึ่งจะทำให้ระเบิดลูกที่สองระเบิดขึ้นทันที

เหตุระเบิด แก้

 
แผนภาพแสดงตำแหน่งของระเบิด

22 กันยายน 2520 เวลา 15.15 น. ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ทรงประทับบนพลับพลาที่ประทับ ซึ่งมีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จฯราว 30,000 คน ก็ได้มีราษฏรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯไปหยิบไฟแช็กดังกล่าวเป็นเหตุให้ระเบิดลูกแรกเกิดระเบิดขึ้น ราษฏรต่างพากันแตกตื่นและเหยียบกับระเบิดลูกที่สอง ทำให้ระเบิดลูกที่สองเกิดระเบิดขึ้น ระเบิดลูกแรกห่างจากพลับพลาที่ประทับ 60.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 5.20 เมตร และระเบิดลูกที่สองห่างจากพลับพลาที่ประทับ 105.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 6.00 เมตร แรงระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 47 คน บาดเจ็บสาหัส 11 คน ขณะที่เกิดความโกลาหลนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาลูกเสือชาวบ้านได้เข้าระงับควบคุมฝูงชนอย่างฉับพลัน มีการใช้เครื่องขยายเสียงแบบมือถือที่เตรียมไว้แล้วปลอบโยนประชาชนมิให้ตื่นตระหนกและให้อยู่กับที่ ขณะเดียวกันก็มีการลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาล ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์มิได้ทรงรับบาดเจ็บใดๆ

ขณะเกิดเหตุนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยืนประทับอยู่กับที่และทอดพระเนตรมองเหตุการณ์ต่างๆพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ยืนรายล้อมถวายการอารักขา ในขณะที่พิธีการต้องหยุดชะงักชั่วครู่

ภายหลังเกิดเหตุ แก้

ภายหลังเกิดเหตุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่อไป โดยมิได้แสดงพระอาการปริวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีพระราชดำรัสให้ทุกคนมีจิตใจเข้มแข็งไม่ตื่นเต้นต่อสถานการณ์ เมื่อจบคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ซึ่งประทับอยู่ในพลับพลาฯทรงนำเหล่าราษฎรร้องเพลง “เราสู้” และภายหลังเสร็จพระราชกรณียกิจ เวลา 18.55 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลา โดยจากเหตุการณ์นี้ มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 47 คน [1]


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังมีพระราชดำรัสต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

...ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่บนพลับพลาซึ่งอยู่สูงจากพื้นดิน พอที่จะมองเห็นเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน เมื่อมีเสียงระเบิดตูมขึ้นสองครั้ง ประชาชนที่มารับเสด็จกันแน่นต่างพากันวิ่งหนีอย่างอลหม่าน...

— สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

1 สัปดาห์ภายหลังเกิดเหตุ กลุ่มนักศึกษาอาชีวะ ขบวนการกระทิงแดง ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตนเองกรณีระเบิดที่ยะลา และกล่าวหารัฐบาลนายธานินทร์ว่า "ไม่จงรักภักดีเพียงพอ" ที่จะปกป้องราชบัลลังก์ ทั้งๆที่รัฐบาลนายธานินทร์เป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักโดยตรง

เหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้เป็นหนึ่งในข้ออ้างของการรัฐประหารล้มรัฐบาลธานินทร์ในอีก 3 สัปดาห์ต่อมาที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

คำพิพากษา แก้

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวน จนสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ทั้งหมด 4 คน และหลังจาก พนักงานอัยการ โจทก์ และจำเลยสืบพยานเสร็จแล้ว ศาสทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) ได้มีคำพิพากษา "ข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรเกี่ยวกับกบฏ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร และความผิดฐานเป็นอั้งยี่และซ่องโจร" ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่

อ้างอิง แก้

  1. ไทยรัฐ. 23 กันยายน 2520